Home

 
 


นายรอบรู้ชวนเที่ยว.. ไปไหว้พระบรมธาตุไชยา เมืองสุราษฎร์

เมื่อได้ยินใครๆ พูดว่าจะไปเที่ยวสุราษฎร์ หรือ จ. สุราษฎร์ธานี ที่บอกว่าเป็นเมือง "ร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ" ก็มักล้วนแล้วแต่จะไปเที่ยวเกาะ กินเงาะ กินหอยนางรม (ซึ่งที่จริงคือหอยตะโกรม) ตัวใหญ่ ๆ แล้วก็ซื้อไข่เค็มเมืองไชยามาฝากกัน มีน้อยคนเหลือเกินที่จะแวะสวนโมกขพลาราม ที่ท่านพุทธทาสเคยอยู่ เคยประกาศธรรม หรือแม้แต่จะเลี้ยวเข้าไปเที่ยวชม ไหว้พระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อันเป็นที่มาของคำ "แหล่งธรรมะ"
ถ้าไปเที่ยวไหนต่อไหนเสร็จแล้ว มีเวลาสักครึ่งค่อนวัน ก็น่าจะลองมาเที่ยวชมที่วัดพระบรมธาตุไชยานี้บ้าง วัดนี้เป็นวัดสำคัญเก่าแก่ มาตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรือง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เดิมเมืองไชยานั้นเป็นเมืองใหญ่ มีขอบเขตตั้งแต่ อ. ท่าชนะ อ. ไชยา ลงมาถึง อ. เมืองสุราษฎร์ธานี อ. กาญจนดิษฐ์ อ. พุนพิน อ. คีรีรัฐนิคม อ. ฉวาง อ. เวียงสระ อ. พระแสง เรียกว่าเกือบทั้งจังหวัดเลยทีเดียว มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเรื่อยมา และรับเอาอิทธิพลทางศาสนาพุทธลัทธิมหายานเข้ามาด้วย

