มองภูมิปัญญาพื้นบ้าน ผ่านคุตีข้าวของชาวเชียงใหม่
Bigger คุตีข้าว

     นับเนื่องมาเป็นเวลาถึงสามชั่วอายุคนแล้ว ที่ช่างสานคุ หมู่บ้านดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้รวมกลุ่มกันในช่วงปลายฝนต้นหนาวของทุกๆ ปี เพื่อช่วยกันสานภาชนะขนาดใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่า "คุตีข้าว" ในปริมาณตามความต้องการของชาวนา ที่จะมาซื้อหาเพื่อใช้ตีข้าวในแต่ละปี ให้แล้วเสร็จทันฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเริ่มประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงประมาณกลางเดือนธันวาคม 
     รูปทรงและขนาดของคุถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างเหมาะสม มีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศแบบภูเขา สลับพื้นที่ราบแบบภาคเหนือได้อย่างน่าทึ่ง ส่วนการสานคุนั้น นับว่ามีขั้นตอน และกรรมวิธีที่ชาญฉลาด แม้แต่การจัดการเรื่องแรงงานภายในกลุ่ม ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะยังอยู่ในลักษณะที่เรียกได้ว่า เป็นแบบ "ดั้งเดิม" คือใช้วิธีการร่วมแรงกันทำงานภายในกลุ่มให้แล้วเสร็จ โดยไม่มีการจ่ายค่าจ้างซึ่งกันและกัน เรียกว่า "เอามื้อ"
     งานของช่างสานคุจะแบ่งออกเป็น ๒ ช่วงคือ
     ๑. การเตรียมวัสดุ และอุปกรณ์
     ๒. การสานคุ

Bigger ๑. การเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ 
     วัสดุหลักสำหรับการสานคุคือตอกไม้ไผ่ การเตรียมตอกจะเริ่มที่บ้านของช่างแต่ละคน ในช่วงประมาณต้นเดือนสิงหาคม จนถึงต้นเดือนตุลาคม ให้ได้ปริมาณเพียงพอ ตามที่ช่างแต่ละคนกำหนดจะสานคุในปีนั้นๆ โดยใช้ไม้ไผ่ซางอายุประมาณ ๒ ปีเศษ เพราะหากใช้ไม้ไผ่อ่อนเกินไป มอดจะกินไม้ทำให้อายุการใช้งานสั้น และหากไม้ไผ่แก่เกินไปก็จะเปราะหักง่าย โดยแบ่งขนาดของตอกออกเป็น ๓ ขนาด คือ
     ๑.๑ ตอกขนาดเล็ก ช่างจะจักตอกปื้นส่วนผิว คือจักตามความกว้างของผิวไม้ไผ่ ให้ได้ความกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร ยาว ๘ ศอก หรือ ๔ เมตร ส่วนการเหลาตอกจะมีลักษณะเฉพาะคือ ให้หัวท้ายตอกทั้งสองด้านเรียวเล็ก และแบนลงกว่าส่วนกลางของตอก ในลักษณะเท่าๆ กันทุกเส้น คุหนึ่งใบใช้ตอกขนาดเล็ก ๑๐๐ เส้น
     ๑.๒ ตอกขนาดกลาง กว้างประมาณ ๑.๘ เซนติเมตรแต่สั้นกว่าขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๗ ศอก หรือ ๓.๕๐ เมตร การเหลาตอกขนาดกลางจะเหลาในลักษณะเดียวกับขนาดเล็ก คือหัวท้ายเรียวและแบนส่วนปลาย คุหนึ่งใบใช้ตอกขนาดกลาง ๑๐๐ เส้น 
     ๑.๓ ตอกขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๑.๘ - ๒ เซนติเมตร แต่สั้นลงอีก คือยาว ๖ ศอก หรือ ๓ เมตร การเหลาตอกขนาดใหญ่ต่างกับสองแบบแรก คือเป็นการเหลาให้เรียบสม่ำเสมอกันตลอดทั้งเส้น ไม่ต้องเรียวและแบนส่วนปลายเหมือนขนาดเล็ก และขนาดกลาง คุหนึ่งใบใช้ตอกขนาดใหญ่ ๑๐๐ เส้นเศษ
Bigger      การเหลาตอกทั้งสามขนาดให้มีลักษณะและความยาวที่ต่างกันนั้น ก็เพื่อผลต่อการนำไปสานในหลุมแม่แบบต่อไป ช่างสานคุจึงต้องใช้เวลานานในการเตรียมตอก บางครั้งอาจกินเวลาถึง ๓ เดือนก็ได้ เพราะคุหนึ่งใบต้องใช้ตอกถึง ๓๐๐ เส้นเศษ หากต้องการคุ ๑๐ ใบก็ต้องเตรียมตอกถึงกว่า ๓,๐๐๐ เส้น การเหลาตอกแต่ละเส้นต้องให้เรียบ ไม่มีเสี้ยน เพื่อจะได้ภาชนะที่เรียบและลื่นเมื่อนำไปตีข้าว
     เมื่อเหลาตอกเสร็จแล้ว ต้องนำออกผึ่งแดดอย่างน้อย ๓ วัน ดูผิวไม้ไผ่ให้ออกสีนวลขาว แล้วจึงนำไปรมควันโดยไม่ให้ไฟลุกอีก ๒ วัน ก่อนจะนำไปฉีดยากันแมลงแล้วเก็บไว้ในที่ร่ม เช่นใต้ถุนเรือน เพื่อรอการสานต่อไป
     ๑.๔ ไม้ประกบปากคุ นอกจากเส้นตอกทั้งสามขนาดดังกล่าวแล้ว ช่างแต่ละคนจะต้องเตรียมตอกส่วนผิว หน้ากว้างประมาณ ๗ เซนติเมตร ยาว ๒๐ ศอก หรือ ๑๐ เมตร อีก ๒ เส้น ต่อคุหนึ่งใบ เพื่อประกบปิดปากคุ ทั้งข้างนอกและข้างใน
     ๑.๕ ไม้พุทราหนาม ซึ่งคนเมืองเรียกว่า "ไม้บ่าตันขอ" เป็นพุทราป่าที่ขึ้นอยู่บนดอย เดิมช่างสานคุจะขึ้นไปตัดบนดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้มัดยึดปิดขอบส่วนบนสุดของคุ ปัจจุบันทางราชการห้ามตัด จึงหันมารับซื้อจากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย แทน ไม้พุทราหนามที่ใช้ต้องมีความยาวเท่ากับตอกเส้นใหญ่ ที่ใช้ประกบปิดปากคุ คือ ยาว ๒๐ ศอก หรือ ๑๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร
Bigger      ๑.๖ หวาย ขนาดเส้นกว้างประมาณ ๑/๒ เซนติเมตรไว้มัดยึดขอบปาก
