ภัทรวดี สุพรรณพันธุ์


ในสาธารณรัฐกิลเลียด (The Republic of Gilead) สิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงเป็นสิ่งที่มีค่าเท่ากับศูนย์ ที่นี่ ผู้หญิงบางคนเป็นเสมือนสมบัติของรัฐ พวกเธอถูกห้ามไม่ให้อ่านหนังสือ แต่ให้ใช้รูปภาพในการสื่อสารแทน สถานภาพแม่และเมียที่เหล่านักทฤษฎีสตรีนิยม (feminist) ยุคแรกต่างรู้สึกว่ามันช่างจำกัดศักยภาพของเพศหญิงเสียเหลือเกินนั้น ได้กลายเป็นสถานะอันสูงส่งที่พลเมืองหญิงของกิลเลียดได้แต่ฝันเพ้อถึง เมื่อหน้าที่หลักของพวกเธอคือการหลับนอนกับผู้ปกครองนคร และคุณค่าของพวกเธอก็ขึ้นอยู่กับรังไข่ในช่องท้องเท่านั้น

โชคดีที่ชะตากรรมของผู้หญิงในสาธารณรัฐกิลเลียดเป็นเพียงเรื่องราวในจินตนาการของ มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood) และสาธารณรัฐแห่งนี้ก็เป็นเพียงนครที่มีตัวตนอยู่แต่ในนวนิยายชั้นเยี่ยมเรื่อง The Handmaid’s Tale อย่างไรก็ดี แอทวูดยืนยันว่าเรื่องราวเหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และอาจเกิดขึ้นมาแล้วมากกว่าหนึ่งครั้งด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยหรือในรัฐที่ปกครองโดยลัทธิเคร่งศาสนา (Puritanism) หรือมีผู้นำทางศาสนาเป็นผู้ปกครองสูงสุด (Theocracy)

เรื่องราวของผู้หญิงสามคนสามวัยในหนังอิหร่านเรื่อง The Day I Became a Woman กระตุ้นเตือนให้นึกถึงชะตากรรมของผู้หญิงในโลกแห่งจินตนาการของ The Handmaid’s Tale อย่างไม่น่าเชื่อ

อันที่จริง The Day I Became a Woman (๒๐๐๐) ไม่ใช่หนังใหม่ แม้ว่าจะเพิ่งเข้าฉายในโรงหนังที่นี่ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ตาม หนังเรื่องนี้สร้างและออกฉายไปทั่วโลกตั้งแต่เมื่อ ๕ ปีที่แล้ว๑ มาร์เซียห์ เมชคินี (Marziyeh Meshkini) ผู้กำกับหญิงชาวอิหร่านซึ่งกำกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ก็ได้ทำหนังเรื่องที่ ๒ คือ Stray Dogs (๒๐๐๔) ไปเรียบร้อยแล้ว กระนั้น เวลาที่ผ่านเลยไปก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า The Day I Became a Woman ไม่ได้อ่อนล้าลงไปตามกาลเวลาเลย ในยุคโพสต์-เฟมินิสม์ (Post-feminism) ที่ไม่มีใครไม่รู้จักซาแมนธาจาก Sex and the City หนังเกี่ยวกับผู้หญิงและความเหลื่อมล้ำทางเพศก็ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนภาพความจริงในสังคมได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน เช่นเดียวกับที่ Judou (Zhang Yimou, ๑๙๙๐), Raise the Red Lantern (Zhang Yimou, ๑๙๙๑), Thelma & Louise (Ridley Scott, ๑๙๙๑) หรือ The Piano (Jane Campion, ๑๙๙๓) เคยทำไว้ในทศวรรษ ๑๙๙๐

เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่ม “หนังผู้หญิง” ด้วยกัน The Day I Became a Woman จัดว่าเป็นหนังที่ดูค่อนข้างจืดชืด ไม่เร้าใจ หรือบีบคั้นอารมณ์มากเท่าเรื่องอื่น เพราะทั้งเรื่องเป็นการถ่ายทอดช่วงเวลาสั้น ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้หญิงสามคนสามวัย วิธีการเล่าเรื่องก็เรียบง่ายตรงไปตรงมา นักแสดงในเรื่องก็ดูเหมือนคนจริง ๆ มากกว่าจะเป็นตัวละครในหนัง แต่ความไม่ซับซ้อนหวือหวาของเหตุการณ์เล็ก ๆ ในชีวิตของผู้หญิงธรรมดาสามคน กลับเปิดเผยให้เห็นถึงชีวิตในด้านที่ไม่สดใสนักของผู้หญิงอิหร่าน ที่จำต้องเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบทางเพศตั้งแต่ลืมตาดูโลกจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

เรื่องสั้นทั้ง ๓ ตอนที่ร้อยเรียงเป็น The Day I Became a Woman นั้นเกิดขึ้นบนเกาะคิช (Kish Island) โดยตอนแรกเป็นเรื่องของฮาวา เด็กหญิงที่อายุครบ ๙ ขวบในวันนี้ ซึ่งตามกฎหมายของอิหร่าน คือวันที่เด็กหญิงเปลี่ยนสถานภาพเป็นหญิงสาว นับจากวันนี้ ฮาวาต้องสวมผ้าคลุมศีรษะ และห้ามเล่นกับเด็กผู้ชายอีกต่อไป ฮาวาซึ่งมีเพื่อนสนิทเป็นเด็กผู้ชายชื่อฮัสซัน ได้พยายามขออนุญาตแม่และยายออกไปเล่นกับฮัสซันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะถึงเวลาเกิดคือตอนเที่ยงตรง ยายของฮาวาสอนให้เด็กหญิงดูเงาของไม้ที่ปักบนทรายแทนการดูนาฬิกา โชคร้ายที่ฮัสซันถูกพี่สาวสั่งให้ทำการบ้านอยู่ในบ้าน ฮาวาจึงได้แต่แบ่งขนมกินกับฮัสซันผ่านลูกกรงหน้าต่างบ้าน ก่อนที่แม่ของเธอจะมาตามกลับบ้านตอนเที่ยง พร้อมกับให้ของขวัญวันเกิดคือผ้าคลุมศีรษะสีดำ

ตอนที่ ๒ อะฮูเป็นหญิงสาวที่แหกกฎประเพณีโดยการเข้าร่วมแข่งขันจักรยาน ซึ่งการแข่งขันของเธอก็ถูกขัดขวางเป็นระยะ ๆ จากสามี (ผู้ประกาศหย่ากับเธอเมื่อเธอไม่ยอมออกจากการแข่งขัน) จากพ่อและญาติพี่น้องเกือบทั้งหมู่บ้านที่ยกขบวนกันมาขอร้องแกมบังคับให้เธอหยุดแข่ง และสุดท้ายจากพี่ชายที่มายึดเอาจักรยานไปและบังคับให้เธอออกจากการแข่งขัน

ตอนสุดท้ายเป็นเรื่องของฮูรา หญิงชราที่ออกตะลุยชอปปิงในร้านค้าปลอดภาษี โดยจ้างกลุ่มเด็กผู้ชายให้ช่วยขนของที่มีตั้งแต่กาน้ำชา ไปจนถึงโต๊ะ ตู้ เตียง อ่างอาบน้ำ โซฟา เตาอบ ตู้เย็น ฯลฯ ไปรอข้ามแพที่ริมหาด ระหว่างนั้น หญิงชราซึ่งใช้เศษผ้าสีต่าง ๆ มัดนิ้วมือไว้แทนรายชื่อสิ่งของที่ต้องการซื้อ ก็พยายามนึกว่าเศษผ้าชิ้นสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่นั้นแทนสิ่งของอะไร หญิงสาวสองคนที่เพิ่งแข่งขันจักรยานได้เข้ามาพูดคุยกับหญิงชราถึงผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งที่มีญาติพี่น้องมาพาตัวออกไปจากการแข่งขัน โดยคนหนึ่งบอกว่าหญิงคนนั้นถูกญาติยึดจักรยานและต้องออกจากการแข่งขันไป ขณะที่อีกคนหนึ่งแย้งว่าผู้หญิงคนนั้นเอาจักรยานอีกคันมาขี่และเข้าแข่งขันต่อ เมื่อฮูรานั่งแพที่ต่อขึ้นมาจากถังน้ำมันออกไปจากเกาะ ฮาวาและแม่ของเธอก็ยืนมองอยู่บนหาด

