นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ "คลุกวงใน นักเลงพลอยไทย แทนซาเนีย"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ

  เรื่อง : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง 
(คลิกดูภาพใหญ่)       โรงเรียนปอเนาะสมัยนี้ บางแห่งมีนักเรียนเป็นพัน ๆ คน
      มองจากข้างหลัง ดูไม่ออกว่าคนไหนเป็นใคร...เด็กชายทุกคนมี "ซอเกาะห์" อยู่บนศีรษะ สวมเสื้อแขนสั้นสีขาว กางเกงและรองเท้าสีดำ ส่วนเด็กผู้หญิงสวมรองเท้าสีขาว กระโปรงสีเขียวเข้มยาวกรอมตาตุ่ม เสื้อสีขาวแขนยาว ศีรษะคลุม "ฮิญาบ" มิดชิดยาวลงมาถึงกลางลำตัว เปิดเพียงใบหน้าให้เห็นว่าคนไหนเป็นใคร
      ชุดเครื่องแต่งกายที่แปลกแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ กลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วไปที่ได้พบเห็น แต่ถ้าจะกล่าวกันอย่างจริงจัง--ภายใต้ชุดเสื้อผ้าที่แลดูสะดุดตานั้น ยังมีแง่มุมเรื่องราวของความจริง ความงาม และความดี อันลึกซึ้งกว่าที่ดวงตามองเห็น...
 

อุดลูอิลมัน มีนัลมะห์ดี อีลัลละห์ดี 

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ปอเนาะสมัยก่อน แต่ละแห่งอาจมีคนเรียนแค่ ๒๐-๓๐ คน เฉพาะคนของชุมชนที่ปอเนาะแห่งนั้นตั้งอยู่
      เริ่มต้นจากความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งอยากจะศึกษาเล่าเรียน พวกเขาจะช่วยกันปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นในหมู่บ้าน แล้วเชิญคนที่มีความรู้ทางศาสนา ประพฤติดี มีศีลธรรม มาเป็นผู้สอน ที่เรียกกันว่า โต๊ะครู หรือ "อาลิม" (Alim) ในภาษาอาหรับ คนที่อยากศึกษาหาความรู้ก็มาปลูกกระท่อมอยู่ในบริเวณเดียวกับที่เรียน และจัดเตรียมเสบียงอาหารมาหุงหากินเอง
      หรือไม่ปอเนาะบางแห่ง ก็ถูกก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจของปราชญ์ทางศาสนา ที่ต้องการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น เพราะในทางศาสนาอิสลาม ถือว่าการให้ความรู้เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ คนมีความรู้แต่ไม่แบ่งปันจะเป็นบาป
      แต่ทั้งนี้คนที่จะตั้งตนเป็น "บาบอ" หรือ โต๊ะครู ต้องมีความรู้ทางศาสนาเป็นอย่างดี อาจผ่านการศึกษามาเป็น 
      ๑๐-๒๐ ปี เคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจ และเป็นที่ยกย่องศรัทธาของชาวบ้าน
      ที่ตั้งปอเนาะอาจอยู่ในบริเวณบ้านของผู้มีความรู้ หรืออยู่ตรงไหนของหมู่บ้านก็ได้ ชื่อของปอเนาะจึงอาจถูกเรียกตามชื่อชุมชน เป็นต้นว่า ปอเนาะดาลอ ปอเนาะบาลอ ปอเนาะปะแต ปอเนาะปาแดรู ปอเนาะมาแจ หรือเรียกตามชื่อ "บาบอ" ผู้ก่อตั้ง เช่น ปอเนาะเซะวอเราะห์
      การตั้งปอเนาะไม่เกี่ยวกับการหาประโยชน์เชิงธุรกิจ บาบอจึงต้องมีรายได้จากอาชีพอื่น เช่น การทำนา ทำสวนยาง สวนมะพร้าว หรือสวนผลไม้ เพื่อมารองรับรายจ่ายในปอเนาะ ไม่มีการเรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ที่เข้ามาเรียน แต่เขาอาจนำข้าวใหม่ ผลไม้ลูกใหญ่ที่สุดในสวน หรือไม่ก็เป็นข้าวของดี ๆ ที่สุดที่ใครจะหาได้ มาตอบแทนบุญคุญของ บาบอ
      การศึกษาในปอเนาะ เป็นการเรียนรู้ศาสนาโดยองค์รวม ไม่มีหลักสูตรการสอนชัดเจน โต๊ะครูจะสอนในสิ่งที่รู้ และสิ่งที่ผู้เรียนอยากเรียน ไม่มีการนับชั้น ไม่มีการสอบประเมินผล และไม่มีเกณฑ์กำหนดเวลาจบการศึกษา เพราะโดยกรอบความเชื่อของชาวมุสลิม ยึดถือศาสนาเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต เป้าหมายของการศึกษา จึงไม่ได้อยู่ที่การเรียนจบเพื่อออกไปหางานทำ หรือเป็นใบเบิกทางไปสู่อาชีพที่ร่ำรวยมีชื่อเสียง แต่เรียนเพื่อรู้แจ้งถึงศาสนธรรมและศาสนบัญญัติ ให้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง ตามแนวทางที่ท่านศาสดาปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง
      จริยวัตรทุกอย่างในชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ถูกกำหนดไว้แล้วในหลักศาสนบัญญัติ มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ต้องเรียนรู้เพื่อปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง 
      ความดีงามถึงพร้อมในความเป็นมุสลิมที่ดี จะเกิดขึ้นได้จากการแสวงหาความรู้ และสิ่งนี้ถือเป็นพันธกิจชั่วชีวิตของมุสลิมทุกคน
      ดังที่ท่านศาสดานบีมูฮัมหมัด (ซ.) สอนไว้ว่า 
      อุดลูอิลมัน มีนัลมะห์ดี อีลัลละห์ดี 
      ท่านต้องเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในเปล จนถึงหลุมฝังศพ
 