     ๑.๗ แม่แบบคุ หลังจากเตรียมตอกไว้ได้พอตามความต้องการแล้ว ช่างทุกคนในกลุ่มจะมารวมกันที่บ้าน "สล่าเก๊า" หรือ "หัวหน้าช่าง" เพื่อช่วยกันสานคุ ทั้งนี้ก็เพราะคุตีข้าวเป็นภาชนะขนาดใหญ่ เส้นตอกก็หนา จึงต้องอาศัยแรงงานของช่างหลายคนช่วยกัน อีกทั้งยังต้องใช้แม่แบบที่เหมาะสม เข้าช่วยบังคับเส้นตอกให้โค้งไปตามรูปทรงที่ต้องการ  ช่างหนึ่งกลุ่มจะขุดหลุมแม่แบบหนึ่งหลุม เพื่อใช้ร่วมกันที่บ้านสล่าเก๊า 
     แม่แบบคุเป็นหลุมดินทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางปาก ๒๕๐ เซนติเมตร สูงตามแนวดิ่ง ๙๐ เซนติเมตร ลึกตามความลาดเอียง ๑๑๐ เซนติเมตร ส่วนก้นหลุมจะพูนให้เป็นเนินดินนูนป่องขึ้นมา เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ส่วนที่นูนขึ้นมานี้เรียกว่า "หมง" 
     เมื่อขุดหลุมดินได้รูปทรงดังกล่าวแล้ว ช่างจะนำโคลนก้นลำเหมืองมาเคลือบผิวแม่แบบ เพราะดินลำเหมือง เป็นดินที่ถูกทับถมด้วยใบไม้ใบหญ้ามานานปี มีลักษณะเหนียว เคลือบผิวแม่แบบหลุมดินได้เรียบเนียน ยืดหยุ่นตัวได้ดี ผิวไม่แห้งแตก รองรับการสานคุด้วยตอกขนาดใหญ่ได้
Bigger ๒. การสานคุ 
     ในวันแรกของการสาน ซึ่งมักจะเป็นช่วงเช้า สล่าเก๊าจะนำดอกไม้ธูปเทียน มาจุดบอกกล่าว และขอขมาต่อพระแม่ธรณีก่อนลงมือสาน แล้วเริ่มต้นด้วยการใช้ตอกขนาดเล็กที่สุดแต่มีขนาดยาวที่สุด สานให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม โดยเริ่มจากจุดศูนย์กลางขยายออกไปทั้งสี่ด้านๆ ละ ๒๕ เส้น รวม ๑๐๐ เส้น แล้วนำไปแช่น้ำนานประมาณ ๓ ชั่วโมง เพื่อให้ตอกดูดน้ำ จากนั้นนำไปลนไฟประมาณ ๕ นาทีเพื่อให้ตอกอ่อนตัว แล้วรีบนำไปวางลงในหลุมดินให้ส่วนผิวไม้อยู่ด้านบน ใช้ลูกดิ่งจับให้แผ่นตอกอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางก้นหลุมแม่แบบ แล้วช่วยกันใช้สากไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘-๑๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕๐ -๑๖๐ เซนติเมตร  ตำให้เส้นตอกอ่อนตัวแนบกับ "หมง" ช่วงที่ช่างลงไปตำแผ่นตอกไม้ไผ่สาน แล้วเดินวนรอบก้นคุนี้เรียกว่า "รำวง" ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะส่วนก้นคุมีลักษณะนูนป่องขึ้นมา จึงต้องใช้สากไม้ช่วยกันตำ ให้เส้นตอกอ่อนตัวแนบแม่แบบหลุมดินที่ขุดแต่งไว้  ก่อนที่จะสานตัวคุขึ้นมาสู่ปาก 
       หลังจากนั้นช่างจะใช้เส้นตอกขนาดกลาง สานต่อขึ้นมาอีกทั้งสี่ด้าน ด้านละ ๒๕ เส้น รวม ๑๐๐ เส้น แล้วจึงสานต่อส่วนปาก ซึ่งจะขยายบานผายออก ด้วยการใช้ตอกขนาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะกว้างเสมอกันตลอดทั้งเส้น โดยสานขึ้นมาเช่นเดียวกันกับตอกเส้นเล็ก และเส้นกลางทั้งสี่ด้าน ด้านละ ๒๕ เส้น รวม ๑๐๐ เส้น แต่การใช้ตอกทั้งสามขนาด สานขึ้นมาทั้งสี่ด้านในลักษณะแผ่นสี่เหลี่ยมจนถึงปากคุนั้น ไม่สามารถปิดพื้นที่ให้เต็มตามแม่แบบหลุมดินทรงกลมได้ โดยจะมีพื้นที่ส่วนมุมทั้งสี่ บริเวณใกล้ปากคุเหลือว่างอยู่ เพราะการสานคุ ซึ่งใช้วิธีการขยายออกจากจุดศูนย์กลางส่วนก้นคุ ในรูปทรงสี่เหลี่ยมสู่ปากหลุมรูปทรงกลมนั้น ทำให้เหลือพื้นที่ว่างทั้งสี่มุม จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเสริมตอกเส้นยืน แทรกเข้าไปในพื้นที่ที่ยังขาดอยู่ จนต่อเนื่องเป็นแผ่นผืนเดียวกันตลอดทั้งใบ
Bigger      ในการขัดสานเส้นตอกแต่ละเส้นให้เป็นลายอำนั้น ช่างจะต้องจัดเส้นตอกแต่ละเส้นให้แนบชิดกัน ด้วยการใช้ค้อนไม้ตอก "ทอย" คือ ลิ่มไม้ไผ่ด้ามเล็กๆ ทั้งนี้ก็เพื่อกันไม่ให้เมล็ดข้าวเล็ดลอดออกไปได้ เมื่อนำไปตีข้าว 
     เมื่อสานขึ้นมาจนถึงปากคุแล้ว ช่างจะใช้วงเวียนไม้ไผ่ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง กดที่จุดศูนย์กลางก้นคุ เพื่อขีดเส้นรอบวงรอบปากคุ เมื่อตัดส่วนเกินออกแล้ว หลังจากนั้นเป็นการเข้าขอบปากชั้นแรกแบบชั่วคราว เพื่อกันไม่ให้ตอกหลุด ก่อนที่จะยกขึ้นมาเข้าขอบปากให้แข็งแรงนอกหลุมแม่แบบ โดยการใช้ไม้เข้าขอบปากที่เตรียมไว้ (ขนาดกว้าง ๗ เซนติเมตร) สองเส้นประกบปิดขอบปากทั้งนอกและใน แล้วยกออกจากหลุมดิน มัดยึดขอบปากเป็นช่วง ช่วงละ ๑๒ เซนติเมตร จนรอบปากคุ ส่วนขอบปากบนสุดใช้ไม้พุทราหนาม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔ เซนติเมตร โค้งมัดปิดทับอีกชั้นหนึ่ง จะเพิ่มความแข็งแรงทนทานได้ดียิ่งขึ้น เพราะไม้พุทราหนามมีความเหนียว แข็งแรง ปรับตัวโค้งไปตามรูปทรงของปากคุได้ดี
  ภูมิปัญญาพื้นบ้านจากการสานคุ 
Bigger การทำแม่แบบหลุมดิน 

     การที่ช่างสานคุ หมู่บ้านดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ คิดสร้างแม่แบบสานคุ ด้วยการขุดหลุมดินเพื่อทำเป็นแม่แบบ ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง ต่อการคิดแก้ปัญหาการทำภาชนะจักสานขนาดใหญ่ขึ้นมาใช้ 
