นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ "คลุกวงใน นักเลงพลอยไทย แทนซาเนีย"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๓ เดือนกันยายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

ซาฟารีรถ ซาฟารีเท้า ป่ามิกูมี่-เขาอุดุซุงก์วา

  เรื่อง วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ 
ภาพ บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
 
 

ภาคแรก

(คลิกดูภาพใหญ่)       "อาลี" จอดรถคู่ใจหน้าเกสต์เฮาส์ "เจเนซิส" แต่เช้าตรู่ ก่อนเวลานัด เขามารับชายเอเชียสองคนไปอุทยานแห่งชาติมิกูมี่ และมีแผนว่าจะอยู่ในนั้นกันตลอดวัน 
      รถปิกอัปกับแลนด์โรเวอร์รุ่นเก๋าที่เข้ามาตรงลานจอด เพื่อรับแขกอีกสองกลุ่มทำให้อาลีหยุดมอง--ฤดูซาฟารีปีนี้ ดูจะมาถึงมิกูมี่เร็วกว่าปรกติ
      หกโมงเช้า วันปลายเดือนพฤษภาคม เงาราตรียังคืบไม่พ้นแผ่นดินส่วนนี้ของแอฟริกา แต่ร้านค้าชานเมืองก็เปิดบริการแล้ว ให้คนเดินทางซื้อน้ำดื่ม ให้สิงห์รถบรรทุกหนีบเครื่องดื่มชูกำลังไปใช้ระหว่างทางลงใต้ 
      หนุ่มเจ้าของร้านเหลือบมองลูกค้าของอาลีแล้วยิ้ม ๆ คงคิดว่า..."หมอนี่คนจีน" เหมือนกับที่พนักงานต้อนรับของเกสต์เฮาส์คาดเดา คนแทนซาเนียเห็นหน้าขาว ๆ ที่ไม่ใช่ฝรั่ง ไม่ใช่แขก มักจะเดาไว้ก่อนว่าเป็นคนจีน ด้วยอิทธิพลจีนแผ่ขยายเข้าแอฟริกาตะวันออกแต่ยุคสงครามเย็น...จนถึงสงครามเศรษฐกิจในปัจจุบัน
      ตามทางหลวง ขณะมุ่งไปยังอุทยานฯ ทุกคนเห็นยีราฟสามสี่ตัว กาเซลทอมสันฝูงหนึ่งในดงหญ้าข้างทาง แต่อาลีไม่ได้หยุดรถหรือถูกขอให้หยุดถ่ายรูป เมฆบดบังแสงตรงขอบฟ้า บรรยากาศขมุกขมัวไปด้วยสีเทาเจือแสดจาง ๆ เช่นนี้ไม่เหมาะกับการถ่ายรูป หรือเป็นไปได้ไหมว่า อาลีเชื่อถือโชคลาง...ไม่ต้องการให้ลาภน้อยไปขัดลาภใหญ่ที่จะเจอในวันนี้
 

ทุ่งมกาตา

(คลิกดูภาพใหญ่)       อุทยานแห่งชาติมิกูมี่ (Mikumi National Park) ตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางใต้ของประเทศแทนซาเนีย ขนาดเนื้อที่ ๓,๒๓๐ ตารางกิโลเมตร จัดว่าใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของอุทยานฯ ทั่วประเทศ อาณาบริเวณส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย ๕๔๘ เมตร ล้อมรอบด้วยทิวเขาคล้ายรูปเกือกม้า คือ ทิวเขาอูรูกูรูทางทิศตะวันออก ทิวเขารูเบฮ์โอทางทิศตะวันตกต่อเนื่องกับเขาลูแมงโกทางตะวันตกเฉียงใต้ กอปรกับมีภูมิอากาศแห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะพื้นที่โดยรวมจึงเป็นป่าไม้พุ่มอะเคเซีย สลับทุ่งหญ้าสะวันนา มีป่ามิออมโบ หรือป่าโปร่งคล้าย "ป่าเต็งรัง" อยู่บริเวณตีนภู
      ใครก็ตามที่ยืนอยู่บนถนนซึ่งพาดผ่านภูเขาลูแมงโก ห่างจากเมืองมิกูมี่ไปทางด้านทิศใต้ราว ๗ กิโลเมตร ทอดสายตาลงไปจะเห็นทุ่งราบกว้างใหญ่ของอุทยานฯ แห่งนี้ และทิวเขาที่โอบล้อมอยู่ไกลลิบ ๆ ทว่าความเป็นจริง คือ มันไม่ได้มีแค่ตัวอุทยานฯ อยู่ในที่นั้นเพียงลำพัง ยังมีเมือง หมู่บ้าน ถนนและทางรถไฟ หรือแม้แต่สัตว์ป่ารอบนอกอุทยานฯ รวมอยู่ด้วย
      มิกูมี่ต่างจากอุทยานฯ อื่น ๆ อย่างหนักก็ตรงมีทางหลวงสายหลัก A7 ตัดผ่าน แบ่งพื้นที่ออกเป็นฝั่งเหนือและใต้ รถทุกคันที่มาจาก "ดาร์" - - ดาร์-เอส-ซาลาม เมืองหลวง เพื่อลงใต้ หรือจะผ่านไปประเทศแซมเบียทางตะวันตกเฉียงใต้จะต้องผ่านเข้าอุทยานฯ มิกูมี่ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร โดยไปสิ้นสุดเอาตรงชานเมืองมิกูมี่แถวเกสต์เฮาส์เจเนซิสพอดี 
      ทีแรกหลายคนคิดว่า แค่อาศัยผ่านทางก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้อุทยานฯ แต่เปล่า...ถนนสายนี้ดูสัตว์ฟรี มีข้อแม้ ต้องไม่ขับเร็วเกินกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันสัตว์ถูกรถชน รถเล็กจำกัดอยู่ที่ ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกใหญ่ ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ดูท่าว่าไม่ได้ผล ทางการเลยดัดเส้น ทำลูกระนาดบนพื้นถนนเสียถี่ยิบเหมือนระนาดที่ตีได้จริง ๆ
      ที่ชานเมือง บรรดารถสิบล้อ รถพ่วงมักชอบแวะจอดเรียงกันหน้าร้านค้าราวกับเป็นชุมทาง ทำให้รู้สึกไม่น่าพิสมัยในความเป็นอุทยานแห่งชาติ แต่ทำไงได้...จากนี้ไปทางจะวกวนขึ้นเขา จนถึงเมืองอิริงกา (Iringa) แล้วก็ผ่านภูเขาในบริเวณที่สูงตอนใต้โดยตลอด ไม่ว่าจะมุ่งหน้าไปจังหวัดแบย์ (Mbeya) จ็อมเบ (Njombe) หรือซองเกีย (Songea) ก็ตาม ตั้งหลักดีย่อมถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง 

