นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗
นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗ "แมงป่องช้าง สัตว์พิษผู้ลึกลับ"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗ ISSN 0857-1538  
    จากบรรณาธิการ  
 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
แต่งงานกับชาวเย้า

     อ่านข่าวนักเรียนช่างกลสาดกระสุนปืนลูกซองเข้าใส่คู่อริบนรถเมล์ แต่กระสุนพลาดมาโดนนักศึกษาสาวปีสี่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทะลุหัวใจและปอด แฟนหนุ่มพาส่งโรงพยาบาล แต่ขาดใจตายระหว่างทางเสียก่อน
     ผมดูโทรทัศน์ขณะพิธีกรสัมภาษณ์ความรู้สึกพ่อแม่ และแฟนหนุ่มของผู้เคราะห์ร้าย ด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก เสียใจกับศิษย์รุ่นน้องร่วมคณะ ร่วมสถาบันเดียวกันที่ต้องจบชีวิตอย่างไร้เหตุผล และเห็นใจอย่างสุดซึ้งต่อพ่อแม่และคนรักของผู้ตาย
     วันรุ่งขึ้นความโศกเศร้าที่ปกคลุมผู้คนในสังคมยังไม่ทันจาง หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า นักเรียนช่างกลไล่ตีเด็กนักเรียนต่างสถาบันคนหนึ่งบนรถเมล์ แต่พลาดไป ทำให้น้าชายที่เดินทางมาด้วยถูกถีบตกรถเมล์ตายคาที่
     สงครามระหว่างนักเรียนนักเลงต่างสถาบันจากที่เคยตีกันเอง ฆ่ากันเอง ได้ลุกลามมาสู่คนที่ไม่เกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อย ๆ
     หลายคนแสดงความคิดเห็นเข้ามาในเว็ปบอร์ดต่าง ๆ เรียกร้องให้เปิดสนามกีฬา เอาบรรดานักเลงเหล่านี้มาตีกันให้สุด ๆ ยกพวกเข้าแลกหมัดกันเลย ไม่ต้องใช้เครื่องทุ่นแรง ประเภท มีดดาบ ปืนลูกซอง คนอื่นจะได้ไม่โดนลูกหลง
     แต่เอาเข้าจริง นักเรียนช่างกลเหล่านี้คงไม่กล้าตีกันแบบนี้ เหตุผลคือ
     กลัวเจ็บครับ
     เวลาต่อยกันแบบหมัดล้วน ๆ ไม่ต้องใช้อาวุธช่วย แต่ละหมัดที่แลกกัน แต่ละแผลที่เปิดออกมา มันเจ็บ เจ็บจริง ๆ กว่าที่จะรู้ว่าฝ่ายใดถูกชกคว่ำลงไป
     เมื่อกลัวเจ็บ เครื่องทุ่นแรงหรืออาวุธจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เริ่มจากไม้หน้าสาม ไม้ที หัวเข็มขัด มีด มีดดาบ ขวาน ระเบิดขวด มาจนถึงปืนชนิดต่าง ๆ
     อาวุธเหล่านี้สามารถทำให้ผู้ใช้เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ง่ายขึ้น โดยตัวเองไม่ต้องเจ็บตัวมาก
     แต่นักเลงจริงเขาไม่ทำกัน นักเลงจริงไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวต้องแลกหมัดกัน เวลาจะตีรันฟันแทงกันแล้ว แต่ละฝ่ายต้องไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมากนัก ประเภทอีกฝ่ายมีอาวุธ อีกฝ่ายมือเปล่า

       เวลานักเลงจะตีกัน ต้องแฟร์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
     ช่างกลรุ่นเก๋าคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเวลาตีกัน ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการใช้หมัดล้วน ๆ บางทีก็มีไม้ที หรือเหล็กขูดชาร์พมาร่วมผสมโรงบ้าง แต่ตีกันแค่สั่งสอน ให้บาดเจ็บเลือดตกยางออก ใครที่ถูกตีจนยกมือไหว้ยอมแพ้ก็ปล่อยไป ไม่จำเป็นต้องตีให้ตายคามือ
     ส่วนคนที่พกปืนนั้นมีน้อยมาก นักเลงจริงจะไม่พกปืน เพราะถือว่าเอาเปรียบคู่ต่อสู้ และที่สำคัญนักเรียนนักเลงสมัยนั้นยังมีคติว่า เวลาจะตีกันคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องต้องไม่เดือดร้อน
     แต่เด็กวัยรุ่นทุกวันนี้มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เวลาตีกันก็กะให้ตายกันไปข้างหนึ่ง เราจึงไม่เคยเห็นการชกต่อยกันของเด็กช่างกลเพราะกลัวเจ็บกันอีกต่อไป นอกจากการใช้อาวุธเข้าประหัตประหารกันอย่างง่ายดาย ทั้ง ๆที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เพียงแค่เปิดดูหัวเข็มขัดคู่อริว่าอยู่ต่างสถาบัน ก็มีสิทธิ์ตายได้
     ภาพที่ผมเคยเห็นคือเด็กช่างกลกระชากดาบญี่ปุ่นไล่ฟันอีกฝ่ายริมถนนราชดำเนิน บางคนเคยเห็นช่างกลเอาขวานไล่จามหัว คู่อริตรงป้ายรถเมล์ทั้ง ๆที่อีกฝ่ายยกมือไหว้แล้วบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และภาพของนักเรียนนักเลงที่สาดกระสุนปืนเข้าใส่คู่อริบนรถเมล์
     สำนึกที่ว่าอาวุธเหล่านี้จะทำให้คนอื่นโดนลูกหลงไปด้วย ไม่เคยเกิดขึ้นเวลาที่เหนี่ยวไกปืน
     พอเกิดเหตุขึ้นมีคนตาย ก็พูดเพียงคำว่า เสียใจขอให้อโหสิกรรม
     แต่พรุ่งนี้เด็กช่างกลอีกกลุ่มก็ยกพวกตีกันต่อไป
     ผมคิดว่าการยกพวกตีกันของกลุ่มเด็กช่างกลคงไม่มีทางสูญพันธุ์ ตราบใดที่อารมณ์เลือดร้อนของเด็กวัยรุ่นยังเป็นใหญ่ ความรักสถาบันและพวกพ้องอันไร้เหตุผล ปัญหาครอบครัวแตกแยก และสังคมที่เห็นคุณค่าของเม็ดเงินมากกว่าคุณค่าทางจิตใจยังอยู่คู่สังคม
     แต่ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้วคือ นักเลงตัวจริง
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com