นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๔ เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๔ เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ "จากโลกสีครามสู่ตู้ปลา"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๔ เดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากโลกสีครามสู่ตู้ปลา...ความสำเร็จในการเพาะพันธุ์

  เรื่อง : อาทิตย์ ประสาทกุล 
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
 
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       "พ่อครับพ่อ มาดูตู้ปลาตู้ใหม่ของผมดีกว่า เพิ่งจัดเสร็จเมื่อตะกี้นี่เองครับ"
      "..."
      "ปลาทะเลครับพ่อ"
      "..."
      "นี่ไงครับ ปลาการ์ตูนกำลังเล่นอยู่กับดอกไม้ทะเลอยู่เชียว น่าสบายดีแท้"
      "..."
      "ตัวละ ๒๐ บาทเองครับพ่อ แต่ตัวนั้นอีกพันธุ์หนึ่ง มันหายากกว่าเลยแพงหน่อย ตัวละ ๕๐ บาท"
      "..."

      ขณะนั้นผมอายุ ๑๖ ปี ได้เป็นเจ้าของตู้ปลาทะเลที่สวยสดงดงามด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายสีสัน นั่นเป็นตู้ปลาทะเลตู้แรกในชีวิต--จากเงินเก็บออมทุกบาททุกสตางค์ของตัวเอง 
      การประสบความสำเร็จในการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ค่อยมีใครเลี้ยงได้รอด ทำให้ผมภาคภูมิใจมาก 
      ผมรู้ดีว่าการเลี้ยงปลาทะเลในตู้แตกต่างจากการเลี้ยงปลาน้ำจืดโดยสิ้นเชิง ผมจึงเตรียมการอยู่นานพอสมควร ทั้งซื้อหนังสือคู่มือการเลี้ยงปลาทะเลฉบับภาษาไทยที่มีเพียงเล่มเดียวมาอ่าน และสอบถามจากพ่อค้าแม่ขายปลาทะเลสวยงามว่าจะต้องดูแลจัดเตรียมอะไรอย่างไรบ้าง พร้อม ๆ กับเริ่มหยอดกระปุกเก็บเงินไว้ใช้ในการนี้
      ในที่สุดทุกอย่างก็พร้อม ผมชวนเพื่อนสองสามคนไปซื้อตู้ปลาพร้อมทั้งอุปกรณ์การเลี้ยงปลาทะเลที่ร้านแถวตลาดนัดจตุจักร ขณะนั้นมีร้านขายปลาทะเลอยู่ไม่กี่ร้าน เพราะการเลี้ยงปลาทะเลยังไม่เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาเท่าไรนัก ด้วยการเลี้ยงปลาทะเลให้อยู่รอดปลอดภัยเป็นเรื่องยาก อุปกรณ์เลี้ยงปลาทะเลมีราคาแพงหูฉี่ แถมการดูแลรักษาก็ยุ่งยาก
      คนขายปลาบอกว่านำเค็มบริสุทธิ์จากกลางทะเลลึกคือสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อนจึงต้องช่วยผมขนน้ำทะเลหลายแกลลอนขึ้นรถตุ๊กตุ๊กกลับบ้าน ยังไม่รวมที่ต้องหิ้วถุงพลาสติกพะรุงพะรังบรรจุอุปกรณ์เลี้ยงปลาทะเลที่ผมเลือกซื้อมาเกือบครึ่งค่อนวัน ผมมั่นใจว่า น้ำทะเลและอุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้ปลาการ์ตูนซึ่งเป็นปลาทะเลชนิดที่ผมใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของมานาน อยู่รอดปลอดภัย
      พอถึงบ้าน ผมจัดแจงติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งระบบกรองน้ำครบชุด ชุดไฟให้แสงสว่าง เครื่องให้ฟองอากาศ และเครื่องกำจัดเมือกปลา (protein skimmer) แล้วใส่น้ำทะเลลงในตู้ หลังจากนั้นผมก็ย้อนไปที่ร้านขายปลาเจ้าเดิม และกลับมาบ้านพร้อมปลาการ์ตูนสี่ตัว สองตัวเป็นปลาการ์ตูนส้มขาว อีกสองตัวเป็นปลาการ์ตูนอินเดียนแดง
(คลิกดูภาพใหญ่)       ทุก ๆ วันผมจะนั่งเฝ้ามองอยู่หน้าตู้ปลาที่ส่องสว่างด้วยแสงขาวจากหลอดฟลูออเรเซนต์หลายดวง วันหนึ่งไม่ใช่เพียงครั้งสองครั้ง หากแต่ทุกครั้งที่พอจะเจียดเวลาแวบมาดูได้ ผมมักนั่งนิ่งสงบหน้าตู้ปลา เฝ้าดูลีลาการเคลื่อนไหวของปลาการ์ตูนที่ดูตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ครีบของมันโบกสะบัดเสมือนหนึ่งกำลังโบยบินอยู่บนท้องฟ้า ในบางจังหวะก็หยุดแวะพักเอาตัวเกลือกกลั้วกับหนวดนับพันของดอกไม้ทะเล ช่วงเวลานั้นดูเหมือนว่าทั้งปลาและผมจะมีความสุขมากโขทีเดียว
      วันแล้ววันเล่า ผมยิ้มให้แก่ความสำเร็จของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ อดไม่ได้ที่จะอวดใคร ๆ ว่าผมเลี้ยงปลาทะเลไว้ที่บ้าน หลายคนแปลกใจว่าผมทำได้อย่างไร เพราะการนำปลาทะเลมาเลี้ยงไว้ในตู้นั้น นอกจากจะไม่ค่อยมีให้เห็นทั่วไปเหมือนการเลี้ยงปลาน้ำจืดอย่างปลาเงินปลาทอง ปลาซิวปลาสร้อย ปลาเทวดาปลาปักเป้า หรือปลาสอด ปลาหางนกยูงแล้ว หลายคนยังเห็นว่าการเลี้ยงปลาทะเลเป็นเรื่องยุ่งยากเกินกว่าเด็กหนุ่มอย่างผมจะทำได้ นี่ละที่ยิ่งทำให้ผมกระหยิ่มยิ้มย่องมากขึ้นเรื่อย ๆ 
      นี่คือความท้าทายที่ผมพิชิตได้ แต่ดูเหมือนว่าพ่อจะไม่ค่อยชื่นชมยินดีนัก พ่อไม่เห็นด้วยกับการจับสัตว์ทะเลมาเลี้ยง และมักเข้าเรื่องว่าผมเป็นผู้หนึ่งที่กำลังทำลายทะเลและทรมานสัตว์โดยไม่รู้ตัว ภายนอกผมก็ทำท่ารับฟังแต่โดยดีอยู่หรอก แต่เบื้องลึกในใจก็เถียงพ่อทุกครั้ง ผมเลี้ยงปลาและดอกไม้ทะเลให้อยู่รอดปลอดภัย และดูมันมีความสุขดี จะไปเกี่ยวข้องกับการทำลายธรรมชาติได้อย่างไร นี่มันคนละเรื่องกัน
      พ่อปล่อยให้ผมสนุกตามประสากับการเป็นเจ้าของตู้ปลาทะเลได้สักพักใหญ่ ก่อนที่จะเสนอส่งผมไปเรียนดำน้ำลึก ซึ่งผมก็ไม่ขัดขืนอะไร ซ้ำยังตอบรับด้วยความตื่นเต้นดีใจ ...ไม่ได้นึกรู้ว่า หลังจากนั้นอีกไม่นาน การเลี้ยงปลาทะเลของผมจะจบสิ้นลง
      "ไปดูมันเองเถอะลูก อย่าเอามันมาดูในตู้เลย" พ่อบอกอย่างนั้น 