(คลิกดูภาพใหญ่)       เมื่อเย็นวาน พนักงานของเจเนซิสโทรติดต่อลูกพี่ของอาลี เนื่องจากรถของที่นั่นสองคันถูกจองหมดแล้ว ต้องหาจากข้างนอกมาเสริมตามความต้องการของลูกค้า ซาฟารีดูสัตว์...รถยนต์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ (เว้นแต่จะมีบัลลูนส่วนตัว) นักท่องเที่ยวรู้ว่าต้องจ่าย ๑๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน สำหรับค่ารถ รวมคนขับ-น้ำมัน และ ๕๐ ดอลลาร์สำหรับครึ่งวันก็ยอม ราคานี้พิเศษสุดแล้ว...สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป พวกแบกเป้ หรือคนต่างชาติที่ทำงานในแทนซาเนียผู้ต้องการเที่ยวป่าซาฟารี ประเภทจองบังกะโลชั้นดี ติดชายทุ่งที่สัตว์ลงเล็มหญ้า ราคาคืนละ ๒๐๐-๓๐๐ ดอลลาร์ต่อคนต่อคืน มีรถรับไปดูสัตว์วันละสองรอบ แถมพิเศษรอบกลางคืน รวมถึงใช้เครื่องบินเล็กบินระหว่างเมือง --มีแต่เศรษฐีเท่านั้นเขาทำกัน 
      อันที่จริงเกี่ยวกับซาฟารีนี้ คณะของอาลีได้พบกับ "ซาฟารี" ก่อนเข้าป่าเสียอีก มันเป็นแผ่นคัตเอาต์ขนาดใหญ่วางไว้ริมทางสาย A7 เป็นระยะ เขียนตัวอักษร Safari Njema (ซาฟารี จีม่า) ซึ่งแปลว่า ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ "ซาฟารี" ไม่ได้หมายถึงการไปดูสัตว์ คำภาษาสวาฮิลี * คำนี้มีรากมาจากภาษาอาหรับ Safariya แปลว่า การเดินทาง ในวัฒนธรรมสวาฮิลีทุกวันนี้ก็ใช้ในความหมายว่า เดินทาง, เดินทางไกล ซึ่งกว้างกว่า "การเดินทางล่าสัตว์" หรือ "ดูสัตว์" มากนัก เป็นไปได้ว่าสมัยแรก ๆ ที่พรานยุโรปเดินทางเข้ามาที่นี่เมื่อ ๒๐๐-๓๐๐ ปีก่อน การเดินทางรอนแรมแทบทุกครั้งเป็นไปเพื่อล่าสัตว์ คนที่ได้ยินได้ฟังมาจึงเข้าใจว่า การออกซาฟารีคือการออกป่าล่าสัตว์หรือผจญภัยเท่านั้น
      ปรกติป่ามิกูมี่จะเที่ยวได้ตลอดปี แต่คนนิยมซาฟารีกันช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป หลังจากนั้นจะเป็นฤดูฝน ๓ เดือน แม้ปริมาณฝนจะไม่มากแต่ก็ทำเอาน้ำในลำธารเอ่อท่วม ทำให้เส้นทางขาด ขับรถตระเวนเข้าไปลึก ๆ ไม่ได้ 
      โดยเฉพาะกับลำน้ำมกาตา สายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงพื้นที่ฝั่งเหนือของอุทยานฯ ทำให้เกิดภูมิสภาพเรียกว่า "ที่ราบน้ำท่วมถึงมกาตา" (Mkata flood plain) ซึ่งชื่อก็บอกโดยตัวมันเองถึงสภาวะเฉอะแฉะในฤดูน้ำ ขณะเดียวกัน บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่าที่สำคัญ คนที่มามิกูมี่จะคิดเหมือนกันว่าต้องนั่งรถไปรอบ ๆ Mkata flood plain ให้มากที่สุด ไม่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับการ "บุก" เข้าถึงตัวมัน อันที่จริง ทางฝั่งใต้ของอุทยานฯ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ทว่าเส้นทางท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก
(คลิกดูภาพใหญ่)       คงเพราะปีนี้ฝนน้อย น้ำหลากเร็ว ไม่ทันพ้นเดือนพฤษภาคม แม่น้ำ ลำห้วยจึงแห้งขอด เห็นเป็นแนวคูลึก ตลิ่งสูงชัน ขณะเดียวกัน ที่พักแถวนี้ก็เริ่มมีแขกเข้ามากขึ้น และจะเต็มทุกเสาร์-อาทิตย์
      ................................
      รถห้าคันจากเกสต์เฮาส์มาเจอกันอีกครั้งหน้าประตูทางเข้าอุทยานฯ บริเวณคิโคโบกา หรือช่วงหลักกิโลเมตรที่ ๒๘๘ จากดาร์ 
      ระหว่างรอจ่ายค่าธรรมเนียม มีโอกาสสังเกตว่ารถที่ออกซาฟารีแต่ละคัน ล้วนแต่อยู่ในสภาพเก่าและสมบุกสมบันกว่าที่คาดไว้ แถมยังมีหลายแบบหลายสไตล์ เช่น รถตรวจการณ์ กระบะ แวน ทั้งขับเคลื่อนสองล้อและสี่ล้อ สิ่งเหล่านี้แตกต่างกับพาหนะ ที่ใช้กันตามแหล่งท่องเที่ยวทางเหนือมาก ทางวงรอบ Northern Safari Circuit ที่รู้จักไปทั่วโลกจากชื่อของอุทยานฯ เซเรงเกติ - เขตอนุรักษ์โงรงโงโร - อุทยานฯ ทะเลสาบ มันยารา นั้นจะใช้รถมินิบัสหรือรถตู้ที่เปิดหลังคาให้นักท่องเที่ยวยืนดูสัตว์ได้อย่างสะดวก และส่วนที่เปิดก็กลายที่บังแดดไปในตัว แต่ต้องเข้าใจว่าราคาจะไม่ได้คันละ ๑๐๐ ดอลลาร์ต่อวันเด็ดขาด 
      ก็มีรถของอาลีนี่ละที่พอจะเรียกได้ว่า "หรู" ในรูปของปิกอัปแวนขับเคลื่อนสี่ล้อ สภาพดี และมีหลังคาที่เกือบจะเปิดได้ ! (คือมีช่องเลื่อนประเภทนี้อยู่ แต่เมื่อกดปุ่มไฟฟ้าสั่งงานแล้วมันไม่ยอมขยับเขยื้อน)
      เมื่อแรกที่อาลีเห็นลูกทัวร์ของเขาทำท่าผิดหวังกับหลังคารถ เขาดูเจื่อน ๆ 
      "ไม่มีปัญหา ให้คนหนึ่งนั่งข้างหน้า ส่วนช่างภาพนั่งหลัง จะได้หันกล้องถ่ายภาพได้สองด้าน" เขาบอก 
      พอเห็นทั้งคู่เอาผ้าขนหนูที่แอบหยิบ (ยืม) มาจากที่พัก พาดบนขอบหน้าต่างแล้ววางเลนส์ขนาดยาวลงบนผ้าอีกที เขาก็มองอย่างสนใจ และเมื่อช่างภาพทดลองกดภาพ "ไก่ต๊อก" ที่เดินอยู่ข้างทางแล้วพูดขึ้นว่า "ใช้ได้...ไม่กระเทือนเท่าไหร่" อาลียิ้มอย่างพอใจ 
      ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ สำหรับชาวต่างชาติ (ผู้ใหญ่) ๑๕ ดอลลาร์สหรัฐ คนแทนซาเนีย ๒,๐๐๐ ชิลลิง (เงินสกุลชิลลิงแทนซาเนีย ๑,๐๔๐ ชิลลิงแลกได้ ๑ ดอลลาร์) อุทยานฯ ทั่วแทนซาเนียคิดค่าธรรมเนียมแบบต่อหัวต่อวัน และรับเฉพาะเงินสกุลอเมริกัน นอกจากนั้นแต่ละที่จะเก็บค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน คือเริ่มตั้งแต่ ๑๕, ๒๕, ๕๐ จนถึง ๑๐๐ ดอลลาร์เป็นอัตราสูงสุด ดูจากรายชื่ออุทยานฯ กับค่าเข้าเปรียบเทียบกันแล้ว อนุมานว่าน่าจะขึ้นอยู่กับนโยบายการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก 
(คลิกดูภาพใหญ่)       หากนักท่องเที่ยวต้องการไกด์นำทางก็สอบถามจากอุทยานฯ ได้ ต้องจ่ายในส่วนนี้วันละ ๑๐ ดอลลาร์ ถ้าไกด์อยู่ค้างด้วยจะต้องเพิ่มอีกคืนละ ๕ ดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดถือเป็นมาตรฐาน ทางอุทยานฯ เขียนแจงไว้ละเอียดบนกระดานอันใหญ่ข้างเคาน์เตอร์ จะไม่มีการงอแงโก่งค่าตัว หรือเรียกเงินเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะว่าไป มาตรฐานเช่นนี้ไม่ได้พบบ่อยในประเทศแทนซาเนีย 
      หากคิดง่าย ๆ จากค่าเดินทาง ค่าเข้าอุทยานฯ และค่าเช่ารถ มิกูมี่น่าจะเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าที่จ่ายน้อยกว่าที่อื่น ดังนั้นเยาวชน นักศึกษา ตลอดจนนักวิจัยด้านสัตว์ป่าหรือนิเวศวิทยาภายในประเทศ จึงชอบมาที่นี่ และไม่น่าประหลาดใจที่มิกูมี่มีสถานะเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยสัตว์ป่าที่สำคัญ 
      งานวิจัยที่เชิดหน้าชูตาชาวมิกูมี่ ได้แก่การศึกษาลิงบาบูนในเขตอุทยานฯ ซึ่งทำต่อเนื่องมานานกว่า ๒๐ ปี หากใครต้องการข้อมูลหรือศึกษาเกี่ยวกับไพรเมต (สัตว์ตระกูลลิง) ชนิดนี้ จะต้องอาศัยฐานของมิกูมี่ เช่นเดียวกับข้อมูลชิมแปนซีต้องเปรียบเทียบกับของอุทยานฯ กอมเบสตรีม ในแทนซาเนีย, กอริลลาต้องเปรียบเทียบกับของอุทยานฯ โวก็องส์ ชายแดนประเทศรวันดา-คองโก, อุรังอุตังก็ต้องดูจากเกาะบอร์เนียว หรือชะนีก็ต้องดูจากประเทศไทย-มาเลเซีย แม้ลิงบาบูนไม่ใช่เอปหรือลิงไร้หาง ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับมนุษย์ ทว่าการเป็นแหล่งวิจัยลิงแถบแอฟริกาตะวันออกต้องถือว่าเท่มาก ด้วยเป็นบริเวณที่สันนิษฐานกันว่า "มนุษย์" หรือลิงกลุ่มที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์มีวิวัฒนาการขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ๗ ล้านปีก่อน การวิจัยจะถูกเปรียบเทียบ เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการเป็นมาของมนุษย์ไม่มากก็น้อย
      ไม่เฉพาะแต่ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง เดินทางไปมาสะดวกเท่านั้น อาณาจักรมิกูมี่ยังร่ำรวยสัตว์ป่าไม่ด้อยกว่าที่อื่น ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และนก ให้ผู้สนใจใฝ่รู้ด้านธรรมชาติเฝ้าดูจนจดจำไม่ถ้วนว่าแต่ละวันได้เจออะไรบ้าง
      สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดเป็นสัตว์ที่หาดูยาก รวมไปถึงบรรดา "เจ้าป่า" ผู้น่าเกรงขามด้วย 
 