     ตามปกตินั้น ช่างจักสานมักจะใช้ภาชนะเก่า ที่มีรูปทรง และขนาดเดียวกันกับภาชนะที่ต้องการสานมาทำเป็นแม่แบบ เพื่อให้ง่ายต่อการบังคับวัสดุให้เป็นไปตามขนาด และรูปทรงที่กำหนดไว้ เช่นการสานกระบุงก็มักจะใช้กระบุงเก่า หากเป็นงอบหรือหมวก ก็อาจจะใช้ไม้กลึงให้มีรูปทรง และขนาดที่ต้องการ โดยมีวิธีการสานคือ วางเส้นตอกทาบลงบนแม่แบบแล้วสานขัดกัน พร้อมกับใช้มือกดบังคับเส้นตอก ให้แนบไปกับรูปทรง และขนาดของแม่แบบนั้นๆ
     แต่การสานคุกลับมีกรรมวิธีที่ต่างไป จากการสานภาชนะขนาดเล็กทั่วๆ ไป ทั้งนี้ก็เพราะคุมีขนาดใหญ่ เส้นตอกก็หนา และยาวเกินกว่าที่ช่างจะออกแรงใช้มือกดบังคับ ให้แนบไปกับแม่แบบ เหมือนกับการสานภาชนะขนาดเล็กได้ 

Bigger      ช่างสานคุได้เรียนรู้ปัญหา แล้วแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการคิดทำแม่แบบคุได้อย่างน่าทึ่ง โดยการขุดหลุมดิน แล้วลงไปสานในหลุมแม่แบบ เพื่อจะใช้หลุมดินซึ่งถูกขุด และแต่งผิวให้เรียบนั้นเป็นโครงที่นิ่ง บังคับเส้นตอกที่ช่างนำลงไปสานในหลุมดิน ให้ได้รูปทรงที่ต้องการ เพราะหลุมดินจะนิ่งและแน่น แต่ยืดหยุ่นได้ดี เมื่อมีการออกแรงตำเส้นตอกด้วยสากไม้ หรือการใช้ "ทอย" ตอกเส้นตอกให้แนบชิด และเรียบเนียนตลอดทั้งใบ ผิวของแม่แบบหลุมดิน เพียงแต่เกิดเป็นรอยเส้นตอกจากวิธีการสานดังกล่าว แต่จะไม่แตกร้าวหรือเสียรูปทรง 
     หลังจากการสานคุเสร็จแต่ละใบแล้ว ช่างก็จะแต่งผิวของแม่แบบคุให้เรียบเนียน และแน่นเหมือนเดิมทุกครั้ง ด้วยการใช้ค้อนไม้ทุบปรับแต่งผิวดินให้เรียบ เพื่อจะได้แม่แบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกใบ 
       จากขนาดและรูปทรงของคุตีข้าวดังกล่าว จึงทำให้หลุมดินมีความเหมาะสมต่อการสานคุตีข้าวได้ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุด โดยไม่สามารถทำแม่แบบสำเร็จรูป เช่นการหล่อแม่แบบซีเมนต์แทนได้ เพราะปูนที่แข็งตายตัว ไม่สามารถรองรับการสานด้วยเส้นตอกที่ใหญ่และหนา และในขั้นตอนการสานด้วยการใช้ทอยตอก และใช้สากตำแผ่นตอกนั้น แม่แบบซิเมนต์จะไม่ยืดหยุ่นตัวดังเช่นหลุมดิน การคิดทำแม่แบบหลุมดินในลักษณะดังกล่าว จึงถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาด ของช่างพื้นบ้านชาวเชียงใหม่อย่างแท้จริง
     ส่วนการคิดแก้ปัญหาของก้นภาชนะทรงกลม หรือก้นคุ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทรงตัว เมื่อนำไปวางในท้องนานั้น ช่างสานคุจะออกแบบ "หมง" คือส่วนก้นหลุมดินแม่แบบที่เป็นเนินดินกลมนูนป่องขึ้นมา เพราะแม่แบบหลุมดินรูปทรงดังกล่าว จะทำให้คุที่สานออกมามีเส้นวงกลมรอบก้นคุ ทำหน้าที่เป็นฐาน ทำให้คุนิ่ง ไม่โคลง และไม่เพียงแต่จะเป็นการแก้ปัญหา เรื่องความโค้งกลมของก้นภาชนะทรงกลมไปได้เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลดีต่อการทรงตัวด้วย ยิ่งกว่านั้น ส่วนที่นูนป่องขึ้นมานี้ ยังจะเป็นส่วนที่รับสัมผัสรวงข้าวเมื่อนำไปตีข้าว ทำให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวงได้ดีขึ้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่มีให้หมดไป และกลับได้ประโยชน์ อันเนื่องมาจากการคิดแก้ปัญหาที่มีมานั้น ให้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ตีข้าวในท้องนาต่อไป
Bigger ความสัมพันธ์ระหว่างการจักตอกกับการสานคุ
     การจักตอกและการเหลาตอกให้มีลักษณะที่ต่างกันของช่างสานคุ คือ ตอกขนาดเล็กที่สุดแต่ยาวที่สุด กับตอกขนาดกลางที่สั้นลง ซึ่งมีวิธีการเหลาให้ปลายเรียวแบนทั้งสองด้าน และตอกขนาดใหญ่ที่สั้นที่สุด และกว้างเสมอกันทั้งเส้นนั้น มีเหตุผลต่อการสานคุให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามรูปทรงที่ต้องการได้อย่างสมบูรณ์
     การสานคุจะเริ่มจากจุดศูนย์กลางคือก้นคุ ซึ่งเป็นส่วนที่ลึกที่สุดและเล็กที่สุด ของภาชนะด้วยการสานขัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ขยายออกไปทั้งสี่ด้าน เส้นตอกที่เริ่มวางขัดกันในจุดดังกล่าว จึงต้องทำหน้าที่เป็นเส้นยืนหลัก ที่พาดจากขอบด้านหนึ่งผ่านศูนย์กลางก้นคุ มายังขอบอีกด้านหนึ่ง ซึ่งถือเป็นช่วงที่ยาวที่สุด ช่างจึงต้องจักตอกให้ยาวที่สุดตามไปด้วย ส่วนเหตุผลที่ต้องจักให้เล็กที่สุด ก็เพราะส่วนก้นคุเป็นส่วนที่เล็กที่สุด หรือแคบที่สุด จึงต้องใช้เส้นตอกที่เล็กมากกว่า เส้นตอกที่จะใช้สานต่อส่วนที่สูงขึ้น และบานผายออก เพราะจัดเส้นตอกง่าย และชิดกันตลอดความยาวของเส้นตอกโดยไม่เกยกัน ส่วนการเหลาตอกให้เรียว และแบนปลายทั้งสองด้าน ก็เพราะคุตีข้าวมีลักษณะโค้งกลมผายออก โดยเฉพาะจากส่วนก้นคุขึ้นมาสู่ส่วนกลางคุ การเหลาตอกด้วยวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้จัดเส้นตอกอ่อนโค้ง แนบแม่แบบหลุมดินทรงกลมได้ดีตลอดเส้นยืนทั้งสี่ด้าน
