|
|
เรื่อง : วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ / ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
|
|
|
|
|
|
|
|
"ต้องดูใกล้ ๆ ครับ บางตัวจะเห็นปากมันปลิ้นออกมา มีขากรรไกรสามอัน"
ธงชัยส่งหลอดแก้วบรรจุ "ทากดอง" มาให้ เป็นรุ่นตัวผอมเหยียดตรง สีน้ำตาลซีดคล้ายก้านไม้ขีด แล้วง่วนกับหลอดแก้วในกล่องพลาสติกตรงหน้าต่อไป เขาคงไม่รู้สึกถึงกลิ่นอับของสารเคมีเจือจางรอบๆ ห้อง นอกจากกลิ่นแอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ในหลอดเก็บตัวอย่าง
มันคงเป็นกลิ่นเฉพาะของห้องแล็บเก่าแก่ใต้ดินภาควิชาชีววิทยามากกว่า เมื่อครู่ตอนเดินลงมา ธงชัยเล่าถึงตึกเก่าหลังนี้ว่าฐานรากสร้างด้วยท่อนซุงไม้สักวางเรียงกัน ไม่มีเสาเข็ม ปัจจุบันเทคนิคแบบนี้เลิกใช้ไปแล้ว เขาเล่าด้วยความรู้สึกคุ้นที่คุ้นทางเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
เดินผ่านโต๊ะรกเครื่องมือ ห้องทึมทึบสองห้อง ถึงอ่างล้างมือก้นลึกที่เห็นบ่อย ๆ ตามแล็บหรือโรงพยาบาล จึงเลี้ยวไปไขกุญแจประตู--"นี่ครับ...ห้องของผม"
คำพูดของ ธงชัย งามประเสริฐวงศ์ หนุ่มวัย ๒๕ ปั ที่พอเสร็จงานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็รับเข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะ ทำให้ผมคิด อย่าว่าแต่ห้องทำงาน ใช่หรือไม่ว่า...การที่ใครคนหนึ่งจะมีโต๊ะทำงานสักตัว
เป็นของตัวเองในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อทำงานอย่างเต็มภาคภูมิย่อมไม่ง่าย
แล้วสักกี่คนเล่า มีวิชาอยู่กับตัวจนไม่กลัวจะบอกว่า "ทากดูดเลือดมีขากรรไกรทั้งสิ้นสามอัน"
|
|
|
|
ทาก VS ตุ๊กแก
|
|
|
|
สองสามสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เราพบกันเป็นครั้งแรกหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ธงชัยโผล่ออกมาจากราวป่าพร้อมเป้ หมวกเดินป่า และถุงกันทากจากเท้าขึ้นมาถึงเข่า ในมือมีแฟ้มงานภาคสนาม--แบบนักวิจัยทั่วไป
ถ้าไม่ได้นัดหมายกันก่อนคงเดายากพอ ๆ กับ "เกมอัจฉริยะ" ที่จะระบุว่าเขาทำอาชีพ (วิจัย) อะไร ? เข้าป่าทีไรมักเจอคนวิจัยสัตว์ป่าต่าง ๆ ไม่ว่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือพวกหนอน แมลง หรือพูดกันถึงที่สุด สัตว์ประเภทสวยงามโรแมนติกก็เป็นเหตุผลชวนให้เข้ามาใช้เวลาในป่า
"สมัยเป็นนักศึกษา...ผมมาเขาใหญ่ ได้คุยกับอาจารย์กำธรเรื่องทาก" เขาย้อนถึงคราวลงพื้นที่ครั้งแรก สั่งสมวิชาเพื่อปริญญาใบแรก "อาจารย์สนับสนุนว่าน่าจะทำวิจัย เพราะข้อมูลยังขาดหาย ไม่มีใครศึกษา พอเรียนต่อปริญญาโท ดูไปดูมาก็มีเลือกตุ๊กแกกับทาก พอดีรุ่นน้องอีกคนสนใจตุ๊กแก ผมก็เลยมาทำทาก"
เขาไม่ได้เล่าเอามุข ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า พวกเขาจริงจังต่อการศึกษาองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางกลุ่มมานาน โดยเฉพาะเต่า ตะพาบ ปู หอย และแมลง ในเมื่อสถาบันอื่นก็ทำด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือนกไปบ้างแล้ว ขณะที่สัตว์ "กลุ่มอื่น ๆ" ที่เหลือมีการศึกษากันอยู่ในวงแคบ ๆ และมักจะศึกษากลุ่มสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการแพทย์เท่านั้น จึงควรจะสร้างองค์ความรู้ที่ยังขาดแคลน
อาจารย์กำธรที่เอ่ยถึง คือ ดร. กำธร ธีรคุปต์ ปรมาจารย์ด้านสัตว์เลื้อยคลานคนหนึ่ง แม้ทากไม่จัดในประเภทสัตว์เลื้อยคลาน แต่อาจารย์กำธรก็สนใจและรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเขา
สำหรับทากแล้ว ธงชัยบอกใคร ๆ ว่า "ไม่ได้รักเป็นพิเศษแต่ก็ไม่ถึงกับรังเกียจ"
และจนป่านนี้ ผมก็ยังไม่เคยเห็นใครผูกพันเป็นพิเศษกับทากดูดเลือด หรือแม้แต่กับตุ๊กแก
|
|
|
|
ช่วงก่อนออกไป "นับทาก" ธงชัยแง้มวิทยานิพนธ์ของตัวเองว่า โดยหลัก ๆ ต้องการคำตอบสามสี่ข้อ คือ ความหลากหลายของชนิด การแพร่กระจาย และถิ่นที่อยู่อาศัยทากในวงศ์ Haemadipsidae ที่พบในประเทศไทย และผลของปัจจัยทางกายภาพต่อประชากรทาก
ทากที่เรากำลังพูดถึง มีชื่อสามัญว่า land leeches, terrestrial leeches แต่มักถูกเรียก "ไอ้ตัวดูด" ด้วยความที่เป็นปรสิตภายนอก ดูดเลือดสัตว์เป็นอาหาร รวมทั้งของคน--ชื่อวงศ์ Haemadipsidae น่าสนใจตรงความหมายในภาษาละตินที่ถอดตรงตัวได้ว่า กระหายเลือด ญาติใกล้ชิดทางสายพันธุ์คือ ปลิงน้ำจืด ทว่าปลิงอาศัยอยู่แต่ในน้ำ (แม้จะมีปลิงน้ำจืดบางชนิดอยู่บนบกได้ แต่ก็จำเป็นต้องเกาะอยู่ในช่องปากหรือโพรงจมูกของเหยื่อตลอด) ต่างจากทากที่ดำรงชีวิตอยู่บนบกเท่านั้น ลงน้ำไม่ได้