      ท่ามกลางมวลน้ำมหาศาลที่เยือกเย็นและนิ่งสงบ เมื่อมองผ่านหน้ากากดำน้ำ ภาพตื่นตาของแนวปะการังหลากหลายรูปร่าง เต็มไปด้วยสีสวยละลานตา พร้อมด้วยหมู่ปลานับพัน ก็ปรากฏให้เห็นอยู่เบื้องหน้า ใต้ท้องทะเลเป็นที่แห่งความมีความมีชีวิตชีวา เหล่าสรรพสัตว์ดำเนินชีวิตอย่างเสรี ปลาหลายชนิดอยู่ด้วยกันเป็นฝูง ในขณะที่บางชนิดอยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่คอยขับไล่ผู้รุกล้ำให้ออกจากอาณาเขต ส่วนกุ้ง หอย และสิ่งมีชีวิตตัวน้อยอย่างทากทะเลก็ขดซ่อนตัวอยู่ตามซอกหิน ผมเตะขาเบา ๆ เพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ที่ฐานของหินก้อนหนึ่ง ผมเห็นดอกไม้ทะเลช่อใหญ่ถูกจับจองด้วยปลาการ์ตูนราวสี่ห้าตัว สีสันและท่วงท่าของมันช่างดูสดใสร่าเริงกว่าที่เคยเห็นแต่ก่อนมาก 
      ผ่านเลยมาเกือบสิบปี ผมถึงได้รู้ว่า เบื้องหลังของปลาการ์ตูนสี่ตัวที่เคยเลี้ยง คือความตายของสัตว์ทะเลอีกหลายสิบหลายร้อยชีวิต
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ผู้ที่ผ่านไปทางถนนพหลโยธินตั้งแต่สะพานควายมุ่งไปลาดพร้าวในวันหยุดสุดสัปดาห์ คงจะชินตากับจำนวนรถ และผู้คนหนาแน่นที่พากันไปจับจ่ายซื้อของสารพันที่ตลาดนัดจตุจักร 
      ที่นี่คือศูนย์รวมของสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่หนังสือ อาหารสด อาหารแห้ง เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เรื่อยไปจนถึงสัตว์เลี้ยงธรรมดา ๆ อย่างสุนัข แมว ปลาสวยงาม และสัตว์เลี้ยงพิสดารอย่างงู ตะขาบ กบ จิ้งจก ตุ๊กแก เรียกได้ว่าที่ตลาดนัดสวนจตุจักรมีของขายนานาชนิดตั้งแต่ "สากกะเบือยันเรือรบ" 
      ฟากหนึ่งของตลาดนัดจตุจักรติดกับพิพิธภัณฑ์เด็ก แถบฝั่งถนนกำแพงเพชร ๒ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสถานีขนส่งหมอชิตเท่าไรนัก เรื่อยไปจนถึงพื้นที่ฝั่งตรงข้ามตลาดนัด อ.ต.ก. นับว่าเป็นแหล่งรวมของร้านขายปลาทะเลสวยงามซึ่งมีทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๒๐ ร้าน วันเสาร์อาทิตย์เป็นวันที่มีลูกค้ามาอุดหนุนเนืองแน่นเช่นเดียวกับร้านค้าอื่น ๆ ในตลาดนัดฯ แต่ในวันอังคารเรื่อยไปจนถึงวันศุกร์ ผู้ที่มาอุดหนุนร้านปลาทะเลสวยงามที่ "ตลาดซันเดย์" ด้านถนนกำแพงเพชร ๒ จะเป็นพ่อค้าที่มาเลือกซื้อปลาในราคาขายส่ง นำกลับไปขายที่ร้านของตนที่อยู่ห่างออกไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
      ส่วนใหญ่ร้านขายปลาทะเลจะมีตู้ปลาทะเลขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๑-๒ เมตร ตั้งเด่นเป็นสง่าไว้หน้าร้านเพื่อเรียกลูกค้าให้เข้ามาอุดหนุน แทบทุกคนที่เดินผ่านล้วนต้องเหลียวกลับมามอง ปลาทะเลขึ้นชื่อว่าเป็นปลาที่มีสีสวยจัดจ้าน ต่างจากปลาน้ำจืดที่แม้จะมีสีบ้าง แต่ก็ไม่สดใสเท่า 
      ก้าวลึกเข้าไปภายในร้าน ตู้ปลาทำด้วยกระจกใสตั้งเรียงรายเป็นชั้นเป็นแนวอยู่สองข้าง ในตู้มีปลาทะเลหลายขนาด หลากสายพันธุ์ เช่น ปลาการ์ตูน ปลาสลิดหิน ปลาโนรี ปลานกแก้ว ปลาค้างคาว ม้าน้ำ ฯลฯ ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ บางร้านเขียนบอกชนิดปลาและราคาไว้บนตู้เรียบร้อย ในขณะที่บางร้านลูกค้าจะต้องสอบถามจากคนขายเอง
      ในราวปี ๒๕๓๘ และก่อนหน้า ยังมีปะการังชนิดต่างๆ ทั้งปะการังอ่อนและปะการังแข็งพร้อมดอกไม้ทะเลมาขายคู่กับปลาทะเล หากตั้งแต่กรมประมงกวดขันตรวจจับอยู่สม่ำเสมอ ก็ไม่มีใครนำมาขายอีกต่อไป หรือถ้ามี ก็ต้องหลบซ่อนอยู่หลังร้าน การซื้อขายสิ่งมีชีวิตจากทะเลเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง พ.ศ. ๒๕๓๕ คงเหลือไว้แต่การซื้อขายปลาทะเลสวยงาม และกระดุมทะเล/เห็ดทะเล (จำพวก Zoanthids) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีพระราชบัญญัติใดรองรับ 
      นี่ยังนับว่าโชคดีที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัตินำเข้าและส่งออกสิ่งค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ ห้ามมิให้ส่งออกปลาทะเล และปลาปากแม่น้ำ (ที่มีขนาดต่ำกว่า ๒๐ เซนติเมตร) ทุกชนิด มิเช่นนั้นแล้วไทยคงถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ส่งออกปลาทะเลมากที่สุด เทียบเคียงกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ในปีหนึ่ง ๆ มีปลาทะเลสวยงามถูกจับและส่งออกนับล้านตัว มีการประมาณว่า ๘๕ เปอร์เซ็นต์ของผู้เลี้ยงปลาทะเลทั่วโลกนำเข้าปลาจากสองประเทศดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเอง เพียงแค่จับปลาทะเลเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศ ก็ไม่รู้ว่าเป็นจำนวนกี่หมื่นกี่แสนตัวกันในแต่ละปี
(คลิกดูภาพใหญ่)       ร้อยทั้งร้อยของปลาทะเลที่แหวกว่ายอยู่ในตู้แคบ ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปลาที่ถูกจับมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น นั่นก็หมายความว่าเป็นปลาที่ถูกจับมาจากแนวปะการังตามชายฝั่งทะเล ทั้งในประเทศไทยหรือนำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง (คงไม่พ้นฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย เพราะที่มาเลเซียนั้นเขามีการจัดการดูแลแนวปะการังดีกว่ามาก) ซึ่งนับว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและน่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง การจับปลาทะเลนั้นต้องแลกด้วยการทำลายแนวปะการัง ทั้งที่ต้องหักพังลงเพราะถูกด้ามสวิง หรือตาข่ายฉุดเกี่ยว ไม่นับรวมผลเสียจากการใช้ไซยาไนด์สลบปลา จนทำให้ตัวปะการังตัวเล็ก ๆ หลายล้านตัวต้องตายลง 