Bigger      เมื่อสานสูงขึ้นมา จึงใช้ตอกขนาดกลาง ซึ่งเหลาในลักษณะเดียวกัน แต่ขนาดสั้นกว่าสานต่อขึ้นมาอีก เพราะระยะห่างจากขอบคุด้านหนึ่ง มายังอีกด้านหนึ่งจะเริ่มสั้นลง ตอกขนาดกลางที่เหลาในลักษณะเรียวปลาย และแบน ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกันกับตอกขนาดเล็กคือ จะช่วยให้เส้นตอกโค้ง แนบรูปทรงของแม่แบบหลุมดินทรงกลมได้ดี ไม่ห่างและไม่เกยกัน
     ส่วนบริเวณที่สูงขึ้นมาใกล้ปากคุ ช่างจะใช้ตอกขนาดใหญ่ที่สุดและสั้นที่สุด แต่กว้างเสมอกันตลอดเส้นสานต่อขึ้นมา เหตุผลก็เพราะส่วนปากคุนั้นจะบานผายออก ความโค้งและความลาดเอียงลดน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องใช้เส้นตอกปลายเรียวแบน ส่วนความยาวของเส้นตอกที่สั้นลง ก็เพราะระยะห่างจากขอบคุด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งสั้นลง จึงใช้ตอกเส้นใหญ่แต่สั้น สานขึ้นจนถึงขอบปากทั้งสี่ด้าน ส่วนมุมคุทั้งสี่ที่ว่างและยังขาดเส้นยืนอยู่ ช่างจะเสริมตอกในช่วงที่ตอกเริ่มห่าง แล้วสานเสริมต่อขึ้นไปให้เต็มพื้นที่ความโค้งของคุจนถึงขอบปาก ถือเป็นการคิดแก้ปัญหา เรื่องการใช้เส้นตอกสานขัดกัน ให้มีลักษณะขยายออกเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมทั้งสี่ด้าน ให้ต่อเป็นแผ่นในรูปทรงกลม ได้อย่างไม่เป็นปัญหาต่อรูปทรงของคุตีข้าว
  หลักการทำงานและการแบ่งผลงานของช่างสานคุ 
  หลักการทำงานของช่างสานคุ 
     การสานคุตีข้าว เป็นงานที่ต้องใช้แรงงาน มากกว่าการสานภาชนะจักสานอื่นๆ ช่างแต่ละคน ไม่สามารถสานคุทั้งใบให้แล้วเสร็จด้วยตัวเองได้  เพราะคุมีขนาดใหญ่ รูปทรงโค้ง เส้นตอกที่ใช้สานก็มีขนาดใหญ่ กรรมวิธีการสานที่มีลักษณะเฉพาะ และต้องใช้ผู้ชายที่มีกำลัง พอที่จะบังคับเส้นตอกได้ดี ลงแรงช่วยกันครั้งละหลายๆ คน 
     การสานคุจึงนำไปสู่การรวมกลุ่มกันของช่าง เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยไม่มีการว่าจ้าง หรือจ่ายค่าแรงเป็นเงินให้กับเพื่อนร่วมกลุ่ม วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการแบบดั้งเดิม หรือแบบโบราณที่สังคมชนบททั่วไปคุ้นเคยนั่นเอง
     สมาชิกของช่างสานคุจะอยู่ประมาณ ๔-๖ คนต่อกลุ่ม แต่ละคนจะเริ่มทำงานในส่วนของตนเอง ด้วยการเตรียมตอกให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ ช่วงนี้จะกินเวลานานประมาณ ๓ เดือน เมื่อเตรียมตอกเสร็จแล้ว ยังต้องตากแดดให้แห้ง และฉีดยากันแมลง ก่อนนำไปตอกทั้งหมดไปรวมกันสานที่บ้านสล่าเก๊า 
Bigger      ในช่วงการสานคุ ช่างทุกคนต้องมาร่วมกันทำงานที่บ้านสล่าเก๊า ช่างจะขุดหลุมแม่แบบไว้ใช้ภายในกลุ่ม กลุ่มละหนึ่งหลุม การที่ช่างแต่ละกลุ่มต้องการหลุมแม่แบบเพียงหนึ่งหลุม ก็เพราะเมื่อลงมือสานคุ จะต้องใช้ช่างทั้งหมดที่มีอยู่ในกลุ่มช่วยกัน โดยเฉพาะในขั้นตอนที่นำแผ่นตอกที่สานไปลนไฟ แล้วรีบนำลงหลุมแม่แบบเพื่อสานต่อนั้น ก่อนสานช่างจะต้องช่วยกันจัดแผ่นตอกให้ได้ศูนย์กลาง แล้วนำสากไม้ช่วยกันตำเส้นตอกในลักษณะการเดินวนรอบก้นคุ ซึ่งเรียกว่า "รำวง" เพื่อให้แผ่นตอกแนบกับก้นคุหรือ "หมง" ช่วงนี้จำเป็นต้องใช้แรงงานของช่างหลายคน 
     การสานคุให้แล้วเสร็จจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหลุมดินแม่แบบ แต่อยู่ที่การร่วมแรงร่วมใจกันทำงานนั้น ให้แล้วเสร็จตามขั้นตอน เพราะเมื่อสิ้นสุดการสานคุในหลุมดินแล้ว จะต้องติดขอบปากคุให้สมบูรณ์ก่อนนำออกจำหน่าย การสานคุจึงต้องหมุนงานกันทำตลอดฤดูกาลสาน เช่นบางคนอาจจะสานให้เป็นแผ่น รอไว้ก่อนนำลงไปสานต่อในหลุมแม่แบบ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งลงสานต่อในหลุม และอีกส่วนหนึ่งติดขอบปากคุอยู่ข้างบน แต่ถ้าช่วงใดจะต้องลงแรงช่วยกันในหลุมดิน ก็ต้องลงไปช่วยกันก่อน แล้วจึงแยกกันทำส่วนอื่นต่อไป หมุนเวียนกันเช่นนี้ จนหมดตอกที่ช่างแต่ละคนเตรียมไว้ในแต่ละปี
Bigger การแบ่งผลงานของช่างสานคุ
     จากวิธีการร่วมแรงกันทำงานของช่างสานคุ โดยไม่รับค่าจ้างเป็นเงินนั้น นำมาสู่วิธีการจัดแบ่งผลงานกันภายในกลุ่มช่าง ด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมอีกเช่นกัน กล่าวคือเมื่อช่างแต่ละคนได้เตรียมเส้นตอกไว้พร้อมแล้ว ก็มาช่วยกันสานคุแต่ละใบจนแล้วเสร็จ ตามปริมาณของตอกที่ทางกลุ่มได้เตรียมไว้ทั้งหมดในแต่ละปี การแบ่งผลงานของช่าง จะเป็นการรับคุ ในจำนวนที่เตรียมตอกมาให้เพื่อนร่วมกลุ่มช่วยกันสานจนแล้วเสร็จ เพื่อนำกลับไปจำหน่ายให้กับผู้มารับซื้อถึงบ้านต่อไป 
       การตอบแทนซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นจากแต่ละคนได้มาร่วมแรง หรือ "เอาแรง" ให้แก่กันและกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่สังคมไทยเคยปฏิบัติสืบต่อกันมาเนิ่นนาน แต่นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที และคงจะหายไปในสังคมยุคปัจจุบัน ที่ใช้เงินเป็นตัวกลาง เพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานหรือซื้อขายสิ่งของ 
