นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗
นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗ "แมงป่องช้าง สัตว์พิษผู้ลึกลับ"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗ ISSN 0857-1538  
    คนฟังเสียงปลา ภูมิปัญญาพรานทะเลแห่งจะนะ  
  วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง : เรื่อง / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ภาพ
(คลิกดูภาพใหญ่)       "เหมือนอยู่ใต้กะทะครอบ"
      รอหีม สะอุ ว่าอย่างนั้น--เมื่อแล่นเรือออกไปจนลิบฝั่ง ก็เห็นแต่ฟ้ากับน้ำ
      เส้นขอบฟ้ารัดล้อมอยู่รอบทิศ ส่วนล่างเป็นพื้นน้ำและเหนือขึ้นไปคือโค้งฟ้าคลุมครอบ เหมือนอยู่ใต้กะทะ
      กลางความเวิ้งว้างที่หมุดหมายหรือสถานที่เหมือนเป็นเรื่องสมมติ พรานทะเลต้องอาศัยดาวบนฟ้าเป็นเข็มทิศชี้ทาง
      ลึกลงใต้ผืนน้ำ บางทีฝูงปลาในท้องทะเลอาจมีอยู่พอๆ กับพราวดาวบนท้องฟ้า แต่หากตามหากันไม่เจอก็อาจจับไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว
      นี้เป็นเงื่อนไขที่ให้กำเนิด ดูหลำ - คนฟังเสียงปลา 
      เพียงหูแนบน้ำ
      ดูหลำบอกได้ทันทีว่า ณ จุดหนึ่งจุดนั้น มีปลาอยู่บ้างหรือไม่? เป็นปลาชนิดไหน? ปริมาณเท่าใด-คุ้มไหมกับการจะลงแรงวางอวน?
      เท่านั้น, น่านน้ำที่ดูกว้างใหญ่ก็ไม่กว้างเกินผืนอวนของชาวประมงพื้นบ้าน
        พลันที่ได้ยินเสียงปลุกจากลูกชายเจ้าของบ้าน ผมลืมตาขึ้นมาพบเวลาตี ๓.๐๕ ของวันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ จากนาฬิกาบนฝาบ้านโต๊ะอิหม่ามรอหีม เด็กหนุ่มบอกว่าดลรอหีมให้มาตามไปลงเรือ
      พอไปถึงท่าก็พบว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว รอแต่พวกเราสี่คนมาสมทบ
      ชาวประมงตรงต่อเวลาโดยไม่ต้องพึ่งนาฬิกา เขารู้เวลาจากการอ่านดวงดาว และด้วยดาวดวงเดียวกันที่นำเขาไปสู่ทิศทางที่หมาย
      เรือสามลำแล่นไล่กันไปกลางทะเลที่มืดมิด จุดหมายของวันนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะขาม ห่างจากหมู่บ้านไม่เกินหนึ่งชั่วโมงเรือ นับเป็นความโชคดีของพรานปลาแถบตลิ่งชัน ช่วงนี้ฝูงปลาเวียนเข้ามาใกล้หมู่บ้าน ทำให้พวกเขาไม่ต้องแล่นเรือไปไกล เวลาในการเดินทางที่ร่นเข้ามา ถูกแปรเป็นโมงยามในการทำงานของดูหลำ เมื่อมีเวลาสำหรับการฟังเสียงปลายาวนานขึ้น โอกาสที่จะพบกับฝูงปลาขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้มาก
      ถึงที่หมาย เรือลำที่อยู่ข้างหน้าสุดสาดไฟให้สัญญาณ ดลรอหีมตอบรับสัญญาณจากเพื่อนด้วยการดับเครื่องยนต์ เรือทั้งสามลำเงียบเสียงลงเกือบพร้อมๆ กัน ถัดจากนั้นเรือซึ่งมีเครื่องยนต์ติดท้ายก็ถูกปล่อยให้ลอยลำโยกโยนไปตามแรงคลื่น
      ผืนน้ำคืนสู่ความสงัด และท้องฟ้ายังมืดสนิท
      เป็นห้วงยามและภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยอย่างยิ่งสำหรับการทำงานของดูหลำ
(คลิกดูภาพใหญ่)       สามทศวรรษที่ล่วงแล้ว ในหมู่ชาวประมงฝั่งตะวันออก ตั้งแต่สงขลา ปัตตานี ไปจนถึงนราธิวาส ไม่มีใครไม่รู้จัก ดาเรด-ลอดลาด ดาหมาด-กวาดเล ยีหมัด-สาเร่ ๓ ผู้ยิ่งยงแห่งทะเลจะนะ
      คำหน้าเป็นชื่อและฉายาที่ตามท้ายหมายถึงกิตติศัพท์ที่ถูกยกย่องในความสามารถ
      ดาเรด-ลอดลาด เป็นดูหลำที่เก่งมาก ผู้คนทุกหย่อมย่านร้านตลาดรู้จักเขา
      ดาหมาด-กวาดเล ฝีมือจัดจ้านเป็นที่เลื่องลือ จับปลาได้มากเหมือนกวาดมาหมดทะเล
      ยีหมัด-สาเร่ คือพรานทะเลที่เร่ร่อนหาปลาโชกโชนไปทั่วทุกน่านน้ำ
      ทุกครั้งที่ใครขอให้เล่าเรื่องของ ดูหลำ หรือ คนฟังเสียงปลา รอหีม สะอุ จะตั้งต้นจากเรื่องราวของสามผู้ยิ่งยงแห่งทะเลจะนะเสมอด้วยความภาคภูมิใจ อาจารย์คนที่สอนให้เขาฟังเสียงปลาก็เป็นหนึ่งในนั้น
      รอหีมเป็นคนของหมู่บ้านตลิ่งชันโดยกำเนิด ในวัยย่าง ๖๐ ปี เขาถูกยกย่องเป็นดูหลำรุ่นอาวุโสของหมู่บ้าน และเป็นผู้นำชุมชนที่คนในตำบลให้ความนับถือ 
      ยีหมัด(-สาเร่) ผู้มีศักดิ์เป็น เวาะ (ลุง-พี่ชายคนโตของแม่) พารอหีมออกเรือตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมปลาย กระทั่งจบการศึกษาภาคบังคับในระบบโรงเรียน เขาก็ออกรอนแรมทะเลกับยีหมัดไปถึงแถบแหลมตะลุมพุก นครศรีธรรมราช ไปเรียนวิชาฟังเสียงปลากันกลางทะเลกว้าง 
      แรมเดือนเขาเริ่มรู้จักเสียงปลา ต่อมาก็ฝึกจับทิศที่มาของเสียง กระทั่งสามารถรู้ขนาดของฝูงปลาจากลักษณะของเสียงหลังหัดฟังมาเป็นแรมปี ซึ่งบางคนไม่สามารถมาถึงขั้นนี้แม้จะฝึกฝนกันยาวนานตลอดชีวิต
      ดูหลำรอหีมใช้ชีวิตเป็นพรานทะเลนานกว่า ๓๐ ปี และขึ้นฝั่งอย่างถาวรเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยเงื่อนไขด้านร่างกาย กับเหตุผลด้านในอีกบางข้อ
      ส่วนความเป็นผู้นำชุมชนในฐานะ โต๊ะอิหม่าม รอหีมไม่อาจถอดถอนตัวอออกมาได้ แม้จะลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว เขายังคงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในตำบลอยู่เหมือนเดิมโดยเฉพาะในทางพิธีกรรมและทางจิตใจ ยิ่งในยามที่ท้องถิ่นถูกรุกรานจากโครงการขนาดยักษ์ เขายิ่งต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงกว่าเดิม 
      ทุกวันนี้ ผู้เฒ่าทะเลใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตประจำวันอยู่ที่ลานหอยเสียบ ใครก็ตาม--คนมุสลิมในหมู่บ้านหรือฝรั่งต่างชาติ นักศึกษาหรือนักวิจัย เอ็นจีโอหรือไทบ้านรากหญ้า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีหรือผู้กำกับฯ สภ.อ.จะนะ ใครและใคร หากต้องการเจอเขาก็ต้องมาที่ลานหอยเสียบ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       นักเขียนและช่างภาพก็ไม่มีข้อยกเว้น
      โต๊ะอิหม่ามรอหีม สะอุ ที่เราได้มาเจอตัวจริงในตอนสายของวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ไม่มีบุคลิกและท่าทีอย่างที่วาดไว้ในใจ เขาเป็นคนอารมณ์ดีอย่างหาคนเหมือนได้ยาก เรียบง่ายไม่มีพิธีรีตอง และไม่หงุดหงิดกับการนั่งตอบคำถามของเด็กช่างซัก
      ถึงเวลาที่เรือประมงจะคืนฝั่ง โต๊ะอิหม่ามนำเราไปที่ท่าเรือหน้าหมู่บ้านตลิ่งชัน เพื่อดูปริมาณปลาที่พรานทะเลในแต่ละลำจับมาได้ แล้วมานั่งคุยกันต่อบนศาลาริมท่าเรือ ที่ซึ่งผู้หญิงในหมู่บ้านมักมานั่งรอสามีของนางนำสินจากน้ำกลับคืนฝั่งอย่างปลอดภัย
      "พอเราเกิดมาก็มีการฟังเสียงปลาอยู่ก่อนแล้ว" รอหีมเล่า หลังถูกถามถึงที่มาของภูมิปัญญาการฟังเสียงปลา "ต้นกำเนิดคงมาจากชาวประมงมุสลิม ในภาษายาวีเรียกคนฟังเสียงปลาว่า ยูสะแล บางท้องถิ่นเรียก ยูสะหลำ แต่ที่ตลิ่งชันเราเรียก ดูหลำ"
      "ดูหลำทำงานอย่างไร? ครับ"
      "ดำลงไปใต้พื้นน้ำใช้หูฟังเสียงร้องของปลา ต่างจากพวก กาน้ำ ของเรืออวนดำที่ใส่แว่นดำน้ำลงไปดูฝูงปลาตามจุดที่สร้างซั้ง กาน้ำใช้ตาดูปลา แต่ดูหลำใช้หูฟังเสียงหาฝูงปลา ตาเอาไว้ดูอันตรายเท่านั้น"
      "ออกหาปลาโดยไม่ต้องมีดูหลำ ได้ไหม?"