ซาฟารี

(คลิกดูภาพใหญ่)       "คุณว่าเราจะมีโอกาสเห็นสิงโตกับเสือดาวไหม" สาวแคนาดาที่มากับเพื่อนคู่หูชวนเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์คุยเรื่อง "บิ๊กไฟว์" 
      "สิงโตน่าจะมีโอกาส แต่เสือดาว...ยาก" ชายคนนั้นตอบคล่องแคล่ว แถมบอกอีกว่า โอกาสที่จะเจอเสือดาวมีอยู่ ๕๐/๕๐ เท่านั้น
      ไม่ว่าแหม่มจะถามเพราะอยากรู้จริง ๆ หรือข่มอาการตื่นเต้นกับวินาทีที่จะเผชิญ "ซาฟารี" ณ ทุ่งมกาตา แต่พูดก็พูด...ใครมาป่าแอฟริกาคงยากที่จะไม่นึกถึง "เจ้าป่าทั้งห้า" หรือ Big Five ที่ประกอบด้วย เสือดาว ควายป่า แรด สิงโตและช้าง นี่คือห้าสัตว์อันตรายที่สุด ตามความเห็นของพรานป่ารุ่นแรก ๆ และนักท่องป่าก็รู้จักมันมานานกว่า ๑๐๐ ปี อันที่จริงในห้าชนิดนี้ยังมีคนสนใจต่ออีกว่า "ชนิดใดอันตรายที่สุด" ซึ่งคำตอบที่ผ่าน ๆ มาก็มักสับเปลี่ยนกันระหว่างเสือดาวกับควายป่า ขึ้นอยู่กับคนตอบว่าจะมีประสบการณ์ร้ายกับสัตว์ชนิดใดมากกว่า
      นอกจากสิงโตกับเสือดาว จากคำตอบของเจ้าหน้าที่หลังเคาน์เตอร์ยังตีความได้ว่า ภายในมิกูมี่ "น่าจะมีโอกาสเห็นช้างและควายป่าได้ไม่ยาก" เนื่องจากสองชนิดนี้มีอยู่ในอุทยานฯ และไม่ได้รักความเป็นส่วนตัวเท่าแมวใหญ่สองชนิดแรก แต่น่าเสียดาย เขาไม่ได้กล่าวถึงแรดเลย ทั้งนี้ก็เพราะมิกูมี่ไม่มีเจ้าป่าสายตาสั้นร่วมขบวนด้วยนั่นเอง

      กล่าวฝ่ายลูกทัวร์ของอาลี เมื่อไม่เห็นเขาพูดถึงเรื่องจ้างไกด์ของอุทยานฯ ทั้งคู่ก็เหมาเอาว่าอาลีจะรับหน้าที่ทั้งขับรถ และ "รพินทร์ ไพรวัลย์" ไปในตัวได้อย่างดีสมกับที่ลูกพี่ของเขารับรองไว้ 
      ภายใต้สภาวการณ์ที่ดูอึมครึมอันเนื่องมาจากความแปลกหน้าและความคาดหวังลึก ๆ อาลีขับรถเข้าอุทยานฯ ท่าทางสบาย ๆ เหมือนเลี้ยวรถเข้าบ้าน... ระหว่างอาลีกับลูกทัวร์ไม่มีคำสัญญิงสัญญาว่าจะต้องเจอสัตว์เท่านั้นเท่านี้ เจอเจ้าป่าทั้งสี่ชนิด หรือจะต้องไปให้ครบทุกแหล่ง อาลีรู้เพียงว่าลูกค้าอยากถ่ายรูปสัตว์สวย ๆ ซึ่งเวลาที่พวกเขามีคือตั้งแต่เช้าและกลับออกไปภายในหกโมงเย็นเท่านั้น
(คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าตรู่และเย็นเป็นเวลาออกหากินของสัตว์ส่วนใหญ่ การเดินทางช่วงเวลานี้ถือเป็นว่ามีโอกาสพบมากกว่าเวลาอื่น แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับจังหวะและโชคประกอบ (เยอะมาก) เมื่อมาถึงตรงนี้ คนถ่ายภาพเห็นอะไรจึงถ่ายแหลกไว้ก่อน ไม่มีเวลาคิดว่าจะธรรมดาสามัญขนาดไหน เริ่มจากไก่ต๊อก นกแต ? นกอีเสือ ที่ชอบหากินตามพื้นและทุ่งหญ้า ไก่ต๊อกเดิน รถก็ตาม พอมันหยุดรถก็หยุด ช่วงแรกดูเหมือนรถต้องหยุดเกือบทุก ๆ ๑๐ เมตร เป็นที่น่าเวทนา แต่ก็ถือว่าซ้อมคิวระหว่างช่างภาพกับคนขับรถไปในตัว
      ไม่นานก็พบยีราฟฝูงใหญ่ในดงอะเคเซียด้านซ้ายมือ ถือเป็นสัตว์ใหญ่ชนิดแรกที่พบในอุทยานฯ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับมือใหม่ เพราะยีราฟเป็นสัญลักษณ์ของแทนซาเนีย คนเชื่อกันว่าที่นี่คือแหล่งกำเนิดของมัน หัวยีราฟจึงปรากฏเป็นลายน้ำในธนบัตรชิลลิ่งทุกราคา แบบเดียวกับที่มักเห็นภาพบุคคลสำคัญของประเทศ
      ยีราฟที่พบส่วนใหญ่มีจุดเด่น คือลายสีน้ำตาล-ขาวบนตัวจะแตกแขนงหยักเยื้องอย่างเด่นชัด ลายสีน้ำตาลของบางตัวเป็นแฉกคล้ายกลีบดอกไม้อันแปลกตา ไม่เป็นเหลี่ยมหรือตารางอย่างที่เคยเห็น ยีราฟในโลกมีอยู่เพียงชนิดเดียว คือ Giraffe camelopardalis แต่แบ่งออกได้ถึง ๘ สายพันธุ์ (subspecies) จากลักษณะทางกายภาพรวมทั้งลวดลายบนตัว ตามป่าพุ่มอะเคเซียในแทนซาเนียทั่ว ๆ ไปจะพบเพียงสายพันธุ์เดียว เรียกว่า ยีราฟมาไซ ส่วนพวกที่เหลือหาตัวค่อนข้างยาก ที่อยู่ของมันกระจายกันไปทางตะวันตกและใต้ของทวีป รวมทั้งในประเทศเคนยา
      รถแล่นตามทางดินจนถึงสามแยก มีป้ายบอกว่าทางขวาไปวิซาดาเซอร์กิต (Visada Circuit) กับ มานัมโบโก (Mwanambogo) ทางซ้ายไปบึงฮิปโปกับชัมกอร์ (Chamgore) เส้นทางในอุทยานฯ จะสังเกตง่าย ๆ เมื่อออกสตาร์ตจากคิโคโบกาอันเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ จะมีทางหลักอยู่เพียงสองเส้น โดยต่างก็มุ่งไปทางเหนือตามแนวลำน้ำมกาตา นอกนั้นก็เป็นเส้นทางย่อยไขว้ไปมา รวมถึงเส้นทางวงรอบที่ได้รับการแนะนำให้ขับรถเป็นวงกลม รอบบริเวณที่สัตว์ออกหากินประจำ อุทยานฯ ฝั่งเหนือมีทางวงรอบอยู่สามจุด ได้แก่ คิซิงกูราเซอร์กิต วิซาดาเซอร์กิต และชัมกอร์เซอร์กิต
(คลิกดูภาพใหญ่)       ชัมกอร์จะอยู่ทางเหนือสุดของอุทยานฯ ส่วนคิซิงกูราอยู่ใกล้สุด เพียง ๓ กิโลเมตรจากจุดเริ่มต้น ขณะอาลีกำลังมุ่งไปที่นั่นก็พบรถปิกอัปสีขาวแล่นสวนมา หนุ่มชาวตะวันตกคนขับเรียกให้อาลีจอดแล้วแนะว่าให้ไปตรงทางโค้งเลยแคมป์ ๒ ไปเล็กน้อย เขาเพิ่งเจอสิงโตเมื่อรุ่งเช้า
      อาลีหันมาบอกเป็นภาษาสวาฮิลีว่า "simba" ที่หมายถึง สิงโต แล้วรีบออกรถทันที แคมป์ ๒ หรือจุดพักแรมที่ ๒ อยู่ในบริเวณคิริงกูราเซอร์กิต ถ้าได้เจอเจ้าป่าสักตัวแต่เริ่มต้นวันต้องถือว่าฟลุกมาก อาลีขับวนสอดส่ายสายตาหาซิมบาไปเรื่อย ๆ แต่หญ้าบริเวณนั้นสูงและทึบ จึงไม่พบวี่แววซิมบา นอกจากอิมพาล่าที่มีนกตะกรามมาราบูเดินหากินปะปนในฝูง
      จากนั้น อาลีพาขึ้นเหนือต่อไปที่บึงฮิปโปโปเตมัส ระยะทาง ๒.๕ กิโลเมตร ตัวบึงตั้งอยู่กลางทุ่งโล่งกว้างประมาณครึ่งสนามฟุตบอล ช่วงหน้าฝนทั่วบริเวณคงเจิ่งนองด้วยน้ำจากแม่น้ำมกาตา พอเริ่มแล้งระดับน้ำลดลงจึงเหลือสภาพเป็นบึงหรือสระให้ฮิปโป ๑๐-๑๒ ตัวอาศัย รอบ ๆ ยังมีสระขนาดเล็กอีกสองสามแห่ง เป็นแหล่งอาหารของนกนานาชนิด
      ขอบบึงด้านหนึ่งซึ่งติดต่อกับทางน้ำแห้งมีรอยย่ำของฮิปโปเต็มไปหมด แสดงว่าตอนกลางคืนพวกมันแอบขึ้นมาทางนี้แล้วเดินออกไปหาอาหาร ตามพฤติกรรมที่ติดตัวมา ส่วนกลางวัน พวกมันเอาแต่ลงไปอยู่ใต้น้ำ โผล่เฉพาะจมูกกับลูกตาให้เห็น
      ใกล้ขอบบึงด้านเดียวกันมีกิ่งไม้วางสะไว้เป็นรั้วเตี้ย ๆ ขวางทางเดินสู่สระแห้งที่ปกคลุมไปด้วยหญ้า พร้อมป้ายเตือนว่า "ระวังอันตรายจากจระเข้" แถวนี้คงมีจระเข้อยู่ไม่น้อย ขนาดในสระเล็กยังเห็นลูกของมันตัวหนึ่งนอนผึ่งแดด 
      บริเวณที่ลุ่มต่ำอาจจะต้องระวังตัวสักหน่อย ทว่าเนินดินเหนือบึงฮิปโป นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเดินถ่ายรูป หรือกินอาหารเช้าข้าง ๆ รถได้อย่างปลอดภัย ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะหาจุดลักษณะนี้ได้ไม่มาก และปรกติขณะอยู่บนเส้นทาง ไกด์จะไม่แนะนำให้ลงจากรถอย่างเด็ดขาด
      บางคนเรียกอุทยานแห่งชาติในแทนซาเนียว่า "สวนสัตว์" เพื่อสื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ร่วมกันถึงที่ที่สัตว์อยู่รวมกันมากมายหลายชนิด เข้าไปแล้วเป็นต้องได้เห็นสัตว์ป่าพันเปอร์เซ็นต์ แต่มิกูมี่ย่อมไม่ใช่สวนสัตว์ทั่วไปหรือสวนสัตว์เปิด อย่างน้อยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาย่อมรับรู้ได้ถึงความไม่ปลอดภัย สัตว์ป่าจะหาอาหารเอง จับคู่ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ และในนี้ปราศจากส่วนนันทนาการแบบที่สวนสัตว์พึงมี-อย่างแน่นอน 
 