     การจัดแบ่งผลงาน คือคุตีข้าวที่ช่วยกันสานแทนการจ่ายเงินค่าจ้างนั้น ถือเป็นการดำรงอยู่ของความผูกพัน ระหว่างคนภายในกลุ่มสังคม ที่มีวิถีชีวิตที่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ที่ช่วยกันคิดและช่วยกันทำ ดังตัวอย่างจากช่างสานคุ หมู่บ้านดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ เคยเป็นวิถีชีวิตของสังคมพื้นบ้านไทยในอดีต ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจและอบอุ่น เกิดพลังความรัก ความสามัคคี ปลูกฝังให้คนเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว หากสังคมใดยังดำรงวิถีชีวิตที่งดงามเช่นนี้อยู่ ไม่เพียงแต่การร่วมกันทำกิจกรรมเล็กๆ เท่านั้น ที่จะสำเร็จลงได้ แต่กิจกรรมใหญ่ๆ ก็สามารถสำเร็จลงได้โดยไม่ยากนัก
Bigger การตีข้าวด้วยคุ กับผลผลิตที่ได้รับ
     การตีคุจะต้องเตรียมการก่อนตีง่ายๆ  คือ นำคุไปวางใกล้กองข้าวที่เกี่ยวแล้วเก็บมาวางซ้อนกันไว้ นำ"สาดกะลา" คือเสื่อไม้บงหรือไม้เฮี้ย สานด้วยลายสองขนาดใหญ่ประมาณ ๑๘๐x๒๕๐ เซนติเมตร นำมาปูตามขวางชิดก้นคุด้านตรงข้ามกับคนตีข้าว เพื่อรองรับเมล็ดข้าว ที่อาจจะกระเด็นออกนอกคุ ในช่วงการยกฟ่อนข้าวขึ้นตี
     การตีคุจะต้องมีไม้คีบฟ่อนข้าว ซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขนาดพอเหมาะมือ คือส่วนหัวไม้มีขนาด ๓ x ๓ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ส่วนด้ามจับมีลักษณะเรียวและแบนลงคือ ๒ x ๒.๒๕ เซนติเมตร เจาะส่วนหัวไม้เพื่อใช้เชือกหนังควาย หรือเชือกประเภทอื่นๆ รวมทั้งโซ่เหล็กขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ผูกโยงส่วนหัวไม้ทั้งสอง ด้ามหนึ่งผูกห่างจากส่วนหัวไม้ ๔ เซนติเมตร อีกด้ามหนึ่งผูกห่างจากส่วนหัวไม้ ๒๐ เซนติเมตร เพื่อให้สะดวกกับการเกี่ยวรัดฟ่อนข้าว ผู้ตีจะยืนชิดขอบปากคุ ซึ่งจะอยู่สูงประมาณโคนขา แล้วยกไม้ที่คีบฟ่อนข้าวขึ้นตี โดยกะให้ส่วนรวงข้าวกระทบ "หมง" ซึ่งเป็นส่วนก้นคุที่นูนป่องขึ้นมา จะทำให้เมล็ดข้าวหลุดร่วงเร็วขึ้น 
     แม้การตีคุจะสามารถตีพร้อมกันได้ถึงสี่คน แต่ถ้าจะให้เหมาะควรตีเพียงสองคนต่อคุ หนึ่งใบ เพื่อที่จะสลับกันเข้า-ออกด้านเดียว อีกด้านจะได้ปูสาดกะลา รองรับเมล็ดข้าวที่กระเด็นออกนอกคุ ในช่วงการยกฟ่อนข้าวขึ้นตี การตีข้าวด้วยคุ จึงเหมาะกับจำนวนสมาชิกที่มีในครอบครัว แต่หากต้องการตีข้าวให้เสร็จเร็วขึ้น ก็สามารถเพิ่มจำนวนคนตีและคุให้มากขึ้นได้
Bigger      เมื่อตีข้าวจนหมดแต่ละกองแล้ว จึงทำการเก็บเมล็ดข้าวเปลือกออกจากคุ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายคุไปตียังกองอื่นต่อไป  การเก็บข้าวจะเริ่มจากการนำสาดกะลามาปูให้ชิดก้นคุ โดยปูยาวไปตามทางลมในแต่ละวัน วิธีการทดสอบทิศทางลมทำได้ง่ายๆคือ โปรยข้าวขึ้น แล้วสังเกตข้าวลีบที่ลอยไปตามลม แล้วให้คนตักข้าวเข้าไปยืนในคุหนึ่งคน อีกหนึ่งหรือสองคนยืนข้างสาด คนตักข้าวจะใช้พลั่วไม้ ขนาดประมาณ ๒๐x๔๐ เซนติเมตร ด้ามยาวประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร ตักเมล็ดข้าวค่อยๆ สาดให้เป็นเส้นยาวไปตามทิศทางลมในแต่ละวัน ให้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์เท่านั้นตกลงที่สาดกะลา ส่วนข้าวลีบจะลอยออกไปข้างนอกสาด โดยมีคนพัดข้าวลีบ ช่วยพัดส่งอีกแรง ด้วยการใช้พัดไม้ไผ่สาน รูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๕ เซนติเมตร เรียกว่า "วี" หรือ "ก๋า" ช่วยพัดให้เหลือเพียงเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ ซึ่งชาวเหนือเรียกว่า "ข้าวเต้ง" เท่านั้นที่ตกลงมาที่สาด ทำอย่างนี้จนหมดข้าวในคุ ก็จะเคลื่อนย้ายคุไปตียังกองอื่นต่อไป
     ข้าวที่ได้จากการตีด้วยคุนี้ จะได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์และสะอาด เพราะการตีข้าวในคุจะไม่มีกรวด หิน ดิน ทรายปนเปื้อน เหมือนกับการตีตาลาง และการตีแคร่ซึ่งข้าวต้องตกลงกับพื้น แม้จะใช้มูลควายทาเคลือบผิว แต่ก็มีโอกาสที่กรวดและดินจะปนได้ ส่วนขั้นตอนการสาดข้าวออกจากคุ โดยใช้กระแสลม และคนช่วยพัดข้าวลีบออกไปด้วยนั้น จะช่วยให้ได้ข้าวที่สมบูรณ์เท่านั้น
 Bigger การเคลื่อนย้ายคุตีข้าว
     การตีข้าวด้วยคุ สะดวกและง่าย เพราะสามารถเคลื่อนย้ายคุตีข้าวไปยังกองข้าว วิธีการเคลื่อนย้ายคุทำได้หลายวิธีคือ
     ๑.ยกคนเดียว 