      "ถ้าจับโดยไม่ฟังเสียง บางทีตัวเดียวก็ไม่ได้ ในทะเลไม่ใช่มีปลาอยู่ทั่วไปหมด ไม่ใช่อย่างนั้น! ทดลองวางอวนดูในรัศมีสัก ๑๐๐-๒๐๐ เมตร บางทีไม่มีสักตัวเดียว แต่ถ้าวางตรงฝูงเป็นร้อยเป็นพันกิโลก็เป็นไปได้ ปลามันอยู่เป็นที่อยู่กันเป็นฝูง"
      "โต๊ะอิหม่าม ช่วยเล่าเรื่องการออกทะเลหาปลาให้เราฟังบ้าง"
      "ราว ๔๐ ปีก่อน ยังไม่มีเครื่องยนต์ การจับปลาจะทำกันใกล้ๆ ชายฝั่ง" โต๊ะอิหม่ามเริ่มเรื่องอย่างรัดกุม ก่อนจะฉายยาวเล่าประวัติศาสตร์การทำประมงของพรานทะเลแห่งจะนะ อย่างละเอียดโดยไม่ต้องแทรกคำถาม
(คลิกดูภาพใหญ่)       ชาวประมงในสมัยนั้นจับปลาด้วย อวนตาเระ (หรืออวนเข็ญ) เป็นอวนทำจากเส้นด้าย ใช้เรือแจวขนาด ๘ ฝีพาย ๑ นายท้าย ออกไปวางอวนไม่ไกลจากฝั่ง โดยให้ดูหลำพาเรือส้มป้าน (หรือเรือเล็ก) ออกไปหาฝูงปลาก่อน อันที่จริงด้วยตัวเปล่าดูหลำสามารถอยู่กลางน้ำได้เป็นวันๆ เรือส้มป้านที่นำไปด้วยเอาไว้สำหรับพายตามฝูงปลา ช่วยให้ไปได้เร็วและเหนื่อยน้อยกว่าการว่ายน้ำไปเอง เมื่อเจอฝูงปลาก็ใช้ไม้พายตีน้ำ พรานปลาที่อยู่บนเรือแจวจะวางอวนเป็นแนวโค้ง แล้วเข็ญขึ้นหาฝั่ง อวนยาวเป็นกิโลเมตรต้องใช้คนเข็ญ ๗-๘ คน และใช้เวลาราว ๕-๖ ชั่วโมงกว่าจะถึงฝั่ง ปลาที่ล้อมติดจะเข้าไปรวมกันอยู่ในถุงท้ายอวนความจุ ๓-๔ ลำเรือ แต่อวนตาเระมีข้อจำกัด ใช้วางได้เฉพาะในเขตน้ำตื้นริมตลิ่งเท่านั้น ไม่สามารถจับปลากลางน้ำลึก
      ต่อมาจึงเกิด อวนปาหยัง ตามประวัติเล่าว่า ต้นแบบมาจากความคิดของเจ้าอาวาสองค์หนึ่ง เรือของท่านล่มและมีของสำคัญจมลงใต้ทะเล ท่านจึงคิดค้นอวนที่ลากแล้วกดลงลึกถึงหน้าดิน ต่อมาประดิษฐกรรมของพุทธสาวกถูกชาวประมงมุสลิมนำมาปรับเป็นอวนที่ใช้วางในน้ำลึกได้อย่างไม่จำกัด อวนปาหยังเป็นอวนด้ายและมีถุงอยู่ที่ท้ายเหมือนกับอวนตาเระ ใช้เรือลำเดียวแล่นใบออกจากฝั่ง วางอวนเป็นวงล้อมรอบบริเวณที่ดูหลำส่งสัญลักษณ์ว่ามีฝูงปลาอยู่ ดาเรด-ลอดลาด ดาหมาด-กวาดเล มีชื่อเสียงดังมากในยุคนี้
      ไล่มาถึงเครื่องมือที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โต๊ะอิหม่ามรอหีมเดินนำเราออกไปที่ท่าเรือ ชี้และหยิบจับของจริงให้ดูประกอบการอธิบาย
      เรือติดเครื่องท้ายขนาดกระดูกงูยาว ๑๕ ศอก จอดเรียงรายเต็มท่า บางลำเขียนรูปลายอย่างวิจิตรคล้ายเรือกอและแถบปัตตานี นราธิวาส แต่โต๊ะอิหม่ามแนะให้สังเกต เรือกอและ รูปทรงเรือจะเหมือนกันทั้งหัวและท้าย ส่วนรูปธรรมของ เรือท้ายตัด แห่งจะนะก็เป็นตามชื่อที่เรียกขาน ท้ายห้วน-เป็นเรือที่ถูกตัดหาง
      อวนที่ใช้เป็นอวนไนล่อนใสรูปตาข่ายกว้างไม่เกินวา ริมด้านบนของแถบอวนติดทุ่นฟองน้ำ ด้านล่างถ่วงตุ้มตะกั่ว ยาว ๗๐ วาต่อผืน การใช้งานในเรือลำหนึ่งๆ อาจใช้อวน ๒๐-๓๐ ผืนมาเย็บต่อกัน ขนาดของตาอวนระหว่าง ๓.๘-๔.๗ เซนติเมตร ใช้ตาห่างเพราะอวนตาข่ายต้องปลดปลาทุกตัว ไม่เหมือนกับอวนตาเระและอวนปาหยังที่ปลาจะเข้าไปรวมกันอยู่ในถุงท้ายอวน 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ออกจับปลากันเป็นกลุ่ม--ดูหลำหนึ่งคน เรือ ๓ ลำ และลูกเรือลำละราว ๓ คน 
      เครื่องยนต์ท้ายเรือ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านเดินทางได้ไกลขึ้น พรานทะเลจากจะนะสามารถท่องทะเลขึ้นไปถึงชายฝั่งอำเภอหัวไทร นครศรีฯ หรือล่องลงใต้ไปจนสุดน่านน้ำไทย
      ปลาที่เรือแต่ละลำจับได้ในแต่ละวันอยู่ในช่วงร้อยกิโลกรัม หลายร้อยกิโลกรัม หรือกระทั่งล้นลำเรือจนบรรทุกกลับฝั่งได้ไม่หมดก็เคยมี
      ๑๐ กว่าปีมาแล้ว รอหีมยังจำได้ติดตา ในชีวิตเขาไม่เคยเห็นปลามากมายอย่างนั้น... กระแสน้ำหน้าอ่าวนราธิวาสไหลเอื่อยเรื่อย ขณะที่เขากำลังโรยอวนลงน้ำในยามแดดเช้าเริ่มฉายแสง ชั่วโมงต่อมากระแสน้ำกลับเชี่ยวแรง ปลาเข้ามาติดอวนอย่างหนาแน่น ถึงเวลาสาวอวนต้องดำลงไปมัดอวนขึ้นมาทีละ ๘ วา ๑๐ วา จวนค่ำยังเอาอวนขึ้นไม่หมด กลัวเรือจะจม ต้องกลับไปตามเพื่อนที่ฝั่งมาช่วยกันขน
      ครั้งนั้น เขาใช้เวลา ๑๑ วัน! กว่าจะปลดปลาออกจากอวนได้หมด
        ช่วงเวลาก่อนฟ้าแจ้ง ดูหลำทำงานของเขาโดยลำพัง ไม่มีการติดต่อกับเรือใหญ่
      ถึงอย่างนั้น ดลรอหีม ชายเหาะ ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ช่วง ๒ ชั่วโมงที่ผ่านไปดูหลำต้องเจอฝูงปลาเข้าแล้ว ห้วงยามก่อนตะวันจะขึ้นเป็นเพียงช่วงรอคอยให้ปลาเข้าฝูงลงไปสู่หน้าดินเมื่อแดดส่องน้ำ
      ลูกเรือทุกคนเชื่อมั่นในตัวดูหลำของเขา ไม่เฉพาะในโมงยามของการทำงานเท่านั้น สัมมาคารวะและความยกย่องนับถือเป็นอยู่เสมอต้นเสมอปลายแม้ยามอยู่บนฝั่ง แผนการ สถานที่ ตลอดถึงเวลาในการออกเรือเกิดจากการกำหนดของดูหลำเป็นหลัก ภายใต้การพรักพร้อมยอมรับของพลพรรคพรานทะเล
