|
|
เรื่องและภาพ : อาคม กิจวนิชประเสริฐ
|
|
|
|
|
|
|
|
๑
|
|
|
|
ปฐมบท
ราว ๒๐๐ ล้านปีก่อน แผ่นทวีปอินเดีย (Indian Plate) แยกตัวออกจากผืนแผ่นดินเก่าแก่กอนด์วานาแลนด์ (Gondwanaland) ทางใต้ เคลื่อนผ่านท้องทะเลมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ ปะทะเข้ากับแผ่นทวีปยูเรเชีย (Eurasian Plate) เปรียบเสมือนรถยนต์สองคันชนกัน ทำให้เกิดรอยย่นบู้บี้เสยก่ายกันเป็นกองพูน ผืนแผ่นดินกว้างใหญ่โค้งงอเป็นลอนคลื่นสูง ๆ ต่ำ ๆ แผ่นทวีปอินเดียเลื่อนไหลลงไปใต้แผ่นทวีปยูเรเชีย ดันให้เกิดการโก่งตัวขึ้นเป็นเทือกเขาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลายเป็นเทือกเขาหิมาลัย--เทือกเขาที่สูงที่สุดในโลก และหนึ่งในนั้นคือยอดเขาเอเวอเรสต์--ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก
สีขาวแสบตาตัดกับสีฟ้าเข้มของท้องนภาเบื้องบน ก่อให้เกิดภาพของนครขุนเขาสีขาวทอดตัวเป็นแนวยาวกลางเวหาโอบล้อมด้วยทะเลเมฆ ดูประดุจดังวิมานของเหล่าทวยเทพบนสวรรค์ล่องลอยอยู่กลางท้องฟ้า ถ้าไม่เพราะผมรู้สึกตัวอยู่ตลอดตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง ผมคงต้องบอกกับตัวเองว่า กำลังฝันอยู่แน่ ๆ เสียงกัปตันเครื่องบินประกาศให้ทราบว่า แนวเทือกเขาที่เห็นด้านขวามือคือเทือกเขาหิมาลัย และเครื่องบินกำลังจะลงจอดยังประเทศเนปาลในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ ใช่แล้ว เทือกเขาอันเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วโลก เทือกเขาที่มียอดสูงกว่า ๘,๐๐๐ เมตรถึง ๙ ลูกจากทั้งหมด ๑๔ ลูกทั่วโลก เทือกเขาอันเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อทางศาสนาสำหรับผู้คนในภูมิภาคนี้ หิมาลัยกำลังอยู่เบื้องหน้าของผมนี่เอง
|
|
|
|
หิมาลัย เป็นคำในภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า ที่อยู่หรือบ้านของหิมะ เนื่องจากยอดเขาส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยหิมะอยู่ชั่วนาตาปี สำหรับผู้คนในอดีต ด้วยความสูงที่เกินกว่ามนุษย์จะอาศัยหรือเดินทางไปถึงได้ ขุนเขาเหล่านี้จึงเปรียบประดุจสถานที่สถิตของเทพเจ้า ชื่อของเขาบางลูกจึงเป็นชื่อของเทพเจ้าหรือเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า อาทิเอเวอเรสต์ (Everest) มีชื่อในภาษาเนปาลว่า สการ์มาทา (Sagarmatha) หมายถึง มารดาของจักรวาล ส่วนชื่อในภาษาของชาวทิเบตและเชอร์ปา คือ โชโมลุงมา (Chomolungma) เป็นนามของเทพแห่งมารดา หนึ่งในห้าของเทพสตรีผู้มีชีวิตเป็นนิรันดร์ เการิ สันการ์ (Gauri Shankar) ขุนเขาอันเป็นบ้านขององค์ศิวะและพระปาวรตี กเนศ หิมาล (Ganesh Himal) เขาที่มีนามเดียวกันกับพระคเณศเทพเจ้าในศาสนาฮินดู มีเศียรเป็นช้าง
เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นความผูกพันระหว่างขุนเขากับเทพเจ้า
ในศาสนาของผู้คนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้เห็นหิมาลัยด้วยตาของตนเอง
ชื่อเสียงของหิมาลัยและเอเวอเรสต์ดึงดูดให้ผมและภรรยา
ดั้นด้นเดินทางเข้ามาในอ้อมกอดของขุนเขาแห่งนี้ เตรียมพร้อมที่จะเดินเท้าเข้าสู่หุบเขาโซลู-คุมบู (Solu Khumbu) โดยมีจุดหมายปลายทางที่กาลาปัตตาร์ (Kalar Pattar) เนินเขาลูกเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กับเอเวอเรสต์
|
|
|
|
๒
|
|
|
|
เริ่มต้นเดินเท้า
จากสนามบินตรีบูวัน กรุงกาฐมาณฑุ ผมกับภรรยาโดยสารเครื่องบินเล็กเพื่อไปลงยังหมู่บ้านลุกลา (Lukla) ๔๕ นาทีต่อมาเราก็เห็นสนามบินลุกลาอยู่เบื้องล่าง สนามบินแห่งนี้ตั้งอยู่บนไหล่เขาเหนือหุบแม่น้ำดุดโกสี (Dudh Kosi) ที่ความสูง ๒,๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล สุดปลายทางของรันเวย์เป็นหน้าผาทิ้งตัวดิ่งสู่ลำน้ำ ยามเครื่องบินขึ้น-ลงสร้างความหวาดเสียวให้แก่ผู้โดยสารหน้าใหม่อย่างเราไม่น้อย
กันจา นูรู เชอร์ปา กับ กุมบา ปราสาทไร ผู้รับทำหน้าที่มัคคุเทศก์และลูกหาบ มารอรับเราที่อาคารผู้โดยสาร หลังจัดแจงสัมภาระเรียบร้อย กุมบาก็แบกข้าวของออกนำล่วงหน้าไปก่อน เมื่อเริ่มออกเดินทาง หมอกขาวได้โรยตัวลงมาปกคลุมทั่วหุบเขา กันจาพาเดินมุ่งหน้าสู่พักดิง (Phakding) ปลายทางในวันแรก
ระหว่างทางเราสวนกับนักท่องเที่ยว
และขบวนจามรีที่ขนสัมภาระอยู่เต็มหลังเป็นระยะ ๆ ต่างฝ่ายต่างส่งเสียงทักทายกัน หลายคนสีหน้ายังดูสดชื่นเดินเหินเป็นปรกติ
แต่บางคนสีหน้าบ่งบอกถึงความอ่อนล้า
จากการเดินทางมาหลายวัน บ้างเดินกะโผลกกะเผลก บ้างอาศัยไม้เท้าช่วยพยุงมา ที่อาการหนักจนเดินไม่ไหวก็อาศัยนั่งมาบนหลังม้า สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งในการเดิน คือ ขณะเดินสวนหรือแซงจามรี ต้องคอยหลบหลีกให้ดี มิเช่นนั้นอาจถูกเบียดตกเขาได้
|
|
|
|