      มีคนเคยเล่าให้ผมฟังถึงวิธีการสลบปลาด้วยไซยาไนด์ ฟังแล้วก็ใจหายอย่างยิ่ง เวลาชาวประมงออกหาปลาทะเลสวยงามเพื่อส่งขาย พวกเขาจะใช้เม็ดยาเบื่อ หรือโซเดียม ไซยาไนด์ (sodium cyanide) ที่หาซื้อได้ง่ายและราคาถูก ใส่ลงในขวดฟอกกี้ (ขวดสำหรับฉีดน้ำยารีดผ้า) เติมน้ำจนเต็มและเขย่าให้ละลาย จากนั้นก็จะดำลงไปตามแนวปะการัง คอยฉีดไซยาไนด์จากขวดที่เตรียมไว้ไปตามซอกหิน เมื่อปลาถูกไซยาไนด์ก็จะอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ลอยออกมาจากที่หลบซ่อน ทำให้ชาวประมงสามารถจับปลาได้โดยง่าย พวกที่โดนพิษยาน้อยหน่อยก็จะฟื้นภายในระยะเวลาไม่นาน พวกที่โดนเข้าอย่างจังก็ต้องตายไปในที่สุด 
การเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามเป็นเรื่องยาก ต่างจากการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดสวยงามอย่างสิ้นเชิง ทั้งต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง ข้อมูลความรู้ในเชิงเทคนิควิธีการก็ยังมีอยู่น้อยมาก องค์กร NGO ระดับโลกอย่าง Marine Aquarium Council ๑ ยืนยันว่า ปลาทะเลสวยงามที่ขายกันในร้านขายปลาทั่วโลกนั้น มีเพียงไม่ถึง ๒ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นลูกปลาได้จากการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยง ซึ่งมีราคาจำหน่ายแพงกว่าปลาที่จับจากธรรมชาติเสียอีก ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ร้านขายปลาทะเลของเขาจะแยกขายปลาที่เพาะพันธุ์ได้ในที่เลี้ยง กับปลาที่จับมาจากธรรมชาติไว้คนละตู้กัน ปลาที่เพาะได้มักจะมีราคาสูงกว่าปลาที่จับมาเสมอ เรียกว่าวัดใจคนซื้อไปเลยว่าจะเลือกปลาแบบไหน จะทำลายหรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ชาวประมงจะส่งปลาทะเลที่จับได้ให้พ่อค้าคนกลาง เพื่อแยกชนิดและใส่ถุงส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ส่วนใหญ่ปลาจะต้องอุดอู้อยู่ในถุงพลาสติกใสขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งต้องตายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างขนส่ง อีกส่วนหนึ่งก็มีสภาพบอบช้ำแล้วมาตายในตู้ขายหลังจากนั้นสี่ห้าวัน มีจำนวนไม่มากที่อยู่รอดเป็นสินค้าในร้าน รอคอยวันเวลาให้คนมาซื้อไป และใช่ว่าหลังจากนั้นปลาจะปลอดภัย มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายในตู้ของผู้เลี้ยงในเวลาไม่นาน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเลี้ยงที่ไม่ถูกวิธีและขาดความเข้าใจ นักชีววิทยาทางทะเลประเมินว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของปลาตามแนวปะการังที่โดนยาเบื่อจะตายทันที อีก ๔๐ เปอร์เซ็นต์จะตายระหว่างขนส่ง เหลือเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในสภาพบอบช้ำเมื่อมาถึงมือผู้เลี้ยง 
      ผมเคยถามอย่างตรงไปตรงมากับพ่อค้าขายปลาถึงอัตราตายของปลาทะเลที่นำมาขาย เขาเห็นด้วยกับสถิติข้างต้น และเล่าต่อว่าการจับปลาด้วยไซยาไนด์ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปแล้ว เพราะปลาที่ถูกยาพิษจะมีสภาพไม่แข็งแรงและต้องตายในท้ายที่สุด ปัจจุบันแม้ชาวประมงจะเปลี่ยนมาใช้ตาข่ายจับแทน แต่อัตราตายก็ยังสูงอยู่ คงอยู่ที่ประมาณ ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น นั่นหมายความว่า ปลาที่นำมาขายในร้านหนึ่งตัว อย่างน้อยจะต้องมีปลาที่ต้องตายไปหนึ่งตัวเสมอ
      ตั้งแต่เลิกเลี้ยงปลาทะเลครั้งนั้น ผมก็ไม่ได้แวะเวียนไปเยี่ยมชมร้านขายปลาทะเลอีกเลย แต่เมื่อสอบถามเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่ยังเข้าออกร้านขายปลาทะเลสวยงามอยู่เป็นประจำ เขายืนยันภาพปลาทะเลตายเกลื่อนกลาดในตู้ ภาพปลาสีซีดลอยเท้งเต้งบนผิวน้ำ ภาพปลาว่ายโคลงเคลงไปมา บางตัวลอยพะงาบฮุบหายใจอยู่นิ่ง ๆ บางตัวครีบเปื่อย ตัวเปื่อย ภาพเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปรกติที่เห็นกันชินตาไปแล้ว
      ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ปลาทะเลที่เคยตายอยู่มากเท่าไร ก็ยังตายอยู่มากเท่านั้น ไม่ว่าจะในตอนนี้ หรือเมื่อ ๑๐ ปีก่อนก็ตาม
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       ในอีกมุมหนึ่งของเมือง กลางเดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ ลานจอดรถอันกว้างใหญ่ของอิมแพคเมืองทองธานีถูกจับจองด้วยรถยนต์หลายร้อยคัน พ่อแม่จูงลูกเล็กลงจากรถ เด็กน้อยบางคนกึ่งวิ่งกึ่งเดิน เหมือนกำลังมีจิตใจพองโตเต็มไปด้วยความตื่นเต้น จดจ้องรอคอยกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ใช่เพียงพ่อแม่และลูกเล็กเท่านั้น ที่ทางเข้าอาคารยังเต็มไปด้วยผู้คนหลายรุ่น ตั้งแต่คนแก่ในวัยเกษียณ ผู้ใหญ่ในวัยทำงาน เรื่อยจนไปถึงนิสิต นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และเด็กวัยรุ่นที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมและมัธยม
      ตลอดเวลาสี่วันของ "งานประมงน้อมเกล้า" งานใหญ่ของกรมประมงที่จัดเป็นประจำทุกปี เต็มไปด้วยผู้คนมากมายและหลากหลายเช่นเคย แม้ปีนี้ผู้คนจะดูบางตากว่าปีก่อน ๆ อาจเพราะสถานที่จัดงานมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเป็นเพราะงานที่เคยจัดเป็นประจำติดต่อกันหลายปีที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ได้ย้ายสถานที่มายังชานเมือง ผู้สนใจบางคนจึงไม่สะดวกที่จะเดินทางมาก็เป็นได้