ปนโด๊ะ-ปอเนาะ-โรงเรียนปอเนาะ 

(คลิกดูภาพใหญ่)       สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับสถาบันทักษิณคดีศึกษา มศว. สงขลา (พ.ศ. ๒๕๒๙) เล่ม ๗ บันทึกความเป็นมาของปอเนาะเอาไว้ว่า เชื่อกันว่าปอเนาะเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ แล้วแพร่มาสู่เอเชียที่ประเทศมาเลเซียก่อน ต่อมาจึงแพร่เข้าสู่ทางใต้ของประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มที่ปัตตานีเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปสู่ท้องถิ่นที่มีชาวไทยมุสลิมทั้งในภาคใต้และภาคกลาง
      โดยถ้อยคำ ปอเนาะ มาจากคำว่า ปนโด๊ะ (pondok) ในภาษาอาหรับ แปลว่า กระท่อม ที่พัก แต่ความหมายอันเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในทุกวันนี้ ปอเนาะ คือสำนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายรวมถึงทั้งที่พักและที่เรียน
      ช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ปอเนาะลงหลักปักฐานบนผืนแผ่นดินไทย มีระยะของการเปลี่ยนผ่านบางช่วงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ควรบันทึกเอาไว้
      ข้อมูลจากเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เขตการศึกษา ๒ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะ ออกมาเมื่อปี ๒๕๐๔ สาระสำคัญคือ ให้ปอเนาะยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ
      ต่อมาในปี ๒๕๐๘ รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน ให้มีหลักสูตรการสอน มีชั้นเรียน โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ มีระยะจบการศึกษาที่แน่นอน และให้เปิดสอนวิชาสามัญด้วย
      ทางราชการจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยการให้เงินอุดหนุน ส่งครูไปช่วยสอนวิชาสามัญ และผ่อนปรนในเรื่องคุณสมบัติบางประการของเจ้าของ ผู้จัดการ ครูใหญ่ และครูผู้สอน โดยไม่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๙๗ อย่างเคร่งครัด
      ปี ๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เริ่งรัดปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด ให้มาขอแปรสภาพจากปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๔ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าปอเนาะนั้นล้มเลิกไป และหลังจากนั้นห้ามก่อตั้งปอเนาะขึ้นมาอีก หากจะตั้งต้องเปิดสอนในรูปแบบของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเท่านั้น 
      ถึงปี ๒๕๑๔ มีปอเนาะจำนวนมากถึง ๔๒๖ แห่ง มายื่นความจำนงขอแปรสภาพกับทางการ แต่บางแห่งที่เคยขึ้นทะเบียนด้วยความจำยอม เนื่องจากถูกบีบจากทางการ ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ยอมแปรสภาพ อีกบางส่วนยอมแปรสภาพจากปอเนาะ ไปสู่ระบบโรงเรียน แต่สอนเฉพาะวิชาศาสนาเท่านั้น ตามหลักสูตรและแผนการสอนที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนั้นๆ กำหนดขึ้นเอง และนอกจากนี้ยังมีปอเนาะแห่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
      การศึกษาของมุสลิมจึงแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ คือ "ปอเนาะ" อันเป็นรูปแบบการศึกษาดั้งเดิมของท้องถิ่น กับการศึกษาในระบบ "โรงเรียน" ที่เรียกกันติดปากว่า โรงเรียนปอเนาะ ซึ่งมีการแบ่งชั้นเรียน มีชุดเครื่องแบบ มีโต๊ะเก้าอี้นั่งเรียน มีการนับชั้น และกำหนดระยะจบการศึกษา และโรงเรียนปอเนาะยังแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ สอนทั้งวิชาสามัญและศาสนา กับสอนเฉพาะวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว
      ในปี ๒๕๒๖ ชื่อโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ถูกรัฐบาลเปลี่ยนเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อสอดคล้องตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ และออกระเบียบการให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชนฯ ที่สอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนาอิสลาม ฉบับแก้ไขครั้งล่าสุดออกมาเมื่อ ๒๕๔๕ ให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนที่ได้มาตรฐานตามมาตรา ๑๕ (๑) ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในระยะเตรียมความพร้อม และโรงเรียนที่เพิ่งจดทะเบียนหลังวันออกระเบียบ ให้เงินอุดหนุน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ 
      แต่สำหรับโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
      เงื่อนไขนี้สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้แก่ปอเนาะหลายแห่ง รวมทั้งปอเนาะตัรบียาตุลไอยตาม ของหมู่บ้านมาแจ ตำบลตาโล๊ะหะลอ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา ซึ่งสอนเฉพาะวิชาศาสนา
      "รัฐบาลเขาคิดอย่างไร ทำไมดูแลคนในประเทศไม่เท่าเทียมกัน เราก็เป็นอณูหนึ่งของประเทศนี้ และปอเนาะของเราก็เป็นที่สร้างคนดีให้สังคมเหมือนกัน แต่เราไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย ทุกวันนี้เรามีปัญหามากเรื่องค่าใช้จ่าย เด็กที่มาเรียนก็ไม่ได้มีฐานะดี เราต้องดูแลเรื่องการกินอยู่ของพวกเขาด้วย" ซายูตี มะสีละ นักเรียนคนหนึ่งของปอเนาะมาแจ ฝากถาม
(คลิกดูภาพใหญ่)       แต่หากเปรียบเทียบในเชิงปริมาณ จะพบว่าปอเนาะส่วนใหญ่สนใจที่จะเปิดสอนวิชาสามัญด้วย ตามสถิติจากการสำรวจล่าสุดของ สช. เขตการศึกษา ๒ เมื่อปี ๒๕๔๒ ระบุว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สอนวิชาสามัญศึกษาและศาสนาอิสลาม ๑๑๗ แห่ง โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอย่างเดียว ๓๗ แห่ง ตัวเลขนี้ไม่นับรวมปอเนาะซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียน
      ปอเนาะ ที่ผ่านการแปรสภาพเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ กระทั่งปัจจุบัน การบริหารและการดำเนินกิจการของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ บุคลากรได้รับการพัฒนาอบรม อาคารสถานที่มั่นคงถาวร
      ในด้านหลักสูตร ได้นำเอาหลักสูตรสามัญศึกษาของโรงเรียนมัธยมต้น และมัธยมปลายมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
      ส่วนหลักสูตรศาสนาอิสลาม ได้แบ่งชั้นเรียนเป็น ๑๐ ชั้นปี ได้แก่ หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น - ฮิบติดาอียะฮฺ ปีที่ ๑-๔ หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง - มุตาวัซซีเตาะฮฺ ปีที่ ๕-๗ และหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย - ซานาวียะฮฺ ปีที่ ๘-๑๐ 
มาตรฐานของโรงเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน ทำให้โรงเรียนปอเนาะได้รับได้รับความสนใจมาก
      โรงเรียนปอเนาะสมัยนี้ บางแห่งมีนักเรียนเป็นพัน ๆ คน อย่างที่โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ในหมู่บ้านบาลอ-ตำบลบ้านเกิดของท่านวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ในอำเภอรามัญ จังหวัดยะลา 
      ในยามเช้าเด็กทั้งหมดจะมายืนแถวรวมกันก่อนเข้าชั้นเรียน...มองจากข้างหลัง ดูไม่ออกว่าคนไหนเป็นใคร บนศีรษะของเด็กชายทุกคนสวม "ซอเกาะห์" สวมเสื้อแขนสั้นสีขาว กางเกงขายาวและรองเท้าสีดำ ส่วนเด็กผู้หญิงใส่รองเท้าสีขาว กระโปรงสีเขียวเข้มยาวกรอมตาตุ่ม เสื้อสีขาวแขนยาว ศีรษะคลุม "ฮิญาบ" มิดชิดยาวลงมาถึงกลางลำตัว เปิดเพียงใบหน้าให้เห็นว่าคนไหนเป็นใคร
 

