ว า ร ส า ร เ มื อ ง โ บ ร า ณ
Muang Boran Journal

ISSN 0125-426X
ปีที่ ๒๘ ฉบับ ๓ กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๔๕
Vol. 28 No. 3 July - September 2002

วารสารวิชาการรายสามเดือน เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย
ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม
วารสาร เมืองโบราณ เดือน กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๔๕ ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๘

ส า ร บั ญ
เมื่อนึกถึงหมอสุด
ความทรงจำแห่งสยาม ... กาลิเลโอ คีนิ

Ricordi del Siam ... Galileo Chini

Return to Sender: สยามในความทรงจำ... ศรัณย์ ทองปาน

Return to Sender ... Sran Tongpan

สยามกับตะวันตก: กาลิเลโอ คีนิ... หนึ่งฤดี โลหผล

Galileo Chini: Siam and the West ... Neungreudee Lohapon

กาลิเลโอ คีนิ ณ บางกอก... ฟาบิโอ เบนซิ

Galileo Chini in Bangkok ... Fabio Benzi

เรื่องเล่าของชาวบางซื่อ... ปราณี กล่ำส้ม

The story of Bang Sue ... Prenee Glumsom

ตามรอยนครโกกโถลกที่ตาแก้ว... วิชชุ เวชชาชีวะ
เกลือสินเธาว์ซบเซาที่สุวรรณภูมิ... ลักขณา จินดาวงษ์
The Tragedy of Homemade Salt in Roi Et Province ... Lakana Chindawong
ใบเสมาเรื่องศิพิชาดก: ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ... รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
A Sema Stone of the Sibi Jakata : Traces of Mahayana Buddhism in the Upper Northeast Region ... Rungroj Piromanukul
จับปลา (ด้วย) สองมือ... จุฑารัตน์ เหลืองสง่างาม
บรรณวิพากษ์: หัตถกรรมไทย ความเป็นมา และการผลิตในปัจจุบัน ... ปราณี กล่ำส้ม
ประวัติศาสตร์ ภาษา และ"เชื้อชาตินิยม" ในไทศึกษา... วิภาส ปรัชญาภรณ์ และพรรณราย โอสถาภิรัตน์
กินข้าวสลากเสาไห้: รื้อรากเหง้าจากเค้าเดิม (ๆ) ... วิชญดา ทองแดง
กลองมโหระทึกที่บ้านหนองวัวดำ จังหวัดราชบุรี ... สุรินทร์ เหลือลมัย
ทับหลังรูปพระกฤษณะ และช้างสามตัว: ปูนปั้นที่ทับซ้อน ประดับปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ... ศักดิ์ชัย สายสิงห์
รุปถ่ายลายเส้น ... ศูนย์ข้อมูล เมืองโบราณ
เรื่องเก่าเล่าสู่ ... ศูนย์ข้อมูล เมืองโบราณ
โครงสร้างงานโบราณคดี ... นคร สำเภาทิพย์
คลิกดูภาพใหญ่
 
Return to Sender: สยามในความทรงจำ
ศรัณย์ ทองปาน

คลิกดูภาพใหญ่     ภาพถ่ายและโปสการ์ดเมืองสยามชุดที่นำลงพิมพ์ไว้นี้ คัดเลือกมาจากในจำนวนราว ๓๐๐ ภาพ สมบัติเดิมของกาลิเลโอ คีนิ ที่ตกทอดสืบกันมาในตระกูล และคุณเปาลา โปลิโดริ คีนิ ได้อนุญาตให้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ณ หอศิลป์แห่งชาติ กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๔๕
     ภาพจากกรุของคีนินี้ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย อาจสามารถจัดแบ่งกลุ่มได้หลายแบบ เช่นแบ่งเป็นภาพถ่ายส่วนตัว (snapshot) ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยาม ภาพการพระราชพิธีและราชสำนัก ภาพถ่ายที่เป็นงานศึกษาค้นคว้า (study) สำหรับการเขียนภาพบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ฯลฯ แต่ในที่นี้ อาจแบ่งแบบง่ายๆ ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือภาพที่คีนิ (อาจ) ถ่ายเอง และภาพที่เขาจัดหาหรือได้รับมาจากแหล่งอื่นๆ 

