นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ "มอแกน ยิปซีทะเลผู้หยุดเร่ร่อน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

มอแกน ยิปซีทะเลผู้หยุดเร่ร่อน

  เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังจากเฝ้าดูชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ประกอบพิธีฉลองเสาหล่อโบงจนเสร็จสิ้นถึงวันสุดท้าย เย็นนั้นผมติดตามชาวมอแกนกลุ่มใหญ่นั่งเรือหัวโทงจากอ่าวช่องขาดกลับหมู่บ้านไทรเอน เพื่อขอพักแรมในกระท่อมของครอบครัวลุงดูนุงและป้ามูกิ ลุงดูนุงบอกว่าจะออกไปแทงปลามาให้เรากิน ผมและช่างภาพจึงขอติดตามออกไปด้วย
      ช่วงเย็นเป็นเวลาน้ำลง แนวน้ำทะเลถอยออกไปเสียไกลลิบ ทิ้งให้หาดทรายหมาดน้ำแผ่กว้างไปสุดตา ลุงดูนุงเปลือยร่างท่อนบน พันผ้าขาวม้าคาดเอว สวมกางเกงในตัวเดียว ฉวยฉมวกคู่ใจ หรือที่ชาวมอแกนเรียกว่า"ชูม" ด้ามเป็นไม้ไผ่ลำยาวสูงเลยหัว ปลายฉมวกเป็นเหล็กแหลมสามเงี่ยง เดินลงสู่หาดทราย มุ่งหน้าไปหาทะเล
      ผมเดินตามลุงดูนุงไปห่างๆ ตีนเปล่าย่ำผ่านพื้นทรายหนืดเหนียวชุ่มน้ำ ไปถึงบริเวณที่ระดับน้ำสูงเหนือตาตุ่ม ใต้น้ำเกลื่อนไปด้วยกองหินและแนวปะการังขนาดเล็กที่มีปลาตัวจิ๋วสีสดแหวกว่ายชวนมอง ลุงดูนุงทางด้านหน้าเดินไปถึงบริเวณที่ระดับน้ำสูงเกือบครึ่งแข้ง ก้าวย่างของแกเต็มไปด้วยท่าทีมั่นใจ สายตาสอดส่ายทั่วผืนน้ำ แดดเหลืองนวลยามเย็นสาดจับผิวกายแกเป็นประกายเรื่อเรือง ทันใดลุงดูนุงเงื้อฉมวกขึ้นด้วยมือขวา มือซ้ายแตะประคองกลางด้าม แล้วพุ่งฉมวกลงน้ำสุดแรง
      ครั้งแรกพลาด ครั้งที่สองไม่ได้อะไร แต่ครั้งที่สามลุงดูนุงกระโจนไปข้างหน้าอย่างเร็วรี่ จนผิวน้ำแตกกระจายตามแรงเท้า ดึงฉมวกที่ปักเฉียงกับผืนทรายขึ้นมา โจนพรวดตามไปอีกสี่ห้าก้าว พุ่งฉมวกลงไปอีกครั้ง คราวนี้ผืนน้ำแตกกระเซ็นซ่านจากสิ่งที่ดิ้นพราดอยู่เบื้องล่าง เมื่อลุงดูนุงตามไปยกฉมวกขึ้นมา ก็เห็นปลาสลิดหินขนาดเขื่องสะบัดตัวเร่าอยู่บนเงี่ยงฉมวกแหลมคม
      อีกอึดใจลุงดูนุงก็แทงปลาได้อีกตัว ขณะพวกเรากำลังเดินกลับหมู่บ้าน ดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลดต่ำกระทั่งลับเหลี่ยมเขาที่ทอดตัวทะมึนอยู่ด้านหลังแนวกระท่อม ความมืดสลัวค่อยๆ คลี่ขยายลงปกคลุมทั่วเวิ้งอ่าวไทรเอน ทันใดแว่วเสียงเด็กๆ ในหมู่บ้านร้องเพลงชาติไทยดังมาแต่ไกล
      "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน..."
      เสียงเพลงของเด็กมอแกนทำให้ผมรู้ว่าขณะนี้ถึงเวลาหกโมงเย็น อันเป็นเวลาเคารพธงชาติ
 

 (คลิกดูภาพใหญ่)       "ปรกติงานหล่อโบงจะจัดในช่วงกลางเดือนเมษานี่แหละ แต่ทางเรายังบอกไม่ได้ว่าปีนี้ชาวมอแกนจะจัดหรือเปล่า ทางที่ดีคุณลงมาที่เกาะเลยดีกว่า ถ้ามีพิธีจะได้ทำข่าวไปเลย" เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสุรินทร์ บอกผมทางโทรศัพท์
      วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๕ ของทุกปี คือกำหนดจัดพิธีฉลองเสาหล่อโบง ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ที่ใคร ๆ ต่างให้นิยามพวกเขาว่าเป็น "ชาวเลกลุ่มสุดท้ายที่ยังดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมมากที่สุด" ในพิธีจะมีการตั้งเสาหล่อโบงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผีบรรพบุรุษ ได้แก่เสาแอบ๊าบหรือผีตา และเสาอีบูมหรือผียาย มีการเซ่นสรวงวิญญาณด้วยเครื่องเซ่นคาวหวาน มีการเข้าทรง กินเลี้ยงและร้องรำทำเพลง สาระสำคัญของพิธีคือการวอนขอผีบรรพบุรุษ ให้ปกปักคุ้มครองลูกหลานมอแกนไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบเหตุร้าย
      แม้พยายามโทรศัพท์ทางไกลไปสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อยู่หลายรอบตั้งแต่เดือนมีนาคม ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกันทุกครั้งว่า ยังบอกไม่ได้แน่นอนว่าปีนี้ชาวมอแกนจะจัดงานหล่อโบงหรือไม่ กระทั่งกำหนดจัดงานงวดเข้ามาทุกที 
      ยามสายของวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๖ ผมและช่างภาพจึงอยู่ในฐานะผู้โดยสารเรือช้าออกจากท่าเรืออำเภอคุระบุรี โดยไม่รู้ชะตากรรมตนเองว่าจะได้เห็นงานหล่อโบงหรือไม่ เพื่อนร่วมเดินทางของเราก็คือบรรดานักท่องเที่ยวในชุดสีสันสดใส มีตั้งแต่วัยรุ่น หนุ่มสาว และผู้สูงอายุ ต่างหอบหิ้วสัมภาระพะรุงพะรัง นั่งๆ นอนๆ และเดินเล่นกันเกลื่อนเรือ แม้พยายามคิดเข้าข้างตัวเองว่าเราและเขานั้นต่างกัน เพราะในฐานะคนทำสารคดีผมมีจุดหมายที่ "ชนเผ่าอันห่างไกล" ต่างหาก แต่ภายหลังจากใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ร่วมสิบวัน ผมพบว่าทั้งชาวมอแกน นักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติฯ และสื่อมวลชน ตลอดทั้งทะเลสวย น้ำใส ฝูงปลา หอย และแนวปะการังแห่งหมู่เกาะสุรินทร์ ล้วนสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจยิ่ง
 

 (คลิกดูภาพใหญ่)       เกาะใหญ่ข้างหน้าเป็นภูเขาที่ปกคลุมด้วยสีเขียวของป่าทึบสมบูรณ์ มีแนวหาดทรายขาวนวล ล้อมรอบด้วยผืนทะเลสีเขียวมรกตใสกระจ่างน่าแหวกว่าย เราได้สัมผัสความงามของเกาะสุรินทร์ หลังจากใช้เวลาเกือบสามชั่วโมงบนเรือที่แล่นมาไกลจากฝั่งร่วม ๖๐ กิโลเมตร
      ผมขึ้นฝั่งพร้อมนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เสาหล่อโบงปรากฏแก่สายตาทันใด โดยไม่ต้องเสียเวลาค้นหา แต่ละต้นเป็นเสาไม้สูงราวเมตรครึ่งถึงเกือบ ๒ เมตร แกะสลักส่วนบนเป็นรูปหน้าคน ต่ำลงมาเป็นส่วนลำตัว เซาะเป็นแนวร่อง และแกะเป็นเหลี่ยมมุมอย่างอิสระ ไม่มีแขนขา ทาสีสันสดใส บางเสาประดับเปลือกหอย ให้ความรู้สึกสวยแบบดิบๆ เสาหล่อโบงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในพิธีหล่อโบง แต่ปักเรียงรายอยู่หน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
      บนฝั่งมีนักท่องเที่ยวคลาคล่ำ ทั้งกลุ่มมาใหม่และพวกอยู่แต่เดิม หลายคนแวะเวียนเข้าไปหาเสาหล่อโบง บางคนเข้าไปยืนถ่ายรูปคู่กับเสา บางคนยืนอ่านป้ายอธิบายความเป็นมาของเสาแอบ๊าบ-อีบูม
      "อีบูม" นักท่องเที่ยวหนุ่มพูดใส่หน้าเพื่อนสาวของเขา แล้วพากันหัวเราะคิกคัก
      หลังจากเช็กอินที่เคาน์เตอร์อุทยานฯ และแจ้งความประสงค์ว่าจะมาทำสารคดีเรื่องชาวมอแกน เจ้าหน้าที่ก็พาผมกลับไปที่ชายหาดหน้าที่ทำการอุทยานฯ เพื่อพบกับหัวหน้าสมพงษ์ จีราระรื่นศักดิ์ ที่กำลังยืนตรวจตราความเรียบร้อยอยู่
      "ยังไม่รู้เหมือนกันว่าปีนี้มีหรือเปล่า" หัวหน้าพูดยิ้ม ๆ" พวกนี้เขาเอาแน่ไม่ได้ ปีก่อนเขาก็ไม่ได้จัด เอางี้ เดี๋ยวไปถามมอแกนเองดีกว่า"
      "มีสื่ออื่นมาด้วยไหมครับ" ผมอดถามไม่ได้
      "เห็นว่าวันที่ ๑๕ จะมีมาอีกทีม จากหนังสือพิมพ์..." หัวหน้าตอบ
      แรกเห็นเฒ่ามอแกนคนที่หัวหน้าสมพงษ์พาไปเจอตัวบริเวณข้างที่ทำการอุทยานฯ ผมรู้สึกขึ้นทันใดในทำนองว่า "โอ้...ใบหน้านี้ขายได้แน่ ๆ" เฒ่าซาลามะอยู่ในวัยที่เด็กๆ สามารถเรียกว่าปู่ ผิวกายของแกคล้ำเกรียม ผมหยิกหย็องสีดอกเลาบนหัวฟูเป็นกระเซิง ใบหน้ายาว โหนกแก้มนูนสูง รอยยับย่นพาดบนหน้าผากกว้าง ริ้วตีนกาที่หางตายิ่งเห็นชัดเจนยามปากกว้างฉีกยิ้มจนเห็นฟันซี่ใหญ่ และดวงตาที่มีแววกร้านโลกยิบหยีลงเป็นประกาย... ช่างสะท้อนลักษณะอันแตกต่างของคนพื้นเมืองแห่งท้องทะเล ผมรู้ว่าอีกไม่นานภาพถ่ายลุงซาลามะจะต้องปรากฏในหนังสือ
      "ว่าไง...ตกลงปีนี้จะจัดหล่อโบงหรือเปล่า นี่นักข่าวเขามาดูแล้วนะ" ผู้ช่วยวิสูตรฯ เอ่ยถาม พลางพยักพเยิดมาที่ผม
      "จัด ๆๆ" ลุงซาลามะมองที่ผมสลับกับหัวหน้าสมพงษ์ ผมได้กลิ่นเหล้าโชยจากตัวแก "ว่าจะจัดวันที่ ๑๓ นี่แหล่ะ"
      "ทำไมไม่จัดวันที่ ๑๕ ล่ะ คืนพระจันทร์เต็มดวง" หัวหน้าสมพงษ์ขมวดคิ้วนิดหนึ่ง "ของทำพิธีจะเอาอะไรก็บอกนะ อุทยานจะเป็นสปอนเซอร์ให้" 
      "ถ้างั้นลุงขอ..."
