นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ "คลุกวงใน นักเลงพลอยไทย แทนซาเนีย"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
เพาะปลาการ์ตูน ความสำเร็จ ของนักวิจัยไทย

     ภัยธรรมชาติจากคลื่นความร้อนที่พัดผ่านทวีปยุโรปตะวันตก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงที่สุดกับชีวิตและทรัพย์สินในรอบ ๑๕๐ ปี
     ผู้คนร้อนตายหมื่นกว่าคน ไม่นับรวมไก่ที่ตายยกเล้าไป ๒ ล้านกว่าตัว คงไม่ใช่เรื่องปรกติแน่นอน
     มีบทเรียนหลายประการจากเหตุการณ์ครั้งนี้ที่ควรบันทึกเอาไว้
     ฤดูกาลของทวีปยุโรปในช่วงเวลานั้นคือฤดูร้อน โดยปรกติจะมีอุณหภูมิประมาณ ๒๐-๒๕ องศาเซลเซียส ซึ่งสำหรับคนเอเชียถือว่าเป็นอากาศเย็นสบาย
     แต่มาปีนี้ยุโรปต้องเผชิญกับความร้อนอบอ้าวระดับ ๓๙-๔๐ องศาเซลเซียส จนทำให้เฉพาะที่ฝรั่งเศสมีคนตายประมาณ ๑ หมื่นรายในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์ และครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส
     กรุงปารีสที่คนฝรั่งเศสภูมิใจนักหนาว่า มีการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก
     ช่วงเวลานั้นเป็นซัมเมอร์ของชาวยุโรป คนหนุ่มสาวมักลาพักร้อนไปท่องเที่ยวติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ ปล่อยให้คนแก่อยู่บ้าน พอความร้อนจัดปกคลุมยุโรป คนแก่ที่อยู่บ้านหรืออพาร์ตเมนต์ตามลำพัง จึงเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด
     โดยทั่วไปคนยุโรปมักไม่ค่อยติดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมตามบ้านและอาคาร เพราะอากาศเย็นอยู่แล้ว ดังนั้นเวลาเกิดอากาศร้อนจัดติดต่อกันนาน ๆ คนที่ไม่สามารถปรับตัวกับอากาศร้อนจัดได้ก็จะล้มมป่วย บางรายถึงขนาดเม็ดเลือดแตก สมองบวม เป็นเหตุให้เสียชีวิต
     บางคนแม้จะถูกนำส่งโรงพยาบาลทันท่วงที แต่โรงพยาบาลกลับขาดแคลนบุคลากร ด้วยคุณหมอและพยาบาลพร้อมใจกันลาพักร้อนประจำปี และโรงพยาบาลก็ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพราะไม่ต้องการให้คนไข้ติดเชื้อทางลมหายใจ
     คนป่วยจำนวนมากจึงตายคาโรงพยาบาล ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสถูกตำหนิอย่างรุนแรง ที่ไม่รู้จักเตรียมการป้องกันล่วงหน้า

       อันที่จริงเคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๕๓๘ เมื่อคลื่นความร้อนได้แผ่คลุมมหานครแห่งนี้เป็นเวลาสองสัปดาห์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๗๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ เด็ก และคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
     หลังจากนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา จึงเตรียมการป้องกันอย่างเต็มที่ มีการเฝ้าระวังสภาพอากาศเป็นพิเศษ มีการฝึกอบรมอาสาสมัคร ออกมาตรการฉุกเฉินหลายอย่างเพื่อรับมือกับคลื่นความร้อน อาทิ ประกาศให้ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ที่มีเครื่องปรับอากาศ เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน
     ในปี ๒๕๔๒ คลื่นความร้อนได้แผ่คลุมสหรัฐฯ อีกครั้ง ด้วยระดับอุณหภูมิสูงพอ ๆ กับในฝรั่งเศส คือ ๓๙-๔๐ องศาเซลเซียส
     หน่วยกู้ภัยและอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี ก็ตระเวนพาคนแก่ เด็กที่อยู่บ้านคนเดียว คนยากจน คนไร้ที่อยู่อาศัย ให้อพยพไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีอากาศเย็นสบาย รอจนกระทั่งคลื่นความร้อนผ่านพ้นไป จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้
     ขณะที่ในฝรั่งเศสมีผู้เสียชีวิตไปหมื่นกว่าคน ในสหรัฐฯ มีคนตายเพียงร้อยกว่าคน เพราะมีการเตรียมการที่ดีและต่อเนื่อง
     เมื่อปีที่ผ่านมา คลื่นความร้อนได้แผ่ปกคลุมอินเดียตอนใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๖๐๐ ราย จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่าสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย หรือแม้ประเทศไทย ก็ไม่อาจหนีจากหายนะนี้ได้
     ไม่แน่นักในอนาคต เราอาจเห็นคนชรา หรือขอทาน ถูกย้ายขึ้นห้างเอ็มโพเรียม เมื่อคลื่นความร้อนมาเยือนสุขุมวิท
     ก่อนจบมีรายงานว่า คลื่นความร้อนที่ปกคลุมอินเดียครั้งนั้น ได้ทำให้นกปากห่างนับแสนตัวบินหนีร้อนมาพึ่งเย็นบริเวณภาคกลางของเมืองไทย แถวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง
     ปรากฏว่านกปากห่างที่เป็นนกอพยพและโดยธรรมชาติต้องบินกลับอินเดีย มาปีนี้ไม่ยอมกลับ และปักหลักสร้างรังในเมืองไทย แม้จะปลอดภัยจากความร้อน แต่ก็ถูกบรรดานักแม่นปืน "สอย" เป็นใบไม้ร่วง
อุตส่าห์หนีร้อนมาพึ่งเย็นแท้ ๆ กลับต้องหนีเสือปะจระเข้เสียนี่
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com