งีเงาคำ กับตัวตนของคนอาหม (ต่อ) | |||
ดำรงพล อินทร์จันทร์ | |||
คุณสมบัติของงีเงาคำ |
|||
|
กล่าวกันว่า ลักษณะของงีเงาคำเป็นมังกรสิงโตมีปีก ซึ่งเกิดจากการรวมกันของสิ่งมีชีวิตห้าประเภทได้แก่ งู สิงโต เต่า ม้า และนก จึงเป็นพลังเหนือธรรมชาติที่ประกอบด้วยความกล้าหาญแข็งแรงของสิงโต ความเร็วบนดินเช่นม้า ความเร็วในน้ำเหมือนงู และความสามารถในการบินของนก งีเงาคำจึงสามารถเดินทางได้เร็วมาก เช่นมนุษย์ใช้เวลาเดินเท้า ๒๐ วัน แต่มังกรสิงโตมีปีกใช้เวลาเพียง ๑ ชั่วโมงเท่านั้น งีเงาคำจึงรวมเอาความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ ถือเป็นคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ผู้ทรงพระราชอำนาจ มีคำกล่าวถึงคุณสมบัติของงีเงาคำด้วยภาษาอังกฤษจากภาษาไทโบราณห้าประโยค ได้แก่ ๑) chai cheo mi ru tai ๒) mi kham wa thoi ๓) mi rit ngen ao dai ๔) pun nang mi khon lao ๕) huin mi chut kao ส่วนสีสันของงีเงาคำมี ๕ สี แต่ละสีแสดงถึงคุณลักษณะต่างกัน ได้แก่ สีขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์ของพระเจ้า สีแดงเป็นการดำรงอยู่ของชีวิต สีเหลืองเป็นการเพิ่มพูนขึ้นขององค์ความรู้ที่ผ่านการบูชา สีดำเป็นบั้นปลายของชีวิต สุดท้ายสีน้ำเงินหรือเขียวแสดงถึงความยืนยงมั่นคงของชีวิตและสันติภาพ |
||
เรื่องเล่าอ้างอิง |
|||
ปัญญาชนชาวอาหมอ้างอิงงีเงาคำผ่านตำนานปรัมปราเรื่องมังกรของจีน ว่าตามบันทึกของคนไทในรายงานของจีน กล่าวว่ากลุ่มคนไทหรืออ้ายลาวถือว่ามังกรว่าเป็นบรรพบุรุษของตน ที่เกิดมาจากภรรยาชื่อว่า Shai หรือ Cha -Yi เรื่องเล่าว่าวันหนึ่งขณะที่นางกำลังจับปลาอยู่นั้นมีท่อนซุงลอยติดมา เธอเกิดตั้งครรภ์ขึ้น และในเดือนที่สิบก็ให้กำเนิดบุตรชาย ๑๐ คน หลังจากนั้นท่อนซุงซึ่งติดในร่างของนางก็ออกมาเป็นมังกรและเอ่ยขอบุตรคืน เด็กชาย ๙ คนวิ่งหนีไปได้ เหลือเด็กชายคนสุดท้องเพียงคนเดียว มังกรจึงนำขึ้นขี่บนหลัง เด็กคนนั้นมีชื่อว่า Chiu-lung เมื่อประชาชนพบเห็นคิดว่าเป็นลูกของมังกรซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและพลัง เมื่อเด็กชาย Chiu-lung เติบใหญ่ขึ้นได้รับยกย่องเป็นจักรพรรดิ นอกจากนั้นยังมีการเชื่อมโยงแหล่งที่มาของงีเงาคำ ให้เข้ากับความเชื่อเรื่องมังกร ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่คนไทและจีน พร้อมตั้งข้อสันนิษฐานว่า ชาวอาหมเคยมีงานเทศกาลเรือมังกรเช่นเดียวกับของจีน ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ วันที่ ๕ เดือน ๕ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ทั้งยังพบขบวนแห่เชิดมังกรทั่วไปในหมู่คนไทและจีน แต่ด้วยอิทธิพลของฮินดูจึงไม่พบเห็นในปัจจุบัน มีปรากฏเพียงการบูชาด้วยคำสวดภาษาไทเล็กน้อยเท่านั้น |
|||