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ของทำพิธีหล่อโบงที่ลุงซาลามะขอจากอุทยานฯ ได้แก่ เหล้าขาวลังหนึ่ง น้ำอัดลม ผ้าขาว ผ้าแพรสี กระดาษแก้ว แป้งมัน แป้งข้าวเจ้า น้ำมันพืช ฯลฯ
      ลุงซาลามะบอกว่าแกกำลังยุ่ง ติดพันพานักเขียน-ช่างภาพชาวฝรั่งเศสตระเวนทำสารคดีเรื่องชาวมอแกนอยู่ ฝรั่งคนนี้มาอยู่กับแกได้สามสี่วันแล้ว ลุงซาลามะจากไปโดยเรายังไม่ได้คุยอะไรกันมากนัก แต่ทิ้งปมปัญหาให้ผมคลางแคลงใจอยู่บ้างว่า ในเมื่อพิธีฉลองเสาหล่อโบงเป็นงานสำคัญประจำปี แต่มอแกนกลับต้องพึ่งพาของทำพิธีจากผู้อื่น
      เย็นนั้นผมเดินเตร็ดเตร่ คุยกับคนนั้นคนนี้ สอบถามเรื่องเกี่ยวกับมอแกน ลูกจ้างขับเรือหางยาวของทางอุทยานฯ ที่เป็นชาวใต้วัยกลางคน บอกว่า
      "เดี๋ยวนี้พวกมอแกนมาเป็นลูกจ้างอุทยานฯ เกือบหมดแล้ว อาชีพเดิมเขาดำน้ำ จับปลา กุ้ง หอย ขาย ถ้าปล่อยเขาเหมือนเดิม ของอนุรักษ์เราก็หมด"
      "จะไปเที่ยวหมู่บ้านมอแกนเหรอ ซื้อเหล้าขาวไปฝากสักสองขวดสิ เขาชอบ" อีกคนแนะนำ
      ส่วนน้องผู้หญิงคนขายของที่ร้านค้าสวัสดิการของอุทยานฯ เล่าว่า
      "มอแกนทำงานได้วันละ ๑๐๐ บาท ซื้อเหล้าขาว ๘๕ บาท น้ำอัดลม ๑๕ บาท ก็หมดพอดี แต่เขาไม่ได้ซื้อทุกวันนะ"
      ร้านค้าสวัสดิการเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดกะทัดรัด ทว่าแพรวพราวด้วยสีสันจากบรรดาถุง และกล่องสินค้านานาชนิดที่เรียงรายเต็มชั้นวางของติดผนัง และบนโต๊ะกลางห้อง มีตั้งแต่ขนมขบเคี้ยวหลากยี่ห้อ บะหมี่สำเร็จรูป น้ำอัดลมกระป๋อง เหล้า เหล้าขาว เบียร์ บุหรี่ แชมพู ยาสีฟัน รองเท้าแตะ ไฟฉาย และอีกต่าง ๆ นานา ลูกค้าไม่ได้มีเพียงนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาสั่งของตรงเคาน์เตอร์ด้านหน้าไม่ขาด แต่ยังมีชาวมอแกนที่ยืนซื้อของตรงช่องเปิดข้างร้าน ผมเห็นเด็กมอแกนที่มากับพ่อแม่มองไปที่ถุงขนมไม่วางตา
      "เด็กมอแกนชอบกินขนมทุกชนิด น้ำอัดลมก็ชอบ พ่อแม่ต้องซื้อให้" น้องคนเดิมเล่า
      หลายเรื่องราวที่ได้รับรู้ในวันนี้ ทำให้พอจะประมวลได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงได้มาเยือน "ชาวเลกลุ่มสุดท้ายที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สุด" เสียแล้ว
 

 (คลิกดูภาพใหญ่)       "เปลี่ยนสิ เปลี่ยนเยอะเลย"
      งุก หนุ่มมอแกนวัย ๑๙ ปี ตอบคำถามผมที่ว่า ชีวิตช่วงวัยเด็กกับทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากไหม
      หลังอาหารเช้าของวันนี้ (๑๑ เมษายน) ผมพบงุกนั่งรวมกลุ่มกับมอแกนคนอื่นๆ ใต้ร่มเงาไม้บนชายหาดด้านข้างที่ทำการอุทยานฯ ไม่ยากหรอกถ้าจะบอกว่าใครคือมอแกน เราสามารถรู้ได้จากลักษณะท่าทาง รอยยิ้ม แววตา รวมทั้งภาษาพูดของเขาเอง งุกนั้นมีพ่อเป็นมอแกนที่ได้เมียมอแกลนและย้ายไปอยู่บนฝั่งนานหลายปี เขาจึงพูดภาษาไทยสำเนียงใต้ได้คล่องแคล่ว 
      "สมัยยังเด็กทั้งครอบครัวผมอาศัยอยู่ในเรือ มีพ่อ แม่ พี่ชาย ผม น้องสาว และน้า" งุกเล่า "พ่อผมแล่นเรือไปถึงเกาะย่านเชือกในพม่า เป็นเกาะใหญ่ เล็กกว่าภูเก็ตนิดหนึ่ง มอแกนอยู่กันเยอะ ทั้งอยู่ในเรือ และสร้างบ้านอยู่ ทุกวันก็ออกหาปลา ดำหอย หอยนมสาวบ้าง หอยเล็บมือนางบ้าง ดำปลิงบ้าง หน้ามรสุมก็ขึ้นฝั่งสร้างบ้านอยู่ สมัยนั้นหากินง่าย แต่สมัยนี้หากินลำบาก สามสี่ปีแล้วที่อุทยานฯ ไม่ให้จับหอยจับปลิง เขาบอกว่าต้องอนุรักษ์ทรัพยากรเอาไว้ มอแกนก็ต้องไปเป็นลูกจ้างอุทยานฯ"
      วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมอแกนตามที่ผมศึกษาในภายหลัง รวมทั้งไปขอความรู้จาก ดร. นฤมล อรุโณทัย นักวิจัย "โครงการนำร่องอันดามัน" สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีประสบการณ์วิจัยภาคสนามกับชาวมอแกนตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ พอจะนำมาขยายความคำบอกเล่าของงุกได้ว่า
      หลายร้อยปีมาแล้วที่บรรพบุรุษชาวมอแกนอพยพเข้ามาสู่ท้องทะเลอันดามัน ถิ่นฐานของพวกเขาก็คือหมู่เกาะมะริดในน่านน้ำพม่า ซึ่งประกอบด้วยเกาะแก่งน้อยใหญ่ประมาณ ๘๐๐ เกาะ กระจัดกระจายในอาณาเขตท้องทะเลเป็นแนวยาวเหยียด เชื่อมต่อลงมาถึงหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลันในน่านน้ำของประเทศไทย ชาวมอแกนอาศัยอยู่ในเรือ (ภาษามอแกนเรียกว่าก่าบาง) ในฤดูคลื่นลมสงบพวกเขาจะแล่นก่าบางเร่ร่อนไปตามเกาะต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อจับปลา ดำน้ำหาหอย ปลิงทะเล และของทะเลอื่นๆ นำไปเป็นอาหารยังชีพ และขายให้พ่อค้าคนกลาง ทั้งคนไทย จีน และพม่า พอถึงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ก็จะหลบคลื่นลมขึ้นฝั่งสร้างบ้านพักชั่วคราว วิถีเร่ร่อนเช่นนี้จึงทำให้มีผู้ขนานนามชาวมอแกนว่า "ยิปซีทะเล"
      ก่าบางเป็นเรือขุดจากไม้ท่อนขนาดใหญ่ ความยาวของลำเรือประมาณ ๗-๑๑ เมตร ตรงหัวและท้ายเรือถูกแกะเป็นง่ามหรือรอยหยักตามแนวตั้ง เพื่อเป็นที่เหยียบขึ้นเรือหรือปีนขึ้นเรือยามมอแกนขึ้นจากดำน้ำ เดิมใช้ไม้ระกำซึ่งมีน้ำหนักเบาร้อยเป็นแผงประกอบด้านข้างเรือ เพื่อให้ลำเรือสูงขึ้น หลังคาทรงหน้าจั่วมุงด้วยใบเตยหนามกันแดดฝน ก่าบางเคยแล่นโดยการแจวและค้ำถ่อ หรือกางใบที่เย็บจากใบเตยหนามยามมีลม ต่อมาเริ่มมีก่าบางที่ติดเครื่องยนต์เช่นเดียวกับเรือหางยาว ก่าบางเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในวิถีชีวิตดั้งเดิมของมอแกน เพราะเปรียบเสมือนบ้าน เป็นที่อยู่ ที่กิน ที่นอน และบ่อยครั้งเป็นที่เกิดและที่ตายของมอแกน เป็นทั้งเครื่องมือหากินและเป็นพาหนะพามอแกนแล่นไปตามเกาะแก่งต่าง ๆ อย่างอิสระ
 (คลิกดูภาพใหญ่)       กระทั่งเกิดเส้นแบ่งที่มองไม่เห็นทว่าทรงพลังยิ่ง เพราะมันเป็นเส้นแบ่งของรัฐชาติที่ลากผ่านท้องทะเลอันดามัน แบ่งน่านน้ำออกเป็นเขตประเทศไทยและพม่า นับแต่นั้นมอแกนทั้งสองฝั่ง ก็ไม่อาจนำก่าบางของพวกเขาแล่นผ่านเส้นแบ่งประเทศ ไปเยี่ยมญาติมิตรได้โดยสะดวกอีกต่อไป
      ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นกับมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ปีนั้นหมู่เกาะสุรินทร์ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ชาวมอแกนที่เป็นคนท้องถิ่นได้รับการอนุโลมให้อยู่อาศัยที่หมู่เกาะนี้ได้ต่อไป ตั้งแต่นั้นมอแกนจึงไม่เพียงข้องเกี่ยวอยู่กับท้องทะเล ชาวประมงท้องถิ่นคนใต้ และพ่อค้าคนกลางเท่านั้น แต่ยังต้องสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และแน่นอน...นักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาสู่หมู่เกาะสุรินทร์มากขึ้นทุก ๆ ปี
      แรกตั้งอุทยานฯ มอแกนยังสามารถเก็บเปลือกหอยสวยงามมาวางขายนักท่องเที่ยว กระทั่งปี ๒๕๓๙ กระแสอนุรักษ์แรงขึ้น อุทยานฯ ยกเลิกการขายเปลือกหอย เพราะเป็นการทำลายระบบนิเวศใต้ทะเล มอแกนยังไม่สามารถดำน้ำจับปลิงทะล หรือของทะเลอื่นๆ เพราะขัดต่อกฎของอุทยานฯ ยกเว้นการจับปลาเพื่อยังชีพ 
      เพื่อช่วยเหลือมอแกนที่ขาดรายได้ อุทยานฯ จึงได้ตั้งกองทุนมอแกนขึ้น เพื่อรับบริจาคเงินหรือสิ่งของจากนักท่องเที่ยว และจากแหล่งทุนอื่นๆ รวมทั้งจ้างมอแกนมาทำงานเป็นลูกจ้างรายวันให้แก่อุทยานฯ ทำหน้าที่จิปาถะ เช่น ขับเรือหางพานักท่องเที่ยวดำน้ำ เก็บขยะในที่ทำการอุทยานฯ แบกอิฐในงานก่อสร้าง ดูแลเต็นท์ ผู้หญิงก็เป็นแม่บ้าน ทำความสะอาดบ้านพัก ห้องน้ำ หรือล้างจาน
      ความเปลี่ยนแปลงยังส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เมื่อมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ไม่สามารถแล่นเรือเร่ร่อนไปไกลๆ ได้เหมือนสมัยก่อน จึงเริ่มตั้งหมู่บ้านอยู่ถาวร ก่าบางจึงเริ่มลดความสำคัญลงไป ประกอบกับทางอุทยานฯ เข้มงวดเรื่องการตัดไม้เพื่อทำก่าบาง และการเข้ามาของเรือหัวโทง--เรือหางยาวติดเครื่องยนต์ลำใหญ่หัวเชิด ก่าบางซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวมอแกนจึงค่อยๆ หายไปจากหมู่เกาะสุรินทร์ทีละลำสองลำ เพราะขณะลำเก่าผุพังไปตามอายุขัย ก็ไม่มีมอแกนครอบครัวไหนต่อก่าบางลำใหม่ขึ้นมาอีก