ซอเกาะห์-ฮิญาบ-กอปิเยาะห์-อุสตาฟ-อนาเชต-ชั้นเรียน 

(คลิกดูภาพใหญ่)       เสียง "อาซาน" กังวานขึ้นในความเงียบของยามหัวรุ่งอันเยียบเย็น ปลุกเด็ก ๆ ในปอเนาะให้ลุกจากที่นอน รีบล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำละหมาด แล้วออกไปทำละหมาด "ซุบฮีย์" บน "บาลาเซาะห์" - อาคารที่เป็นทั้งที่ทำละหมาดและที่เรียนหนังสือในปอเนาะ
      ละหมาด "ซุบฮีย์" หรือ ละหมาดเช้า เป็นกิจวัตรอย่างแรกของชีวิตที่มุสลิมทุกคน ต้องปฏิบัตรก่อนจะออกไปทำการงานอื่นใดในชีวิตประจำวัน สำหรับนักเรียนปอเนาะด้วยแล้ว การทำละหมาดถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่พวกเขาต้องปฏิบัติร่วมกัน 
      แม้ปอเนาะบาลอจะแปรสภาพ มาเป็นโรงเรียนที่สอนวิชาสามัญควบคู่กับวิชาศาสนา และมีจำนวนนักเรียนมากถึง ๒,๐๐๐ กว่าคน แต่รูปแบบการพักอาศัยในปอเนาะก็ยังคงอยู่ มีนักเรียนจำนวนหนึ่งมากินนอนประจำอยู่ในโรงเรียน
      หลังละหมาดเช้า นักเรียนปอเนาะมีเวลา ๒ ชั่วโมงสำหรับการหุงหาอาหาร ทำกับข้าวง่าย ๆ กินก่อนไปโรงเรียน และเหลือไว้กลับมากินเป็นมื้อเที่ยง
      ๗.๔๕ น. เข้าแถวในสนามหน้าโรงเรียน นักเรียนชาย-หญิงแยกกันยืนคนละฟากสนาม โดยมีอาคารเรียนหลังหนึ่งคั่นกลาง หลังจัดแถวตามระเบียบ ร่วมกันร้องเพลง "อนาเชต" ซึ่งเป็นเพลงมาร์ชประจำของแต่ละโรงเรียน มีเนื้อหาปลุกเร้าให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และให้เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า ร้องเพลงชาติไทย สวดขอพรจากพระอัลเลาะห์ และฟังครูอาจารย์ให้ข้อคิดคำสอนประจำวัน ก่อนแยกกันเข้าห้องเรียน
      โรงเรียนปอเนาะที่สอนวิชาสามัญศึกษาควบคู่วิชาศาสนา จะแบ่งเวลาเรียนภาควิชาละครึ่งวัน สำหรับที่บาลอใช้เวลาในช่วงเช้าเรียนวิชาศาสนา อันประกอบไปด้วย คัมภีร์อัลกุรอาน เอกภาพ ศาสนบัญญัติ กิจกรรมทางศาสนา หลักการอ่านอัลกุรอาน ภาษาอาหรับ ภาษามลายู ศาสนประวัติ จริยธรรม วจนธรรม มรดก ประวัติศาสนตร์ เศรษฐศาสตร์อิสลาม 
      ครึ่งวันเช้าห้องเรียนปอเนาะอึงอลด้วยเสียงอ่าน-ท่องตำรา สำเนียงภาษาอาหรับฟังดูแปลกแปร่งหูสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่สำหรับนักเรียนปอเนาะ นี่คือเสียงของถ้อยคำอันเปี่ยมคุณค่าและความหมาย 
      เป็นคำสอนและบทเรียนที่สั่งสอนให้เด็ก ๆ มุสลิมนอบน้อมต่อพระเจ้า มีความสำรวม อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักความพอดี ช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นคนดีของสังคม
      ทุกรายวิชาในภาคศาสนา ครูผู้สอนต้องเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับโต๊ะครู แต่ในระบบโรงเรียน อาจารย์สอนศาสนาจะถูกเรียกว่า "อุสตาฟ"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในโรงเรียนปอเนาะ สังเกตความแตกต่างระหว่างอาจารย์ที่สอนวิชาสามัญกับ "อุสตาฟ" ได้จากการแต่งกาย อุสตาฟจะสวม "กอปิเยาะห์" บนศีรษะตลอดเวลา
      การเรียนในหมวดวิชาศาสนานักเรียนชาย-หญิงต้องแยกห้องเรียน ตามหลักศาสนาอิสลามที่ห้ามไม่ให้หญิงและชายในวัยที่แต่งงานกันได้แล้ว-อยู่ด้วยกัน ยกเว้นพ่อแม่และพี่น้องร่วมสายโลหิต หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็น
      แต่สำหรับการเรียนในภาคบ่าย นักเรียนชาย-หญิงต้องมานั่งเรียนห้องเดียวกัน เนื่องจากครูอาจารย์ที่สอนภาควิชาสามัญมีจำนวนไม่พอหากต้องแยกห้องกันเรียน ความจำกัดของจำนวนครู ทำให้โรงเรียนปอเนาะบาลอต้องผ่อนปรนให้นักเรียนชาย-หญิง นั่งเรียนรวมกันในวิชาสามัญ
      เวลาในชั้นเรียนยุติลงเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. แต่การเรียนในหนึ่งวันของนักเรียนปอเนาะยังไม่จบสิ้น หลังออกจากห้องเรียน เด็ก ๆ มีเวลา ๒ ชั่วโมง สำหรับการพักผ่อน ออกกำลังกาย เล่นกีฬาตามความสนใจ ทำการบ้าน หุงอาหาร กินข้าว อาบน้ำ และออกมาทำละหมาด "มัคริบ" เมื่อเวลา ๑๘.๓๐ น.
      เสร็จจากละหมาด "มัคริบ" หรือละหมาดเย็น เรียนคัมภีร์อัลกุรอานไปจนกระทั่ง ๒๑.๐๐ น. แล้วต้องรีบเข้านอน เก็บแรงไว้สำหรับวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะต้องลุกตื่นขึ้นมาทำละหมาดเช้าตั้งแต่ตีห้า
      นักเรียนปอเนาะเหนื่อยหนักกว่านักเรียนมัธยมทั่วไปเป็นสองเท่า แต่ผลที่พวกเขาได้รับก็นับว่าคุ้ม ในแง่ของทางเลือกหลังจบการศึกษา
      วุฒิมัธยมศึกษา สามารถใช้สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาได้เช่นเดียวกับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนรัฐบาล
      ส่วนวุฒิบัตรด้านศาสนา สามารถใช้เป็นหลักฐานศึกษาต่อระดับปริญญาด้านศาสนา ตามมหาวิทยาลัยในประเทศมุสลิมได้ทุกแห่ง ตั้งแต่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงประเทศแถบอาหรับ จอร์แดน ซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์
      หลังจบชั้นประถมศึกษา ลูกหลานมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ จึงมักถูกส่งเข้าเรียนต่อในโรงเรียนปอเนาะ และเด็ก ๆ ก็ชอบที่จะได้เรียนศาสนาควบคู่ไปกับการเรียนวิชาสามัญ
      กระทั่งนำไปสู่สภาพการณ์ตามที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมะอาหัดอิสลามิยะห์ให้ข้อมูลว่า แถบพื้นที่ใดมีโรงเรียนปอเนาะตั้งอยู่ด้วย โรงเรียนมัธยมของรัฐบาลประจำพื้นที่นั้น แต่ละชั้น-แทบจะมีนักเรียนไม่ถึงหนึ่งห้องเรียน
 