ชื่อของทากอาจไปพ้องกับหอยทาก ผู้มีเปลือกแข็งหุ้ม หนวดกระจุ๋มกระจิ๋มสองเส้น และชอบเป็นดาราในการ์ตูน แต่ความจริงอยู่ห่างกันพอควรสำหรับลำดับทางอนุกรมวิธาน
คำตอบสามข้อแรก ทำให้ธงชัยต้องตระเวนเก็บตัวอย่างทากตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ--อุบลราชธานี อำนาจเจริญ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ระนอง สุราษฎร์ธานี สตูล และอีกหลายจังหวัดทางเหนือ ที่ไหนไม่ไปเองก็ให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวอย่างมา
พอลงพื้นที่เขาได้ข้อมูลใหม่ๆ ว่าทากไม่มีเฉพาะในป่าดิบเท่านั้น "เราอาจนึกว่าพบทากเฉพาะในป่าดิบชื้น ดิบเขา แต่ความจริงเราสามารถพบได้ในพื้นที่เกษตรกรรมบางแห่ง ไม่ว่าจะเป็นทุ่งนา ทุ่งหญ้า สวนยาง หรือชายป่า ถ้าพื้นที่ดังกล่าวมีความชื้นค่อนข้างสูงและมักเป็นพื้นที่เลี้ยงวัว โดยจะพบมากทางภาคใต้ซึ่งมีอากาศชื้นตลอดปี หรือแม้แต่ในถ้ำค้างคาวบางแห่งก็มีทากอาศัยอยู่" บางพื้นที่ เช่นนครสวรรค์ พวกเรารู้สึกว่าไม่น่าจะมีทาก แต่ก็มีรายงานเก่า ๆ ระบุว่าเคยพบ
ส่วนคำตอบสุดท้าย-- "ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางกายภาพ
และการเปลี่ยนแปลงจำนวนในประชากรของทาก
ในรอบวันและรอบปี และวงชีวิต (life cycle) ของทาก"
ที่เจาะลึกลงถึงห้องอาหารเฉอะแฉะ
ตลอดจนเซ็กซ์ไลฟ์ของน้องทากนั้น เขาจึงต้องเทียวไปเทียวมาป่าเขาใหญ่ให้มันดูดเลือดหลายรอบ
|
|
|
|
ตกบ่ายฝนเทลงมาพอให้ยินเสียงระเริงของลำห้วย ไอดิน กลิ่นไม้ ความใหม่หมาดของฤดูฝนกระจายอยู่รอบ ๆ เรือนพัก
"ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย ฝนตกใหม่ ๆ ทากจะเยอะ" นักวิจัยบอก "ปรกติถึงไม่มีฝน ที่บริเวณนั้นก็พอจะมีทากอยู่แล้วเพราะอยู่ใกล้ลำห้วย"
คนที่ศึกษาเรื่องนี้เคยสงสัยว่า เหตุใดพอฝนต้นฤดูเริ่มลงเม็ด ในหลายพื้นที่ทากจึงเสนอหน้าออกมาให้พรึ่บทันใจ ทั้งที่ก่อนหน้าหลายเดือน บนผืนดินแห้งไม่มีวี่แววของพวกมันเลย บางคนบอกว่าทาก "จำศีล" แล้วลองนึกภาพมันจำศีลใต้ดินเหมือนกบ จะปรากฏตัวรวดเร็วและพร้อมกันเป็นกองทัพหรือ ?? เรื่องนี้เราจะค่อย ๆ สาวกันต่อ
ก่อนอื่นพวกเราทั้งห้าคนต้องสวมถุงกันทาก ซึ่งทำจากผ้าฝ้ายดิบเนื้อแน่นจนทากผ่านไม่ได้ คลุมเท้าขึ้นมาถึงเข่า ตบด้วยสเปรย์กันแมลงรอบเกือกผ้าใบ...ไล่ขึ้นมาตามท่อนขา มากน้อยตามอาการกลัวของแต่ละคน ไม่เว้นแม้ตัวผู้วิจัยเอง
โดยสารเคมีดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวทาก
หรือจำนวนทากที่จะศึกษามากนัก นอกเสียจากผลกระทบเรื่องสารตกค้างเช่นเดียวกับการใช้สารเคมีทั่วไป
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับนักวิจัย
กลับเป็นขนาดของทีมซึ่งมีด้วยกันถึงห้าคน ซึ่งอาจทำให้ทากจากรอบ ๆ ดอดเข้ามาในตารางสี่เหลี่ยม (quadrat) ที่ใช้สุ่มตัวอย่างมากกว่าที่ควร จะทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้
"ปรกติผมจะมาสองคนกับเพื่อน" เขาบอก คนหนึ่งนับทาก วัดอุณหภูมิ ความชื้นของดิน อีกคนจดบันทึก-บางครั้งก็มาคนเดียว-เขาจึงว่าวันนี้จะต้องทำงานอย่างฉับไว และพวกเราควรยืนห่างจากตารางสุ่มตัวอย่างไว้เป็นดี
พื้นที่ศึกษาอยู่ในแวดล้อมของป่าดิบแล้ง ริมห้วยลำตะคอง ห่างออกไปราว ๒ กิโลเมตร อันที่จริงมันก็ไม่ได้ไกลจากราวป่าหลังบ้านพักคนงาน ฟากตรงข้ามศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเท่าใดนัก เลือกใกล้ ๆ จะได้ไปมาสะดวก แม้อยู่ใกล้กับเขตบริการนักท่องเที่ยว แต่ก็ไม่พบว่าถูกรบกวนมากนัก แถวนั้นยังพบสัตว์ป่าค่อนข้างชุกชุมตลอดปี เช่นพวกเก้ง กวาง กระจง ช้างป่า ลิง ชะนี หมาใน เม่น กระรอก ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกต่าง ๆ กิ้งก่า เหี้ย งู เต่าน้ำจืด และสัตว์จำพวกกบเขียด สัตว์เหล่านี้แหละทากชุกชุม และพบเกือบตลอดทั้งปี
แต่ละเดือนที่มาเก็บข้อมูล เขาต้องออกทำงานวันละห้าเวลา ไม่เว้นกลางค่ำกลางคืน และเช้ามืดตอนตีสาม จึงต้องเลือกบริเวณที่เข้าถึงได้ไม่ยาก พลาดพลั้งก็แค่บริจาคเลือดให้ทากเท่านั้น ไม่ต้องถึงกับบริจาคให้งูหรืออะไรที่ใหญ่กว่า
|
|
|
|