      "เราเป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น" ดลรอหีมพูดถึงคนบนเรือทั้ง ๓ ลำ รวมทั้งดูหลำด้วย 
      ดูหลำคนที่เขาพูดถึงชื่อเจะหนุ๊ ชายเหาะ เป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน-บ้านตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
      เจะหนุ๊มีพี่ชายชื่อหมาน ชายเหาะ และพี่ชายคนโตชื่อมะ ชายเหาะ ซึ่งเป็น ปะ (พ่อ) ของดลรอหีม และมีน้องชายชื่อสอ ชายเหาะ 
      ทั้งสี่คนพี่น้องได้เรียนวิชาฟังเสียงปลาจากอดีตโต๊ะอิหม่ามชื่อยีหวัง 
      ทุกวันนี้ น้องชายคนเล็กไปเป็นคนฟังปลาที่มีชื่อเสียงอยู่แถวม่วงงาม อำเภอสิงหนคร นครศรีฯ ส่วนพี่ชายสามคนกลายเป็นดูหลำฝีมือฉกาจอยู่ในตำบลบ้านเกิด
      แต่ละคนชวนพี่น้องในหมู่บ้านเข้ามารวมกลุ่มออกทะเลด้วยกัน
      ดลรอหีมพาเรือท้ายตัดลำสวยราคาแสนกว่าบาท มาอยู่ในกลุ่มของดูหลำเจะหนุ๊นานหลายปี- จนทุกวันนี้ ความสัมพันธ์ในความเป็นเครือญาติยิ่งแน่นแฟ้น 
      "ช่วงเย็นๆ ก่อนค่ำ เราจะไปชุมนุมกันที่บ้านอาเจะหนุ๊ทุกวัน ไปนั่งคุยกัน และนัดแนะเวลาออกเรือในวันต่อไป"
(คลิกดูภาพใหญ่)       "ประเทศไทยมีคนอยู่เท่าไหร่" 
      ดูหลำเจะหนุ๊ ถามนำ
      "ตอนนี้ได้ยินว่า ๖๓ ล้านคนแล้วมั้ง" 
      เราตอบ ยังไม่รู้เขาต้องการจะบอกอะไร
      "เชื่อเถอะ ในจำนวนทั้งหมดนี้มีคนฟังเสียงปลาอยู่ไม่เกิน ๓๐๐ คน"
      "................"
      จากนั้นวงสนทนายามเย็นย่ำ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ที่หน้าบ้านดูหลำเจ๊ะหนุ๊อันประกอบด้วยโต๊ะอิหม่ามรอหีม ดูหลำหมาน ดูหลำเจะหนุ๊ ดลรอหีม และใครอื่นอีกหลายคน ก็ช่วยกันลงรายละเอียดว่า อยู่ในตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ ๑๐ กว่าคน ในเมืองสงขลาราว ๕ คน ที่บ่อโตรก จังหวัดปัตตานี มีอยู่อีกกลุ่มเล็กๆ และที่บ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา นครศรีฯ ได้ยินว่ามีคนหัดใหม่อยู่จำนวนหนึ่ง
      คนที่รู้เรื่องดูหลำเป็นอย่างดี จะรู้ว่าการเคี่ยวกรำฝึกฝนตนเองเพื่อเป็นพรานปลาที่ช่ำชอง เป็นเรื่องยากเข็ญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเล่าเรียนวิชาเพื่อเป็นมหาบัณฑิต
      คนริจะเป็นดูหลำ ต้องไม่ขี้เกียจและไม่ขี้กลัว 
      เด็กหนุ่มที่คิดจะเป็นคนฟังเสียงปลา ต้องไม่กลัวหนาวและไม่กลัวเหนื่อยกับการลุกจากที่นอน ไปออกเรือกับดูหลำตั้งแต่หัวรุ่ง 
      การถ่ายทอดความรู้ทำกันท่ามกลางการทำงานจริง 
      ก่อนสว่างปลายังอยู่ระดับผิวน้ำ เสียงร้องของมันดังชัดเจน สามารถได้ยินตั้งแต่นั่งอยู่บนเรือ 
      แต่ก็เหมือนนั่งฟังเสียงจิ้งหรีดอยู่บนบ้าน ดูหลำอาวุโสเปรียบเปรย เราจับทิศไม่ได้ว่ามันดังมาจากด้านไหน ต้องลงไปใต้ถุนบ้านจึงจะรู้ทางที่มาของเสียง สำหรับเสียงปลาเราต้องดำลงไปใต้ผืนน้ำ 
      แต่กับดูหลำที่ชำนาญทะเล เขาเพียงแหย่พายลงน้ำเอาหูแนบด้ามพายก็พอจะจับทิศทางได้
      เมื่อรู้ทิศที่อยู่ของปลา ดูหลำจะนำเรือส้มป้านติดตามฝูงปลาไปอย่างเงียบเชียบ ดำลงไปฟังเสียงเป็นครั้งคราวเพื่อรู้ระยะความเข้าใกล้ฝูงปลา หันหัวไปทางทิศที่มาของเสียง ถ้ารู้สึกเหมือนดังอยู่ตรงหน้าผาก แสดงว่าฝูงปลายังอยู่อีกไกล ต้องตามฟังเข้าไปเรื่อย กระทั่งเสียงปลาดังอยู่ใต้แผ่นอก
(คลิกดูภาพใหญ่)       นั่นละ--หมายถึงมาอยู่ตรงฝูงปลาแล้ว
      ปลาที่เป็นความต้องการของพรานทะเล อยู่ในตระกูล ปลาจวด หรือที่ชาวบ้านจะนะเรียกว่า ปลาลามา อันมีอยู่มากกว่าสิบสายพันธุ์ 
      แต่ละชนิดมีรูปลักษณ์และรสชาติแตกต่างกัน คนที่คุ้นเคยอยู่กับปลาทะเลจะแยกแยะความแตกต่างได้ 
      ลามาสองซี่ หรือจวดเทียน เป็นเป้าหมายหลักของการล่า เนื่องจากขายได้ราคาดี กิโลกรัมละ ๔๐-๖๐ บาท (ราคา ณ ท่าเรือหน้าหมู่บ้าน) มันเป็นปลาตัวกลมเขื่อง เกล็ดสีเงินวาว มีฟันข้างบนเพียงสองซี่-สมชื่อ 
      ลามาคลอง หรือจวดคอม พบได้ตั้งแต่กลางอ่าวจนถึงแถวปากแม่น้ำลำคลอง ตัวคล้ายปลาม้า เสียงร้องดังคล้ายเสียงกบ 
      ลามาขี้ไคล ตัวออกคล้ำเหมือนมีขี้ไคล
      ลามาจีน หรือปลาหางไก่ ชาวประมงบางคนว่าเสียงร้องของมันคล้ายเสียงไก่
      ลามาจูหวา หรือปลาปากกว้าง
      ลามาแดง หรือจวดขี้แตก
      ลามาบาตู ตัวใหญ่หัวเล็ก
      ลามาหนูนุ้ย
      ลามาดอกไม้
      ปลาร้าปัง เป็นปลาใหญ่ ตัวสีเหลือง
      ปลากรูบ เรียกชื่อเลียนเสียงร้อง กรู๊กๆๆๆ เหมือนเสียงแม่ไก่ร้องเรียกลูกเจี๊ยบ
      ปลาฆ้อง ชื่อมาจากเสียงร้องที่ดังเหมือนเสียงฆ้อง