ซัรบัน-โต๊ฟ-ยูเบาะห์-โต๊ะครู-กีตาฟ-บาลาเซาะห์

(คลิกดูภาพใหญ่)       "ถ้าจะทำก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องยาก" ฮะยีหะมิดิง ซานอ "บาบอ" โรงเรียนปอเนาะปาแดรูคนปัจจุบัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปิดสอนวิชาสามัญควบคู่ศาสนา "แต่มันต้องมีคนที่มีจุดยืนดีเหลืออยู่บ้าง"
      ปอเนาะปาแดรูตั้งอยู่ริมถนนสายยะหา-สะบ้าย้อย ในตำบลกาตอง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ก่อตั้งโดย "บาบอ" ฮะยีอับดุลระมานอัสตะบูรี ซานอ ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ปาแดรูเคยเป็นปอเนาะที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดยะลา 
      หลังสิ้น "บาบอ" คนแรก ฮะยีหะมิดิงผู้เป็นลูกชายรับเป็น "บาบอ" สืบทอดต่อ และได้แปรสภาพปอเนาะมาเป็นระบบโรงเรียน ในชื่อใหม่ว่า โรงเรียนพัฒนาเยาวชนอิสลามวิทยาปาแดรู แบ่งการเรียนเป็น ๗ ชั้น และออกวุฒิบัตรรับรองผลการศึกษาให้เมื่อเรียนจบ แต่ยังคงสอนเฉพาะวิชาศาสนาเท่านั้น
      "ถ้าสอนวิชาสามัญด้วย จะเรียนศาสนาไม่ทัน และเรียนได้ไม่ลึกซึ้ง ศาสนาเป็นเรื่อง big thinking
      และไม่ใช่เรียนกันแค่ที่ตามองเห็นเท่านั้น วิทยาศาสตร์เรียนด้วยการเห็นอย่างเดียว แต่ศาสนาไม่ใช่ การเรียนศาสนาให้รู้จริงต้องรู้จักบทบาทและอยู่ภายใต้ระเบียบที่เข้มงวดจริงจัง"
      ใคร-ผู้มีความหวังดี อาจบอกว่าโลกสมัยใหม่เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี และเด็ก ๆ มุสลิมควรได้เรียนวิชาที่สอดคล้องตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
      แต่สำหรับบาบอฮะยีหะมิดิง เขาเชื่อมั่นว่า "ถ้าเด็กเรียนดี มีความรู้ดี เป็นคนดี จะไม่ลำบาก ถ้าเขาเชื่อมั่นในอัลเลาะห์ อัลเลาะห์จะให้ เขาจะไม่มีวันลำบาก"
      เรียนศาสนาทำไมต้องมาอยู่ปอเนาะ ?
      "ในทางพุทธศาสนาหากจะเรียนรู้ศาสนาอย่างลึกซึ้งต้องไปอยู่ที่วัด-ใช่ไหม ?" "บาบอ" โรงเรียนปอเนาะปาแดรู ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ "แต่ในศาสนาอิสลามเราไม่มีนักบวช เพราะถือว่าทุกคนต้องมีความเป็นนักบวชอยู่ในตัวเอง" 
      การเข้ามาอยู่ปอเนาะนัยหนึ่งจึงเป็นเหมือนช่วงเวลาของการบำเพ็ญเพียร และฝึกฝนตนเองเพื่อเป็นนักบวชที่ดีตลอดชีวิต
      ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันนี้ นายีบ บุญพิศ เด็กหนุ่มมุสลิมวัย ๒๑ ปี จากเมืองยะลา จึงตัดสินใจเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ ในตำบลปะแต อำเภอยะรัง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนปอเนาะที่สอนเฉพาะวิชาศาสนาเช่นเดียวกับโรงเรียนปาแดรู และมีครู กศน. จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดยะลา มาสอนวิชาสามัญ วิชาการอาชีพ ให้สัปดาห์ละหนึ่งวัน
(คลิกดูภาพใหญ่)       นายีบเคยเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาควบคู่วิชาสามัญที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดยะลาจนจบชั้น ๖ มาแล้ว แต่เขาบอกว่าการเรียนที่นั่นเขาและเพื่อนร่วมโรงเรียนได้ใช้ชีวิตด้วยกันในชั่วโมงเรียนเท่านั้น เรียนเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ไม่มีเวลาที่จะทำความรู้จักกันอย่างสนิทสนม ไม่ได้ทำละหมาดด้วยกัน ไม่มีมิติของการเรียนรู้เชิงสังคมร่วมกัน
      เมื่อมาเรียนที่โรงเรียนปอเนาะปะแต เขาได้เรียน "กีตาฟ" จากโต๊ะครู พักอยู่ในปอเนาะกับเพื่อน ๆ ได้ใช้วิถีชีวิตรวมหมู่ด้วยกัน มีอะไรก็กินด้วยกัน อด-อิ่มด้วยกัน ได้ทำละหมาดร่วมกัน ปอเนาะไม่เพียงประสาทความรู้ด้านศาสนา ยังสอนให้เขารู้จักสังคม
      อยู่มาได้ระยะหนึ่ง นายีบพบว่าเขารู้จักรับผิดชอบตัวเอง และดูแลคนอื่นได้มากขึ้น 