ทาก VS เท้า
|
|
|
|
บ้านพักคนงานลับสายตา พวกเราก็อยู่บนทางป่า...ซึ่งเป็นอันหนึ่งเดียวกับทางทาก เดี๋ยวเดียวก็มีเสียงตื่นเต้นดังจากหัวแถวว่าเจอตัวเล็ก ๆ เข้าแล้ว
ในยกแรก พวกกองหน้าที่ปีนขึ้นรองเท้าเจอตัวยาที่พ่นไว้ทำท่าหันรีหันขวางทำอะไรไม่ถูก บางตัวได้แค่ยื่นหัวมาเกาะแล้วต้องสะบัดหน้าไปทางอื่นทันที นั่นละ...อานุภาพของสาร DEET จากกระบอกฉีด แต่พอเริ่มยกสองเท่านั้น เท้าของเราก็กลายเป็นแม่เหล็กดูดทากหิวเลือดเข้ามาทุกทิศทาง หน่วยกล้าตายที่ดาหน้าเข้ามาจะประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นเวลาที่ตัวยาฝ่ายตั้งรับอ่อนฤทธิ์ลงจากการเหยียบย่ำไปตามพื้นเปียกชื้นนาน ๆ หากหยุดวางควอแดรต ถ่ายรูป หรือละสายตาแผล็บเดียวทากก็เข้ามาถึงตัว
ยามปรกติที่ไม่มีสิ่งเร้า ทากจะเกาะนิ่งอยู่กับที่ด้วยแว่นดูดด้านท้ายลำตัว แบบที่คนพูดว่า "ชูหัวสลอน" พอเหยื่อผ่านมา
มันจะรุกโดยยืดส่วนหัวไปข้างหน้า
โดยอาศัยการหด-ขยายของวงแหวนรอบลำตัว...ขึ้นไปบนเท้าเหยื่อ
แว่นดูดหน้าหาที่เกาะได้
ก็จะดึงแว่นดูดหลังซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตามขึ้นไป มันใช้เพียงแว่นดูดสองด้านเท่านั้นที่สัมผัสพื้นผิว จากนั้นมันจะคืบกระดึ๊บท่าเดิมอย่างเร็วรี่หาที่เหมาะ ๆ ดูดเลือด ชนิดเหยื่อไม่ทันรู้ตัว
แม้ว่าทากเข้าจู่โจมเหยื่ออย่างรวดเร็วและหิวกระหาย แต่เมื่อมันสามารถฝ่าด่านต่าง ๆ เข้าไปถึงผิวหนังของเหยื่อ มันกลับพิถีพิถันในการเลือกตำแหน่งที่จะปักหลักดูดเลือด โดยจะใช้เวลาพักใหญ่ในการสำรวจหาทำเล จริงอยู่...จากประสบการณ์ เราพบว่าบางครั้งตำแหน่งเกาะอยู่แถวหน้าแข้งหรือน่อง แต่นั่นคือทากได้เลือกแล้วว่าเป็นบริเวณที่เนื้อเยื่ออ่อน
และหลายครั้งมันจะคืบไปหาที่ซุกตัวตามซอกหลืบ
ที่มีพื้นที่ผิวปกปิดมาก เช่น ง่ามนิ้ว ข้อพับต่าง ๆ ราวกับเป็นพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด
"เวลาที่โดนทากเกาะอย่าเพิ่งตกใจ"
ธงชัยพูดเมื่อเห็นสาวบางคนในคณะแสดงอาการรังเกียจ
และกลัวทากเกินเหตุ "ค่อย ๆ หยิบมันออกไป
เพราะทากจะใช้เวลาค่อนข้างนาน
กว่าจะหาทำเลในการดูดเลือดและเจาะทะลุผิวหนังของเรา แค่ขั้นตอนในการเจาะผิวหนังก็กินเวลาอย่างน้อย ๑ นาที"
|
|
|
|
แว่นดูดหน้าและหลังเป็นอาวุธหลักที่จะทำงานประสานกันตอนดูดเลือด โดยแว่นดูดด้านหลังทำหน้าที่ยึดให้แน่นใกล้แว่นดูดหน้าด้วยระบบสุญญากาศคล้ายตีนของตุ๊กแก ขณะที่แว่นดูดหน้าทำงานของตัวเองโดยอาศัยฟันที่เรียงอยู่บนขากรรไกรทั้งสามเจาะผ่านเส้นเลือดฝอยบนผิวหนัง ดูดเลือดไปเก็บในกระเพาะ
สำหรับถุงกันทาก คนเดินป่ารู้ว่าจะช่วยป้องกันได้เบื้องต้นไม่ให้ทากแทรกตัวผ่านใยผ้าเข้าไป และให้เราปลดออกเมื่อสังเกตเห็น แต่ถ้าไม่ มันก็ไม่ละความพยายามที่จะดูดเลือด ภายใน ๑๐ วินาที มันจะไต่ขึ้นมาพ้นปากถุงแล้วเล่นงานเรา-ในตำแหน่งสูงกว่าเดิมเสียอีก
ด้วยนิสัย "ไม่น่ารัก" คนทั่วไปมักไม่ค่อยสงสัยว่าทากดูดเลือดตัวอะไรบ้าง ออกลูกคราวละกี่ตัว แต่ที่สงสัยกันมากเห็นจะเป็น ทากรู้ได้อย่างไรว่ามีเหยื่อผ่านมา บางครั้งเหยื่อเดินเร็วแทบจะวิ่ง ก็ไม่วายถูกเรดาร์ของมันล็อกเป้าอย่างแม่นยำ
ธงชัยออกตัวว่างานที่ทำไม่ได้ลงลึกถึงเรื่องเหล่านี้ แต่จากการศึกษาก่อนหน้านี้ ทากจะตอบสนองอย่างมากต่อความสั่นสะเทือนและแสง โดยมันจะรับรู้ถึงการลดลงของความเข้มแสง หรือกรณีที่มีเงาพาดผ่าน นอกจากนี้ มันยังรับรู้ถึงลมหายใจในระยะใกล้ ๆ ซึ่งมีความร้อนเป็นตัวการสำคัญอีกด้วย ทากไม่ได้ออกหากินแค่ตอนกลางวัน กลางคืนซึ่งมีแสงน้อยก็ออกหากิน เพราะฉะนั้นมันจึงต้องพัฒนาประสาทสัมผัสเพื่อใช้ "จับทาง" ขึ้นมา และอาจใช้หลายวิธีผสมกัน
ดังนั้นไม่ว่าจะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน เช่น คน วัว ควาย หมูป่า งู หรือกบ ก็ยากจะหนีรอดจากการตกเป็นเหยื่อทาก แม้ว่าเหยื่อโปรดของมันน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งน้อยใหญ่ก็ตาม
"คิดว่าทากจะเกาะโดยไม่เลือกว่าเป็นสัตว์ชนิดไหน ยกเว้นที่มีขนมาก ๆ อาจเกาะยากหน่อย" ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานชื่อพี่อำนวย ซึ่งสนใจเรื่องทากเหมือนกัน ได้ซากลิงตายใหม่ ๆ ก็ยังพบทากเกาะ ทว่าสักพักดูเหมือนมันรู้ว่าเลือดไม่หมุนเวียนก็ปล่อยตัวจากซากไป
.............................................