      ปลาบอเกาะ ขอบสีขาว
      ปลาตาดำ ดวงตาสีดำสนิท
      ปลาแประ
(คลิกดูภาพใหญ่)       เหล่านี้เป็นปลาที่พรานปลาจวดต้องการ แต่ละชนิดร้องเสียงต่างกัน ดูหลำต้องฝึกฟังจนสามารถจำแนกชนิดของปลาในน้ำจากเสียงร้องของมัน
      นอกจากนี้ปลาชนิดเดียวยังร้องต่างเสียงหากเป็นต่างเวลา (หัวรุ่ง เช้า สาย เที่ยง) และต่างฤดูกาล 
      ช่วงเดือน ๓ ลูกปลายังเล็กจะร้องแบบหนึ่ง เข้าเดือน ๙ ทะเลจะเริ่มระงมเสียงของลามาสองซี่ 
      อ็อกๆๆ ในยามกลางวัน 
      อ๊ากๆๆ ในยามเคลื่อนฝูง 
      กระทั่งเข้าเดือน ๑๐-๑๑ ปลาโตเต็มที่เสียงร้องจะดังมาก ก็อกๆๆๆ กว๊าง...!
      แต่ทุกเวลาและทุกฤดูกาล ใต้ทะเลไม่ได้มีแต่เสียงของปลาลามาเท่านั้น ยังมีเสียงเปรี๊ยะปร๊ะ ปริ๊บๆ ของตัวเพลียง เสียงปลากระเบนกระพือพื้น พรึบๆๆ เสียงกวี๊ดๆๆ เหมือนคนเป็นหวัดของปลาโลมา เสียงลูกปลาแตกฝูงดังพรู๊ๆๆ รวมทั้งเสียงว่ายน้ำของปลาฉลามที่ดังหวีดหวิวเหมือนเสียงลมพัดใบสน 
      สรรพเสียงทั้งหลายนี้หูทิพย์ของดูหลำต้องสดับตรับฟัง และจำแนกความแตกต่างให้ได้
      คุณสมบัติข้อต่อมา คนจะเป็นดูหลำต้องไม่ขี้กลัว 
      ห้วงยามในการทำงานดูหลำต้องอยู่โดดเดี่ยวกลางเวิ้งน้ำ จิตใจเขาต้องไม่วอกแวกและสร้างจินตนาการด้านร้ายขึ้นมาหลอกหลอนตัวเอง สมาธิต้องมั่นคง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้ยินอะไรนอกจากเสียงน้ำอื้ออึงในรูหู
      และเล่ากันตามความจริง ใต้ทะเลมีอันตราย! ซึ่งดูหลำต้องรู้เพื่อที่จะหลบหลีก 
      แมงงองง็อง-ตัวคล้ายแมงกระพรุน สายพิษของมันจะมาเกาะติดเนื้อ และเมื่อชักออกเนื้อหนังส่วนที่โดนเกาะจะหลุดติดไปด้วย แมงกระพรุนลูกโดด-ตาต้องคอยดูอย่าเข้าใกล้ น้ำรอบบริเวณที่มันอยู่มีพิษคันอย่างร้ายกาจ สายฟ้า-สายพิษสีเขียวยาวเป็นวา ลอยมากับน้ำโดนเข้าจะคันแสบเนื้อ แมงกระพรุนหัวแข็ง- เกิดไปโดนส่วนหัวของมันเนื้อจะเปื่อยไหม้เหมือนโดนไฟ งูปิรัง-งูทะเลตัวยาว มีพิษร้ายแรง และต้องขึ้นกินอากาศเหนือผิวน้ำ จนมีกฎให้ดูหลำนุ่งผ้าขะม้าเท่านั้นเมื่อจะลงฟังปลา (ปกติผู้ชายมุสลิมในท้องถิ่น นุ่งโสร่ง) เผื่อว่าดำไปสวนทางกับการขึ้นหายใจของงูปิรัง มันจะไม่เข้ามาติดในร่มผ้าของดูหลำ ยิ่งกว่านั้นเกิดเจอกับฉลามก็จะได้ทิ้งผ้าเบนความสนใจของฉลาม แล้วดูหลำต้องพาตัวเข้าแนบใต้ท้องเรือ อาจารย์ทุกคนสอนศิษย์ให้จำขึ้นใจ เจอฉลามห้ามกระโดดหนีขึ้นเรือ เพราะนั่นจะกลายเป็นเป้าล่อให้มันไล่ตาม 
      นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญและรอบรู้ สวัสดิภาพกลางทะเลยังขึ้นอยู่กับโชคชะตา คนเป็นดูหลำจึงต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรม 
      ห้ามประพฤติเจ้าชู้และห้ามพูดโกหก! 
(คลิกดูภาพใหญ่)       "บังหีม, เคยมีเรื่องเคราะห์ร้ายเกิดกับชาวประมงที่จะนะบ้างไหม" หัวรุ่งที่ยาวนานบนเรือที่จอดดับเครื่องลอยลำอยู่กลางทะเลทำให้เรามีเวลาได้คุยกันหลายเรื่อง ผมไม่แน่ใจว่าจะเหมาะควรหรือไม่กับการถามถึงเรื่องนี้ แต่ก็ยังถามออกไป
      ในเมื่อคิดจะทำความรู้จักกับวิถีชีวิตของเขาก็ควรได้รู้จักอย่างรอบด้าน อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่าช่วงเวลาหลายวันที่ได้คลุกคลีกัน-เราสนิทกันพอที่จะคุยกันอย่างเพื่อนหรือพี่น้อง
      "ถึงหน้ามรสุมในเลเห็นแต่คลื่นขาวพรืดไปหมด มีเรือโดนคลื่นล่มทุกปี" ดลรอหีม หรือบังหีม เล่าและวาดมือไปเหนือเวิ้งน้ำซึ่งยามนั้นมีแพคลื่นเพียงบางเบา ไหวลำเรือโยกเยกเหมือนอยู่ในเปลที่มีคนคอยไกวให้ตลอดเวลา 
      น้ำเสียงของบังหีมราบเรียบขณะเล่าเรื่องที่น่าตื่นเต้น "เสียเรือและอวน แต่ไม่เคยมีใครเสียชีวิต"
      "เป็นไปได้อย่างไร"
      บังหีม-อธิบาย ผม-จดจำเรื่องที่น่าประทับใจนั้นได้โดยไม่ต้องพึ่งสมุดบันทึก
      ดูหลำทุกคนชำนาญน้ำขนาดพาตัวเองอยู่ในทะเลได้เป็นวันๆ โดยไม่ต้องพึ่งชูชีพ ลูกเรือโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างกัน คนที่ว่ายน้ำไม่เก่งก็มีอยู่บ้าง แต่หากมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เขาต้องพากันเข้าฝั่งให้ได้หมดทุกคน 
      ในสถานการณ์ที่ทุกคนต่างไม่แน่ใจว่าตัวเองจะมีโอกาสรอดชีวิตกลับถึงฝั่ง ยังไม่มีใครยอมทิ้งเพื่อนเพื่อเอาตัวรอดคนเดียว
      มิตรภาพที่แท้พบได้ในยามยาก ไม่ได้มีอยู่แต่ในหน้าหนังสือหรือลมปาก พรานทะเลหลายคนเคยประสบมาด้วยชีวิตจริง
      "เราเป็นชาวประมงบ้านเดียวกัน มันทิ้งกันไม่ได้ ที่เรือแตกแล้วลูกเรือตาย ส่วนมากเป็นตังเกต่างด้าว มีคนตายเพราะเขาไม่ช่วยกัน"
      "ทะเลก็มีด้านร้ายของมัน?"