แต่ขณะเดียวกัน ปัญญาชนไทอาหมก็แยกสิงโตในวัฒนธรรมอินเดียออกจากมังกรสิงโตมีปีกของพวกเขา โดยกล่าวว่าสิงโตเป็นแนวคิดแบบวัฒนธรรมฮินดู ต่างจากมังกรสิงโตมีปีกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พบในกลุ่มคนตระกูลมองโกลลอยด์ ในเอเชียอาคเนย์ จีน ภูฏาน เนปาล มองโกเลีย และประเทศทางโลกตะวันออกอย่างเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยพบในขนาดและรูปร่างต่างกันไป หากยังคงลักษณะร่วมกันที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Dragon ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า Drakon เป็นสัตว์ประหลาดในตำนานซึ่งพ่นไฟได้ รูปร่างเหมือนงูที่มีส่วนท้ายคล้ายม้า นอกจากนี้ ยังพบการกล่าวอ้างเรื่องเล่าเพิ่มเติมจากปรัมปราคติของจีน โดยกล่าวว่าชาวไทอาหมเคยเป็นพลเมืองส่วนหนึ่งของอาณาจักรจีนโบราณยุคกลาง ในตำราทางศาสนาความเชื่อของจีนระบุเรื่องราวเกี่ยวกับม้ามังกรว่า หนึ่งในบรรพบุรุษยุคโบราณคือจักรพรรดิเหยา (Yao) ทรงเลือกบัณฑิตชุน (Shun) เป็นรัชทายาทผู้สืบราชบัลลังก์องค์ต่อไป ระหว่างการครองราชย์ของจักรพรรดิเหยามีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นคือ เกิดแสงสว่างสีทองมาจากแม่น้ำฮวงโห ทันใดนั้นมีไอหมอกสีสวยสดปกคลุมไปทั่วท้องฟ้า และปรากฏม้ามังกรขึ้นมาคาบเสื้อเกราะแข็ง มอบแก่บัณฑิตชุนประหนึ่งว่าเขาเป็นผู้ได้รับคัดเลือกและรับรองจากสวรรค์ |
|||
บ้างก็อ้างอิงเรื่องเล่าปรัมปราคติ ม้ามังกรของจีน ว่าในสมัยจักรพรรดิฟูฉี (Fu-Hsi) แห่งราชวงศ์ฉาง (Shang) ในช่วง ๒๘๔๒ ถึง ๒๗๘๓ ปีก่อนคริสตกาล ปรากฏว่ามีม้ามังกรขึ้นมาจากแม่น้ำฮวงโห
และพบในลวดลายมังกรที่เก่าแก่ของจีนในเครื่องปั้นดินเผา
และศิลปกรรมสมัยวัฒนธรรมฉางซึ่งมีอายุมากกว่า ๒๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล พบสัญลักษณ์มังกรตั้งแต่สมัยยุคโบราณ กลุ่มบรรพบุรุษคนไทตั้งอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นจนกระทั่งเมื่อกุบไลข่านตีน่านเจ้าในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ คนไทอาหมจึงนำสัญลักษณ์นี้ติดตัวมาด้วย ในความคิดปัญญาชนชาวอาหมแล้ว เรื่องเล่าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อว่า "จุ้ม-ฟ้า-รุ่ง-แสง-เมือง" ที่ปรากฏในคัมภีร์โบราณของอาหม อันหมายถึง "งีเงาคำ" นั่นเอง นอกจากเรื่องเล่าต่างถิ่นแล้ว ชาวไทอาหมยังกล่าวอ้างเรื่องเล่าในตำนานและนิทานพื้นบ้านของอัสสัม เกี่ยวกับม้ามีปีกที่เชื่อกันว่าทำจากไม้ ซึ่งสามารถบินสูงเหนือท้องฟ้า บรรทุกวีรบุรุษและวีรสตรี เรียกขานกันว่า Maolmein หรือ Malbuin หมอหลวงชาวอาหมรู้จักในชื่อว่า ma kha thao pa kee (หรือ Kathor Pakhi Ghora ในภาษาอัสสัมมิส) แปลว่าม้าไม้มีปีก |
|||
งีเงาคำ ในพิธีกรรม |
|||
บรรดาหมอหลวงชาวอาหม โดยเฉพาะตระกูลหมอหุ่ง หมอไส และหมอปล้อง (Mohan Deodhai and
