นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ "มอเตอร์ไซค์ เรื่องของทุกคนบนถนน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

ความทรงจำสุดท้ายจากป่าสันทรายชายหาด ก่อนวันท่อก๊าซทอดมาถึง

  เรื่อง : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในสายตาของนก--ตรงนั้นเป็นรอยต่อของผืนน้ำกับแผ่นดิน พ้นจากแนวคลื่นออกไป เป็นเวิ้งน้ำกว้างไกลสุดขอบโลก เมื่อโฉบปีกผ่านหาดทรายขึ้นมาบนฟากฝั่ง นกเห็นทิวป่าอันรกเรื้อ หมู่ไม้ที่อยู่ใกล้ฝั่งถูกลมทะเลโบกโบยจนกิ่งก้านหงิกงอ พุ่มเล็กเรียว ส่วนที่อยู่ห่างชายทะเลขึ้นไปค่อย ๆ ยืนต้นเหยียดตรง กระทั่งหนาแน่นเป็นป่าดงเมื่อลึกเข้าไปในแผ่นดิน รูปทรงพุ่มป่าในสายตาของนก จึงดูคล้ายชายธงรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ปล่อยปลายแหลมชี้ไปทางทะเล
      ในสายตาของผม--ผมมองเห็นทิวป่ารูปธงผืนเดียวกันที่นกเห็น แต่เป็นชายธงรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก-เมื่อมองจากด้านข้าง ต้นไม้หลายชนิดอิงแอบอาศัยกันอยู่หนาแน่น คล้ายผืนป่าดิบแล้ง ทิวป่าดูร่มรื่นพอจะให้นกเถื่อนใช้เป็นที่พำนัก แต่ผมมองไม่เห็นว่ามีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ 
      แต่ในสายตาของคุณหมอรัชนี บุญโสภณ นี่คือผืนป่าที่มีค่าอย่างสำคัญ และอาจเป็นไปได้ว่านี่คือ ป่าสันทรายชายหาด (Coastal Sand Dune Forest) เพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ในสายตาของคนท้องถิ่น พวกเขาส่วนใหญ่คุ้นเคยกับผืนป่าริมชายเลมาตั้งแต่เกิด เป็นแหล่งเก็บไม้ฟืน เป็นสวนครัวที่ใช้เก็บพืชป่าหาผัก เป็นห้องยาที่เก็บหาสมุนไพร และตัดไม้มาใช้บ้างตามความจำเป็นของชีวิตประจำวัน
      แต่คำว่า "ป่าสันทรายชายหาด" ที่คุณหมอชาวเมืองหาดใหญ่คนนั้นพูดถึง ไม่เคยอยู่ในความรับรู้ของชาวบ้านมาก่อน
      คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้บางคนที่คุณหมออนันต์ บุญโสภณ เคยคุยด้วย เขาก็บอกว่ายังไม่รู้จักเช่นกัน หรือกระทั่งตำราวิชาการที่เกี่ยวกับ ป่าชายหาด (Beach Forest) ในเมืองไทยก็มีอยู่น้อยมาก ข้อมูลความรู้เท่าที่มีอยู่คุณหมอทั้งสองอาศัยค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างประเทศเป็นหลัก
      จากการพูดคุย รองศาสตราจารย์ ดร. ทวีศักดิ์ บุญเกิด ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ป่าชายหาด แบ่งออกเป็น หาดทราย กับหาดเลน อาจเป็นพื้นที่น้ำทะเลอาจท่วมถึงหรือท่วมไม่ถึง แต่ต้องได้รับอิทธิพลจากไอทะเล และต้องแพร่พันธุ์โดยอาศัยทะเล
      ลักษณะเด่นของพืชชายหาด คือ มีผลเบาลอยน้ำ เช่น มะพร้าว ซึ่งขยายพันธุ์ไปทั่วโลกโดยให้ลูกของมันลอยไปกับน้ำ นอกจากนี้ยังมีพืชจำพวก ตะบูน ตะบัน จิก ดองดึง หงอนไก่ทะเล สนทะเล หูกวาง ซึ่งทั้งหมดกระจายพันธุ์โดยอาศัยน้ำทะเล และขึ้นอยู่บนแนวทราย
      ครั้งอดีตป่าชายหาดมีอยู่ทั่วไป แต่แนวป่าซึ่งมีอยู่แคบ-ระหว่างชายฝั่งถึงแผ่นดิน มันจึงหมดไปเมื่อพื้นที่ชายฝั่งถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การทำรีสอร์ต สวนสาธารณะ การก่อสร้างตึก อาคาร ฯลฯ ป่าชายหาดแถบภาคตะวันออกถูกทำลายมากสุด และด้านทะเลอันดามันยังอยู่ดีกว่าอ่าวไทย
      ในปัจจุบันป่าชายหาดไม่เป็นที่รู้จัก เพราะแทบไม่มีเหลือให้เห็นอีกแล้ว
      ในสายตาของใครก็แล้วแต่ การมองเห็นป่าสันทรายชายหาด--ไม่ง่ายอย่างการมองหาป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าดงดิบ ฯลฯ เพราะผืนป่าเหล่านี้ผ่านการศึกษาสร้างการเรียนรู้มาแล้วอย่างกว้างขวาง 
      สำหรับป่าสันทรายชายหาด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ขึ้นในสังคมบ้านเรา ให้คนของเราได้รู้จักความจริงความงามของท้องทะเลลึกซึ้งกว่าที่เคยมองเห็น และได้เรียนรู้ว่าชายทะเลบางแห่งไม่ได้มีแต่ฟองคลื่นขาว ๆ หาดทรายละมุน กับน้ำทะเลใสสวย... 
      "ความรู้ รู้ให้พอแล้วอย่าทำผิดพลาด" หมออนันต์กล่าวเกริ่นก่อจะนำเข้าสู่ป่า...