      "ใช่! แต่บางทีคนที่อื่น คนจากกรุงเทพฯ มาถึงก็ลงเล่นน้ำดำน้ำกันอย่างสนุก เพราะเขาไม่เคยรู้เห็นเรื่องร้ายๆ เราอยู่กับมันทุกวัน เรารู้ว่าอันตรายจากทะเลก็มีอยู่มากเหมือนกัน"
      "แต่คงไม่เท่ากับที่คนกระทำต่อทะเล-ใช่ไหม"
      ไม่ได้บอกบังหีมตรงๆ ว่าผมหมายถึงโครงการสี่หมื่นกว่าล้านบาทนั่นด้วย 
      แต่คิดว่าพรานผู้เจนจัดทะเลอย่างเขาย่อมเข้าใจ--เขายิ้มกว้าง เห็นฟันขาวใต้ปื้นหนวดดำหนา
ฟ้าสางแล้ว 
      อีกไม่กี่นาทีคงได้เห็นนาฏกรรมบนผืนน้ำของเหล่าพรานทะเล
(คลิกดูภาพใหญ่)       สองวันที่แล้ว--วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๖ เป็นวันศุกร์ ตามปกติชาวมุสลิมจะหยุดทำงาน แต่ชาวประมงบ้านตลิ่งชันกลุ่มหนึ่ง ยอมเจียดเวลาก่อนประกอบศาสนกิจพาพวกเราออกทะเล ไปสาธิตการทำงานของดูหลำและเหล่าพรานปลา เด็กหนุ่มในหมู่บ้านคนหนึ่งชื่อสุการี เจะสนิ ถือโอกาสออกไปฝึกฟังเสียงปลาด้วย
      ดูหลำรอหีมบอกเราขณะเรือเชิดหัวออกจากท่า "จะทำให้ดูเหมือนกับวันที่ทำงานจริงทุกอย่าง"
      ถึงระดับน้ำลึกราวแปดเมตร ดูหลำเจะหนุ๊ กับดูหลำหมาน เริ่มดำลงไปฟังเสียงปลา ดูหลำอาวุโสอยู่บนเรือกับเรา คอยให้คำอธิบายประกอบการดูของจริง
      "ก่อนลงน้ำ ดูหลำต้องวิดน้ำใส่หัวเรือส้มป้านก่อน ๓ ครั้ง เพื่อขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า พอลงน้ำก่อนจะฟังเสียงปลาต้องดำน้ำให้หัวเปียกทั่วเสียก่อน ไม่อย่างนั้นจะได้ยินแต่เสียงเส้นผมของเราโดนน้ำดังเปรี๊ยะปร๊ะ"
      "ให้ดูหลำโกนหัวเลยดีไหม?"
      "ไม่ได้! กลางทะเลแดดแรงมากหนังหัวจะปริแตก และโดนพิษในทะเลได้ง่าย"
      ระหว่างดูหลำดำน้ำฟังเสียงหาฝูงปลา เรือใหญ่ทั้งสามดับเครื่องลอยลำอยู่ห่างๆ เมื่อดูหลำเจอปลา เรือใหญ่จะเคลื่อนเข้าล้อมดูหลำเป็นรูปสามเหลี่ยม รอดูหลำหาที่อยู่ของฝูงปลาให้ชัดเจน
      "พออยู่ตรงฝูงปลา ดูหลำจะสาดน้ำให้สัญญาณ" ดูหลำรอหีม อรรถาธิบายพร้อมทำท่ากางฝ่ามือผลักไปบนผิวน้ำ "เรือทั้งสามลำที่เตรียมพร้อมอยู่แล้วจะเดินเครื่องวางอวนลงน้ำ ตีวงล้อมวนเข้าหาจุดที่ดูหลำอยู่"
      คงเพราะเรือของเราอยู่ห่างจากดูหลำมากเกินไป ภาพส่วนนี้จึงขาดหาย...สายตาเราไล่ตามภาพที่โต๊ะอิหม่ามบรรยายไม่ทัน อวนถูกวางลงน้ำจนเกือบหมดจึงได้เข้าไปใกล้ ผู้เฒ่ายังให้ความรู้ต่อเนื่องในอารมณ์ที่แจ่มใสไหลลื่นเหมือนเดิม
      "วางอวนเสร็จแล้ว ดูหลำจะดำลงใต้น้ำอีกครั้ง ฟังดูว่าปลาติดอวนหมดหรือยัง ปลาที่โดนอวนจะตกใจร้องเสียงดังต่างจากปลาที่ยังอยู่ในฝูง ถ้าปลายังติดอวนไม่หมด จะส่งสัญญาณให้คนบนเรือใหญ่เคาะไม้ไล่ต้อนปลาให้เข้าหาอวน จนปลาติดอวนหมด ดูหลำก็หมดหน้าที่ ปล่อยให้ลูกเรือสาวอวนขึ้นมาแกะปลา"
(คลิกดูภาพใหญ่)       ชาวประมงมุสลิมพาเรากลับเข้าฝั่งทันก่อนถึงเวลาเข้ามัสยิด
      ภารกิจของเขาลุล่วงอย่างสมบูรณ์โดยไม่ขาดตกบกพร่อง แม้เป็นแค่การแสดงแต่ทุกคนก็ทำงานกันเต็มที่ เหน็ดเหนื่อยแต่ทุกคนยังยิ้มแย้ม นอกจากคำขอบคุณจากพวกเรา เขายังได้ปลามามากพอที่จะแบ่งกันกินทั้งหมู่บ้าน 
      เราได้ความรู้และได้เห็นของจริง 
      แต่สองช่างภาพ บันสิทธิ์ กับ บุญกิจ ไม่ได้ "ภาพ" การทำงานของดูหลำสักใบเดียว โดยปกติเพื่อนทุกคนรู้กันว่าเขาเป็นช่างภาพที่ฉับไว แต่กับการติดตามดูหลำทำงานกลางทะเลในวันนี้ ดูกับตายังแทบไม่ทัน ความคาดหวังที่จะเก็บภาพด้วยกล้องถ่ายจึงเป็นเรื่องเกินจริง
      วันถัดมา (๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๖) เราขอให้เรือลำหนึ่งช่วยพาออกไปติดตามการทำงานของดูหลำ ผลที่ได้แทบไม่ต่างจากวันแรก เราไปถึงตอนที่ดูหลำเสร็จงานของเขาแล้ว ได้เห็นแต่การล้อมอวน และการสาวอวนขึ้นมาปลดปลาลงลัง
      กลางเปลวแดดของเที่ยงวันนั้น พรานทะเลเบิกบานกับการเก็บเกี่ยวดอกผลจากแรงงาน และภูมิปัญญา ขณะเรานั่งเรือกลับเข้าฝั่งอย่างหงอยเหงา
        แสงสีเงินยวงบนขอบฟ้าตะวันออกแปรเป็นแสดส้ม รุ่งอรุณของทะเลต้นฤดูฝนแจ่มใสไร้ฝ้าหมอก เห็นเวิ้งน้ำกว้างจรดขอบฟ้า 
      เสียงเรือหลายลำดังก้องสะท้อนมาตามท้องน้ำ กระชากคนในเรือลำสวยของบังหีมให้หันไปทางที่มาของเสียงอย่างฉับพลัน 
      พรานปลาจวดกลุ่มหนึ่งกำลังวางอวนลงล้อมปลาอยู่ในระยะที่ห่างออกไปราวหลายนาทีแล่นเรือ แต่ไม่ไกลเกินเห็นความคึกคะนองของเรือทั้งสามลำขณะโจนทะยานตามกันไปบนสันคลื่น และท่วงท่าอันรื่นเริงของลูกเรือยามโรยอวนลงน้ำ 
      เป็นเวลาเดียวกับที่ดูหลำเจะหนุ๊พายเรือส้มป้านกลับมาขึ้นเรือใหญ่ 
      เขาแจ้งกับเพื่อนพรานบนเรือว่า ช่วงก่อนสว่างเจอฝูงปลา ๒ ครั้ง หนแรกขนาดของฝูงปลายังไม่น่าพอใจ และมีปลาขี้เกะ (ปลาแป้น) ปนอยู่มากเกินเขาจึงปล่อยไป 