      กระทั่งถึงปัจจุบัน ผมได้รู้ว่าวันนี้ทั่วหมู่เกาะสุรินทร์เหลือก่าบางอยู่ลำเดียวเท่านั้น และเพราะความที่เป็นลำสุดท้าย มันจึงได้เร้าความสนใจนักหนา แต่ก่อนจะได้เห็นของจริง ผมกลับได้เห็นภาพถ่ายก่าบางในหนังสือเสียก่อน เป็นหนังสือที่ติดตัวมากับฝรั่งคนหนึ่ง
 

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ระหว่างที่ผมยังนั่งคุยกับงุกและมอแกนคนอื่น ๆ เรือเร็วหรือสปีดโบตลำหนึ่งแล่นปราดเข้ามาจอดหน้าหาด นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ทยอยขึ้นฝั่งเดินไปที่ทำการอุทยานฯ แต่ฝรั่งผู้ชายสองคนเดินตรงเข้ามาหากลุ่มมอแกนอย่างมาดมั่น คนเดินนำหน้าเป็นชายหนุ่มไว้ผมหยักศกยาวระต้นคอ เข้ามาถึงก็พูดภาษามอแกนถามไถ่ทักทายคนนั้นคนนี้อย่างคล่องแคล่ว ชาวมอแกนทั้งชายหญิงเข้ามาฟังอย่างสนใจ สนทนาโต้ตอบและหัวเราะกันอย่างอารมณ์ดี
      ผมพบฝรั่งสองคนนี้อีกครั้งหลังอาหารกลางวันที่ชายหาด หัวหน้าสมพงษ์แนะนำว่าพวกเขาเป็นนักวิจัยที่มาเก็บข้อมูลเรื่องมอแกน ช่วงบ่ายนี้จะตามพวกมอแกนไปตัดไม้เพื่อแกะเสาหล่อโบง หัวหน้าจึงบอกให้พวกเราไปด้วยกัน
      ผมรู้ภายหลังว่า ฝรั่งผมหยักศกที่พูดมอแกนได้คล่องชื่อ มาร์เชลโล คาร์โตลาโน เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ เขาทำงานในโครงการ Myeik Archipelago Project Research And Integrated Development ศึกษาคลุกคลีอยู่กับมอแกนที่หมู่เกาะมะริดในประเทศพม่าร่วมหกปีแล้ว ส่วนคนตัดผมเกรียนที่มาด้วยกันเป็นผู้ช่วย พูดภาษามอแกนไม่ได้
      บ่ายแก่ๆ วันนี้ เรือหัวโทงบรรทุกชาวมอแกนออกจากอุทยานฯ จึงมีผู้โดยสารแปลกหน้าเพิ่มขึ้นอีกห้าคน นอกจากผม, ประเวช--ช่างภาพ สารคดี, มาร์เชลโลและผู้ช่วยของเขา อีกคนหนึ่งก็คือช่างภาพและนักเขียนสารคดีฝรั่งเศสที่ชื่อ มาร์ก ทว่าเอาเข้าจริงลุงซาลามะบอกว่าวันนี้ยังไม่ไปตัดไม้ทำเสาหล่อโบงหรอก แต่จะพาพวกเราไปพักที่หมู่บ้านอ่าวบอนคืนหนึ่งก่อน
      ทุกวันนี้หมู่เกาะสุรินทร์มีหมู่บ้านชาวมอแกนอยู่สองแห่ง หมู่บ้านอ่าวบอนตั้งอยู่ที่อ่าวบอนของเกาะสุรินทร์ใต้ แต่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะสุรินทร์เหนือ ใช้เวลาเดินทางโดยเรือหัวโทงประมาณ ๑๐ นาที ขณะอีกแห่งคือหมู่บ้านไทรเอน ตั้งอยู่ที่อ่าวไทรเอนของเกาะสุรินทร์เหนือ การเดินทางจากที่ทำการอุทยานฯ ต้องแล่นเรืออ้อมอ่าวแม่ยายและหัวแหลมไปไกล ใช้เวลากว่า ๔๐ นาที หมู่บ้านมอแกนทั้งสองแห่งมีชาวมอแกนอยู่อาศัยรวมแล้วประมาณ ๑๗๐ คน นับเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับข้อมูลที่ว่า ยังมีชาวมอแกนอาศัยในบริเวณหมู่เกาะมะริด ประเทศพม่า ประมาณ ๒,๐๐๐ คน
      ไม่นานเรือหัวโทงก็จอดเทียบหาดทรายอ่าวบอน ผมขนสัมภาระขึ้นเก็บบนบ้านพักของเน็ต หรือ พลาเดช ณ ป้อมเพชร นักศึกษาปริญญาโททางด้านมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับมอแกน แต่เจ้าตัวขณะนี้อยู่กรุงเทพฯ จากนั้นผมจึงเดินสำรวจหมู่บ้าน
 (คลิกดูภาพใหญ่)       หมู่บ้านอ่าวบอนมีขนาดเล็ก ประมาณ ๒๐ กว่าหลังคาเรือน กระท่อมปลูกเรียงเป็นแนวซ้อนกันสองแถวตรงหน้าหาดติดกับทะเล กระท่อมแต่ละหลังมีขนาดไม่ใหญ่นัก ตั้งบนเสาไม้กลมต้นเล็กสูงโย่งราว ๙ ถึง ๑๒ ต้น ฝากระท่อมและหลังคาจั่วมุงด้วยใบค้อ พื้นบ้านปูด้วยฟากไม้ไผ่ ด้านหลังหมู่บ้านก็คือแนวเขาที่ปกคลุมด้วยป่าทึบ ชาวมอแกนต่อท่อพีวีซีชักน้ำจากลำธารบนภูเขาลงมาถึงเชิงเขาท้ายหมู่บ้าน เพื่อใช้ดื่มกินและซักล้าง
      ในฤดูท่องเที่ยวเช่นนี้ ทุกเช้าตรู่มอแกนกลุ่มใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชายจะขึ้นเรือหัวโทงไปทำงานที่อุทยานฯ ทว่าหมู่บ้านอ่าวบอนยามนี้ก็ไม่เงียบเหงานัก ด้วยบนลาดเนินหาดทรายมีกลุ่มเด็กมอแกนตัวเล็กๆ วิ่งเล่นกันเจี๊ยวจ๊าว หมาสี่ห้าตัวหน้าตาคล้ายๆ กัน หัวโต ดวงตาเฉียงดูเจ้าเล่ห์ เดินลัดเลาะไปมา ยังมีฝูงไก่เดินคุ้ยเขี่ยหาอาหาร หญิงชราวัยคุณย่าคุณยายนั่งจ่อมจมกับงานจักสานใบเตย บรรดากระปุกอันเล็กๆ และม้วนเสื่อที่สานเสร็จแล้ววางอยู่บนพื้นทรายตรงหน้า รอนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งมาอุดหนุน ไกลออกตรงหน้ากระท่อมหลังหนึ่ง สมาคมแม่บ้านมอแกนกำลังนั่งล้อมวง "รำพัด" จั่วไพ่กันอย่างติดลม พวกเธอนุ่งผ้าถุงลายดอก ส่วนมากไม่สวมเสื้อ บางคนสวมยกทรง บางคนเปลือยอก ดูดบุหรี่พม่ามวนโตจนแก้มตอบ แล้วพ่นควันฉุย
      มาร์เชลโลลงจากกระท่อมหลังหนึ่งตรงมาที่กลุ่มแม่เฒ่า ไม่นานใครๆ ก็เข้าไปล้อมเขาเป็นวงใหญ่ ผมตามเข้าไปสมทบ เห็นเขากำลังพลิกหนังสือเล่มโตในมือ แต่ละหน้าที่เปิดผ่านเป็นภาพถ่ายวิถีชีวิตชาวมอแกน มีภาพเรือก่าบาง ครอบครัวมอแกนที่อาศัยอยู่ในเรือ กางใบรับลมในท้องทะเล พวกแม่เฒ่าชี้ชวนกันดู ท่าทางกระตือรือร้นกับภาพอดีตที่ล่วงผ่านไปแล้วของตน ส่วนเด็กๆ ก็ตาโตด้วยความอยากรู้อยากเห็น
      หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นผลงานของ ชาก อิวานอฟ ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์รู้จักนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสผู้นี้ดี เพราะราว ๑๐ ปีที่แล้วชากเข้ามาทำวิจัยและใช้ชีวิตคลุกคลีกับมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์เป็นเวลานาน กระทั่งสามารถพูดภาษามอแกนและได้เมียชาวมอแกน แต่ก็เลิกร้างกันไปในภายหลัง ปัจจุบันชากยังทำงานศึกษามอแกนที่หมู่เกาะมะริด ภาพในหนังสือส่วนใหญ่เป็นภาพของมอแกนในพม่า
      เกือบห้าโมงเย็น เสียงเครื่องเรือหัวโทงแผดก้องมาถึงหน้าหาด ชาวมอแกนที่เป็นลูกจ้างอุทยานฯ เลิกงานกลับมาถึงบ้านแล้ว แต่เพิ่งเป็นเวลาเริ่มการงานของลุงบอด แม้ดวงตาสองข้างเป็นต้อจนมองอะไรแทบไม่เห็น แต่ทุกเย็นชาวมอแกนวัยกลางคนร่างเล็กผู้นี้จะแจว "ฉ่าพัน" หรือเรือไม้ขุดลำเล็กๆ ออกไปตกปลา ผ่านกลางคืนมืดมิด กระทั่งเช้าตรู่ของวันต่อมาจึงคืนกลับหมู่บ้าน ผมเฝ้ามองลุงบอดแจวฉ่าพันลำเล็กของแกออกสู่ท้องทะเล ไกลออกไปทุกที
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ควันไฟจากการหุงหาโชยกรุ่นแทรกออกมาจากหลังคากระท่อมหลายหลัง แต่แล้วมีชาวบ้านมาบอกว่ากำลังจะมีการเข้าทรงรักษาผู้ป่วย ผม, ประเวช, มาร์เชลโล และมาร์ก รีบตรงไปที่กระท่อมหลังริมสุดของหมู่บ้านทันที 
      ในกระท่อมค่อนข้างสลัว ป้ากอยังนอนก่ายหน้าผากอยู่บนยกพื้นในกระท่อม แกนุ่งผ้าถุง ไม่สวมเสื้อ สีหน้าสลดหดหู่ ท่าทางเหนื่อยอ่อน คนทรงชื่อลุงซาเละ วัยไล่เลี่ยกับลุงซาลามะ ผมสั้นเกรียนเป็นสีขาวเกือบทั้งหัว แกนั่งอยู่ข้างกายป้ากอยัง ประนมมือไหว้เหนือหัว ปากพร่ำสวดเสียงสูงๆ ต่ำๆ เหงื่อผุดโซมทั่วกายดำคล้ำ แกก้มตัวซบกับคอป้ากอยัง เอามือลูบตามตัวแล้วทำท่าปัดออกไป แสงแฟลชกล้องถ่ายรูปสว่างวาบเป็นจังหวะติดๆ กัน ลุงซาเละยกตัวขึ้นนั่งตามปรกติ สวดด้วยเสียงทอดยาวสลับกับรัวเร็ว บางครั้งใช้ภาษาใต้ปน พอจับใจความได้ว่าให้ผีมากินเครื่องเซ่น แกพนมมือจรดหน้าอก หลับตาพริ้ม ตัวสั่น ส่ายหน้าระรัว สูดลมเข้าปากเสียงดัง แล้วเอามือลูบหัว ลูบตัวป้ากอยัง ทำท่าควักมาใส่ถาดโลหะที่ใส่พวกเครื่องเซ่น จอกเหล้า หมาก พลู เข็มขัดเงิน และซี่พัด กลิ่นธูปหอมกำจายหนาหนักอยู่ทั่วห้อง ป้ากอยังขยับตัวอย่างอึดอัด ใบหน้าคงหมองเศร้า หยิบยาดมจ่อรูจมูกเป็นระยะ
      เมื่อเสร็จพิธี ลุงซาเละยกจอกเหล้าเทเข้าปาก ยกถาดเครื่องเซ่นวางบนหิ้งศาลผีบนผนัง
      "กอยังมันปวดหัวอย่างแรง" ลุงซาเละพูดไทยสำเนียงใต้ "มันปาขวดไปที่หัวแหลม เลยถูกเจ้าที่ทำ ยิ่งเดือนนี้เป็นเดือนหล่อโบง เจ้าที่แรง นี่ลุงมาแก้ให้เรียบร้อยแล้ว"
      ความมืดเข้าปกคลุมหมู่บ้านอ่าวบอน พร้อมๆ กับเสียงเพลงลูกทุ่งไทยดังกระหึ่ม เมื่ออิ่มข้าวเย็นที่บ้านลุงดูนุง-ป้ามูกิแล้ว ผมเดินไปที่ต้นเสียง มอแกนหนุ่มนั่งจับกลุ่มที่หาดทราย ในความมืดเห็นเป็นเงาตะคุ่ม วิทยุเทปเครื่องเบ้อเริ่มกำลังเสียง ๘๐๐ วัตต์ เด่นสง่าอยู่กลางวง แผดเสียงลั่นหาดเป็นเพลงลูกทุ่งคุ้นหู
      "โอ้เหล้าจ๋าไหนลองหันมายิ้มหน่อยซิ ยิ้มซิยิ้มซิ ที่รัก ยิ้มนานนาน..."