      ใครเคยผ่านเข้าไปแถบพื้นที่ชายฝั่งของตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จะเห็นแนวฝั่งที่สูงชันคล้ายหน้าผาน้อยๆ ขนานไปกับแนวหาด คะเนด้วยสายตาความสูงของผาทรายอยู่ในช่วง ๖-๘ เมตร และมีที่สูงถึง ๑๐ เมตรในช่วงกลางของอ่าว 
      ภูมิประเทศอันกลายเป็นที่มาของชื่อบ้านนามตำบลว่า ตลิ่งชัน 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เลยขอบตลิ่งขึ้นไปเป็นแนวของเนินทรายทอดยาวไปตามชายฝั่ง ตลอดระยะราว ๒๐ กิโลเมตร ตั้งแต่ปากแม่น้ำสะกอมขึ้นไปทางเหนือจนถึงปากแม่น้ำนาทับ ในย่านถิ่นของหมู่บ้านปากบางสะกอม บ้านบ่อโชน บ้านโคกสัก ลานหอยเสียบ บ้านวังงู บ้านตลิ่งชัน บ้านในไร่ บ้านสันทราย บ้านสวนกง บ้านปึก บ้านนาเสมียน บ้านปลายจิก บ้านท่าคลอง ในจำนวนนี้ บ้านเรือนของบางชุมชนตั้งอยู่บนสันทราย
      เล่าขานกันว่า แต่ก่อนสันทรายยาวต่อเนื่องไปถึงแหลมสมิหราในตัวเมืองสงขลา แต่ปัจจุบันพื้นที่ส่วนนั้นถูกทำให้แปรเปลี่ยนจนไม่เหลือสภาพดั้งเดิมอีกแล้ว
      สันทรายแต่ละเนินประกอบขึ้นจากเม็ดทรายจำนวนเกินคณานับ และต้องใช้เวลาในการก่อร่างสร้างรูปยาวนานเป็นพันเป็นหมื่นปี
      ทรายบางเม็ดเล่าความหลังของตัวเองว่า เคยเป็นหินผาอยู่บนภูเขามาก่อน โดนแดดและลมฝนกัดกร่อนผุพัง ถูกชะล้างลงสู่แม่น้ำ และไหลออกทะเล ล่องลอยไปในกระแสน้ำเค็มกับมวลเม็ดทรายอีกมหาศาล ซึ่งบางส่วนมาจากเศษเสี้ยวของเปลือกหอยและปะการัง 
      กระทั่งถูกคลื่นซัดขึ้นสู่ฝั่ง
      จากเม็ดทรายมาเป็นผืนทรายเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่การจะก่อกำเนิดเป็นสันทราย มีความเป็นไปได้ไม่มาก เนื่องจากต้องมีปัจจัยเงื่อนไขอีกหลายประการช่วยเอื้ออำนวย
      หน้าหาดต้องมีระยะน้ำขึ้นน้ำลงที่กว้างพอ เพื่อให้ทรายได้ตากแดดต้องลมจนเม็ดแห้ง และเม็ดทรายจะต้องมีขนาดละเอียดพอที่สายลมจะพัดปลิวไปได้
      กระแสลมต้องพัดเป็นทิศทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ยาวนานเป็นฤดูกาล ความเร็วลมต้องมากกว่า ๑๕ ไมล์ต่อชั่วโมง ถึงจะแรงพอที่จะหอบเม็ดทรายไปได้ แต่ถ้าเกิน ๔๕ ไมล์ต่อชั่วโมง ก็จะกลายเป็นพายุพัดกร่อนเนินทรายจนไม่อาจก่อร่างเป็นสันสูงๆ 
      เวิ้งน้ำต้องเปิดโล่ง ไม่มีเกาะแก่งหรือสันแหลมกีดขวางทางลม แต่บนฝั่งจะต้องมีปราการกั้นดักทราย ซึ่งอาจจะเป็นซากพืชซากสาหร่ายทะเลที่ถูกคลื่นซัดมาวางไว้ตามแนวน้ำขึ้นสูงสุดบนชายหาด
      เม็ดทรายที่เดินทางมาแสนไกล ยังต้องเดินทางต่อแม้หลังจากถึงฟากฝั่งแล้ว
      กระแสลมที่มีความเร็วระหว่าง ๑๕-๔๕ ไมล์ต่อชั่วโมง จะพัดทรายเม็ดใหญ่ให้กลิ้งไปชนเม็ดที่อยู่ข้างหน้า เคลื่อนตัวต่อเนื่องกันไปในลักษณะที่เรียกว่า การคลาน ส่วนเม็ดทรายที่มีขนาดพอดี จะถูกพัดปลิวไปในท่วงท่าการกระโดดของกบ ล่องลอย แล้วตกลงกระแทกเม็ดอื่นให้ลอยต่อ 
      กระทั่งเจอแนวซากจากทะเลที่เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ย มีพืชไม้ชายหาดงอกเงยขึ้นมาดักทางลม สันทรายลูกแรกจะก่อกำเนิดขึ้นตรงนั้น
(คลิกดูภาพใหญ่)       พืชพรรณป่าสันทรายชายหาดที่มีลักษณะทนต่อละอองน้ำเค็ม ทานลม ใบมีผิวมันและเป็นขน มีระบบรากที่หาอาหารได้ดี แพร่พันธุ์เร็ว งอกงามได้ทุกฤดูกาล และโตเร็วทันกับการทับถมของทราย จะเติบโตขึ้นมาทำหน้าที่ดักเม็ดทรายให้สะสมเป็นสันทราย สูงขึ้น โตขึ้น และมีเสถียรภาพ
      เนินทรายแรกที่เกิดขึ้นริมหาดจะสูงราว ๒ เมตร ด้านหน้าที่หันออกสู่ทะเลจะรับลมแรงมาก และแรงลมสูงสุดจะอยู่ตรงยอดของสันทราย
      เม็ดทรายที่อยู่ด้านหน้าจะถูกพัดปลิวข้ามสันไปตกด้านที่อับลม ทำให้สันทรายกร่อนจากด้านหน้าไปโตด้านหลัง และเคลื่อนที่ถอยห่างฝั่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระยะหนึ่ง สันทรายลูกอ่อนแนวใหม่จะเกิดขึ้นทดแทน 
      ขณะที่สันทรายที่เกิดก่อนถอยร่นเข้าไปด้านใน สันทรายลูกใหม่ๆ จะเกิดขึ้นสืบต่อเนื่อง เหมือนกับการเคลื่อนของสันคลื่นในทะเล 
      ต่างกันแต่ว่า การหนุนเนื่องของคลื่นทะเลเกิดขึ้นในเวลาเพียงชั่วลมหายใจ แต่การเขยื้อนของสันทรายชายหาดอาจใช้เวลาเป็นร้อยๆ หรือเป็นพันปี
      ผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า สันทรายบางแห่งมีอายุถึง ๑๘,๐๐๐ พันปี
      เนินทรายที่เกิดขึ้นก่อนจะถอยร่นขึ้นมาอยู่ในสุดบนแผ่นดิน ยิ่งลึกเข้าไปสันทรายจะสึกกร่อน ราบแบน ไม่เป็นสันชัดเจนเหมือนสันทรายที่เกิดใหม่
      ขณะที่สันทรายเคลื่อนถอยเข้าไปในแผ่นดิน พืชบุกเบิกจะงอกขึ้นมาทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพให้สันทราย ไม้ขนาดเล็กจะเข้ายึดพื้นที่ก่อน ไม้ใหญ่งอกงามตามมา ต่อจากนั้นผืนป่าก็จะหนาแน่นขึ้นตามเวลา ทั้งในแง่ของจำนวน ชนิด และขนาด
      เป็นพัฒนาการของป่าสันทรายชายหาด ซึ่งอาจมีแต่ดวงตาของดวงดาวเท่านั้นที่จะเห็นความต่อเนื่องโดยตลอด
      ทุกวันนี้เมื่อมายืนอยู่ต่อหน้าป่าสันทรายชายหาด จะเห็นพุ่มไม้ด้านหน้าทะเลที่รับกระแสลมแรงและไอน้ำเค็ม และปะทะกับการขัดสีจากเม็ดทรายโดยตรง มีลำต้นแคระเกร็น กิ่งแห้งใบโกร๋นเหมือนไม้ยืนตาย 
      แมกไม้พวกนี้พลีตนเป็นปราการด่านหน้า ปกป้องสุมทุมพุ่มไม้ด้านในให้เติบโตสูงใหญ่ขึ้นในแนวหลัง