      ในงานมีทั้งการออกร้านจำหน่ายปลาสวยงาม ต้นไม้น้ำ และอุปกรณ์ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีนิทรรศการให้ความรู้และความก้าวหน้าทางการประมงและสัตว์น้ำสวยงามต่าง ๆ รวมถึงมีการแสดงตู้ปลาและตู้ต้นไม้น้ำที่ได้จัดประกวดประชันกัน
      ผมสังเกตว่ามีนิทรรศการหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมอย่างล้นหลาม จึงไม่รีรอที่จะแวะเข้าไปดู เมื่อฝ่าฝูงชนเดินเข้าไปใกล้ขึ้นจึงเห็นตู้ปลาขนาดใหญ่หลายใบ ภายในมีปลาทะเลตัวจิ๋วหลายร้อยตัว ตัวหนึ่งมีขนาดเพียง ๒-๔ เซนติเมตรเมื่อกะด้วยสายตา สีสันแตกต่างหลากหลาย คงเป็นปลาต่างชนิดกัน 
      แผ่นป้ายนิทรรศการซึ่งจัดโดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่ บอกให้รู้ว่าตู้ปลาที่ผู้คนมุงดูกันแน่น เป็นตู้ลูกปลาการ์ตูนหลากหลายสายพันธุ์ ที่ทางสถานีฯ เพาะเลี้ยงได้เป็นจำนวนมาก และนำมาขายให้แก่ผู้สนใจในงาน
(คลิกดูภาพใหญ่)       ผมอ่านป้ายนิทรรศการด้วยความตื่นเต้น เมื่อได้รับรู้ว่าแท้จริงแล้วปลาการ์ตูนสามารถเพาะพันธุ์ได้ในเชิงพาณิชย์ ถึงแม้ความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนในที่เลี้ยงจะไม่สิ่งแปลกใหม่ เพราะผู้เลี้ยงปลาทะเลหลายคนสามารถทำให้ปลาการ์ตูนในตู้วางไข่ และพัฒนาจนกลายเป็นลูกปลาได้มาก่อนแล้วเมื่อหลายปีก่อน (ดู สารคดี ฉบับที่ ๑๐๒ สิงหาคม ๒๕๓๖) แต่จำนวนลูกปลาที่เพาะได้นับพัน ๆ ตัวต่อหนึ่งสัปดาห์ ที่อยู่บนต้นทุนการผลิต (ซึ่งรวมไว้ซึ่งค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่น ค่าอาหาร ค่าดูแลรักษา ค่าอนุบาลลูกปลา ค่าขนส่ง) ที่ต่ำอย่างเหลือเชื่อนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่า ปลาการ์ตูนแต่ละชนิดที่ทางสถานีฯ นำมาขายในงาน ตัวหนึ่งบวกกำไรแล้วมีราคาจำหน่ายเพียงตัวละ ๒๐-๓๐ บาทเท่านั้น 
      วันนั้นผมนั่งรถกลับบ้านด้วยความปลื้มปีติ อย่างน้อยผมเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเชื่อมต่อระหว่างนักเลี้ยงปลาทะเลสวยงาม กับความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมยอมรับว่า การจับปลาทะเลจากธรรมชาติมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เป็นการทำลายปะการังทางตรงประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมเลิกเลี้ยงปลาทะเล ต่อไปนี้นักเลี้ยงปลาทะเลสวยงามที่ต่อว่านักอนุรักษ์ว่าไม่มีเหตุผล ก็จะมีความสุข นักอนุรักษ์ที่กล่าวหาว่านักเลี้ยงปลาทะเลสวยงามทำลายธรรมชาติ ก็จะมีความสุขเช่นกัน
      นอกจากนี้ผมยังคิดเรื่อยเปื่อยไปไกลว่า อนาคตของปลาการ์ตูนและปลาทะเลอื่น ๆ ที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในที่เลี้ยง คงจะปลอดภัยจากการถูกจับมาขาย ไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากเราทำได้มาก ๆ ต่อไปอาจมีการปล่อยปลาที่เพาะได้เหล่านั้น ไปเพิ่มจำนวนประชากรปลาที่ลดลงในธรรมชาติตามแนวปะการัง (reintroduction) ผมยิ้มกับตัวเองตลอดทางกลับบ้าน
      คืนนั้นผมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าสู่กระดานข่าวในเว็บไซต์ที่เป็นสมาชิกอยู่ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่ได้รับรู้มา พี่น็อต--นักวิชาการประมงประจำอยู่ที่สถานีประมงจังหวัดระนอง เพื่อนรุ่นพี่ที่เราพูดคุยผ่านสื่อแห่งนี้เป็นประจำ ได้ให้ความเห็นที่น่าคิดว่า เพียงแค่การเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อลดการจับจากธรรมชาติมาเป็นสัตว์เลี้ยงตามกิเลสตัณหาของมนุษย์ได้ ก็นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจแล้ว ผมเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ อย่างน้อยความเสียสละของบรรพบุรุษสัตว์เหล่านั้น ก็ส่งผลให้ลูกหลานของมันไม่ต้องถูกรบกวนจากมนุษย์ และอยู่ได้อย่างผาสุกตามธรรมชาติของมัน 
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       สายฝนโปรยปรายจากฟากฟ้ามาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เช้ามืด กระบี่ในวันนั้นมืดครึ้มไปด้วยเมฆคล้ำ ห่างไกลจากการเป็นจังหวัดชายทะเลที่เต็มไปด้วยไออุ่นของแสงแดด ผมมองจากถนนริมอ่าวนาง เห็นทะเลคลั่ง คลื่นลมโหมแรงปะทะชายหาด ไม่มีเรือหางยาวสักลำเดียวจอดรอรับผู้โดยสารไปท่องเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันดังเช่นเคย สำหรับผม กว่าจะขยับตัวลุกขึ้นจากเตียงนอนก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงแล้ว อากาศในยามฝนตกช่างเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ และช่างชื่นฉ่ำไปด้วยไอเย็นจากละอองน้ำเสียจริง บ่ายโมงแล้วแต่ฝนยังตกปรอย เราขับรถออกจากที่พักย่านอ่าวนาง เพียงไม่กี่อึดใจก็ไปถึงสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่ ซึ่งเราได้ติดตามมาดูหลังจากได้ชมเพียงรูปภาพที่งานประมงน้อมเกล้า สถานีฯ แห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเส้นเดียวกับทางไปสุสานหอย สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด
      ทันทีที่ไปถึง เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพี่วรรณเพ็ญ คำมี นักวิชาการประมงประจำสถานีฯ พี่วรรณเพ็ญพาเราเข้าไปชมสถานที่เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างระหว่างกลางของโรงเพาะปลาเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ความยาวตลอดแนวตึกประมาณ ๒๐ เมตร กว้างประมาณ ๕ เมตร ริมกำแพงมีตู้กระจกใสขนาด ๓๖ นิ้วประมาณ ๓๐ กว่าใบ ตั้งอยู่บนแผ่นโฟมที่ยกสูงขึ้นจากพื้น บนหลังคาถูกคลุมไว้ด้วยตาข่ายกรองแสง ในตู้กระจกแต่ละตู้มีปลาการ์ตูนสองตัวว่ายคลอเคลียกันไปมา ตัวหนึ่งใหญ่ ตัวหนึ่งเล็ก ตัวที่ใหญ่กว่าเกือบเท่าตัวคือตัวเมีย ส่วนตัวที่เล็กกว่าคือตัวผู้ ในธรรมชาติปลาการ์ตูนจะอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ประมาณ ๓-๖ ตัวต่อฝูง เคียงคู่กับดอกไม้ทะเล ในฝูงหนึ่งจะมีปลาการ์ตูนตัวผู้และตัวเมียอย่างละหนึ่งตัว ที่เหลือเป็นปลาไม่มีเพศซึ่งมีขนาดเล็ก เมื่อใดที่ปลาตัวเมียตายลง ปลาตัวผู้ที่แข็งแรงที่สุดก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนเพศไปเป็นตัวเมียแทนตัวที่ตายไป หากตัวผู้ตายลง ปลาตัวใดตัวหนึ่งในฝูงก็จะพัฒนาการไปเป็นตัวผู้
      พี่วรรณเพ็ญเล่าว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ทางสถานีฯ สามารถเพาะและขยายพันธุ์ปลาการ์ตูนทั้ง ๗ ชนิดที่พบในประเทศไทยได้แล้ว คือ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียน ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ปลาการ์ตูนแดงดำ ปลาการ์ตูนอานม้า และปลาการ์ตูนอินเดียนแดง 
      หัวใจสำคัญของการเพาะเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดก็คือ ความพยายามในการเลียนแบบสภาพธรรมชาติของสัตว์ตัวนั้น ๆ ให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุด เพราะนั่นจะทำให้สัตว์มีความรู้สึกปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปรกติสุข ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมันต่อไป 
(คลิกดูภาพใหญ่)       การจัดตู้เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนดูเหมือนว่าจะใช้ระบบกรองใต้ทรายอย่างง่าย ๆ ในตู้กระจกขนาดมาตรฐาน ๓๖ นิ้ว (มีปริมาตรน้ำประมาณ ๑๕๐ ลิตร) รองพื้นตู้ด้วยแผ่นกรอง แล้วทับด้วยกรวด ซากปะการัง และเศษเปลือกหอย ซึ่งช่วยทำให้น้ำและออกซิเจนหมุนเวียนระหว่างชั้นทราย อันเป็นการช่วยให้แบคทีเรียที่มีหน้าที่ย่อยสลายของเสียสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ระบบกรองใต้ทรายนี้เป็นระบบกรองที่มีราคาประหยัดที่สุด และเหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะในสถานที่ที่อยู่ไม่ห่างไกลทะเล สามารถเปลี่ยนน้ำได้บ่อยครั้ง นับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ในระบบตู้เลี้ยงปลาทะเลสวยงามปรกตินั้น ผู้เลี้ยงอาจจะต้องเสียเงินไปกับอุปกรณ์ในระบบกรองทั้งระบบสูงถึง ๑ หมื่นบาท หรือมากกว่านั้น พี่วรรณเพ็ญเล่าว่า "น้ำทะเลที่ใช้มีความเค็มประมาณ ๒๘-๓๓ พีพีที (ppt : parts per thousand) และจะผ่านการบำบัดฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน และเป่าลมให้คลอรีนสลายตัวก่อน จึงนำมาใช้ได้ โดยจะเปลี่ยนน้ำในตู้เพาะสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้งในช่วงบ่าย คราวละ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องนำปลาออกจากตู้ ระยะเวลาและปริมาณการเปลี่ยนน้ำ อาจแตกต่างออกไปตามประสิทธิภาพของระบบกรอง และความใกล้ไกลแหล่งน้ำ"
      ในธรรมชาติ ปลาการ์ตูนจะวางไข่บนหินเรียบ หรือเปลือกหอยที่อยู่ใต้ฐานดอกไม้ทะเล แต่ในที่เลี้ยงแล้ว พบว่า ปลาการ์ตูนสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างมีความสุข และวางไข่ได้โดยไม่ต้องมีดอกไม้ทะเล เหตุผลประการหนึ่งอาจเป็นเพราะในที่เลี้ยงไม่มีศัตรูที่จะทำให้ปลาการ์ตูนต้องตื่นตระหนกตกใจใด ๆ ที่สถานีฯ ใช้หินผิวเรียบ หรือเปลือกหอยตะโกรมซึ่งเป็นเปลือกหอยขนาดใหญ่ วางไว้กลางตู้ให้พ่อแม่พันธุ์ใช้เป็นที่วางไข่ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สามารถใช้แผ่นกระเบื้องวางตะแคงไว้ให้ปลาการ์ตูนวางไข่ได้เช่นกัน
      "ในตอนแรกทางสถานีฯ ได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์มาจากธรรมชาติ โดยเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่จับคู่กันอยู่แล้ว เพื่อให้วางไข่เร็วขึ้น แต่บางครั้งก็ไม่สามารถหาปลาตัวผู้ตัวเมียที่จับคู่กันอยู่แล้ว ก็ต้องคัดเลือกปลาให้เป็นคู่กัน ตัวเมียควรเป็นตัวที่มีขนาดใหญ่ และมีท้องอูมเป่ง ซึ่งเป็นลักษณะของตัวเมียที่สมบูรณ์และพร้อมจะผสมพันธุ์วางไข่ ส่วนตัวผู้ควรเป็นตัวที่มีขนาดเล็กกว่าและมีท้องแบนเรียบ
      "การใช้พ่อแม่พันธุ์ที่ไม่ได้จับคู่กันอยู่แล้วอาจมีปัญหา คือ ปลาตัวผู้ตัวเมียไม่ยอมรับกัน บ่อยครั้งปลาตัวเมียจะไล่กัดตัวผู้ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราก็ต้องรีบเปลี่ยนคู่ใหม่" พี่วรรณเพ็ญอธิบายถึงวิธีการเพาะพันธุ์ให้เราฟัง
      "เราให้ไรทะเล หรือกุ้งสับละเอียดเป็นอาหาร วันละสองครั้งเช้าและเย็น ปลาชอบกินอาหารที่เราเลี้ยงมาก และมีสุขภาพสมบูรณ์ ผสมพันธุ์วางไข่อย่างสม่ำเสมอ