เมชคินีกำกับเรื่อง The Day I Became a Woman ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นโปรเจ็กต์หนังทดลองก่อนจบคอร์สอบรมทำหนังที่โรงเรียนภาพยนตร์มาคห์มัลบาฟ (Makhmalbaf Film School) ซึ่งก่อตั้งและฝึกสอนโดยผู้กำกับที่มีชื่อเสียงของอิหร่าน โมห์เซน มาคห์มัลบาฟ (Mohsen Makhmalbaf) ผู้เป็นทั้งคนเขียนบทหนังเรื่องนี้และเป็นสามีของเธอด้วย

แม้ว่า The Day I Became a Woman จะเป็นหนังเรื่องแรกของเมชคินี แต่ความเป็นผู้กำกับมือใหม่ที่กล้าคิดกล้าลอง กลับทำให้หนังมีเสน่ห์แบบดิบ ๆ และให้มุมมองที่สดใหม่เกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งไม่จำกัดไว้แต่เพียงในโลกมุสลิม ชื่อเรื่อง The Day I Became a Woman จึงเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงความไม่เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งคนใด แต่เป็นเรื่องราวที่อุทิศให้แก่ผู้หญิงทุกชาติ ทุกภาษา และทุกวัย เพราะชะตากรรมของตัวละครในเรื่องนี้ เป็นชะตากรรมของผู้หญิงที่มีวิถีย่ำซ้ำรอยเดิม ๆ มาหลายศตวรรษแล้ว

เมชคินีอาศัยพื้นที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่าเรื่องและสร้างสัญลักษณ์ โดยฉากหลังของเรื่องทั้ง ๓ ตอนคือเกาะคิชนั้น เป็นเกาะเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของอิหร่าน ซึ่งอิหร่านกำหนดให้เป็นเขตปลอดอากร (free zone) เกาะคิชจึงกลายเป็นสถานที่ “ยกเว้น” หลายประการ เช่น เป็นที่ที่อนุญาตให้มีการแข่งขันจักรยานหญิงได้ ขณะที่ผู้หญิงในเตหะรานถูกห้ามขี่จักรยาน และมีร้านค้าปลอดภาษี เป็นต้น

เมชคินีใช้ลักษณะเฉพาะทางกายภาพของเกาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตจำกัดและมีน้ำล้อมรอบ สร้างความรู้สึกของการถูกกักขังเหมือนติดอยู่ในเขาวงกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ ๒ เมชคินีใช้การเคลื่อนกล้องอย่างต่อเนื่องเพื่อจับภาพอะฮูบนอานจักรยานที่เคลื่อนที่อย่างเร็วไปบนถนนเลียบชายหาด กล้องซึ่งตัดสลับระหว่างดวงตาของอะฮูที่มองตรงสู่ถนนทอดยาวสุดลูกหูลูกตาเบื้องหน้า กับภาพขอบฟ้าและน้ำทะเลซึ่งขนานไปกับถนน ทำให้รู้สึกราวกับฉากในหนังประเภทแดนสนธยา ที่ไม่ว่าอะฮูจะพยายามหนีครอบครัวด้วยการปั่นจักรยานให้เร็วขึ้นอย่างไรก็ตาม เธอก็ไม่มีวันหนีพ้นไปจากเขาวงกตแห่งนี้ได้ ภาพจักรยานที่เคลื่อนที่อย่างไม่หยุดนิ่งบนถนนที่ทอดยาวไปอย่างไร้จุดหมาย กับหาดทรายและท้องทะเลที่เวิ้งว้างว่างเปล่า จึงสร้างความรู้สึกอึดอัดเหมือนติดกับดัก แทนที่จะรู้สึกถึงความอิสรเสรี เมชคินี่ได้ใช้ภาพเคลื่อนที่ (mobile frame) เพื่อสื่อถึงความหยุดนิ่งได้อย่างมีพลัง