|
|
|
|
ควอแดรตที่ต้องหยุดแต่ละจุดจะถูกทำเครื่องหมายไว้กันหาไม่เจอ พอไปถึง ธงชัยรีบนำตารางสำเร็จรูปขนาด ๑x๑ เมตร วางลงบนจุดกำหนดแล้วลงมือนับทาก รวมทั้งวัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ โดยมีรุ่นพี่คนหนึ่งมาช่วยบันทึกข้อมูล เขาจะทำอย่างนี้ไปจนครบ ๓๐ จุด แต่ละจุดห่างกันประมาณ ๒๕ เมตร เพื่อนับจำนวน และดูขนาดของทาก
หากตัวไหนน่าสนใจเป็นพิเศษ เขาก็จะเก็บตัวอย่างทากใส่ถุงซิปล็อก เพื่อกลับถึงที่พักจะได้จัดการ แช่ไว้ในแอลกอฮอล์ชนิดเข้มข้น ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แบบที่เราเรียกตามความเคยชินว่า "ดอง" เพื่อศึกษาต่อไป
การสุ่มตัวอย่างวิธีนี้เรียกว่า systematic sampling ทำบนพื้นที่ขนาด ๑ ตารางเมตร จำนวน ๓๐ จุด ตามเส้นทางเดินของสัตว์เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งเส้นทางเดินริมลำน้ำและเส้นทางเดินภายในป่า เพื่อเปรียบเทียบแหล่งอาศัย การกระจายของทาก
แต่ว่าทากทำตัวได้เหมาะกับที่ถูกเรียกขานว่าตัวยึกยือ คือยืด ๆ หด ๆ ตัวจนยากจะกะขนาดแท้จริง
นักวิจัยจึงใช้ขนาดแว่นดูดหลัง (โดยประมาณเช่นกัน) เป็นเกณฑ์การวัด
ความกว้างของแว่นดูดหลังน้อยกว่า ๑ มิลลิเมตร ถือเป็นทากที่เพิ่งฟักจากไข่
ความกว้างของแว่นดูดหลังประมาณ ๑-๒ มิลลิเมตร--ทากเล็ก
ความกว้างของแว่นดูดหลังประมาณ ๒-๓ มิลลิเมตร--ทากกลาง
โตกว่านั้นถือเป็นทากขนาดใหญ่
ทากที่เราพบวันนี้ส่วนมากเป็นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบหนาแน่นที่สุดแถวควอแดรตที่ ๗ และ ๑๐ ซึ่งอยู่ใกล้ลำห้วย มีความชื้นสูงเหมาะกับธรรมชาติของมัน และพบเฉพาะทากบนพื้นดินเท่านั้น !?
ถูกแล้วครับ ทากบนเขาใหญ่ปรกติอาศัยอยู่เฉพาะบนพื้นดิน ไม่ปรากฏตามใบไม้หรือกิ่งไม้ ซึ่งเป็นสิ่งผมเข้าใจไขว้เขวตลอดมา เนื่องจากเคยขึ้นภูหลวง จังหวัดเลย เคยเจอทากบนใบไม้ ข้อเท็จจริงคือ "ทากใบไม้" เป็นคนละชนิดกับ "ทากพื้นดิน" และทากดูดเลือดในประเทศไทยสามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มคร่าว ๆ ดังกล่าว
|
|
|
|
ทาก VS ปลิง
|
|
|
|
จนมาถึงบ้านพัก ธงชี้ให้ดูทากที่แอบเกาะใต้ท่อนแขนเขา ตัวกำลังอ้วนเป่งจนลายหยักสีน้ำตาล-ดำชัดเจนอย่างน่าเกลียด แว่นดูดหน้ากับแว่นดูดหลังแทบแยกกันไม่ออก เขาไม่รู้ตัวว่าถูกเกาะตั้งแต่เมื่อไร มารู้อีกที...จึงปล่อยเลยตามเลย
นิสัยของทาก เวลาลงมือดูด (กิน) แล้วจะไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม กินครั้งเดียวต้องให้อิ่ม ไม่มีครึ่ง ๆ กลาง ๆ ลำพังพฤติกรรมการกินอาหารลักษณะนี้ก็น่าจะสร้างความโชคร้ายให้มันเองพอแรงแล้ว เพราะการกินที่ต้องใช้เวลาถึง ๓๐-๖๐ นาที เหยื่ออาจเดินไปถึงที่กันดาร หรือสร้างความลำบากแก่มันได้
อย่างทากตัวนี้ อิ่มแล้วมันก็จะปล่อยตัวหล่นลงแถวบ้านพัก ซึ่งพื้นกรวดทรายหาใช่ป่าอันชุ่มชื้นที่มันโปรดปรานไม่ ยิ่งกว่านั้น ธรรมชาติหลังกินอิ่มและหล่นลงมา...มันเพียงคืบไปหลบใต้ก้อนดินหรือใบไม้ใกล้ ๆ แล้วเกาะนิ่งไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน (เพราะเคลื่อนลำบาก)
ผมเคยลองเหยียบทากในป่า
หรือจับยืดแบบหนังสติ๊กก็สามารถทำได้โดยไม่ตาย แต่ถ้าเป็นทากที่ดูดเลือดอิ่มแล้ว โดนเหยียบน่าจะไม่รอด
สรุปว่าหากเป็นสถานการณ์ทั่วไป เจ้าตัวนี้มีโอกาสตายถึงคางเหลืองถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อธงชัยเปรยว่า จะเก็บไปเลี้ยงต่อที่คณะ ชะตาชีวิตของมันก็เปลี่ยนไป
ขณะทากเพลินกับอาหารจะสังเกตเห็นเมือกใสที่มันปล่อยออกมารอบตัว นั่นคือเทคนิคการเพิ่มความเข้มของเม็ดเลือดหรือสารอาหารในกระเพาะ แล้วสกัดเอาน้ำออกจากตัวมันเอง ทำให้เลือด (อาหาร) บรรจุเข้ากระเพาะได้มาก โดยทั่ว ๆ ไปปริมาณเลือดที่ทากดูดน่าจะอยู่ที่ ๕ ซีซี แต่การที่มันทำเช่นนี้จึงยากจะบอกว่ามันดูดเลือดเราไปครั้งละเท่าไรแน่
ขณะทากดูดเลือดจะปล่อยสารเคมีเฮมาดิน (haemadin) ออกมาบริเวณบาดแผล มีคุณสมบัติทำให้เลือดไม่แข็งตัวและกระตุ้นให้เส้นเลือดของเหยื่อขยายตัว เลือดจึงไหลออกจากบริเวณปากแผลเป็นระยะเวลานาน หลังจากทากดูดเลือดเสร็จแล้ว บาดแผลจะยังมีเลือดไหลไปอีกประมาณ ๑๐ นาทีจึงหยุด เริ่มจับตัวเป็นก้อน เท่ากับว่าสารที่ทากปล่อยมีผลยับยั้งการแข็งตัวของเลือดต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย ๑๐ นาที