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เมื่อปลาทั้งคู่พร้อมที่จะวางไข่ ปลาตัวผู้จะเลือกสถานที่ให้ตัวเมีย และทำความสะอาดโดยใช้ปากตอดบริเวณที่เลือก ใช้ครีบอกและครีบหางพัดโบกฝุ่นละอองให้ปลิวออกไป จนได้ที่วางไข่ที่เรียบสะอาด ปลาตัวผู้จะเตรียมการเช่นนี้ประมาณสองถึงห้าวันก่อนที่ตัวเมียจะวางไข่ ซึ่งสามารถสังเกตได้โดยตัวเมียจะมีท้องที่อูมเป่งใหญ่กว่าปรกติ และมีท่อนำไข่โผล่ออกมาจากก้นยาวประมาณ ๔-๕ มิลลิเมตร หลังจากนั้นราว ๑ ชั่วโมง ปลาตัวเมียจะนำท่อนำไข่แนบกับบริเวณที่ตัวผู้เตรียมไว้แล้ววางไข่เป็นชุด ๆ ในขณะเดียวกันปลาตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม โดยปรกติปลาตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ ๕๐๐-๑,๐๐๐ ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของปลา
      "หลังจากนั้นปลาตัวผู้จะมีหน้าที่ปกป้องดูแลไข่ทั้งหมดจนออกเป็นตัว โดยจะใช้ครีบพัดโบกเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำรอบฟองไข่ และใช้ปากตอดหยิบไข่เสียทิ้ง ส่วนปลาตัวเมียก็จะมาช่วยพัดน้ำบ้างเป็นครั้งคราว
      "ไข่จะใช้เวลาราวเจ็ดแปดวันก่อนที่จะฟักเป็นตัว ในธรรมชาติ ลูกปลาที่ฟักออกแล้วจะเป็นแพลงก์ตอนล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เป็นอาหารของปลาอื่น ๆ มากมาย เหลือเติบโตมาเป็นปลาการ์ตูนเพียงไม่กี่ตัว ส่วนในที่เลี้ยง เมื่อใกล้ฟักเราสามารถสังเกตเห็นตาของตัวอ่อนในไข่มีสีเงินวาว ไข่ที่ติดบนก้อนหินหรือเปลือกหอยจะถูกย้ายมาฟักในถังขนาด ๕๐๐ ลิตร โดยใส่น้ำค่อนถัง เป็นน้ำที่มีความเค็มและอุณหภูมิใกล้เคียงกับน้ำในตู้พ่อแม่พันธุ์ ลูกปลาจะฟักเป็นตัว และมีอัตรารอดถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์"
      พี่วรรณเพ็ญพาเราเดินเข้าไปในโรงเพาะอีกห้องหนึ่งซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของตึก ภายในมีถังพลาสติกสีดำเรียงไว้เป็นแถวตามช่องกลางของบ่อซีเมนต์ที่สำหรับใช้อนุบาลลูกปลาเก๋า ในถังพลาสติกสีดำนั้นมีฟองอากาศอ่อน ๆ จากสายยางพลาสติกที่ห้อยมาจากด้านบนผุดขึ้นมาเหนือน้ำ ที่มุมหนึ่งของถัง เราสามารถเห็นลูกปลาการ์ตูนว่ายพลิ้วไหวรวมกันเป็นกลุ่ม เราเดินดูลูกปลาในถังต่าง       ๆ ลูกปลาการ์ตูนต่างชนิดต่างสีสันช่างดูน่ารักเสียนี่กระไร
      "ในช่วงแรก ลูกปลาการ์ตูนจะมีขนาดเล็กมาก อาหารชนิดเดียวที่ลูกปลาจะกินได้ ก็คือ 'โรติเฟอร์' ๒ โดยให้เป็นอาหารที่ความหนาแน่น ๕-๑๕ ตัวต่อมิลลิลิตร พร้อมกับเติมสาหร่ายคลอเรลล่าเพื่อให้เป็นอาหารของโรติเฟอร์อีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นเจ็ดวัน ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้น สามารถกินไรทะเลแรกฟักได้ และเมื่อลูกปลามีอายุได้ ๑๕ วัน ก็ย้ายลูกปลาไปอนุบาลในบ่อดินกลางแจ้ง"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ฝนยังตกปรอย ๆ เราได้รับแจกร่มคนละคันเพื่อเดินไปดูปลาในกระชังปลาข้างนอก ตาข่ายไนลอนตาถี่ถูกขึงตึงจุ่มลงไปในบ่อดินขนาดใหญ่ ในกระชังมีลูกปลาการ์ตูนขนาดโตกว่าพวกที่อยู่ในถังอนุบาลว่ายขึ้นมาทักทาย พวกมันคงคิดว่านี่คือเวลาอาหารของมัน นอกจากปลาการ์ตูนแล้วยังมีปลาทะเลอีกหลายชนิดอย่างเช่น ปลาโนรี ปลาสิงโต ปลาสินสมุทร หรือแม้ปลาใหญ่อย่างปลาหมอทะเล และปลาฉลาดครีบดำ อยู่ในกระชังต่าง ๆ หลายสิบกระชัง พร้อมป้ายชื่อบอกชนิดปลา 
      "ในบ่อดิน ลูกปลาจะได้รับอาหารที่ความหลากหลายขึ้นวันละสองสามครั้ง เมนูอาหารจะมีทั้งอาร์มีเมียแรกฟักในช่วงแรก และตัวเต็มไวเมื่อลูกปลาโตขึ้น ไรแช่แข็ง เนื้อกุ้งสับ เนื้อปลาสับ
      "พอลูกปลามีขนาดได้สัก ๓-๔ เซนติเมตร ก็พร้อมส่งขาย ที่นี่มีพ่อค้ามารับซื้อไปจำหน่ายต่อบ้าง เราขายในราคาเซนติเมตรละ ๕ บาท ถ้าลูกปลาขนาด ๔ เซนติเมตร ก็จะราคาตัวละ ๒๐ บาท สัปดาห์หนึ่งเราสามารถเพาะพันธุ์ปลาได้ถึง ๑,๐๐๐ ตัว หรือมากกว่านั้น" พี่วรรณเพ็ญเล่าให้ฟังถึงอัตราการซื้อขายปลาที่เพาะได้ อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ ๑,๐๐๐ ตัวที่สถานีฯ ส่งขายในแต่ละสัปดาห์ คงเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดของปลาที่ขายอยู่ในตลาดปลาสวยงามทุกวันนี้ ดังนั้นจึงแทบไม่มีโอกาสพบปลาที่เพาะในที่เลี้ยง ขายตามร้านขายปลาทะเลสวยงามเลย
      ขณะเดินไปตามกระดานไม้บนกระชังเลี้ยงปลา ละอองฝนปลิวกระทบหน้าเป็นระยะ ๆ ตอนนั้นเป็นเวลาโพล้เพล้แล้ว ในใจผมได้แต่คิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า เท่านี้ไม่เพียงพอหรอก ตราบใดที่เรายังต้องนำปลาที่จับจากทะเลมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อไรหนอเราจะสามารถรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน อันตั้งบนพื้นฐานของความประนีประนอมของทุกฝ่าย ปลาทะเลที่อยู่ในธรรมชาติก็ควรปล่อยให้อยู่ตามแนวปะการังตามครรลองชีวิตที่ควรจะเป็น ปลาทะเลสำหรับนำมาเลี้ยงก็ควรมาจากการเพาะพันธุ์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องรบกวนธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการพักฟื้นเพื่อคืนสู่ความสมบูรณ์อีกครั้ง
      เราคงไม่สามารถห้ามมนุษย์ให้เลี้ยงปลาทะเลได้ ตราบที่ทุกคนยังมีความต้องการอันไม่รู้จบสิ้น เพื่อสนองความสุขสมของตัวเอง แม้ว่าการกระทำนั้นจะต้องเบียดเบียนสิ่งรอบข้างก็ตาม นี่เป็นสัจธรรมของมนุษย์ที่ทุกคนต้องยอมรับโดยดุษณี
 

