|
|
จักรพันธุ์ กังวาฬ : รายงาน / วิจิตร แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ
|
|
|
|
|
|
|
|
"สมัยก่อนที่เข้าป่า พวกเราคลั่งนักหนาของฝรั่ง เป้ก็ต้องของฝรั่ง มีดต้องสวิสฯ อะไรก็ฝรั่งหมด ทั้งที่ไปเดินป่าไทย วันหนึ่งเราเห็นฝรั่งแบกเปลไทยบ้าง ก็รู้สึกสะใจดี"
เป็นคำกล่าวของ วัชระ หลิ่วพงศ์สวัสดิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ Siam Hammock เปลอเนกประสงค์จากความคิดคนไทย ที่เวลานี้นักเดินทางต่างชาติหลายประเทศให้การยอมรับ
หลายคนอาจรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อชายผู้มากด้วยประสบการณ์ และมีหลายบทบาทผู้นี้ เขาเป็นเจ้าของ ตำมิละเกสต์เฮาส์ เรือนพักริมแม่น้ำโขง อ. เชียงของ จ. เชียงราย ที่แขกเข้าพักไม่ว่างเว้นมากว่า ๑๐ ปี วัชระหรือพี่วัชของเพื่อนรุ่นน้องยังเป็นนักเดินป่า และนักปั่นจักรยาน ผู้ควบจักรยานเสือภูเขาคู่ชีพบุกบั่นเส้นทางต่าง ๆ มานับไม่ถ้วน ทั้งเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีส่วนร่วมอยู่ในกิจกรรมอนุรักษ์ปลาบึกที่ อ. เชียงของ ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ส่วนผู้อ่านนิตยสารแนวผจญภัยเช่น Nature Explorer คงเคยผ่านตาสารคดีเกี่ยวกับการปั่นจักรยานของวัชระมาแล้ว ล่าสุดเขามีผลงานรวมเล่ม คนขี่เสือ เล่าประสบการณ์ขี่จักรยานเสือภูเขาจากไทย ผ่านลาว สู่ประเทศจีน มาประดับแผงหนังสืออีกด้วย
และเมื่อวัชระหันมาเป็นผู้ผลิต Siam Hammock ผลิตภัณฑ์เปลอเนกประสงค์ชิ้นนี้ จึงมีส่วนสะท้อนตัวตนและบทบาทหลากหลายของคนต้นคิดได้ไม่มากก็น้อย
เปลอเนกประสงค์ Siam Hammock มีจุดเริ่มต้นและได้รับการพัฒนามาเกือบ ๒๐ ปี ดังที่วัชระเล่าให้เราฟังว่า
|
|
|
|
"เริ่มต้นจากพวกเราชอบไปเที่ยวป่าในสมัยเป็นนักศึกษา ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๒๑ ไปอยู่ตามอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อยู่กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สมัยก่อนพวกเราแบกเป้ แบกเต็นท์ลูกใหญ่ ๆ กางเต็นท์นอน แต่สังเกตว่าพวกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาไม่กางเต็นท์ เขาผูกเปลนอนกัน เพราะเปลมันเบา คล่องตัวกว่า แล้วในป่าส่วนใหญ่ฝนตก ชื้น หาพื้นที่กางเต็นท์ยาก แต่ปัญหาของเปลก็คือ ต้องสุมไฟไล่ยุงบ้าง หรือบางทีเจ้าหน้าที่เขาเอามุ้งมาคลุมโปงบ้าง ประมาณปี ๒๕๒๖ ผมกับเพื่อน ๆ เริ่มเกิดความคิดกันว่า เปลกับมุ้งน่าจะเอามารวมกันได้ ใช้เวลา ๖ เดือนออกแบบและตัดเย็บ ตัวแรกที่ออกมาเป็นเปลมุ้งที่ยังไม่มีโครง เวลาจะนอนต้องกางเปล หาจุดผูก แต่มีปัญหาว่าเวลาฝนตก น้ำจะไหลตามเชือกผูกมุ้งมาลงเปล เปียกจนนอนไม่ได้"