วิซาดาเซอร์กิต

(คลิกดูภาพใหญ่)       เสร็จสิ้นมื้ออาหารเช้าควบกลางวันริมบึง รายการ--แซนด์วิชชีส + ไข่ต้ม ๑ ฟอง + กล้วยหอม ๑ ลูก + อาลี ๑ คน เข้าร่วมวงกับลูกทัวร์ของเขา (วันนี้ทางโรงแรมจัดอาหารเช้าใส่กล่อง มาพร้อมกับกล่องมื้อกลางวัน ซึ่งลูกค้าสั่งเฉพาะตัว สำหรับคนขับรถ ตกลงกันไว้ว่าจะดูแลตัวเอง) อาลีก็พาย้ายไปทางเหนือตามทางสู่ชัมกอร์ จนถึงดงต้นเบาบับ (baobab) สวยงามที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา เบาบับเป็นไม้ทนแล้งรูปร่างพิสดาร ขึ้นประปรายทั่วไปในแอฟริกา รถจอดแวะสักพักหนึ่งแล้วจึงย้อนกลับลงทางใต้ เพื่อหาทางตัดไปสำรวจเส้นทางหลักอีกเส้น เป้าหมายอยู่ที่ "มานัมโบโก"
      ช่วงนี้เอง อาลีร่ายมนต์เรียกฝูงช้างป่าออกมาให้ยล ทั้งกับฝูงวิลดีบีสต์ หรือที่เรียกกันว่าตัว "นู" ฝูงควายป่าแอฟริกัน ม้าลาย และยีราฟอีกนับฝูงไม่ถ้วน กระจายอยู่รอบ ๆ ทุ่งวิซาดา
      ราวสิบเอ็ดโมง เขาขับรถพาตระเวนถ่ายรูปไปตามเส้นทางหลัก พอถึงทางแยกเข้าวิซาดาเซอร์กิตจึงมองหามุมเหมาะ ๆ สำหรับถ่ายควายป่า มีรถทยอยเข้ามาจอดตามทางอีกสองสามคัน จากจุดนั้นมองเข้าไปในทุ่งหญ้าจะเห็นควายป่ายืนชุมนุมกันเป็นก้อนสีดำขนาดมหึมา ตลอดเวลาที่มองผ่านเลนส์กล้องจะเห็นควายตัวใหญ่ ๆ ผู้ทำหน้าที่ระวังภัยให้ฝูงอยู่ด้านนอก แหงนหน้ามองกลับมาอย่างระแวดระวัง
      นอกจากควายป่าแอฟริกันจะเป็นสัตว์จอมอาฆาตต่อผู้ที่ทำมันเจ็บ (จากการบอกเล่าต่อกันมา) ถึงตรงนี้ยังสังเกตว่า มันมีนิสัยขี้ระแวงไม่แพ้ฮิปโป นู ม้าลาย หรือฝูงนกเงือกดินที่พบ พอรถด้านหนึ่งขยับเข้าใกล้ ฝูงของมันก็ขยับถอยห่างออกไป พยายามรักษาระยะห่างไว้เสมอ 
      แต่นั่นเป็นการมองเทียบจากมุมของมนุษย์ที่อยากเข้าใกล้ เพื่อทำความรู้จัก หรือเพื่อให้ได้ภาพงาม ๆ ของสัตว์ป่าเพียงฝ่ายเดียว เอาเข้าจริง สัตว์จะรำคาญหรือขวัญเสียเพียงใด-ในการที่มนุษย์ เสนอตัวเข้าไปดูอย่างมากมายต่อพวกมัน ซึ่งโดยชีวิตปรกติจะหลบซ่อนตัว ให้พ้นจากสายตาจับจ้องของมนุษย์-ย่อมไม่สามารถรู้ได้
      จากตัวเลขของทางการ อุทยานฯ ทางเหนือที่หมายถึง Northern Safari Circuit ที่มีผู้มาเยือนรวมกันปีละกว่า ๓ แสนคน (ทำให้บางครั้งจะเห็นรถยนต์จำนวนมากกว่าสัตว์ที่ไปดู) สำหรับ Southern Safari Circuit ยังมีนักท่องเที่ยวเบาบาง เทียบชั้นแล้วห่างกันลิบ !
(คลิกดูภาพใหญ่)       รอบ ๆ ทุ่งวิซาดา สภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนากว้างขวาง ต้องถือว่านี่คือ "เซ็นเตอร์พอยต์" ของบรรดาสัตว์กินพืชขนานแท้ มันเปิดโล่งต้อนรับฝูงสัตว์เข้ามาหากินอย่างอิสระ ชีวิตสัตว์ดำรงอยู่ได้ด้วยการกินส่วนของต้นหญ้าที่แตกต่างกัน ม้าลายกินส่วนยอดของหญ้า นูกินส่วนกลาง กาเซลทอมสันเล็มกินส่วนที่ติดผิวดิน นั่นเป็นเหตุผลของการที่สัตว์กินหญ้าหลายชนิด มาอยู่รวมกันได้โดยไม่เกิดศึกแย่งอาหาร
      ไกลลิบ ๆ จากทุ่งหญ้าของฝูงควายป่า เห็นทิวเขาชื่อ รูเบฮ์โอ ทอดตัวเป็นแนวกำแพงด้านตะวันตกของมิกูมี่ อุทยานฯ มิกูมี่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปี ๑๙๖๔ โดยได้ชื่อมาจากหมู่บ้านมิกูมี่ที่อยู่ใกล้ ๆ และเป็นย่านซึ่งมีต้นปาล์มชนิดนี้ปกคลุมอย่างเด่นชัด ในแง่การเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มิกูมี่ไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่เพียงลำพัง พรมแดนด้านใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ มีอาณาเขตติดต่อกับเขตสงวนเซลูวส์ (Selous Game Reserve) พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติหนึ่งในสามแห่งของแทนซาเนีย ซึ่งมีเนื้อที่ ๔,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร และถือว่าเป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา (ใหญ่กว่าอุทยานฯ มิกูมี่ ๑๔ เท่า)
      ช้าง ควายป่า และม้าลายในเขตอนุรักษ์ทั้งสองจะเดินหากินข้ามเขตไปมา ไม่เลือกว่าจะเป็นถิ่นมิกูมี่-เซลูวส์ มันเป็นตัวแทนของความต่อเนื่อง และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเขตอนุรักษ์ทั้งสองครอบครองร่วมกัน 