      ไม่ไกลจากวงผู้ชาย พวกผู้หญิงจับกลุ่มกันเต้นรำกันอยู่ วาดแขนส่ายสะโพกกันอย่างสนุกสนานเสรี ยิ่งดึกก็ยิ่งคึกคัก ลากกันไปลากกันมาจนซวนเซ ลูกทุ่งเพลงดังผ่านไปเพลงแล้วเพลงเล่าไม่มีหยุด จากเพลงไทย สู่เพลงอินเดีย ถึงเพลงฝรั่ง เด็กเล็กยังวิ่งเล่นไล่จับทั่วหาดทราย บางคนมายืนเมียงมองผู้หญิงเต้น ส่วนพวกผู้ชายเพียงนั่งสูบบุหรี่กันเงียบๆ ลุงซาเละเดินขาปัดมาแต่ไกล ท่าทางเมาได้ที่มาแล้ว แกผ่าเข้าไปกลางวงผู้หญิง ประนมมือเหนือหัว ทำท่าเหมือนตอนเข้าทรง ส่ายหัว สูดปาก ยกแข้งขาเก้ๆ กังๆ
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ผมนึกไปถึงนักท่องเที่ยวที่มากันไกลๆ ป่านนี้คงกำลังนอนดูดาว ฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่ง แต่คนทะเลอย่างมอแกนกลับจัดปาร์ตี้กันอย่างครึกโครม อดคิดไม่ได้ว่าโลกนี้สนุกดีแท้
      มาร์เชลโลตามมาสมทบ นั่งลงคุยกับผม เขาบอกว่าภาษาที่ลุงซาเละใช้ ขณะเข้าทรงตอนเย็นไม่ใช่ภาษามอแกน แต่เป็นภาษามาเลย์โบราณ
      "ผมศึกษามอแกนในพม่ามาหกปี เห็นวัฒนธรรมมอแกนหลายกลุ่ม เห็นความแตกต่าง การเข้าทรงของมอแกนก็มีหลายระดับ ทั้งเข้าทรงระดับสูงเพื่อทำนายอนาคต และเข้าทรงระดับธรรมดาเพื่อปัดเป่าโรคภัยอย่างที่เราเห็น" เขากล่าว "ผมกับผู้ช่วยมาที่นี่เพื่อสังเกตการณ์ความเป็นไปของมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ที่น่าตกใจก็คือที่นี่ไม่มีก่าบางเหลืออยู่ เพราะก่าบางเป็นสิ่งสำคัญของมอแกน และหากเห็นพิธีหล่อโบงที่กำลังจะจัด ผมสามารถบอกได้ว่าเป็นประเพณีจริงแท้ หรือจัดให้นักท่องเที่ยวดู"
"แล้วแบบนี้ล่ะเป็นไง" ผมชี้ไปที่กลุ่มมอแกนที่กำลังสนุก
      "ผมว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะเราได้เห็นคนสามรุ่น คนแก่ที่เคยอยู่ในวัฒนธรรมเก่า คนหนุ่มสาวที่ผ่านช่วงความเปลี่ยนแปลง แต่ที่น่าวิตกคือพวกเด็กๆ ที่โตมาในกฎของอุทยานฯ ไม่เคยเห็นก่าบาง ไม่ได้จับปลา เฝ้าดูคนหนุ่มสาวฟังเพลง-เต้นรำ เราไม่ได้ต่อต้านความก้าวหน้า เพราะทุกส่วนของโลกเปลี่ยนแปลงไปทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือมอแกนควรรู้จักรากเหง้าของตัวเอง ทำอย่างไรเด็กมอแกนในโรงเรียนจึงได้เรียนรู้เรื่องเผ่าพันธุ์ตนเอง แทนที่เรียนแต่วิชาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง"
      "ลุงไม่ชอบแบบนี้เลย" ลุงซาลามะนุ่งเตี่ยวแดงมาร่วมนั่งคุยอีกคน ผมได้กลิ่นเหล้าจากแกอย่างเคย "ลุงชอบแบบสมัยก่อน ที่ล้อมวงเล่านิทานตอนกลางคืน เล่นก่าติ๊ง (ซอมอแกน) ร้องเพลงมอแกน...นี่ลุงเหนื่อยจัง จัดหล่อโบง ต้องมีลอยเรือด้วย พรุ่งนี้ลูกให้เหล้าลุงซักขวดได้ไหมล่ะ"
      ลุงซาลามะบอกว่า วันสุดท้ายของพิธีหล่อโบง ชาวมอแกนจะทำพิธีลอยเรือด้วย ซึ่งนักวิชาการบางคนบอกว่า ชาวมอแกนรับอิทธิพลของพิธีนี้มาจากชาวอูรักลาโว้ย ลุงซาลามะเล่าตำนานลอยเรือมอแกนให้ผมฟังด้วยน้ำเสียงอ้อแอ้ว่า
      "เรือผีไทย ผีจีน ผีแขก แล่นมาถึงเกาะมอแกน ชนหินจนเรือแตก พวกผีมาขอเรือมอแกน มอแกนทำเรือให้ผีไทย ผีจีน ผีแขก ลอยกลับไป พร้อมเอาเคราะห์ร้ายไปจากมอแกนด้วย" 
 

 (คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าวันต่อมาผมพบลุงซาลามะอีกครั้ง
      "เดี๋ยวลูกไปอุทยานฯ กับลุงได้ไหมล่ะ ไปขอเรือกับหัวหน้าให้หน่อย ลุงจะเอาเรือไปตัดไม้แกะเสาหล่อโบง"
      หัวโทงสองลำบรรทุกชาวมอแกนไปทำงานอุทยานฯ แต่เช้า ตอนนี้ที่อ่าวบอนไม่มีเรือเหลืออยู่ ผมนั่งฉ่าพันที่ลุงซาลามะแจวไปถึงอุทยานฯ ขอเรือหัวโทงจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ลำหนึ่ง พร้อมคนขับเป็นชาวมอแกน ขับกลับหมู่บ้านอ่าวบอน
      ตอนสายเรือจึงออกจากอ่าวบอน บรรทุกมอแกนกลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยลุงซาลามะ ลุงซาเละ ลุงดูนุง ป้ามูกิ แม่เฒ่าสองสามคน พวกผู้หญิงวัยกลางคน หญิงสาว เด็กๆ ตลอดจนสัมภาระจำพวกหม้อ ไห กระทะใบใหญ่ จาน ชาม อาหารแห้ง เครื่องปรุง ม้วนเสื่อ แต่ยังเหลือที่ให้ผมกับประเวช และฝรั่งอีกสามคนไปด้วยกัน
      พวกเราขึ้นฝั่งที่หาดช่องขาดบนเกาะสุรินทร์ใต้ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับหาดทรายด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ ของเกาะสุรินทร์เหนือ อันเป็นสถานที่กางเต็นท์ของนักท่องเที่ยว กั้นกลางด้วยช่องทางน้ำทะเลที่กว้างประมาณ ๑๕๐ เมตร ทุกคนช่วยกันขนสัมภาระไปกองตรงลานทรายใต้ร่มไม้ใหญ่ ผมรู้ว่าต้องอยู่ที่นี่อีกหลายคืน เพราะพวกมอแกนจะแกะเสา และจัดพิธีหล่อโบงกันที่นี่
      มอแกนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่อ่าวช่องขาดทั้งฝั่งเกาะสุรินทร์ใต้และเกาะสุรินทร์เหนือเคยเป็นหมู่บ้านเก่าของมอแกน เพราะเป็นบริเวณคลื่นลมสงบ และมีแหล่งน้ำจืดอยู่ใกล้ ต่อมาเจ้าหน้าที่มาเจรจาขอตั้งสำนักงานที่ทำการอุทยานฯ มอแกนจึงอพยพไปที่อื่น โดยไปตั้งหมู่บ้านที่อ่าวไทรเอนก่อน แล้วมีชาวบ้านบางส่วนแยกมาอยู่ที่อ่าวบอน
      "ตรงนี้เป็นบ้านเก่ามอแกน เราจึงกลับมาจัดหล่อโบงที่นี่"
      มาร์เชลโลบอกว่าจะติดเรือข้ามไปฝั่งอุทยานฯ แต่แล้วผมก็ไม่ได้พบเขาอีก มารู้ทีหลังว่าเขามีเรื่องด่วนต้องขึ้นฝั่ง จึงไม่ได้อยู่ดูหล่อโบงอย่างที่คุยกันไว้
      เกือบเที่ยง ผมเดินตามขบวนลุงซาลามะและลูกชายชื่อก้อง ลุงซาเละ ลุงดูนุง ขึ้นเขาเพื่อไปตัดไม้ พวกเราเดินขึ้นเนินสูงชันที่รกทึบด้วยพันธุ์ไม้นานา ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม และเถาวัลย์ทอดระโยง ขบวนหยุดลงบริเวณพบไม้ที่หมายตา เป็นไม้ยืนต้นขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ลำต้นสูงลิ่ว ลุงดูนุงซึ่งเป็นคนทรงอีกคนทำพิธีจุดธูป รินเหล้าขาวใส่แก้ว นำไปวางโคนต้น
      "ลุงขอเจ้าหน้าที่" ลุงบอก
      "อะไรนะ ลุงขอเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เหรอ" ผมฟังไม่ถนัด 
      "ม่ายฉ่าย...ลุงขอต้นไม้กับผีเจ้าหน้าที่"
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ที่แท้ลุงดูนุงบอกว่าทำพิธีขอตัดไม้กับเจ้าที่ แต่พูดเป็นเจ้าหน้าที่ คนอื่นช่วยอธิบายว่า ผีที่มอแกนนับถือมีตั้งแต่ผีป่า ผีน้ำ ผีภูเขา และผีอื่นๆ ในธรรมชาติ
      "มอแกนอนุรักษ์ป่า ตัดไม้เฉพาะทำเสาหล่อโบงหรือทำก่าบาง เวลาตัดไม้ก็ต้องขอเจ้าที่ก่อน"
      ก้องที่หนุ่มกว่าใครเป็นคนจามขวาน ชั่วไม่นานไม้สูงก็ล้มครืน คนอื่นช่วยกันใช้ขวานและพร้าตัดไม้เป็นสี่ท่อน ยาวประมาณความสูงของเสาหล่อโบงที่ผมเคยเห็น เพราะจะต้องแกะเสาสี่ต้น นอกจากแอบ๊าบ อีบูมแล้ว ยังมีตีมะซึ่งเป็นลูกสาวของอีบูม กับยะต้อยซึ่งเป็นผัวของตีมะ
      พวกเขาปล่อยไม้ท่อนให้ไหลลงไปตามเนินสู่เชิงเขา แล้วลำเลียงไปยังลานใต้ร่มไม้ หลังอาหารกลางวัน ลุงดูนุงเริ่มแกะเสาอีบูม แกใช้ขวานถากเปลือกไม้ออก ใช้สิ่วตอกสลับกับใช้คมขวานถาก แกะเป็นรายละเอียด ส่วนลุงซาลามะที่นั่งอยู่ใกล้กันกำลังขมักเขม้นแกะเสาตีมะ
      เรือหัวโทงลำหนึ่งเข้าจอดเทียบหน้าหาด หญิงมอแกนวัยกลางคนร่างผอมสูง สวมเสื้อระบายลูกไม้สีเหลืองสวยงาม คล้องแถบผ้าพาดไหล่ ลงจากเรือก็กางแขนร่ายรำเดินขึ้นฝั่ง ตามด้วยป้าร่างท้วมถือกลองหนังที่มอแกนเรียกว่า "มะนา" กับอีกคนถือกลองโลหะลักษณะคล้ายหม้อใบใหญ่ และกลุ่มหญิงกับเด็กๆ มอแกนอีกหลายคน ทั้งหมดที่มาสมทบเป็นมอแกนกลุ่มหมู่บ้านไทรเอน
      คนที่ร่ายรำก็คือป้ามิเซี่ย แกเป็นน้องสาวลุงซาลามะ ทั้งสองคนเป็นลูกของมาด๊ะ หัวหน้าเผ่ามอแกนคนก่อน และเป็นคนทรงที่สำคัญ
      "มิเซี่ยมันอยู่กับผี" ลุงซาลามะบอกผม "ตอนเป็นวัยรุ่นมันนอนอยู่แล้วผีมาเข้ามันเอง ตอนแรกมันรำได้ แต่ร้องเพลงไม่ได้ พอมาด๊ะตาย มิเซี่ยร้องเพลงได้เอง คนไหนไม่สบายมิเซี่ยไปเข้าทรงให้" 
      บ่ายคล้อย เสาอีบูมและตีมะเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง ลุงดูนุงฝังเปลือกหอยสีขาวสองฝาลงเป็นดวงตาอีบูม มาร์ก--นักเขียนและช่างภาพชาวฝรั่งเศส ขอให้ลุงซาลามะและดูนุงย้ายจากลานใต้ร่มไม้ ออกไปนั่งแกะเสาบริเวณแสงแดดส่องถึง เพื่อจะได้ถ่ายรูป
"แสงสวยกว่า" เขาอธิบาย
      ผ่านไปประมาณชั่วโมงกว่า มาร์กขอให้ลุงทั้งสองขนเสาและอุปกรณ์ย้ายที่อีกครั้ง ไปนั่งทำงานให้เขาถ่ายรูปบริเวณหาดทรายตรงที่วงพวกป้ามิเซี่ยตีกลองร้องเพลงกันอยู่
      กระทั่งเย็น เสาอีบูมและเสาตีมะจึงถูกแกะสลักและทาสีน้ำมันจนเสร็จ ชาวมอแกนช่วยกันตั้งสองเสาบริเวณหน้าหาดทราย แล้วมานั่งล้อมวงหน้าเสา ทำพิธีเข้าทรง
      ผมเฝ้ามองพวกมอแกนตีกลอง ร้อง รำ เข้าทรงหน้าเสาหล่อโบง เมื่อมองไปยังหาดทรายอีกฝั่ง ก็เห็นเต็นท์โดมหลากสีตั้งเรียงราย นักท่องเที่ยวเดินขวักไขว่ ขณะทะเลช่องขาดมีนักท่องเที่ยวในชูชีพสีฉูดฉาด ว่ายวนดำน้ำตื้นดูปะการัง และบางคู่กำลังพายเรือไฟเบอร์เล่นอยู่ไปมา
      เสียงกลอง และเสียงเพลงเข้าทรงดังจนถึงดึกดื่น
 

 (คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าวันนี้ผมต้องนั่งเรือข้ามช่องขาดไปอุทยานฯ กับป้ามูกิ เพื่อซื้อเสบียงจำพวกผัก ไข่ไก่ มาม่า ปลากระป๋อง(รวมทั้งเหล้าขาวสำหรับทำพิธีอีกหนึ่งขวด)
      ฝั่งมอแกนและฝั่งอุทยานฯ แม้เพียงคั่นกลางด้วยทะเลช่องขาดที่ว่ายน้ำข้ามได้โดยไม่เหนื่อยนัก แต่ผมรู้สึกเหมือนเป็นสองโลกที่แตกต่างกันสิ้นเชิง
      จากบรรยากาศพิธีกรรมของชนเผ่า เมื่อขึ้นฝั่งอุทยานฯ ผมก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศของวันสงกรานต์ เพราะวันนี้คือวันที่ ๑๓ เมษายน
      สาวๆ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แต่งกายงดงาม นุ่งซิ่น สวมเสื้อลูกไม้แขนกระบอก แต่วันนี้พวกเธอต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มากันอย่างมืดฟ้ามัวดิน ทุกพื้นที่นับแต่หาดทรายด้านหน้าที่ทำการฯ หาดด้านหลัง หาดด้านช่องขาด ลานโล่งใกล้โรงอาหาร ริมทางเดิน ลานใกล้ห้องน้ำ ใกล้ถังขยะ ล้วนมีผู้จับจองกางเต็นท์แน่นขนัด เต็นท์ต่อเต็นท์เบียดชิดราวกับเป็นชุมชนแออัด ทุกที่ดูจะมีคนเต็มไปหมด ไม่ว่าในโรงอาหาร หรือหน้าห้องน้ำ
      ทว่าผมยังเห็นพวกมอแกนปะปนในหมู่นักท่องเที่ยวพลุกพล่าน บ้างเข็นรถเข็นบรรทุกถังขยะผ่านไป บ้างกำลังตอกสมอบกยึดเต็นท์ของอุทยานฯ 
      เมื่อข้ามเรือกลับไปฝั่งมอแกน ผมพบว่าลุงดูนุงและลุงซาลามะเริ่มแกะสลักเสาแอบ๊าบ และเสายะต้อย ส่วนป้ามิเซี่ยยังคงร่ายรำ ร้องเพลง เย้าแหย่โต้ตอบกับคนอื่นด้วยเสียงเพลงตลอดเวลา
      สายวันนี้ชาวมอแกนก็ได้ต้อนรับแขกใหม่ เรือลอบหมึกสองสามลำแวะมาจอดหน้าหาด เจ้าของเรือพาลูกชายซึ่งจับไข้ตัวร้อนขึ้นฝั่ง เด็กชายอายุราว ๑๑-๑๒ ขวบ ตัวอ้วน ผิวคล้ำ ตาแดงก่ำด้วยพิษไข้ นอนซมบนเสื่อใต้ร่มไม้ ผู้พ่อฝากฝังลูกชายไว้กับมอแกน ทิ้งเด็กเรือวัยรุ่นไว้คอยเฝ้าไข้คนหนึ่ง ก่อนออกเรือไปจับหมึกนอกเขตอุทยานฯ
      ถึงตอนบ่าย แขกอีกกลุ่มก็มาถึง ผมกำลังดูลุงดูนุงแกะเสาหล่อโบง รู้ตัวอีกทีก็เห็นฝูงคนมารุมล้อมหัวดำสลอน พวกเขาคือนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า ๒๐ คน สวมชูชีพสีสดใส เนื้อตัวและผมยังเปียกน้ำทะเล
      "ที่ท่านเห็นอยู่นี้คือมอแกนกลุ่มสุดท้ายที่ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม..."