ปัญหาดังกล่าวคาใจวัชระเป็นเวลาเกือบสองปี กระทั่งได้คุยกับเพื่อนที่เดินป่าด้วยกัน จึงเกิดความคิดนำไม้ดัดโค้งมาสอดเป็นโครงมุ้ง เวลาผูกเปลจึงไม่ต้องใช้เชือกผูกมุ้งอีกต่อไป น้ำหนักคนนอนจะกดให้โครงดันมุ้งให้ตึงขึ้น เวลาต่อมาทั้งเพื่อนฝูงทั้งแขกที่มาพักเกสต์เฮาส์ตำมิละได้ช่วยกระตุ้น และเสนอความคิด จุดประกายให้วัชระคิดค้น ปรับปรุงเปลมุ้งหลายครั้ง กระทั่งกลายเป็นเปลอเนกประสงค์รุ่นปัจจุบัน
"ตอนแรกเปลนี้ยังกางบนพื้นไม่ได้ ฝรั่งเยอรมันคนหนึ่งบอกว่า ถ้าเปลแขวนแบบนี้กางบนพื้นได้ เขาจะซื้อ เราก็ทำจนกางได้" วัชระกล่าว
Siam Hammock รุ่นปัจจุบันเมื่อพับเก็บแล้วมีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักรวม ๑.๓๕ กิโลกรัม และผ้ากันฝนน้ำหนัก ๐.๔๕ กิโลกรัม ซึ่งออกแบบให้ใช้เป็นเสื้อกันฝนได้ (Rainsheet-poncho) พร้อมอุปกรณ์ประกอบคือก้านพลาสติกยืดหยุ่น ๘ ท่อนสำหรับต่อเป็นแกนมุ้ง หรือประยุกต์ใช้งานอื่น ๆ, ผ้าพลาสติกรองนอน, ตัวเปลทำจากผ้าไนลอนระบายอากาศ เย็บติดกับตัวมุ้งที่ทำจากโพลีเอสเตอร์ซึ่งมีความเหนียว ทนทาน แต่ลมผ่านสะดวก
|
|
|
|
ที่ถูกเรียกว่าเปลอเนกประสงค์ ก็เพราะ Siam Hammock สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบเปลนอนธรรมดา โดยผูกเปลกับต้นไม้หรือเสา หรือแบบเปลกางมุ้งทรงกระสวย หรือใช้ผูกเป็นมุ้งสี่เหลี่ยมกันยุงในห้องหรือบนเตียงก็ได้ ทั้งยังสามารถประยุกต์กางบนพื้นแบบเต็นท์ ทั้งแบบเต็นท์สามเหลี่ยม หรือเต็นท์ถ้ำ (ดูภาพประกอบ) แต่ทั้งนี้ผู้ใช้ต้องหาหรือตัดไม้ในบริเวณใกล้เคียง เช่นกิ่งไผ่หรือกิ่งไม้อื่น ๆ มาใช้ประกอบ
"สามารถกางได้ไม่รู้กี่แบบ ในโบรชัวร์อธิบายการใช้งานเรายังเขียนเลยนะ ว่าเปลนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานของคุณเอง คุณต้องไปค้นคิดเอง เราเพียงแต่สร้างโพรงข้างในให้คุณนอน" วัชระกล่าว "ผมเคยทดสอบ นอนมาแล้วทุกที่ ไม่ว่ากางบนพื้นซีเมนต์ หาดทราย สถานีรถไฟ หรือผูกนอนในศาลา"
วัชระกล่าวว่า เปล Siam Hammock มีเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน ทั้งระบบที่ใช้น้ำหนักตัวผู้นอนเป็นแรงดันก้านพลาสติกให้ยกผ้ามุ้งขึ้น โดยไม่ต้องผูกมุ้ง และการเป็นเปลผูกที่สามารถกางเป็นเต็นท์บนพื้นได้
"เราลองเปิดเว็บไซต์ว่าด้วยเปลทั่วโลก ก็ไม่พบที่มีลักษณะเหมือน Siam Hammock เคยเห็นที่ใกล้เคียงคือเปลของอเมริกา เป็นเปลมุ้งผูกกับต้นไม้ แต่เอาลงพื้นไม่ได้ เปลไทยอันนี้กินใจฝรั่งตรงที่มันลงพื้นและอยู่บนอากาศได้"
เปลอเนกประสงค์ของวัชระไม่ได้วางขายตามร้านทั่วไป แต่จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.siamhammock.com มีลูกค้าทั้งชาวไทย และต่างประเทศที่สั่งเข้ามา เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ญี่ปุ่น แคนาดา
วัชระได้นำเปล Siam Hammock ไปจดสิทธิบัตรกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้อนุสิทธิบัตรไทยเลขที่ ๐๔๖/๒๕๔๓ เรียบร้อยแล้ว ทว่าสิทธิบัตรให้ความคุ้มครองเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
"สิทธิบัตรไทยครอบคลุมเฉพาะเมืองไทย
ฉะนั้นต่างประเทศ
