|
วันชัย ตัน / ภาพประกอบ : DIN-HIN | |||
กล่าวกันว่า เมื่อเอ่ยถึงอินเดีย ชาวต่างชาติจะนึกถึงทัชมาฮาลเป็นสิ่งแรก รองลงมา คือ หมองู ภาพหมองูโพกหัว กำลังเป่าปี่เรียกงูจงอางให้โผล่ขึ้นมาจากตะกร้าสาน โยกย้ายส่ายลำตัวไปมาตามเสียงเพลง แทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติอินเดียไปแล้ว แต่ภาพลักษณ์นี้กำลังจะเป็นอดีต หมองูกำลังจะสูญพันธุ์ เมื่อรัฐบาลอินเดียตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่า และได้ประกาศห้ามการครอบครองงูหลายชนิด "พวกเราสืบทอดอาชีพนี้มาจากบรรพบุรุษ พวกเราไม่มีที่ดิน ไม่มีงานอื่นทำ" คือคำบ่นของ อาร์จัน นาท์ หมองูไว้เครา ซึ่งประจำอยู่ที่วัดริมทะเลสาบในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ห่างจากรุงเดลีไปทางเหนือ ๑๕๐ กิโลเมตร "แล้วเราจะกินอะไร" เขาร่ำร้อง นาท์เป็นหนึ่งในหมองูจำนวนนับร้อยคนจากที่ต่าง ๆ ซึ่งมารวมตัวกัน ณ โบสถ์ฮินดูแห่งหนึ่ง เพื่อร่างข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเตรียมอาชีพทางเลือกให้พวกตน "รัฐบาลประกาศข้อห้ามโดยไม่เคยคิดถึงพวกเราสักนิด" หมองูคนหนึ่งจากเดลีตะโกนอย่างโกรธเกรี้ยว "พวกเขาสั่งห้ามกิจการของพวกเรา แต่พองูขึ้นบ้านรัฐมนตรี ไม่แคล้วต้องมาตามหมองูให้ไปจับงูอยู่ดี" ครั้งหนึ่งพวกหมองูถูกเรียกให้ไปรักษาความปลอดภัย ในการแข่งคริกเกตระหว่างทีมอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งกลุ่มฮินดูหัวรุนแรงขู่จะปล่อยงูพิษเข้าสนามกีฬา หมองูเป็นตำนานอันเก่าแก่ของอินเดีย ส่วนงูก็เป็นสัตว์ที่ชาวอินเดียสักการะมาเนิ่นนาน มีวัดฮินดูหลายแห่งที่อุทิศแด่งู ภาพของพระศิวะเทพเจ้าองค์สำคัญก็มีงูพันรอบพระศอ ที่ผ่านมาหมองูหลายคนมีโอกาสเข้าไปแสดงให้แขกต่างชาติชมในโรงแรม และรัฐบาลสนับสนุนให้เดินทางไปแสดงตามเทศกาลทางวัฒนธรรมในต่างประเทศ ขณะที่หมองูส่วนใหญ่มักจับจองพื้นที่ริมถนนพร้อมอสรพิษในตะกร้าและปี่คู่กาย ร่ายมนต์สะกดให้งูออกมาเริงระบำให้คนทั่วไปได้ชม ทำรายได้ให้แก่พวกเขาประมาณวันละ ๔๐ บาท "เมื่อรัฐบาลเริ่มเข้มงวดและยึดงูของพวกเรา พวกเราต้องระวังตัวแจไม่ให้ถูกจับ ไม่ให้ถูกทุบตี" หมองูชื่อบูดานาท์จากเดลีบ่น บรรดานักอนุรักษ์ คนรักสัตว์ ต่างออกมาสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลที่ห้ามการครอบครองงู โดยอ้างว่าหมองูทารุณสัตว์ หักเขี้ยวงูทิ้ง เฉือนต่อมพิษออกก่อนการแสดง บ้างฆ่างูเพื่อถลกหนังส่งขายตลาดนอกประเทศ ทว่าหมองูปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้โดยสิ้นเชิง "พวกเราเคารพงูเหมือนญาติผู้ใหญ่ เราแบกเขาไว้บนบ่าเวลาไปไหน ๆ ไม่มีทางเอางูไปค้าขายนอกลู่นอกทางเด็ดขาด" บูดานาท์กล่าว "เรานำงูมาแสดง ๔๐ วัน แล้วปล่อยกลับคืนสู่ป่า" เขาและเพื่อนร่วมอาชีพสาบานว่าไม่มีใครฆ่างู หมองูส่วนใหญ่กล่าวว่า หากต้องเลิกอาชีพหมองู พวกเขาอยากได้งานในกรมป่าไม้เพื่อจะได้ใช้ความรู้ของตนในเรื่องอสรพิษและสมุนไพรพื้นบ้าน โดยเฉพาะการรักษาผู้ถูกงูพิษกัด ขณะที่หมองูบางคนยืนยันจะสืบทอดอาชีพดั้งเดิมของเขาต่อไป "งูจงอางตัวหนึ่งทำให้เรามีรายได้ ๑ หมื่นรูปี (๘,๐๐๐ บาท) แล้วจะให้เลิกอาชีพนี้ได้ไง" สุเรชกล่าวขณะล้อมวงสูบกัญชาพร้อมถกปัญหากับเพื่อนหมองู "อย่างน้อยคนหนึ่งในครอบครัวน่าจะได้รับอนุญาตให้สืบทอดอาชีพหมองู ประเพณีของเราจะได้ไม่ตาย" พวกหมองูสนับสนุน ใครว่าหมองูตายเพราะงู |