      ไกด์ผู้ชายร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำ ตาโต ผมหยิกยาวเป็นลอนสลวย กล่าวแนะนำลูกทัวร์ ท่าทางเขาเป็นคนสนุก ลูกเล่นลูกฮาแพรวพราว ซ้ำยังพูดภาษามอแกนได้ และคุ้นเคยกับพวกมอแกนเป็นอย่างดี เที่ยวทักทายคนนั้นคนนี้
      มอแกนที่นั่งๆ นอนๆ พลันตื่นตัวอย่างรู้งาน แม่เฒ่าเอากระปุกสานออกมาวางโชว์ ป้ามิเซี่ยรำป้อเข้ามา เสียงตีกลองร้องเพลงมอแกนดังขึ้น คนอื่นๆ ผุดลุกขึ้นยืน
 (คลิกดูภาพใหญ่)       "เฮีย ๆ ถ่ายผมได้เลย สาม...สอง...หนึ่ง..." ไกด์เรียกอาเฮียลูกทัวร์ที่ถือกล้องวิดีโอดิจิตอลให้ถ่ายเขา สมมุติว่ากำลังถ่ายทำรายการทีวีกันอยู่
      "พบกันอีกครั้งในรายการสบายใจไทยแลนด์วันนี้ครับ นี่คือชาวเลทั้งหมดครับ คนนี้ครับยังจำชาระวีได้ดี พอชาระวีขึ้นมาเขาทักเลยครับ ว่าชาระวี จำไม่ได้แล้วหรืออดีตที่เคยทำให้เดี๊ยนชอกช้ำ... เขาบอกว่าเสื้อที่ผมใส่อยู่นี้ ทั่วประเทศไทยเขาหาไม่ได้ เมื่อชาวเลขอ ผมจำเป็นต้องถอดให้" ไกด์ทำท่าแกะกระดุมเสื้อฮาวายสีเจ็บ ลูกทัวร์หัวเราะเกรียว "อ้าวๆๆ...แล้วผมจะใส่อะไร เขาบอกว่าเขาล้อเล่น" 
      "ผมให้ท่านผู้ชมสัมผัสบรรยากาศกันตามสบายครับ"ไกด์พูดต่อ"ขณะนี้กำลังมีพิธีพิธีหนึ่ง เป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือพิธีลอยเรือ ประมาณบ่ายสองโมงเขาจะทำพิธีลอยเรือกัน แต่เราคงไม่มีเวลาอยู่ตรงนี้นะครับ เพราะเรามีโปรแกรมเก็บรายละเอียด การท่องเที่ยวเกาะสุรินทร์ทั้งหมดโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นปะการัง มนต์เสน่ห์เกาะสุรินทร์ที่ท่านอยากจะดูกัน"
      นักท่องเที่ยวผู้หญิงยื่นแบงก์ร้อยให้ป้ามิเซี่ยที่กำลังรำอยู่
      "ไปแบ่งกันเอาเองนะครับ นี่คือความรู้สึกที่ดีนะครับ เขาไม่ได้ขอ แต่วันนี้วันทำบุญนะครับ ท่านให้เงินเขาไป ก็เหมือนกับท่านได้รับบุญไปด้วย" ไกด์เว้นจังหวะฟังลุงซาลามะพูดมอแกนเร็วปรื๋อ แล้วแปล"เขาบอกว่าเงินที่ท่านให้มา ขอให้บุญกลับคืนสู่ท่านด้วย ท่านจะบริจาคให้เด็กๆ ให้คนอื่นก็ได้นะครับ"
      กลุ่มนักท่องเที่ยวและมอแกนพลันกลืนเข้าหากัน นักท่องเที่ยวเดินว่อน แจกเงินให้มอแกน บอกเด็กมอแกนให้ยืนเข้าแถวถ่ายรูป แล้วส่งเหรียญให้หนูน้อยคนละ ๕ บาท ๑๐ บาท บางคนไปอุดหนุนกระปุกสานของแม่เฒ่า พวกมอแกนดูสดชื่นรื่นเริงกับการมาของนักท่องเที่ยว เสียงตีกลองร้องเพลงดังไม่ขาดช่วง
      "ผมไม่ชอบแบบนี้เลย รำคาญ เราแกะเสาอยู่ด้วย ไม่มีสมาธิเลย" เงย หนุ่มมอแกนที่นั่งคาบบุหรี่แกะเสาแอบ๊าบ บอกผม เขาพูดใต้ได้คล่อง "ตอนผมเด็กๆ เหล้า บุหรี่ยังไม่มี คนข้างนอกเขาเอามาให้ มอแกนกินแล้วก็ติดใจ ผมไม่ค่อยชอบนักท่องเที่ยวขึ้นหมู่บ้าน รู้สึกไม่เป็นส่วนตัว แต่พูดถึงบางคนเขาก็ชอบ เขาขายของได้ แต่ทำให้วัฒนธรรมที่เราอยู่เปลี่ยนไป เช่นการกิน พวกเด็กๆ สมัยก่อนจะกินพวกของป่า ลูกหวาย อะไรพรรค์นั้น แต่นี่นักท่องเที่ยวมาถึง เอาแต่ ขอหนม ขอหนม...น่าอาย"
      ตอนอยู่หมู่บ้านอ่าวบอน มอแกนคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เรืออุทยานฯ พานักท่องเที่ยวมาที่หมู่บ้านวันละห้าหกรอบ
      ต่างคนก็ต่างความคิด เพื่อนคนหนึ่งที่เคยมาเที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์เมื่อปีก่อนบอกผมตั้งนานแล้วว่า ตอนเรือเมล์ท่องเที่ยวของอุทยานฯ พาไปอ่าวบอน เธอไม่อยากขึ้นหมู่บ้านมอแกนเลย "ไปดูทำไม ทำอย่างกับพวกเขาเป็นตัวอะไร"
 (คลิกดูภาพใหญ่)       แต่เอาเข้าจริง มอแกนที่ผมคุยด้วยช่วงหลายวันนี้ ล้วนมีความรู้สึกดีกับนักท่องเที่ยวทั้งนั้น
      "ไม่รู้สึกรำคาญเลย ชอบนักท่องเที่ยว" จุ๊ก--เด็กหญิงวัย ๑๓ บอก
      "ป้าชอบให้นักท่องเที่ยวขึ้นหมู่บ้าน เพราะขายของได้ ช่วยให้มอแกนมีรายได้ เสื่อผืนละ ๒๐๐ บาท ทำไม่ทันขายเลย" ป้าอีกคนบอก
      คุยกับเงยเสร็จ มาร์กมาลากผมไปช่วยเป็นล่ามคุยกับหญิงแม่ลูกอ่อนมอแกนนางหนึ่ง
      "รู้สึกยังไงกับนักท่องเที่ยว ?" มาร์กถาม
      "รู้สึกดีใจ" เธอพูดไทยไม่ค่อยคล่องนัก เงียบไปอึดใจหนึ่งคล้ายสรรหาถ้อยคำ "เราทำงานให้นักท่องเที่ยว เพราะว่าเป็นหน้าที่ของมอแกน"
      มาร์กทำท่าไม่ค่อยเข้าใจคำแปลเป็นภาษาอังกฤษของผมนัก แล้วเขาถามต่อ
      "มอแกนจัดพิธีหล่อโบงให้นักท่องเที่ยวดูหรือเปล่า ?"