      แต่สำหรับ อับดุลมุตอลิบ หลานหมีน หนุ่มมุสลิมจากคลองจิหลาด อำเภอเมืองกระบี่ ซึ่งจบระดับมัธยมปลายและเคยเรียนในโรงเรียนปอเนาะที่จังหวัดบ้านเกิดมาแล้ว แต่เขาพบว่าการเรียนศาสนาในระบบชั้นเรียน เข้าเรียนเป็นคาบ จะศึกษาได้ไม่ละเอียด 
      เขาคิดว่าความรู้ทางศาสนาขั้นลึกซึ้ง และวัตรปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติ จะต้องเรียนจากโต๊ะครูในปอเนาะเท่านั้น
      จริง-ตามคำสารภาพของอาจารย์ใหญ่โรงเรียนปอเนาะบาลอ ที่ยอมรับว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนรัฐบาลเป็นอย่างไร ใน "โรงเรียนปอเนาะ" ก็แทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากอิทธิพลของสื่อจากต่างวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนสูญหายไปหมดแล้ว แต่ใน "ปอเนาะ" วิถีวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของคนมุสลิมยังคงอยู่อย่างครบถ้วน
      ทุกวันนี้ในจังหวัดปัตตานียังเหลือปอเนาะอยู่หลายแห่ง ยืนยงข้ามกาลเวลามาได้โดยไม่ปรับรูปแบบ ไม่ขึ้นทะเบียน ไม่แปรสภาพ และสอนเฉพาะศาสนา จึงไม่เคยได้รับการอุดหนุนจากรัฐ แต่พึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงตลอดมา 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ปอเนาะเหล่านี้ไม่มีชื่อในทำเนียบโรงเรียนเอกชนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ล้วนมีตัวตนอยู่จริง ! 
      วันหนึ่ง...เมื่อสองปีที่แล้ว ใจที่ใฝ่ถึงหลักศาสนธรรมนำอับดุลมุตอลิบ มาพบกับปอเนาะมะฮัดดารุลฮาดิส หรือความหมายในภาษาไทยว่า บ้านแห่งพระวจนของศาสดา ในตำบลตะปิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ที่ก่อตั้งโดย 
      บาบออับดุลรอฉีดเซะวอเราะห์ บางทีจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปอเนาะเซะวอเราะห์ 
      ในปอเนาะเซะวอเราะห์ หลักศาสนบัญญัติทุกข้อถูกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ชาย-หญิงแยกจากกันชัดเจน ปอเนาะของผู้ชายตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๔๒ ส่วนปอเนาะผู้หญิงตั้งอยู่ลึกเข้าไปด้านหลัง ยามเมื่อมาทำละหมาดร่วมกันใน "บาลาเซาะห์" ก็ต้องมีม่านกั้นแบ่งแยกหญิง-ชายไม่ให้เห็นกัน
      ปอเนาะไม่มีเครื่องแบบอย่างในระบบโรงเรียน โต๊ะครูและศิษย์ทุกคนแต่งกายตามแบบท่านศาสดา ใส่ "เสื้อโต๊ฟ" ตัวยาว โพกหัวด้วยผ้า "ซัรบัน" และส่วนใหญ่มักไว้เครายาว ผู้หญิงสวมใส่ "ยูเบาะห์" เป็นเสื้อตัวยาวคลุมปกปิดร่างกายมิดชิด เว้นแต่นอกข้อมือ ข้อเท้า และใบหน้า ที่ไม่ต้องอยู่ในร่มผ้า
      การเรียนมีไม่มากรายวิชา แต่เรียนหนักยิ่งกว่าในระบบโรงเรียน ตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ ทำละหมาด (หรือนมัสการพระผู้เป็นเจ้า วันละห้าเวลา คือ ซุบฮีย์-ตอนเช้ามืด ซุฮรี-หลังเที่ยง อัสรี-เวลาเย็น มัคริบ-หลังตะวันตกดิน อีซาร์-ก่อนนอน การละหมาดทุกครั้งต้องหันหน้าไปทางวิหารอัล กะบะห์ ในกรุงเมกกะ) เรียน และหยุดพัก สลับกันไปตลอดทั้งวัน เลยไปถึงกลางคืน กว่าจะได้เข้านอนก็ล่วงหลังเที่ยงคืน 
      นอกจากเรียนกับโต๊ะครูในเวลาเรียน คนที่เรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจบทเรียน ต้องหาเรียนเพิ่มเติมจากคนที่อยู่มาก่อน คนที่เรียนเก่งและความจำดี และต้องหมั่นใส่ใจศึกษาหาความรู้ให้ตนเองด้วย
      ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง อับดุลมุตอลิบมักต้องหยิบอัลกุรอานขึ้นมาหัดอ่านเป็นกิจวัตร...
      เสียงอ่านอัลกุรอานลอยแว่วมาจากใต้หลังคากระท่อม ทำให้บรรยากาศยามเย็นย่ำในปอเนาะเซะวอเราะห์อันสงัดอยู่แล้วยิ่งขรึมขลังขึ้นอีก ในท่วงทำนองสูงต่ำของน้ำเสียง คงมีแต่คนที่เคยได้ยินเท่านั้นจะรับรู้ถึงความสงบ เยือกเย็น และพลังในสำเนียง
      และด้วยสารในเสียงนี้ที่หล่อหลอมกล่อมเกลา เลือดเนื้อเชื้อไขของมุสลิมให้งดงามถึงพร้อมในความเป็นมนุษย์
 