     วิธีการยกและเคลื่อนย้ายคุ สามารถทำได้ด้วยคนเพียงคนเดียว วิธีการคือ คว่ำคุครอบศีรษะ ใช้สองมือช่วยพยุง แล้วเดินนำไปวางยังจุดที่ต้องการใช้งาน การย้ายคุเพียงคนเดียวนี้ อาจจะใช้ท่อนไม้ยาวประมาณเมตรเศษ ๆ เข้าไปขัดรองภายในเพื่อดันให้คุสูงขึ้น เป็นการเพิ่มระยะการมองเห็นให้กว้าง และไกลกว่าการยกครอบศีรษะโดยตรง ซึ่งจะทำให้ขอบคุโค้งต่ำลงมาประมาณโคนขาของผู้ยก ทำให้รัศมีการมองแคบ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเคลื่อนย้าย เพราะท้องนาหลังการเก็บเกี่ยวจะโล่ง คนทำนาจะคุ้นเคยกับพื้นที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว การยกเคลื่อนย้ายเพียงคนเดียว ถือเป็นความสะดวก เพราะใช้แรงงานผู้ชายเพียงคนเดียวก็สามารถยกคุได้
 Bigger      ๒.ยกสองคน 
     การยกคุสองคน มีวิธีการง่ายๆ  คือ ช่วยกันจับขอบคุคนละข้าง (สามารถทำได้ทั้งคว่ำและหงายคุ) ยกเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ต้องการ  การยกคุเคลื่อนย้ายด้วยวิธีนี้ ทำให้ผู้ยกเบาแรงขึ้น เพราะช่วยกันแบ่งน้ำหนักให้เบาลง ในส่วนของการมอง ก็จะสะดวกกว่าการยกด้วยคนเพียงคนเดียว
     จะเห็นได้ว่า การที่คุตีข้าวสามารถยกเคลื่อนย้ายได้ เหมาะกับสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นอย่างยิ่ง เพราะคุสามารถแก้ปัญหา เรื่องพื้นที่ซึ่งแคบ หรือลาดเอียงได้ นอกจากนั้น การตีคุยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการมัดข้าว และการขนย้ายข้าวมากองรวมที่เดียวกันได้ เพราะถ้าใช้วิธีการตีข้าวแบบตาลาง และตีแคร่ จะต้องมัดข้าวโดยเฉลี่ย ๗๕๐-๘๐๐ ฟ่อน /ไร่ ต้องใช้ตอก และแรงงานเพิ่มขึ้น การหาบข้าวมากองรวมกัน ก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้นอีกด้วย
     แต่การตีคุไม่ต้องมัดข้าว และหาบข้าวมากองรวมที่เดียวกัน แต่กลับเป็นการยกคุไปหากองข้าว และหากไม่รีบร้อนที่จะต้องจ้างหรือขอแรงผู้อื่น การตีคุยังสามารถใช้แรงงานคนที่มีอยู่ในครอบครัว เพียงสองสามคนช่วยกันตีจนแล้วเสร็จได้ แม้ว่าจะใช้เวลานานกว่าการตีตาลาง ซึ่งปัจจุบันมักจะเป็นการจ่ายค่าจ้าง แต่ผลผลิตที่ได้รับจากการตีคุ กลับได้ผลดีและสมบูรณ์ เนื่องจากกรรมวิธีการตี และการเก็บผลผลิตต่างกันนั่นเอง
  วิธีการเก็บ บำรุง รักษา และซ่อมแซมคุตีข้าว
Bigger      เนื่องจากคุเป็นภาชนะจักสานขนาดใหญ่ ที่ใช้ตีข้าวเฉพาะในฤดูเก็บเกี่ยว ในระหว่างช่วงฤดูอื่นที่ไม่ได้ใช้งาน จึงต้องหาวิธีการเก็บรักษาให้คงสภาพ เพื่อให้คุมีอายุการใช้งานได้นานปี หรือถ้าหากเกิดการชำรุดขึ้น ก็สามารถซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด แล้วนำกลับไปใช้งานต่อได้อีก การบำรุงรักษาและซ่อมแซมคุ จะต้องทำทั้งก่อนการสาน และหลังจากสานเสร็จ รวมถึงหลังการใช้แต่ละครั้ง โดยมีวิธีการและลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้
ระยะก่อนการสานคุ
     จะเริ่มตั้งแต่ช่วงการเตรียมตอก ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ช่างไม่เพียงแต่จะต้องจักตอกให้ได้จำนวนตามที่ต้องการเท่านั้น แต่ยังต้องนำตอกออกผึ่งแดด รมควันกันแมลง ใช้ยาฆ่าแมลง แล้วนำไปเก็บในที่ร่มเช่นใต้ถุนเรือน หรือเก็บในอาคารที่กันความชื้น ป้องกันไม่ให้แมลงไปทำลายตอกไม้ไผ่ ถ้าไม่เตรียมการในส่วนนี้ คุที่สานด้วยความเหนื่อยยาก จะมีอายุการใช้งานสั้นกว่าที่ควร
Bigger ระยะการใช้งาน
     เมื่อนำคุที่ช่างสานเสร็จแล้วไปสู่การใช้งานของเกษตรกรแต่ละราย เจ้าของจะต้องเก็บรักษาคุ ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพราะประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น แมลงชุกชุม ซึ่งเป็นตัวการทำลายไม้ไผ่ให้ผุได้ไวยิ่งขึ้น วิธีการเก็บรักษาคุ จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานออกไปได้ วิธีการหลักๆ คือ เก็บให้พ้นแดดและฝน รวมทั้งกันแมลงที่จะไปกัดกินไม้ไผ่ด้วย
     ในช่วงของการตีข้าวในท้องนา ซึ่งมีระยะเวลาในการใช้งานไม่นานนัก ส่วนใหญ่เจ้าของคุมักจะทิ้งคุไว้ในท้องนา ด้วยวิธีการคว่ำคุปิดกองข้าว ที่เกี่ยวกองไว้รอการตี เป็นการกันความชื้นจากหมอก ที่จะลงจับกองข้าวและผิวคุด้านใน และหากมีฝนหลงฤดูตกลงมา ก็จะช่วยกันน้ำฝนให้กับข้าวที่เกี่ยวมากองไว้อีกทางหนึ่งด้วย ทำอย่างนี้จนตีข้าวเสร็จ จึงนำคุกลับมาเก็บที่บ้าน 
  ระยะหลังการใช้งาน
     หลังการเก็บเกี่ยวและการใช้งานตีข้าวในท้องนาแล้ว การเก็บคุเพื่อรอใช้งานในปีหน้านี้เอง ที่มีส่วนสำคัญต่อการทำให้คุชำรุดหรือคงสภาพที่ดี 
     ก่อนที่จะนำคุไปเก็บ เจ้าของคุมักจะนำคุไปรมควันไฟเพื่อไล่ความชื้นที่เกิดขึ้น เพราะการนำออกไปใช้ตีข้าวกลางท้องนาในฤดูหนาว ที่มีหมอกลงจับคุทำให้เกิดความชื้น ซึ่งเป็นตัวการทำลายไม้ไผ่ให้ผุไวยิ่งขึ้น เพราะเป็นแหล่งอาศัยของแมลง ที่จะมากัดกินไม้ไผ่ การรมควันคุหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ไม่เพียงแต่จะไล่ความชื้นทำให้คุมีสภาพคงทนเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสวยงามตามธรรมชาติ ของเส้นตอกที่นำมาขัดสาน ทำให้คุมีสีเข้ม มันวาวอีกด้วย