      "เปล่า" เธอตอบทันที "จัดให้พวกมอแกน ถ้ามอแกนไม่ทำ จะเจ็บไข้"

      เกือบสี่โมงเย็น หัวหน้าสมพงษ์นั่งเรือยางมาถึงพร้อมเจ้าหน้าที่สองสามคน บอกมอแกนให้เก็บขยะให้เรียบร้อย และคุยกับลุงซาลามะว่า น่าจะจัดพิธีจริงวันที่ ๑๕, ๑๖ เพราะเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง
      ถึงตอนเย็น แม้ทะเลช่องขาดยังมีนักท่องเที่ยวดำสนอร์เกิล (snorkel การดำน้ำแบบตื้นบริเวณผิวน้ำโดยใช้ท่อหายใจ) และพายเรือไฟเบอร์เล่น แต่ปรากฏว่าไม่ค่อยมีใครสนใจพิธีกรรมมอแกนสักเท่าไร บางกลุ่มที่ข้ามฝั่งมา แค่เดินเข้ามาเมียงมองอย่างลังเล แล้วพากันเดินเลี่ยงไป
      เสาแอบ๊าบและยะต้อยที่ทาสีเสร็จแล้ว ถูกนำมาปักเรียงกับเสาอีบูมและตีมะที่ตั้งอยู่ก่อน รวมเป็นสี่ต้น พร้อมด้วยศาลเจ้าทำด้วยไม้ขนาดย่อม เป็นเรือนเสาสูงหลังคาจั่ว ในศาลตั้งถาดเครื่องเซ่น เป็นขนมที่ทำจากแป้ง ข้าวเหนียว ข้าวตอก มีจานหนึ่งเป็นขนมแป้งทอดที่ปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ตัวเล็กๆ ทั้งปลา ปลาดาว หมา รวมทั้งเต่า 
      "งานหล่อโบงสมัยก่อน มอแกนเซ่นผีด้วยเต่าทะเล" ลุงซาลามะเล่าให้ผมฟัง "ในงานมอแกนยังกินหอยเม่น ปลิงทะเล เพรียง หอยนางรม ปลา แต่เดี๋ยวนี้อุทยานฯ ห้ามไม่ให้จับเต่า ให้ใช้ไก่แทน"
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ลมพัดแรงจนริ้วธงกระดาษสีร้อยบนด้ายยาวที่ขึงระหว่างต้นไม้ปลิวสบัด ผู้ช่วยฯ วิสูตรพายเรือไฟเบอร์ข้ามมาขึ้นฝั่งมอแกน
      "ไก่มาแล้ว ว่างเมื่อไหร่ก็ไปเอา" ผู้ช่วยแวะมาบอก แล้วถามว่าจะทำพิธีจริงเมื่อไร
      "ตอนนี้เรือมอแกนจำลองยังทำไม่เสร็จเลย" ก้องตอบ
      ผู้ช่วยฯ "พรุ่งนี้ทำเรือให้เสร็จสิ แล้วไหว้ซะวันเดียววันที่ ๑๕"
      ผู้ช่วยฯ วิสูตรจากไปแล้ว ขณะเรือหัวโทงสองสามลำ นำมอแกนจากบ้านอ่าวบอนและไทรเอนมาที่งาน พวกคนทรงรุ่นวัยกลางคน ทั้งป้ามิเซี่ย ลุงซาเละ ลุงดูนุง ป้ามูกิ ป้าดออ๊ะ แม่เฒ่าอีกสองสามคน และคนตีกลอง นั่งรวมกลุ่มอยู่หน้าเสาหล่อโบงทั้งสี่ต้น เริ่มทำพิธีเข้าทรง ป้ามิเซี่ยผิดเป็นคนละคนกับเมื่อบ่าย ที่เที่ยวกระเซ้าเย้าแหย่คนนั้นคนนี้ บัดนี้แกดูสำรวมจริงจัง กางซี่พัดไปวางบนหัวคนอื่น แล้วนำมาเพ่งพินิจ เป็นการทำนายอนาคต เสียงร้องเพลงดังระคนจังหวะกลอง ฟ้าเบื้องบนค่อยๆ หม่นแสงลงทุกที
      ผมยืนอยู่กับมอแกนหนุ่มสาว วัยรุ่น และเด็กๆ ที่ล้อมวงดูพิธีเข้าทรง แม่เฒ่าป๊ะเย่ะใบหน้ายับย่นซับซ้อน บ่งว่าน่าจะอยู่ในวัยไม่ต่ำกว่า ๘๐ พาสังขารร่วงโรยลุกขึ้นร่ายรำ กระทั่งล้มฟุบแน่นิ่งบนพื้นทราย ลูกหลานต้องพาไปนอนพัก แม่เฒ่าอีกคนร่างผอมผูกผ้าแพรแดงคาดหน้าผาก แกนั่งขัดสมาธิ ผงกหัวขึ้นลงถี่เร็ว ฝ่ามือรัวตบเข่า เหมือนกำลังปลุกเร้าตัวเอง ลุงดูนุง ป้ามูกิ ป้ามิเซี่ยร้องเพลงโต้ตอบกันด้วยน้ำเสียงทอดสูงต่ำคล้ายเพลงสวด ป้าดออ๊ะคล้องผ้าแพรสีฟ้าพาดไหล่นั่งตัวสั่นเร่า ลุกขึ้นเต้น แขนขาวาดกระตุก คนทรงอื่นๆ ลุกขึ้นตาม ยิ่งดึกเสียงร้องเสียงกลองยิ่งเร้าระรัว เทียนหลายเล่มที่จุดกลางวงเปล่งแสงสว่างเรืองรอง แต่รอบนอกห้อมล้อมด้วยความมืดมิด จึงเหมือนตัดขาดจากโลกภายนอก มองไม่เห็นอุทยานฯ ไม่มีนักท่องเที่ยว เวลานี้มีแต่บรรดาคนทรงที่กำลังสื่อสารกับผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และลูกหลานที่รุมล้อม หาดทรายแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่โลกมนุษย์และโลกวิญญาณรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ลุงดูนุงนั่งร้องเพลงอยู่ดีๆ ก็ตัวสั่น ลุกพรวดปีนเสาต้นหนึ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เสาหล่อโบงทั้งสี่ต้นปักบนพื้นทรายไม่ลึกนัก ความสูงและขนาดของมันก็ดูไม่มั่นคงพอจะรับน้ำหนักคนคนหนึ่งเอาเสียเลย วูบแรกผมตะลึง เพราะลุงดูนุงเท่าที่รู้จักเป็นคนสุขุมเรียบร้อย ใจดี เวลานี้ลุงดูนุงยืนตระหง่านเหยียบหัวเสาสองต้น โยกย้ายส่ายกาย ข้ามไปเหยียบเสาต้นอื่น ชี้นิ้วส่ายกราด ปากพร่ำพูด แล้วลงนั่งไขว่ห้างห้อยขาคร่อมหัวเสาต้นหนึ่ง เอาฝ่ามือป้องหน้าผาก ดวงตาเลื่อนลอยเหมือนไร้สติมองฝ่าเวิ้งความมืดไปทางฝั่งอุทยานฯ 
      ผมเดินเลี่ยงความอึกทึกออกมาเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ยังจำเรื่องที่มอแกนเล่าให้ฟังได้ว่า สมัยก่อนสัก ๑๐ ปีมาแล้วในงานหล่อโบงมีคนมาร่วมอย่างเนืองแน่น มอแกนทุกคนจะหยุดงานเพื่อมาร่วมพิธีที่จัดเป็นเวลาสามวัน ญาติมิตรมอแกนจากพม่าก็พากันมามาก เรือมอแกนจอดเรียงหน้าหาดเป็นแนวยาวเหยียด... ทำให้อดจินตนาการภาพอดีตเช่นนั้นไม่ได้ แต่แล้วเมื่อเดินอ้อมมาถึงหาดทรายอีกด้านหนึ่ง ผมก็พบเรือมอแกนลำสุดท้ายของหมู่เกาะสุรินทร์ จอดในทะเลเบื้องหน้าโดยไม่ทันเตรียมใจ
      ในเอกสารวิชาการของอาจารย์นฤมลที่ผมเคยอ่าน บ่งบอกว่า ส่วนต่างๆ ของเรือมอแกนมีคำเรียกเหมือนกับอวัยวะในร่างกายคน เช่น หละแก้ (ท้อง) ตะบิน (แก้ม) ตู่โก๊ะ (คอ) บ่าฮ้อย (ไหล่) หรือตะบิ้ง (ซี่โครง) สำหรับมอแกนแล้ว เรือเป็นเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง ทว่าก่าบางลำสุดท้ายของหมู่เกาะสุรินทร์ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ ที่หลงยุคมาโดยลำพัง ร้างไร้เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์
      ในแสงจันทร์ข้างขึ้น ๑๓ ค่ำ ก่าบางลำนั้นมองเห็นโครงร่างเป็นเงาตะคุ่ม ลอยลำอยู่อย่างสงัดงันใต้ท้องฟ้าเกลื่อนดวงดาว ผมเฝ้ามองมันอยู่อย่างนั้นท่ามกลางลมทะเลพัดมาแผ่วเบา ระคนเสียงคลื่นกระทบหาดทรายเป็นจังหวะ
      ทันใดนั้นเงาคนผู้หนึ่งโผล่จากใต้หลังคาออกมาที่หัวเรือ ชายคนนั้นอุ้มเด็กตัวเล็กๆ แนบอก เขาค่อยๆ ลงเรือ ก้าวลุยน้ำถึงหัวเข่าตรงมา เขาปล่อยเด็กลงเมื่อถึงชายหาด หนูน้อยก้าวเท้าเดินเตาะแตะขึ้นมาตามหาดทราย
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ผมได้เห็นก่าบางลำนั้นอย่างชัดเจนในวันต่อมา ด้านข้างเรือมิได้เป็นแผงไม้ระกำ แต่ตีขึ้นจากไม้กระดาน ซึ่งเป็นรูปแบบของก่าบางรุ่นหลัง ผมยังได้ขึ้นไปสำรวจในเรือ กราบเรือช่วงใต้หลังคาทั้งสองด้านต่อเป็นชั้นวางของ มีหีบหวายและหีบโลหะเรียงอยู่ ตรงกลางโล่ง พื้นปูด้วยไม้กระดาน ชั้นวางของตรงหัวเรือใช้เก็บกระปุกเครื่องปรุง จำพวกน้ำตาล เกลือ พริกแห้ง ขวดน้ำปลา ด้านท้ายเรือมีถังแก๊สขนาดย่อมวางอยู่
      เจ้าของก่าบางลำนี้ชื่อต้าด อายุประมาณ ๔๐ ปี เขาเป็นมอแกนจากหมู่เกาะมะริด ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านไทรเอนได้สามสี่ปีแล้ว ทุกวันนี้เขากับเมีย และหลานชายตัวเล็กๆ ยังคงอาศัยอยู่ในเรือ ไม่ได้ปลูกบ้านบนฝั่ง ผมได้พบและคุยกับพี่ต้าดตรงหาดทราย เขากำลังนั่งทำก่าบางจำลองเพื่อขายนักท่องเที่ยว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงบ่ายของวัน หลังจากผมไปคุยกับหัวหน้าสมพงษ์ที่ฝั่งอุทยานฯ และข้ามฝั่งกลับมาแล้ว
      เช้าวันนั้นผมตัดสินใจถามลุงซาลามะถึงสิ่งยังสงสัย-แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นคำถามที่ไม่เข้าท่าหรือเปล่า
      "ทำไมมอแกนทำพิธีหล่อโบงของตัวเอง แต่ขอของจากอุทยานฯ"
      ลุงซาลามะมองหน้าผม แกตอบว่า "อุทยานต้องให้เหล้า ให้ไก่ เพราะมาอยู่เกาะมอแกน ต้องเซ่นผีมอแกน ถ้าไม่ให้จะอยู่ไม่เป็นสุข"
      คำตอบของลุงซาลามะ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องของลูกเจ้าของเรือลอบหมึก ตลอดบ่ายวันวานเด็กอ้วนได้แต่นอนซมบนเสื่อ เว้นแต่ตอนลุกมากินข้าว ใครชวนคุยก็ไม่ตอบ ดวงตาแดงก่ำด้วยพิษไข้ เด็กเรือที่อยู่เฝ้าเล่าให้ผมฟังว่า
      "ลุงซาลามะบอกว่า เด็กโดนเจ้าที่ที่หัวแหลม มอแกนจะทำพิธีบนเสาหล่อโบงแก้ให้ พอเด็กหายป่วยค่อยมาแก้บนด้วยเหล้าขาวขวดหนึ่ง"
      ลุงดูนุงก็เคยคุยให้ผมฟังว่า "ลุงต้องทำพิธีขอผีมอแกน ให้ช่วยคุ้มครองนักท่องเที่ยวที่มาว่ายน้ำ ดำน้ำ เมื่อหลายปีก่อนก็มีนักท่องเที่ยวมาจมน้ำตายตรงช่องขาด"
      หรือกลุ่มของพี่ติมา--คนไทยเจ้าของบริษัททัวร์บนฝั่งคุระบุรี เธอเล่าให้ผมฟังภายหลังว่า "ไม่กี่ปีนี้เองพี่พาทัวร์มาที่เกาะสุรินทร์ ลูกทัวร์คนหนึ่งเกิดหายไป ตามกันเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ต้องให้ลุงซาเละเข้าทรง แกบอกอยู่หาดไม้งาม พอไปตามก็เจอจริงๆ นักท่องเที่ยวคนนั้นเขาบอกไม่รู้ตัวเลย ว่าเดินมาถึงนี่ได้ไง...เรื่องแบบนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ"
      แม้ทุกวันนี้กฎของอุทยานฯ มีอำนาจครอบคลุมทั่วหมู่เกาะสุรินทร์ และมีผลต่อทุกคน ไม่ว่ามอแกน นักท่องเที่ยว เรือประมง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เอง แต่ขณะเดียวกัน ตามความเชื่อของมอแกน สิ่งที่มีอำนาจดลบันดาลดีร้ายบนเกาะแห่งนี้ก็คือ "ผีมอแกน" และผู้ที่จะติดต่อกับผีมอแกนได้ ก็มีแต่ชาวมอแกน
      ดังนั้นผีมอแกน ไม่ว่าผีบรรพบุรุษ ผีน้ำ เจ้าป่า เจ้าเขาต่างๆ จึงไม่เป็นเพียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มอแกนเคารพนับถือ ผมคิดเอาว่า ผีช่วยยืนยันว่าพื้นที่ของมอแกนยังคงอยู่ และผียังเป็นอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)       วันนี้มาร์กต้องกลับกรุงเทพฯ ผมและประเวชนั่งเรือข้ามไปส่งที่ที่ทำการอุทยานฯ และถือโอกาสคุยกับหัวหน้าสมพงษ์ จีราระรื่นศักดิ์ ผมออกตัวว่าเราคงเหมือนสื่ออื่น ที่สงสัยว่าการเข้ามาของอุทยานฯ ทำให้วิถีชีวิตชาวมอแกนเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า ? หัวหน้าเริ่มพูดขณะเทปสัมภาษณ์เดินเครื่อง...