ช่วงแรกเส้นทางลัดเลาะไปตามไหล่เขา ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดุดโกสี ทางขึ้น ๆ ลง ๆ ผ่านหมู่บ้านชัปลิง (Chapling) ข้ามลำธารกุสุมโคลา (Kusum Khola) ลงสู่หมู่บ้านกัท (Ghat) จากนั้นค่อย ๆ ไต่สูงขึ้นผ่านสถูปเล็ก ๆ ไปยังชูตราวะ (Chutrawa) พืชพรรณที่พบเห็นก็มี สนสกุลต่าง ๆ โอ๊ก เฮมล็อก และพืชในสกุลโรโดเดนดรอน ซึ่งเป็นพืชที่พบทั่วไปในบริเวณที่มีสภาพอากาศแบบอบอุ่น (Temperate Zone) จากชูตราวะมาเกือบชั่วโมงเราก็ถึงพักดิง--ปลายทางในวันนี้
พักดิง (Phakding) นับเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่กว่าที่ผ่าน ๆ มา ตั้งอยู่ที่ความสูง ๒,๖๔๐ เมตร มีที่พักและอาหารให้บริการมากมาย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่บินมาลงลุกลา จะมาพักกันที่นี่ในคืนแรก เราพักที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งริมน้ำดุดโกสีฝั่งตะวันตก บ่ายนั้นเราพบกับสามีภรรยาชาวเบลเยียมคู่หนึ่ง ทั้งสองกลับมาจากเส้นทางสู่เอเวอเรสต์ ฝ่ายสามีเล่าให้ฟังว่า ทั้งคู่ไปถึงดิงโบเช พอเดินทางต่อเพื่อไปโลบูเช ฝ่ายชายก็มีอาการหอบเหนื่อย เดินเซ หัวใจเต้นแรงเกินจะทนทาน จึงต้องกลับลงมา เมื่อเขารู้ว่าผมและภรรยามีจุดหมายเช่นเดียวกับเรา ก็เตือนให้ระวัง อาจโดนโรคแพ้ความสูงเล่นงานเช่นเขาได้ ผมขอบคุณและตระหนักในคำเตือนเป็นอย่างดี
ที่โต๊ะอาหารเย็นนั้น เราได้รู้จักนักเดินทางอีกสองคณะ ซึ่งจะได้ร่วมทางกันไปอีกหลายวัน กลุ่มแรกเป็นชาวเบลเยียมกับเยอรมันรวมสี่คน มีจุดหมายที่โกเกียวริ (Gogyo Ri) และกาลาปัตตาร์ ทั้งสองแห่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ของหิมาลัยที่งดงามมาก แต่เส้นทางค่อนข้างยาวไกลและยากลำบาก โดยเฉพาะช่วงข้ามช่องเขาโชลา (Cholo La) กลุ่มที่ ๒ เป็นวิศวกรชาวอเมริกันกับหนุ่มนักคอมพิวเตอร์ชาวสวิส ปลายทางของทั้งคู่อยู่ที่ยอดเขาไอส์แลนด์ (Island Peak) หรืออิมจาท์เซ (Imja Tse) เป็นยอดเขาที่สูง ๖,๑๘๙ เมตร ซึ่งช่วง ๕๐๐ เมตรสุดท้ายของเส้นทางต้องอาศัยอุปกรณ์และทักษะในการปีนเขาน้ำแข็งจึงจะขึ้นไปได้ ทั้งหมดพอทราบว่าเรามาจากเมืองไทยก็รู้สึกแปลกใจ แต่ทุกคนก็รู้จักและเคยมาเที่ยวเมืองไทยกันแล้ว
|
|
|
|
๓
|
|
|
|
บททดสอบเบื้องต้น
อุณหภูมิยามเช้าที่พักดิงประมาณ ๕-๖ องศาเซลเซียส กว่าแสงแดดจะส่องถึงก้นหุบเขาได้ก็สายมากแล้ว ลำน้ำดุดโกสีช่วงนี้ไหลคั่นกลางระหว่างยอดเขากวางเด (Kwangde Ri) ทางตะวันตก กับยอดเขากุสุมกังกูรู (Kusum Kangguru) ทางตะวันออก ด้วยความสูงกว่า ๖,๐๐๐ เมตรของขุนเขาทั้งสอง ทำให้โตรกธารมีความลึกกว่า ๓,๐๐๐ เมตร หลังอาหารเช้า กันจาพาออกเดินเลาะริมไหล่เขาทางตะวันตกของลำน้ำ หนทางขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นวันวานจนถึงหมู่บ้านเบนการ์ (Benkar) จากนั้นข้ามสะพานแขวนไปยังฝั่งตะวันออก ผ่านหมู่บ้านชูโม (Chumo) มาถึงมอนโจ (Monjo) มอนโจคือหมู่บ้านสุดท้ายก่อนเข้าเขตอุทยานแห่งชาติสการ์มาทา (Sagarmatha Notional Park) กันจาแนะนำให้เราพักกินอาหารกลางวันที่นี่ ส่วนตัวเขาเข้าไปติดต่อชำระค่าธรรมเนียนผ่านเข้าพื้นที่อุทยาน สนนราคาตกคนละ ๑,๑๐๐ รูปี (๖๖๐ บาท)
อุทยานแห่งชาติสการ์มาทาครอบคลุมพื้นที่ ๑,๑๔๘ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า ๓,๐๐๐ เมตร มีอาณาเขตติดต่อกับทิเบตทางด้านเหนือ ส่วนทิศตะวันออกติดกับอุทยานแห่งชาติกาลุ-บารุน ยอดเขาที่มีชื่อเสียงในพื้นที่คือ เอเวอเรสต์, โลท์เซ, โชโออู และอมาดาบลัม พืชพรรณที่พบในอุทยาน ได้แก่ สนสกุลต่าง ๆ และโรโดเดนดรอนเป็นไม้หลัก ส่วนสัตว์ป่าก็มี กวาง หมี หมาป่า แพะภูเขา ไก่ฟ้าอิมพิยัน นกพิราบหิมะ
จากด่านตรวจของอุทยาน เส้นทางดิ่งลงหาลำน้ำดุดโกสีอีกครั้ง เมื่อข้ามสะพานกลับไปฝั่งตะวันตก เราก็ถึงหมู่บ้านโจซาเล (Josale) นับเป็นหมู่บ้านสุดท้ายบนเส้นทางก่อนจะถึงหมู่บ้านนัมเช ปลายทางในวันนี้ แต่กันจาบอกว่าเรามาได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น แถมเส้นทางข้างหน้ายังสูงชันกว่าที่ผ่าน ๆ มา จากโจซาเลเลียบลำน้ำมาประมาณ ๒๐ นาที ก็ถึงที่ลำน้ำโบเตโกสี (Bhote Kosi) ไหลมาบรรจบกับดุดโกสี นับแต่นี้เราต้องไต่ความสูงขึ้นไป ๗๐๐ เมตรจึงจะถึงที่หมาย การเดินขึ้นเขาชันบนพื้นที่สูงเฉลี่ย ๓,๐๐๐ เมตรไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย เมื่อข้ามสะพานแขวนอันสุดท้ายที่ทอดข้ามลำน้ำดุดโกสีมา หนทางเดินก็ยกระดับขึ้นเขาชันทันที เราค่อย ๆ เดินไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ ความหนาวเย็นจางหายไป ความร้อนและความเหนื่อยมาแทนที่ เราพักรับลมเย็นที่ริมผาแห่งหนึ่ง ลำน้ำดุดโกสีถูกทิ้งไว้ก้นหุบเบื้องล่างเห็นเป็นแนวเส้นสีน้ำนมเขียว ไหลซอกซอนไปตามร่องเขาที่ผ่านมา