Bigger วิธีการเก็บคุหลังการใช้งาน 
     ๑. เก็บไว้ใต้ถุนเรือน 
     เกษตรกรมักจะเก็บคุไว้ใต้ถุนเรือนพักอาศัย หรือใต้หลองข้าว (ยุ้งข้าว) เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและ สะดวก ถ้าบ้านหลังใดมีเสา หรือแผ่นกระดานอยู่ใต้ถุนเรือน ก็สามารถใช้เป็นฐานรองรับคุได้เลย แต่หากไม่มีก็อาจจะหาท่อนไม้มาวางเป็นฐานรอง นำคุมาวางคว่ำไว้ หรือถ้าต้องการยกคุให้อยู่สูง ลมพัดผ่านได้ดียิ่งขึ้น ก็อาจจะตีไม้ยึดเสาเรือนทำเป็นไม้คร่าวแบบง่าย ๆ แล้วนำคุมาวางคว่ำไว้บนนั้น
     การเก็บคุไว้ใต้ถุนเรือนอีกวิธีหนึ่ง คือใช้เชือกมัดกับขอไม้ไผ่ เกี่ยวกับขอบคุสี่มุม ผูกแขวนไว้ใต้ถุนเรือน การเก็บคุด้วยวิธีนี้แม้จะเป็นวิธีง่ายๆ แต่ก็จะป้องกันและรักษาคุ ให้พ้นแดดและฝนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งลมพัดผ่านได้ตลอดเวลา ทำให้คุไม่ชื้นหรือแห้งจนเกินไป

     ๒. เก็บไว้ในโรงเก็บคุ 
     การสร้างโรงเก็บคุ เจ้าของมักจะสร้างเป็นอาคารโถงอย่างง่ายๆ ขนาดเล็กๆ มีเสาสี่ต้น หลังคาจั่ว กว้างพอที่ชายคาจะคลุมคุ เพื่อป้องกันแดดฝนได้ ความสูงพอพ้นศีรษะ ตีไม้ยึดเสาช่วงใต้หลังคา ทำเป็นชั้นคว่ำคุ

     ๓. เก็บไว้บนขื่ออาคาร 
     ในกรณีที่เจ้าของคุมีอาคารเปิดโล่ง มีพื้นที่ว่างระหว่างขื่อ และหลังคาซึ่งสูงพอที่จะคว่ำคุได้ ก็สามารถใช้เป็นที่เก็บคุได้ดีเช่นกัน

     ๔. เก็บไว้บนหลองข้าว (ยุ้งข้าว)
     โดยทั่วไป หลองข้าวภาคเหนือมักมีระเบียงรอบ ชายคาปิดคลุม จึงมีที่ว่างพอที่จะเก็บคุได้ วิธีการง่าย ๆ คือยกคุตั้งพิงฝายุ้งข้าวไว้
     นอกจากนี้ อาจจะพบเห็นวิธีการเก็บคุง่ายๆ เช่น เก็บไว้ใต้ต้นไม้ หรือคว่ำไว้บนกองไม้กลางลานบ้าน แล้วนำสังกะสีมาปิดพอช่วยกันแดดกันฝนได้บ้าง แต่วิธีนี้จะทำให้คุชำรุดไว เนื่องจากโดนแดด และฝนมากเกินไป
     วิธีการเก็บคุเพื่อเก็บรักษาให้คงสภาพที่ดี ควรวางคว่ำหรือแขวน ให้ขอบคุรับน้ำหนักเฉลี่ยลงอย่างสม่ำเสมอทั้งใบ เพราะส่วนขอบคุจะแข็งแรง รองรับแรงกดทับได้ดี หากเก็บคุโดยการตั้งพิงฝาผนังไว้  น้ำหนักจะกดลงที่เดียว ทำให้คุเสียรูปทรงบิดเบี้ยวไปได้ 
  การซ่อมแซมคุ
Bigger      หากใช้ไปนานๆ แล้วคุเกิดการชำรุดเสียหาย ก็สามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานต่อได้ บริเวณที่คุมักจะชำรุดมีสองจุดคือ ส่วนของ"หมง" หรือก้นคุ และส่วนขอบคุซึ่งใช้ตอกมัดยึด

หมงหรือก้นคุ
     หมงหรือก้นคุ มักจะเกิดการสึกกร่อนได้ง่าย ตามระยะเวลาใช้งาน เพราะเป็นส่วนรับการสัมผัส เมื่อตีข้าวมากกว่าส่วนอื่น หากเกิดการชำรุดบริเวณนี้ เจ้าของคุมักจะนำกลับมาให้ช่างสานซ่อมให้ วิธีการซ่อมคือใช้ตอกสานลายอำ ให้มีขนาดโตกว่ารอยชำรุด แล้วนำมาปะติด ก็จะยืดอายุการใช้งานของคุออกไปได้อีก

ขอบคุ
     ขอบคุที่ชำรุด มักจะเป็นส่วนเส้นหวายที่มัดยึดขอบคุ เพราะหวายมีขนาดเล็กกว่าตอกไม้ไผ่ และขอบไม้บ่าตันขอมาก หากขาดหรือหลุดไป เจ้าของคุก็สามารถซ่อมแซมด้วยตนเองได้ หรืออาจจะนำมาให้ช่างสานคุซ่อมแซมให้
     อายุการใช้งานของคุขึ้นอยู่กับการบำรุงและการเก็บรักษา ของผู้ใช้งานแต่ละคน หากใช้แล้วทิ้งตากแดดตากฝน ก็อาจจะใช้งานได้เพียง ๕-๖ ปี แต่ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดี ก็จะยืดอายุการใช้งานของคุออกไปได้นานถึง ๑๕ ปี
  ปริมาณการใช้คุเพื่อตีข้าวในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต
 Bigger      ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวของภาคเหนือ ซึ่งตกราวปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงกลางเดือนธันวาคมนั้น ในปัจจุบัน เรายังสามารถพบเห็นการตีข้าวด้วยคุ กระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะรอบๆ ตัวเมืองเชียงใหม่ ในเขตอำเภอหางดง สันกำแพง แม่แตง แม่ริม รวมทั้งบางส่วนของจังหวัดลำพูน ผู้ที่ยังคงใช้คุตีข้าวดูจะมีเหตุผลในการใช้ว่าไม่ต้องมัดข้าว ไม่ต้องหาบข้าวมากองรวมที่เดียวกัน ตีง่าย สะดวก ไม่ต้องเตรียมพื้นที่ให้ยุ่งยาก ได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ และสะอาด ใช้เสร็จแล้วเก็บรักษาไว้ใช้ในปีต่อไปได้อีก แต่สำหรับกลุ่มคนที่ไม่เคยใช้คุมาก่อน ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการใช้คุตีข้าวเพิ่มขึ้น การใช้คุตีข้าวในหมู่ชาวนาเชียงใหม่ ปัจจุบันมีแต่จะลดน้อยลงไป ด้วยสาเหตุหลักดังต่อไปนี้
๑. พื้นที่การผลิตข้าวลดลง