      มองในมุมกว้าง รูปทรงของทิวไม้ชายทะเลแลคล้ายชายธงสามเหลี่ยม ปลายแหลมชี้ไปทางทะเล มีด้านกว้างอยู่ข้างใน ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เรียงรายไปตามแนวหาด มองได้ทั้งจากด้านบนและด้านข้าง 
      ในสายตาของนกที่บินอยู่บนฟ้าจะเห็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า แต่ในสายตาของผมกลับเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก--เมื่อมองจากด้านข้าง
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       "ดิฉันไม่ได้เป็นเจ้าของที่แถบนั้น แต่ชอบแวะเวียนไปดู ไปดูความเวิ้งว้างของทะเล ไปดูดอกไม้ป่า ดูเฟิน ดูกล้วยไม้ แม้กระทั่งดอกหญ้าที่สวยงามหลายชนิด หลายสี ไม่ซ้ำกันในแต่ละฤดู ไปฟังเสียงไก่ป่าขัน บางทีโชคดีก็เห็นแม่ไก่พาลูกๆ หาอาหารเป็นฝูง ไปฟังนกป่าระเริงไพร ไปดูนกเขาใหญ่จับคอนไม้เป็นคู่ในสุมทุมพุ่มไม้ และนกเขาชวาเดินเล่นเป็นฝูงและผลัดกันขันคู" หมอรัชนี เล่าความผูกพันของเธอต่อผืนป่าสันทรายชายหาด
      โดยพื้นเพ แพทย์หญิงรัชนีและนายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ เป็นชาวเมืองหาดใหญ่ เปิดบ้านเป็นสถานพยาบาลเล็กๆ อยู่ที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๒ แต่เพราะใจที่รักชอบในธรรมชาติ คุณหมอทั้งสองจึงได้มาพบกับผืนป่าสันทรายชายหาด ที่บ้านในไร่ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อปี ๒๕๓๑
      ผืนป่าอันเป็นที่รู้กันในเวลานี้ว่า อาจเป็นป่าสันทรายชายหาดเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศไทย
      คุณหมอเฝ้ามองป่าแห่งนี้มาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ตั้งแต่ป่าไม้และชายหาดยังบริสุทธิ์ กระทั่งถูกทำลายไปแล้วบางส่วน ตั้งแต่ผืนป่าสันทรายชายหาดที่เป็นป่าปฐมภูมิ (ป่าดั้งเดิมที่ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลง ทำลาย) ยังกว้างขวางถึง ๑ ตารางกิโลเมตร จนกระทั่งเหลือไม่ถึง ๓๐๐ ไร่ในปัจจุบัน
      เธอเฝ้าสังเกตมานานจนรู้ว่า น้ำทะเลและชายหาดจะสวยมากในฤดูร้อน และระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เม็ดทรายจะขาวละเอียดมาก 
      ใต้เงาป่ามี เอื้องแปรงสีฟัน เป็นสีสันของป่าฤดูแล้ง ส่วน เอื้องนกกระยาง จะบานดอกปีละ สามสี่ครั้ง มีทั้งที่อยู่บนพื้นดินและบนคาคบไม้ แต่ละคราวจะบานดอกพร้อมกันทั้งป่า ช่อดอกอ่อนช้อยน้อมต่ำ สีขาวพราว จนบางคนหลงคิดไปว่าเป็นฝูงนกระยาง แต่บางคนกลับเห็นเป็นเกล็ดหิมะ
      ดอกกล้วยไม้กะเรกะร่อน ที่เคยเห็นเจนตาบนต้นตาล ในป่าสันทรายมันกลับลงมาอยู่บนคาคบเตี้ยๆ หรือตามตอและขอนไม้ผุ หย่อนช่อดอกสีเหลืองน้ำตาล ระย้ายาว ต้นละหลายๆ ช่อ ออกดอกพร้อมกันปีละหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมี เอื้องม้าวิ่ง ซึ่งมีอยู่หลายสีไล่ไปตั้งแต่สีขาวจนถึงสีม่วงเข้ม
      แต่พืชพรรณสำคัญที่สุดของผืนป่าสันทรายชายหาดที่บ้านในไร่ เห็นจะเป็น ซิสเซีย หรือ ตาลทราย เฟินโบราณที่เคยคิดกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่คุณหมอได้พบเห็นมันอีกครั้งในป่าบ้านในไร่ ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นแหล่งสุดท้ายของประเทศ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ความงดงามบางมุมมองที่ได้พบเห็น คุณหมอบรรยายภาพเอาไว้ว่า "เอื้องม้าวิ่งขึ้นสลับกับกอซิสเซีย-เฟินโบราณที่หายากแล้ว อยู่ตามใต้สุมทุมพุ่มไม้ บางแห่งมีมากหนาแน่น และมีเทินนาคราชกับกระปรอกว่าวแซม อย่างกับมีใครมาจัดสวนดอกไม้ไว้ให้" 
      ผู้เฒ่าในท้องถิ่นเล่าให้หมอฟังว่า เมื่อก่อนในป่าแห่งนั้น เคยมีสัตว์เถื่อนที่หายากจำพวก เสือ หมี ช้าง อาศัยอยู่ แต่กับตาของตัวเอง คุณหมอเคยได้เห็นแค่กระรอกสามสี ขณะมันวิ่งขึ้นต้นสนใหญ่หน้าทะเล
      นกมีมากถึง ๗๐ ชนิดทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ "โดยเฉพาะนกเขามีมากเป็นพิเศษ ทั้งนกเขาใหญ่ ที่ชอบจับคอนไม้ใต้พุ่มเป็นคู่ และนกเขาชวาที่ชอบเดินหากินตามพื้นเป็นฝูง ๆ นกคุ่มที่ชอบวิ่งซุกๆ เข้ากอไม้เมื่อได้ยินเสียงคน และเสียงนกหวานๆ อีกนับไม่ถ้วน
      "ยามเย็นยามค่ำที่เงียบสงบจะเห็นฝูงลิงแสม ชะมด หรือมูสัง วิ่งข้ามถนน บางครั้งไก่ป่าก็ยืนอยู่ข้างทาง ให้เราคิดว่า เอ ! มายืนทำไม"
      มากกว่าคุณค่าในเชิงสร้างความสำเริงสำราญให้กับผู้คนและเป็นถิ่นพำนักของสัตว์ไพร ป่าสันทรายชายหาดยังทำหน้าที่อันเอื้อต่อความสมดุลของระบบนิเวศ
      เสถียรภาพของสันทรายมีส่วนอย่างสำคัญในการเป็นกันชนไม่ให้คลื่นทำลายฝั่งยามมีมรสุมรุนแรง และแนวป่าชายหาดยังทำหน้าที่เป็นโล่ต้านพายุให้กับสรรพสิ่งและสรรพชีวิตบนแผ่นดิน
      ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ชายฝั่งอย่าง รศ.ดร.ทวีศักดิ์ จึงเชื่อว่าคราวที่เกิดวาตภัยครั้งยิ่งใหญ่ อย่างที่จังหวัดชุมพร ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ถ้าป่าชายหาดยังอยู่ ความเสียหายจะไม่รุนแรงอย่างที่ปรากฏ แต่เมื่อไม่มีด่านทานลมพายุ ไม้ที่เราปลูก อาคารบ้านเรือนที่เราสร้าง จึงล้มพังระเนระนาด