แต่ถ้าคุณเป็นคนเห็นเลือดไม่ได้ ลองทำตามวิธีที่บอกต่อ ๆ กันมา คือนำกระดาษทิชชูซับกดปากแผลไว้ เยื่อกระดาษจะทำหน้าที่ปิดกั้นคล้ายเกล็ดเลือดในขั้นตอนการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลอย่างรวดเร็ว
กล่าวได้ว่า ทากได้นำเลือดทุกหยดไปใช้อย่างคุ้มค่าจริง ๆ
เมื่อกินอิ่มมันจะไปหลบอยู่ใต้ใบไม้
หรือสิ่งปกคลุมชนิดอื่น ๆ และเกาะนิ่งไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ซึ่งทากตัวใหญ่ ๆ จะสามารถเกาะนิ่งอยู่เฉย ๆ เป็นระยะเวลานานถึง ๖ เดือนได้โดยไม่ต้องกินอะไรอีก
|
|
|
|
ครั้งหนึ่งธงชัยพูดได้น่าสนใจว่า การศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนฤดูกาลของสัตว์ที่เรากำลังทำอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำควบคู่กับการศึกษาด้านอนุกรมวิธาน หรือศึกษาชนิด (species) ของสัตว์ด้วย เฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ท้องถิ่นนั้นยังไม่เคยทำการศึกษา/ไม่มีข้อมูลพื้นฐานเพียงพอ เนื่องจากการเดินเข้าไปศึกษาถิ่นที่อยู่อาศัย วงจรชีวิต โดยไม่รู้แน่ชัดเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ ถือเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์
ด้วยหลักสรีระทางกายภาพ นักวิทยาศาสตร์จำแนกทากดูดเลือดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดในไฟลัม Annelida --ภาษาละตินที่อธิบายให้เห็นว่าลำตัวของมันเป็นข้อปล้อง โดยทากมีจำนวนปล้องคงที่ ๓๔ ปล้อง เท่ากับปลิงน้ำจืด มีหน้าที่เชิงอาหารเป็นปรสิต และมีสองเพศในตัวเดียวกัน แต่ผสมพันธุ์ในตัวเองไม่ได้ ต้องผสมกับทากตัวอื่น
คำว่า ปล้อง นี้ค่อนข้างซับซ้อน ถ้าเราดูด้วยตาเปล่าจะเห็นว่าลำตัวทากคล้ายวงแหวนเล็ก ๆ ขนาดใกล้เคียงเรียงต่อกัน โดยถ้ามองภาคหน้าตัดจะเห็นว่าวงแหวนทางส่วนหัวจะมีขนาดเล็ก และจะใหญ่มากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนที่ใหญ่สุดจะอยู่ค่อนไปทางส่วนท้ายของลำตัว วงแหวนนี้บางวงถือเป็น ๑ ปล้อง แต่บางวงก็เป็นเพียงวงย่อยของปล้องเท่านั้น แต่ละปล้องใน ๓๔ ปล้อง จึงมีจำนวนวงแหวนเท่ากันบ้าง ไม่เท่าบ้าง แล้วก็ยังอยู่ที่ชนิดพันธุ์อีก เช่น ปล้องกลางลำตัวของทากจะประกอบด้วยวงย่อยตั้งแต่ ๓-๑๒ วง นักชีววิทยามีหลักเกณฑ์แบ่งปล้องง่าย ๆ ด้วยอวัยวะบางอย่าง เช่น ระบบขับถ่ายของเสีย ซึ่งภายในปล้องจะมีระบบขับถ่ายเป็นของตัวเอง
แต่ที่แน่ ๆ ปลายลำตัวส่วนหัวและท้ายของมันจะเป็นแว่นดูดเป็นอาวุธสำคัญประจำตัว แว่นดูดหน้ามีปาก มีขากรรไกร ประกอบด้วยซี่ฟันเล็ก ๆ เรียงกัน ๑ แถว ทากบางชนิดมีขากรรไกร ๒ อัน แต่ที่พบในบ้านเรามีขากรรไกร ๓ อัน ทำให้แผลที่ถูกเจาะเป็นรูปตัวอักษร Y ไม่ใช่ตัว V คว่ำ แบบทากที่มีขากรรไกร ๒ อัน
|
|
|
|
เผ่าพันธุ์ของจอมดูดแพร่กระจายกว้างขวาง ตั้งแต่เขตเอเชียตะวันออกรวมทั้งหมู่เกาะใกล้เคียง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลียและหมู่เกาะใกล้เคียง เกาะมาดากัสการ์และหมู่เกาะเซเซลล์ ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตอนใต้ของยุโรป นอกจากนั้นยังพบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้อีกด้วย
การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอนุกรมวิธานถึงปี ค.ศ.๑๙๘๖ พบว่าทั่วโลกมีทากอยู่ ๑๗ สกุล ๕๕ ชนิด ซึ่งน่าสนใจว่าพบมากที่สุดในทวีปออสเตรเลีย ๒๔ ชนิด (๘ สกุล) แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รอบ ๆ บ้านเราพบ ๘ ชนิด (๔ สกุล) คาบสมุทรมาเลย์ซึ่งมีความหลากหลายของแหล่งที่อยู่อาศัยน้อยกว่าไทย แต่มีรายงานการพบมากถึง ๕ ชนิด ขณะที่ประเทศไทยพบเพียง ๒ ชนิด คือ Haemadipsa zeylanica และ Haemadipsa sylvestris เช่นนี้เพราะการศึกษาที่ได้ทำมาก่อนหน้าไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ไม่ทราบว่าในบ้านเรามีทากอยู่กี่ชนิด แต่ละชนิดจะแพร่กระจายอยู่ในบริเวณใดบ้าง
"ลักษณะทางทางภูมิประเทศและภูมิอากาศประเทศไทย
เอื้ออำนวยให้เกิดลักษณะของถิ่นอาศัยที่มีความหลากหลายค่อนข้างมาก และส่งผลให้มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมาก แต่กลับมีรายงานการค้นพบทากเพียง ๒ ชนิด ในสกุลเดียวเท่านั้น" เขาตั้งข้อสังเกต
.....................................................