ในตอนที่ ๑ เมชคินีใช้เทคนิคกล้องตรงข้ามกับตอนที่ ๒ อย่างสิ้นเชิง เกือบทั้งเรื่องเป็นการตั้งกล้องนิ่ง ๆ อยู่กับที่ แต่การใช้พื้นที่ก็ยังเป็นจุดเด่นไม่แพ้กัน ในช่วงแรกเมื่อฮัสซันมาตามหาฮาวาที่บ้าน ฮาวาถูกจำกัดพื้นที่ด้วยกรอบของตัวบ้านและรั้ว แต่เมื่อฮาวาได้รับอนุญาตให้ออกมาเล่นกับฮัสซันได้ เด็กหญิงก็พบว่าคราวนี้ไม่ใช่เธอที่ถูกกักขัง แต่เป็นฮัสซันที่ถูกสั่งให้ทำการบ้านอยู่ในบ้าน หน้าต่างลูกกรงที่กั้นระหว่างฮาวากับฮัสซัน กลายเป็นสิ่งที่ขวางกั้นฮาวาไว้จากชีวิตวัยเด็กที่อิสรเสรี และโลกที่ฮาวาคุ้นเคยก่อนจะมาถึงวันนี้ ฉากที่ฮาวาแบ่งขนมกินกับฮัสซันผ่านลูกกรงแคบ ๆ จึงเป็นฉากที่ดรามาติกมากที่สุดของตอนนี้ เมื่อกิจกรรมเล็ก ๆ สุดแสนธรรมดาของเด็กสองคน กลับเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนถึงความสูญเสียอิสรภาพที่กำลังมาถึง ตลอดช่วงเวลาสุดท้ายของฮาวา เมชคินีเลือกให้เด็กหญิงยืนอยู่บนหาดทรายเวิ้งว้างกว้างใหญ่อีกด้านหนึ่งของลูกกรง ดั่งจะย้ำเตือนว่าฮาวาต่างหากเล่าคือผู้ที่กำลังถูกคุมขังด้วยพันธนาการที่มองไม่เห็น

นอกจากพื้นที่แล้ว เมชคินียังใช้เงื่อนไขของเวลามาช่วยเพิ่มความรู้สึกกดดันให้แก่ฉาก และเป็นสัญลักษณ์ที่เตือนให้ระลึกถึงพันธนาการที่ไม่มีตัวตนในเชิงกายภาพ แต่ทว่ามีอำนาจเหนือชีวิตของฮาวา ซึ่งก็คือตัวบทกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ร้อยรัดชีวิตของหญิงอิหร่านไว้ทุกลมหายใจ

ดังนั้น ดาราเอกตัวจริงของหนังตอนที่ ๑ จึงไม่ใช่นักแสดง แต่เป็นพื้นที่และเวลาที่เมชคินี่นำเสนอเป็นนัยยะได้อย่างมีชั้นเชิง
จากอารมณ์เข้มข้นแบบสมจริงจนเกือบเป็นหนังสารคดีในสองตอนแรก เมชคินีได้ฉีกรูปแบบหนังตอนที่ ๓ ไปเป็นแนวเหนือจริง อีกครั้งที่เมชคินีใช้ความโดดเด่นของพื้นที่บนเกาะคิชให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลอดภาษี หาดทราย และผืนทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากที่เด็ก ๆ จัดวางสิ่งของเครื่องใช้ที่ฮูราซื้อมาทั้งหมดบนหาดทรายราวกับกำลังอยู่ในบ้านที่มองไม่เห็น และฉากที่ฮูรานั่งบนแพลอยออกไปจากฝั่งพร้อมกับข้าวของทั้งหมด ทั้งสองฉากนี้เป็นฉากที่ทลายกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างโลกแห่งความสมจริงและความเหนือจริง เมื่อหาดทรายและทะเลซึ่งแทนความสมจริงในสองตอนแรก ได้กลายเป็นฉากหลังให้กับโลกแฟนตาซีในตอนที่ ๓