      ความจริงธรรมชาติได้สร้างปราการอันมั่นคงไว้ให้แล้ว แต่คนมองไม่เห็นและไม่เอาใจใส่ ความสูญเสียยิ่งใหญ่จึงอุบัติขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
      ระหว่างเนินทรายกลางป่าสันทรายชายหาดเป็นร่อง ลำราง (Trough) บริเวณนี้ไม่เคยแห้งแล้ง ในฤดูมรสุมน้ำฝนจากสันทรายจะไหลลงมา เป็นแหล่งน้ำจืดใกล้ชายทะเล เป็นภูมินิเวศอันเกื้อหนุนให้ผืนดินเก็บซับน้ำฝนได้ดีกว่าพื้นที่ราบเรียบ น้ำที่ซึมผ่านลงไปใต้ดินจำนวนมาก จะเป็นผนังน้ำช่วยกั้นยันน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในแหล่งน้ำใต้ดินริมฝั่ง 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ตลอดแนวชายหาดแถบตลิ่งชัน ห่างฝั่งขึ้นไปสัก ๓ เมตร สามารถขุดบ่อใช้น้ำจืดได้ 
      ความมั่นคงของสันทรายยังเป็นแนวป้องกันสังคมพืชซับซ้อน ที่กำลังเจริญเติบโตให้รอดพ้นจากการถูกน้ำทะเลท่วม ถูกไอเค็ม และกระแสลมแรง รวมทั้งเป็นแหล่งทรายเติมให้ชายหาดที่อาจถูกชะล้างพังทลายจากคลื่นลมและพายุฝน
      ในฤดูมรสุม ทรายถูกชะล้างลงทะเล ไปเป็นเนินทรายอยู่ใต้ผืนน้ำ เมื่อคลื่นใหญ่มากระทบจะม้วนตัวกลายเป็นคลื่นหัวแตก ความเชี่ยวกรากและแรงกระทบกระแทกเบาลง ช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง หลังจากนั้นเม็ดทรายจะถูกคลื่นหอบกลับมาฟากฝั่งในฤดูแล้ง พอเม็ดแห้งลมก็พัดขึ้นไปเป็นสันทราย
      ถ้ากระบวนการนี้ถูกรบกวน วัฏจักรตามฤดูกาลถูกขัดขวาง ไม่มีทรายมาเติมกลับ ชายหาดจะหดแคบ ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะพังทลายไปเรื่อยๆ
      สังคมของสันทรายมีความเปราะบางยิ่ง แม้หญ้าเพียงต้นเดียวถูกทำลายก็อาจก่อความเสียหายใหญ่หลวง 
      เมื่อหญ้าต้นหนึ่งหายไป จะไม่มีสิ่งใดคอยดักเม็ดทรายให้ตกลง และสายลมแรงยังพัดเอาเม็ดทรายไปจากตรงนั้น โดยเฉพาะบนยอดสันซึ่งกระแสลมแรงที่สุด สันทรายจะสึกกร่อนขยายเป็นร ่องใหญ่และลึกขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทำให้สันทรายขาดเป็นท่อน
      รวมทั้งการเหยียบย่ำเป็นทางเดินของคนและฝูงสัตว์เลี้ยง วัว แพะ แกะ ควาย การขุดแย้ การใช้พาหนะบนสันทราย การตัดถนน รวมถึงการบุกเบิกแผ้วถางทำสวนมะพร้าวและมะม่วงหิมพานต์ 
      แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่รุนแรงเท่ากับการไถหน้าดินจนราบเรียบเตียนโลงอย่างสิ้นเชิง เพื่อเตรียมเปลี่ยนพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม และการกระทำดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นแล้วกับพื้นที่บางส่วน
      "เครื่องจักรเข้าไปไถป่าส่วนที่เปลี่ยนมือไปแล้วจนโล่ง ตั้งแต่ชายทะเลจนถึงลำรางด้านใน ปราบเนินทรายใหญ่น้อยจนราบเรียบ ตัดโค่นไม้ใหญ่แล้วแปรรูป" หมอรัชนีบันทึกเหตุการณ์วันนั้นเอาไว้
      "ไม่อยากนึกถึงสภาพของสัตว์ป่าที่ขวัญกระเจิง เพราะเราเองก็ไม่ต่างจากเขา"
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       การพัฒนาอุตสาหกรรมของอเมริกา ในช่วงสองสามทศวรรษที่แล้ว ได้ทำลายป่าสันทรายแถบรัฐฟลอริดาไปเป็นจำนวนมาก มาถึงทุกวันนี้ความผิดพลาดในอดีตถูกทบทวน และได้เริ่มหันกลับมาอนุรักษ์กันใหม่ โดยอาศัยภาพถ่ายทางอากาศเป็นแนวทางในการฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างสันทรายขึ้นมาทดแทน นำพันธุ์พืชที่เคยมีอยู่กลับมาปลูก นำสัตว์ที่เคยอาศัยกลับมาปล่อย 
      ต่างกันคนละเรื่องกับในประเทศไทย พื้นที่ป่าสันทรายที่เคยมีอยู่ราว ๑ ตารางกิโลเมตรเมื่อสิบกว่าปีก่อน ถูกทำลายเรื่อยมาจนเหลือที่เป็นป่าปฐมภูมิไม่ถึง ๓๐๐ ไร่ และจนบัดนี้ก็ยังไม่เคยได้รับการใส่ใจจากส่วนราชการหน่วยงานใด
      อย่างไรก็ตาม แม้เหลือพื้นที่แคบๆ เพียงเท่านี้ แต่ความหลากหลายทางชีวพันธุ์ยังมีอยู่สูงมาก นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เคยเข้ามาสำรวจพื้นที่ป่าเพียงบางส่วน พบพันธุ์ไม้ถึง ๑๐๐ กว่าชนิด
      เราได้แผนผังมาจากคุณหมอว่า การสำรวจป่าสันทรายชายหาดบ้านในไร่ สามารถเข้าไปจากถนน รพช. สายบ้านหวัน-ท่าคลอง ที่ตัดผ่านไปกลางผืนป่า แบ่งป่าออกเป็นส่วนหน้าและส่วนหลังทะเล ถนนอยู่ห่างจากทะเลราว ๒๐๐ เมตร และห่างจากลำรางสุดท้ายก่อนถึงทุ่งนาของชาวบ้านประมาณ ๓๐๐ เมตร
      เราเริ่มต้นเส้นทางเดินป่าจากทางด้านหน้าหาด โดยมี บังเฉม กับพี่นิอะ เป็นคนนำทาง
      ก่อนเข้าป่า เราพบ เสบ และ อะ เพชรแก้ว กำลังว่ายลุยฝ่าคลื่นอยู่แถวหน้าหาด ไม่มีใครคิดว่าชาวบ้านอย่างเขาและเธอจะลงไปว่ายน้ำเล่นเหมือนที่นักท่องเที่ยวทำกัน แต่ทุกคนต่างสงสัยว่าเขาทั้งสองกำลังทำอะไรกันอยู่ 
      เมื่อเข้าไปใกล้จึงได้รู้ว่า สองผัวเมียกำลังช่วยกันเก็บกู้ กัด (ข่ายดักปลา) ที่กางทิ้งไว้ตั้งแต่หัวรุ่ง ความหวังถึงความอิ่มเอมและรายได้ประจำวันของครอบครัวรอให้เขาเก็บเกี่ยวอยู่ใต้ผืนน้ำ
      ชายฝั่งทะเลตลอดแนวเป็นบ่อปลากว้างใหญ่ของคนริมเล ชาวน้ำเค็มแทบทุกครอบครัวมีอาชีพอยู่กับการหาปลาไม่ด้วยรูปแบบใดก็แบบหนึ่ง ครอบครัวที่มีทุนและมีกำลังมากอาจมีเรือและเครื่องมือทำมาหากินที่หลากหลาย สำหรับจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดที่หมุนเวียนกันเข้ามาในแนวชายฝั่งตามฤดูกาล 