      พื้นที่ (ป่า) ในแอฟริกานั้นมีหลากประเภทมาก เคยมีคนแบ่งพื้นที่ตามลักษณะพืชพรรณ-สัตว์ชนิดเด่น และสภาวะแวดล้อมในทวีปแอฟริกา ปรากฏว่าสามารถกำหนดพื้นที่นิเวศได้ ๑๒๑ แบบ สำหรับป่ามิกูมี่ก็มีเอกลักษณ์โดดเด่นของตัว เรียกว่า "ป่าไม้พุ่มและป่าเล็กทึบอะเคเชีย-คอมมิโฟราตอนใต้" แม้จะเห็นว่าต้นหนามอะเคเซีย-คอมมิโฟรา เป็นพืชพรรณที่มีอิทธิพลเด่นชัดในพื้นที่ แต่มิได้หมายความว่าจะมีแต่ไม้พุ่มอะเคเซียเท่านั้น มันยังมีทุ่งหญ้าสะวันนา ป่ามิออมโบ ปะปนอยู่ด้วย
      ความสลับซับซ้อนดังกล่าวปรากฏให้เห็นตามเส้นทางจากวิซาดาไปถึงมานัมโบโก... 
      ทิศทางตรงข้ามกับแหล่งที่พบฝูงควายเป็นชายขอบทุ่งวิซาดาด้านใต้ ภาพวิลดีบีสต์เทาวิ่งควบลองกำลังดูโดดเด่นขึ้นมาเนื่องจากมีดงไม้และทิวเขาเตี้ย ๆ รองรับเป็นฉากหลัง ดงไม้นี้เชื่อมต่อไปถึงภูเขาในพื้นที่อุทยานฯ "ฝั่งใต้" ซึ่งเป็นลักษณะของป่าโปร่ง เต็มไปด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีใบแผ่กิ่งก้านมากกว่าบริเวณอื่น ป่าที่สมาชิกส่วนใหญ่มีใบขนาดกว้างคล้ายใบต้นเต็ง ต้นรังนี้ คนทั่วไปรู้จักในนาม "ป่ามิออมโบ" Miombo เป็นคำพื้นเมืองแอฟริกัน โดยทั่วไปใช้เรียกป่าไม้ประเภทที่พบไม้ยืนต้น หนาแน่นกว่าทุ่งหญ้าขึ้นมาระดับหนึ่ง ความชุ่มชื้นก็สูงกว่าด้วย (โดยทั่วไป ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของทุ่งสะวันนาตก ๓๐๐-๑,๒๐๐ มิลลิเมตรต่อปี) ลักษณะคงใกล้เคียงมากกับป่าเต็งรังในทวีปเอเชีย 
      ป่ามิออมโบเป็นแหล่งอาศัยหากินส่วนใหญ่ของ ฮาร์ทีบีสต์ (hartebeest) แอนทีโลปเซเบิล (sable antelope) คูดูเกรเตอร์ (greater kudu) ลิงโคโลบัส เขาเหล่านี้จะเป็นพวกหาตัวยาก (สำหรับที่นี่) แต่เท่าที่พบยีราฟและสัตว์อื่น ๆ ก็เดินหากินไปทั่วบริเวณ ไม่เลือกนักว่าจะเป็นป่าไม้พุ่มอะเคเชีย หรือว่า "ป่าเต็งรัง" แอฟริกา
(คลิกดูภาพใหญ่)       พอฝ่าฟันเข้าเขตมานัมโบโก สภาพป่าเริ่มแน่นหนาขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยไม้พุ่มทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ป่าแบบนี้เป็นที่อยู่ของนกนับร้อย ๆ ชนิด อาลีเชื่อด้วยว่ามีเสือดาวอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้แถวนี้ แต่ยากเหลือเกินจะเจอตัว สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ไม่เฉียดกรายมาให้เห็นอีก นอกจากหมูป่าตัวเดียวเท่านั้น
      ขณะหยุดพักข้างบึงฮิปโปที่มานัมโบโก ทุกคนก็พอเข้าใจว่าทำไมรถซาฟารีของมิกูมี่จึงมีแต่รถเล็กและอยู่ในสภาพสมบุกสมบันทั้งสิ้น

      ซิมบา
      "ซิมบา" ตัวแรกที่พบก็อยู่ใกล้ ๆ ทุ่งวิซาดา...
      ขณะเวลาใกล้เที่ยง อาลีจบการสนทนา (ในรถ) กับคนขับมินิบัสของอุทยานฯ - คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับตำแหน่งที่สัตว์ออกหากินวันนี้ตามเคย - เขาขับรถคู่ใจออกมาอยู่บนทางมานัมโบโก ซึ่งยาวไกลถึง ๒๘ กิโลเมตร 
      รถจี๊ปตรวจการณ์คันหนึ่งแล่นสวนทาง และเป็นอีกครั้ง...ที่คนขับโผล่ออกมาส่งภาษาพื้นเมืองว่าเขาพบ "ซิมบา" หลังจากอาลีกล่าวว่า "อะซานเต้" - ขอบคุณ เขาดูมั่นใจมาก เพราะช่วงเวลาที่พบซิมบาหนนี้กระชั้นชิดกว่าคราวแรกมาก
      รถจี๊ปแทบไม่ทันลับสายตา ทุกคนในรถก็เห็นวัตถุสีเข้มในทุ่งหญ้าริมทาง ระยะห่างราว ๗๐๐ เมตร พอรถใกล้เข้าไปจนเกือบถึงตัว นางซิมบาก็ค่อย ๆ เดินผ่านหน้ารถข้ามถนนไปอีกฝั่ง ไม่ได้สนใจสายตาที่จับจ้องมันอยู่เลยแม้สักน้อยนิด
      ซิมบาเป็นสัตว์น่าทึ่ง แต่ความรู้สึกขณะนั้น สิ่งน่าทึ่งไม่แพ้กันคือการสื่อข่าวสารระหว่างคนขับรถท่องซาฟารีด้วยกัน ซึ่งต้องหาอยู่หากินกับสัตว์ป่าในลักษณะไม่เป็นธุรกิจเต็มตัว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีแม้แต่วิทยุติดรถยนต์
      ..............................................
      อาลีพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า "โชคดีนะที่ได้เห็นซิมบา" 
      ความจริงเขาอาจต้องการจะบอกว่า "โชคดีนะ...ที่เห็นเจ้าซิมบาเดินในป่า" เพราะนับแต่นั้นมาทั้งป่ามิกูมี่ก็ไม่พบซิมบาตัวไหน "เดินได้" อีกเลย
      แมวใหญ่ชนิดนี้เป็นสัตว์โคตรขี้เกียจอย่างไม่น่าให้อภัย ยิ่งถ้าท้องอิ่มด้วยแล้วมันจะใช้เวลา ๑๖-๑๘ ชั่วโมงในแต่ละวันนอนอยู่ใต้พุ่มไม้ การนอนอาจจะไม่ต่อเนื่องเพราะอยู่กลางทุ่งที่ร้อนระอุ พักหนึ่งมันจะหาว เอาตีนเขี่ย ๆ ต้นไม้เล่น... (ทั้งที่นอนอยู่) แล้วก็หลับต่อไป กรณีอยู่กันหลายตัวก็อาจชันตัวขึ้นคลอเคลียกันหน่อย แล้วก็ล้มตัวนอนเหยียดยาว จนเวลาใกล้พระอาทิตย์ตกถึงค่อยลุกขึ้นมาบิดขี้เกียจ แล้วเริ่มคิดว่าจะหาจับอะไรกินต่อไป ซึ่งภาระหาเหยื่อจะตกอยู่กับซิมบาตัวเมียเป็นส่วนใหญ่! 
      ในแง่การนอนการกิน ซิมบาจึงอยู่คนละขั้วกับยีราฟอย่างสิ้นเชิง ตลอดทั้งวัน ยีราฟจะนอนหลับรวมเวลาไม่เกิน ๕-๓๐ นาทีเท่านั้น แล้วมันก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกินใบไม้
(คลิกดูภาพใหญ่)       อาลีเป็นผู้นำซาฟารีที่ขยันสอดส่ายสายตาและประสาทสัมผัสดีเยี่ยม เขาอ่านใจลูกทัวร์ได้บ่อย ๆ ว่าอยากให้หยุดรถเพื่อถ่ายรูปหรือเปล่า ทว่าบางครั้งความเข้าใจเขาก็คลาดเคลื่อน... 
      เช่นคราวที่เขาตั้งใจจะตระเวนหาซิมบาให้พบอีกสักตัว ขณะที่ลูกทัวร์เอาแต่สั่งขยับเดินหน้าถอยหลังหวังจะตามฝูง "นกเงือกดินถิ่นใต้" ไปให้เห็นจะ ๆ นอกจากนี้ใกล้ ๆ กันยังมีหมาป่าแจ๊กกัล อาลีจึงเปรยด้วยความสงสัย "ทำไม...นกสวย หมาป่าสวย แล้วซิมบาไม่สวยหรือไง ?" 
      ทุกคนเห็นความเป็นเอตทัคคะด้านการมองในตัวมัคคุเทศก์อีกครั้งตอนกลับจากมานัมโบโก เขาบึ่งรถผ่านต้นไม้ใหญ่ที่มีพุ่มไม้เล็ก ๆ บังอยู่แล้วจึงถอยรถกลับไป หลังพุ่มไม้ห่างออกไปไม่เกิน ๑๕ เมตร ที่นั่นเอง...นางสิงโตสองตัวนอนอยู่นิ่งราวกับท่อนไม้ แม้ขับรถด้วยความเร็ว เหนื่อยล้าจากการมองมาทั้งวัน อาลีก็สามารถแยกภาพซิมบา (นอน) ออกจากพื้นหญ้าได้ 
      นางซิมบาน่าจะทำให้วันซาฟารีที่แสนอับโชคเรื่องแดดจบอย่างงดงาม อาลีจึงดับเครื่องและซุ่มรอเวลาตื่น
      เวลาเคลื่อนจากบ่ายสี่โมงจนเกือบหกโมงเย็น มีรถเก๋งอีกสองคันเข้ามาจอดข้าง ๆ คันแรกเป็นรถของคนพื้นถิ่นซึ่งพาสาวชาวตะวันตกมาด้วยคนหนึ่ง ส่วนอีกคันเห็นได้ว่าเป็นของครอบครัวชาวแทนซาเนีย 
      หญิงสาวคนนั้นสอดตัวออกนอกหน้าต่างรถ แล้วเอาแต่ถ่ายรูปสลับกับส่งเสียงร้องด้วยความปีติ ส่วนชายเชื้อสายอาหรับที่มาด้วยมีเบียร์กระป๋องติดมือตลอด ต่อมารถของครอบครัวคงเห็นว่าตัวเองถูกบังให้มองเห็นซิมบาไม่ถนัด จึงวกออกนอกเส้นทาง เข้าไปในทุ่งอีกด้านหนึ่งของพุ่มไม้ 
      เท่านั้นเอง นางซิมบาทั้งสองก็ตื่น... 
      รถคันดังกล่าวดูเหมือนพอใจแล้วที่นางตื่นเสียได้ จึงล่าถอยไปที่อื่น 
      ความที่อีกด้านเป็นมุมเปิดมองเห็นถนัดกว่า รถเก๋งคันที่เหลือจึงวกเข้าทุ่งหญ้าบ้าง และ...ในที่สุดรถของอาลีก็ตัดสินใจตามเข้าไปจอดอยู่ห่าง ๆ ความผิดร้ายแรงและเหตุชุลมุนยังไม่จบแค่นั้น ชายชาวอาหรับส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกมาที่รถอาลี เพื่อขอยืมฟิล์มไปให้หญิงสาว ทันใดนั้นเขาก็เสี่ยงเปิดประตูรถ วิ่งอ้อมมาเอาฟิล์มหนึ่งม้วน !
(คลิกดูภาพใหญ่)       พรานใหญ่ของแอฟริกาคนหนึ่งเคยกล่าวว่า แมวใหญ่พวกนี้ไม่กลัวรถ เพราะอาจคิดว่ารถเป็นสัตว์ใหญ่ชนิดหนึ่ง กลิ่นน้ำมันเบนซินยังช่วยกลบกลิ่นมนุษย์ได้อย่างดี ถึงขนาดนั้น..ก็เชื่อว่าเขาคงไม่เคยชะล่าใจตะโกนเสียงดัง แล้วลงมาวิ่งต่อหน้าต่อตานางสิงห์สองตัวเป็นแน่... 
      (เมื่อเจอกันที่เกสต์เฮาส์เช้าวันรุ่งขึ้น หญิงสาวจ่ายเงินค่าฟิล์มให้และกล่าวขอบคุณ เธอเล่าว่าตามสิงโตคู่นั้นไปเจอกับฝูงใหญ่ มีตัวผู้สองตัว พร้อมกับลูก ๆ ของมัน รวมทั้งฝูงถึง ๑๒ ตัว) 
      ภาพนางสิงโตหยอกเย้ากัน...ต่อเนื่องถึงท่าผงาดยืนนั้นน่าประทับใจ มันบอกเรื่องราวของวันนี้เกือบครบถ้วน ว่าแอฟริกาที่ซึ่งสัตว์และมนุษย์อยู่ร่วมกันมานานกว่า ๓ ล้านปี ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เหลืออยู่พอควร สัตว์ผู้ล่าและเหยื่อยังคงท่องอยู่ตามป่า และทุ่งหญ้าสะวันนา ขณะที่อาณาบริเวณส่วนใหญ่ของโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น ช้าง สูญพันธุ์แต่ยุคไพลสโตซีน เมื่อราว ๑ หมื่นปีมาแล้ว สาเหตุอาจเพราะถูกมนุษย์ล่า ในแอฟริกา เหตุผลง่าย ๆ ข้อหนึ่งที่สัตว์ขนาดใหญ่ยังคงอยู่รอด คือมีมนุษย์อาศัยอยู่เบาบาง สังคมแบบชนเผ่า และเศรษฐกิจ "พอเพียง" ในยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจกับการขยายตัวของชุมชน การรุกราน หรือแม้แต่รอยเหยียบย่ำทำลายเล็ก ๆ โดยฝีมือมนุษย์