คลิกดูภาพใหญ่      กลุ่มแรกได้แก่ภาพถ่ายส่วนตัวในชุมชนชาวอิตาเลียนของกรุงเทพฯ ภาพถ่ายในแม่น้ำระหว่างนั่งเรือ รวมไปถึงภาพการแสดงละคร ภาพหุ่นนิ่งต่างๆ ภาพถ่ายนางแบบชาวสยาม ฯลฯ ภาพกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คุณภาพไม่สู้ดีนัก หลายภาพจะไหวหรือเบลอมาก อันอาจเป็นข้อจำกัดทางเทคนิคของอุปกรณ์ถ่ายภาพ ยกเว้นชุดที่เป็นการที่จัดฉากถ่ายในสตูดิโอ เช่นภาพพราหมณ์ กับเจ้าพนักงานประโคมมโหรทึก เป่าแตร ซึ่งค่อนข้างคมชัด และมีจังหวะแสงเงางดงาม
     ส่วนในกลุ่มหลัง ประกอบไปด้วยภาพถ่ายและโปสการ์ด ซึ่งผลิตขึ้นโดยร้านถ่ายรูปในยุคนั้น
     ร้านถ่ายรูปในกรุงเทพฯ เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เช่นร้านของนายจิตร (ฟรานซิส จิตร หรือขุนสุนทรสาทิศลักษณ์) ตั้งอยู่บนเรือนแพหน้าวัดซางตาครูซ ธนบุรี ร้านถ่ายรูปของนายจิตรนี้นอกจากจะมีสตูดิโอสำหรับถ่ายภาพบุคคลแล้ว ยังมี รูปวัง, แลรูปวัด, รูปตึก, รูปเรือน, แลรูปเงาต้นไม้, แลรูปท่านผู้มีวาศนาต่างๆ ในกรุงเทพนี้ จำหน่ายด้วย 
     จนถึงปลายรัชกาลที่ ๕ ในช่วงท้ายสุดของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ ร้านถ่ายรูปที่สำคัญในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโรเบิร์ต เลนซ์ (Robert Lenz & Co.) ของชาวเยอรมัน หรือร้านเจริญกรุงโฟโต้สตูดิโอ (Charoen Krung Photo Studio) ของ เจ อันโตนิโอ (J. Antonio) ชาวอิตาเลียน ก็ยังคงมีภาพถ่ายเมืองไทยจำหน่ายควบคู่กับไปกับภาพโปสการ์ด
คลิกดูภาพใหญ่      เราอาจคาดได้ว่า ร้านทั้งสองแห่งนี้ก็เป็นที่มาของภาพถ่ายจำนวนไม่น้อยในกรุของคีนิด้วย เช่นมีหลายภาพที่เป็นมุมใกล้เคียงหรือเป็นรูปเดียวกันกับที่ตีพิมพ์ใน The Twentieth Century Impressions of Siam (ค.ศ.๑๙๐๘ / พ.ศ.๒๔๕๑) ซึ่งก็มีระบุไว้ว่า ภาพประกอบจำนวนมากนั้นได้มาจากเนกกาตีฟของร้านโรเบิร์ต เลนซ์
     ส่วนโปสการ์ดในกรุของคีนินั้น มีทั้งส่วนที่ได้ใช้ส่งเป็น "ไปรษณียบัตร" จริงๆ และส่วนที่คงซื้อหามาสะสม หรือใช้ประกอบในงานการเขียนภาพบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมของเขา
     ผู้ผลิตโปสการ์ดภาพเมืองไทยรายใหญ่ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ ก็คือร้านถ่ายรูปใหญ่ทั้งสองแห่งในกรุงเทพฯ นั่นเอง โดยบริษัทโรเบิร์ต เลนซ์ จะใช้ชื่อ Robert Lenz & Co. เป็นเครื่องหมายการค้า หรือไม่เช่นนั้น ก็จะใช้ชื่ออีกบริษัทหนึ่งซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน คือสยามโฟโต้ซับพลาย (Siam Photo Supply Co.) ส่วนร้านเจริญกรุงโฟโต้สตูดิโอ ก็จะใช้ชื่อของเจ้าของเป็นยี่ห้อปรากฏบนโปสการ์ดว่า Photo by J. Antonio, Bangkok
คลิกดูภาพใหญ่      จนถึงขณะนี้ยังไม่เคยมีการค้นคว้ารวบรวมว่า โปสการ์ดของแต่ละร้านนั้น มีกี่แบบ และแต่ละแบบพิมพ์ออกวางจำหน่ายเมื่อใด แต่ก็อาจประมาณได้ว่าคงมีหลายร้อยภาพ เช่นในปีสุดท้ายของรัชกาลที่ ๕ (ค.ศ.๑๙๑๐ / พ.ศ.๒๔๕๓) โฆษณาของร้านโรเบิร์ต เลนซ์ ระบุว่ามีภาพโปสการ์ดจำหน่ายกว่าร้อยแบบ ส่วนร้านของเจ อันโตนิโอ ก็ประกาศว่ามีโปสการ์ดรูปทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ และทั้งหมดของสยาม เฉพาะในกรุของคีนิเอง ภาพจากร้านของเจ อันโตนิโอ ที่มีหมายเลขลำดับสูงที่สุดก็มีถึงหมายเลข ๖๖๗ คือภาพชีวิตชาวสยามในทุ่งนา (667. Siamese life at the paddy fields.)
     ภาพโปสการ์ดเหล่านี้ เฉพาะที่เป็นภาพสอดสี อาจส่งไปพิมพ์มาจากในยุโรป แล้วนำกลับเข้ามาขายในสยามอีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่เป็นภาพสีเดียว (ขาว - ดำ) ทั้งของโรเบิร์ต เลนซ์ และของเจ. อันโตนิโอ นั้น น่าจะพิมพ์ขึ้นในกรุงเทพฯ เอง
