
หมอกฝนเรี่ยต่ำ
คลอเคลียอยู่กับทิวเขา เรือนยอดป่าดงดิบชื้นเขียวขจีไหวเอนด้วยสายลม
ภูมิทัศน์สดกระจ่าง เชิญชวนให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ที่นี่มีเพียงเต็นท์เล็กๆ
ไม่กี่หลัง สายน้ำที่แผ่ตัวบนลาดหินกว้าง และความสงบสันโดด
ในวันสุดสัปดาห์บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
หากคุณเบื่อเสียงอึกทึกและความจอแจบริเวณแคมป์กราวนด์ข้างลานจอดรถ
เสียงเร่งเครื่องยนต์ที่ดังไม่หยุด มองไปทางไหนก็เจอะเจอแต่รถยนต์จอดเรียงเป็นตับ
ลองเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการเดินป่าแบกสัมภาระของคุณเองไปยังจุดพักแรมอันแสนเงียบสงบ
ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น
โดยทั่วไปการไปแคมป์กลางป่า
๑-๒ คืน ยังไม่ถือเป็นการผจญภัยเต็มรูปแบบนักเมื่อเทียบกับทริปที่ยืดยาวออกไปถึง
๕ วันหรือมากกว่า การเตรียมการที่ดีจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น ตั้งแต่ร่างกายของคุณ
อุปกรณ์ที่ใช้ ตลอดจนการวางแผนรับมือสถานการณ์ไม่คาดฝัน
เพื่อลดปัญหาขลุกขลัก โดยเฉพาะมือใหม่ ควรออกเดินทางแต่เช้า จะได้มีเวลาเดินสบายๆ
ไม่ต้องรีบเร่ง วางแผนให้ไปถึงจุดพักแรมอย่างน้อย ๒ ชั่วโมงก่อนค่ำ
ตามปรกติแล้วในหน้าฝนจะมืดช้ากว่าในหน้าหนาว แต่ไม่ว่าฤดูไหนในป่า
บรรยากาศจะมืดครึ้มลงตั้งแต่ห้าโมงเย็น การเดินไปถึงจุดพักแรมตั้งแต่บ่ายสามโมงจะทำให้มีเวลาเตรียมอาหาร
กางเต็นท์ ออกสำรวจธรรมชาติรอบที่พัก
การดื่มน้ำเป็นสิ่งจำเป็น
ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ ตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง จะช่วยให้กระปรี้กระเปร่า
ระหว่างเดินเท้า หากเสียเหงื่อมาก ให้ดื่มน้ำสะอาดช่วยลดความเหนื่อยล้า
ไม่จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เตรียมน้ำดื่มใส่กระติกหรือขวดที่ล้างสะอาดไปให้พอ
สำหรับทริป ๒ วัน ๑ คืน โดยเฉลี่ยแต่ละคนจะใช้น้ำดื่มและปรุงอาหารไม่น้อยกว่า
๓ ลิตร

สิ่งจำเป็นสำหรับการไปพักแรมในป่าก็คือเต็นท์
ควรเลือกเต็นท์ขนาดเล็ก น้ำหนักไม่มากเกินไป ไม่เป็นภาระในการเดินแบก
บางครั้งเปลสนามก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลว แต่ไม่ว่าจะนอนเต็นท์หรือนอนเปล
ควรเตรียมผ้าไนลอนกันน้ำค้างไปด้วยเสมอ
เสื้อผ้าที่ใช้เดินป่า
ไม่ต้องเตรียมไปมาก มีเฉพาะชุดใส่เดินป่าและชุดนอนไปอีกชุดเดียวก็พอ
อาจเตรียมชุดที่แห้งสะอาดไว้อีกชุดหนึ่งในรถ หรือที่จุดเริ่มต้นออกเดิน
เพื่อไว้เปลี่ยนเมื่อกลับออกจากป่า
แมลงกัดเจ็บ ได้แก่ ผึ้ง ยุง คุ่น แตน เห็บ และทาก เป็นตัวรบกวนความสงบสุข
เป็นอันตรายกว่าสัตว์ป่าทุกชนิด ทางที่ดีควรสวมเสื้อผ้าที่ปิดมิดชิด
ใช้ยาทากันแมลง ทาป้องกันไว้

