|
|
เรื่อง/ภาพ เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์
|
|
|
|
|
|
|
|
๑
|
|
|
|
ลิงสีน้ำตาลแดงเกาะอยู่บนยอดไม้สูงลิบลิ่ว อยู่ห่างจากจุดที่เราอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยเมตร ขนาดมองในกล้องส่องทางไกลกำลังขยายสิบเท่าแล้วยังเห็นตัวเล็กนิดเดียว จูเลีย ไกด์ของเราบอกว่าน่าจะเป็นค่างมารูน (Maroon Langur) แสงในช่วงหกโมงครึ่งน้อยเกินกว่าที่จะถ่ายภาพได้ อีกทั้งระยะที่ไกลมาก แต่ผมก็ตัดสินใจกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปสอง-สามภาพ ก่อนที่จะบอกให้ฮูซินคนขับเรือออกเรือ เดินทางกลับที่พัก
จากคลองราซาง (Rasang) ฮูซินหันหัวเรือมุ่งหน้าออกสู่แม่น้ำคินาบาตางัน (Kinabatangan River) อีกครั้ง ในขณะที่แสงสุดท้ายของตะวันยามใกล้ค่ำอาบท้องฟ้าฟากตะวันตกกลายเป็นสีแดงส้มฉานฉาย บ้านเรือนที่กระจายกันอยู่ห่างๆ
เริ่มลางเลือน
และชั่วเวลาไม่นานนัก
หมู่บ้านสองฟากฝั่งแม่น้ำก็ถูกกลืนหายไปกับความมืด นานๆ จะเห็นแสงไฟวอมแวมของบางบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากฝั่งมากนัก และเมื่อไม่มีแสงไฟเป็นที่หมาย ก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าเราลอยเรืออยู่ห่างจากฝั่งมากน้อยเพียงใด
ฮูซินคนขับเรือยังคงพาเรือท้ายตัดขนาดเล็กแล่นขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จูเลียเอาสปอร์ตไลท์ขึ้นมาถือ และกราดแสงไฟไปมาบนผิวน้ำ
ขณะที่ผมกำลังนั่งมองอะไรเพลินๆ ได้ยินเสียงจูเลียกระซิบเบาๆ
"จระเข้.."
ผมหันไปมองตามแสงไฟที่เธอถืออยู่ ขณะเดียวกันฮูซินก็หันหัวเรือมุ่งเข้าไปหาจุดสะท้อนบนผิวน้ำ เจ้าของดวงตาวาวค่อยๆ จมลงใต้น้ำ แต่เมื่อจูเลียกราดแสงไฟไปอีกด้านก็เจอมันเข้าอีก ฮูซินพยายามเอาเรือเข้าไปใกล้เพื่อให้ผมได้ถ่ายภาพ ปัญหาก็คือผมปรับโฟกัสเลนส์ไม่ค่อยจะทัน เพราะทันทีที่มันเห็นเรามันก็จะค่อยๆ จมลง
|
|
|
|
แต่สำหรับตัวที่ลอยอยู่ริมฝั่งนั่นดูท่าว่ามันไม่กลัวเรา เรือเข้าไปใกล้มากขึ้น ผมกดชัตเตอร์ไปสองครั้ง
และภาพที่ปรากฏในเสี้ยววินาทีต่อมาคือ
น้ำที่แตกกระจาย มันพุ่งสวนเรือออกมาอย่างกระทันหัน และหล่นโครมห่างจากเรือไปเพียงเมตรเศษๆ เท่านั้นเอง ทุกคนตะลึงงัน เงียบ และนิ่งสนิทเหมือนทุกคนหยุดหายใจไปชั่วขณะ มีเพียงเรือที่โคลงเคลงไปตามแรงกระเพื่อมของน้ำ
เมื่อตั้งสติได้เรามองดูบริเวณที่มันลอยอยู่เมื่อสักครู่ ถึงได้รู้ว่าบริเวณนี้เป็นแอ่งน้ำตื้นๆ มันไม่สามารถดำลงไปได้ทันทีที่เจอเรา เมื่อจวนตัวจึงพุ่งสวนออกมา
อีกสิบนาทีต่อมาเราพบแสงสะท้อนจากดวงตาคู่หนึ่งที่ดูค่อนข้างเล็ก กำลังเคลื่อนไปบนผิวน้ำ ต่างจากจระเข้ที่มักจะลอยอยู่นิ่งๆ มากกว่า ฮูซินรีบเร่งเครื่องเรือเข้าไปหา ปรากฏว่ามันคือแมวดาว (Leopard Cat) กำลังว่ายน้ำอยู่ เราไปถึงพร้อมๆ กับที่มันปีนขึ้นฝั่งเรียบร้อยแล้ว ตัวมันขนาดพอๆ กับแมวใหญ่ๆ ตัวหนึ่ง
จูเลียบอกว่าโชคดีมากที่ได้เห็นแมวดาว ถือว่าเป็นโบนัสพิเศษสำหรับวันนี้
ในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษของค่ำนี้เราพบจระเข้หลายสิบตัวด้วยกัน แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจมาตามล่าจระเข้ แต่นี่ก็คือหนึ่งในศัตรูของลิงจมูกยาว ลิงที่ผมตามล่ามันมาตลอดทั้งวัน ผมควรจะถ่ายภาพศัตรูของมันไว้ด้วย