      "สำหรับชาวเลมอแกน ดั้งเดิมเขาเร่ร่อน อาศัยในเรือ มีอาชีพหาปลาประทังชีวิต ไม่ก็งมหอย หาของทะเลไปขายบนฝั่ง เมื่อกรมป่าไม้เข้ามาสำรวจ จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เขาก็ยังใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ แต่ประมาณเจ็ดปีที่แล้ว ที่ผมเข้ามา เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๓๙ ผมเห็นเขานั่งขายเปลือกหอยสวยงาม มีหอยหายากเช่นหอยสังข์แตร หอยมือเสือ เขาขายเป็นจำนวนมาก เปลือกหอยกองเป็นภูเขาเลยนะ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหลายท่านได้ฝากผมว่า ถ้าปล่อยให้เขาทำอย่างนี้ต่อไป หอยจะสูญพันธุ์หมดเกาะแน่ ขณะเดียวกัน ทางอุทยานฯ ยังอนุญาตให้หาปลาได้ แต่ว่าเราขอร้องให้หยุดจับสัตว์ที่จะสูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล หอยมือเสือ ปลิงทะเล และกุ้งมังกร สัตว์เหล่านี้มีนายทุนจากระนองและที่อื่นมาสั่งซื้อ
      "ในเมื่อเราหยุดเขาตรงนี้ เราก็ต้องหาอาชีพให้เขา เพื่อให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันผมก็เลยสร้างงานให้เขา คือเอาเขามาบริการนักท่องเที่ยว มาขับเรือหางนำชมปะการัง มาเป็นเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด เก็บขยะ เราสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เขา ซึ่งผมจ้างเขาวันละ ๑๐๐ บาท พร้อมอาหารสามมื้อ แล้วอาหารที่เหลือขายนักท่องเที่ยว ก็มอบให้เขาเอากลับบ้าน ไปฝากลูก ลูกเล็กเด็กแดงตามพ่อแม่มาที่นี่ก็เลี้ยงหมดเลย กินที่นี่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมคนแก่ผู้หญิงที่อยู่บ้านให้ทำของที่ระลึกขาย นอกจากนั้นเรายังตั้งกล่องรับบริจาคเงินนักท่องเที่ยว พอฤดูมรสุมก็ซื้อข้าวเป็นกระสอบให้เขา มีอะไรช่วยได้เราก็ช่วย
      "ผมคิดว่าตอนนี้ก็โอเคแล้ว เข้าสู่เป้าหมาย ก็คือว่า เราต้องเอาเขาเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ ขณะเดียวกันวัฒนธรรมดั้งเดิมของเขาก็พยายามรักษาไว้ อย่างการตัดไม้ทำเรือก่าบางเราก็ไม่หวงห้าม เพียงแต่ต้องมาขออนุญาตเป็นรายๆ ไป แต่ถามว่ามีการเปลี่ยนแปลงไหม มันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ความเจริญเข้ามา ทุกคนก็อยากจะอยู่ดีกินดีเหมือนคนอื่น ถามว่าเราจะทำยังไง เราคงทำอะไรไม่ได้ เราไม่สามารถเก็บเขาไว้ได้ เพราะเขาก็เป็นมนุษย์ ต้องปล่อยให้เขาเลือกทางเดินของตัวเอง"
      "นักท่องเที่ยวอยากมาดูพิธีหล่อโบงหรือเปล่าครับ" ผมถาม
      "ผมว่าไม่ ทางอุทยานฯ เคยทำแบบสอบถาม ๙๐ เปอร์เซ็นต์ตอบว่ามาดูปะการังอย่างเดียว อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเป็นเรื่องรองลงมา ไม่ได้สำคัญอะไร แต่เป็นเรื่องแปลกเฉย ๆ ว่าเออ หมู่บ้านสวยดีนะ วิถีชีวิตแบบนี้ยังมีอยู่เหรอ แต่ถามว่ามาดูชาวเลเลย ไม่มี"
(คลิกดูภาพใหญ่)       หัวหน้าเสริมว่า ปีนี้พยายามบอกมอแกนว่า อย่าให้ญาติจากพม่ามาร่วมพิธีหล่อโบง เพราะทางนั้นยังมีคนเป็นโรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง และโรคอื่นๆ เกรงจะนำมาแพร่เชื้อที่เกาะสุรินทร์ และเมื่อผมถามเรื่องเต่า หัวหน้าตอบว่า
      "สมัยก่อนมอแกนชอบกินเต่ามาก เนื้อมันอร่อย ตัวใหญ่ เขากินเต่ากระ เต่าตนุ ได้ตัวนึงอิ่มไปตั้งหลายวัน เขาบอกว่าเอามาทำพิธีหล่อโบง เพราะผีบรรพบุรุษชอบ ผมบอกหยุดๆ ขอร้อง เอาไก่ไปแทน เอากี่ตัวก็จะให้"
      เมื่อผมนั่งเรือข้ามกลับฝั่งจัดพิธีหล่อโบง ก็พบว่าลูกชายเจ้าของเรือลอบหมึกค่อยยังชั่วขึ้นมากแล้ว เขาลุกขึ้นเดินเล่นได้บ้าง เริ่มยิ้มแย้มพูดคุยกับคนอื่น กลุ่มเรือลอบหมึกมาจอดในตอนเย็น พ่อมารับลูกชายขึ้นเรือ ก่อนไปยังให้หมึกสดมอแกนไว้กินราว ๒ กิโลกรัม เขาบอกว่าอีกไม่นานจะเอาเหล้าขาวมาแก้บน
      จันทร์กลมโตเกือบเต็มดวงโผล่พ้นแนวเขาฝั่งที่ทำการอุทยานฯ ลอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ กำลังจะโคจรข้ามฟ้ามาสู่ฝั่งมอแกน เสียงมะนาเริ่มดังเป็นจังหวะอีกครั้ง
      คืนนี้ชาวมอแกนจากสองหมู่บ้านมาร่วมพิธีหล่อโบงมากกว่าคืนก่อนๆ คนเนืองแน่นยืนล้อมดูพิธีเข้าทรงจนดึก เสียงมะนาเร่งจังหวะเร้าระรัว หญิงหลายคนเข้าร่วมร่ายรำกับเหล่าคนทรง วาดแขนว่ายว่อน เนื้อตัวกระตุกเต้น ฝีเท้าซวดเซปัดพื้นทรายกระเด็น เสียงร้องเพลงดังระงมเคล้าเสียงหอบหายใจ ลานทรายหน้าเสาหล่อโบงเต็มไปด้วยบรรยากาศอันสับสนพลุ่งพล่าน หญิงสาวลูกลุงซาเละออกอาการกว่าใครเพื่อน ตัวเธอสั่นรุนแรง ซัดเซไปรอบวง แล้วล้มลงตรงหน้าเสาหล่อโบง เธอนั่งเหยียดขา สองฝ่ามือฟาดพื้นทรายอย่างแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผงกหัวก้มๆ เงยๆ ใบหน้าบิดเบี้ยวเหยเก คร่ำครวญด้วยภาษาที่ผมฟังไม่เข้าใจ แม่เฒ่าสองสามคนเข้าไปรุมล้อม ตบตามเนื้อตัวเธอ
      "ผีพ่อหนูมาเข้ามัน บอกอยากจะกินเต่า" จุ๊ก เด็กสาววัยรุ่นบอกผมหน้าตาตื่น พ่อเธอชื่อดาเก้ เป็นคนทรงระดับสูงที่ทุกคนนับถือ ผู้เฒ่าเพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
      หญิงสาวผู้นั้นนอนแน่นิ่งไปแล้ว ลุงซาเละจุดเทียนไปปักไว้ปลายเท้าลูกสาว ปากท่องบ่นพึมพำ หลายคนเข้าไปมุงดู เหล่าเด็กมอแกนที่ซุกซน บัดนี้ยืนนิ่ง เบิกตากว้าง สีหน้าตื่นกลัว พลันที่ป้าร่างท้วมคนหนึ่งร้องไห้สะอึกสะอื้น จุ๊กและผู้หญิงคนอื่นๆ ก็ร้องไห้ตาม ป้าร่างท้วมกระตุกแขนผมที่ยืนอยู่ใกล้ๆ บอกว่า
      "ลูกไปบอกกับอุทยานฯ ได้ไหม ขอให้มอแกนใช้เต่าทำพิธีหล่อโบง"
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ถึงอย่างไรปีนี้แอบ๊าบ-อีบูม ก็ได้รับเลือดไก่เป็นเครื่องเซ่นอยู่ดี
      บ่ายของวันนี้ คือวันที่ ๑๕ เมษายน หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๕ ตามปฏิทินจันทรคติ ลุงซาลามะจับไก่ตัวผู้ขนขาวปลอดขึ้นจากที่ขังไว้ในเข่ง แกถอนขนคอมันออกจนเห็นหย่อมเนื้อสีแดง ใช้มีดปาดตัดเส้นเอ็นและเส้นเลือดใหญ่ กดคอมันไว้ แล้วนำเปลือกหอยมือเสือสีขาวขอบหยักที่ใหญ่ประมาณอุ้งมือผู้ชายมารองหยดเลือดสีแดงเข้ม ปีกไก่ที่ยังกระพือค่อยๆ หุบลงจนนิ่งสนิท ลุงซาลามะบอกว่าไก่ตัวผู้ใช้เลือดดิบเป็นเครื่องเซ่น ส่วนไก่ตัวเมียต้องนำเลือดไปต้มให้สุก แกผละไปจับไก่ตัวเมียขึ้นจากเข่ง...
      ส่วนลุงดูนุงและกลุ่มป้านั่งล้อมวงทำเรือมอแกนจำลองสำหรับพิธีลอยเรือ ก่าบางลำน้อยใกล้สมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงเย็บใบและทำหลักแจว ทุกคนดูรื่นเริง พูดคุยหัวเราะกันสนุก ป้ากอยังที่ป่วยซึมมาหลายวันก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ร้องเพลงคลอเบาๆ ขณะทำงาน
      มาร์กเพิ่งจากไป แต่คนใหม่มาแทนโดยพลัน ทั้งสามคนขึ้นฝั่งมาพร้อมกล้องดิจิตอลระดับมืออาชีพคนละตัว และเลนส์เทเลตัวใหญ่ ได้คุยกันจึงรู้ว่าพวกเขาคือช่างภาพหนังสือพิมพ์รายวันฉบับที่หัวหน้าสมพงษ์เคยบอกว่าจะมาถึงวันนี้ คนหนึ่งบอกว่ามาเก็บภาพหมู่เกาะสุรินทร์และพิธีหล่อโบงเพื่อไปลงในสกู๊ปท่องเที่ยว 
      คนที่ ๔ เป็นชาวฝรั่งเศส แนะนำตัวว่าเป็นช่างภาพจากนิตยสาร เนชันแนลจีโอกราฟิก
      "ผมมาจาก เนชันแนลจีโอกราฟิก อเมริกานะ ไม่ใช่มาจากฉบับภาษาไทย" เขาพูดยิ้มๆ
      กลุ่มสื่อมวลชน (รวมทั้งเรา) พูดคุย ปฏิสัมพันธ์กันอย่างเพื่อนร่วมอาชีพที่ดี แม้ว่าต่อมาในขณะทำงานจะมีการเบียดบังมุมกล้องกันบ้างก็ตาม
      งานหล่อโบงเย็นนี้มีพิธีสำคัญ คือการเซ่นผีบรรพบุรุษด้วยเลือด เครื่องใน และเนื้อไก่ ก่าบางจำลองที่เสร็จแล้วก็ถูกนำมาตั้งบนเสาค้ำสองต้น ในบริเวณประกอบพิธี นักท่องเที่ยวครอบครัวหนึ่งข้ามฝั่งมายืนดู มีพ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาวตัวเล็กๆ
      "แม่ มีเลือดอะไรก็ไม่รู้" เด็กหญิงกระตุกมือแม่ ชี้ไปที่เปลือกหอยบรรจุเลือดไก่
      ช่างภาพแทรกตัวเข้าไปในกลุ่มมอแกนบ้าง แทรกในช่องว่างหลังเสาหล่อโบงบ้าง เวียนวนหามุมถ่ายภาพ ขณะป้ามิเซี่ยร้องเพลง ลุงซาลามะตัดเครื่องในไก่เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วกิน และแล้วแสงแฟลชก็วาบเป็นจังหวะถี่ยิบ ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่มอแกนเฒ่าสวมวิญญาณเป็นเสือ ก้มลงคาบคอไก่ต้มขึ้นมา แล้วสะบัดไก่ทั้งตัวเข้าไปในศาล
      ลุงดูนุงตอกไข่ไก่ใส่เลือดดิบ นำเปลือกหอยบรรจุเลือดนั้น พร้อมกระทงใบไม้เล็กๆ ใส่ขนมหลายอย่างไปวางไว้ที่หัวเรือก่าบางจำลอง
(คลิกดูภาพใหญ่)       "พรุ่งนี้หกโมงเช้าจะทำพิธีลอยเรือ" ลุงซาลามะบอก "ต้องเอาหัวโทงขนก่าบางจำลองออกไปลอยนอกอ่าวโน่น"
      "น่าจะลอยเรือตอนแปดโมงเช้า แสงกำลังสวย "ช่างภาพคนหนึ่งออกความเห็น
      ทว่าในวันต่อมา (๑๖ เมษายน) กว่าจะได้ทำพิธีลอยเรือจริงๆ เวลาก็ล่วงมากว่าสิบโมงครึ่ง
      ชาวมอแกนทำพิธีร้องเพลงเข้าทรงแต่เช้ามืด พอสว่างก็เรี่ยไรเงินทั้งแบงก์ร้อย แบงก์ยี่สิบ และเศษเหรียญ ใส่ไว้ในก่าบางจำลอง พี่ต้าดบอกว่าเป็นเงินให้ผี ส่วนลุงซาลามะดูร้อนรน แกเดินมาหากลุ่มนักข่าว 