      ขณะแสงสว่างลดน้อยแทบไม่เพียงพอต่อการถ่ายรูป ระยะทางไปถึงประตูเหลืออยู่ไม่ไกล อาลีหยุดรถของเขาอีกครั้ง บนพื้นดินห่างจากล้อรถเพียง ๑ เมตร แม่นกกระแตกำลังกกไข่ในหลุม-ซึ่งวางบนไหล่ทาง 
      แม่นกเตลิดวิ่งหนี "การจ้องมอง" ออกไปยืนอกสั่นขวัญแขวน...แล้วเดินวนเข้า ๆ ออก ๆ ตรงนั้นอยู่เป็นนาน 
      ตรงทางแยกใหญ่ใกล้กับประตูเข้า-ออก มีป้ายเตือนอันหนึ่งเขียนข้อความว่า "ห้ามขับรถออกนอกเส้นทางที่กำหนด" ทั่วอุทยานฯ น่าจะมีพืชหรือสัตว์เล็ก ๆ แบบเดียวกับรังนกกระแตดำรงชีวิตอยู่ใกล้ชิดขอบทางมากมาย 
      (นักท่องเที่ยวน่าจะเข้าใจว่า อันตรายร้ายแรงของการฝ่าฝืนข้อบังคับ จะไม่ได้ตกอยู่กับตัวเขาเท่านั้น)
 

ภาคสอง

(คลิกดูภาพใหญ่)       ซาฟารีที่หมายถึงการเดินทางชมไพร มิได้จำกัดด้วยการนั่งรถยนต์เท่านั้น มีหนทางให้เลือกอีกหลากหลาย เช่นนั่งเรือ นั่งรถไฟ ขี่บัลลูน และสำหรับบางพื้นที่ในแทนซาเนียเปิดโอกาสให้ซาฟารีด้วยการเดิน (walking safaris) ที่อาจเรียก "ซาฟารีเท้า" 
      ความหมายแท้จริงคงได้แก่การเดินดูสัตว์ แกะรอย ตามเส้นทางระยะสั้น ๆ ระหว่างแคมป์ ซึ่งต่างจากการเดินป่าในลักษณะ trekking การซาฟารีอาจใช้เวลาเพียง ๒ หรือ ๓ ชั่วโมง เพราะมักจะออกสตาร์ตแต่เช้าตรู่หรือไม่ก็ตอนบ่ายแก่ ๆ พอมีเวลาให้หยุดสังเกตธรรมชาติ ดูนก ให้ไกด์แกะรอยสัตว์ป่า...นำความตื่นเต้นเล็ก ๆ น้อย ๆ มาสู่คณะ แล้วกลับถึงแคมป์หลักก่อนค่ำ ดู ๆ แล้วเวลาเดินก็เป็นช่วงหาเหยื่อของซิมบาพอดี เขาจึงนิยมจัดเส้นทางเดินง่าย ๆ ดูแล้วว่าปลอดภัยภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ข้อสำคัญคือต้องมีเจ้าหน้าที่หรือคนนำทางไปด้วยเสมอ
      แน่ละ...ซาฟารีเท้าคุณจะไม่ได้เห็นฝูงสัตว์ป่าดกดื่นหลากชนิดเหมือนนั่งรถ แต่ป่าก็จะให้ประสบการณ์อีกระดับหนึ่งอย่างสมบูรณ์ ว่ากันว่าเมื่อเท้าสัมผัสพื้นดิน จะปราศจากสิ่งขวางกั้นระหว่างคุณกับสรรพเสียงของพงไพร กับกลิ่นทั้งสดและสาบ กับป่าหญ้าหรือหนามที่ต้องผจญทุกฝีเก้า 
      แทนซาเนียได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกที่บุกเบิกกิจกรรม walking safaris อุทยานฯ ที่ได้รับการแนะนำมีหลายแห่ง แต่ที่ดูว่าน่าสนใจคงเป็นอุทยานแห่งชาติอรุชา ใกล้กับภูเขาคิลิมันจาโร ทางด้านเหนือ อุทยานแห่งชาติรัวฮา เขตสงวนเซลูวส์ ทางด้านใต้ และทางตะวันตกสุดของประเทศ อุทยานแห่งชาติกอมเบสตรีม ที่นั่นมีศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ชิมแปนซี ก่อตั้งโดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เจน กูดัล เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว ถ้ามีโอกาสไปเยือนก็นับว่าควรค่าแก่การเดินอย่างยิ่ง (ทั้งหมดดูจากแผนที่หน้า.......) 
      แม้แต่ "เขาอุดุซุงก์วา" ซึ่งเป็นอุทยานฯ เล็ก ๆ แทบไม่ปรากฏบนแผนที่ ก็ได้รับการเอ่ยอ้างศักยภาพการเป็นแหล่ง walking safaris --แหล่งหนึ่งในท่ามกลางดินแดนที่อัดแน่นด้วยแหล่งซาฟารียิ่งใหญ่ มากด้วยตำนานอย่างแทนซาเนีย
 