จะเรียนให้รู้ลึกเหมือนสะดือทะเล และรู้กว้างเหมือนมหาสมุทร

(คลิกดูภาพใหญ่)       กระท่อมขนาดสามสี่คนนอนเรียงกันได้ ยกพื้นสูงเคียงเอว ใช้เสาขนาดเล็กหลังละหลายต้น รับน้ำหนักของตัวบ้านที่อาจทำด้วยไม้กระดานหรือไม้ไผ่ หลังคามุงจาก จำนวนหลายร้อยหลังเรียงชิดติดกันอยู่ใต้ทิวสวนมะพร้าวริมฝั่งแม่น้ำตันหยง ในตำบลมะนันยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
      ปอเนาะแห่งนี้ตั้งอยู่ลึกเข้ามาจากถนนสายปัตตานี-นราธิวาส หลายกิโลเมตร หลบเร้นอยู่ในหมู่บ้านชนบทเล็ก ๆ ทว่าเป็นที่รู้จักของคนมุสลิมทั่วประเทศ เพราะนี่คือปอเนาะเก่าแก่ ซึ่งใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในปัจจุบัน นามว่า ปอเนาะดาลอ 
      ทุกวันนี้ ปอเนาะดาลอมี "โต๊ะปาเก" มาเรียนอยู่ราว ๕๐๐ คน เป็นชายล้วน ในช่วงหยุดพักจากการเรียน ทั่วทั้งปอเนาะเงียบสงบราวร้างไร้ผู้คน ห้วงยามเดียวกันนี้ใต้หลังคาบ้านบางหลัง พวกเขาอาจจับกลุ่มติวหนังสือให้กันอยู่ บ้างอาจกำลังทำกับข้าวกินด้วยกัน หรือบางคนก็กำลังนอนพักเอาแรง
      ก่อนเวลาละหมาดเล็กน้อย บ่อน้ำทุกแห่งในปอเนาะเป็นที่ชุมนุมย่อยๆ ของสมาชิกที่อยู่ใกล้กัน คนที่ไม่อยากตักน้ำจากบ่อก็ไปที่ท่าริมฝั่งแม่น้ำ เสร็จจากอาบน้ำชำระร่างกาย เช็ดผมและหนวดเคราแห้งดีแล้ว ทุกคนห่มร่างสีเข้มไว้ในเสื้อโต๊ฟสีอ่อน และก้าวออกมาจากกระท่อม
      ทางเดินในปอเนาะทุกสายมุ่งมาสู่ "บาลาเซาะห์" เมื่อถึงเวลาละหมาด 
      ภาพพจน์และความเป็นไปในปอเนาะเริ่มแลเห็นได้ในเวลานั้น
      ไม่ว่ายามเดินอยู่บนถนนหรือทำละหมาดอยู่ในบาลาเซาะห์ พวกเขาดูสงบสำรวมไม่ต่างจากผู้ทรงศีล
      หลังทำละหมาด อาคารบาลาเซาะห์ที่เพิ่งเป็นที่ประกอบพิธีกรรม แปรเป็นที่เรียนหนังสือ โต๊ะครูนั่งอยู่มุมด้านหน้ากับกองตำราภาษาอาหรับและมลายู อันประกอบไปด้วยวิชาหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ นิติศาสตร์อิสลาม มรดกและครอบครัว ตรรกวิทยา พระวจน ดาราศาสตร์ และคัมภีร์อัลกุรอาน "โต๊ะปาเก" จำนวนหลายร้อยคนนั่งเรียนรวมกันบนพื้น แต่ละคนมีผ้าพรมส่วนตัวปูรองนั่ง บางคนมีตั่งสำหรับวางตำราเรียน 
      หน้าตั่งตัวหนึ่งเขียนข้อความว่า "จงเรียนให้รู้ลึกเหมือนสะดือทะเล และจงศึกษาให้รู้กว้างเหมือนมหาสมุทร" 
      นี่คงไม่ใช่แค่คำขวัญสวยหรูที่ไร้แก่นสาร แต่เป็นคติพจน์ที่หนักแน่นด้วยความจริง ซึ่งใครคนหนึ่งยึดถือเป็นหลักของชีวิต
(คลิกดูภาพใหญ่)       ปอเนาะดาลอในปัจจุบัน มีสถานภาพเป็นคล้ายศูนย์กลางการศึกษาวิชาการศาสนาอิสลาม ของชาวมุสลิมในประเทศไทย นอกจากในแถบห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังพบคนมุสลิมจากจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา อยุธยา ฯลฯ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยหนุ่ม ตั้งแต่หลังจบชั้นประถม ไปจนถึงย่างวัยกลางคน รวมทั้งผู้เฒ่าก็มีอยู่บ้าง (เพราะปอเนาะไม่ได้จำกัดอายุผู้เรียน) แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ดูแลช่วยเหลือกันเหมือนพี่เหมือนน้อง