      สำหรับเสบกับอะสองผัวเมียหนุ่มสาว ซื้อกัดดักปลาริมฝั่งผืนละไม่กี่ร้อยบาทมาสามปาก เขาก็สามารถมีรายได้วันละเป็นพันบาท โดยไม่ต้องลงทุนอะไรอีกนอกจากคอยดูแลไม่ให้ใครมาล่วงล้ำทำลายทะเล
(คลิกดูภาพใหญ่)       ตลิ่งทรายยกตัวสูงขึ้นจากผืนหาด 
      บนนั้น
      มีเนินทรายปรากฏเป็นสันชัดเจนในช่วงหน้าทะเล และค่อยๆ ราบเรียบเมื่อลึกเข้าไปในแผ่นดิน
      มีลำรางสลับอยู่ระหว่างเนินทราย ซึ่งบังเฉมเรียกมันว่า ระบาง บางลำมีทางออกสู่ทะเล และมีน้ำทะเลเข้ามาเป็นน้ำกร่อย ส่วนที่ไม่มีทางออกบางแห่งมีน้ำขังตลอดปี บางแห่งกว้างใหญ่เป็นพรุ เป็นแหล่งอาศัยแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิดตั้งแต่ ปู ปลา หอย กุ้ง ไปจนถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน อย่าง กบ เขียด เต่า ตะกวด เหี้ย จิ้งเหลน งู และเป็นที่หากินของนกน้ำ นกกระยาง เป็นถิ่นอาศัยของพืชน้ำนานาพันธุ์ บัว กก จูด รวมทั้งพืชริมน้ำที่ชอบความชุ่มชื้นจำพวก ย่านลิเภา โชน และลำเจียกหรือเตยทะเล
      พฤกษ์ป่าหนาแน่นมากขึ้นตามระยะทางที่ห่างมาจากทะเล ดูเหมือนบังเฉมจะรู้จักต้นไม้ทุกชนิด เป็นเราเสียเองที่อาจจดจำได้ไม่ทันตามที่แกชี้แนะ
      ที่เปลือกต้นสีดินแดงนั้น เสม็ดชุน ดอกเป็นผักใช้กินกับข้าวยำ ถัดกันเป็น เสม็ด มีเปลือกสีขาว ที่กิ่งและต้นประดับด้วยหนามแหลมและมีดอกสวยคือต้นหนามเค็ด ผลของมันใช้เป็นยาสระผม ถูตัวแทนสบู่ และใช้ซักผ้า ต้นสัก ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นกอในบางแห่ง ต้นวา (มังคุดป่า) ต้นหว้า กระดูกไก่ ชะมวง ชะเมา ก็มีอยู่มาก 
      ส่วนไม้เล็กไม้เลื้อยที่หมอรัชนีชอบมาดูนั้น ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของบังเฉม หรือถ้าจะรู้จักอยู่บ้างก็เรียกกันคนละชื่อ อย่างเช่น เจ้าเถาที่มีดอกสีเหลือง บังเฉมรู้จักในชื่อ สาวเล้า แต่คุณหมอเรียก บุหรง ที่กลีบดอกสีม่วงเกสรสีเหลืองมีทั้งชนิดดอกเล็กดอกใหญ่นั้น บังเฉมเรียก เหร แต่คุณหมอว่า โคลงเคลง และอีกหลากหลายสายพันธุ์ ดังนี้
(คลิกดูภาพใหญ่)       โทะ/กะพรวด
      ช้างน้าว/มิกกี้เมาส์
      เบี้ยแลน/นมตำเลีย
      ผักกูด/หางปลา
      อีแปะ/เกล็ดนาคราช
      ว่าว/กระแตไต่ไม้
      ว่าวป่า/เฟินหลังสวน
      ชิง/กะพ้อ
      เป็นต้น
      ไล่จากด้านหน้าทะเลลึกเข้าไปในแผ่นดิน นอกจากพืชพันธุ์จะมีความหลากหลายเป็นร้อยๆ ชนิด ยังผิดแผกแตกต่างกันอย่างมากในแง่ของรูปร่าง 
      พุ่มไม้แถบใกล้ฝั่งต้น-กิ่งจะหงิกงอ แคระเกร็น เอนลู่ คล้ายไม้ดัดแต่แลงดงามกว่า ลึกเข้าไปในระยะราวร้อยเมตรเมื่อเริ่มหมดอิทธิพลของแรงลม ไม้ชนิดเดียวกันจะยืนต้นเหยียดตรง เป็นไม้พุ่มกลาง ไม้เรือนยอดที่สง่างาม
      แถบลำรางด้านในเป็นไม้เรือนยอดสูงจำพวก ยางนา ตะเคียนทำเสา ไม้พุ่มกลาง ไม้พุ่มเตี้ย เป็นร้อยพันธุ์ จนถึงไม้ระดับล่างติดพื้นดินตระกูลเถาวัลย์ ไม้เลื้อย และกล้วยไม้ ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่าห้าชนิด 
      ดอกของแมกไม้เหล่านี้ มีรูปลักษณ์และสีสันแปลกตา กลิ่นหอม และลูกมีสีสวยสด หมุนเวียนกันผลิดอกออกผลตลอดทั้งปี
      นิอะ เป็นสาวมุสลิมบ้านในไร่โดยกำเนิด เธอคุ้นเคยกับต้นไม้ใบหญ้าทุกต้นในผืนป่าที่กำลังพาเราไปรู้จัก สำหรับเธอ ป่าสันทรายชายหาดคือความทรงจำอันแสนหวาน 
      ครั้งวัยเยาว์ ทุกคราวที่พ่อเข้าป่า เธอมักได้ติดสอยห้อยตามไปด้วยเสมอ การเรียนรู้เกิดขึ้นระหว่างก้าวที่เธอเดินตามหลังพ่อ 
      "ดูนกกำลังกินลูกไม้" พ่อชี้ไปที่พุ่มต้นตาเป็ดตาไก่ มีลูกสุกสีดำสีแดงสะพรั่งพุ่ม
      "หนูอยากกินบ้างได้ไหม ?" ลูกไม้ที่ไม่เคยรู้จัก จะเก็บกินสุ่มสี่สุ่มห้าเธอกลัวเมาคางเหลือง
      "นกกินได้ คนก็ต้องกินได้" 
      หลังคำรับรองของพ่อ เธอปราดเข้าไปเก็บลูกไม้ป่าใส่ปาก ใช้ฟันแทะล่อนกินเนื้อบางๆ แต่รสหวานซ่านลิ้น และยังเก็บใส่พกผ้าถุงมาด้วยเป็นกำๆ
      ตอนกลับออกมาจากป่า เธอยังสาวย่านจะกลาวติดมือกลับมาด้วย เอามาเล่นกระโดดเชือกกับเพื่อนในหมู่บ้าน
(คลิกดูภาพใหญ่)       การเดินเข้าป่าในวัยที่โตขึ้น เธอเริ่มเรียนรู้เรื่องสมุนไพร กระทั่งได้รู้จักสรรพคุณของพืชไม้ป่ามากมายหลายชนิด 
      ต้นสะตุ่ม-สับเอาหยดยางมาเป็นยาระบาย ยางอ่อน-ปาดปลายห้อยหัวลงเอาน้ำในต้นมากินแก้ท้องเสีย เช่นเดียวกับ ขี้หนอน-ที่ใช้ต้มเอาน้ำกินแก้ท้องร่วง มะราม-ใช้แก้โรคบิด หญ้าหนู-แก้ขัดเบา แก้มปลาหมอ-เก็บลูกมาสามผล ดำลงไปกลืนใต้น้ำ รักษาฝี หรือเอาต้นทั้งห้าส่วนมาต้มน้ำกินรักษานิ่ว พุดทุ่ง-ต้มกินแก้โรคของผู้หญิง สาวเล้าสาวหยุด-บำรุงเลือด ตาลส้าน-รักษาแผลพุพอง เถามะกล่ำตาหนู-ใช้พันศีรษะคนเป็นโรคตาแดงไม่ให้แมลงหวี่เข้ามานำเชื้อไปติดคนอื่น และใช้น้ำในถุง-หม้อข้าวหม้อแกงลิง หยอดตารักษาโรคตาแดง พุทราบ้าน-เอาใบมาทำน้ำอาบศพ 
      ส่วนต้นสะฆออันเป็นต้นกำเนิดของชื่อหมู่บ้านสะกอม เป็นต้นไม้สวยงามและสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้