ป่าอาร์กตะวันออก

(คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าวันนี้ลูกทัวร์ทั้งสองของอาลีไม่มีรถ บัลลูนก็หาไม่ได้ ในภาวะที่เงินชิลลิงและดอลลาร์ในกระเป๋าพร้อมใจกันขาดสภาพคล่อง หากใจยังร่ำร้องหา "ภูเขาอุดุซุงก์วา" (Udzungwa Mountains National Park) ราวกับผู้ป่วยติดเชื้อไข้ซาฟารี 
      พวกเขาต้องทำอะไรลงไปสักอย่าง...
      "เขาอุดุซุงก์วา" อยู่เลยเมืองมิกูมี่ไปทางใต้ ๘๐ กิโลเมตร ชื่อบอกอยู่แล้วว่าเนื้อหาของมันหนักไปทางทางภูเขา ไม่ใช่ที่ราบชุ่มน้ำแบบทุ่งมกาตา อย่างไรก็ตาม ดูจากแผนที่แบน ๆ จะเห็นเพียงอาณาเขตพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าขนาดกะทัดรัดวางอยู่ใต้อุทยานฯ มิกูมี่ ใกล้กับเขตสงวนเซลูวส์ เจ้าสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่านี้คือเขตอนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๒ แม้อุทยานฯ อุดุซุงก์วาจะมีเนื้อที่เพียง ๑,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร ทว่าตัวตนของมัน...ผิดกันลิบลับกับขนาด 
      ย้อนกลับไปเมื่อกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้สำรวจลักษณะพืช สัตว์ และสภาวะสิ่งแวดล้อมแถบแอฟริกาตะวันออก ภายหลังเมื่อนำข้อมูลปะติดปะต่อกัน ก็พบว่าพันธุ์พืชที่กระจายตัวอยู่ในเทือกเขาด้านตะวันออกของแทนซาเนีย มีลักษณะโดดเด่นและมีความสำคัญด้านนิเวศวิทยามาก จึงมีความเห็นร่วมกันว่าป่าเขาบริเวณนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน จึงได้ตั้งชื่อ กำหนดอาณาบริเวณให้ชัดเจนเพื่อง่ายแก่การวางแผนอนุรักษ์ โดยใช้ชื่อว่า "ป่าอาร์กตะวันออก" หรือ Eastern Arc Forest ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าภูเขาที่ปกคลุมด้วยผืนป่ามีลักษณะโค้งเหมือนพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว โดยทอดตัวโค้งจากตอนใต้ของประเทศเคนยาลงไปทางตะวันออก ผ่านเขตจังหวัดโมโรโกโรของแทนซาเนียลงมายังเขตที่สูงตอนใต้ สิ้นสุดที่เขาอุดุซุงก์วา
      เขาอุดุซุงก์วาจึงเป็นพรมแดนด้านใต้ของป่าอาร์กตะวันออก และเป็นพรมแดนที่ยังเก็บงำความอุดมสมบูรณ์ของอดีตไว้ ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน
(คลิกดูภาพใหญ่)       เหตุที่นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นกับป่าอาร์กตะวันออก เพราะมันเป็นผืนป่าเก่าแก่ที่ตกค้างจากยุคทางธรณีวิทยาหรือยุคทางภูมิอากาศกว่า ๑๐๐ ล้านปีมาแล้ว พวกเขาพบว่าป่าผืนนี้เคยเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกับป่าใหญ่ทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ก่อนแผ่นดินแอฟริกาจะเลื่อนตัวแยกออกจากกันด้วยแนวแยก "หุบเขาริฟต์" (Great Rift Valley) อันแห้งแล้ง ทำให้ป่าดิบชื้นบนที่ราบสูงตอนกลางของทวีป ซึ่งเคยทอดตัวต่อเนื่องจากตะวันตกถึงตะวันออกแยกตัวจากกันอย่างสิ้นเชิง ผืนป่าดิบชื้นเกือบทั้งหมดถูกกันอยู่ซีกตอนกลางและตะวันตก ส่วนซีกตะวันออกเหลือผืนป่าน้อยนิดตามแนวโค้งของภูเขารูปพระจันทร์เสี้ยว
      แม้ภูมิอากาศโลกจะผ่านเข้าสู่ยุคน้ำแข็งและสภาวะแห้งแล้งเป็นเวลานานหลายครั้ง ป่าอาร์กตะวันออกก็ยืนหยัดผ่านมาได้ เชื่อกันว่าปัจจัยซึ่งหล่อเลี้ยงผืนป่าให้มีชีวิตรอดคืออิทธิพลลมมรสุมที่หอบพาไอน้ำ และความชื้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย ภายใต้สภาวะภูมิอากาศอันคงที่ปราศจากการรบกวนจากภายนอกยาวนาน ป่าเขาแห่งนี้จึงเป็นแหล่งพักพิงของชีวิตพันธุ์ซึ่งหาไม่พบที่อื่น เพราะมีโอกาสวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูงมาก มันคับคั่งด้วยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ราวหนึ่งในสามของประเทศแทนซาเนีย ซึ่งรวมถึงพันธุ์พืชและสัตว์เฉพาะถิ่นมากมาย จากจำนวนพันธุ์พืชกว่า ๒,๐๐๐ ชนิดที่ถูกค้นพบจากเทือกเขา ราวหนึ่งในสี่เป็นพืชเฉพาะถิ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์เดินทางมาถึง ป่าอาร์กตะวันออกตอนบนก็ค่อย ๆ สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย หลงเหลืออยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาอูซัมบารา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเป็นบางส่วน และตามแนวเทือกเขาอูรูกูรู (เขตจังหวัดโมโรโกโร) อีกเล็กน้อย 
      เขาอุดุซุงก์วาเป็นข้อยกเว้นเพราะมีประชากรมนุษย์อาศัยอยู่เพียงเบาบาง จึงยังสามารถพบผืนป่าในลักษณะต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ตั้งแต่ที่ราบเชิงเขาขึ้นไปถึงยอดเขาสูงบริเวณใจกลางอุทยานฯ 
 

ริมสายน้ำเกรตรัวฮา

(คลิกดูภาพใหญ่)       หากจะมุ่งไปที่ทำการอุทยานฯ เขาอุดุซุงก์วา จะต้องใช้เส้นทางมิกูมี-อิฟาคารา ถนนเส้นนี้แยกจากทางหลักสาย A7 ตรงทางแยกนอกเมืองมิกูมี่ลงไปทางใต้ จากนั้นมันจะเลื้อยเฉียดแนวเขตด้านตะวันออกของอุทยานฯ จนไปถึงทางเข้าอุทยานฯ ที่มังอูลา อันที่จริงเมื่อไปถึงบริเวณดังกล่าว เขตสงวนเซลูวส์ก็อยู่ห่างจากฝั่งถนนตรงข้ามอุดุซุงก์วาไม่มาก แต่ยามนี้อะไร ๆ ดูจะไกลเกินเอื้อมไปหมด... 
      โชคเข้าข้างอยู่บ้าง อุดุซุงก์วาไม่ได้เข้าถึงได้ทางเดียว ถนนสาย A7 เองก็ลากผ่านพรมแดนของอุทยานฯ ด้านทิศเหนือ ทางหลวงสายนี้เปิดโอกาส เชิญชวนคนผ่านทางให้มองดูมันจากหน้าต่างรถโดยสาร- -เห็นความสง่างามของภูเขาหินแกรนิตลูกมหึมา และระดับต่ำลงมา ต้นเบาบับยักษ์และพืชทนแล้งบางชนิดกระจายปกคลุมพื้นที่แทบทุกตารางนิ้ว กินอาณาบริเวณกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา โดยมีแม่น้ำเกรตรัวฮาและฝูงลิงบาบูนตรงเชิงเขา เพียงสองสิ่งที่สำแดงอาการเคลื่อนไหว... --เป็นไปได้ไหมว่า ทัศนียภาพเยี่ยงนี้อาจหาไม่พบอีกแล้วจากดินแดนอื่น
      ทว่ามุมมองจากยานพาหนะยังต่างลิบลับกับมุมมองของคนเดินเท้า....
      ก่อนลงรถโดยสารเพื่อเดินเลียบน้ำเกรตรัวฮา (Great Ruaha) ต้องเล่าก่อนว่าแม่น้ำซึ่งทำหน้าที่เป็นพรมแดนตลอดแนวด้านเหนือของอุทยานฯ (รูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า...อย่าลืม) ไหลมาจากเทือกเขาทางตะวันตกของเขาอุดุซุงก์วา ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร ริมฝั่งเกรตรัวฮาบริเวณดังกล่าวก็มีอุทยานฯ ขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง ชื่อของอุทยานฯ "รัวฮา" ได้มาจากแม่น้ำ
      พ้นจากเขาอุดุซุงก์วา แม่น้ำไหลผ่านชายขอบด้านใต้อุทยานฯ มิกูมี่ก่อนเข้าสู่ใจกลางเขตสงวนเซลูวส์ แล้วรวมกับแม่น้ำรูฟิจิกลายเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ก่อนจะไปสิ้นสุดการเดินทางที่มหาสมุทรอินเดีย ทั้งแม่น้ำเกรตรัวฮาและรูฟิจิถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ 
      น่าสนใจว่าอุทยานฯ รายทาง Southern Safari Circuit ต่างก็เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเกรตรัวฮาถ้วนทั่ว คล้ายมันผูกชะตาไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกัน ธารน้ำอันเกิดจากเทือกภูสูงในอุทยานฯ ก็รินพลังต่อเติมชีวิตแก่สายน้ำด้วย 
      ..........................................
      เมื่อเดินจากถนนลดเลี้ยวผ่านดงต้นเบาบับ (baobab) และไม้พุ่มเตี้ย ๆ ไปไม่ถึงอึดใจก็ยินเสียงน้ำไหล เดินตามทางดินแห้งแข็งที่มีหญ้าขึ้นปกคลุมต่ออีกหน่อยก็ถึงฝั่งน้ำ ลักษณะเป็นตลิ่งไม่สูง แม่น้ำเกรตรัวฮาช่วงนี้ไม่กว้างใหญ่เหมือนชื่อ ทว่าน้ำลึกและไหลเชี่ยว บางตอนมีแก่งหินระกะ เกิดเสียง ซ่...า..ซ่...า ของกระแสน้ำที่ไหลเข้าปะทะมันตลอดเวลา
(คลิกดูภาพใหญ่)       เหนือตลิ่งอีกฝั่งก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เนินเขาทั้งลูกมีแต่เบาบับกับเพื่อนของมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นหนามรูปร่างผอมเกร็งและตะบองเพชร ยืนชูกิ่งก้านอย่างอิดโรย...แต่ก็แฝงด้วยความแข็งแกร่งในตัว ใครบางคนเคยบอกว่า พวกมันคือทหารที่หลงเหลือจากกองทัพซึ่งได้ชัยชนะจากสงครามความแห้งแล้งนั่นเอง 
      ลิงบาบูนที่แทบไม่มีโอกาสเจอตัวในมิกูมี่กลายเป็นเจ้าถิ่นจอมซ่าของที่นี่ ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ไม่ค่อยชอบปีนต้นไม้ ชอบอยู่ตามพื้นมากกว่า โดยเฉพาะช่วงถนนที่ตัดผ่านไหล่เขา พวกมันจะพากันลงมาวิ่งเล่นตามถนน หรือลงไปกินน้ำและหาอาหารริมตลิ่ง แม่ลิงที่พบหลายตัววิ่งหลบรถบัสทั้ง ๆ กระเตงลูกไว้กับอก ลิงบาบูนเป็นไพรเมต ๑ ใน ๑๐ ชนิดที่พบในอุทยานฯ อุดุซุงก์วา ดูแล้วก็น่าจะเหมาะกับป่าซึ่งมีความหลากหลายด้วยชนิดพันธุ์พืชเช่นนี้ เพราะบาบูนเป็นนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถแยกแยะพืชมีพิษกับพืชที่กินได้ และขุดหาหัวพืชที่อุดมด้วยสารอาหารจากดินได้โดยดูจากใบที่โผล่ขึ้นมาเพียงใบเดียว
      กลางเปลวแดด ชายคนหนึ่งเดินมาตักน้ำในแม่น้ำ 
      เขามาจากหมู่บ้านที่อยู่ริมถนนฝั่งตรงข้าม ความจริงแล้วมันไม่น่าจะใช่หมู่บ้านหรอก เพราะมีบ้านดินปลูกใกล้ ๆ กันกระหย่อมหนึ่งราวสี่ห้าหลังเท่านั้น ตลอดระยะทาง ๒๐ หรือ ๓๐ กิโลเมตรแนวชายขอบอุทยานฯ มีหย่อมบ้านแบบนี้ สามแห่ง และเป็นที่นี่กับอีกหย่อมบ้านที่อยู่เลยขึ้นไป ๒ กิโลเมตร ที่เป็นต้นเหตุทำให้การเดินเลียบแม่น้ำต้องหยุดลงชั่วขณะ... 
      สองหย่อมมีขนาดใกล้เคียงกัน ตัวบ้านก่อเป็นทรงสี่เหลี่ยมด้วยก้อนดินอัดตากแห้ง ด้านหน้ามีลานกลางบ้านขนาดพอเหมาะ และตั้งอยู่ท่ามกลางดงเบาบับอันงามแปลกตาคล้ายคลึงกัน ส่วนด้านหลังมีแปลงข้าวโพดขนาดหยิบมือ และส้วมหลุม...ที่มีตับหญ้าล้อมไว้หมิ่นเหม่ - - แม้กระทั่งห้องส้วมก็ราวกับถูกจัดวางให้ดูหมิ่นเหม่ ให้ดูสันโดษอะไรเยี่ยงนั้น 
      สำหรับคนต่างแดน อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าดูเป็นแอฟริกา เสียยิ่งกว่าตัว "แอฟริกา" เองเสียอีก ตัว "แอฟริกา" นี้เรามักวาดไว้ในใจจากการฟังเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมา อย่างเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต-ชนเผ่าก็มักจะนึกถึงชาวมาไซห่มผ้าแดง ยืนยิ้มหน้าบ้านทรงกระโจมหลังคามุงหญ้า มายาคตินั้นอาจจะเปลี่ยนไป (บ้าง ?) ก็ต่อเมื่อได้มาเห็น "ของจริง" แม้จากการไปเที่ยวหรือใช้ชีวิตก็ตาม...เพื่อจะสร้างมายาคติชุดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งแน่ละ...ต่อแต่นี้ไป มายาคติเกี่ยวกับแอฟริกาของคนบางคนก็ได้เปลี่ยนไป ด้วยมาเห็นแอฟริกาที่มีลักษณะ "ดั้งเดิม" กว่าความเป็นแอฟริกาแบบทั่ว ๆ ไปเสียแล้ว
 