      "เรือไม่มีเลย ลูกไปขอเรือที่อุทยานฯ กับลุงหน่อยได้ไหมล่ะ เดี๋ยวลอยเรือไม่ทันกระแสน้ำพัดออก"
      เกือบสิบโมงเช้า เราขอเรือหัวโทงจากอุทยานฯ กลับมาได้สองลำ ชาวมอแกนขนก่าบางจำลองขึ้นเรือ ผู้ที่ไปกับเรือคือป้ามิเซี่ย ป้ามูกิ ป้ากอยัง ป้าคนตีกลอง และผู้ชายสองคน เรือลำนั้นออกไปก่อน โดยมีเรือของนักข่าวแล่นตามไปแต่ไกล
      ป้ามิเซี่ยลุกขึ้นร่ายรำขณะเรือแล่น มองในระยะไกลเห็นเป็นเงาดำเคลื่อนไหวในผืนทะเลระยิบประกายแดด เราบอกคนเรือเร่งความเร็วไปใกล้ๆ กระทั่งเรือสองลำตีคู่มาถึงทะเลบริเวณหินแพ ซึ่งห่างจากอ่าวช่องขาดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว ๒ กิโลเมตร ผืนทะเลเป็นสีน้ำเงินเข้มจัดเพราะความลึก ชาวมอแกนจะลอยเรือบริเวณนี้ 
      "เดี๋ยวพวกเราผลัดกันขึ้นไปถ่ายรูปบนหัวเรือพวกมอแกนคนละ ๕ นาทีนะ ผมจะขึ้นไปก่อน" ช่างภาพ เนชันแนลฯ บอก
      เสร็จภารกิจของช่างภาพทั้งสามทีม มอแกนก็หย่อนก่าบางลำน้อยลงน้ำ ทันทีที่ท้องเรือจำลองแตะผิวทะเล เสียงลั่นชัตเตอร์กล้องหลายตัวก็ดังขึ้นพร้อมกันอย่างไม่ต้องนัดแนะ
      หลังพิธีลอยเรือ เสาหล่อโบงทั้งสี่ต้นถูกแยกย้ายไปไว้ที่ต่างๆ ต้นหนึ่งปักในป่าอ่าวช่องขาด ต้นหนึ่งนำไปปักไว้ที่หมู่บ้านอ่าวบอน อีกสองต้นถูกนำไปปักในป่าช้ามอแกนที่อ่าวแม่ยาย
      เย็นนั้นผมติดเรือชาวมอแกนไปหมู่บ้านไทรเอน พักค้างคืนในกระท่อมลุงดูนุง-ป้ามูกิ พอรุ่งขึ้นก็ได้ทราบข่าวดี
      "หมดหน้าท่องเที่ยว พอเข้าฤดูมรสุม ลุงว่าจะต่อก่าบางมอแกนสักลำ" ลุงดูนุงว่า
      "ลุงก็จะต่อลำหนึ่งเหมือนกัน" ลุงซาลามะก็บอกเช่นนี้
      นอกจากนี้ผมยังได้รู้ว่า พวกผู้ชายหมู่บ้านอ่าวบอนก็กำลังร่วมแรงต่อก่าบางขึ้นอีกลำหนึ่ง ภายใต้การริเริ่มของพลาเดชและอาจารย์นฤมล ผมตั้งใจว่าเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ค่อยไปหาคนทั้งสอง
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ผมกลับกรุงเทพฯ พร้อมข้อสงสัยหลายอย่างยังคั่งค้าง ไม่ว่าเรื่องการกลับมาอีกครั้งของก่าบาง สงสัยว่าเมื่อหมดคนรุ่นลุงซาลามะ ลุงดูนุง ป้ามิเซี่ย ป้ามูกิ ใครจะสืบทอดพิธีหล่อโบง หรือเรื่องที่มอแกนหลายคนมาบ่นให้ฟัง ว่าชีวิตตอนนี้ลำบาก ไม่ค่อยพอกิน อยากกลับไปดำหอย ดำปลิงเหมือนเมื่อก่อน ทั้งที่หัวหน้าอุทยานฯ บอกว่ารายได้วันละร้อยบาทนั้นเพียงพอสำหรับมอแกน
      "เรามันคนเคยอยู่ทะเล มาทำงานแบกปูน แบกหิน เก็บขยะแบบนี้มันไม่ถนัด อยากกลับไปดำหอย ดำปลิงอีก" ผมยังจำคำพูดมอแกนหนุ่มคนหนึ่งได้
      ผมนำข้อสงสัยไปถาม พลาเดช ณ ป้อมเพชร หรือเน็ต นักศึกษาปริญญาโททางมานุษยวิทยาที่ไปใช้ชีวิตอยู่กับมอแกนมากว่าแปดเดือน ช่วงนี้เขากลับกรุงเทพฯ มาเริ่มเขียนวิทยานิพนธ์ของตนในหัวข้อ "โลกของมอแกน"
      "บางคนคิดว่ามอแกนไม่ต้องใช้เงิน อยู่สบาย ปลาก็มีให้จับกินหน้าบ้าน แต่ไม่ได้นึกว่าปัจจุบันข้าวเขาก็ต้องซื้อ เสื้อผ้าเขาก็มีความต้องการเหมือนคนปรกติ" เน็ตกล่าว "ที่มอแกนบอกว่าจนลง คิดว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมการบริโภคของเขาเปลี่ยนไป เขามีของต้องซื้อ-ของที่อยากได้เพิ่มขึ้น เดี๋ยวนี้เดินทางจากเกาะไปฝั่งง่ายขึ้น เด็กๆ อยากกินขนม พ่อทำงานได้ร้อยบาท ต้องซื้อโค้กกระป๋องละ ๒๐ บาท ซื้อขนมให้ลูก สินค้าใหม่ๆ เข้ามา มอแกนต้องซื้อกาแฟ เหล้า บุหรี่ น้ำตาล ผงชูรส และอีกหลายๆ อย่าง กาแฟถุงนิดๆ กินไม่กี่วันก็หมด น้ำตาลกิโลละ ๒๐ มันก็ทำให้เขากดดัน เพราะรายได้ไม่พอกับสิ่งที่อยากได้"
      ระหว่างเก็บข้อมูล เน็ตพบว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของมอแกนหลายอย่างเริ่มเสื่อมถอย เพราะไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และไม่ถูกถ่ายทอด เช่นความรู้เกี่ยวกับทะเล การเดินเรือ การใช้พืชสมุนไพรรักษาโรค การเข้าทรง การประกอบพิธีกรรม หรือการต่อเรือก่าบาง
      เน็ตเล่าถึงก่าบางที่กำลังต่อว่า "เพราะที่เกาะสุรินทร์ไม่มีก่าบางเหลืออยู่ ทางอุทยานฯ ก็อยากให้มอแกนต่อลำใหม่ หัวหน้าก็บ่นอยากให้ทำเรือมอแกนสักที นักท่องเที่ยวจะได้เห็น มอแกนก็ไม่ยอมทำ แต่ลำนี้มอแกนเป็นคนริเริ่มเองว่าอยากทำเรือ อยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือเหมือนสมัยก่อน เน็ตเลยนำเรื่องนี้มาปรึกษาอาจารย์(นฤมล) คิดว่าถ้าทำเรือมอแกน จะเป็นการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นลุงซาลามะ ลุงดูนุง สู่คนรุ่นหนุ่มๆ ที่ทำเรือยังไม่ค่อยเป็น แล้วยังส่งเสริมให้มอแกนมีความภูมิใจในวัฒนธรรมตนเองด้วย มอแกนบอกว่าถ้าเน็ตและอาจารย์จะทำ มอแกนจะช่วย เริ่มตัดไม้ประมาณเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๔๕ คาดว่าจะเสร็จทันเดือนธันวาคมปีนี้"
      ผมถามว่าจะนำก่าบางลำใหม่ไปใช้ทำอะไร ? เน็ตตอบว่า
(คลิกดูภาพใหญ่)       "คิดว่าจะให้มอแกนนำเรือไปใช้ร่วมกัน ฤดูท่องเที่ยวน่าจะหาเงินได้เยอะ พานักท่องเที่ยวไปดำน้ำดูปะการัง ช่วงมรสุมก็ใช้เป็นพาหนะออกไปหาปลา หรือขึ้นฝั่งไปซื้อข้าวสาร ใช้บรรทุกของ เพราะเรือลำนี้ลำใหญ่"
      ส่วนอาจารย์นฤมล อรุโณทัย อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเน็ต กล่าวถึงมอแกนว่า
      "เดิมมอแกนเป็นคนที่เคลื่อนที่อยู่เสมอ ทำให้แต่ละกลุ่มได้พบปะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ปัจจุบันเมื่อมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ถูกตัดขาดจากกลุ่มมอแกนในพม่า ที่ส่วนใหญ่วัฒนธรรมยังเข้มแข็งอยู่ ความรู้เรื่องประเพณี ขนบต่างๆ เรื่องตำนาน นิทาน ก็เริ่มลดถอยลง สิ่งที่น่าวิตกคือเรื่องการแต่งงานกันภายในกลุ่ม ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมอแกนหมู่เกาะสิรินทร์มาจากทั้งเกาะดุง เกาะย่านเชือก เกาะญวิ ในหมู่เกาะมะริด หลากหลายพอที่จะแต่งงานกันได้ แต่พอรุ่นลูกรุ่นหลาน ถ้าเขาถูกจำกัดวงก็ลำบาก พี่เคยเสนอในที่ประชุมว่า มอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ในสหัสวรรษใหม่ ถ้าจะมีชีวิตรอดต้องส่งเสริมการเดินทาง ให้เขาได้พบกับกลุ่มที่มีก่าบาง มีตำนาน มีเพลงร้อง มีคนเฒ่าคนแก่ที่พวกเขาเรียนรู้ได้"
      ผมถามว่าการท่องเที่ยวส่งผลกระทบกับมอแกนอย่างไร อาจารย์นฤมลให้ความเห็นว่า
      "มันก็แน่ละ ทุกที่ที่นักท่องเที่ยวมาถึง แต่งตัวสวย ใช้ชีวิตสบายๆ เอาของมาให้ คนพื้นเมืองก็ต้องมองว่าเขามีฐานะ รวย นักท่องเที่ยวทำให้เกิดวงจรการขอไม่สิ้นสุด เวลาขอแล้วได้ ก็ขออีก บางทีให้เหล้า ให้บุหรี่ ซึ่งส่งผลร้ายต่อมอแกน ให้ขนม ในที่สุดเด็กก็ติดทั้งขนม น้ำอัดลม แบบแผนการบริโภคก็เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เขาได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวก็คือ ได้รายได้ มีข้าวกิน"
 

๑๐

(คลิกดูภาพใหญ่)       ต้นเดือนพฤษภาคม ผมกลับไปที่หมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้ง ไม่ใช่ในฐานะสื่อมวลชนอีกแล้ว แต่เป็นนักท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว พร้อมเพื่อนชายหญิงกลุ่มใหญ่รวม ๑๓ คน พวกเราเช่าเรือหัวโทงอุทยานฯ ไปดำสนอร์เกิลดูปะการังตามแหล่งต่างๆ และว่ายน้ำเล่นที่อ่าวช่องขาด แต่ผมยังไม่ลืมไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านมอแกน
      ผมรู้สึกใจหายอยู่บ้าง เมื่อรู้ว่าเด็กมอแกนที่เคยว่ายน้ำเล่น และคลุกคลีจน "ซี้กัน" หลายคนไม่อยู่เสียแล้ว บางคนไปอยู่เกาะพระทองกับญาติ บางคนตามญาติไปฝั่งพม่า และคงไม่กลับมาอีก ยังดีที่ได้เจออีกหลายคน ไม่ว่าป้อน จี่ปิ้ง เค้ หรือป่าน โดยเฉพาะโอเล่ เด็กชายวัย ๗ ขวบผู้อยากรู้อยากเห็น และแสบซ่ากว่าใครๆ และเมื่อพวกเด็กๆ อ้อนขอโค้ก ขอขนม แม้รู้ว่าจะทำให้เกิด "วงจรการขอไม่สิ้นสุด" แต่ผมก็อดใจอ่อนไม่ได้ ต้องยืมเงินเพื่อนเดินไปซื้อมาให้พวกเขาทุกทีไป คิดง่ายๆ เพียงแค่อยากเห็นเด็กน้อยมีความสุข
      เย็นนั้นผมแยกตัวจากกลุ่มเพื่อนเพื่อไปค้างคืนที่หมู่บ้านไทรเอน ระหว่างนั่งรอเรือที่ชายหาด ผมเห็นพวกเด็กมอแกนปีนโขดหินขึ้นไปทำท่าลิงหลอกเจ้า โก่งตูด แลบลิ้นยั่ว แล้วแตกหนีกระเจิงเมื่อนักท่องเที่ยววัยเยาว์วิ่งเข้ามาจะเอาเรื่อง โอเล่วิ่งมาหาผมแล้วบอกว่า "ต่อยสู้ไม่ไหวหรอก ไอ้อ้วนมันตัวใหญ่" เด็กน้อยพูดถึงคู่อริตัวอ้วนพุงพลุ้ยไว้ผมรองทรงที่อายุมากกว่าเขาราวสองสามปี
      ที่หมู่บ้านไทรเอน ผมนอนฟังเสียงคลื่นจนหลับไปไม่รู้ตัว ตื่นอีกทีเมื่อได้ยินเสียงโอเล่ซึ่งนอนอยู่ในกระท่อมเดียวกันร้องไห้กระซิก เขาสะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร เรียกหาบูม...บูม... แต่ป้ามูกิผู้เป็นบูม (ยาย) ของเขาไม่รู้อยู่ไหน ไม่มาปลอบสักที เสียงร้องไห้แสนว้าเหว่จึงดังอยู่อย่างนั้นในความมืดมิด
      วันสุดท้ายบนเกาะสุรินทร์ ผมยังซื้อโค้กและขนมให้โอเล่กับเพื่อนๆ อยู่ดี ระหว่างนั่งเรือกลับฝั่งคุระบุรีพร้อมนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ผมยังจำตำนานลอยเรือมอแกนคลุ้งกลิ่นเหล้าจากปากลุงซาลามะได้