      ห้วงยามและความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับผืนป่าสันทราย ยังเป็นความหลังที่น่าระลึกถึงอยู่เสมอ แม้จนบัดนี้และกระทั่งต่อไปในอนาคต เธอก็ยังคาดหวังอยากให้ป่าสันทรายชายหาดเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ และเป็นแหล่งถ่ายทอดภูมิปัญญาระหว่างคนแต่ละรุ่น 
      ช่วงก่อนถึงลำรางสุดท้าย เคยเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์มาก เพราะเป็นป่าดงดิบไม้ใหญ่หนาแน่น ชาวบ้านเรียกว่า ป่าแก่ นิอะเล่าว่า เมื่อก่อนนี้คนไม่คุ้นเคยเข้ามาแล้วจะหาทางออกกลับไม่ได้ เพราะพงไพรรกชัฏมาก แสงแดดแทบส่องไม่ถึงดิน
      แต่บัดนี้ไม่มีภาพนั้นเหลืออยู่อีกแล้ว 
      ป่าดงยางกลุ่มสุดท้ายที่หมอรัชนีเคยถ่ายภาพเอาไว้ก็ถูกโค่นแปรรูปเป็นไม้แผ่นเสียแล้ว พงป่าถูกไถออกอย่างเกลี้ยงเกลา เนินทรายถูกเกลี่ยจนเรียบกลายเป็นทุ่งโล่งๆ มีต้นมะม่วงหิมพานต์ยืนซีดเซียวอยู่ประปราย
      แดดโรยแสงอ่อน ดวงตะวันกำลังเดินทางกลับหมู่บ้านตะวันตก แต่เรายังเพลิดเพลินอยู่กับการสำรวจป่า
      ปัง -เพื่อนช่างภาพของผม เลือกเก็บภาพดอกไม้พรรณไม้อย่างบรรจง ทีละดอก ทีละต้น ทีละใบ ไม่เร่งร้อน...เรายังพอมีเวลาสำหรับงานนี้ เมื่อฟ้าค่ำลง เรายังกลับมาทำงานต่อได้ในวันรุ่งขึ้น
      แต่เวลาของป่าสันทรายชายหาดกำลังจะหมดสิ้นลง... โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย กำลังเลื้อยมาจากแหล่ง เจดีเอ กลางอ่าวไทย จะขึ้นฝั่งที่ชายหาดตลิ่งชัน !
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       "ท่อก๊าซ จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง" นิอะ หรือ อลิสา หมานหล๊ะ หญิงชาวประมงวัยกลางคน เชื่ออย่างนั้น
      เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นหลังจากเธอได้ศึกษาข้อมูลและเดินทางไปดู ของจริง มาแล้ว
      เธอไปเห็นมากับตาตัวเอง คนที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง อยู่กันไม่เป็นสุขอีกเลยนับตั้งแต่บ้านเมืองของเขากลายเป็นเขตอุตสาหกรรม
      ตอนนั้นอยู่ในช่วงปี ๒๕๔๐ นิอะและเพื่อนบ้านเริ่มรู้มาว่าตำบลตลิ่งชัน ถูกกำหนดให้เป็นจุดขึ้นบกของแนวท่อก๊าซ และจะมีโรงแยกก๊าซกินพื้นที่ไปถึงตำบลสะกอม ขณะนั้นชาวบ้านทุกคนยังไม่รู้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับโครงการ แต่รู้ว่าที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง มีโครงการลักษณะเดียวกันตั้งอยู่ ชาวจะนะจึงชวนกันไปดู...
      คนท้องถิ่นดั้งเดิมส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่ที่อื่นนานแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปโดยสิ้นเชิง อาชีพประมงสูญสลาย ปลูกต้นไม้และพืชผักกินเองไม่ได้อีกแล้ว บ่อน้ำปนเปื้อนพิษโลหะหนัก แม้แต่น้ำฝนก็ใช้กิน-อาบไม่ได้ ดอกไม้ใบไม้ที่โดนน้ำฝนเหี่ยวเฉาเป็นสีไหม้ อากาศเน่าเหม็นเป็นพิษ ผลการศึกษาของนักวิชาการพบว่า อากาศที่มาบตาพุดมีสารก่อมะเร็งถึง ๒๑ ชนิด มีคนเป็นโรคร้ายกันมาก ครูและนักเรียนเป็นพันๆ คน ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะมลพิษทางอากาศ กระทั่งโรงเรียนต้องย้ายออกจากพื้นที่ สถานเริงรมย์มาตั้งอยู่ต่อรั้วกับวัด ชุมชนที่เคยสุขสงบพลุกพล่านแออัดด้วยแรงงานอพยพ
      ทุกวันนี้ชาวมุสลิมริมฝั่งทะเลจะนะ มีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องการเปลี่ยนชีวิตไปสู่วิถีอุตสาหกรรม และไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์อันขมขื่นมาซ้ำรอยที่บ้านเกิดเมืองนอนของเขา
(คลิกดูภาพใหญ่)       ถ้าศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงรายละเอียดของโครงการในทุกมิติ จะพบว่าความวิตกกังวลของนิอะและชาวบ้านจะนะ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผลหรือเป็นความตระหนกตกตื่นที่เกินกว่าเหตุ
      โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการใหญ่ยักษ์ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นถึง ๔๓,๐๐๐ ล้านบาท 
      ข้อมูลจากเอกสารประชาสัมพันธ์ ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๔๒ ระบุว่า การก่อสร้างโครงการท่อส่งและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย จะประกอบด้วย 
      ท่อส่งก๊าซจากแหล่ง เจดีเอ (JDA : Malaysia-Thailand Joint Development Area) หรือ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย กลางอ่าวไทย ทอดมากลางทะเลระยะ ๒๕๕ กิโลเมตร มาขึ้นฝั่งที่ตำบลตลิ่งชัน ซึ่งมีโรงแยกก๊าซขนาด ๔๒๕ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งอยู่ จากโรงก๊าซแยกจะมีการสร้างท่อส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ไปยังสถานีบรรจุก๊าซทางรถไฟ และท่อส่งก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ไปยังทุ่นลอยในทะเล และท่อส่งก๊าซ LPG ผ่านอำเภอจะนะ เลียบทางหลวงหมายเลข ๔๓ ไปทางอำเภอนาหม่อม อำเภอหาดใหญ่ แล้วลอดไปใต้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สู่อำเภอสะเดา รวมระยะทาง ๘๕ กิโลเมตร เพื่อส่งก๊าซให้กับโรงรับก๊าซของประเทศมาเลเซีย ที่อยู่ห่างจากชายแดนเข้าไป ๘ กิโลเมตร