Bailung) ยอมรับนับถืองีเงาคำในฐานะของเทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๒๐๐๒ ที่หมู่บ้าน Hati Boruah ในชุมชนปัตซากุ Sobaram Hati Boruah (๘๒ ปี) ปัญญาชนและโหราจารย์คนสำคัญได้เสียชีวิตลงในตอนบ่าย บรรดาญาติเชิญหมอหลวง มาทำพิธีฝังศพผู้ตายในตอนค่ำวันเดียวกัน ญาตินำร่างผู้ตายห่อด้วยผ้าสีขาว โรยด้วยดอกไม้สีขาว แล้วบรรจุลงโลงไม้ เมื่อญาติเคารพศพแล้วก็เคลื่อนย้ายโลงจากบ้านไปยังบริเวณหลุมฝังศพซึ่งอยู่ห่างจากตัวบ้านไปประมาณ ๓๐๐ เมตร แห่โลงศพรอบหลุม ๓ รอบ แล้วนำไปฝังพร้อมข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้ตายใช้เป็นประจำ ในขั้นตอนสุดท้าย หมอหลวงหลายคนช่วยกันจักไม้ไผ่แล้วสานขึ้นมาเป็นตัวลักษณะคล้ายมังกรสิงโตมีปีก เรียกกันว่า"เงาแสงเมืองฟ้า" ตั้งเหนือหลุมศพของผู้ตาย จุดเครื่องหอมแล้วบูชาพร้อมกัน เชื่อกันว่าเงาแสงเมืองฟ้าที่ตั้งเหนือหลุมศพนี้จะเป็นพาหนะนำผู้ตายไปยังสถานที่สถิตของบรรพบุรุษโดยสงบสุข |
|||
จากพิธีศพของชาวไทอาหมผู้นี้ สันนิษฐานว่า "เงาแสงเมืองฟ้า" สอดคล้องกับความคิดเรื่อง"ม้าลมบิน" อันเป็นพาหนะนำคนตายไปยังเมืองผีหรือถิ่นที่อยู่ของบรรพบุรุษของกลุ่มคนไทในยูนนานและเวียดนามอีกด้วย จากการอ่านเอกสารโบราณภาษาไทอาหมได้แก่พื้นก่อเมืองและลิกก่อเมือง ของรณี (๒๕๔๔) พบว่าทั้งสองฉบับกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตหรือเทพ ซึ่งมีลักษณะเทียบเคียงกับคุณสมบัติบางประการของงีเงาคำ และน่าจะเป็นข้อสันนิษฐานถึงที่มาของงีเงาคำด้วย ดังที่ปรากฏว่ามี "ม้ามีปีก" ซึ่งเป็นสัตว์พาหนะของเทพเจ้าอื่นๆ ที่ลงมาพร้อมกับเจ้าฟ้าแผดในเอกสารลิกก่อเมือง หรือ "ม้าลมบินเป็นปีก" ที่พาเทพเจ้าแห่งเดือน (หรือ "อ้ายหลงเดือนแสงหุ่น แสงจอฟ้าลายนาน") นำดวงจันทร์ (หรือ "ขาบแสงฟ้าจ่าเดือน") ไปแขวนบนท้องฟ้าให้สว่างยามค่ำคืนและเพื่อให้ผู้คนนับวันเวลาได้ ทั้งยังพาเทพเจ้าแห่งตะวัน (หรือ "เจ้าตัวคำแสงร้อน แสงปัดฟ้าไขขาน") น้องชายคนรองของเทพเจ้าแห่งเดือน นำดวงตะวัน (หรือ "ขาบแสงฟ้าจ่าวัน") ขึ้นฟ้าทุกวัน เพื่อปล่อยสายแดดแก่โลก |
|||
ภาพตัวแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ |
|||
ด้วยเหตุที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์ของชาวไทอาหมไม่สามารถนิยามความหมายในเชิงรูปธรรมได้ชัดเจน ดังนั้น เมื่อจะเปรียบเทียบให้เห็นบทบาทและระดับความสำคัญของเทพองค์ต่างๆ บางครั้งพวกเขาจึงต้องอ้างอิงเทพเจ้าของศาสนาฮินดูมาเป็นภาพตัวแทน เช่น เลงดอน
(Lengdon) แทนด้วยพระอินทร์ (Indra) ลังกูรี (Lungkuri) แทนด้วยพระศิวะ(Siva) ย่าสิงฟ้า (Jashingpha) แทนด้วย พระนางสรัสวดี (Saraswati) เป็นต้น ท่ามกลางอิทธิพลของศาสนาฮินดูในรัฐอัสสัม งีเงาคำกลายเป็นตัวแทนเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียวของชาวอาหม ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และเป็นสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดในการประกาศตัวตนความเป็นไทอาหม และเป็นเครื่องมือในการบ่งชี้ความแตกต่างทางความเชื่อและศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทอาหม ในช่วงเวลาที่กระบวนการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของไทอาหมเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ งีเงาคำได้รับการยกระดับขึ้นมาเป็นเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ ตามบ้านเรือนในหมู่บ้านของชาวอาหมหลายแห่ง แขวนตราสัญลักษณ์นี้ไว้ที่ตำแหน่งแท่นบูชา หรือมีพิธีบูชาในฐานะเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง |
|||
เมื่อชาวไทอาหมจินตนาการว่างีเงาคำเป็นเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่พึงเคารพบูชาแล้ว ภาพแกะสลักรูปเจ้าแม่กาลีประทับบนพาหนะที่ดูคล้ายตัวงีเงาคำ ซึ่งปรากฏตามสถาปัตยกรรมโบราณ จึงได้รับการตีความตอกย้ำในสำนึกทางชาติพันธุ์โดยนักวิชาการชาวอาหม ว่าชาวอาหมถูกครอบงำด้วยอำนาจของพวกฮินดู ดังบันทึกเหตุการณ์ที่นักวิชาการไทยร่วมเดินทางชมสถาปัตยกรรมโบราณในเมืองสิพสาครว่า "...ผนังรอบ ๆ โบสถ์มีภาพแกะสลักของเทพเจ้าแห่งศาสนาฮินดู และภาพกษัตริย์ไทอาหมในขบวนแห่ ภาพหนึ่งเป็นตัวงีเงาคำกึ่งสิงห์โตกึ่งมังกร เป็นรูปแบบหนึ่งของเทพเจ้าของชาวอาหม ลูกคนที่ ๔ ของเลงดอน งีเงาคำเป็นผู้นำวัฒนธรรมไทมาเผยแพร่แก่มนุษย์บนพื้นโลก บนตัวงีเงาคำมีเจ้าแม่กาลีนั่งอยู่ เจ้า Puspa (Dr.Puspadhar Gogoi) อธิบายทันทีว่า 'เห็นไหมครับนี่คือการครอบงำของศาสนาฮินดูต่อศาสนาดั้งเดิมของชาวอาหมเรา เดิมไม่มีใครนั่งบนหลังตัวงีเงาคำ พราหมณ์มาแกะสลักเอาไว้อย่างนี้ ก็แปลว่าเทพของอาหมต้องอยู่ใต้เทพของฮินดู'..." นอกจากนี้ ยังพบว่ามีภาพแกะสลักนูนต่ำเป็นภาพเจ้าแม่กาลี เหยียบบนหลังของงีเงาคำ ปรากฏที่ผนังวิหารฮินดูที่เรียกว่า Ghanashyam Temple (หรือ Nati Gosain Dole ในภาษาอัสสัมมิส)ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสระน้ำชัยสาคร เขตเมืองสิพสาครเช่นเดียวกัน |
|||
สัญลักษณ์ และสินค้าทางวัฒนธรรม |
|||
สัญลักษณ์งีเงาคำไม่เพียงพบในพิธีกรรมหรือเป็นภาพตัวแทนศักดิ์สิทธิ์สำหรับบูชาเท่านั้น
ปัจจุบันกล่าวได้ว่างีเงาคำ
เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในกิจกรรมขององค์กรทั้งหลาย
ในการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวไทอาหมในอัสสัมอย่างแพร่หลายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบนหัวจดหมาย ปกหนังสือ เอกสารเผยแพร่ แผ่นพับ ธง เข็มกลัด นอกจากเป็นตราสัญลักษณ์แล้ว ในงานประเพณี หรือเทศกาลต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ หรือพิธีกรรมของชาวอาหม ได้แก่ งานแต่งงาน งานศพ เมด้ำเมผี วันเสือก่าฟ้า วันหล้าเจ็ด ก็มีภาพงีเงาคำประดับตกแต่ง ไม่เว้นแม้แต่ "เรือนจุ้มแสง" หรือหอผีทรงแปดเหลี่ยม สถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมที่พบเห็นทั่วไป เช่นที่หมู่บ้านบากาล (Bakal) ใกล้ตัวเมืองเดมาจี