      ในฝูงปลาจวดมักมีปลาชนิดอื่นว่ายปนอยู่ด้วย บ่อยครั้งชาวบ้านได้ปลาอินทรี ปลาจาระเม็ด ปลาทู ปลาหลังเขียว ติดมากับอวนปลาจวด แต่สำหรับปลาแป้น เป็นปลาไม่พึงปรารถของชาวประมง มันขายได้ราคาถูก ที่แย่กว่านั้นยังปลดออกจากอวนยากอย่างเหลือร้าย 
      ดูหลำมาเจอปลาอีกฝูงตอนก่อนสว่าง แต่พอฟ้าแจ้งปลาจวนจะลงหน้าดิน เรือปั่นไฟลำหนึ่งแล่นผ่าน ผืนน้ำสะเทือน ปลาแตกฝูงหนีกระเจิง
      ไม่ใช่เพียงครั้งคราวที่เรือประมงปั่นไฟ เรืออวนลาก-อวนรุน สร้างปัญหาให้กับชาวประมงพื้นบ้าน หากให้กล่าวความจริงกันอย่างตรงไปตรงมา คงไม่อาจปฏิเสธว่าเรือประมงพาณิชขนาดใหญ่ทั้งหลายนี้ ได้ทำลายนิเวศธรรมชาติใต้ทะเลจนพังพินาศลงแล้วทั้งระบบ
(คลิกดูภาพใหญ่)       แต่ก่อน พรานทะเลเคยมีแผนที่การเดินทางของปลาในรอบปีอย่างชัดเจนและแม่นยำ การฟังเสียงหาปลากันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ผ่านการบอกเล่า จดจำ กระทั่งถูกบันทึกเป็นตารางที่ชัดเจนแน่นอนระหว่างเวลากับสถานที่
      ขึ้น/แรม-เดือน-ปีนี้ เจอฝูงปลา ณ จุดหนึ่งจุดนี้ (จดจำตำแหน่งกลางทะเลจากการดูดาว) วัน-เดือน เดียวกันของปีต่อไป ก็สามารถมาดักฝูงปลาได้ ณ จุดเดิม และในวันถัดๆ ไปปลาก็จะค่อยๆ เคลื่อนที่ต่อไปจากจุดนั้นวันละไม่มาก
      พวกมันเคลื่อนฝูงไปตามเส้นทางเก่า ไปสู่จุดหมายเดิมตามวันเวลาที่แน่นอน เป็นวงวัฏฏ์แห่งชีวิตที่เวียนซ้ำอยู่ในวงรอบปี
      ในความนึกคิดของคนอาจมองว่าห้วงสมุทรกว้างใหญ่ราวกับไร้ขอบเขต แต่ในความเป็นจริง วิถีของปลาตัวหนึ่งในทะเลก็ไม่ได้กว้างกว่าเส้นทางหากินของฝูง
      เส้นทางของปลาที่เป็นเหมือนสายใยสัมพันธ์ระหว่างฤดูกาลกับสถานที่ถูกตัดขาดสิ้นสลาย ภายหลังเรือประมงปั่นไฟ เรืออวนลาก-อวนรุน มาเยือนทะเลจะนะ
      เกือบสามชั่วโมงกับการทำงานอย่างโดดเดี่ยวกลางผืนน้ำและความมืด ดูหลำเจะหนุ๊กลับมามือเปล่า เขาขึ้นยืนบนหัวเรือ เพ่งพินิจสีของน้ำพลางสูบยาแก้หนาว ปล่อยความล้มเหลวไปกับควันยาฉุน ดีดก้นยาทิ้งลงทะเล แล้วพาลูกเรือมุ่งไปทางที่น้ำเป็นสีขุ่น
      ประสบการณ์หลายสิบปีกลางทะเลสอนเขา--ปลาอยู่ที่น้ำขุ่นและอุ่น น้ำเขียวใส-เย็น ไม่มีปลา
        ดลรอหมาน วะหลำ และเสรี มุทะจันทร์ สองชาวประมงหมู่บ้านสะกอม อำเภอจนะ ตอบรับคำขอของเราด้วยความเต็มใจ สายวันเสาร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๖ เขาขับเรือท้ายตัดคู่ชีพพาพวกเราสี่ชีวิตออกไปตามดูการทำงานของดูหลำ โดยมีโต๊ะอิหม่ามรอหีมร่วมทางไปด้วยเหมือนวันที่ผ่านมา
      ออกทะเลครั้งที่สองไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างที่คาดหวัง แต่ก็ไม่ถึงกับคว้าน้ำเหลวอย่างสิ้นเชิง...
      เมื่อไม่ต้องจดจ่ออยู่กับเป้าหมายที่วางไว้ ใจก็มีที่ว่างพอจะเปิดรับสิ่งอื่น ในความหงอยเหงาขณะนั่งเรือบ่ายหน้ากลับฝั่ง เพียงทอดสายตาไปทางหัวเรือก็เห็นทะเลในมุมที่เราไม่ค่อยได้เห็น 
      แนวหาดขีดยาวเป็นเส้นตรงแบ่งพรมแดนดินและน้ำ กลางน้ำมีเรือประมงกระจายอยู่เต็มอ่าว จำนวนนับตามการรายงานของคนในพื้นที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ลำ (สามพันลำ) บวก-ลบไม่ไกลจากนี้
      ตลิ่งทรายยกตัวสูงจากฝั่ง หมู่บ้านชาวประมงวางตัวเป็นหย่อม อยู่ใต้ร่มเงาของสวนมะพร้าวริมชายหาด กลมกลืนกับทิวไม้ที่แผ่พุ่มทาบฟ้าเป็นฉากหลัง
      ตลอดแนวชายฝั่งไม่มีสิ่งแปลกแยกแปลกปลอมจากธรรมชาติ
      แต่ความบริสุทธิ์ของอากาศในท้องฟ้าคงเหลืออายุขัยอีกไม่นาน โรงงานแยกก๊าซมูลค่าโครงการสี่หมื่นกว่าล้านบาทกำลังจะเข้ามาตั้งในตำบล บนเนื้อที่ ๙๐๐ กว่าไร่ ซึ่งถูกปักเสาล้อมลวดหนามแน่นหนา มุมด้านหน้ามีหอคอยสังเกตการณ์เหมือนป้อมค่ายในการศึกสงคราม การปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้างดำเนินมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ มีกองกำลังตำรวจอารักขาอย่างเข้มงวดตลอด ๒๔ ชั่วโมง ภายในรั้วเป็นเขตหวงห้ามสำหรับชาวบ้าน สื่อมวลชน นักท่องเที่ยว รวมทั้งคนทั่วไป
      ห่างจากพื้นที่ตั้งโรงงานแยกก๊าซไม่ไกลเกินทอดสายตาถึง ปรากฎศาลาโครงไม้กลมมุงจากหลังใหญ่ กับโรงเรือนขนาดเล็กอีกหลายหลัง และอาคารมัสยิดหลังหนึ่ง ตั้งรวมกันอยู่ริมชายหาดที่ชื่อ ลานหอยเสียบ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ชาวบ้านในท้องถิ่นอาศัยชายทะเลแห่งนี้เป็นที่พบปะชุมนุม ศึกษาหาความรู้ ติดตามข่าวสารความเป็นไปของสังคมและโลก และติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของโครงการขนาดยักษ์ ที่จะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านของเขา รวมทั้งสร้างโอกาสในการสื่อสารกับสาธารณชนโดยตรง 
      ลานหอยเสียบเป็นที่หลอมรวมความสามัคคีของคนในชุมชน เป็นที่ระดมความคิดแลกเปลี่ยนความเห็น เป็นที่ชุมนุมของเยาวชนในหมู่บ้าน เป็นจุดนัดพบของกลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันสร้างงานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นแหล่งถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้จากผู้เฒ่าสู่ลูกหลานรุ่นหลัง