      ยะกุ๊บ พุ่มเพชร หนุ่มมุสลิม วัย ๒๘ ปี จากกรุงเทพฯ กล่าวถึงวิถีชีวิตในปอเนาะว่า "อยู่กันแบบรู้เขารู้เรา" ความหมายในถ้อยคำของเขา "รู้เขา คือรู้จักความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ เมื่อรู้สถานะของสถานที่ ก็ต้องรู้ตัวเราว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร และต่อเพื่อนเราต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา"
      เมื่อถามถึงความประพฤติของคนเรียนปอเนาะ ยะกุ๊บบอกว่า ต่างกันลิบลับกับนักเรียนในโรงเรียนทั่วไป เขาไม่อวดโอ่ถึงขั้นจะรับประกันว่าปอเนาะไม่เคยมีเหตุทะเลาะวิวาท ไม่มีใครแอบเล่นการพนัน แต่ในช่วงเวลา ๓ ปีที่เขาเข้ามาอยู่ที่ปอเนาะดาลอ เขายังไม่เคยเห็นพฤติกรรมทำนองนี้ แม้แต่เรื่องหนีเรียนซึ่งเป็นปัญหาของโรงเรียนทุกแห่ง ยะกุ๊บยืนยันได้ว่าในปอเนาะแทบไม่มี
      ทุกคนเข้ามาเรียนปอเนาะด้วยความหวังตั้งใจของตัวเอง มีจุดหมายในการเรียนชัดเจน เขาจึงพร้อมที่จะทุ่มเทใจให้กับการศึกษาเล่าเรียน
      ศิษย์ของปอเนาะดาลออีกคนหนึ่งชื่อ ฆอซาลี วะเจดีย์ เล่าเรื่องของเขาและเพื่อน ๆ ในปอเนาะให้ฟังว่า ชีวิตประจำวันของคนในปอเนาะอยู่กับศาสนา กินอยู่สมถะเหมือนนักบวช แต่เขาไม่เคยรู้สึกลำบากเพราะมีความรู้จักพออยู่ทุกลมหายใจ "ผมเรียนจบ ม. ๖ มาแล้วจากโรงเรียนที่บ้านเกิดบนเกาะลันตา แต่ต้องการใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตศึกษาศาสนาอย่างลึกซึ้ง และฝึกฝนจิตใจให้มั่นคง เพื่อออกไปใช้ชีวิตโดยไม่ลุ่มหลงไปตามกระแส บางคนอาจไปเป็นผู้นำของท้องถิ่น ไปพัฒนาชุมชน ไปช่วยเหลือสังคม
      "พวกเราที่นี่ บางคนก็เป็นคนดีมาตั้งแต่ต้น และบางคนเคยเหลวไหลมาก่อน แต่เมื่อถึงวันที่เดินออกไปจากปอเนาะ เราทุกคนจะเป็นคนดี"
 

ศิลปินท้องถิ่น-ความรุนแรง-การก่อการร้าย-หยดเลือดและหยดหมึก-สันติ

(คลิกดูภาพใหญ่)       "ปอเนาะ คือโรงเรียนของเรา อยู่ติดสุเหร่า ชายเขาลุ่มน้ำตานี โต๊ะครูของเรา สั่งสอนในสิ่งดี ๆ สอนคำยาวี สอนบทกวี สอน กอ อา กา
      ปอเนาะ คือโรงเรียนของเด็ก คุณหนูเล็กๆ ร่ำเรียนได้มีวิชา ได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า คุณครูสอนว่า อย่าเป็นคนชอบเห็นแก่ตัว
      เดือนเสี้ยวเกี่ยวดาว ใสสุกสกาวบนฟ้า ดั่งดวงจันทราส่องนำพ้นทางมืดมัว หนทางยาวไกลแค่ไหนหนูก็ไม่กลัว ฟ้ามืดฝนมัวหนูก็ไม่กลัวชอบไปโรงเรียน
      ปอเนาะคือโรงเรียนมุสลิม เรามีรอยยิ้ม ให้กันด้วยความนุ่มเนียน เราร่วมกันอยู่ เรียนรู้ด้วยความพากเพียร หนูรักโรงเรียน เป็นดั่งดวงเทียนส่องแสงให้เรา"