ลมเย็นจากก้นหุบเขาโชยขึ้นมา
ช่วยคลายร้อนลดความเหนื่อยล้าให้เราได้ดี
ช่วงท้ายของเส้นทาง ความเหนื่อยล้าคุกคามกล้ามเนื้อขาทั้งสองมากขึ้น เราต้องพักกันบ่อยครั้งขึ้น ในใจหวังให้ถึงหมู่บ้านเสียที แต่ก็ผ่านไปอีกครู่ใหญ่จึงเห็นร้านค้าริมทางแห่งแรก เป็นเวลากว่า ๒ ชั่วโมงจากลำน้ำ ในที่สุดเราก็ถึงหมู่บ้านนัมเชบาซาร์ ผมกับภรรยาใช้เวลาที่เหลือของวันเดินทางสำรวจหมู่บ้าน
|
|
|
|
หมู่บ้านนัมเชบาซาร์ (Numche Bazar) เป็นหมู่บ้านใหญ่ที่สุดบนเส้นทางสายนี้ ตั้งอยู่ที่ความสูง ๓,๔๔๐ เมตร มีบ้านเรือนกระจุกรวมกันกว่า ๒๐๐ หลังคาเรือน มีร้านอาหารและที่พักมาก มีร้านเบเกอรี่ใหญ่สามสี่ร้าน ร้านให้บริการอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ทางไกลทั้งในและต่างประเทศ ร้านขายอุปกรณ์เดินป่าและปีนเขา ร้านขายของและสินค้าที่ระลึก นอกจากนี้ที่ลานโล่งกลางหมู่บ้านบริเวณใกล้กับสถูปยังมีชาวทิเบตนำสินค้าประเภทเสื้อผ้า พรม และสินค้าอื่น ๆ จากจีน มาวางขายแบกะดินอีกหลายร้าน นับเป็นศูนย์กลางความเจริญในด้านการค้าและการท่องเที่ยวของหุบเขาคุมบูแห่งนี้
ตกตอนเย็นหมอกจากก้นหุบเขาก่อตัวลอยขึ้นมาห่มคลุมทั่วหมู่บ้าน มองไปทางใดก็มีแต่สีขาวหม่น เราเข้าสู่ที่พักบนเนินสูงแห่งหนึ่ง ในวงอาหารเย็นวันนั้นเราพูดคุยกับนักเดินทางกลุ่มอื่น เรื่องหนึ่งที่เอ่ยถึงกันมากคือ ความเจ็บป่วยเนื่องจากความสูง (altitude sickness) หรือโรคแพ้ความสูงนั่นเอง สาเหตุของโรคก็เนื่องจากความบางของอากาศที่แปรตามความสูงที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ออกซิเจนในอากาศน้อยลงเรื่อย ๆ เช่นที่นัมเช ในระดับความสูง ๓,๔๐๐ เมตรนี้ ปริมาณออกซิเจนในอากาศเหลือเพียงสองในสามของออกซิเจนที่ระดับน้ำทะเลเท่านั้น ส่งผลให้ปอดและหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ได้ออกซิเจนเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ยิ่งเรามีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากขึ้นอย่างการเดินเขา หัวใจและปอดยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น หากเกินกำลังที่ร่างกายจะทนไหว ก็อาจเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดตายได้
ตัวยาหนึ่งที่อาจมีประโยชน์ทั้งในด้านการรักษาและการป้องกัน คือ อะเซตะโซลาไมด์ (Acetazolamide) หรือในชื่อการค้าว่า ไดอะม็อกซ์ (Diamox) เป็นยาขับปัสสาวะชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยขับด่างจากภาวะหายใจหอบ และช่วยให้สมองที่ควบคุมการหายใจทำงานได้ดีขึ้น ถ้าได้กินล่วงหน้าในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยให้ร่างการปรับตัวในที่สูงได้ดีขึ้น ทุกคนที่พูดคุยด้วยต่างก็พกพายาชนิดนี้มาทั้งนั้น บางคนตัดสินใจเริ่มกินในเย็นนี้ ทำให้คืนนี้ผมกับภรรยาต้องหลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะห้องข้างเคียงลุกเข้าห้องน้ำแทบทั้งคืน เนื่องจากฤทธิ์ของไดอะม็อกซ์ที่กินเข้าไป
|
|
|
|
๔
|
|
|
|
อุปสรรคเริ่มปรากฏ
เช้าวันใหม่ในหุบเขาคุมบู
ผมตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่งเพื่อเดินขึ้นไปชมทิวทัศน์
ที่ลานกว้างบนเนินสูงอันเป็นที่ทำการของอุทยานแห่งชาติสการ์มาทา อากาศภายนอกที่พักหนาวจับใจ น้ำค้างแข็งจับอยู่ตามใบไม้ใบหญ้า แอ่งน้ำเล็ก ๆ ตามพื้นดินหลายแห่งผิวหน้ากลายเป็นแผ่นน้ำแข็ง อุณหภูมิติดลบ ๔-๕ องศาเซลเซียส
ณ จุดชมทิวทัศน์ ท้องฟ้าสว่างขึ้นทีละน้อย ๆ แสงสีทองสาดส่องจับยอดเขาหิมะดูงดงาม ทางทิศเหนือไกลออกไปเกือบสุดสายตา เอเวอเรสต์โผล่พ้นยอดเหนือโลท์เซที่ยืนบังอยู่ด้านหน้า ใกล้เข้ามาทางฝั่งตะวันออกของหุบเขาอิมจา อมาดาบลัม (Amadablam) ยืนเด่นด้วยรูปลักษณ์อันงดงามยากจะหาขุนเขาใดมาเทียม ใกล้เข้ามาอีกเป็นแนวเขาทัมเซอกุ (Thamserku) เมื่อหันหลังกลับไปด้านทิศใต้ ขุนเขากวางเดและเตงกังโปเช (Tengkangpoche) ยืนตระหง่านต่อเนื่องกันไป
หลังอาหารเช้า เราออกเดินทางผ่านสถูปเล็ก ๆ ท้ายหมู่บ้าน ก้าวเท้าขึ้นสู่เนินเขาลูกย่อม ๆ เบื้องหน้าหนทางสูงชัน ไม่มีต้นไม้ใหญ่ให้ยึดเกาะ พบเพียงไม้พุ่มเตี้ย ๆ ขึ้นคลุมดิน บางช่วงพบดอกไม้สกุลหรีดขึ้นอยู่เป็นกระจุก ๆ พ้นเนินขึ้นมาก็ถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ช่วงเช้ามีเฮลิคอปเตอร์หลายลำขึ้นลงเพื่อส่งและรับนักท่องเที่ยว จากลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เราเดินอ้อมสู่ทิศตะวันออก ผ่านหน้าโรงแรมสยังโบเช (Syangboche Hotel) จนถึงแนวหน้าผาฝั่งตะวันตกของลำน้ำดุดโกสีจึงเลาะเลียบตามแนวผาไป