คลิกดูภาพใหญ่      "ตลาด" หลักๆ ของภาพโปสการ์ดเหล่านี้ หากดูจากคำบรรยายภาพที่มีเป็นภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสแล้ว ก็คือตลาดของชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เดินทางมาสยามแล้วต้องการส่งของที่ระลึกกลับไปบ้านเกิดเมืองนอน หรือชาวยุโรปผู้ต้องการสะสมภาพของสถานที่แปลกประหลาด เช่นราชอาณาจักรสยามในตะวันออกไกล เพราะกิจกรรมการสะสมภาพโปสการ์ดนั้น ก็เป็นที่นิยมในโลกตะวันตกมาก มีร้านที่ดำเนินกิจการด้านนี้โดยเฉพาะตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วไป ทั้งยังมีหลักฐานว่า ภาพโปสการ์ดของสยามนี้ ก็สามารถหาซื้อได้ในยุโรปด้วยเช่นกัน
     ในฐานะผู้ผลิต "สินค้า" คือโปสการ์ดเหล่านี้ บรรดาร้านถ่ายรูปก็ย่อมต้องคาดการถึง "ตลาด" ของตน ว่า "ลูกค้า" จะต้องการเห็นภาพแบบไหน หรือภาพในลักษณะใดจะ "ขาย" ได้บ้าง ดังนั้น ภาพของ "สยาม" ที่จะปรากฏบนโปสการ์ด จึงต้องสอดคล้องกับ "ภาพในใจ" ของลูกค้า หรือเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการจะเห็น
คลิกดูภาพใหญ่      ในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ นอกจากเหตุการณ์ที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปสองครั้งในปี ค.ศ.๑๘๙๗ / พ.ศ.๒๔๔๐ และ ค.ศ.๑๙๐๗ / พ.ศ.๒๔๕๐ กับข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในเรื่องดินแดนลาวและเขมร ที่ไปมีปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ในยุโรปเป็นครั้งคราวแล้ว โดยทั่วไปในยุโรป สยามก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันในฐานะประเทศทางตะวันออกอันห่างไกล และแปลกประหลาด เป็นดินแดนแห่ง "วัดและช้าง" "ราชอาณาจักรแห่งผ้ากาสาวพัสตร์" หรือไม่ก็เป็น"เวนิสแห่งตะวันออก" 
     ภาพโปสการ์ดที่จะมีพิมพ์ออกมาขาย จึงย่อมหนีไม่พ้นที่จะเต็มไปด้วยภาพเรือแพ พระภิกษุ วัดวาอาราม และช้าง นอกจากนั้นแล้ว ภาพสตรีสยามเปลือยอกที่มีให้เห็นในโปสการ์ดหลายใบ ก็ย่อมเป็นตัวแทนของ "โลกตะวันออก" ที่ดูป่าเถื่อน (แต่ก็น่าเร้าใจ) ไม่แพ้ทวีปอาฟริกาหรือหมู่เกาะทะเลใต้ ภาพพวกนี้ มีไว้เพื่อให้เห็นถึง "ความแตกต่าง" ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก หรือให้เห็นว่า จุดที่ "พวกเรา" (คือลูกค้าหรือผู้ชมชาวตะวันตก) ยืนอยู่นั้น ห่างไกลกับความแปลกประหลาด และล้าหลังในโลกตะวันออกเพียงใด
คลิกดูภาพใหญ่      แต่ก็ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ภาพของสยามในลักษณะอื่นๆ จะไม่มีปรากฏให้เห็น
     ภาพที่แสดง "ความก้าวหน้า" เช่นตึกรามแบบสมัยใหม่ กษัตริย์สยามในชุดฉลองพระองค์แบบยุโรป รวมถึงสตรีสยามในชุดเสื้อผ้าที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก ก็มีปรากฏในโปสการ์ดยุคนี้ด้วย ภาพเหล่านี้ก็มีหน้าที่อีกชนิดหนึ่ง ในแง่ที่ว่าจะแสดงให้ผู้พบเห็น หรือ "ลูกค้า" ชาวตะวันตก ได้ตระหนักว่า สยามนั้นกำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นแบบ "พวกเรา" บ้างแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ด้วยคุณูปการของโลกตะวันตกนั่นเอง ที่ฉุดรั้งบรรดาชนชาติผิวสีน้ำตาลอันห่างไกล ให้ได้รับแสงสว่างแห่ง "อารยธรรม"
     หรืออาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า โปสการ์ดส่วนใหญ่ (และภาพถ่ายจำนวนไม่น้อย) ผลิตขึ้นโดยมองจากสายตาของฝรั่ง สำหรับขายให้ฝรั่ง เพื่อยืนยันในความ "เหนือกว่า" ของฝรั่งนั่นเอง
     ภาพถ่ายและโปสการ์ดภาพเมืองสยามในกรุของคีนินี้เอง ที่ได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในการเป็นต้นแบบสำหรับสร้างสรรค์ภาพเฟรสโกขนาดใหญ่ บนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม 
     และในท้ายที่สุด เราจึงได้เรียนรู้ "อดีต" ของเรา ผ่านทางภาพถ่าย และโปสการ์ดเหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง

เชิงอรรถ
คลิกดูภาพใหญ่      ๑ บทนำเสนอสำหรับโปสการ์ดและภาพถ่ายชุดของกาลิเลโอ คีนิ ในที่นี้ ปรับปรุงมาจากบทความชื่อเดียวกัน ที่จัดเตรียมเพื่อการสัมมนาประกอบนิทรรศการภาพถ่ายของคีนิ ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๔๕ (ซึ่งไม่ได้จัดขึ้น) ความคิดและข้อมูลจำนวนมากในข้อเขียนนี้ มาจากงานของวิชชุ เวชชาชีวะ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และเอนก นาวิกมูล (โปรดดูในเชิงอรรถอื่นๆ ) อย่างไรก็ดี ท่านเหล่านั้นย่อมไม่มีส่วนรับผิดชอบใดๆ ในความพลาดพลั้งอ่อนด้อยของผู้เขียน
     ๒ ดูโฆษณาของนายจิตรจากหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ใน เอนก นาวิกมูล. ถ่ายรูปเมืองไทยสมัยแรก (กทม.: แสงแดด, ๒๕๓๐), หน้า ๑๓๒.
     ๓ J. C. Barnett. Report of the First Annual Exhibition of Agriculture & Commerce (Bangkok: The Bangkok Daily Mail, 1910) ดูโฆษณาของเจริญกรุงโฟโต้สตูดิโอที่ p. 101 และโฆษณาของโรเบิร์ต เลนซ์ที่ p. 139.
คลิกดูภาพใหญ่      ๔ Arnold Wright (editor). The Twentieth Century Impressions of Siam (Woking and London: Lloyd"s Greater Britain Publishing Company, 1908), p. 278.
     ๕ เอนก นาวิกมูล. สิ่งพิมพ์สยาม (กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, ๒๕๔๒), หน้า ๒๑. อนึ่ง ในช่วงเดียวกันนี้ ยังมีผู้ผลิตโปสการ์ดรายย่อยอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ด้วย เช่น Gotte & Co. ของชาวเยอรมัน
     ๖ ดูตัวอย่างภาพโปสการ์ดของสยาม ใน Bonnie Davis. Postcards of Old Siam (Singapore: Times Editions, 1987)
     ๗ ดู J. C. Barnett. Report of the First Annual Exhibition of Agriculture & Commerce, pp. 101, 139. คำโฆษณาขายโปสการ์ดของร้านโรเบิร์ต เลนซ์ คือ Picture Post cards of more than 100 different designs. ส่วนร้านของ เจ อันโตนิโอ ว่ามี Illustrated Post Cards with interesting VIEWS OF BANGKOK AND THE WHOLE OF SIAM.
คลิกดูภาพใหญ่      ๘ เอนก นาวิกมูล. "โปสการ์ดคลาสสิค ของสรศัลย์ แพ่งสภา" สิ่งพิมพ์คลาสสิค (กรุงเทพฯ: สารคดี, ๒๕๓๓), หน้า ๑๔๓.
     ๙ ดูตัวอย่างการตีความภาพโปสการ์ดใน วิชชุ เวชชาชีวะ "โปสการ์ด รูปอันเป็นเครื่องระลึกแห่งนามและกาล" เมืองโบราณ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓ - ๔ (กรกฎาคม - ธันวาคม ๒๕๓๕), หน้า ๑๒๙ - ๑๔๐. และดูอีกแนวทางหนึ่งในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง "ตะวันตก" กับ "ตะวันออก" ผ่านภาพถ่ายยุคอาณานิคมใน สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. "เมื่อตะวันตกมองตะวันออก : ชนพื้นเมืองในสายตาเจ้าอาณานิคม" สารคดี ฉบับที่ ๑๖๘ (กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒) หน้า ๑๒๓ - ๑๓๑.
Return to Sender
Sran Tongpan
Bigger       The set of photographs and postcards of Siam that were printed here is the original collection of Galileo Chini, the Italian artist that painted the Ananta Samakhom Throne Hall in Bangkok during the early 20th century. This collection had an important part as a source of inspiration for the creation of his large fresco paintings on the ceiling of the Throne Hall.
      