สามารถทำเลียนแบบเราได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ถ้าคุณต้องการสิทธิบัตรต่างประเทศ คุณต้องเอาผลิตภัณฑ์ไปจดที่ประเทศนั้น ทีละประเทศ หรือเป็นกลุ่มประเทศ เช่นกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งค่าธรรมเนียมแพงกว่าบ้านเรามาก ฉะนั้นการจดสิทธิบัตรต่างประเทศจึงเป็นเรื่องยาก ผมเคยอีเมลไปหากรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่าจริงๆ ผมส่งสินค้าออก เสียภาษีอยู่แล้ว คุณจะเก็บภาษีเพิ่มก็ไม่ว่า ถ้าปัญญาไทยจะได้ไปต่างแดน หรือมีสิทธิบัตรต่างแดน เขาน่าจะช่วยเราดำเนินการได้ คือส่งเราให้ถึงฝั่งไปเลย"
|
|
|
|
"ยังเคยมีฝรั่งมาขู่เราเลยว่า ถ้าเราไม่ทำสัญญาส่งสินค้ากับเขา เขาก็จะก๊อบปี้เปลของเรา"
ปัจจุบันวัชระเปิดโรงงานเล็ก ๆ เพื่อผลิตเปลอยู่ที่ อ. เชียงของ อีกเรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ คนงานส่วนหนึ่งของโรงงานนี้ คือส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ของ อ. เชียงของ ซึ่งวัชระจ้างงานเพื่อให้พวกเขามีรายได้จุนเจือตนเอง
"ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่มีฝีมือ เย็บผ้าได้ แต่บางคนก็มาฝึกเอา" วัชระกล่าว "จริง ๆ ผมอยากยกย่องพวกเขา มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ผมยังคิดอยู่ทุกวันนี้ คือเวลาคนรู้ว่าต้องไปแล้ว งานของเขาจะละเมียด ละเอียด มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาเอางานที่ทำผิดมาให้ผมดู ผมให้ผ่าน แต่เขาบอกไม่ได้ เถียงผมซึ่งเป็นเจ้านาย เขาคงเต็มที่กับงาน คือเขารู้อยู่แล้วว่าต้องไป เขารู้ว่านี่เป็นงานที่จะฝากฝีมือได้
"ผมยังคิดเลยว่า อยากมอบสิทธิบัตรงานชิ้นนี้ให้องค์กรการกุศลประเทศต่าง ๆ เช่นประเทศอินเดียมีคนติดเอดส์จำนวนมาก เราก็ให้พวกเขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เปลนี้ในประเทศอินเดีย เป็นผู้ผลิตแล้วก็มีรายได้ มีกองทุนที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ผมว่ามันก็น่าจะดี เป็นประโยชน์กับสาธารณะ คือถ้าองค์กรการกุศลติดต่อเข้ามาผมก็จะให้
"ผมเคยนำความคิดนี้ไปปรึกษาคนอื่น แต่มีบางคนบอกว่าผมจะหาชื่อเสียงจากคนติดเชื้อบ้าง หาชื่อเสียงจากความยากไร้ของคนบ้าง หรือหาทางเพิ่มคุณค่าสินค้าจากโรคภัยของคนอื่น ผมไม่เคยคิดว่าเราเป็นคนสำคัญ คิดว่าให้เราพออยู่ พอกิน มีเพื่อนฝูง มีพี่น้อง งานเปลนี่ไม่ใช่งานที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นงานหนึ่งที่เราผ่านทางมา พอเก็บไปคิดได้ แล้วมันพอเป็นเงินเป็นทองขึ้นมายาไส้คนในแวดวงพวกเรา หรือคนที่ลำบาก"
แม้ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เปล Siam Hammock จะประสบความสำเร็จในระดับน่าพอใจ แต่วัชระยืนยันว่า เขายังคงมีความฝันและความตั้งใจอยากจะทำสิ่งอื่นอีกมาก ไม่ว่าเรื่องเส้นทางจักรยาน หรือกิจกรรมเพื่อชุมชน เพราะเขาอยากเห็นสังคมที่ดี
|
|