เมชคินีให้ความเห็นว่า The Day I Became a Woman เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะของผู้หญิงเมื่อความเป็นเพศหญิงของเธอได้กลายเป็นปัญหาระดับสังคม เพราะในโลกอาหรับนั้น ผู้หญิงคือเพศที่ด้อยกว่า ชีวิตของผู้หญิงจึงถูกจำกัดอยู่แต่ในบ้าน และทำหน้าที่เป็นเพียงแม่และเมีย บทบาทการเป็น “ผู้ผลิต” ของผู้หญิงจึงแปรเปลี่ยนเป็น “ผู้บริโภค” ซึ่งในที่สุดแล้วได้กลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม๒

โทนหนังที่เปลี่ยนจากแนวสมจริงไปเป็นเหนือจริงแบบไม่ทันให้ตั้งตัวในตอนที่ ๓ จึงเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนมุมมองจากภายนอกไปสู่ภายใน ขณะที่เรื่องราวของฮาวาและอะฮูแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเมื่อ “ความเป็นเพศหญิงของเธอได้กลายเป็นปัญหาระดับสังคม” เรื่องของฮูราก็แสดงถึงความพยายามของผู้กำกับที่จะตีแผ่สภาพจิตใจของผู้ที่ได้กลายเป็น “ผู้บริโภค” ของสังคม

ตอนที่สะเทือนใจมากที่สุดจึงน่าจะเป็นเรื่องของฮูรา หญิงชราที่แสวงหาความสุขให้แก่วาระสุดท้ายของชีวิตด้วยการซื้อข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน โดยที่ปากก็พร่ำบอกว่าข้าวของเหล่านี้คือสิ่งที่เธอใฝ่หาแต่ไม่เคยได้มาตลอดชีวิต เนื้อเรื่องที่เสียดสีสภาวะ “ผู้บริโภค” ที่สลัดไม่หลุดของหญิงชราผู้นี้ แสดงถึงความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งที่ผู้กำกับมีต่อผู้หญิงอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหญิงชรารำพึงรำพันถึงลูกชายที่ไม่เคยมี และแสดงความไม่ชอบใจกาน้ำชาที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่ากาน้ำชาใส ๆ นั้นมันดู “น่าละอาย” ยิ่งนัก

เมชคินีขมวดเรื่องทั้งสามตอนเข้าด้วยกันได้อย่างแนบเนียน โดยให้ฮูราพบกับหญิงสาวสองคนที่เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอะฮู และฮาวาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ยืนมองฮูรานั่งแพออกไปจากฝั่งพร้อมกับผ้าคลุมศีรษะของเธอที่กลายเป็นใบเรือชั่วคราวให้แก่แพแพหนึ่งในนั้น ตลอดทั้งเรื่อง เมชคินี่ไม่ได้ให้คำอธิบายใด ๆ เกี่ยวกับตัวละครมากนัก แต่ปล่อยให้ผู้ชมค่อย ๆ สัมผัสและรับรู้สภาวะของตัวละครเอง เช่นเดียวกับตอนจบของทั้งสามตอนที่ไม่มีบทสรุปชัดเจน ประหนึ่งจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงอิหร่านไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินความถูกผิดกันได้ง่ายดายนัก สายตาของฮาวาที่มองตามแพของฮูราที่ลอยห่างออกไป จึงเป็นสายตาที่ทั้งว่างเปล่าและเต็มไปด้วยความหวัง เช่นเดียวกับเศษผ้าปริศนาชิ้นสุดท้ายบนนิ้วมือของฮูรา