      ภาพลักษณ์ของก๊าซธรรมชาติในความเข้าใจของคนทั่วไป คือพลังงานที่สะอาด แต่ในข้อมูลของโครงการระบุชัดเจนว่า กระบวนการแยกก๊าซจะปล่อยสารพิษหลายชนิดออกสู่บรรยากาศ ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน สารปรอท รวมทั้งน้ำทิ้งจากโรงแยกก๊าซจะมีการปล่อยลงสู่ลำรางสาธารณะ 
      ทะเลที่เคยเป็นแหล่งทำมาหากินของคนในหมู่บ้านจะกลายเป็นเขตห้ามทำการประมงตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ ชุมชนท้องถิ่นจะกลายเป็นเมืองที่แออัด มีการขยายตัวของภาคธุรกิจ ค่าครองชีพสูงขึ้น และเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เชื้อเพลิงเข้มข้นจำพวก เซรามิก ปูนซีเมนต์ ยิปซัม อุตสาหกรรมยางพารา การแปรรูปอาหารทะเล
(คลิกดูภาพใหญ่)       ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ไม่ใช่การคาดการณ์อย่างวิตกจริต แต่มีหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ในการศึกษาผลกระทบโดยเจ้าของโครงการ
      เอกสารฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่า "ก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมจะมีส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ดังนั้นทางคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงให้มีการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจปินัง-สงขลา โดยใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย"
      ผลกระทบของโครงการจึงไม่จำกัดอยู่แค่ในตำบลที่ตั้งโครงการ แต่จะต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ห้า จังหวัดภาคใต้ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส 
      สงขลาจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม พื้นที่หมื่นกว่าไร่บริเวณบ้านไร่ ริมถนนหาดใหญ่-สะเดา ถูกกำหนดเอาไว้เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยสภาพภูมิศาสตร์บริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำอู่ตะเภา และอยู่ทางต้นน้ำของเมืองหาดใหญ่ น้ำเสียวันละ ๘๐,๐๐๐ กว่าลูกบาศก์เมตรจากโรงงานอุตสาหกรรม จะไหลลงคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นลำคลองที่ใช้ทำน้ำประปาให้คนหาดใหญ่ สะเดา นาหม่อม สิงหนคร และอำเภอเมือง ดื่ม-ใช้
      แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนจะมีแต่คนท้องถิ่นแถบชายทะเลเท่านั้น ที่เดือดเนื้อร้อนใจต่อมหันตภัยที่คืบคลานใกล้เข้ามา-- ขณะที่คนในเมืองหาดใหญ่ "ยังนอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น" หมออนันต์ ฉายสภาพการณ์ที่เป็นอยู่จริงอย่างตรงไปตรงมา
      พร้อมกับยิงคำถามพุ่งตรงทิ่มแทงหัวใจเพื่อนร่วมบ้านเมือง "ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีปลาจากทะเล ไม่มีน้ำประปาไหลมาตามท่อ เราจะอยู่อย่างไรกัน?"
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑
      ณ หอประชุมติณสูลานนท์ ริมทะเลสาบสงขลา มีพิธีลงนามข้อตกลงหลักการซื้อขายก๊าซจากแหล่งเจดีเอ ระหว่าง ปตท. และเปโตรนาส ผู้รับซื้อ กับกลุ่มผู้ขายคือ องค์กรร่วม เปโตรนาส การิกาลี ไตรตันออยล์ และ ปตท.สผ. โดยมีนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย และนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน ท่ามกลางการทักท้วงของวิชาการ ชาวบ้าน นักศึกษา เอ็นจีโอ ฯลฯ เนื่องจากยังไม่ได้จัดประชาพิจารณ์ และยังไม่ได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
      การเซ็นสัญญาในวันนั้น นับเป็นการตั้งต้นอย่างเป็นทางการของอภิมหาโครงการร่วมระหว่างประเทศ 
      วันที่ ๓๐ ตุลาคม ปีถัดมา มีการเซ็นสัญญาสำคัญอีก ๔ ฉบับ รวมทั้งการรับเงื่อนไข Take or Pay หรือ ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย
      ระหว่างนั้นการปะทะระหว่างอำนาจรัฐกับชาวบ้านก็อุบัติขึ้นและดำเนินสืบเนื่องมา นับตั้งแต่การคุกคามข่มขู่ จับกุม กดดันทางจิตวิทยา ทำร้ายร่างกาย บางคราวรุนแรงถึงขั้นหลั่งเลือดและน้ำตา ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการก็ดำเนินไปเป็นลำดับ--
      ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๔ คณะกรรมการตรวจสอบประชาพิจารณ์ เซ็นอนุมัติรายงานการประชาพิจารณ์ ที่ใช้เวลาทำเพียง ๒๕ นาที
(คลิกดูภาพใหญ่)       เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) รับรองให้อีไอเอผ่านทางด้านเทคนิค ขณะที่คณะผู้ชำนาญการพิจารณาอีไอเอยืนยันว่า อีไอเอของโครงการนี้ยังไม่ผ่านการเห็นชอบด้านสังคม ตามกฎหมายจึงต้องถือว่า ยังไม่ผ่าน!
      ผ่านยุคนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย มาสู่สมัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ท่าทีของนายกฯ คนใหม่ผู้มากับนโยบาย คิดใหม่ทำใหม่ ยังคงอยู่ในแนวทางเดิมอย่างคงเส้นคงวา 
      ในที่สุด เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ นายกรัฐมนตรีทักษิณได้มีมติเด็ดขาดครั้งสุดท้าย
      ให้ดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียต่อไป
      อีกไม่นานหลังจากนี้... 