เรือแล่นฝ่าความมืดเหนือลำน้ำไปด้วยความเร็วสูง หลังจากที่เราเริ่มหายตื่นเต้นกับเจ้าของดวงตาแวววาวบ้างแล้ว
หัวใจผมชุ่มชื่นขึ้นอีกเป็นกองหลังจากที่เราออกจากจุดที่พบแมวดาว ที่วันนี้ไม่ได้ผ่านไปแบบว่างเปล่าจนเกินไปนัก
|
|
|
|
๒
|
|
|
|
ที่นี่คือหมู่บ้านซูเกา (Sukua) หมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำคินาบาตางัน ในรัฐซาบาห์ ถิ่นอาศัยของลิงจมูกยาวหรือลิงโพรบอสสิส (Proboscis Monkey) ลิงที่มีจมูกใหญ่และยื่นยาวประหลาดกว่าลิงชนิดใด และพบเฉพาะบนเกาะบอร์เนียวเท่านั้น
เรื่องราวของลิงที่คนไทยเรารู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีคือลิงแสม และลิงกัง เพราะลิงสองชนิดนี้มีอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งในป่าธรรมชาติและในเมือง หากจะพูดถึงลิงต่างประเทศก็มีลิงชิมแปนซี อุรังอุตัง ที่เรามักจะได้ข้อมูลกันอยู่เสมอๆ เนื่องจากเป็นลิงที่ถูกศึกษามาอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะความฉลาดที่ลิงสองชนิดดังกล่าวมี หากกล่าวเกินไปจากนี้ เราก็เริ่มที่จะสับสนกับรูปร่างหน้าตาของมัน จะว่าไปแล้วลิงและชะนีที่พบในบ้านเรานั้นยังมีอยู่อีกหลายชนิดด้วยกัน เราก็ยังจำกันไม่ค่อยได้ว่าหน้าตาของแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักสัตวศาสตร์แล้ว
รูปร่างหน้าตาที่โดดเด่นของสัตว์แต่ละชนิด
จะทำให้พวกเขาสนใจและจดจำมันได้ง่ายขึ้น
เหมือนเช่นที่ชาวมาเลย์ท้องถิ่นบนเกาะบอร์เนียว
ต่างจดจำหน้าตาที่ประหลาดของลิงประเภทหนึ่งได้เป็นอย่างดี และไม่เพียงแค่จำมันได้เท่านั้น
พวกเขาต่างนำไปเปรียบเทียบกับหน้าตาและรูปร่างของชาวดัตช์
ที่เข้ามาค้าขายและติดต่อกันในยุคแรกๆ ถึงขนาดเรียกชื่อลิงประเภทนี้ว่า Orang Belanda (Orang หมายถึง คน, Belanda หมายถึง ชาวดัตช์ ส่วน Orang Utan หมายถึง คนป่า) เพราะชาวมาเลย์เห็นว่าผู้ชายชาวดัตช์มักจะมีจมูกที่ใหญ่ มีท้องที่อ้วนลงพุง ซึ่งคล้ายลักษณะเด่นของลิงจมูกยาว
ส่วนคนต่างถิ่นก็เรียกลิงประเภทนี้
ตามลักษณะของจมูกมันเช่นกัน เพราะคำว่า Proboscic แปลว่า ท่อ หรืองวง
|
|
|
|
ลิงจมูกยาวกลายเป็นลิงที่น่าสนใจของนักชีววิทยามากขึ้นเมื่อพบว่า
ไม่สามารถนำมาเลี้ยงในกรงขัง
หรือพื้นที่ที่จำกัดได้ ทุกตัวต่างเสียชีวิตไปในเวลาอันสั้น ซึ่งแตกต่างไปจากลิงส่วนใหญ่ที่มักจะปรับตัวและสามารถมีชีวิตอยู่ได้ กว่าจะทราบสาเหตุ ลิงจมูกยาวก็เสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย
สาเหตุใหญ่ที่ลิงจมูกยาวเสียชีวิตเมื่อนำมาเลี้ยงในกรงขังก็คือเรื่องของอาหาร
เนื่องจากมันมีกระเพาะอาหารแบบพิเศษ
ที่มีระบบการย่อยซับซ้อน
แตกต่างไปจากกระเพาะของลิงแสมหรืออุรังอุตัง กระเพาะแบบนี้เรียกว่ากระเพาะแบบ colobi ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกระเพาะของวัว
ภายในกระเพาะของลิงจมูกยาวจะมีบัคเตรีหลายชนิดปะปนอยู่กับของเหลว โดยบัคเตรีจะทำหน้าที่ช่วยย่อยใบไม้ที่ลิงจมูกยาวกินเข้าไป และยังช่วยแยกสารพิษที่ติดมากับใบไม้อีกด้วย ทำให้ลิงจมูกยาวสามารถกินใบไม้บางชนิดที่เป็นพิษได้
ข้อสำคัญที่ทำให้ลิงจมูกยาวต้องจบชีวิตในกรงขัง