At the end of the 19th century to the beginning of the 20th century the two important photography studios in Bangkok were Robert Lenz & Co., owned by a German, and Charoen Krung Photo Studio, run by J. Antonio, an Italian. Both studios were the source of many of the photos in Chini"s collection. In addition to this, both studios also produced a large number of postcards of Siam in the period mentioned with Robert Lenz using the name "Robert Lenz & Co." as a trade name or the name of another company in the same group, "Siam Photo Supply Co." Charoen Krung Photo Studio used the phrase "Photo by J. Antonio, Bangkok" as a trademark.
Bigger       The principal "market" for these picture postcards, according to the text in English and French, was the international market. Basically, as the manufacturer of "the goods" (these postcards), the photo studios, naturally wanted to reach their "market." Thus, pictures of Siam that appeared on the postcards had to match the images in the minds of the customers.
      
In Europe at that time, Siam was known as an exotic eastern Kingdom. It was known as the Land of "Temples and Elephants," "The Kingdom of the Saffron Robe" or "Venice of the East".
      
The pictorial postcards that were printed for sale naturally could not avoid being full of pictures of boats, monks, temples and elephants like those on the postcards seen in Chini"s collection. Also, images of topless ladies are seen on many cards as representatives of "the Eastern World" that look no less savage (but evocative) than the Islands of Tahiti or Bali.
Bigger       These pictures have been kept to show the difference between the West and the East or illustrate the point that "we" (the western viewers) are over there faraway from the strangeness and backwardness of the Orient.
       
But this does not mean that other aspects of Siam were never shown such as images of "progress" like modern Bangkok, the Siamese kings in European style uniforms or Siamese ladies wearing western-influenced outfits.
       
There is yet another aspect to these pictures. It is that the western viewers or "customers" realized that Siam was developing to become like "us" already. Also, we can see that it is the material benefits of the West that draw these brown people living faraway to receive the illumination of "civilization."
       
Or we may summarize that these postcards and photographs were manufactured from the point of view of Westerners to sell to Westerners in order to confirm the superiority of the West.
       
And finally we, the Thai people, can once again learn about our past through these pictures and postcards.