      ไม่ว่าในดวงตาของนก ในความคำนึงของผมและเพื่อนช่างภาพ ในหัวใจของหมอรัชนี-หมออนันต์ และใครทุกคนที่เคยได้เยือนยลป่าสันทรายชายหาด...จะเหลือแต่ความทรงจำอันแสนเศร้า
      แต่สำหรับนิอะ และผู้คนของแผ่นดินจะนะ คงไม่มีอะไรเหลือเลย
      ก็อย่างที่เธอรู้...ท่อก๊าซจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง
 

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ
โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย

(คลิกดูภาพใหญ่)       ๑. พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ เจดีเอ เป็นพื้นที่เหลื่อมล้ำบริเวณไหล่ทวีปในอ่าวไทย มีการสำรวจพบปริมาณก๊าซสำรองราว ๑๐ ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต บนเนื้อที่ ๗,๒๕๐ ตารางกิโลเมตร
      ๒. ตามพิกัดในแนวราบบนแผนที่ ส่วนบนสุดของเจดีเอ ตรงกับอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนล่างสุดตรงกับอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี นักวิชาการของไทยจึงเห็นว่ากรรมสิทธิ์ในพื้นที่เจดีเอน่าจะเป็นของไทยมากกว่า หรือหากต้องมีการแบ่งสรรทรัพยากรเพื่อยุติข้อขัดแย้ง ไทยก็น่าจะได้รับประโยชน์ในสัดส่วน ๗๐ : ๓๐ แต่มาเลเซียอ้างหลักเกณฑ์ว่า จุดศูนย์กลางของพื้นที่เจดีเออยู่ห่างจากจังหวัดนราธิวาส ๑๕๐ กิโลเมตร และห่างจากเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ๑๕๐ กิโลเมตร จึงควรมีการแบ่งกรรมสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
      ๓. ในปี ๒๕๒๒ รัฐบาลไทยและมาเลเซีย ลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ ปี ๒๕๓๓ รัฐบาลทั้งสองประเทศจัดตั้งองค์กรร่วม ไทย-มาเลเซีย ปี ๒๕๔๐ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และเปโตรนาสของมาเลเซีย ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นในการซื้อขายก๊าซ ฝ่ายละ ๕๐:๕๐ และรัฐบาลของทั้งสองประเทศเห็นชอบในการซื้อขายก๊าซและหลักการร่วมทุน จึงมีพิธีลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑
      ๔. ตามแผนแม่บทเดิม ปตท. จะรับก๊าซจากแหล่งเจดีเอ เข้าระบบท่อส่งก๊าซสายประธานของ ปตท. เพื่อส่งก๊าซไปใช้ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และทางฝ่ายมาเลเซียก็ลากท่อผ่านทะเลไปเข้าประเทศโดยตรง แต่เส้นทางของแนวท่อถูกเปลี่ยนมาขึ้นที่จังหวัดสงขลา หลังจากสภาพัฒน์ฯ วางแผนจะสร้างเขตอุตสาหกรรมใน ๕ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงเข้มข้น เพื่อใช้ก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย
(คลิกดูภาพใหญ่)       ๕. หลังโครงการถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ รัฐบาลและ ปตท. ประกาศแก่สาธารณชนว่า จะไม่มีการสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หากไม่ตั้งเขตอุตสาหกรรมจะนำก๊าซปริมาณมหาศาลขึ้นมาทำไม และในเมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้ การที่ ปตท. ไปร่วมลงทุนกับเปโตรนาส ๕๐:๕๐ ก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างท่อส่งก๊าซไปให้ประเทศมาเลเซีย และยังผลักภาระของเสียและมลภาวะจากโรงแยกก๊าซให้แก่จังหวัดสงขลา
      ๖. ก๊าซที่นำขึ้นฝั่งที่อำเภอจะนะ ส่วนใหญ่ส่งให้มาเลเซียใช้ ไทยจะได้ใช้ก๊าซไม่เกิน ๑๒ เปอร์เซ็นต์ เพราะในส่วนของประเทศไทยยังคงมีการต่อท่อขึ้นเหนือเป็นระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร ไปเชื่อมกับระบบท่อของ ปตท. ที่มีอยู่แล้วเพื่อส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าขนอมและเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด ฉะนั้นแม้ว่าจะไม่มีการวางท่อขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลา ประเทศไทยก็ยังได้ใช้ก๊าซจากแหล่งเจดีเอตามกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่
      ๗. สัญญาขุดเจาะที่ทำกับมาเลเซีย สร้างความเสียหายแก่ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (สผ.) อย่างมาก เปรียบเทียบแล้ว บริษัทปิโตรนาสของมาเลเซียได้กำไร ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ปตท.สผ. ได้เพียง ๓.๙ เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมในการขุดเจาะแปลงที่มีปริมาณก๊าซมาก จึงไม่ได้รับส่วนแบ่งกำไร
      ๘. ในแง่ของการแบ่งผลประโยชน์ ตามที่ระบุในสัญญาจะแบ่งเท่ากัน ๕๐:๕๐ แต่ในความเป็นจริง (คำนวนจากการแบ่งผลประโยชน์ แปลง A-๑๘ ซึ่งมีก๊าซถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณทั้งหมด) ประเทศไทยได้ประโยชน์ไม่เกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ จากค่าภาคหลวง ๕ เปอร์เซ็นต์ และส่วนแบ่งของ ปตท. ราว ๑๕ เปอร์เซ็นต์ (อีก ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นของบริษัทขุดเจาะไตรตัลออยล์ ของอเมริกา) ส่วนทางมาเลเซียได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม เพราะมีบริษัทเข้าร่วมขุดเจาะด้วย
      ๙. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความคุ้มทุนของโครงการว่า ในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้า ไทยยังไม่อยู่ในภาวะที่จะใช้ประโยชน์จากก๊าซแหล่งเจดีเอมากนัก ขณะที่มาเลเซียจะได้ใช้อย่างเต็มที่ ในแง่ของผลตอบแทนตลอดอายุโครงการจะเท่ากับ ๑.๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มกับการร่วมลงทุนถึง ๒ หมื่นกว่าล้านบาท รวมทั้งก๊าซที่ปากหลุมมีราคาแพงกว่าแหล่งอื่นในอ่าวไทย ราคาปลายทางที่ผู้ใช้ต้องจ่ายจะยิ่งสูงขึ้น 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ๑๐. การดำเนินโครงการที่ผ่านมาละเมิดรัฐธรรมนูญ การเซ็นสัญญาร่วมทุนและซื้อขายก๊าซ เกิดขึ้นโดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนและไม่เปิดให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม การจัดประชาพิจารณ์ทั้งสองครั้งกีดกันไม่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยเข้าร่วม และใช้เวลาทำเพียง ๒๕ นาที รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการ ที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) รับรองให้ผ่าน ก็ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดอำนาจและกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และผิดกฎหมายปกครอง
      ๑๑. กรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ เคยลงพื้นที่ศึกษาปัญหาและข้อมูลของโครงการ ทั้งสององค์กรมีข้อเสนอแนะในแนวทางเดียวกัน ให้ระงับและทบทวนโครงการใหม่ รวมทั้งทบทวนแผนแม่บทในการพัฒนาภาคใต้ทั้งฉบับ
      ๑๒. ผลการศึกษาของคณะนักวิชาการ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล ก็เสนอให้ยุติและทบทวนโครงการ และต่อมานักวิชาการ ๑,๓๘๔ คน จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและต่างประเทศ ได้รวมกันครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ ลงรายชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงที่ยังไม่กระจ่างแจ้งต่อสังคม ก่อนจะดำเนินโครงการ
      ๑๓. ทุกวันนี้ ปริมาณก๊าซสำรองของประเทศมีอยู่เกินความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยต้องจ่ายค่าปรับ Take or Pay ให้พม่าไปแล้วกว่า ๔ หมื่นล้านบาท และยังต้องจ่ายอยู่ทุกวัน เดือนละกว่า ๖๘๐ ล้านบาท เป็นเวลาราว ๔๐-๕๐ ปี ในกรณีของก๊าซจากแหล่งเจดีเอ หากไทยไม่สามารถรับก๊าซมาใช้ได้ตามสัญญา จะต้องจ่ายค่า ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ให้มาเลเซีย เดือนละราว ๑,๒๐๐ ล้านบาท ทั้งหมดเป็นต้นทุนที่จะถูกนำมารวมอยู่ในค่าเอฟที ซึ่งประชาชนทุกคนต้องร่วมแบกรับ
      ๑๔. พื้นที่ตั้งโครงการ เป็นแนวชายฝั่งที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ คนท้องถิ่นมีวิถีชีวิตในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง มีเรือประมงพื้นบ้านกว่า ๓,๐๐๐ ลำ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ผลจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจังหวัดสงขลา พบว่า ร้อยละ ๘๐ เชื่อว่าโครงการนี้จะมีผลกระทบด้านลบต่อชีวิต ร้อยละ ๕๙ ต้องการให้ยุติโครงการ และร้อยละ ๘๘.๙ มีความพอใจกับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่