มบูยูนี

(คลิกดูภาพใหญ่)       ตำบลชื่อ มบูยูนี (Mbuyuni) ตั้งอยู่ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำเกรตรัวฮา เป็นชุมชนใหญ่ที่สุด ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกอุทยานฯ อุดุซุงก์วาด้านเหนือ ชื่อมบูยูนีในภาษาสวาฮิลี ทำให้เข้าใจว่าน่าจะมาจากคำว่า mbuyu ซึ่งคนพื้นเมืองใช้เรียกต้นเบาบับ อาจหมายถึง เมืองแห่งเบาบับ เพราะมันเจริญงอกงามดีเหลือหลาย
      ต้นเบาบับพบเฉพาะในแอฟริกา มาดากัสการ์ และออสเตรเลีย ทั้งหมดมีอยู่ ๘ หรือ ๙ ชนิดด้วยกัน แต่ละชนิดมีขนาด-รูปร่างต่างกันไปไม่ผิดกับคนเรา คือมีทั้งพวกสูงไม่มาก ลำต้นไม่อวบ, สูงใหญ่ ลำต้นอวบ หรือสูงปานกลาง ลำต้นอวบมาก แอฟริกาและเกาะมาดากัสการ์ เป็นแหล่งรวมของเบาบับเกือบทุกชนิดพันธุ์ คนพวกหนึ่งจึงเรียกมันว่า "ต้นแอฟริกา" คนอีกพวกเห็นว่ามันเป็น "ต้นไม้ปิศาจ" ด้วยมีรูปร่างเหมือนต้นไม้ที่ยักษ์ถอนขึ้นมาแล้วเอายอดปักลงดิน ให้รากชี้ฟ้า แถมตรงกลางลำต้นอวบอ้วน บางชนิดมีตุ่มตาลายพร้อย ความใหญ่โตและหน้าตาโบราณของเบาบับทำให้นึกไม่ออกเลยว่าตอนงอกเป็นกล้า ไม้มันมีสภาพเป็นเช่นไร
      เจ้า "มบูยู" ไม่ได้โดดเด่นแค่รูปกายภายนอก มันยังเป็นต้นไม้ที่มีชีวิตยืนยาว บางต้นมีอายุถึง ๑,๐๐๐ ปี อึดอดต่อสภาวะแห้งแล้งโดยเก็บน้ำไว้ใช้ยามจำเป็นที่ลำต้น แล้วลดขนาด-ปริมาณของใบลงให้เหลือน้อยที่สุด ข้อสำคัญ ชาวพื้นเมืองนำมันมาใช้ประโยชน์ได้หลายทาง เช่น กินใบและผล เปลือกไม้สามารถนำมาฟั่นเชือกหรือทำเครื่องนุ่งห่ม กระดาษก็สามารถทำได้จากยางไม้ หรืออาจนำลำต้นซึ่งตรงและจุมาทำท่อน้ำ คนบางกลุ่มเชื่อว่ามบูยูมีสรรพคุณเชิงสมุนไพร ขณะที่ชาวมุสลิมในเมืองจะรักษามบูยูขนาดใหญ่ไว้สำหรับประกอบพิธีชำระมลทิน 
      ผลของมบูยูคล้ายฝักนุ่นแต่อวบและใหญ่กว่า หากเดินผ่านต้นไม้ชนิดนี้ตามชนบท อาจพบว่าผลร่วงบางผลมีรอยแกะกิน โดยเขาจะกินเนื้อสีขาวรอบ ๆ เมล็ด ด้วยประโยชน์มากอย่างนี้ แม้มบูยูจะไม่มีใบหนาทึบพอจะให้ร่มเงา แต่คนก็ยินดีอยู่ร่วมกับมันโดยไม่คิดตัดฟันทิ้ง

      ซาฟารีเท้าในอุดุซุงก์วาของบางคนอาจหมายถึงการปีนพิชิตยอดลูฮ์อมเบอโรซึ่งอยู่สูงที่สุด ดูฮิปโป จระเข้ตามแม่น้ำ แต่กับคนที่ทำได้เพียงเหยียบโขดหินชื่นชมแม่น้ำรัวฮา มีโอกาสแกะต้นหนามอันร้ายกาจออกจากกางเกง หรือหาวิธีที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับลิงบาบูนได้ก็แสนดีใจ และหากเหลือเวลาเก็บเมล็ดมบูยูจากฝักร่วง เพื่อเอากลับไปทดลองปลูกยังอีกฟากของมหาสมุทรก็จะดีมาก
(เพราะไม่แน่ใจ ว่าชีวิตนี้ "ร่มเงา" ของต้นไม้ยักษ์จะมีโอกาสต้อนรับเขาที่แอฟริกาอีกสักครั้งหรือเปล่า) 
      .........................................
      * ภาษา Swahili คำเต็มคือ Kiswahili เป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายแถบชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ประเทศโซมาเลียลงมาถึงโมซัมบิก บางประเทศใช้เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาอังกฤษ มีรากเดิมมาจากการผสมผสานระหว่างภาษาแอฟริกันพื้นเมือง ภาษาอาหรับ และเปอร์เซีย หากเอ่ยถึงวัฒนธรรมสวาฮิลี จะหมายถึง วัฒนธรรมอิสลามแถบชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก
 

อ้างอิง 

(คลิกดูภาพใหญ่)       เคนยา ซาฟารี โดยธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, โอภาส ปฏิมานุเกษม , ๒๕๔๖
      แผนที่อาณาจักรธรรมชาติแอฟริกา National Geographic (ฉบับภาษาไทย) พฤศจิกายน ๒๕๔๔
      Lonely Planet Tanzania, 2002
      สารานุกรมภาพสำหรับเด็ก แปลจาก Children's Illustrated Encyclopedia โดย รักลูก, ๒๕๓๗
 

ขอขอบคุณ

        ขอขอบคุณ พี่อ้อย ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสภาพป่าในแอฟริกา, รุ่งโรจน์ จุกมงคล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนก
      และขอขอบคุณสายการบินกัลฟ์แอร์