ก็คือมันไม่สามารถย่อยใบไม้หรือผลไม้ที่มีรสหวานเหมือนอย่างลิงชนิดอื่น
เพราะจะทำให้ระบบการย่อยผิดปกติ เกิดแก๊สในท้องเป็นจำนวนมาก จนทำให้ท้องอืดตาย
นอกจากนี้การให้ยาที่มี anti biotic มากหรือน้อยเกินไปก็ส่งผลต่อระบบการย่อยของมันเช่นกัน เพราะ anti biotic จะเข้าไปทำลายบัคเตรีในกระเพาะทำให้มันไม่สามารถย่อยอาหารได้
ปัจจุบันมีสวนสัตว์บางแห่งสามารถเลี้ยงได้แล้ว โดยสร้างพื้นที่เลียนแบบถิ่นอาศัยดั้งเดิมของมัน และมีการควบคุมเรื่องอาหาร
|
|
|
|
๓
|
|
|
|
แม้ว่าเหตุผลแรกของการเดินทางสู่บอร์เนียวนั้น ผมวางเป้าหมายไว้ที่การถ่ายภาพอุรังอุตังเสักชุดหนึ่ง
เพราะคิดว่าภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์
ผมน่าจะได้ภาพพอสมควร
จากการถ่ายภาพภายในศูนย์ฟื้นฟูอุรังอุตังเซปิลอค
ก่อนที่จะปล่อยคืนป่า (Sepilok Orang Utan Rehabilitation Centre) ที่เมืองซันดากัน
โดยจะแวะไปดูลิงจมูกยาวที่หมู่บ้านซูเกา
ที่อยู่ริมแม่น้ำคินาบาตางันด้วย ซึ่งอยู่ห่างจากเซปิลอคไปอีกราว 100 กิโลเมตร
แต่เมื่อถึงวันเดินทางไปเมืองซันดากันจริงๆ ผมกลับเปลี่ยนแผน โดยมุ่งหน้าไปหมู่บ้านซูเกาเป็นอันดับแรกแทน และเป้าหมายก็คือการถ่ายภาพลิงจมูกยาว ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดหวังอะไรได้เลย เนื่องจากมีข้อมูลอยู่เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของมัน การพบเห็นจะยากง่ายเพียงใด อีกทั้งอุปสรรคของการถ่ายภาพจะเป็นเช่นไรบ้าง เห็นทีต้องไปแก้ไขกันเฉพาะหน้า
เรื่องของเรื่องก็คือผมรู้สึกว่าการไปถ่ายภาพสัตว์ป่าซึ่งอยู่ในแหล่งธรรมชาติจริงๆ นั้นมันท้าทายและตื่นเต้นมากกว่าการไปถ่ายภาพสัตว์ป่าในศูนย์ฯ หลายเท่า และจะว่าไปแล้วนี่เป็นการถ่ายภาพสัตว์ป่านอกประเทศครั้งแรกของผม หากว่าจะไม่ได้ภาพก็ไม่เป็นไร ประสบการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าอยู่ไม่น้อย
ทางเข้าหมู่บ้านซูเกาเป็นทางลูกรังกว่า 40 กิโลเมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยสวนปาล์ม เรียกว่าเกือบจะตลอดแนวเลยก็ว่าได้ มีหมู่บ้านอยู่เป็นระยะๆ รถบรรทุกหลายคันที่วิ่งสวนกับเราบรรทุกทะลายปาล์มมาเต็มคัน ไม่ต้องถามเลยว่าชาวบ้านแถบนี้มีอาชีพอะไร
ที่พักของเราอยู่ติดกับแม่น้ำคินาบาตางัน มองเห็นสายน้ำสีขุ่นแดงกว้างขวาง ผมกะไม่ถูกว่าความกว้างของแม่น้ำบริเวณนี้จะกว้างสักเท่าไหร่ อาจจะ 50 หรือ 70 เมตรราวๆ นั้น นี่คือแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของรัฐซาบาห์ มีความยาวทั้งหมดประมาณ 560 กิโลเมตร หมู่บ้านซูเกาเป็นหมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำในช่วงเกือบจะถึงปากแม่น้ำ ที่จะไหลออกสู่ทะเลซูลู
หมู่บ้านซูเกานอกจากจะเป็นจุดหมายของผมสำหรับการเริ่มต้นตามหาลิงจมูกยาวแล้ว ยังเป็นจุดเดียวกับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ต้องการมาพักผ่อนและเที่ยวชมสัตว์ป่า
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทัวร์ดูนกอีกหลายกลุ่ม
ที่แวะเวียนกันมาล่องเรือส่องนกกัน
ตลอดบริเวณสองฝั่งแม่น้ำสายนี้
สรุปแล้วที่นี่คือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของรัฐซาบาห์