ภรรยาผมปวดศีรษะมาตั้งแต่เช้า ตอนขึ้นเนินก็มีอาการเหนื่อยหอบผิดปรกติ ต้องหยุดพักบ่อยครั้ง กันจาและผมเริ่มตระหนักว่า เธออาจถูกโรคแพ้ความสูงเล่นงานเข้าแล้ว เราเดินชมทิวทัศน์เรื่อยมาจนถึงโรงแรมเอเวอเรสต์วิว (Everest View Hotel) ซึ่งเป็นโรงแรมที่หรูที่สุดบนเส้นทาง ตั้งอยู่ที่ความสูง ๓,๘๐๐ เมตร ชาวญี่ปุ่นได้มาเช่าที่สร้างไว้ในทำเลที่ถือได้ว่าเป็นจุดชมทิวทัศน์ของขุนเขาหิมาลัยที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง สนนราคาห้องพักประมาณ ๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อคืน (๙,๐๐๐ บาท) แม้ไม่มีโอกาสใช้บริการห้องพัก แต่เราก็ได้เข้าไปนั่งกินอาหารว่างกับเครื่องดื่มร้อน ๆ ที่ห้องอาหารของโรงแรม พร้อมกับชมทิวทัศน์ของเอเวอเรสต์และขุนเขาลูกอื่น ๆ นานกว่าชั่วโมงที่เรานั่งดื่มด่ำกับความสุขเล็ก ๆ ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ก่อนก้าวเท้าออกจากโรงแรมเดินลงสู่คุมจุง
หมู่บ้านคุมจุง (Khumjung) อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓,๗๐๐ เมตร เป็นหมู่บ้านชาวเชอร์ปาที่ใหญ่อีกแห่ง กันจามัคคุเทศก์ของเราก็อาศัยอยู่ที่นี่ กล่าวถึงชาวเชอร์ปาแล้ว ตามเรื่องราวที่เล่าโดยท่านงาวัง เทน ชิน ซังบู เจ้าอาวาสวัดทยังโบเช กล่าวไว้ว่า คำว่า เชอร์ปา (Sherpa) แปลว่า ชาวตะวันออก เนื่องจากพวกเขามาจากแคว้นคัม (Kham) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของทิเบต เมื่อ ๖๐๐ ปีก่อนผู้คนได้พากันอพยพหนีภัยจากการสู้รบรุกราน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหุบเขาทางเหนือของเนปาล พวกแรกเข้ามาในหุบเขาคุมบูทางหุบเขาโรลวาลิงและช่องเขาตาชิ พวกต่อมาอพยพจากแคว้นคัม ซาลโม (Salmo) และกัง (Gang) ของทิเบต เข้ามาทางช่องเขานังปา มาอยู่รวมกันในหุบเขาที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาหิมะ แต่ก่อนหุบเขาคุมบูยังถูกปกคลุมไปด้วยหิมะและธารน้ำแข็ง ผู้คนอาศัยอยู่ค่อนไปทางตอนล่าง ต่อมาเมื่อธารน้ำแข็งหดตัว ผู้คนจึงอพยพขึ้นมาอาศัยในที่สูงขึ้น มายังนัมเช คุมจุง และปางโบเชในปัจจุบัน
|
|
|
|
จากวิถีชีวิตที่แต่ก่อนค้าขายกับทิเบต เมื่อทางการจีนเข้าครอบครองทิเบตในปี ๑๙๕๙ ประกอบกับมีนักปีนเขาเข้ามาในหุบเขามากขึ้น
ชาวเชอร์ปาจึงหันไปทำงานเป็นลูกหาบ
และผู้ช่วยในคณะปีนเขาแทน ต่อมาในช่วงสองสามทศวรรษหลัง การท่องเที่ยวเดินเขาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ชาวเชอร์ปาจึงหันมาทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยว บ้างเป็นลูกหาบ บ้างเป็นมัคคุเทศก์ บ้างเป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก บ้างเป็นเจ้าของบริษัทนำเที่ยว บ้างเป็นเจ้าของสายการบินในประเทศ วิถีชีวิตเปลี่ยนไปมาก
หมู่บ้านคุมจุงในวันนี้มีบ้านเรือนกว่าร้อยหลังคาเรือน บ้านหลายหลังดูใหญ่โตงดงาม พื้นที่ในหมู่บ้านถูกแบ่งโดยใช้หินขนาดใหญ่มากองเรียงกันเป็นแนวรั้วโดยรอบ บางส่วนใช้เลี้ยงจามรี บางส่วนใช้ปลูกพืชพวกมันฝรั่ง กันจาพาเข้าพักยังโรงแรมคุมจุง ตอนบ่ายภรรยาผมปวดศีรษะมากขึ้น หลังจากกินยาแก้ปวดแล้วอาการก็ทุเลาลง กันจาเอ่ยชวนไปดูหนังหัวเยติที่วัดคุมจุง เป็นหนังหัวหนึ่งในหลายอันที่พบได้ตามวัดในหมู่บ้านบางแห่ง ซึ่งอ้างกันว่าเป็นหนังหัวของมนุษย์หิมะแห่งเทือกเขาหิมาลัย เคยมีนักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสมาตรวจสอบแล้วสรุปว่าเป็นหนังของแพะภูเขา ผู้เป็นเจ้าของหนังหัวเยติที่คุมจุงได้ตอบกลับอย่างชาญฉลาดว่า "เราผู้อาศัยในคุมจุงไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับยีราฟและจิงโจ้ นั่นทำให้ฉันเข้าใจได้ว่า ผู้คนในปารีสย่อมไม่มีความคิดในเรื่องเยติเช่นกัน" ผมปฏิเสธกันจาไปเพราะต้องการให้ภรรยาพักผ่อน
ค่ำวันนั้นหลังอาหารเย็น กันจาเห็นสีหน้าภรรยาผมไม่ค่อยสู้ดีนัก จึงปรึกษากันว่าจะเอาอย่างไรดี กันจาเองอยากให้เราพักที่คุมจุงอีกสักวัน เพื่อดูอาการและให้ร่างกายได้ปรับตัวให้ชินกับอากาศที่บางลง แต่เนื่องจากเวลาในการเดินทางมีจำกัด ผมจึงขอให้คำตอบพรุ่งนี้เช้า
|
|
|
|
๕
|
|
|
|
สู่ทยังโบเช ศูนย์กลางทางจิตวิญญาณแห่งคุมบู
เช้าวันใหม่อากาศสดใสเช่นทุกวัน ภรรยาผมหลับได้เต็มที่ในคืนที่ผ่านมา เช้านี้เธอจึงดูสดชื่นกว่าวันก่อนมาก สอบถามอาการเธอก็ยืนยันว่าไปต่อได้ หลังอาหารเช้าเราล่ำลากลุ่มที่ไปโกเกียวริ วันนี้เส้นทางต้องแยกจากกันไป ต่างก็อวยพรแก่กันให้เดินทางถึงที่หมายโดยปลอดภัย จากโรงแรมเราออกเดินมุ่งหน้าสู่ลำน้ำดุดโอสีอีกครั้ง
ที่ท้ายหมู่บ้านคุมจุง กันจาชี้ชวนให้ดูฝูงไก่ฟ้า เรามองตามไปที่ชายป่า ฝูงไก่ฟ้าเจ็ดแปดตัวกำลังไล่จิกแมลงอย่างเริงร่า สีสันตามขนและปีกงดงามมาก กันจาอธิบายให้ฟังว่า นกชนิดนี้คือไก่ฟ้าอิมพิยัน (Impeyan Pheasant) ถือเป็นนกประจำชาติเนปาล คู่กับกุหลาบพันปีหรือโรโดเดนดรอน อาร์บอเรียม (Rhododendron Aboreum) ดอกไม้ประจำชาติเนปาล ถ้าดูไก่ฟ้าอิมพิยันให้ดีจะพบว่าสีสันของขนมีถึงเก้าสีด้วยกัน ปรกติจะหากินในระดับความสูง ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ เมตร เมื่อถึงฤดูหนาวจะอพยพลงไปหากินตามป่าโรโดเดนดรอน นับเป็นความโชคดีของเราที่มีโอกาสเห็นนกที่สวยงามชนิดนี้ในธรรมชาติ
