นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ "มอแกน ยิปซีทะเลผู้หยุดเร่ร่อน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

อินเตอร์เน็ตในพม่า

  วันชัย ตัน : รายงาน /ภาพประกอบ : Din-Hin
  อินเตอร์เน็ตในพม่า
        ในโลกนี้ การสื่อสารแบบดอทคอม หรือ อินเตอร์เน็ต ดูจะเป็นการสื่อสารที่ไปด้วยกันไม่ค่อยได้กับบรรดาเหล่าเผด็จการ ที่ชอบปิดหูปิดตาประชาชน และเซนเซอร์ข่าวสารทุกชนิด
      แต่ที่ประเทศม่า อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ
      พลโทขิ่นยุ่นต์ ผู้นำสล็อค ซึ่งเป็นกลุ่มทหารผู้ปกครองของพม่า ได้ประกาศว่า พม่ากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคไอที โดยจัดตั้งอุทยานเทคโนโลยี การสื่อสารและสารสนเทศ หรือไอซีทีปาร์ค เพื่อแต่งตัวพม่าให้ทันสมัย ติดต่อสื่อสารกับคนทั้งโลกได้อย่างฉับไว
      ในความเป็นจริง
      ห้างร้านหรือธุรกิจที่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือซอฟแวร์ในพม่ามีจำนวนน้อยมาก มีเพียงธนาคาร และห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ 
      บริษัทเอกชนในพม่าแห่งหนึ่ง ได้สัมปทานให้สามารถขายเบอร์อีเมล์แก่คนทั่วไปได้ ๒๐,๐๐๐ เบอร์ ในราคาเบอร์ละ ๖๐-๑๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐ และมีบริษัทเพียง ๒๕ แห่งที่ได้รับอนุญาตจากทางการให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้
      ส่วนเบอร์อีเมล์ฟรี อย่าง hotmail.com หรือ yahoo.com ทางการพม่าไม่อนุญาตให้ใช้
      ขณะที่สายโทรศัพท์ของพม่าก็ขาดแคลนมาก โทรศัพท์ ๑ เครื่องต่อประชากรพม่า ๑๘๑ คน (บ้านเราประมาณ ๑ ต่อ ๔) การขอโทรศัพท์ในพม่ายังเป็นเรื่องแสนสาหัส แม้ว่าผู้ขอจะมีเส้นสายกับข้าราชการบางคน
      อาจารย์โรงเรียนคอมพิวเตอร์ในพม่าคนหนึ่งกล่าวว่า
      " แม้ในโรงเรียนคอมพิวเตอร์ยังไม่มีสายโทรศัพท์ พอที่จะต่ออินเตอร์เน็ต ผมสอนได้เพียงทฤษฎีด้านไอทีเท่านั้น และการสอนไอทีในโรงเรียน ก็เหมือนกับคนตาบอดจูงคนตาบอดข้ามถนน"
      ทุกวันนี้พม่ามีห้องเรียนคอมพิวเตอร์ประมาณ ๔๐๐ ห้อง ตั้งแต่ระดับประถมถึงระดับมหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัยคอมพิวเตอร์สองแห่งในร่างกุ้ง และมันฑาเลย์ และวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศอีก ๑๙ แห่ง แต่ทั้งหมดขาดแคลนครูและสายโทรศัพท์
      เท่านั้นยังไม่พอ กระแสไฟฟ้าตกยังเป็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาไอทีด้วย
      ซอ วิน เจ้าของร้านคอมพิวเตอร์รายหนึ่งกล่าวว่า"เครื่องคอนเวิร์ตเตอร์ ที่ทำหน้าที่สลับกระแสไฟฟ้า ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในพม่า เพราะกระแสไฟฟ้าตกบ่อย ๆ"
      ในขณะที่ประชาชนในกรุงร่างกุ้งจะได้รับโควต้าไฟฟ้า เพื่อใช้งานเพียงไม่กี่ชั่วโมงในหนึ่งวัน 
      ผู้แต่งตำราไอทีของพม่าคนหนึ่งสารภาพว่า เขาเขียนตำราโดยที่ไม่มีโอกาสได้ท่องเว็ปเลย 
      ส่วนร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ที่เปิดกันเป็นดอกเห็ดในเมืองไทยนั้น ปรากฎว่าในกรุงร่างกุ้งมีเพียงสองสามแห่ง แต่แม้ว่าร้านเหล่านี้ จะเขียนป้ายว่าเป็นอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ แต่ในความเป็นจริงคอมพิวเตอร์ในร้านคาเฟ่นี้ ไม่สามารถท่องเว็บไปทั่วโลกได้ นอกจากลูกค้าอภิสิทธิ์บางคน ที่ได้รับอนุญาตจะมีแผ่นซีดี-รอมพิเศษ ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ตได้
      ในปีพ.ศ. ๒๕๓๙ กฏหมายการกับการพัฒนาคอมพิวเตอร์ของพม่า ได้ประกาศว่า ใครก็ตามที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโมเด็มโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องถูกจำคุกระหว่าง ๗-๑๕ ปี และใครที่มีเครื่องแฟ็กซ์เถื่อน อาจจะนอนกินข้าวแดงในคุกถึง ๗ ปี
      ล่าสุดหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ได้รับอนุญาตให้มีเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ได้ โดยผ่านบริษัทไอทีแห่งหนึ่ง แต่บรรณาธิการฉบับนั้นโอดครวญว่า
      "แต่ผมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นเนื้อหาข่าวบนเว็บไซต์นั้น ขณะที่คนที่สมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์นี้ก็บ่นว่า พวกเขาต้องรอถึงสามสี่วัน กว่าจะเปิดข่าวบนเว็ปไซต์ ที่ส่งผ่านบริษัทไอทีเหล่านี้ได้"
      บริษัทไอทีเหล่านี้ส่วนใหญ่ผู้เป็นเจ้าของ คือบรรดาลูกหลานนายทหารของสล็อค
      ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศว่า จะนำเอาระบบอินทราเน็ต มาใช้แทนอินเตอร์เน็ต
      อินทราเน็ตคือระบบการติดต่อข้อมูลภายในองค์กร ผ่านคอมพิวเตอร์และสายโทรศัพท์ แต่ไม่สามารถท่องเว็บไปในโลกกว้างได้
      นักธุรกิจพม่าคนหนึ่งบ่นว่า "ได้อินทราเน็ตก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย แต่ปัญหาคือเซิร์ฟเวอร์ในกรุงร่างกุ้ง ที่ดูแลโดยรัฐบาลมีเพียง ๑๖ คู่สาย และค่าบริการยังแพงหูฉี่ถึงเดือนละ ๕๐ ดอลล่าร์สหรัฐ"
      ล่าสุดท่านขิ่นยุ่นต์ ผู้นำสล็อคในฐานะประธานสภาพัฒนาคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีแห่งพม่า คุยว่าในอนาคตพม่าจะเป็นซิลิคอน วาเล่ย์ หรือศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และแหล่งผลิตผู้ชำนาญไอทีแห่งเอเชีย แซงหน้ามาเลย์ สิงคโปร์ให้ได้
      เอากับสล็อคสิ อะไร ๆก็เกิดขึ้นได้ 
      อีกหน่อยอาจจะมีคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรรุ่น บุเรงนอง ออกมาตีตลาดคอมพ์รุ่น สินสมุทร กระเจิงไปเลย