ที่ไม่เป็นรองขุนเขาคินาบาลูอันลือชื่อเท่าใดนัก
การที่พื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำ
เป็นทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Sanctuary) และพื้นที่อนุรักษ์ (Nature reserve) ทำให้มีบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่านานาชนิดอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น แมวดาว แมวลายหินอ่อน เสือลายเมฆ กระจง หมูป่า แรด ค่างมารูน อุรังอุตัง ลิงจมูกยาว จนถึงสัตว์ขนาดใหญ่เช่นช้างป่า นอกจากนี้ยังมีนกอีกเป็นจำนวนมาก
|
|
|
|
๔
|
|
|
|
บนต้นไม้สูงริมฝั่งคลองราซาง ลิงจมูกยาวฝูงใหญ่ต่างพากันเลือกคาคบไม้นอนพักผ่อน ผมเห็นตัวผู้เพียงตัวเดียวที่เกาะนิ่งอยู่ทางกิ่งด้านขวา
ขณะที่ยังตกใจไม่หายกับการอาละวาดของลิงแสม (Crab-eating Macaque) ฝูงใหญ่ ที่ทะเลาะกันอยู่ในป่าใกล้ๆ กับที่เราจอดเรือซุ่มอยู่ ผมก็เห็นพุ่มไม้ทางด้านขวาของต้นไม้ใหญ่ที่ลิงจมูกยาวเกาะอยู่สั่นไหว เจ้าตัวผู้ตัวใหญ่ทำหน้าตาขึงขัง อ้าปากส่งเสียงอู้ๆ อื้อๆ คำรามอยู่เป็นระยะๆ พลางขย่มกิ่งไม้เป็นการใหญ่ ผมคิดว่ามันจะต้องส่งเสียงขู่ตัวผู้อีกตัวหนึ่งเป็นแน่ แต่ยังไม่เห็นตัว
ไม่ทันไรเจ้าตัวที่อยู่บนต้นไม้ใหญ่ก็กระโจนแผล็วออกไปยังต้นไม้ใกล้ๆ จังหวะเดียวกันกับลิงจมูกยาวตัวผู้อีกตัวที่อยู่บนต้นไม้อีกต้นหนึ่งก็พุ่งสวนออกมา ขณะนั้นผมคิดว่ามันต้องปะทะกันกลางอากาศเป็นแน่ แต่ชั่วเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเดียว
ลิงจมูกยาวตัวผู้สองตัวก็เปลี่ยนตำแหน่งกิ่งไม้ที่เกาะกัน
โดยไม่มีการประทะให้เลือดตกยางออกแต่อย่างใด แล้วต่างฝ่ายต่างก็หันหน้าเข้าหากัน
ออกท่าทางและส่งเสียงขู่คำรามกันอีกพักใหญ่
โดยไม่มีการปะทะกันรุนแรง และในที่สุดตัวที่มาทีหลังก็ล่าถอยออกไป
นี่คงเป็นการปกป้องฮาเร็มของตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูง ที่มักจะครอบครองตัวเมียไว้ถึง 5-6 ตัว บางฝูงอาจมีมากถึง 9 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้อาจรวมลูกๆ ที่ยังเล็กด้วย ลูกที่เป็นตัวผู้จะถูกขับออกจากฝูงเมื่อโตเต็มวัยแล้ว (อายุประมาณ 2 ปี)
ตัวผู้ที่ถูกขับออกจากฝูงนี้เอง มักจะคอยติดตามฝูงอื่นๆ ไปเพื่อฉวยโอกาสเป็นชู้กับตัวเมียของฝูง ตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูงก็ต้องคอยระแวดระวัง ปกป้องตัวเมียของตัวเองไว้ให้ดี
วิธีการต่อสู้ที่ผมได้เห็น
ตรงตามข้อมูลในหนังสือเกี่ยวกับลิงจมูกยาวเล่มหนึ่ง คือมันจะส่งเสียงคำรามขู่กัน อาจจะขย่มหรือกระโดดลงบนกิ่งไม้ให้เกิดเสียงดัง โดยไม่มีการต่อสู้แบบถูกเนื้อต้องตัวกัน
แต่ก็มีบ้างที่รุนแรงจนกระทั่งต้องใช้กำลัง
ซึ่งจะใช้เท้าหน้าตบหน้ากัน แต่ก็พบน้อยมาก ปกติแล้วลิงจมูกยาวแต่ละตัวจะไม่แตะต้องตัวกัน
ยกเว้นตัวที่เป็นแม่ลูกกัน
หรือช่วงที่ผสมพันธุ์
แต่จากการที่ผมได้เฝ้าดูลิงจมูกยาวฝูงหนึ่งพบว่า ตัวผู้ในช่วงวัยรุ่นตัวหนึ่งนั่งพักอยู่อย่างใกล้ชิด กับตัวผู้ที่โตเต็มวัยแล้ว โดยบางครั้งก็มีการถูกตัวกันด้วย ที่บอกได้ว่าเป็นตัวผู้วัยรุ่น ก็เพราะได้เห็นอวัยวะเพศชัดเจน ซึ่งเป็นจุดสังเกตเพียงอย่างเดียว ที่ผมใช้ในการแยกตัวผู้วัยรุ่นกับตัวเมียที่มีรูปร่างโดยทั่วไปคล้ายกันมาก จึงไม่แน่ใจว่าการไม่ถูกเนื้อต้องตัวกันนั้นเฉพาะเวลาที่ต่อสู้กันหรือในยามปกติด้วย