      การรวมตัวกันสร้างกิจกรรมของชุมชน ทำให้ลานหอยเสียบเป็นแหล่งรวมของสรรพวิชาในเชิงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ชั่วเวลาไม่นานลานหอยเสียบจึงกลายเป็นชุมชนที่ผู้คนทั่วประเทศถามถึงและอยากรู้จัก 
      จนทุกวันนี้ แทบทุกวันลานหอยเสียบไม่ร้างไร้ผู้มาเยี่ยมเยือน ชุมชนริมชายทะเล กลายเป็นสถานที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ของนักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศ และต่างประเทศ เป็นกรณีศึกษาของการทำวิทยานิพนธ์ เป็นสนามวิจัยของนักวิชาการ เป็นวัตถุดิบของนักเขียน เป็นแหล่งข่าวของสื่อมวลชน เป็นแบบอย่างของการลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน ฯลฯ
      ใช่หรือไม่ว่า นี้คือรูปธรรมและแก่นสารของสิ่งที่เรียกว่า รากเหง้า ในวันที่ถิ่นฐานบ้านเกิดกำลังถูกกระทำให้ล่มสลาย ชุมชนดั้งเดิมแห่งหนึ่งยังเป็นพื้นที่ และพื้นฐานในการแตกหน่อต่อยอดทางปัญญาให้สังคมส่วนรวม- -ส่วนรวมที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานชุมชนของเขา
      "ศาสดาจารย์ของเราสอนว่า คนเราเมื่ออายุถึง ๖๐ ปี ถือเป็นช่วงปลายของชีวิต ให้ใช้เวลาที่เหลือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น" โต๊ะอิหม่ามรอหีมรำพึงกลางเสียงคลื่น เมื่อนั่งอยู่บนหัวเรือท่วงทีของเขาดูสง่าสมเป็นเฒ่าทะเล "ตัวผมอีกไม่นานก็คงไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว ที่ออกมาคัดค้านโครงการก็เพื่อให้ลูกหลานในวันข้งหน้าได้มีที่อยู่ที่หากินตลอดไป"
        "เราเคยกินแต่ปลาสดๆ จากทะเล ความอร่อยของมันคนที่ซื้อแต่ปลาจากตู้แช่ไม่มีทางรู้ ทุกคนในหมู่บ้านไม่มีใครต้องซื้อปลากิน คนที่ไม่ได้ออกทะเลเราก็ขอกันกินได้ เราอยู่กันมาอย่างนี้ ไม่ร่ำรวยแต่มีความสุข มีคนออกไปทำงานจ้างในโรงงานบ้างเหมือนกัน แต่เขารับเฉพาะคนหนุ่มสาวพอแก่ตัวไปก็ไม่มีใครจ้าง ค่าแรงรายวันรวมกันทั้งเดือน บางทีก็เท่ากับที่เราออกทะเลเพียงวันเดียว งานในทะเลเป็นงานที่อิสระ ได้ทำงานกับคนในครอบครัวกับเพื่อนบ้าน มันอบอุ่น เราออกหาปลากันโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีใดๆ ทั้งสิ้น เราใช้ภูมิปัญญาความรู้ที่สอนต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ การทำประมงแบบพื้นบ้านเป็นวิถีชีวิตที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ทะเลเสียหาย ใช้อวนตาห่างมาก ปลาที่โตได้ขนาดเท่านั้นที่จะติดอวน ลูกปลาก็ลอดผ่านไปเติบโตเป็นปลาใหญ่"
      "พรุ่งนี้พวกผมขอเป็นชาวประมงด้วยได้ไหม" ออกทะเลแล้วสองครั้ง ยังไม่ได้ทั้ง "เรื่อง" และ "ภาพ" อีกทั้งเรื่องราวชีวิตของพรานทะเลที่เพิ่งได้ฟังจากปากคำของโต๊ะอิหม่ามในหลายบรรทัดที่แล้ว ยิ่งเร้าความสนใจจนต้องเอ่ยปากขอตามออกไปเรียนรู้ให้ลึกซึ้งกว่าที่ได้รู้จักแล้ว ทั้งที่แสนจะเกรงใจว่าจะเป็นภาระและเกะกะการทำงานของเขา 
      "ได้ซี" รอหีมตอบทันที ตอกย้ำบุคลิกอันเรียบง่ายและความใจดีของผู้เฒ่าโต๊ะอิหม่าม
      "คืนนี้มานอนที่บ้านผม แล้วนัดให้ดลรอหีมมาเรียกไปออกเรือกับเขาตอนตีสาม" 
(คลิกดูภาพใหญ่)       เงาเรือที่ทอดยาวไปบนผืนน้ำหดสั้นเข้ามาจนจวนจะซุกเข้าใต้ท้องเรือ
      ดูหลำเจะหนุ๊พากลุ่มพรานย้อนกลับมาทางด้านเหนือของเกาะขาม เอาเรือส้มป้านคู่ใจลงจากเรือใหญ่ ทิ้งตัวดำหายลงใต้น้ำ สักพักก็กลับขึ้นนั่งเรือส้มป้าน พายกรรเชียงไปข้างหน้าอีกครั้ง 
      อีกครั้ง 
      และอีกครั้ง "ดูหลำเจอฝูงปลาเข้าแล้วหละ แกจึงหยุดอยู่ตรงนั้นนาน คอยดูนะเดี๋ยวแกก็จะสาดน้ำ" บังหีมว่าพลางล้วงห่อยาเส้นจากกระเป๋า หยิบใบจากที่ห่อตัวเป็นก้านกลม คลี่รีดออกเป็นแผ่นวางซ้อนกันสองใบ โรยยาเส้นตราเซียนขี่สิงห์ แล้วม้วนคลึงกลางฝ่ามือ บิดท้ายอีกครึ่งรอบ คาบเข้ามุมปาก จุดไฟแช็คจ่อที่ปลายมวน ดูดโรยควันในสายลมยามสายจัดอย่างใจเย็น
      ขณะที่ในใจผมว้าวุ่นขึ้นตามความร้อนของแดด ตะวันใกล้เที่ยงเต็มที ถ้าไม่ได้ลงอวนภายใน ๑๑ โมงเช้า ก็เป็นอันคว้าน้ำเหลว 
      ชาวประมงไม่ได้ปลา และเราก็จะพลาดทั้ง "เรื่อง" และ "ภาพ" อีกเป็นครั้งที่สาม 
      ทั้งสองกรณีผมภาวนาอย่าให้มันเกิดขึ้น 
      "ดูหลำสาดน้ำแล้ว" บังหีม ตะโกนปลุกเราและปลุกตัวเอง 
      เรามองไปตามสายตาของแกทันควัน หยาดน้ำกระจายขึ้นจากพื้นทะเลเป็นงวงโค้ง สะท้อนแสงแดดแวววาวราวน้ำพุแห่งความหวังของพรานปลา
      บังหีมผุดลุกไปที่ท้ายเรือ คว้ามือหมุนสอดเข้าช่องสตาร์ทเครื่อง เกี่ยวสลักมือหมุนเข้ากับแกนสตาร์ท โถมแรงหมุนจนเครื่องสำลักสำแดงอาการว่าพร้อมจะสันดาปเชื้อเพลิง จึงถอนมือหมุนออกไปกดคันเร่ง เครื่องยนต์ยันมาร์แผดเสียงคำรามก้องผืนน้ำพร้อมๆ กับเรืออีกสองลำ ใบพัดตีน้ำด้านท้ายเรือแตกกระจายดันหัวเรือเชิดฟันสันคลื่น