ภายหลังผมได้เดินนับทากอีกครั้งตอนกลางคืน นอกจากข้อมูลเชิงชีววิทยาแล้วก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรน่าตื่นเต้น
อย่างไรก็ดี การเดินโดยรู้สึกเหมือนอยู่ลำพังเช่นนี้ก็อดคิดฟุ้งไม่ได้ ว่าการรับรู้เกี่ยวกับ "ทาก" ของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป...ยิ่งเมื่อเทียบกับปลิงน้ำจืด ญาติสนิทของมัน
ผมว่าเมื่อก่อนปลิงเป็นที่รู้จักกันมากกว่าทาก (ไม่รู้สถานะในสังคมสัตว์สูงกว่าหรือเปล่า) เพราะวิถีชีวิตคนยังใกล้ชิดคูคลองท้องนาที่สุมหัวของปลิง อย่างน้อยตัวเองก็เคยถูกปลิงดูดเลือดหรือร่วมอยู่ในเหตุการณ์สยดสยองหลายครั้งหลายหน ทากแทบไม่มีตัวตนอยู่เลยก็ว่าได้ ทว่าความนิยมเที่ยวป่าของคนสมัยใหม่ทำให้พื้นที่ที่เคยดิบเถื่อนกลายเป็นที่รู้จัก ขณะที่ลำคลองท้องนากลับเป็นพื้นที่ห่างไกลความรับรู้อย่างน่าตกใจ ทากจึงพลิกสถานการณ์มามีภาษีเหนือกว่าปลิง
ยิ่งสมัยนี้ นักล่องไพรหาศัตรูขนาดใหญ่ เช่น ช้าง เสือ หรือหมี ไม่ได้ ทากจึงกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตของนักท่องเที่ยวเต็มตัว
|
|
|
|
ทาก VS ฝน
|
|
|
|
ว่าไปแล้ว เวลาถูกยุงกัดหรือทากเกาะ เราก็ได้แต่รำคาญหรือร้องกรี๊ด คงไม่ได้นึกสงสัยเลยว่ายุงหรือทากตัวหนึ่ง ๆ ทั้งชีวิตมันจะมีโอกาสดูดกินเลือดสักกี่ครั้ง (ไม่นับว่าถูกเราฆ่าตายเสียก่อน)
อาจไม่มากอย่างที่คิดก็ได้ จะอย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าหลังดูดเลือดแล้วมันจะต้องวางไข่ในไม่ช้า การดูดเลือดน่าจะถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของชีวิตปรสิตอย่างพวกมัน
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาทากในตู้เลี้ยงพบว่า ตั้งแต่ฟักออกจากไข่จนถึงตัวเต็มวัย ทากจะกินอาหารราวสามสี่ครั้ง หลังจากทากตัวเต็มวัยกินอาหารครั้งที่ ๔ ประมาณ ๒-๔ สัปดาห์ มันก็จะออกไข่ แม้จะถูกแยกไว้ ไม่ได้ผ่านการผสมพันธุ์กับตัวผู้เลยก็ตาม จึงสันนิษฐานว่าไข่ในท้องของทากตัวเมียได้รับการผสมอยู่ก่อนแล้ว พอกินเลือดก็รู้สึกถึงความสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมจะผลิตประชากรทากต่อไป
ไข่ของทากจะรวมอยู่ในปลอก cocoon โดยตัวแม่จะสร้างฟองคล้ายวุ้นบริเวณคอ แล้ววางไข่เล็ก ๆ ข้างในประมาณ ๕-๑๑ ฟอง พอ ๒๔ ชั่วโมงผ่านไป ฟองรอบนอกจะแตกออกเหลือแต่ "โคคูน" ทรงห้าเหลี่ยมคล้ายเห็ดราที่ค่อนข้างแห้งและแข็งกับไข่ที่บรรจุข้างในเท่านั้น ทากจะถอยหลังให้โคคูนหลุดออกจากคอแล้วฝังหรือติดมันไว้กับก้อนหิน กิ่งไม้ ใบไม้ บนพื้นดินธรรมชาติของฤดูกาลอันจะปกคลุมไปด้วยมอสหรือเศษใบไม้ ทากตัวหนึ่งสามารถออกไข่ได้คราวละ ๓-๕ โคคูน ในช่วงกลางฤดูฝน
ภายใน ๒๐ วัน ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ มีขนาดพอ ๆ กับเส้นด้าย ลำตัวยาวประมาณ ๗ มิลลิเมตร มันจะออกหาอาหารตลอดช่วงฤดูฝน จนโตเป็นทากขนาดกลาง การเจริญเติบโตของทากไม่มีการเปลี่ยนรูปที่เรียกว่า metamorphosis ตัวอ่อนที่เกิดมามีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการ และในฤดูแล้งทากจะเข้าสู่ภาวะการจำศีล จนฤดูฝนของปีถัดไปมาถึง ทากเหล่านั้นจะออกมาผสมพันธุ์และวางไข่เป็นวัฏจักรต่อไป
|
|
|
|
ธงชัยเล่าว่าโคคูนของทากหาดูไม่ได้ง่ายนัก เขาตามอยู่นานจึงเก็บตัวอย่างได้ ๑ ปลอกในเดือนมิถุนายน--ช่วงเวลาตรงตามข้อมูลที่ได้มีการศึกษามาก่อนในต่างประเทศ
และนั่นคือการพบกับ "อาจารย์ธงชัย" หลังกลับจากเขาใหญ่ของเรา
จากข้อมูล "นับทาก" ที่เก็บมาตลอดทั้งปี เขานำมาวิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ทากที่พบส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ ทากที่เพิ่งฟักจากไข่มีจำนวนน้อยมาก
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลแต่ละเดือน
พบว่าจะเริ่มพบทากที่เพิ่งฟักจากไข่ในเดือนพฤษภาคม
สำหรับช่วงกลางฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม
จะพบทากที่เพิ่งฟักจากไข่
และทากขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก
เมื่อเทียบกับขนาดกลางและขนาดใหญ่ แสดงว่าในช่วงนี้มีทากรุ่นใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ถัดมาในช่วงปลายฤดูฝนตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ทากที่พบส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก แต่พวกที่เพิ่งฟักจากไข่น้อยลง และมีพวกขนาดกลางและขนาดใหญ่มากขึ้น แสดงว่าทากรุ่นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางฤดูฝนมีการเจริญเติบโตขึ้น
ช่วงฤดูฝนนักวิทยาศาสตร์เรียกว่าเป็นระยะ "ตื่นตัว" (active phase) ของทาก
ส่วนช่วงถัดมาคือฤดูแล้งตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ สัดส่วนของทากที่พบเปลี่ยนไปอีก ทากขนาดใหญ่มีสัดส่วนน้อยลงมาก ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง และมีทากที่เพิ่งฟักจากไข่จำนวนน้อยมาก ช่วงนี้เรียกว่าระยะ "หยุดนิ่ง" (dormant phase) จากการที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อทากอาจมีผลให้ทากส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะจำศีล มันจะอยู่นิ่ง ๆ ในที่กำบัง และไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ซึ่งทากที่เข้าสู่ภาวะจำศีลจะต้องมีการสะสมอาหารไว้อย่างเพียงพอ จึงจะสามารถอยู่รอดไปจนถึงฤดูฝนถัดไปได้
"จากการศึกษาของต่างประเทศ
ในฤดูแล้งทากขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่ได้ดูดเลือด
ยังคงมีพฤติกรรมในการออกหาอาหาร
ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาครั้งนี้
ที่ในฤดูแล้งพบทากขนาดเล็กและขนาดกลางในสัดส่วนที่สูงกว่าขนาดใหญ่
ส่วนทากที่เพิ่งฟักจากไข่ที่ยังไม่สามารถหาอาหารได้
อาจจะตายไปในที่สุด"
ข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า
ทากที่เพิ่งฟักจากไข่ในช่วงต้นฤดูฝนส่วนใหญ่
จะเจริญเติบโตเป็นทากขนาดเล็ก แต่จะมีจำนวนไม่มากนักที่โตต่อไปเป็นทากขนาดกลางและขนาดใหญ่ในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งทากที่สามารถอยู่รอดในช่วงฤดูแล้งและเติบโตเป็นขนาดใหญ่ก็จะผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูฝนของปีถัดไป ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าในสภาพธรรมชาติทากจะสามารถสืบพันธุ์และวางไข่ได้ภายในระยะเวลา ๑ ปี
|
|
|
|
เขายังพบข้อมูลแสดงนัยสำคัญว่า หน้าฝนกับหน้าแล้งเวลาออกหากินของทากจะต่างกัน หน้าฝนพบทากออกหากินมาก เวลากลางวันและเย็น-เช้า-กลางคืน ในหน้าแล้งพบเวลาเย็นและกลางคืน
ความชื้นหรือฝนถือเป็นปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากมันจะต้องรักษาความชื้นเพื่อช่วยในการหายใจ หากใครเป็นคนช่างสังเกตจะพบว่าในบริเวณพื้นที่โล่ง ๆ ซึ่งปรกติมีทากอาศัยมีทากอาศัยอยู่ เรามักไม่เจอมันเลยในช่วงที่มีแดดจัด แสงแดดส่องลงมาถึงพื้นโดยตรงจนทำให้พื้นดินแห้ง
ทากไม่ได้หนีไปไหน
หากแต่จะหลบซ่อนตัวอยู่ตามซอกหลืบต่าง ๆ ของใบไม้ใบหญ้าบริเวณพื้นดิน มันพยายามที่จะรักษาความชื้นของตัวมันเองไว้โดยการหดตัวและไม่เคลื่อนไหว จนกระทั่งอากาศเริ่มเย็นลงหรือมีฝนตก พวกมันก็จะค่อย ๆ ปรากฏตัวออกมาเพื่อดักรอเหยื่อ
เนื่องจากหายใจผ่านผิวหนัง พวกมันจึงมีผิวหนังที่บางและชื้นอยู่เสมอ ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งที่พบเฉพาะในทาก ไม่พบในปลิงน้ำจืด คือ ผิวหนังของทากจะมีร่องเล็ก ๆ พาดผ่านทั่วทั้งลำตัวทั้งตามแนวยาวและขวาง
เปรียบเสมือนระบบชลประทานขนาดจิ๋ว
ที่ทำหน้าที่กระจายของเหลวที่ถูกขับออกมาจากด้านข้างลำตัว
ให้ไหลซึมไปตามร่องทั้งด้านบนและด้านล่างของลำตัว ทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
เขตที่มีความชื้นสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี เช่น เทือกเขาสูงในบอร์เนียวจะสามารถพบทากได้ตลอดปี สำหรับเขตที่มีฤดูฝนและฤดูแล้งสลับกัน เช่น เทือกเขาตอนเหนือของอินเดีย จะพบทากมากในช่วงฤดูฝน แต่ในฤดูแล้ง อากาศแห้งจะไม่พบทากเลย โดยฤดูแล้ง ทากจะอพยพไปอยู่ในบริเวณที่ชื้น เป็นต้นว่าใกล้ลำธาร ในที่ที่หน้าดินแห้งก็จะฝังตัวอยู่ใต้ดินหรือเกาะอยู่ใต้ก้อนหินที่ชื้น ขณะนั้นทากจะมีความเคลื่อนไหวน้อย และไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าใด ๆ รอจนถึงฤดูฝนมาเยือนจึงกลับมากระฉับกระเฉงมากอีกครั้ง ข้อมูลที่เคยศึกษากล่าวว่า มันสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงความชื้นตั้งแต่ ๔๐-๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ถ้ามีความชื้นต่ำกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์
ความชื้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนที่ด้วย เนื่องจากแว่นดูดของทากที่ทำหน้าที่ยึดเกาะกับพื้นผิววัตถุเป็นระบบสุญญากาศ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงเมื่ออยู่ในสภาวะเปียกชื้น ทำนองเดียวกัน เมื่อทากเคลื่อนที่ในสภาพแวดล้อมที่แห้งมาก ๆ แว่นดูดก็จะสูญเสียความชื้นไปอย่างรวดเร็ว และจะไม่เกิดสภาวะสุญญากาศทำให้การยึดเกาะไม่มั่นคง การเคลื่อนที่ของทากจะไม่คล่องแคล่วนัก มันจะเดินล้มไปล้มมา และเมื่อเกาะกับผิวหนังของเหยื่อก็มักจะเกาะไม่อยู่
"เมื่อเราโดนทากเกาะแล้วดึงมันออกตรง ๆ มักจะไม่ประสบผลสำเร็จนักเนื่องจากมันเกาะแน่นมาก ให้เราลองใช้ปลายเล็บสะกิดตรงรอยต่อระหว่างผิวหนังกับแว่นดูดของทากเพื่อทำลายระบบสุญญากาศ แว่นดูดก็จะหลุดออกจากผิวหนังอย่างง่ายดาย"
|
|
|
|
ทาก VS คน
|
|
|
|
หลายครั้งที่โทรศัพท์ไปหาอาจารย์ธงชัย ปรากฏว่าเขากำลังเดินสายไปจันทบุรี กาญจนบุรี หรือกระบี่ ทำให้นึกชื่นชมความมุ่งมั่น รู้จักฉกฉวยใช้พลังความเป็นหนุ่มสาวในตัวคนคนหนึ่ง
และครั้งหนึ่งที่ไปพบ เขาเล่าว่าที่ผ่านมาได้ไปดักค้างคาวเพื่อหาทาก เนื่องจากเคยอ่านพบทากชนิดดูดเลือดค้างคาวในถ้ำ ซึ่งลักษณะเด่นคือมีแว่นดูดหลังขนาดใหญ่เอาไว้เกาะบนผนังถ้ำ เวลาจู่โจม แว่นดูดนี้จะไม่เกาะบนเหยื่อเหมือนทากทั่วไป แต่จะปักหลักบนผนังถ้ำแล้วยืดตัวไปดูดเลือดบนตัวค้างคาวแทน
หลังจากเก็บตัวอย่างแล้วเขาก็จะกลับมาศึกษาสัณฐานวิทยาของทาก หรือดูลักษณะภายนอก ทั้งด้วยตาเปล่าและส่องกล้องจุลทรรศน์สองตาแบบสเตอริโอ นอกจากนี้ยังวัดขนาด ถ่ายภาพขยายอวัยวะสำคัญไว้ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนวงย่อยในปล้องต่าง ๆ ซึ่งมีจำนวนไม่เท่ากัน จะต้องสังเกตเป็นพิเศษ