แม้ว่าตัวผู้จะพยายามปกป้องฮาเร็มของตัวเองเพียงไร ตัวเมียก็สามารถเปลี่ยนใจไปอยู่ฝูงอื่นได้ หากจ่าฝูงปฏิบัติการไม่ถูกใจ หรือจ่าฝูงอื่นมีดีกว่า ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ความสามารถในการผลิตลูกหลานเท่านั้น ยังรวมถึงความสามารถในการปกครอง หรือปกป้องฝูงด้วย
|
|
|
|
๕
|
|
|
|
การเฝ้าดูลิงจมูกยาวฝูงใหญ่ในคลองราซางเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมานั้น
ทำให้ผมได้เห็น 'ภาพ' ของลิงจมูกยาวชัดเจนมากขึ้น และถ่ายภาพได้ดีกว่าในช่วงเช้า จูเลียบอกว่าช่วงเช้ามันจะคึกคักมาก เมื่อกินอาหารมื้อเช้าเสร็จแล้วมันจะพากันเข้าป่าลึก ช่วงบ่ายมันจึงจะพากันออกมายังริมฝั่งอีกครั้ง และนอนพักผ่อน น่าจะถ่ายภาพได้ง่ายกว่า ซึ่งตรงกับข้อมูลจากหนังสือของ Elizabeth L. Bennett และ Francis Gombek ที่บอกว่า ลิงจมูกยาวจะตื่นสายเมื่อเทียบกับสัตว์ในกลุ่มไพรเมต (Primate) ชนิดอื่น มันจะตื่นหลังดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง และจะออกจากต้นไม้ที่นอนในอีกราวสองชั่วโมงต่อมา
ส่วนใหญ่ลิงจมูกยาวจะพากันอพยพออกจากแหล่งที่หลับนอน
ประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังจากฟ้าสว่าง แต่ถ้ามีฝูงอื่นอยู่ในบริเวณใกล้กัน หรือเกิดฝนตก ก็จะออกเดินทางเร็วกว่านี้
เมื่อตื่นแล้วจะหาอาหารกินในบริเวณใกล้ๆ ก่อน หลังจากนั้นจึงจะพากันเข้าป่าลึกที่ห่างจากชายฝั่ง โดยมีตัวเมียที่โตเต็มวัยเป็นผู้นำฝูง ส่วนตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูงจะไปเป็นตัวสุดท้าย ระหว่างทางจะพักประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมงและหาอาหารกินไปด้วย สลับกับการพักผ่อนเป็นช่วงๆ จนถึงสองชั่วโมงสุดท้ายก่อนค่ำ ก็จะพากันอพยพกลับมายังริมแม่น้ำอีกครั้ง
อาหารของลิงจมูกยาวส่วนมากเป็นใบไม้ที่เป็นใบอ่อนและผลไม้รสจืด อาจกินเมล็ดพืชบ้าง จะไม่กินแมลงหรือสัตว์ เพราะกระเพาะไม่สามารถย่อยโปรตีนได้
อาหารของมันแตกต่างไปจากลิงชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน เช่น อุรังอุตัง ซึ่งจะชอบกินใบไม้แก่หรือผลไม้ที่มีน้ำมาก และกินแมลงด้วย จึงไม่แปลกที่พบว่ามีลิงชนิดอื่นอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่ที่ซ้อนทับกับลิงจมูกยาว ซึ่งโดยปกติแล้วลิงชนิดอื่นๆ จะมีอาณาเขตหากินเฉพาะฝูงตัวเอง
|
|
|
|
นอกจากนี้ลิงจมูกยาวแต่ละฝูงก็อาจมีพื้นที่หากินซ้อนทับกันเองด้วย สาเหตุอาจจะมาจากพื้นที่หากินของลิงจมูกยาวมีอาณาเขตที่กว้างมาก ถ้ามีการปกป้องอาณาเขตก็อาจจะมีพื้นที่ไม่พอหากิน
วันหนึ่งๆ มันอาจจะเดินทางไกลมากถึงสองกิโลเมตร ในขณะที่ลิงชนิดอื่นๆ มักจะเดินทางหากินในระยะไม่เกิน 800 เมตร การที่มันต้องเดินทางไกลมากขนาดนั้น อาจเพราะมาจากความต้องการปริมาณอาหารที่มาก และอาหารของมันกระจายอยู่ในพื้นที่บริเวณกว้าง
ส่วนสาเหตุที่มันออกมานอนใกล้ๆ แหล่งน้ำนั้นยังไม่มีใครเข้าใจมันได้ดีนัก ทั้งๆ ที่บริเวณนั้นก็ไม่ได้เป็นแหล่งอาหารหลักของมันแต่อย่างใด
นักชีววิทยาบางคนให้เหตุผลว่า