แผนที่ พระบรมธาตุไชยา เมืองสุราษฎร์ (คลิกดูภาพใหญ่)
นักโบราณคดีกล่าวถึงประวัติการสร้างวัดว่า เกิดขึ้นในสมัยที่พระเจ้าธรรมเสตุ ขึ้นครองเมืองไชยาแล้ว ก็ทรงสร้างพระนคร กำแพงเมือง โดยมีคูล้อมทั้งสี่ทิศ และสร้างวัดขึ้นหลายแห่งรวมถึงวัดพระบรมธาตุไชยานี้ด้วย
ด้วยอิทธิพลของศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน ตัวองค์เจดีย์จึงมีลักษณะศิลปกรรมแบบศรีวิชัย หรือที่เรียกกันว่าแบบอินโดชวานีส โดยองค์พระธาตุมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรมุข ส่วนยอดแบ่งเป็นสามชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยรูปสถูปขนาดเล็ก องค์ระฆังของสถูปนั้นมีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่บนรูปดอกบัวขนาดใหญ่ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์ บัวกลุ่ม และปลียอด เฉพาะปลียอดเดิมหุ้มด้วยเงิน เหนือปลียอดประดับด้วยฉัตรทองปุสามชั้น ซึ่งกว่าจะเป็นรูปลักษณ์ในปัจจุบันนี้ก็ผ่านการซ่อมแซมมาหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๓ มีการตกแต่งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ ฉาบปูนบาง ๆ ทั่วทั้งองค์พร้อมทั้งเสริมยอดที่หักพังลงมา สร้างวิหารหลวงขึ้นมาใหม่ในที่เดิม และสร้างวิหารคดโดยรอบ ล้อมองค์พระเจดีย์และพระวิหาร สร้างพระอุโบสถเพิ่มเติม และซ่อมแซมอีกครั้งคือเมื่อคราวฉลองกรุงเทพฯ ครบรอบ ๒๐๐ ปี
สิ่งน่าสนใจที่องค์เจดีย์คือ ลวดลายปูนปั้นที่ประดับอยู่ในซุ้ม ด้านหน้าเป็นองค์พระพุทธรูป ในตราแผ่นดิน ด้านหลังเป็นรูปเทพนม ส่วนด้านข้างเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และรูปนกยูง ทั้งยังมีรูปลายอื่น ๆ อีกมาก เช่น รูปสิงห์ รูปเหรา รูปผีเสื้อ เป็นต้น ลวดลายปูนปั้นเหล่านี้เป็นลายที่ทำขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕
องค์พระบรมธาตุไชยา มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย หรืออินโดชวานีส (คลิกดูภาพใหญ่)พระพุทธรูปในวิหารคต (รูปนี้เป็นรูปเก่า ถ่ายไว้ก่อนที่จะมีคนเอาสีทองไปทาที่องค์พระ ดูไม่ขลังเหมือนเก่า) (คลิกดูภาพใหญ่)
นอกจากนี้ภายในวัดยังมี "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา" ตั้งอยู่ด้วย เปิดให้เข้าชมมาหลายปีแล้ว โดยแบ่งเป็นสองอาคาร อาคารแรก "ศาลานีลวัฒนานนท์" ด้านหน้าจัดแสดงประติมากรรมศิลาและสำริดที่ค้นพบในเมืองไชยาเก่า อย่างเทวรูปพระนารายณ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นองค์จำลอง องค์จริงนั้นจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในกรุงเทพฯ นี่เอง อย่างไรก็ดีภายในก็ยังมีศิลปวัตถุจัดแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนอาคารที่ ๒ เป็นที่จัดแสดงหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ทั้งยังมีโบราณวัตถุที่มีความประณีต งดงาม เช่น หน้าบันไม้แกะสลักเก่าแก่ ลวดลายงดงามอ่อนช้อย เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ ลายเทพนม นรสิงห์ เครื่องถ้วยศิลปอันนัม เครื่องลายครามของจีน รวมไปถึงพระพุทธรูปทองคำ เครื่องเงิน เครื่องทอง และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เหมาะแก่การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น
..........................
บรรยากาศชายทะเลแถบแหลมโพธิ์  (คลิกดูภาพใหญ่)ผ้าไหมพุมเรียง สีสัน และลวดลายสวยงาม (คลิกดูภาพใหญ่)
รหลังจากเที่ยวชมศิลปวัตถุ ของเก่าที่ดูเหมือนจะ "ตาย" ไปแล้วในวัด ในพิพิธภัณฑ์ ก็ไม่น่าละเลยที่จะไปเที่ยวชมตลาดและหมู่บ้าน ซึ่งยังอาจกล่าวได้ว่าพอ "เป็น" วิถีชีวิตที่สัมผัสได้ หมู่บ้านที่น่าสนใจคือ หมู่บ้านพุมเรียง ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงชุมชนที่อยู่ชายทะเลทำการประมงชายฝั่งเลี้ยงชีวิตเท่านั้น แต่พี่น้องมุสลิมที่นี่ยังมีฝีมือทางด้านทอผ้า สมัยก่อนเขาจะทอไว้ใช้เอง ใช้ในเวลาแต่งงาน หรือนุ่งไปทำพิธีที่มัสยิด ลายเก่าแก่ที่นิยมทอกันคือ "ลายยกเบ็ด" แต่ปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว ว่ากันว่าคนที่จะนุ่งผ้าทอไหมพุมเรียงนี้ มักจะเป็นเศรษฐีมีสตางค์ และเป็นที่นิยมกว่าผ้าทอเมืองนคร หรือผ้าทอเกาะยอ สงขลา เสียอีก
ผ้าทอพุมเรียงมาดังมากอีกครั้ง ก็เมื่อสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ใคร ๆ ก็หาผ้าไหมมาตัดเสื้อทรงพระราชทาน ผ้าทอที่นี่ก็ได้รับความนิยมมาก เรียกว่าต้องเปลี่ยนจากการทอพื้นบ้านเป็นอุตสาหกรรมการทอกันทีเดียว เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่มากแม้จะไม่ดังเท่าเมื่อก่อนก็ตาม และก็มีทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย จะลองถามหาซื้อตามบ้าน หรือไปซื้อที่ร้านวรรณม๊ะไหมไทย ร้านใหญ่เก่าแก่ก็ได้
ถ้ามาแต่เช้า ป่านนี้ก็คงบ่ายโข ยิ่งมาเมื่อตอนบ่าย ตอนนี้ก็ยิ่งเย็นย่ำ ตรงปลายสุดถนนแถบปากคลองพุมเรียงใกล้ๆ กับแหลมโพธิ์ มีร้านอาหารฝีมือชาวบ้าน ขายอาหารทะเลสด ๆ อยู่หลายร้าน เช่น ร้านพลับพลา ซีฟู้ด หรือจะเลือกแบบเป็นซุ้มดอกเห็ดก็ได้ สั่งอาหารง่าย ๆ ประเภทปูนึ่ง ปลาทอด หมึกผัดพริก กรรเชียงปูผัดผงกะหรี่ รวมถึงหอยตลับ หรือที่เรียกกันว่า หอยขาวพุมเรียง จะผัดพริกเผา หรืออบจิ้มน้ำจิ้มก็อร่อย รับรองต้องตักข้าวสองรอบสามรอบ ถ้าไม่อิ่มจนอึดอัดไปเสียก่อน
ลวดลายปูนปั้นรูปตราแผ่นดิน ตรงซุ้มด้านหน้าองค์พระบรมธาตุ (คลิกดูภาพใหญ่)
วรรณม๊ะไหมไทย โทร. (๐๗๗) ๔๓-๑๓๕๙
พลับพลา ซีฟู้ด โทร. (๐๗๗) ๔๓-๑๓๘๕
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๕ บาท ชาวต่างประเทศ ๑๐ บาท
Home