"บางครั้งจำเป็นต้องผ่าตัดดูอวัยวะข้างในเพื่อแยกชนิดทากก็เคยทำครับ"
เขาชี้ให้ผมดูติ่งใกล้ ๆ แว่นดูดหลังแล้วอธิบาย "ลักษณะเด่นอันหนึ่งของทากที่แตกต่างจากปลิง คือติ่งเหนือแว่นดูดหลัง การทำงานของอวัยวะนี้คาดว่าช่วยรักษาความชุ่มชื้น ทำให้ทากอยู่บนบกได้ แต่ในปลิงไม่มี"
และก็รูปขยายส่วนหัวที่ดูคล้าย "เจได" ใน สตาร์วอร์ บริเวณขอบหัวอันขรุขระ เราเห็นลูกตาทากเป็นจุดสีเข้มเรียงติด ๆ กัน ๕ คู่ เอาไว้ดู "การเปลี่ยนแปลงของความเข้มแสง" ดังที่กล่าวตอนแรก ไม่น่าเชื่อว่าสัตว์ตัวจิ๋วอย่างมันจะมี "ตา" ไว้จับจ้องความเคลื่อนไหวเหยื่อจริง ๆ และมีมากกว่าสองตาด้วย
เพราะทากทำให้เหล่านักท่องเที่ยวเลือดไหลกันเห็น ๆ คำถามที่มักวิตกกันก็คือ ทากจะเป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ ที่ติดต่อกันทางเลือดได้หรือไม่ โดยเฉพาะโรคอันตรายต่อมนุษย์อย่างเอดส์
"การศึกษาในต่างประเทศ ทากสามารถเป็นพาหะนำโรคบางชนิดในวัวควายได้ โดยเชื้อโรคเหล่านั้นสามารถมีชีวิตอยู่ในตัวทากนานเกือบสองเดือนหลังจากดูดเลือด แต่ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการเป็นพาหะที่นำโรคในคน" อย่างไรก็ตาม
สำหรับตัวเขาคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง
ที่ทากสามารถเป็นพาหะของเชื้อโรคบางชนิด
ซึ่งสามารถถ่ายทอดมาสู่คนได้ แต่ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อนั้นคงน้อย เพราะลักษณะการกินของทากจะกินครั้งเดียวอิ่ม ไม่ดูดกินเลือดครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วไปดูดคนอื่นต่อ
...............................................
|
|
|
|
หลังจากเก็บตัวอย่าง ส่องดูพวกมันมากพอ ธงชัยเริ่มพบเค้าลางอันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับความหลากหลายด้านชนิดพันธุ์ของทากในประเทศไทย อาทิ ทากที่อาศัยบนใบไม้ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกรวมว่า "ทากตอง" ไม่ได้มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เขาพบว่ามันไม่น่าจะมีน้อยกว่าสองชนิด บางชนิดกระจายอยู่ในเขตภาคเหนือ-อีสาน และบางชนิดพบกระจายกว้างขวางเกือบทุกภาค
นอกจากนี้ เขายังพบข้อสังเกตว่า ขณะที่ตัวดูดร่วมวงศ์ที่ใกล้ชิดอย่างปลิงไม่มีสีสันเลย แต่ทากดูดเลือดเต็มไปด้วยสีสัน ทากในเมืองไทยไม่ได้มีแต่สีน้ำตาลลายดำเท่านั้น บางชนิดมีสีเขียว-เหลือง บางชนิดมีสีฟ้าแถบน้ำตาล ซึ่งทากชนิดมีสีสันสดใสกลุ่มนี้จะกัดเจ็บมาก ทำให้รู้สึกว่าน่าสนใจทำการศึกษาต่อไป
ภายหลังเขาพิสูจน์ได้ว่าทากที่ผ่านสายตามีถึง ๕ ชนิดด้วยกัน (ไม่ใช่สองชนิดที่เคยรายงาน) ทั้งพวกที่อยู่บนใบไม้และบนพื้นดิน บางชนิดไม่เคยมีรายงานการพบมาก่อนในประเทศไทย ในขณะนี้สามารถเปิดเผยได้เพียงว่าพบทากสกุล (genus) ใหม่สำหรับประเทศไทยด้วย คือ Tritetrabdella จากเดิมที่พบสกุล Haemadipsa เพียงหนึ่งเดียว โดยที่บางชนิดอาจจะถือเป็นการค้นพบใหม่ของโลกทีเดียว
ไม่เพียงแต่ทากชนิดใหม่เท่านั้น หลังจากเสร็จเรื่องทากและขยายความสนใจไปสู่ปลิงก็พบสิ่งใหม่ ๆ ล้วนแต่น่าสนใจ เขากล่าวถึงการค้นพบว่าครั้งนี้ว่า ยิ่งศึกษาก็ยิ่งรู้ว่าสัตว์กลุ่มนี้ (ทากและปลิง) ยังแปลกใหม่...เพราะในเมืองไทยยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน แม้จะเป็นสัตว์ที่ทุกคนรู้จัก อาจรู้จักดีกว่าสัตว์หลายชนิดด้วยซ้ำ แต่ว่าเราอาจมองข้ามความสำคัญไป เขาย้ำว่า "สัตว์กลุ่มนี้รอการค้นพบจริง ๆ"
ผมจำได้ถึงเรื่องสนุก ๆ ที่เขาเคยเล่าว่า ซื้อเสื้อยืด "ทากดูดเลือด" จากเขาใหญ่มาตัวหนึ่ง มีการชี้บอกอวัยวะต่าง ๆ ของทาก ซึ่งชี้ผิดเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะเพศ รูขับถ่าย สมอง--อันที่จริงสัตว์พวกนี้ไม่มีสมอง มีเพียงปมประสาทเท่านั้น
"แต่ผมก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้" เขาบอก
ผมจึงถามไม่ซีเรียสว่า ศึกษาทากผ่านมาปีเศษ เขาคิดว่ารู้จักทากกี่เปอร์เซ็นต์ เขาตอบว่า "เพียงแค่ ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น"
แม้แต่ทากเขาใหญ่บนทางที่ผ่านมาด้วยกัน
ศึกษาแล้วก็ได้พบลักษณะบางอย่างที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
ต่างจากที่เคยมีรายงานการศึกษามาก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งดึงดูดให้เขาสนใจศึกษามันต่อไป
|
|
|
|
หมายเหตุ : สารคดีเรื่องนี้อาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการศึกษาของ ธงชัย งามประเสริฐวงศ์ ซึ่งไดัรับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT)
|
|
|
|
ขอขอบคุณ
|
|
|
|
อำนวย อินทรักษ์
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|
|
|
|
แหล่งข้อมูล
|
|
|
|
ความหลากหลายของชนิด การแพร่กระจาย และผลของปัจจัยทางกายภาพต่อประชากรทากในวงศ์ Haemadipsidae ที่พบในประเทศไทย โดย ธงชัย งามประเสริฐวงศ์ วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ทาก" Advance Thailand Geographic โดย วัชระ สงวนสมบัติ
สัมภาษณ์คุณอำนวย อินทรักษ์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
|
|