การที่มันออกมานอนริมฝั่งแม่น้ำนั้น
ก็เพื่อหลบศัตรูจำพวกเสือ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า ในน้ำก็เต็มไปด้วยจระเข้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของมันเช่นกัน
บางทฤษฎีก็ว่า ริมแม่น้ำมีอากาศที่เย็นกว่า มันต้องการระบายความร้อนจากกระเพาะอันใหญ่โตของมัน
แต่หลังจากที่มีการวัดอุณหภูมิเปรียบเทียบ
ระหว่างริมฝั่งแม่น้ำและในป่าลึกที่มันเข้าไปหากินแล้ว
พบว่ามีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมากนัก
ทฤษฎีหนึ่งที่ดูค่อนข้างสมเหตุสมผลอยู่พอสมควร และยังไม่มีข้อโต้แย้งที่หักล้างได้ ก็คือ บริเวณริมฝั่งคลองและแม่น้ำส่วนใหญ่เป็นที่โล่ง ต้นไม้ค่อนข้างโปร่ง ทำให้ตัวผู้สามารถโชว์ความเป็น 'แมน' ให้ตัวเมียได้เห็นถนัดชัดเจนกว่า อีกทั้งยังทำให้มองเห็นศัตรูได้ดี
รวมทั้งมองเห็นตัวผู้ตัวอื่นที่จะเข้ามาตีท้ายครัว
หรือก่อกวนในฝูงได้อีกด้วย
|
|
|
|
๖
|
|
|
|
เช้าวันใหม่ หมอกลงหนาปกคลุมไปทั่วคุ้งน้ำ จูเลียและฮูซิน พาเราล่องเรือเข้าไปในคลองเมนนังกอล (Mennanggal) อีกครั้งหลังจากที่เคยเข้ามาตามหาลิงจมูกยาวเมื่อสองวันก่อน
เข้ามาได้ไม่ไกลนักเราก็เจอกับลิงจมูกยาวฝูงหนึ่ง มีทั้งหมด 8 ตัวด้วย มีตัวผู้คุมฝูงอยู่หนึ่งตัว ซึ่งกำลังนั่งกินใบไม้ มันกินอยู่ประมาณ 10 นาที แล้วนั่งสงบนิ่ง ผมมองจากกล้องส่องทางไกลพบว่ามันหลับตา ดูเหมือนว่ามันจะหลับอีกรอบ ไม่แน่ใจว่ามันแค่หลับตาหรือว่าหลับจริงๆ ตัวอื่นๆ ก็หยุดนิ่งด้วย เราเฝ้าอยู่นานกว่า 15 นาที มันก็ยังไม่ตื่น เราจึงค่อยๆ เคลื่อนเรือออกมา และมุ่งหน้าลึกเข้าไปในคลองตอนใน
เช้าวันนี้เราได้เห็นการกินอาหารของตัวผู้อย่างชัดเจน
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสงสัยมาตลอดว่ามันจะกินอาหารโดยวิธีไหน
ในเมื่อจมูกที่ยาวใหญ่ห้อยลงมาจนปิดปากของมันเอง ขณะที่มันส่งใบไม้เข้าปากนั้นมันจะสะบัดจมูกออกไปทางด้านข้างเล็กน้อย ซ้ายบ้างขวาบ้างขึ้นอยู่กับว่าจะใช้มือไหนเด็ดใบไม้มากิน แสดงว่าจมูกของมันนั้นไม่ได้แข็งตรง แต่แกว่งไปมาได้
เมื่อผมได้เห็นภาพถ่ายของลิงจมูกยาวครั้งแรก รู้สึกประหลาดใจมากว่าทำไมมันจึงต้องมีจมูกที่ยาวใหญ่ขนาดนั้น ไม่มีลิงชนิดใดที่มีจมูกยาวแบบนี้
อ่านจากข้อมูลของหนังสือบางเล่ม
ก็บอกไว้ไม่ชัดเจนนักว่าจมูกของมันทำหน้าที่อะไร
นอกเหนือไปจากการหายใจ ที่แปลกไปกว่านั้นคือเฉพาะตัวผู้ที่โตเต็มวัยแล้วเท่านั้นที่มีจมูกใหญ่โตแบบนี้ ส่วนตัวเมียและเด็กๆ จะไม่มีจมูกพิเศษนี้ โดยจมูกของตัวผู้จะโตตามขนาดของร่างกาย
เคยมีการสันนิษฐานว่าจมูกที่ยาวของมันมีไว้เพื่อใช้ในการว่ายน้ำ แต่ก็ต้องตกไป
เพราะตัวเมียก็ว่ายน้ำเหมือนกัน
แต่ทำไมมีจมูกที่เล็กกว่าประมาณครึ่งหนึ่งของจมูกของตัวผู้
นักชีววิทยาบางกลุ่มก็สันนิษฐานว่า
จมูกมีหน้าที่ในการระบายอากาศจากภายในร่างกาย เนื่องจากตัวผู้มีขนาดตัวและกระเพาะที่ใหญ่มาก ภายในร่างกายจึงมีความร้อนมาก
แต่นักชีววิทยาคนหนึ่งที่ชื่อ Beccari อธิบายโดยใช้หลักการของชาร์ล ดาร์วิน บอกว่า ตัวเมียจะชอบตัวผู้ที่มีจมูกใหญ่ เมื่อนานเข้าตัวผู้ที่มีจมูกเล็กจึงลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือแต่ตัวที่จมูกใหญ่ คล้ายๆ
