นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ | ISSN 0857-1538 |
|
วันชัย ตัน : รายงาน /ภาพประกอบ : Din-Hin | |||
คุณเคยเลี้ยงปลาตู้หรือไม่ คนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงปลาเงินปลาทอง ปลาสอด ปลาเทวดา ปลาบอลลูน ปลาหางนกยูง ฯลฯ เพื่อความสวยงาม ดูแล้วเพลิดเพลินเจริญหัวใจ ในอดีต การเลี้ยงปลาอาจจะเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่เลี้ยงปลาเพื่อเฝ้ามองการเจริญเติบโตของมัน ปลาที่นิยมเลี้ยงก็ได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาบอลลูน ปลาสอด ปลาเทวดา ฯลฯ มาถึงวันนี้ปลาตู้ไม่ใช่งานอดิเรกของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่คนหนุ่มสาว ไม่ว่าไทยหรือฝรั่ง ก็นิยมเลี้ยงปลาตู้กันมากขึ้น ไม่เชื่อลองสังเกตฉากในบ้าน หรือที่ทำงานในหนังฝรั่งหลายเรื่อง จะเห็นตู้ปลาวางเด่นเป็นสง่า และแม้แต่คนชราก็ยังหันมานิยมเลี้ยงปลาตู้กันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการพบว่า การเลี้ยงปลาอาจมีส่วนลดอาการของโรคอัลไซเมอร์ โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม ไม่ใช่อาการเลอะเลือนที่เกิดขึ้นตามปรกติในผู้สูงอายุ แต่เป็นความผิดปรกติจากการเสื่อมของสมอง ทำให้ผู้ป่วยลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น วิธีทำอาหาร ขับรถ ผูกเชือกรองเท้า และในที่สุดโรคนี้จะทำให้เกิดภาวะโคม่าและเสียชีวิต หนึ่งในสิบของคนที่มีอายุตั้งแต่ ๖๕ ปี และครึ่งหนึ่งของคนที่มีอายุ ๘๕ ปีขึ้นไป มีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม เมื่อเร็ว ๆ นี้จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเพอร์ดิวในรัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา ได้พบว่า คนไข้อัลไซเมอร์มีจิตใจ ไหวพริบ และอาการดีขึ้น เมื่อได้เห็นปลาหลากสีว่ายไปมาในตู้ปลา "ฉันคิดว่าความเคลื่อนไหวและสีของปลาจะช่วยกระตุ้นความทรงจำของผู้ป่วย" ศ. แนนซี่ เอ็ดเวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้กล่าว "เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ปลาเลี้ยงในตู้ทำให้ผู้ป่วยใจเย็น มีสมาธิ ปฏิภาณไหวพริบ และช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยเจริญอาหารด้วย" ศ. เอ็ดเวิร์ดให้รายละเอียดว่า ได้ทำการทดลองตั้งตู้เลี้ยงปลาขนาด ๑x๑.๕ เมตรจำนวนสองตู้ แต่ละตู้ใส่ปลาเงินปลาทอง ๖-๑๐ ตัว ไว้ในห้องที่มีผู้ป่วยอยู่ ๖๐ คน และมีพยาบาล ๓ คนเป็นผู้ดูแล ผู้วิจัยพบว่า เมื่อผู้ป่วยเตร็ดเตร่เข้ามาใกล้ตู้เลี้ยงปลา เขาจะมีอาการกระตือรือล้น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ช่วยให้อาการความจำเสื่อมทุเลาลง และทำให้คนไข้รู้สึกอยากกินอาหารมากขึ้น ที่ผ่านมาเรื่องการกินอาหารเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเอาแต่เที่ยวกระโดดโลดเต้นไปทั่วโรงอาหาร แต่ไม่ยอมกินอาหาร ขณะที่บางรายก็เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ยอมลุกจากเตียงมากินอาหาร ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน "แต่ตอนนี้พวกเขาจะเฝ้ามองปลาอย่างมีชีวิตชีวา และเจริญอาหารขึ้น" เธอกล่าว จากการทดลองที่ผ่านมายังพบว่า ในผู้ป่วยสองคนที่มีอาการไม่มาก การดูปลาช่วยกระตุ้นความจำระยะสั้น ส่วนหญิงชราวัย ๘๓ ปีคนหนึ่ง ที่ผ่านมาเธอไม่เคยเปิดปากพูดอะไรเลย แต่พอเอาตู้ปลามาตั้งในห้อง เธอลุกเดินมาดูปลาทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งเธอก็เอ่ยปากถามเรื่องปลากับนางพยาบาล ปลาตู้จึงมีส่วนในการกระตุ้น ให้ความจำของคนชราที่ความจำเสื่อมกลับคืนมาได้บ้าง ส่วนพวกที่ยิ่งดึกความจำยิ่งเลอะเลือน จำหน้าเมียที่บ้านไม่ค่อยได้ จำได้แต่สาวหมวย สวย เอ็กซ์ อึ๋ม พวกนี้ไม่ต้องเลี้ยงปลาตู้หรอกครับ ต้องเลี้ยงเป็ดอย่างเดียว ก๊าบ ก๊าบ |