     จากการศึกษาพื้นที่ทำนา ซึ่งใช้คุตีข้าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ กล่าวคือที่ดินมีราคาสูง เช่น บริเวณอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอหางดง อำเภอสารภี อำเภอสันป่าตอง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอเมืองลำพูน เป็นต้น เมื่อมีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองที่ดินจากเจ้าของเดิม ซึ่งเป็นเกษตรกรทำนา มาสู่ผู้ประกอบการอื่น เช่น สร้างบ้านจัดสรร ร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม ฯลฯ จึงเป็นแรงส่งให้การใช้คุตีข้าวลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเจ้าของที่ดิน ที่กำลังทำนาอยู่ก็กล่าวถึงปัญหานี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการทำนาสูง  แรงงานหายาก และราคาแพง เจ้าของที่ดินที่อายุมากแล้วไม่สามารถทำนาต่อไปได้ และไม่มีลูกหลานจะทำนาต่อ จึงมักจะขายที่ดินให้กับผู้ประกอบการอื่น เพื่อนำที่ดินไปลงทุนทำการค้าในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนพื้นที่ซึ่งเคยทำนาต้องเปลี่ยนหน้าที่ไป ทำให้คุพลอยหมดหน้าที่ตามไปด้วย
 Bigger ๒. คุมีอายุการใช้งานยาวนาน 
     คุเป็นภาชนะจักสานขนาดใหญ่ หากเก็บรักษาให้ดี จะมีอายุการใช้งานได้ยาวนานถึง ๑๕ ปี หรือถ้าหากรักษาไม่ดีก็ยังสามารถใช้งานได้อย่างน้อย ๕-๖ ปี เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนคุบ่อยๆ
๓. เกิดวัสดุแบบใหม่ และใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยการผลิต
     ลักษณะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตร ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ไม่เร่งรีบ ผู้คนให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มาสู่สังคมแบบอุตสาหกรรม ที่มีการใช้เครื่องจักร และเครื่องทุ่นแรงเข้ามาแทนที่แรงงานคน ค่าแรงเริ่มสูงขึ้น การเสียสละช่วยเหลือซึ่งกันและกันเริ่มหมดไป ทำให้ผู้ทำการเกษตร นำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำนาด้วยในหลายขั้นตอน เช่น การไถก็ใช้รถไถแบบเดินตาม แทนการใช้ควาย ในช่วงการตีข้าว ก็ใช้เครื่องโม่เข้ามาแทนการตีข้าว เป็นต้น แต่หากรายใดยังใช้คุในช่วงการตีข้าวอยู่แล้ว คุเกิดชำรุดไม่สามารถซ่อมแซมได้ เจ้าของที่นามักจะไม่ซื้อหาคุใหม่มาใช้ต่อ แต่จะเปลี่ยนไปใช้วิธีตีแคร่แทน โดยนำผ้าพลาสติกผืนใหญ่ ซึ่งหาซื้อได้ตามท้องตลาด มาปูยังจุดที่เกี่ยวข้าวกองไว้ แล้วนำพื้นแคร่มาวางรองแล้วตีข้าว เหตุผลคือประหยัดรายจ่าย และเวลา ไม่ต้องซื้อคุใหม่ ตีข้าวได้เช่นเดียวกัน
     หากย้อนดูประวัติการผลิตคุตีข้าว ที่หมู่บ้านดอนแก้ว อำเภอสารภี เชียงใหม่ จะพบว่า มีการผลิตคุตีข้าวที่นี่มาแล้วอย่างน้อยสามชั่วอายุคน จากคำบอกเล่าของลุงสม หลวงพล อายุ ๖๓ ปี ซึ่งเป็นช่างรุ่นที่สาม ซึ่งฝึกการสานคุมาจากพ่อ ซึ่งเรียนต่อจากปู่อีกทีหนึ่ง 
       ในอดีตเมื่อการทำนายังเป็นอาชีพหลักของชาวเหนืออยู่นั้น หมู่บ้านดอนแก้วมีหลุมแม่แบบสานคุถึงเก้าหลุม ปัจจุบันเหลือเพียงหลุมเดียว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ มีคุที่สานจากบ้านลุงสม จำนวน ๒๒ ใบ มาในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ลดลงเหลือเพียง ๖ ใบ และหยุดไประหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๑ เพราะแม้จะมีการทำนาอยู่ แต่เกษตรกรนิยมใช้ผ้าพลาสติกปูรองตีแทน และสำหรับบางราย ก็จะใช้เครื่องโม่แทนการตีข้าวด้วยแรงงานคน โดยให้เหตุผลว่า กำหนดค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน ไม่บานปลาย เพราะจ่ายค่าจ้างในอัตราที่ตกลงกัน ตายตัวด้วยการใช้ถังตวง แต่ถ้าขอแรงมาช่วยกันหรือ"เอามื้อ" หรือแม้แต่ใช้วิธีการจ่ายเงินค่าจ้างรายวัน ก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูเป็นอาหาร และเหล้ายาเพิ่มเติมหลังเสร็จงาน ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้นกว่าการใช้เครื่องจักร ส่วนผู้ที่มีคุอยู่แล้วก็ใช้คุต่อไป แต่เมื่อปี ๒๕๔๒ เป็นช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องกันมาหลายปี จึงมีการหันกลับมาทำนาอีก และเมื่อมีผู้ต้องการคุตีข้าว ลุงสม หลวงพล และช่างสานคุแห่งบ้านดอนแก้ว จึงหวนกลับมาสานคุตามความต้องการของเกษตรกรอีก ๑๐ ใบ ทั้งยังมีผู้นำคุเก่ามาให้ซ่อมอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนปีต่อๆ ไปก็ยังคงหาคำตอบชัดเจนไม่ได้ 
     จะเห็นได้ว่า การผลิตคุตีข้าวด้วยวิธีการแบบพื้นบ้านโดยศึกษาปัญหาแล้วแก้ปัญหา จนเกิดเป็นความรู้หรือภูมิปัญญา ใช้สืบต่อกันมาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคนนั้น กำลังใกล้เวลาที่จะยุติบทบาทลง ด้วยเหตุผลของความเปลี่ยนแปลงตามที่กล่าวมา