กับว่ายิ่งตัวผู้มีจมูกยาวใหญ่เท่าไหร่
ก็ยิ่งเป็นที่สนใจของตัวเมียมากขึ้นเท่านั้น
แต่ถึงตัวผู้จะมีจมูกใหญ่เพียงใด เมื่อเข้าสู่วัยชรา
กำลังวังชาเริ่มถดถอย
ก็อาจจะถูกลิงหนุ่มเข้าครอบครองฮาเร็มแทน ตัวผู้แก่ๆ เหล่านี้มักจะถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังไปจนกระทั่งตาย
ลิงจมูกยาวส่วนใหญ่
จะผสมพันธุ์ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยตัวเมียจะเริ่มต้นด้วยการโชว์ก้นให้ตัวผู้ดู แล้วหันกลับมาจ้องหน้าตัวผู้
อาจส่ายหรือโยกหัวไปมา
เพื่อเรียกร้องความสนใจ ขณะที่กำลังผสมพันธุ์กันนี้ลูกๆ ที่อยู่ในฝูงจะไม่ค่อยชอบ มักจะคอยก่อกวนอยู่ใกล้ๆ ตัวผู้ต้องคอยไล่
บางครั้งเมื่อหันกลับมา
ก็พบว่าตัวเมียหมดอารมณ์ไปแล้ว
|
|
|
|
๗
|
|
|
|
ไม่ห่างจากฝูงแรกเท่าไหร่ เราพบกับอีกฝูงหนึ่ง ฝูงนี้มีลูกเล็กๆ หลายตัว ลูกๆ กำลังปีนป่ายต้นไม้เล่นกันอย่างสนุกสนาน โดยมีแม่นั่งดูอยู่ห่างๆ บนคบไม้สูงทางด้านขวา
เราได้เห็นลูกที่ยังอยู่ในวัยทารกตัวหนึ่ง
เกาะติดอยู่กับท้องแม่ ใบหน้ามีสีน้ำเงินคล้ำ
ตลอดสาม-สี่วันที่ผ่านมา
ผมพยายามสอดส่องมองหาลูกลิงจมูกยาว
ที่มีใบหน้าสีน้ำเงินมาหลายฝูงแล้ว เพิ่งจะได้เห็นเอาวันนี้ แต่ดูแล้วจะไม่เป็นสีน้ำเงินชัดเจนนัก เป็นสีคล้ำๆ ที่อมน้ำเงินมากกว่า
ไม่มีข้อมูลว่าลูกลิงจะมีสีของใบหน้า
เหมือนพ่อแม่เมื่ออายุเท่าไหร่
เท่าที่พบลูกลิงที่ออกห่างจากแม่ได้บ้างแล้ว
จึงจะมีใบหน้าที่มีสีเหมือนพ่อแม่
แม้ว่าข้อมูลของอลิซาเบ็ตจะบอกว่า
ลูกลิงวัยรุ่นจะถูกขับออกจากฝูง
แต่เท่าที่สังเกตพบว่า
ในบางฝูงยังมีตัวผู้วัยรุ่นอีกหลายตัวอาศัยปะปนอยู่ด้วย
"ตูม"
เสียงเหมือนลูกมะพร้าวหล่นน้ำ ทำเอาเราสะดุ้งและหันไปทางต้นเสียงทันที เห็นลิงจมูกยาวตัวเมียกำลังว่ายน้ำข้ามคลอง โดยมีลูกน้อยเกาะติดอยู่ด้วย
เราแทบจะไม่รู้สึกถึงอันตรายใดๆ
ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลิงจมูกยาว
แถบลุ่มแม่น้ำคินาบาตางันเลยแม้แต่น้อย นอกจากจระเข้ที่คอยดักทำร้ายลิงจมูกยาวขณะว่ายน้ำข้ามฝั่ง หรือเดินบนหาดเลนริมฝั่ง แต่โดยปกติแล้วมันจะอยู่แต่บนต้นไม้
กว่าที่มันจะลงมาเดินบนพื้นดินแต่ละครั้ง
มันจะดูแล้วดูอีก บางครั้งนานนับชั่วโมงเลยทีเดียว เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยแล้วจริงๆ
ที่เท้าของลิงจมูกยาวจะมีพังผืดเล็กน้อย ทำให้สามารถเดินบนเลนได้โดยไม่จม นอกจากนี้มันยังสามารถว่ายน้ำได้เป็นอย่างดี
|
|
|
|
รายงานเกี่ยวกับการลงน้ำของลิงจมูกยาวในรัฐซาบาห์
โดยเฉพาะบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคินาบาตางันนี้
พบว่ามันจะกระโดดลงน้ำเลยทีเดียว
สันนิษฐานว่า
การกระโดดจะช่วยย่นระยะทาง
ที่มันจะต้องอยู่ในน้ำให้สั้นลง
ต่างกับลิงจมูกยาวที่อาศัยอยู่ในรัฐซาราวัก
ที่จะค่อยๆ เคลื่อนตัวลงน้ำอย่างเงียบๆ
มีข้อสันนิษฐานว่า
เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดัง
ซึ่งอาจจะทำให้จระเข้ได้ยินและเข้ามาทำร้าย
ศัตรูของลิงจมูกยาวโดยทั่วไปคือสัตว์ผู้ล่าในกลุ่มเสือ
แต่ก็โชคดีที่พื้นที่อาศัยหากินของลิงจมูกยาว