จากคุมจุงหนทางดิ่งลงสู่ลำน้ำดุดโกสี เราลงมากว่า ๕๐๐ เมตรในแนวดิ่งจึงถึงลำน้ำนี้ที่หมู่บ้านฟุนกิเตง (Phunkiteng) เป็นจุดที่นักเดินทางส่วนใหญ่พักกินอาหาร เติมพลังก่อนที่จะต้องไต่ความสูงขึ้นไปกว่า ๖๐๐ เมตร ตรงท้ายหมู่บ้านจะมีกงล้อสวดมนต์ขนาดใหญ่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำตั้งเรียงรายอยู่ริมทางเท้า เราแยกตัวออกจากลำน้ำดุดโกสี ไต่ขึ้นด้านข้างของสันเขาที่อยู่ริมฝั่งตะวันออกของลำน้ำอิมจาโคลา (Imja Khola) ลำน้ำอิมจาไหลมาจากเขาอิมจาท์เซ ผ่านชูกุง ดิงโบเช จากนั้นรับน้ำจากธารน้ำแข็งคุมบูที่มาบรรจบ ก่อนจะพาตัวเองมาสมทบกับดุดโกสีบริเวณเหนือหมู่บ้านฟุนกิเตงไปเล็กน้อย ส่วนลำน้ำดุดโกสีมีต้นน้ำมาจากธารน้ำแข็งโงจุมบา (Ngojumba Glacier) และทะเลสาบดุดโปคารี (Dudh Pokhari) ที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านโกเกียว
|
|
|
|
เกือบ ๒ ชั่วโมงเราจึงขึ้นมาถึงทยังโบเช (Tyangboche) วัดทยังโบเชตั้งตระหง่านอยู่บนสันเขาที่ความสูง ๓,๘๖๗ เมตร หันหน้าสู่ทิศตะวันออก เป็นวัดที่มีชื่อเสียงที่สุดบนเส้นทางสายนี้ ถือเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชาวเชอร์ปาในหุบเขาคุมบู สร้างขึ้นในปี ๑๙๒๐ ต่อมาในปี ๑๙๓๔ เกิดแผ่นดินไหวพังทลายลงมา หลังจากบูรณะขึ้นใหม่ในปี ๑๙๘๙ ก็ถูกไฟไหม้ทำลายอีกครั้ง วัดที่เห็นขณะนี้เป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ ๓ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะมีเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งของชาวเชอร์ปา นั่นคือ เทศกาลมานิ ริมดู (Mani Rimdu) ในงานจะมีการเต้นรำหน้ากากและสวดมนต์โดยเหล่าลามะของวัด เพื่อสวดบูชาแด่เทพพักปา เชนเรซิก (Phakpa Chenrezig) ให้นำมาซึ่งความโชคดีและสันติภาพแก่ทุกคน เย็นนั้นทางวัดเปิดให้นักเดินทางเข้าไปชมและร่วมฟังการทำวัตรเย็นได้
สายลมยามเย็นหอบเอาหมอกจากหุบเขาลอยขึ้นมาบดบังแสงสุดท้ายของวัน
ให้หดหายไปก่อนเวลาอันสมควร
ผมรู้สึกได้ถึงความหนาวเย็นที่ทวีมากขึ้น
จนต้องหยิบเสื้อขนห่านขึ้นมาสวม หลังเที่ยวสำรวจโดยรอบพื้นที่แล้ว เราแวะไปทักทายกับมาร์กวิศวกรอเมริกันกับหนุ่มสวิส ทั้งสองต้องนอนในเต็นท์ตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป มาร์กแซวเราสองคนที่สวมเสื้อขนห่านตัวพองใหญ่ ว่าเหมือนพวกนักบินอวกาศ เราคุยกันครู่ใหญ่ก่อนแยกย้ายไปหาอาหารเย็นกิน
|
|
|
|
๖
|
|
|
|
บนหนทางสู่โลบูเช
ท้องฟ้าสว่างแล้ว ผมโผล่หัวออกจากถุงนอน ชะเง้อมองไปนอกหน้าต่าง เพียงเท่านี้ก็สามารถชื่นชมทิวทัศน์ของเอเวอเรสต์ โลท์เซ และอมาดาบลัมยามเช้าได้ ลอดจ์ที่เราพักตั้งอยู่ในทำเลที่ดีเยี่ยมเหมาะแก่การชมทิวทัศน์ จากทยังโบเชเราเดินลงเขาสู่ดีโบเช (Deboche) ที่อยู่ริมฝั่งอิมจาโคลา พอข้ามลำน้ำสู่ฝั่งตะวันตกทางก็ไต่ระดับสูงขึ้นผ่านสถูปเล็ก ๆ สู่ปางโบเช (Pangboche) นับเป็นหมู่บ้านใหญ่ของชาวเชอร์ปาอีกแห่ง เราแวะพักดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ ครู่ใหญ่ก่อนออกเดินทางต่อ หนทางบนไหล่เขาทอดขนานไปกับลำน้ำอิมจา
ต้นไม้ใหญ่บางตาลงเหลือเพียงพวกไม้พุ่มและหญ้า เลยเที่ยงวันมาแล้วเมื่อเรามาถึงหมู่บ้านโซมาเร (Somare) ข้าวผัดที่โซมาเรถูกปากเราสองคนมาก รสชาติเหมือนที่กินในเมืองไทยทีเดียว
พ้นจากโซมาเรมาครู่หนึ่ง ก็ถึงจุดแยกระหว่างเส้นทางสู่เพริเช (Pheriche) กับทางไปดิงโบเช (Dingboche) เราเลือกเส้นทางที่ตัดลงสู่ลำน้ำคุมบูโคลาบริเวณที่ลำน้ำคุมบูไหลลงลำน้ำอิมจา หลังข้ามพ้นลำน้ำก็ต้องไต่ความสูงชันอีกครั้ง บนเส้นทางสู่ดิงโบเชมีพืชพรรณบางตามาก แม้แต่ไม้พุ่มก็มีอยู่เป็นหย่อมเล็ก ๆ มองไปทางใดก็เห็นแต่เนินดินสีน้ำตาลกับก้อนหินสีเทา วางตัวระเกะระกะสองข้างทางเท้า ช่วงท้ายของเส้นทางอาการปวดศีรษะเข้ามารบกวนภรรยาผมอีกครั้ง แถมด้วยอาการท้องอืด แต่สุดท้ายเราก็มาถึงหมู่บ้านดิงโบเชที่ตั้งอยู่บนความสูง ๔,๓๕๐ เมตร เราจะพักกันที่นี่สองคืนเพื่อปรับตัวให้ชินกับอากาศที่น้อยลง ดิงโบเชและเพริเชในอดีตเป็นเพียงที่พักชั่วคราวของชาวเชอร์ปา ผู้คนจะมาอาศัยเลี้ยงสัตว์เฉพาะในฤดูมรสุม เมื่อมีการท่องเที่ยวและกิจกรรมปีนเขา ผู้คนจึงเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรเพื่อทำธุรกิจให้บริการที่พักและอาหาร เราเข้าพักยังตาชิลอดจ์ มีนักเดินทางพักอยู่หลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น เย็นนั้นเราทำความรู้จักกับกลุ่มของคุณทามูระ ซึ่งมาด้วยกันสี่คนสองคู่ ทั้งสี่อยู่ในวัยเกษียณ อายุกว่า ๖๐ ปี แต่ก็มีจุดหมายเช่นเดียวกับเราคุณทามูระเล่าให้ฟังผ่านมัคคุเทศก์ของกลุ่มว่า พวกเขาเริ่มเดินเท้าจากลุกลาเช่นกัน แต่ออกมาก่อนหน้าสี่ห้าวันแล้ว มีเวลาไปกลับทั้งหมด ๒๒ วันเต็ม ทำให้มีเวลาปรับตัวแต่ละช่วงหลายวัน คุณทามูระยังบอกอีกว่า เคยไปปีนภูเขามาหลายแห่ง ชอบการเดินเขามาแต่หนุ่ม ผมนึกนับถือชาวญี่ปุ่นกลุ่มนี้ในใจ คิดคำนึงถึงตัวเองว่า ถ้าผมอยู่ในวัยเช่นนี้ จะยังคงมีกำลังกายและกำลังใจที่จะทำแบบนี้หรือไม่ อย่าว่าแต่ที่นี่เลย แค่ภูกระดึงหรือดอยเชียงดาวก็อาจไม่มีปัญญาขึ้นได้ คุณทามูระสอนให้เราเล่นไพ่ญี่ปุ่นกันอย่างสนุกสนาน หลังอาหารเย็น มาร์กที่เห็นหน้ากันมาตั้งแต่วันแรก เข้ามาพูดคุยกันนานเป็นพิเศษ พรุ่งนี้เส้นทางของเราต้องแยกจากกันแล้ว เราคุยถึงครอบครัวแต่ละฝ่าย แลกเปลี่ยนที่อยู่กัน สุดท้ายต่างฝ่ายต่างอวยพรให้โชคดีในการเดินทาง
|
|
|
|
ก่อนอาหารเช้าวันใหม่ เราได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ลงจอดใกล้ ๆ ที่พัก สอบถามได้ความว่า หญิงชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่พักในเต็นท์ด้านนอก โดนโรคแพ้ความสูงเล่นงานหนักตลอดทั้งคืน ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ เช้านี้จึงต้องเรียกเฮลิคอปเตอร์มารับไปส่งข้างล่าง สนนราคาค่าบริการของเฮลิคอปเตอร์ตกประมาณ ๑,๕๐๐-๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ
หลังอาหารเช้า กันจาบอกว่าจะพาไปเดินเล่น จุดหมายอยู่ที่ชูกุง (Chhukung) ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปที่ระดับ ๔,๗๕๐ เมตร แต่สภาพของภรรยาผมวันนี้ไม่ค่อยสู้ดีนัก คืนที่ผ่านมาไม่ค่อยได้หลับ เช้านี้ปวดศีรษะรุนแรงกว่าเมื่อวานเย็น แต่เธอบอกว่ายังไหว พวกเราจึงออกเดินโดยเส้นทางเลียบริมน้ำฝั่งตะวันตกของลำน้ำอิมจาขึ้นไป สภาพท้องฟ้าวันนี้ไม่สดใสเช่นวันก่อน ๆ เมฆสีเทาหม่นคลุมท้องฟ้าดูอึมครึมตั้งแต่ตอนตื่นนอนแล้ว นอกจากจะไม่สามารถชมทิวทัศน์ของขุนเขาได้แล้ว อากาศยังหนาวจัดตลอดช่วงเช้า สองข้างทางที่ผ่านไปมีแต่เนินดินกับก้อนหิน ไม้พุ่มพบเฉพาะริมลำธาร น้ำแข็งยังจับอยู่ตามใบหญ้าโขดหินและรากไม้ริมลำธาร บางช่วงของลำธารมีน้ำแข็งคลุมเหมือนเป็นสะพานน้ำแข็งทอดข้ามลำน้ำเลยทีเดียว ภรรยาผมออกอาการเหนื่อยง่าย มึนงง ทำให้เราต้องพักกันบ่อยครั้ง เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งบินผ่านเราไป ลงจอดที่หมู่บ้านชูกุงเบื้องหน้า ...ไม่แน่ว่าเราอาจต้องเรียกใช้เป็นลำต่อไป
เกือบ ๓ ชั่วโมงเราจึงได้มานั่งพักในลอดจ์ที่ชูกุง ชูกุงเป็นหมู่บ้านสุดท้ายบนทางสายนี้ เป็นปากทางสู่ยอดเขาอิมจาท์เซและโลเซชาร์ (Lhotse Shar) มีที่พักอยู่สามสี่แห่ง วันที่เรามามีผู้มาเยี่ยมเยือนพอสมควร บ้างมาเพื่อปรับตัวบ้างมาเพื่อปีนเขาอิมจาท์เซ ช่วงบ่ายเราใช้เวลาเดินกลับเพียงครึ่งเดียวของขามา เย็นนั้นอาการของภรรยาผมเลวร้ายลงอีก กินยาแก้ปวดไปสองสามครั้งแล้วก็ยังไม่ทุเลา กินอาหารได้น้อยและคลื่นไส้จนเกือบสำรอกออกมา กันจาเห็นอาการโดยตลอด เขารู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แนะนำให้เราพักต่ออีกสักคืน ถ้าอาการหนักขึ้นคงต้องกลับลงไปไม่ควรฝืนสังขาร กันจาเล่าว่าเคยเห็นหญิงชาวตะวันตกผู้หนึ่งมีอาการแบบเดียวกัน ฝืนเดินทางต่อ สุดท้ายไปเสียชีวิตระหว่างทาง ผมตรวจดูร่างกายของภรรยาแล้ว ยังรู้สึกมั่นใจว่าถ้าเธอได้พักผ่อนเต็มที่ในคืนนี้ ก็น่าที่จะไปต่อได้ จึงบอกกับกันจาว่า ถ้าพรุ่งนี้ภรรยาผมอาการดีขึ้น เรายังอยากที่จะเดินทางต่อ
|
|
|
|
เช้าวันที่ ๗ ของการเดินทาง ท้องฟ้าแจ่มใสผิดกับวันวาน ผมลุกขึ้นมาชมความงามของธรรมชาติยามเช้า ภาพแสงสีทองค่อย ๆ จับยอดเขาตาโบเชทางทิศตะวันตก ช่วยเรียกพลังชีวิตให้โชติช่วงขึ้นมาอีกครั้ง ภรรยาผมมีสีหน้าดีขึ้นมาก อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้หายไป เป็นอันว่าในวันนี้เราจะเดินทางกันต่อ จากดิงโบเช เราไต่ขึ้นเนินสูงหลังหมู่บ้าน เมื่อถึงสันเขามองย้อนไปทางตะวันออก เห็นหมู่บ้านชูกุงอยู่หน้าเขาอิมจาท์เซ ถัดไปด้านหลังคือโลท์เซชาร์ ส่วนทางใต้เห็นยอดเขามากาลูอยู่ลิบ ๆ พ้นสันเขามาเป็นพื้นที่ราบผืนใหญ่ทอดตัวขนานไปกับลำน้ำคุมบู เราเลาะเลียบขอบผามุ่งหน้าสู่ทิศเหนือ
สองชั่วโมงต่อมาก็ถึงทุกลา (Thukla) หมู่บ้านเดียวบนเส้นทางระหว่างดิงโบเชสู่โลบูเช ตั้งอยู่ที่ความสูง ๔,๖๐๐ เมตร จากทุกลาต้องไต่ขึ้นเนินอันสูงชันเบื้องหน้า นับเป็นช่วงที่หนักที่สุดของเส้นทางในวันนี้
กว่าจะพ้นทางชันมาได้ก็เล่นเอาเหนื่อยหอบไปตาม ๆ กัน ด้านบนนี้เป็นบริเวณที่ตั้งของกองหินวางเรียงคล้ายสถูปเล็ก ๆ นี่คือตัวแทนของผู้เสียชีวิตบนเส้นทางสู่เอเวอเรสต์ จากจุดนี้เราเดินเลียบขนานไปกับธารน้ำแข็งคุมบู พืชพันธุ์ที่พบเห็นเหลือแต่หญ้าเท่านั้นที่อยู่รอดได้ในความสูง ๕,๐๐๐ เมตรแบบนี้ ๑ ชั่วโมงต่อมาเราก็ถึงจุดหมาย