สำหรับเรื่องอาหารการกิน
เนื่องจากคุณต้องเตรียมเองและทำเองทุกอย่าง แต่ไม่สามารถแบกหามอุปกรณ์ทุกอย่างไปได้
การวางแผนการที่ดีจะช่วยลดปัญหาลงได้ การไปแคมป์ ๑-๒ คืนสามารถเตรียมเสบียงได้ไม่ยาก
โดยเลือกเสบียงน้ำหนักเบา พกพาสะดวก กินได้ทันที หรือปรุงง่าย ๆ จะช่วยประหยัดเวลาและลดภาระการทำ
เช่น หมูเค็ม หมูแผ่น น้ำพริก ทั้งนี้ไม่ควรนำเสบียงไปมากเกินไป หรือคิดรายการอาหารที่ยุ่งยาก
บรรยากาศในป่าช่วยให้อาหารง่ายๆ อร่อยขึ้นได้ ที่สำคัญก็คืออย่าลืมคำนวณอาหารเผื่อคนนำทางและลูกหาบด้วย
อาหารมื้อใหญ่ควรมีเพียงมื้อเดียว
โดยทำน้ำแกง จะเป็นต้มยำหรือต้มจืด รับประทานกับผัดผักและน้ำพริกที่เตรียมมาก็พอ
เคล็ดลับที่จะทำให้อาหารในแคมป์อร่อยก็คือ ข้าวสวย ซื้อข้าวสารที่ดีที่สุด
หุงง่าย ขึ้นหม้อ ข้าวสวยร้อน ๆ ที่หุงกำลังดี กินกับกับข้าวอะไรก็อร่อย
สำหรับอาหารกระป๋อง แนะนำให้งดไปเลย มีอาหารอร่อยอีกตั้งมากมายที่ไม่ได้บรรจุกระป๋องขาย
แถมกระป๋องเหล่านี้ยังสร้างปัญหาขยะอีกด้วย
อาหารและน้ำดื่ม
เป็นสัมภาระที่มีน้ำหนักมากที่สุดของการไปแคมป์ แต่น้ำหนักก็จะลดลงตลอดเวลา
การแบกสัมภาระควรกระจายน้ำหนักออกไปยังสมาชิกในกลุ่มให้ทั่วถึง อย่ารวมไว้ที่ใครเพียงคนเดียว
เช่น ข้าวสาร สามารถแบ่งเป็นถุงเล็กๆ ขนาด ๕๕๐ กรัม (หุงได้พอดี ๑
หม้อสนาม กินได้ ๒-๓ คน)

สุดท้ายอย่าลืมเตาแคมปิ้ง
ไม่ว่าคนนำทางของคุณจะก่อไฟในป่าเก่งกาจเพียงใด แต่ถ้าไม่อยากอดข้าว
หรือ อยากจะจิบกาแฟหอมกรุ่นตอนเช้าตรู่อย่างสบายอารมณ์แล้วไซร้ เตาแก๊สแคมปิ้งขนาดกะทัดรัด
น้ำหนักไม่มาก สามารถช่วยคุณได้
การแบกเป้เดินป่าไปพักแรมกลางไพร
แม้จะไม่สะดวกสบายเหมือนการไปท่องเที่ยวกึ่งปิกนิกแบบคาร์แคมปิ้ง แต่มันจะทำให้คุณได้หวนคืนสู่ความดั้งเดิม
อันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพักผ่อนที่คุณอาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน

คุณจะยิ้มได้เมื่อคิดว่าเป้หนักอึ้งที่คอนอยู่
และเส้นทางรกเรื้อนี้ คือส่วนหนึ่งของการผจญภัย อย่ากังวลกับจุดหมายปลายทางมากเกินกว่าสิ่งที่กำลังสัมผัสในทุกก้าวที่ผ่านไป
การเดินตัวเปล่าๆ ไปไหนต่อไหน ใครๆ ก็ทำได้ แต่การเดินไปพร้อมกับอุปกรณ์เท่าที่จำเป็น
ใช้แรงกายของคุณเอง เหงื่อทุกหยด แลกมาซึ่งทุกๆ ก้าว ยิ่งเหนื่อยล้า
คุณจะยิ่งพบว่าธรรมชาติรอบตัวนั้นช่างงดงาม สายลมพลิ้วในยามบ่าย ช่างน่ารื่นรมย์เสียนี่กระไร
|