หมู่บ้านปะวาไซเกีย (Pawasaikia) ในบริเวณชุมชนฮาบุง (Habung) ทางตะวันตกของเมืองเดมาจีประมาณ ๔๐ กิโลเมตร พบว่าบนยอดหลังคาของเรือนจุ้มแสงประดับด้วยแผ่นสังกะสีตัดเป็นรูปร่างงีเงาคำ และที่หมู่บ้าน Jenhenia Ghugurajan ในท้องที่สิมาลูกูรี (Simaluguri) เขตสิพสาคร ก็มีการตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปงีเงาคำบริเวณรอบด้านของชั้นลดหลังคา แลเห็นได้เด่นชัด ส่วนที่ม่อยด้ำของ Rajmantri Bhadari Borboruah (ค.ศ.๑๘๐๖) หมู่บ้านเบตีโอนี (Betioni) เขตเมืองโคลาฆาต (Golaghat district) ก็พบตราสัญลักษณ์งีเงาคำขนาดใหญ่อยู่บริเวณกำแพงรั้ว |
|||
ล่าสุดในงานประชุมประจำปีของสมาคมวันออกพับลิกเมืองไท ครั้งที่ ๑๙ ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๒ ที่ผ่านมา มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาพวาด งานแกะสลักไม้ ตัดแต่งแผ่นโฟม ลวดลายบนย่ามและผ้ากามูซา (ผ้าพันคอพื้นเมืองของอัสสัม) ลวดลายรูปงีเงาคำประดับแทบทั้งสิ้น
ชาวไทอาหมและบุคคลทั่วไปที่มีโอกาสเยี่ยมชมงาน
ต่างให้ความสนใจและสนับสนุนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว Lila Borauh ชาวไทอาหมผู้สร้างงานศิลป์รูปสัญลักษณ์งีเงาคำที่ประดิษฐ์ตกแต่งขึ้นใหม่ และเป็นที่สนใจจากชาวไทอาหมอย่างมากในงานประชุมครั้งนี้ เขาประดิษฐ์ตกแต่งรูปงีเงาคำขึ้นจากวัสดุกระดาษ เป็นภาพนูนต่ำระบายสีทองบนพื้นกำมะหยี่สีน้ำเงิน ต่างจากรูปแบบของงีเงาคำที่ชาวอาหมเคยพบอยู่ทั่วไป เขากล่าวว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของอาหม แล้วร่วมกิจกรรมกับสมาคมวันออกพับลิกเมืองไทมาหลายปี ได้พบเห็นตราสัญลักษณ์งีเงาคำอยู่เป็นประจำ จึงอยากสร้างให้งีเงาคำซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวไทอาหม ได้แพร่หลายออกไปมากขึ้นและไม่เพียงในอัสสัมเท่านั้น อยากให้กระจายไปทั่วอินเดียในฐานะ "มังกรแห่งอัสสัม"(Dragon of Assam) |
|||
ส่งท้าย |
|||
งีเงาคำเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทอาหมที่สามารถร้อยความสัมพันธ์กับตำนานพื้นเมือง อ้างอิงความสำคัญตามบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นตราสัญลักษณ์ผู้ปกครองอาณาจักร และปรากฏร่องรอยทางโบราณคดีเด่นชัด
เมื่อภาคปฏิบัติการของขบวนการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมไทอาหมดำเนินไปอย่างเข้มข้น
ท่ามกลางกระแสสังคมวัฒนธรรมฮินดู งีเงาคำก็เป็นภาพตัวแทนอันศักดิ์สิทธิ์ตามศาสนาความเชื่อดั้งเดิมเพื่อจำแนกความต่างจากเทพเจ้าฮินดู หรืออีกนัยหนึ่งก็คืองีเงาคำเป็นประหนึ่งเครื่องมือสร้างสำนึกร่วมของชนชาติทั้งในทางรูปธรรมและพิธีกรรม จนสุดท้ายกลายเป็นสัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์เพื่อสื่อสาร เผยแพร่ และขยายวงออกไปอย่างไม่จำกัดรูปลักษณ์ กระทั่งเป็น "สินค้าทางวัฒนธรรม" ที่ได้รับความนิยมในที่สุด |