(คลิกดูภาพใหญ่)       กลับมาจากกระบี่ไม่นาน เราขับรถออกจากกรุงเทพฯ ขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี มุ่งหน้าสู่บางแสน--สถานที่ตากอากาศชายทะเลที่สุดแสนจะคลาสสิก จริง ๆ แล้วจุดหมายของเราในวันนั้นไม่ใช่ชายหาดบางแสน แต่เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยบูรพา สถานที่ที่ผมหมายมั่นว่าจะมาหาคำตอบในเรื่องต่าง ๆ ที่ยังค้างคาในใจ
      สถาบันฯ ในวันนั้นเต็มไปด้วยเด็กนักเรียนในชุดกีฬาหลากสี นั่งเป็นแถวเป็นแนวอยู่หน้า "อะควอเรี่ยม" สถานแสดงพันธุ์ปลาทะเลแห่งแรกในประเทศไทย ใช่แต่เด็ก ๆ เท่านั้น ยังมีผู้ใหญ่หลายคนที่กำลังซื้อตั๋วเข้าชมด้วยความกระตือรือร้น บ้างเป็นหนุ่มสาวที่ควงคู่กันมา บ้างเป็นคนในวัยทำงาน บ้างเป็นพ่อแม่ตายายพาลูกหลานมาทัศนศึกษา บรรยากาศเช่นนี้คงเหมือนเช่นวันอื่น ๆ สถานที่แห่งนี้ไม่เคยเงียบเหงา มีผู้คนมาเยี่ยมชมแน่นขนัดทุกวัน 
      เราพบกับอาจารย์ ดร. วรเทพ มุธุวรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ซึ่งให้ข้อมูลด้วยความเต็มใจ อาจารย์คุยให้ฟังถึงแนวคิดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ทางสถาบันฯ กำลังพยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดูเหมือนว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ทำได้จริง
      "เราไม่สามารถห้ามคนไม่ให้เลี้ยงปลาทะเลได้ คนที่เลี้ยงปลาก็มีเหตุผลของเขา คือเลี้ยงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ คนเรานี่ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ทางที่ดีที่สุดก็คือ การเสนอทางเลือกให้คนได้เลี้ยงปลาที่มาจากการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยง แทนที่จะจับมาจากทะเล เพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องไปสร้างแรงกดดันให้แก่แนวปะการังได้แล้ว" คำพูดดังกล่าวแสดงถึงความเข้าใจในสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี
      สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยบูรพา นับเป็นหน่วยงานแรก ๆ ของประเทศที่ประสบความเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามได้อย่างจริงจัง สามารถเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามโดยเฉพาะปลาการ์ตูนได้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในการเพาะปลาในกลุ่มปลาบู่ (เมื่อเร็วๆ นี้ สามารถเพาะปลาบู่เหลืองได้เป็นแห่งแรกของโลก) รวมทั้งม้าน้ำ และกุ้งทะเลชนิดต่าง ๆ เช่น กุ้งมดแดง กุ้งพยาบาล เป็นต้น ปัจจุบันสถาบันฯ กำลังทดลองเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามหลากหลายชนิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป้าหมายล่าสุดก็คือปลาในกลุ่มปลาโนรี และปลาสินสมุทรเป็นเป้าหมาย 
(คลิกดูภาพใหญ่)       "สิ่งที่เราพยายามทำมาโดยตลอดก็คือ การปิดวงจรชีวิตของปลา เป็น closed cycle นั่นหมายความว่า พ่อแม่ปลาก็เป็นปลาที่มาจากที่เลี้ยง ลูกปลาที่เพาะได้เมื่อโตขึ้นก็นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ เราจึงไม่จำเป็นต้องไปจับปลามาจากธรรมชาติอีกต่อไป นี่ละที่เรียกว่าเป็นความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาอย่างแท้จริง ขณะนี้เราสามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้ถึงรุ่น F๔ แล้ว พ่อแม่ปลาการ์ตูนส้มขาวคู่แรกที่ออกไข่เมื่อ ๕ ปีก่อน ขณะนี้ก็ยังวางไข่สม่ำเสมอ ภายใต้ระบบระบบการเพาะเลี้ยงที่เรียบง่ายและประหยัดที่สุด" 
      โดยปรกติแล้ว ในการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามทั้งปลาทะเลและน้ำจืด เราเรียกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่จับมาจากธรรมชาติว่า เป็นปลารุ่น F๐ และลูกปลาของพ่อแม่ปลาจากธรรมชาติจะเป็นปลารุ่น F๑ ซึ่งจะให้ลูกปลาเป็นรุ่น F๒ ลูกปลารุ่นต่อไปเป็นรุ่น F๓ อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ความสามารถในการเพาะพันธุ์ปลารุ่นลูก (คือตั้งแต่ F๑ เรื่อยลงไป) แสดงถึงความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาที่ยั่งยืน ปลาบางชนิด เช่น ปลาบึก จะมีปัญหา เพราะลูกปลาที่ได้จากการผสมเทียมจะไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้ ทำให้วงจรการขยายพันธุ์หยุดลงเพียงแค่นั้น
      "ปลาการ์ตูนและปลาทะเลสวยงามชนิดอื่น ๆ นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ให้ประโยชน์ต่อประเทศ สามารถส่งออกนำเงินมหาศาลเข้าประเทศได้ เราอาจจะต้องมาคิดกันใหม่ว่า การอนุรักษ์แบบเก็บดองไว้ คือห้ามใครไปแตะต้องนั้น ใช้ได้จริงๆ หรือเปล่า วันก่อนผมไปประชุม ผู้แทนจากกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ยังยอมรับเลยว่า ตลอดเวลาที่ทำมา ๔๐ ปีห้ามไม่ให้คนไปแตะต้องอะไรเลย เป็นสิ่งที่ต้องมาทบทวนกันใหม่ มันเป็นการตัดขาดจากมิติทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง เราอาจจะต้องมาคิดใหม่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ทำอย่างไรจะนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ หรือที่เรียกว่าเป็น renewable resource" อาจารย์กล่าวถึงเหตุผลที่สถาบันฯ ริเริ่มเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงาม
(คลิกดูภาพใหญ่)       การสนทนาของเราครอบคลุมเรื่องราวหลากหลายประเด็น รวมทั้งปัญหาการจัดการประมง โดยเฉพาะในเรื่องการจับปลาทะเลสวยงามด้วย "ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกปลาทะเล ที่จับจากธรรมชาติมากติดอันดับโลก เราต้องยอมรับว่า ระบบการจัดการของเขาดีกว่าเราเยอะ ที่ฟิลิปปินส์นั้นเขามีระบบการให้ประกาศนียบัตรรับรองให้แก่การจับปลาอย่างถูกวิธี เขาทำให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน มี standard of practice หมู่บ้านไหนจะจับปลามาขาย เขาจะมาดูว่า ใช้เครื่องมือจับถูกวิธีหรือไม่ จับปลาชนิดไหนบ้าง จำนวนเท่าไร ฯลฯ เมื่อผ่านการตรวจสอบจึงสามารถนำไปขายได้" เมื่ออาจารย์พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้คิดถึงองค์กรปลาทะเลสวยงามอย่าง MAC ขึ้นมาในทันใด คาดว่าระบบดังกล่าวเป็นผลจากการผลักดันขององค์กรนี้เป็นแน่แท้ เพราะปัจจุบัน MAC กำลังดำเนินโครงการในประเทศฟิลิปปินส์หลากหลายโครงการ สำหรับประเทศไทย อย่าให้ใครเขามาคิดมาทำให้เลย เราน่าจะริเริ่มในแบบฉบับของเราเองดีกว่า
      "ปลาที่ขายอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ล้วนเป็นปลาที่จับมาจากธรรมชาติ ส่งขึ้นมาจากภาคใต้ทั้งนั้น อาจจะมีบ้างที่สถานีฯ ที่กระบี่นำออกขาย แต่นั่นเป็นจำนวนที่น้อยมาก ส่วนปลาที่เราเพาะได้ก็เก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับคนที่สนใจมาขอ เรายังไม่อยากส่งเสริมให้คนทำฟาร์มในเวลาที่ยังไม่สมควร จะเป็นการเร่งให้ฟาร์มเหล่านั้นไปรวบรวมปลาที่จับมาจากทะเล จนสร้างแรงกดดันให้แก่ธรรมชาติโดยไม่จำเป็น ใครอยากทำฟาร์ม เราพร้อมที่จะแนะนำ และมีพ่อแม่พันธุ์ที่เราเพาะได้ไว้ให้" นี่คือสาเหตุที่ว่า ทำไมสถาบันฯ ยังไม่ส่งเสริมการทำฟาร์มเลี้ยงปลาทะเลสวยงามอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และขยายออกไปในวงกว้าง
      สำหรับนักเลี้ยงปลาสวยงามแล้ว ต่อไปนี้คือสิ่งที่น่าคิดและน่าตระหนักถึงอย่างยิ่ง "เราอยากเห็นการเลี้ยงปลาแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (environmental friendly aquarium) อันจะนำไปสู่การเลี้ยงปลาที่ไม่มีผลเสียต่อธรรมชาติแม้แต่น้อย (zero-impact aquarium) ซึ่งเป็นความหวังสูงสุด เรากำลังพยายามทดลองเพาะพันธุ์ปลาทะเลอีกหลายชนิด ทั้งนี้เพื่อรองรับรูปแบบการเลี้ยงปลาดังกล่าว" อาจารย์ยืนยันว่า การเลี้ยงปลาทะเลไม่ใช่สิ่งผิด หากมีวิธีการเลี้ยงให้ถูกต้อง และตั้งอยู่บนจิตสำนึกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่รบกวนธรรมชาติ
      หลังจากพูดคุยกับอาจารย์ ผมเริ่มเห็นเงาลาง ๆ ของจุดกึ่งกลางระหว่างการเลี้ยงปลาทะเลสวยงาม กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ข้อโต้เถียงที่ไม่เคยมีคำตอบกำลังได้รับการคลี่คลาย เท่าที่ผ่านมานักอนุรักษ์ประนามนักเลี้ยงปลาทะเลสวยงามว่า เป็นพวกทำลายธรรมชาติ ซึ่งก็มีส่วนถูก เพราะปลาที่พวกเขาเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นปลาที่จับมาจากธรรมชาติ มุ่งแต่รณรงค์คัดค้านไม่ให้เลี้ยงปลาทะเล ไม่มีทางออกอย่างอื่นเสนอให้เป็นทางเลือกแก่นักเลี้ยงปลาเลย
(คลิกดูภาพใหญ่)       ในขณะเดียวกัน ฝ่ายนักเลี้ยงปลาก็ว่า นักอนุรักษ์นั้นใจแคบและมองโลกด้านเดียว พวกเขาเลี้ยงดูปลาด้วยจิตใจเมตตา ไม่แตกต่างอะไรจากคนที่เลี้ยงหมา แมว นก หนู กระต่าย ฯลฯ อีกทั้งยังเลี้ยงด้วยความใฝ่รู้ พวกเขาต้องศึกษาวิธีการ และบ่มเพาะประสบการณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาทะเล และธรรมชาติของปลามาอย่างดี จึงจะสามารถเลี้ยงให้อยู่รอดปลอดภัยได้นานเป็นปี ๆ 
      ความสำเร็จในการเพาะปลาการ์ตูนในเชิงพาณิชย์ อันเป็นจุดเริ่มให้แก่การเพาะปลาทะเลสวยงามชนิดอื่นๆ อีกนานาชนิด นับเป็นการพบกันครึ่งทางของนักอนุรักษ์ผู้พึงหวังเห็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และนักเลี้ยงปลาผู้มีจิตใจอ่อนโยนต่อสัตว์โลก นี่กระมังที่เป็นคำตอบที่ดีที่สุดของการอนุรักษ์บนพื้นฐานของการมีสังคมที่สงบสุข 
      นับว่าเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการอนุรักษ์ฯ ที่ไม่ควรมองข้าม 

หมายเหตุ : สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่ โทร. ๐-๗๕๖๙-๕๑๕๐
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา โทร. ๐-๓๘๓๙-๑๖๗๑-๓
 

เอกสารอ้างอิง

(คลิกดูภาพใหญ่)       "จากปลาตู้ถึงหูฉลาม" โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ใน มติชน ๑๕ มกราคม ๒๕๔๔
      "เอกสารแนะนำการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนในเชิงพาณิชย์" โดยกองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง กระทรวงเกษตร และสหกรณ์
      "Aquarium Trade Fact Sheet" โดย Marine Aquarium Council ใน www.aquariumcouncil.org
      Clownfish : A Guide to Captive Care, Breeding and Natural History โดย Joyce D. Wilkinson, สำนัก พิมพ์ Microcosm Limited
 

ขอขอบคุณ

        ดร. วรเทพ มุธุวรรณ (สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา)
      คุณไพบูลย์ บุญลิปปตานนท์ คุณสามารถ เดชสถิตย์ คุณพิกุล ไชยรัตน์ และคุณวรรณเพ็ญ คำมี (สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่)
      ส่วนอนุญาตและจัดการประมง สำนักบริหารจัดการด้านการประมง กรมประมง
      คุณอนุรัตน์ เตชะเวช
      คุณนณณ์ ผาณิตวงศ์
      คุณวุทธิเดช ยืนยง
      คุณภวพล ศุภนันทนานนท์ 
      คุณชัยวุฒิ กรุดพันธ์