|
วันชัย ตัน / ภาพประกอบ : DIN-HIN | |||
ทุกวันนี้ถนนทุกสายของวัยรุ่นในญี่ปุ่นต่างมุ่งสู่มหานครโตเกียว ไม่เชื่อลองนั่งรถไฟเข้าโตเกียว จะพบว่าเต็มไปด้วยวัยรุ่นที่หลั่งไหลกันไปชอปปิง ณ เวลานี้ วัยรุ่นญี่ปุ่นเป็นนักชอปตัวจริง มีกำลังซื้อสูงปรี๊ด อ้อ วัยรุ่นที่ว่านี้ไม่ใช่ "teenage" ที่มีอายุระหว่าง ๑๓-๑๙ ปีอย่างที่เราเคยรู้กัน แต่เป็นนักชอปวัยทวีน หรือ "tweenage" ที่เป็นเด็กเล็กอายุน้อยลงไปอีก คือเพียง ๙-๑๔ ปีเท่านั้น เด็กกลุ่มนี้ชอบซื้อเสื้อผ้าราคาแพงตามแฟชั่น "ลูกค้าวัยรุ่นบางคนจ่ายเงินถึง ๑ ล้านถึง ๒ ล้านเยน (๓๖๐,๐๐๐-๗๒๐,๐๐๐ บาท) ต่อการมาซื้อเสื้อผ้าที่ร้านแต่ละครั้ง" ยาซู นารูมิยา วัย ๖๖ ประธานบริษัทนารูมิยา อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าวัยรุ่นที่ใหญ่ที่สุดกล่าว แน่นอนว่าวัยรุ่นเหล่านี้คงไม่ได้หาเงินมาชอปปิงเอง แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาะ คือคอยเกาะพ่อเกาะแม่ และลามไปถึงป้า ๆ น้า ๆ ด้วย คนเหล่านี้คือผู้บริจาครายใหญ่ให้ลูกหลานตัวเองไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เงินของเด็กวัยรุ่นเหล่านี้หามาได้ง่าย ๆ จากการแบมือขอปู่ย่าตายายซึ่งมีรายได้เยอะ จากคุณป้าแก่ๆ ที่ยังเป็นสาวโสด หรือคุณลุงที่ยินดีจะใช้เงินเป็นสะพานสร้างความสัมพันธ์กับหลานตัวน้อย ๆ นักวิเคราะห์การตลาดคนหนึ่งกล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำที่สุด พ่อแม่แต่ละคนมีลูกน้อยหรือไม่มีเลย ขณะที่บางตระกูลแทบจะไม่มีลูกหลานคอยสืบทอดเผ่าพันธุ์ ดังนั้นเมื่อมีเด็กสักคนโผล่ออกมาดูโลก จึงได้รับการประคบประหงมจากทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา "ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าเศรษฐกิจในญี่ปุ่นจะตกต่ำมาหลายปี รายได้ในครอบครัวน้อยลง บรรดาพ่อแม่ต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดทุกกระเบียดนิ้ว บางคนห่อข้าวมากินกลางวันที่ทำงาน ซื้อเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว แต่กลับยอมเอาเงินมาให้ลูก ๆ ได้มีความสุขจากการซื้อของตามแฟชั่น "พ่อแม่เดี๋ยวนี้ภูมิใจมากที่ลูกของตัวเองแต่งตัวเก๋ ๆ และก็ชอบที่จะแต่งตัวลูกให้เป็นเหมือนเจ้าหญิง" นารูมิยากล่าวต่อ "ก่อนหน้านั้นตลาดเสื้อผ้าเด็กวัยรุ่นเป็นเหมือนสุญญากาศ ไม่มีบริษัทไหนสนใจเลย ผมเองแต่ก่อนก็ผลิตชุดกิโมโนขาย แต่ก็มาเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าวัยรุ่นเมื่อสิบกว่าปีก่อน" หลายปีที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำในญี่ปุ่นทำให้สถิติการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง แต่หมวดเสื้อผ้าเด็กวัยรุ่น สถิติการซื้อกลับเพิ่มสูงขึ้น ร้านนารูมิยาเข้าใจตรงจุดนี้ดี จึงสร้างแบรนด์เสื้อผ้าวัยรุ่นราคาแพงออกจำหน่าย เสื้อสีชมพูยี่ห้อแองเจิลบลูราคาสูงสุดคือ ๕,๕๐๐ บาท เสื้อทีเชิ้ตผ้าฝ้ายสีเหลืองยี่ห้อเดซี่เลิฟเวอร์ราคาตัวละ ๒,๕๐๐ บาท และกระโปรงสีน้ำเงินราคาตัวละ ๔,๐๐๐ บาท ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า "เสื้อผ้าพวกนี้ราคาไม่แพงหรอกค่ะ ยังมีที่แพงกว่านี้อีก" คุณแม่วัย ๓๙ ปีผู้ทำทุกอย่างเพื่อลูกยืนยัน เธอเป็นลูกค้าหนึ่งในหลายร้อยรายที่มาชอปปิงที่ร้านนารูมิยาในย่านชิบูยา "แต่สำหรับเสื้อผ้าของพวกเรา เราซื้อแบบถูก ๆ ตามร้านข้างถนน" มิชิมา แม่ลูกสาม กล่าว ฮิโรชิ วาดา คุณแม่วัย ๔๒ ปีกับลูกสาว ก็ลงทุนเดินทางมาจากเมืองฮาคาตะซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวกว่า ๙๐๐ กิโลเมตร เพื่อมาชอปที่ร้านนี้ เธอจ่ายเงินซื้อเสื้อผ้า ลูกกวาด และหนังสือการ์ตูนที่นี่ประมาณ ๒ หมื่นบาท "หนูชอบสีเสื้อแสนจ๊าบของร้านนี้ค่ะ หนูอยากซื้อจริง ๆ เลย" อริซา ลูกสาววัย ๑๐ ปี บอก ปีที่ผ่านมา เสื้อผ้าเด็กเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง ๖๙ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยชนิดอื่นมีอัตราการเติบโตแค่ ๕.๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น กลุ่มเป้าหมายของสินค้าฟุ่มเฟือยจึงเด็กลงไปเรื่อย ๆ เพราะความรักลูกแท้ ๆ ทำให้พ่อแม่ตาบอด แต่เจ้าของสินค้ารับเงินจนตาสว่าง |