      ใครเคยฟังเพลงนี้คงนึกเห็นภาพอันสดใสสวยงามของโรงเรียนปอเนาะ อย่างที่ผู้ประพันธ์อยากให้เป็น
      แต่นั่นเป็นเพียงภาพด้านหนึ่งเท่านั้น ปอเนาะในความนึกคิดของผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ยังเป็นภาพอันหม่นมัว 
      พร่าเลือน
      ครั้นมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปอเนาะมักถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ภาพลักษณ์อันคลุมเครืออยู่แล้ว ถูกเติมทับด้วยสีสันของความรุนแรง 
      ช่วงต้นปีที่แล้ว มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายครั้งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการล่าสังหารตำรวจ ต่อมาเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัย เขา-เป็นโต๊ะครูในปอเนาะแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี 
      ล่าสุด--เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โต๊ะครูของโรงเรียนปอเนอะโต๊ะนอ เมืองนราธิวาส ถูกจับพร้อมลูกชายด้วยข้อกล่าวหาสมคบกับกลุ่มเจไอ (เจมาห์ อิสลามิยาห์) เตรียมการก่อการร้ายสถานที่สำคัญหลายแห่งในประเทศ 
      ยิ่งย้ำหมุดแห่งอคติลงในใจคนที่มีความเคลือบแคลงเป็นรากฐานอยู่แล้ว
      แต่สำหรับ การีม นาคนาวา โต๊ะครูคนหนึ่งของปอเนาะดาลอ ให้การตามความจริงว่า "ทุกสังคมย่อมต้องมีคนไม่ดีปะปนอยู่ด้วย แม้แต่ลูกของเราบางทีก็อาจไม่ได้เป็นคนดีทุกคน แต่ความรุนแรงมันไม่ใช่นโยบายของปอเนาะ แม้แต่คำว่า อิสลาม โดยแก่นแท้แล้วหมายถึง สันติ" 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ขณะที่ แสง ธรรมดา ศิลปินพื้นถิ่นปักษ์ใต้ ผู้เขียนเพลง "ปอเนาะ" ขึ้นจากความสะเทือนใจที่โรงเรียนปอเนาะ ๓๕ แห่ง ถูกเผาในคราวเดียวกันเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว พูดถึงโต๊ะครูว่า "เขาก็คือครูคนหนึ่ง เพียงแต่สอนวิชาที่แตกต่างจากครูทั่วไป เขาต้องมีคุณธรรม ชาวบ้านยอมรับนับถือในความดี ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย และต้องศึกษาบ่มเพาะตนเองยาวนานกว่าจะมาสอนได้ ใครสงสัยเรื่องความดีของโต๊ะครูก็ลองคิดดูว่า เคยได้ยินไหมว่ามีโต๊ะครูข่มขืนเด็ก ? เคยมีไหมที่โต๊ะครูค้ายาบ้า ? หรือโต๊ะครูที่ทำธุรกิจเป็นพ่อค้าขาย เคยตรงมีบ้างไหม ?" 
      การีมกล่าวถึงเรื่องในปอเนาะอีกว่า "บางทีอาจมีคนก่อเหตุร้ายมาจากที่อื่น แล้วหลบมาอาศัยอยู่ในปอเนาะโดยที่เราไม่รู้ แต่ก็เชื่อว่าเมื่อเขาได้มาสู่การฝึกปฏิบัติ การอบรมศึกษาตลอดตั้งแต่เช้ายันเย็น จิตใจเขาจะอ่อน กลับตัวกลับใจได้"
      และแสงก็กล่าวอีกว่า "ถ้าสงสัยว่าปอเนาะเป็นที่ซ่องสุมของการสร้างความรุนแรง อำนาจรัฐอันเข้มแข็งและมีสายข่าวอยู่มากมาย ไม่เพียงพอหรือที่จะตรวจสอบว่าความจริงเป็นอย่างไร มันเป็นแค่ข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมที่จะสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อหาประโยชน์ เป็นวิธีที่โบราณมาก ผมเติบโตมาในถิ่นของคนมุสลิม ไม่มีใครเขากลัว เพราะเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ข้าราชการในพื้นที่ยิ่งไม่กลัวเลย เพราะเขาได้เบี้ยฉุกเฉิน ยิ่งระเบิดมากยิ่งได้เงินมาก"
      "โรงเรียนปอเนาะเป็นเพียงที่สอนเด็กให้เป็นคนดีเท่านั้น..." อาแด เร็งมา "อุสตาซ" โรงเรียนปอเนาะบาลอ ให้ภาพอันเรียบง่ายแต่แจ่มชัดเป็นจริงที่สุดในความเป็นปอเนาะ 
      ส่วนเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้ภาพลักษณ์ของปอเนาะผูกโยงอยู่กับเหตุการณ์รุนแรง รุสดี บาเกาะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดยะลา เชื่อว่าเป็นเป็นผลมาจากสื่อ "มันเป็นปัญหาที่ผมหนักใจมาก สื่อมักจะคิดเอาเอง คิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร เขาก็สื่อออกไปในทางนั้น"
      แต่ใครจะปั้นภาพพจน์ของปอเนาะให้เป็นอย่างไร คงไม่สำคัญเท่ากับสัจจะอันผนึกแน่นอยู่ในตัวตนและจิตวิญญาณของเขา 
      ภาษิตบทหนึ่งที่นักเรียนปอเนาะทุกคนถูกสอนให้จดจำฝังใจ จารึกไว้ว่า 
      หยดหมึกของนักปราชญ์มีค่ากว่าหยดเลือดของนักรบ
 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

        ปอเนาะดาลอ / ปอเนาะมะฮัดดารุลฮาดิส / ปอเนาะตระบียาตุลไอยตาม / โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ / โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ / โรงเรียนพัฒนาเยาวชนอิสลามปาแดรู / โรงเรียนพัฒนาวิทยากร / โรงเรียนแสงจาเราะนากองวิทยา / โรงเรียนประมวลศาสน์วิทยา / สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เขตการศึกษา ๒ / ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดยะลา / สำนักงานศึกษาธิการอำเภอรามัญ / คุณแสง ธรรมดาและร้านบ้านนายหัว
 

ขอบคุณพิเศษ

        จำนง สองเมือง จารุ ขำนุรักษ์ อัลดุลตอเล็บ กูแซ จิรันดร ราชมนตรี