อยู่ในป่าโกงกางริมแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีเสือขนาดใหญ่อาศัยอยู่ เสือที่ใหญ่ที่สุดคือ เสือลายเมฆ (Clouded Lepard) แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายแก่ลิงจมูกยาวได้ เพราะเสือลายเมฆจะหากินอยู่ตามพื้นล่างมากกว่า
สัตว์ผู้ล่าที่น่าจะเป็นศัตรูของลิงจมูกยาว เช่น อินทรี เหยี่ยว และงูเหลือม แต่ก็ยังไม่มีรายงานใดๆ ว่าลิงจมูกยาวในธรรมชาติจะถูกทำร้ายโดยสัตว์พวกนี้ แม้ว่าเคยพบงูเหลือมรัดลิงจมูกยาวที่อยู่ในกรงเลี้ยง
คาดกันว่าศัตรูที่น่ากลัวของลิงจมูกยาวน่าจะเป็นจระเข้ แต่ก็ยังไม่มีรายงานการพบหลักฐานว่ามันถูกจระเข้เล่นงาน จะมีก็แต่ลิงแสมที่ตกเป็นเหยื่อของจระเข้อยู่บ่อยๆ
และก็เป็นเรื่องแปลก
ที่ลิงแสมมักไม่ค่อยระแวดระวัง
ในการเดินหากินบนพื้นดินมากนัก มันมักลงจากต้นไม้มาเดินหากินบนหาดเลนริมน้ำอยู่เป็นประจำ
จะว่าไปแล้วสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของลิงจมูกยาวก็คือ
พื้นที่ในการอยู่อาศัยที่กำลังถูกบุกรุกอย่างหนักจากการทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนปาล์มที่มีอยู่รอบด้านของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคินาบาตางัน
นอกจากนี้ยังมีการบุกรุกพื้นที่
เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่นการทำเหมืองแร่ การทำนากุ้ง รวมทั้งการขยายตัวของชุมชน ซึ่งล้วนส่งผลให้พื้นที่อาศัยของลิงจมูกยาวและสัตว์ป่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันหดแคบลงเรื่อยๆ อนาคตของเผ่าพันธุ์ลิงจมูกยาวดูจะไม่สดใสเท่าใดนัก
|
|
|
|
๘
|
|
|
|
อากาศเริ่มร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ งูเขียวขดตัวนิ่งอยู่บนกิ่งไม้เหนือลำคลอง นกจับแมลงจุกดำ (Black-naped Monarch) แวะเวียนลงอาบน้ำอยู่ตามริมฝั่งคลอง เช่นเดียวกับนกแซวสวรรค์ (Asian Paradise Flycatcher) ตัวผู้ที่ลากหางยาวลงลู่น้ำ นกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน (Blue-eared Kingfisher) และนกกระเต็นใหญ่ธรรมดา (Stork-billed Kingfisher) ยังคงบินข้ามไปมาสองฟากฝั่งคลอง นกอ้ายงั่ว (Oriental Darter) ที่ใกล้จะหมดไปจากเมืองไทยแล้ว พบได้มากมายที่นี่
ผมส่งสัญญาณมือให้ฮูซินหันเรือกลับ เมื่อเห็นว่าไม่มีวี่แววของลิงจมูกยาว ป่าสองข้างฝั่งคลองมีนังกอลเงียบเชียบ เหมือนเช่นช่วงกลางวันของทุกวันที่ผ่านมา
หมดเวลาสำหรับผมแล้วสำหรับการตามล่าลิงจมูกยาว หนึ่งในสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นบนเกาะบอร์เนียวที่ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง
|
|
|
|
ถิ่นอาศัยของลิงจมูกยาว
|
|
|
|
ลิงจมูกยาวส่วนใหญ่จะพบอาศัยอยู่ในป่าแทบทุกประเภท ในรัฐซาบาห์จะพบได้ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคินาบาตางัน ป่าชายเลนลาฮัท ดาตู (Lahad Datu Mangroves) ส่วนในรัฐซาราวัก พบได้ในป่าอุทยานแห่งชาติบาโก (Bako National Park) ป่าชายเลนพูเลา ซาลัค (Pulau Salak Mangroves)
นอกจากนี้ยังพบในประเทศอื่นๆ อีกที่อยู่บนเกาะบอร์เนียว เช่น บรูไน รัฐกาลิมันตันของอินโดนีเซีย
|
|
|
|
หนังสือประกอบการเขียน
|
|
|
|
Elizabeth L. Bennett and Francis Gombek. 1993. Proboscis Monkeys of Borneo. Kuala Lumpur. United Selangor Press.
|
|