โลบูเช (Lobuche) เป็นหมู่บ้านสุดท้ายบนเส้นทาง ส่วนโกรักเชปอีกแห่งนั้นเป็นแค่ที่พักชั่วคราวเท่านั้น โลบูเชจึงเสมือนประตูสู่เอเวอเรสต์เบสแคมป์ และกาลาปัตตาร์ มีที่พักอยู่สักสี่ห้าแห่ง ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่บนบริเวณเชิงเขาโลบูเชในระดับความสูง ๔,๙๓๐ เมตร มีลำธารเล็ก ๆ ไหลรินผ่าน ที่พักส่วนใหญ่ถ้าเป็นฤดูท่องเที่ยวจะเต็มหมด ต้องจองล่วงหน้า ราคาที่พักก็แพงกว่าที่อื่นมาก อย่างลอดจ์ที่เราเข้าพักนั้นห้องพักเตียงคู่ราคาคืนละ ๓๐ ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้ห้องถูกจองเต็มหมดแล้ว เราจึงต้องเข้าพักห้องรวมซึ่งพักได้ถึง ๒๐ คน ช่วงบ่ายท้องฟ้าที่สดใสก็ถูกเมฆหมอกเข้าห่มคลุมเช่นทุกวัน อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว คืนนี้นับเป็นคืนที่หลับได้ยากอีกคืน เนื่องจากเป็นห้องรวมจึงมีผู้คนเดินเข้าออกส่งเสียงรบกวนแทบทั้งคืน
|
|
|
|
๗
|
|
|
|
สุดท้ายปลายทางที่กาลาปัตตาร์
ผมปลุกภรรยาลุกแต่เช้ามืด เพราะจุดหมายปลายทางในวันนี้คือกาลาปัตตาร์ อยู่ห่างไกลออกไปเป็นระยะเดินเท้า ๕-๘ ชั่วโมง หลังหกโมงเช้าเล็กน้อยเราก็พร้อมออกเดินทาง อุณหภูมิภายนอกติดลบราว ๑๐-๑๒ องศาเซลเซียส กันจาพาเดินไปตามทางที่เลียบขนานไปกับธารน้ำแข็งคุมบู (Khumbu Glacier) ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นทีละน้อย ๑ ชั่วโมงผ่านไปเรามาได้ครึ่งทางจากโลบูเชสู่โกรักเชปแล้ว แต่เบื้องหน้าถูกขวางด้วยเนินเขาลูกย่อม ๆ ขณะกำลังก้าวเดินขึ้นไปนั้น อาการของโรคแพ้ความสูงก็กลับมาเล่นงานภรรยาผมอีกครั้ง คราวนี้รุนแรงกว่าที่ผ่านมา อากาศที่บางลงเหลือแค่ครึ่งเดียวของพื้นราบ ทำให้เธอหายใจได้ไม่พอกับความต้องการของร่างกาย อาการปวดศีรษะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ กว่าจะก้าวขึ้นไปได้แต่ละช่วงเธอต้องหยุดหอบหายใจเป็นพัก ๆ จนบางครั้งเธอแทบจะทรุดตัวลงกองกับพื้น ผมเห็นอาการแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ชวนเธอให้หันหลังกลับพรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ แต่เธอปฏิเสธ ยังคงกัดฟันก้าวเดินต่อไปอย่างช้า ๆ
กว่า ๓ ชั่วโมงจากโลบูเชเราจึงมาถึงยังโกรักเชป (Gorak Shep) นับเป็นจุดสุดท้ายที่มีลอดจ์ที่พัก ซึ่งมีเพียงสองแห่งเท่านั้น ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในระดับความสูงถึง ๕,๑๗๐ เมตร เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่กลางธันวาคมถึงมกราคม ที่พักเหล่านี้ต้องปิดตัวลง เพราะอุณหภูมิลดต่ำลงติดลบ ๒๐-๓๐ องศาเซลเซียส และอาจมีหิมะทับถมจนหนายากแก่การพักอาศัยและหลับนอน ด้วยเวลาอันจำกัดและสภาพร่างกายที่อ่อนล้าเกินกว่าจะเดินขึ้นกาลาปัตตาร์ได้ ภรรยาผมจึงขอตัวนั่งพักรออยู่ที่ลอดจ์ข้างล่าง ผมฝากกันจาให้ช่วยดูแลเธอด้วย ส่วนตัวผมออกเดินเท้ามุ่งสู่เนินเขาสูงเบื้องหน้า
กาลาปัตตาร์ (Kalar Pattar) เป็นเนินเขาลูกเล็ก ๆ ที่อยู่แนบชิดกับขุนเขาพูโมริ (Pumo Ri) ทางด้านใต้ ด้วยความสูงถึง ๕,๕๔๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบกับสามารถชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ อีกทั้งยังสามารถสัมผัสความยิ่งใหญ่ของเอเวอเรสต์ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมได้โดยไม่ต้องปีนเขา ทำให้กาลาปัตตาร์เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับนักเดินเขาที่มาตามเส้นทางสายนี้ ผมเริ่มก้าวเท้าขึ้นเนินเขาไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ ช่วงแรกยังไม่ค่อยรู้สึกอะไร พอ ๑ ชั่วโมงผ่านไป ความรู้สึกเหนื่อยแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิตทำให้ผมต้องหยุดพักบ่อยครั้ง หนทางชันมากขึ้นเป็นลำดับ ช่วงท้ายของเส้นทางแทบทุก ๒๐-๓๐ ก้าวที่เดินขึ้นไปข้างหน้า ผมต้องหยุดพักหอบหายใจ ๒-๓ นาทีจึงสามารถก้าวเท้าต่อไปได้ ท้ายที่สุดผมก็ทำได้สำเร็จ สามารถพาตัวเองขึ้นมาส่วนยอดของกาลาปัตตาร์ได้
|
|
|
|
กาลาปัตตาร์ เป็นคำที่มีความหมายว่า หินดำ
คงเนื่องจากสภาพเนินเขาแห่งนี้ที่ประกอบขึ้นจากดิน
และหินสีดำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะส่วนบนจะเหมือนนำหินสีดำขนาดใหญ่มาวางเรียงซ้อน ๆ กันจนถึงยอด
ในด้านทิวทัศน์นั้นกล่าวได้ว่า
กาลาปัตตาร์เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่งดงามที่สุดจุดหนึ่ง
ในบรรดาเส้นทางเดินเขาของเนปาล จากด้านทิศเหนือ ขุนเขาลิงเตรน (Lingtren) ยืนเคียงคู่กับคุมบูท์เซ (Khumbutse) เป็นต้นกำเนิดของสายธารน้ำแข็งคุมบู ถัดมาทางด้านใต้ในทิศตะวันออก เอเวอเรสต์--ดยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกตั้งอยู่ที่นี่เอง