      "ทิ้งธงเลย" บังหีมตะโกนแข่งเสียงเครื่องเรือบอกบังหลี-เพื่อนคู่หู 
      เพื่อนหยิบธงติดทุ่นทิ้งลงไปปักอยู่บนผิวน้ำ บังหีมเร่งเครื่องแล่นเรือออกจากที่ ปล่อยผืนอวนที่กองอยู่บนเรือลุ่ยลงสู่ท้องน้ำอย่างกับปล่อยเชือกให้ว่าวที่กำลังติดลมบน ไล่ตามเรือของเพื่อนอีกสองลำ ตีวงจากรอบนอกล้อมเข้าหาดูหลำที่ลอยคออยู่เป็นจุดศูนย์
      นกอีแอ่นที่บินผ่านมาในเวลานั้น คงเห็นแนวอวนสามเส้นวนซ้อนกันเป็นรูปก้นหอยสามชั้น ก่อนที่มันจะจมลงสู่ก้นทะเล และไม่อยู่ในการมองเห็นของฝูงปลา
(คลิกดูภาพใหญ่)       ห้วงน้ำคืนสู่ความเงียบ เครื่องเรือถูกดับเพื่อให้ดูหลำประเมินผลการทำงาน 
      "ปลาเริ่มติดอวนบ้างแล้ว" หูของดูหลำเจ๊ะหนุ๊รายงาน "ลองลงมาฟังดูได้" เขาชวนให้ร่วมพิสูจน์ 
      บังหีมโดดลงน้ำทันที ชั่วโมงที่แล้วเขาเพิ่งเล่าเรื่องของตัวเอง "ตอนนี้ผมหัดฟังปลาอยู่เหมือนกัน" 
      บังหีมหายไปใต้น้ำชั่วอึดใจก็ผุดขึ้นมาเรียก "วี ลงมาเลย ปลากำลังร้องเสียงดังอย่างแรง"
      ผมใจเต้น ก็เหมือนทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายซึ่งไม่เคยทำมาก่อน หวั่นไหวและกลัว 
      ครั้งที่เพื่อนร่วมชั้นประถม เรียกให้โดดลงหัดว่ายน้ำในคลองนอกหมู่บ้าน ครั้งที่เพื่อนหนุ่มบังคับให้ปีนผา ผมใช้เวลาค่อนข้างนาน ในการเดินข้ามความกลัวเพียงก้าวเดียว คราวที่พ่ออุ้มขึ้นขี่มอเตอร์ไซค์ครั้งแรก ผมตื่นกลัวจนต้องยกฝ่ามือปิดตาไว้ตลอดเวลา วันนั้นผมถูกพ่อดุว่า- ไอ้ตับพอง (เป็นคำใต้ ความหมายเดียวกับ ปอดแหก ในภาคกลาง)
      "ลงไปต่ะ" พรานทะเลอีกคนยุ เขาคงอยากให้ผมได้ยินกับหูว่า--เสียงร้องของปลามีอยู่จริง 
      เพียงแต่ต้องแลกกับการกล้าโดดลงทะเลลึกตัวเปล่า 
      ผมก้ำกึ่งกับการตัดสินใจ ไม่อยากถูกหยามว่าดับพองอีกในวันที่เราโตเป็นหนุ่มเต็มตัวแล้ว อีกอย่างหนึ่ง--ผมอยากเก็บเสียงปลามาฝากบรรณาธิการและฝากผู้อ่าน
      ผมถอดเสื้อกองไว้บนเรือ หย่อนตัวลงน้ำ มือจับเชือกเรือไว้แน่น แล้วดำหัวมุดน้ำ เสียงร่างกายและเส้นผมเสียดสีน้ำกับเสียงน้ำรุกไล่อากาศในกางเกงเลดังประสานกันอื้ออึง สุดกลั้นผมพุ่งพรวดขึ้นเหนือน้ำ ลอยคอหอบหายใจอย่างตะกละตะกลามอากาศ 
      ยังไม่ได้ยินเสียงปลา
      "แลต่ะ ดำน้ำหิดเดียวเหนื่อยแข๋ตายแหล่ว" บังหีมกระเซ้า ก่อนชี้แนะ "ต้องดำน้ำให้ตัวเปียกทั่วเสียก่อน แล้วค่อยดำลงไปฟังเสียงปลา และอย่ากลัว" 
      คำแนะนำของเขา ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ดูหลำรอหีมบอกในวันแรก เรื่องเสียงเส้นผมโดนน้ำ 
      ตัวเปียกดีแล้ว ผมลงน้ำอีกครั้ง ตั้งสติ นิ่ง และฟัง 
      พอใจมีสมาธิผมก็ได้ยินเสียงปลา
      เสียงที่เกิดจากการร้องประสานของฝูงปลาเป็นร้อยเป็นพันตัวพร้อมๆ กัน เป็นเสียงที่ยากจะเลียนด้วยเสียงคน และยากกับการเขียนเป็นตัวหนังสือ 
      ตามความรู้สึก ฟังคล้ายเสียงพระสวดมนต์ที่ก้องสะท้อนมาจากวัดในถ้ำบนเชิงเขา
      "ปลายังติดอวนไม่หมด"
      ดูหลำเจะหนุ๊โผล่จากน้ำขึ้นมาบอกคนบนเรือ
(คลิกดูภาพใหญ่)       แล้วส่งสัญญาณมือบอกทิศทาง เรือที่อยู่ด้านนั้นแหย่ลำไผ่ลงน้ำแล้วกระหน่ำเคาะ ให้เสียงก้องตามลำไผ่แล่นลงไปใต้ผืนน้ำ เหมือนกับพรานป่าตีเกราะต้อนสัตว์เถื่อนให้วิ่งเข้าหาหลุมขวาก
      นาทีนั้น, จิรันดรลุกขึ้นมาร่วมเคาะไม้กับเขาด้วยอย่างคึกคัก ก่อนหน้านี้, นับแต่ขึ้นเรือมาจากท่าเขาหลบไปนั่งสงบเสงี่ยมอยู่มุมหนึ่งของเรือจนเพื่อนๆ อาจลืมไปแล้วว่ามีเขามาด้วย คลื่นมอมเขาจนเมาลุกไม่ขึ้น 
      กับทะเลขอยอมแพ้ จิรันดรออกปาก แต่ถ้าบนถนน-ถึงไหนถึงกัน 
      หลายพันกิโลเมตรที่เราได้แรมทางด้วยกัน ผมเป็นพยานได้ว่าคำพูดของเขาไม่เกินจริง 
      ฟังเสียงจนรู้ว่าปลาติดอวนสิ้นแล้ว ดูหลำนำเรือส้มป้านขึ้นเรือใหญ่ งานประจำวันของเขาเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ เมื่อตะวันจวนจะตรงหัว
      มือที่กร้านน้ำเค็มของพรานทะเล เริ่มสาวอวนขึ้นจากน้ำ ปลดปลาตัวแรก ปลดปลาตัวที่สอง ปลดปลาตัวที่สาม ปลดปลาตัวที่สี่ ปลดปลาตัวที่ห้า ปลดปลาตัวที่หก ปลดปลาตัวที่เจ็ด ปลดปลาตัวที่แปด ปลดปลาตัวที่เก้า ปลดปลาตัวที่สิบ ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... 
      มีปลาให้ปลดจากอวนไม่มีวันหมด ถ้าไม่มีโรงงานแยกก๊าซที่ริมฝั่งทะเลจะนะ
 

ขอขอบคุณ

        รอหีม สะอุ ดลรอหีม ชายเหาะ เจะหนุ๊ ชายเหาะ หมาน ชายเหาะ ดลรอหมาน วะหลำ เสรี มุทะจันทร์ อลิสา หมานละ รัตนา ปานกลิ่น รวมทั้งพี่น้องชาวบ้านทุกคนที่บ้านตลิ่งชัน ลานหอยเสียบ ปากบาง-สะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา