|
พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า |
|
|
|
|
จารุณี อินเฉิดฉาย*
*พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
|
|
|
|
|
ภาพและเรื่องราวในพระบฏ
ในคติดั้งเดิมนั้น ภาพพระบฏมีส่วนประกอบสำคัญคือพระพุทธเจ้ายืนยกพระหัตถ์ขวา ต่อมามีพระอัครสาวกประกอบซ้ายขวา ช่วงบนที่มุมซ้ายและขวามักมีฤาษีหรือนักสิทธิ์ เหาะพนมมือถือดอกบัว ในระยะต่อมา แม้ว่าจะมีภาพเล่าเรื่องเข้ามาประกอบ แต่ส่วนสำคัญของภาพก็ยังคงอยู่ที่องค์พระพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวก หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป จนกระทั่งไม่มีภาพพระพุทธเจ้า
กลายเป็นภาพเล่าเรื่องเต็มผืนผ้า
ภาพและเรื่องราวที่เขียนในพระบฏ คือ
๑. พระพุทธเจ้ายืนยกพระหัตถ์ขวา หรือบางครั้งมีพระอัครสาวกยืนประนมมือขนาบข้างซ้าย - ขวา หมายถึง พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ส่วนใหญ่แล้วมักเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนภายในกรอบซุ้มประตู ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวินิจฉัยว่าเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงเดินออกจากประตูเมืองเวสาลี ทรงหยุดและหันพระพักตร์มองเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสด็จปรินิพพาน
๒. พระพุทธประวัติ ที่นิยมเขียนมีตอนมารผจญ ตอนเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์
|
|
|
|
|
๓. พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ หมายถึง พระอดีตพุทธ ๓ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ และพระกัสสปะ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือพระสมณโคดม และพระอนาคตพุทธเจ้า คือพระศรีอาริยเมตไตรย นิยมเขียนไว้ช่วงบนของผืนผ้า
๔. พระมาลัย เป็นวรรณกรรมในพุทธศาสนาที่นิยมเขียนกันมาก กล่าวถึงพระอรหันต์รูปหนึ่งคือพระมาลัย มีอิทธิฤทธิ์เหาะได้ พระมาลัยได้ลงไปโปรดสัตว์นรก และขึ้นไปนมัสการพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบพระอินทร์และพระศรีอาริย์ เมื่อกลับจากนรกและสวรรค์ จึงได้เทศนาสั่งสอนให้มนุษย์หวั่นเกรงต่อการทำบาป หมั่นทำบุญทำทาน อุทิศส่วนบุญกุศลจะได้ขึ้นสวรรค์และอยู่ในพระศาสนาพระศรีอาริย์ พระมาลัยในภาพเขียนจะแสดงด้วยพระสงฆ์ห่มจีวรสีแดง ถือตาลปัตร สะพายบาตร อยู่ในท่าเหาะ หรือไม่เช่นนั้นก็จะนั่งอยู่ต่อหน้าพระเจดีย์จุฬามณี
๕. พระเจดีย์จุฬามณี เป็นพระเจดีย์แก้วสีเขียวที่พระอินทร์ทรงสร้างไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศา (เส้นผม) พระเวฏฐนพัสตร์ (ผ้าโพกศีรษะ) พระทักษิณทันตทาฒธาตุ (เขี้ยวซี่บนซ้าย - ขวา) และพระรากขวัญเบื้องบน (กระดูกไหปลาร้าบน) ของพระพุทธเจ้า (กรมศิลปากร ๒๕๓๐) พระอินทร์ พระพรหมและเทพยดาชั้นต่างๆ พร้อมด้วยบริวาร เสด็จไปนมัสการอยู่เสมอ ส่วนพระศรีอาริย์นั้นเสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิตและบริวารแสนโกฏิ พร้อมด้วยขบวนพยุหยาตราเครื่องสูง ดอกไม้ธูปเทียน แห่แหนมานมัสการพระเจดีย์จุฬามณีทุกวันขึ้น ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ (พิชิต อัคนิจ ๒๕๓๖)
|
|
|
|
|
๖. ทศชาติชาดก คือเรื่องราวของพระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีอันเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ๑๐ ประการ ในช่วง ๑๐ พระชาติสุดท้าย ก่อนที่จะเสวยพระชาติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า พระชาติทั้ง ๑๐ คือ เตมิยชาดก (ความอดทน) มหาชนกชาดก (วิริยะ) สุวรรณสามชาดก (เมตตา) เนมิราชชาดก (อธิษฐาน) มโหสถชาดก (ปัญญา) ภูริทัตตชาดก (ศีล) จันทกุมารชาดก (ขันติ) พรหมนารถชาดก (อุเบกขา) วิธูรบัณฑิตชาดก (สัจจะ) เวสสันดรชาดก (ทาน)
๗. เวสสันดรชาดก เป็นเรื่องที่นิยมเขียนกันมาก เป็นพระชาติที่ยิ่งใหญ่เพราะทรงบำเพ็ญบารมีครบทั้ง ๑๐ ประการ จึงเรียกว่า มหาชาติ
๘. อสุภะ คือภาพพระสงฆ์พิจารณาซากศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กัน สำหรับเป็นมรณานุสติให้แก่พระภิกษุสงฆ์และบุคคลทั้งหลาย ได้ประจักษ์ถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ว่ามีเกิดและมีดับสูญ แต่สิ่งที่คงอยู่ตลอดไปนั้นคือความดี ดังนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ควรสร้างแต่ความดี
นอกจากนี้ยังมีพระบฏที่เขียนเป็นภาพพระพุทธบาทสี่รอย มีลายมงคล ๑๐๘ ประการ ภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งเรียงเป็นแถว หรือภาพเล่าเรื่องในวรรณกรรม เช่น พระสุธน - มโนห์รา เป็นต้น
|
|
|
|
|
เทคนิคการเขียนพระบฏ
พระบฏคืองานจิตรกรรมไทยประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงมีวิวัฒนาการทางด้านรูปแบบคือการเขียนเรื่องราว การจัดวางองค์ประกอบ และเทคนิควิธีการเขียนเช่นเดียวกับจิตรกรรมไทยประเพณีในรูปแบบ ซึ่งประกอบด้วยสองขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ และขั้นการเขียน
ขั้นเตรียมการ หมายถึง การเตรียมผ้า เตรียมสี และเตรียมกาว ผ้าที่นิยมใช้ทำพระบฏ คือ ผ้าฝ้ายสีขาว ทารองพื้นด้วยดินสอพองผสมกับกาวเม็ดมะขามหรือกาวหนังสัตว์ ที่แตกต่างไปจากการเขียนลงบนพื้นวัสดุอื่นๆ ก็คือในการเขียนพระบฏนั้น ชั้นรองพื้นและชั้นสี ต้องทาเพียงบาง ๆ เพื่อให้สามารถม้วนเก็บได้และสีจะไม่แตกหักหรือกะเทาะง่าย
สีฝุ่นที่ใช้เขียนเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ คือ ดิน แร่ หิน โลหะ นำไปบดหรือเผาไฟให้สุก ตากแห้งแล้วบดให้ละเอียด มีบางชนิดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืชและสัตว์ นำไปต้มหรือตำ คั้นเอาน้ำมากรอง เกรอะให้แห้ง จากนั้นจึงนำไปบดเป็นผงละเอียด สีฝุ่นที่ใช้ในสมัยโบราณมีสีดำ สีขาว สีแดง และสีเหลือง ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีสีเพิ่มขึ้นและมีสีสดมากขึ้น เช่น สีเหลืองสด สีเขียวสด สีแดงชาด ฯลฯ อันเป็นสีที่สั่งเข้ามาจากจีน ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในยุคต้น ๆ นั้น มีสีฝุ่นมากมายหลายชนิดด้วยกัน (วรรณิภา ณ สงขลา ๒๕๓๓)
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ สีฝุ่นอย่างโบราณเริ่มหายาก และช่างเขียนหันไปนิยมใช้สีสมัยใหม่กันมากขึ้นด้วย ดังที่ปรากฏในหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึงสีสมัยใหม่ ที่พระองค์ท่านเรียกว่า "สีสวรรค์" หรือ "สีสวรรย์" ในระยะนี้ว่า
|
|
|
|
|
"...อนึ่งข้าพระพุทธเจ้ามีความวิตกด้วยสีน้ำยา เพราะเหตุว่าที่มีขายในท้องตลาดทุกวันนี้ มีแต่สีปลอมคือเอาดินเหลืองมาย้อมสีสวรรย์ขาย เมื่อลลายจะใช้การ สีสวรรย์ลอยอยู่บนน้ำ ดินเหลืองนอนอยู่ก้น เมื่อจะทาต้องกวนอยู่ไม่หยุดได้ แลเมื่อเขียนแล้ว ล่วงเดือนหนึ่ง ไม่ใคร่มีอะไรติดอยู่ ความวิตกอันนี้เกิดขึ้นแก่การที่จะเขียนพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เกรงด้วยเกล้าฯ ว่าจะไม่มีน้ำยาใช้ ให้ของอยู่ทนนานสมพระราชประสงค์ จึงได้คิดจะหาสีมาจากเมืองจีน จึ่งสืบสวนได้จีนช่างเขียนคนหนึ่งซึ่งพูดเข้าใจความประสงค์กันได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดให้จีนคนนั้นไปหาซื้อสีที่เมืองจีน บัดนี้ได้มาแล้วสมประสงค์ เปนสีอย่างที่หนึ่งมีมากพอที่จะเขียนพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรได้สัก ๒ หลัง้..." (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๙ : ๖๕ - ๖๖)
กาวที่ใช้ในการเขียนภาพ มีกาวเม็ดมะขามหรือกาวหนังสัตว์สำหรับผสมกับดินสอพองในชั้นรองพื้น และกาวจากยางกระถินเทศ ยางมะขวิด ยางมะเดื่อ ที่ใช้ผสมกับสีฝุ่น ภาษาช่างโบราณเรียกน้ำกาวที่ใช้ผสมสีว่า "น้ำยา"
ดังนั้น สีฝุ่นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สีน้ำยา
ขั้นการเขียนภาพ เริ่มจากการกำหนดภาพหรือเรื่อง ร่างภาพพอสังเขปลงบนกระดาษ นำไปขยายใหญ่ลงบนผืนผ้า หรือใช้วิธีปรุภาพหรือลวดลายลงบนผืนผ้า จากนั้นจึงลงมือเขียนสี ปิดทองและตัดเส้นซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย
|
|
|
|
|
รูปแบบของพระบฏ
พระบฏ สามารถจำแนกรูปแบบได้เป็น ๕ แบบ ดังนี้
แบบที่หนึ่ง ผืนผ้าขนาดยาว เขียนภาพลงเต็มทั้งผืน เป็นภาพพระพุทธเจ้ายืน หรือภาพพระพุทธเจ้ายืนภายในซุ้ม พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย - ขวา
แบบที่สอง ผืนผ้าขนาดยาว แบ่งภาพออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนพระองค์เดียว หรือขนาบข้างด้วยพระอัครสาวก และส่วนที่สองเขียนภาพเล่าเรื่องในพระพุทธประวัติ หรือพระมาลัย หรือทศชาติ
แบบที่สาม ผืนผ้าขนาดยาว มีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ ตรงกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนพร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย - ขวา ที่ช่วงบนและช่วงล่าง เขียนภาพเล่าเรื่องในพระพุทธประวัติ พระมาลัย หรือทศชาติ หรือภาพเล่าเรื่องอื่นๆ น่าสังเกตว่าภาพช่วงบน นิยมเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับสวรรค์ดาวดึงส์ เช่น พระพุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพระพุทธมารดา หรือพระมาลัยไปนมัสการพระจุฬามณีเจดีย์ เป็นต้น
แบบที่สี่ ผืนผ้าขนาดยาว เขียนภาพเล่าเรื่องเต็มทั้งผืน คือ พระพุทธประวัติ พระมาลัย ทศชาติชาดก เวสสันดรชาดก รอยพระพุทธบาท ฯลฯ
แบบที่ห้า ผืนผ้าขนาดเล็กลง ประมาณ ๕๐ x ๗๐ เซนติเมตร หรือ ๕๐ x ๕๐ เซนติเมตร เขียนภาพเล่าเรื่องเป็นตอนๆ ในพระพุทธประวัติ ชาดก และที่นิยมกันมาก คือเวสสันดรชาดก ซึ่งบางทีเรียกว่า "ผ้าพระเวส"
|
|
|
|
|
ผ้าพระเวส
คือผ้าพระบฏที่เขียนเล่าเรื่องในเวสสันดรชาดก มีจำนวน ๑๓ ผืน ตามเนื้อเรื่องในแต่ละกัณฑ์ของเวสสันดรชาดก ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ คือ ทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศ ชูชก จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักกบรรพ มหาราช ฉกษัตริย์ และ นครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์สุดท้าย
ผ้าพระเวส จะใช้ห้อยแขวนประดับตามศาลาการเปรียญในงานเทศน์มหาชาติ คือ เทศน์เวสสันดรชาดก และหากฟังจบภายในวันเดียวครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ถือว่าได้อานิสงส์มาก
|
|
|
|
|
คุณค่าและความสำคัญของพระบฏ
พระบฏมิใช่เป็นแค่เพียงงานศิลปะเท่านั้น แต่เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความเป็นอยู่ และความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี แสดงถึงความเจริญงอกงามของพุทธศาสนาที่เป็นบ่อเกิดของขนบประเพณีนิยม วัฒนธรรม และวิถีการดำรงชีวิตของบรรพบุรุษไทย
พระบฏจึงเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ ที่ควรค่าแก่การดูแล รักษา เชิดชู และหวงแหนไว้เป็นสมบัติของชาติตลอดไป แม้ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมที่เคลื่อนที่ได้ และไม่คงทนเช่นเดียวกับงานจิตรกรรมฝาผนัง แต่ในปัจจุบัน ก็ยังสามารถหาชมได้ตามวัดและพิพิธภัณฑสถานต่างๆ เช่น วัดมหาธาตุ และวัดจันทราวาส จังหวัดเพชรบุรี วัดหัวเตย จังหวัดพัทลุง พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด สยามสมาคม วัดป่าลิไลยก์และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่ง
|
|