เอเวอเรสต์เป็นขุนเขาที่มีรูปทรงคล้ายพีระมิดฐานสามเหลี่ยม ประกอบด้วยหน้าผาสามด้าน คือ ด้านเหนือ (north face) เป็นด้านที่หันสู่ทิเบต ด้านตะวันออก (east face หรือ Kungshung face) และด้านตะวันตกเฉียงใต้ (south-west face)
โดยมีสันเขาที่ทอดตัวเป็นแนวยาวจากยอดเขา
ลงมาแบ่งหน้าผาทั้งสามออกจากกันสามแนว คือ สันเขาทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (north-east ridge) สันเขาทิศตะวันออกเฉียงใต้ (south-east ridge) และสันเขาทิศตะวันตก (west ridge) จากกาลาปัตตาร์ สามารถมองเห็นสันเขาได้ทั้งสามแนว ส่วนหน้าผาเห็นด้านเหนือเล็กน้อย กับส่วนใหญ่ที่เห็นคือ หน้าผาด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีสันเขาตะวันตกเป็นแนวแบ่ง แนวสันตะวันตกนี้จะทอดตัวลงมาสุดยังเนินเขาสูงที่เห็นเบื้องหน้า ถัดจากเนินเขามาทางทิศใต้ คือสายธารน้ำตกน้ำแข็งคุมบู (Khumbu Icefall) ซึ่งมีจุดตั้งต้นจากเวสเทิร์นคุม (Western Cum) ไหลเซาะลงมาตามร่องเขาระหว่างเอเวอเรสต์กับนุปท์เซ (Nuptse) ธารน้ำตกน้ำแข็งมาบรรจบกับธารน้ำแข็งคุมบูที่บริเวณเบสแคมป์ (Everest base camp)
เส้นทางการปีนสู่ยอดเอเวอเรสต์ที่ง่ายและนิยมกันมากที่สุด ก็ตั้งต้นจากเบสแคมป์ไต่ขึ้นตามธารน้ำตกน้ำแข็งสู่เวสเทิร์นคุม จากนั้นปีนขึ้นตามกำแพงน้ำแข็งที่เรียกว่า โลท์เซเฟซ (Lhotse Face) จนถึงจุดเชื่อมต่อระหว่างเอเวอเรสต์กับโลท์เซซึ่งมีชื่อว่า เซาท์โคล (South Col) จากแคมป์สุดท้ายที่เซาท์โคล ผู้จะพิชิตยอดเขาต้องออกเดินตั้งแต่เที่ยงคืน ไต่ขึ้นไปตามแนวสันเขาทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านยอดเขาด้านใต้สู่จุดที่ยากที่สุดจุดหนึ่ง คือ ฮิลลารีสเต็ป (Hillary Step) เมื่อผ่านจุดนี้ไปได้พวกเขาก็อยู่ไม่ไกลจากยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว
จากกาลาปัตตาร์ เมื่อมองไล่ลงมาจากยอดเขาตามสันเขาทิศตะวันออกเฉียงใต้ สามารถมองเห็นเซาท์โคลที่เป็นแอ่งหรือรอยคอดเล็ก ๆ ถ้ามองต่อเนื่องขึ้นไปอีกด้านของเซาท์โคลจะพบกับยอดเขาโลท์เซ ซึ่งเห็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ เพราะถูกนุปท์เซบังอยู่ด้านหน้า
นุปท์เซคือขุนเขาที่ยืนตระหง่าน
ถัดจากสายธารน้ำตกน้ำแข็งคุมบูไปทางด้านใต้
มุมมองด้านนี้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมแทงยอดขึ้นไปบนท้องฟ้า
ด้วยความสูง ๗,๘๗๙ เมตร นับได้ว่าเป็นยอดเขาที่สูงมากลูกหนึ่ง ทางด้านใต้ถัดจากนุปท์เซลงไป ยอดเขากงมาท์เซ (Kongmatse) โปกาลเด (Pokalde) อมาดาบลัม กังไทกา (Kang Taiga) และทัมเซอกุ (Thamserku) ยืนไล่เรียงลดหลั่นกันไปจนสุดสายตา จากแนวขุนเขาถัดใกล้ตัวเข้ามาคือแนวสายธารน้ำแข็งคุมบู ตั้งต้นจากเชิงเขาคุมบูท์เซไหลผ่านเชิงเขาเอเวอเรสต์ นุปท์เซ กงมาท์เซ และโปกาลเด เป็นระยะทางกว่า ๑๐ กิโลเมตร ไปสิ้นสุดเหนือหมู่บ้านทุกลาที่เราผ่านมา
|
|
|
|
ทางด้านตะวันตกของกาลาปัตตาร์ จากทิศเหนือไล่ลงมาจากยอดเขาพูโมริ คือขุนเขาชุมบู (Chumbu) มีธารน้ำแข็งชังริชาร์ (Chang Ri Shar Glacier) กับธารน้ำแข็งชังรินุป (Chang Ri Nup Glacier) ขนาบอยู่สองข้างของชุมบู
สายธารน้ำแข็งทั้งสองไหลลงสู่ธารน้ำแข็งคุมบู
บริเวณใต้ต่อโกรักเชปลงไปเล็กน้อย ถัดไปทางใต้เป็นขุนเขาโลบูเชซึ่งมีหลายยอดด้วยกัน ใต้จากโลบูเชไปเป็นขุนเขาโชโลท์เซ (Cholotse) และตาโบเช (Taboche) ตามลำดับ
นักเดินทางคนแล้วคนเล่ามาเยือนขุนเขา ขึ้นไปแล้วก็ลงมา บางคนประสบผลสำเร็จ บางคนผิดหวัง บางคนเสียชีวิตไป แต่ขุนเขาก็ยังคงอยู่ที่นั่น มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามฤดูกาล ขุนเขายังคงยืนตระหง่านท้าทายต่อผู้มาเยือนเช่นนี้ไปอีกนาน สำหรับตัวผมเอง เพียงได้มายืนบนนี้เฝ้าชมขุนเขาโดยรอบ ก็ก่อให้เกิดความสุขใจและความภูมิใจมากพอแล้ว เสียงเฮลิคอปเตอร์ดังขึ้น ผมกวาดสายตาดู เฮลิคอปเตอร์สองลำลงจอดที่โกรักเชปในเวลาไล่เลี่ยกัน ผมเริ่มวิตกกังวลเป็นห่วงภรรยาที่อยู่ข้างล่าง กึ่งเดินกึ่งวิ่งลงจากเขา เมื่อได้เห็นหน้าเธอที่ดูสดชื่นขึ้น ก็เหมือนยกภูเขาออกจากอก
บนหนทางที่ย้อนกลับ เราใช้เวลาเดินลงสี่วันจากโลบูเชสู่ลุกลา ได้พบผู้คนมากหน้าหลายตา ได้รับมิตรภาพจากผู้คนในที่พักหลายแห่ง ได้ผ่อนคลายอารมณ์ริมฝั่งน้ำดุดโกสีที่พักดิง ขุนเขาหิมะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ความคิดถึงลูกทั้งสองและบ้านที่จากมาเกือบสามสัปดาห์ ทำให้ผมได้เรียนรู้จิตใจของตนเอง แม้ผมจะรักการเดินทางในธรรมชาติ รักการชื่นชมทิวทัศน์ที่งดงามแปลกตา แต่เหนืออื่นใด ผมรักภรรยาและลูก มีความปรารถนาที่จะอยู่กันพร้อมหน้ามากกว่าหลายเท่านัก
|
|