นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ตอนเริ่มต้นของการ์ตูนดิสนีย์ เดอะไลออนคิง ภาค ๒ ซิมบ้าเจ้าป่าทรนง ซิมบ้าและนาลาได้ทายาทคนแรก เหล่าสัตว์ป่าต่างมาร่วมชุมนุมกันอย่างพร้อมหน้าเพื่อแสดงความยินดีต่อราชา รวมทั้งเสนานกเงือกซาซู ลิงบาบูนเฒ่าราฟิกิ และสองสหาย ทีโมน พุมบา

ลำพังเพียงเปิดเรื่อง ก็มีประเด็นชวนให้คิดอยู่ ๒ เรื่อง

เรื่องที่ ๑ พิธีเปิดตัวทายาทของราชามีขึ้นท่ามกลางเสียงเพลงและฉากหลังที่แสดงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ คล้ายจะบอกว่าการมีทายาทสืบสกุลเป็นเรื่องธรรมชาติ

จริงหรือที่ว่าการมีทายาทสืบสกุลเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนหนึ่งจะบอกเป็นนัยว่า การไม่มีทายาทสืบสกุลไม่เป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอัตราการเป็นหมันของมนุษย์อยู่ที่ร้อยละ ๑๐-๑๕ แล้วแต่กลุ่มประชากร จริงหรือที่ว่าคนร้อยละ ๑๐-๑๕ เหล่านี้ผิดธรรมชาติ

ในที่ประชุมหนึ่ง ผมถูกเตือนให้ระวังเรื่องการใช้คำว่า “ตามธรรมชาติ” อย่าใช้คำว่า “ตามธรรมชาติ” ในความหมายเดียวกับคำว่า “ตามปรกติ” เพราะจะทำให้คำว่า “ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ” กลายเป็นเรื่องที่ “ไม่ปรกติ”

หากเราจับคู่การมีลูกไว้กับธรรมชาติ กล่าวคือการมีลูกเป็นพฤติกรรมทางธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นปรกติ เท่ากับเรากำลังผลักไสให้การไม่มีลูกเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติและไม่ปรกติ

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ร้อยละ ๑๐-๑๕ “เป็นหมันอยู่แล้วตามธรรมชาติ”

ความสับสนในความหมายของภาษานำมาซึ่งการมีอคติต่อคนที่ไม่เหมือนกับเราได้ง่ายๆ โดยไม่ทันระวังตัว นอกจากการเป็นหมันจะถือเป็นเรื่องธรรมชาติแล้ว รักเพศเดียวกันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่พอเราคิดว่ารักต่างเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ฉะนั้นรักเพศเดียวกันจึงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ หนักข้อถึงผิดธรรมชาติและผิดปรกติไปโน่นเลย

เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพื่อเตือนสติเรื่องการใช้ภาษาในสถานการณ์ภาคใต้ และสถานการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับกลุ่มชนที่มิใช่ชนกลุ่มใหญ่ครับ

อีกประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ ไม่เพียงการมีทายาทจะถูกอุปโลกน์ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การมีบุตรคนโตเป็นชายก็ถูกทึกทักว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของการสืบทายาทด้วย ในตอนแรก คนดูจะไม่รู้ว่าซิมบ้าได้ลูกชายหรือลูกสาว จนกระทั่งตอนท้ายของฉากแรกนี้เองที่พุมบาและทีโมนออกอาการช็อกถึงสลบ เพราะรู้ว่าสิงโตน้อยที่ราฟิกิอุ้มขึ้นสูงนั้นเป็นตัวเมีย ชื่อว่า เคียร่า

นัยว่าการได้ลูกคนแรกเป็นหญิงนั้น ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

นอกจากตระกูลของซิมบ้าแล้ว ที่บริเวณแดนต้องห้าม นอกอาณาเขตของผาทรนง ยังเป็นที่อยู่ของฝูงสิงโตตัวเมีย นำโดยซีร่า ซีร่ามีลูกชายชื่อว่า โควู ซีร่า โควู และสิงโตฝูงนี้คือทายาทของสการ์ ปีศาจร้ายในอดีตที่แย่งมารดาของซิมบ้าไปครอง

พ่อแม่ดูแลลูกๆ อย่างไร

แบบแรกคือปกป้องลูกจากกิจกรรมที่ถือว่าเป็นชีวิตปรกติ แบบที่ ๒ คือปกป้องลูกจากอันตรายที่คาดการณ์ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเราควรแยก ๒ กรณีออกจากกันได้ แต่บางครั้งก็แยกได้ยาก

การปกป้องลูกจากกิจกรรมที่ถือว่าเป็นชีวิตปรกติ เช่น ทำกับข้าว ไปเรียนหนังสือ ไปเข้าค่าย
เด็กทุกคนต้องเข้าครัวไม่มากก็น้อย แม้ไม่ทำกับข้าวเอง อย่างน้อยก็ต้องอุ่นอาหารเองเป็น พ่อแม่ที่ปกป้องลูกเกินเหตุจะไม่ให้ลูกเปิดเตาแก๊สด้วยกลัวว่าลูกจะถูกไฟลุกพรึ่บใส่หน้า ส่วนพ่อแม่ที่ปกป้องลูกจากอันตรายที่คาดการณ์ได้ จะสอนลูกทำกับข้าว และสอนให้ลูกระวังเรื่องฟืนไฟ

พ่อแม่ที่ปกป้องลูกเกินเหตุลึกๆ แล้วไม่อยากให้ลูกไปเรียนหนังสือแม้ว่าจะทำทีขับรถไปส่ง ผลคือทำให้เด็กกลัวโรงเรียนและงอแงไม่ยอมลงจากรถเมื่อถึงหน้าโรงเรียน ส่วนพ่อแม่ที่ปกป้องลูกจากอันตรายที่คาดการณ์ได้จะสอนลูกให้ระวังการคบเพื่อน

พ่อแม่ที่ปกป้องลูกเกินเหตุจะไม่ให้เด็กไปเข้าค่าย ส่วนพ่อแม่ที่ปกป้องลูกจากอันตรายที่คาดการณ์ได้จะสอนลูกให้ระวังเรื่องยุง งู และยาเสพติดในค่าย

การที่พ่อแม่จะปกป้องลูกเกินเหตุจนถึงระดับที่เป็นโทษต่อเด็กนั้นต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้งพ่อและแม่ นัยว่าปรบมือข้างเดียวไม่ดัง เช่นคนเป็นพ่อปกป้องลูกอย่างมาก ขณะที่คนเป็นแม่แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพ่อ แต่ก็เป็นคนที่มีบุคลิกเงียบขรึม เก็บกด ถดถอย ยอมคล้อยตามโดยไม่โต้เถียง ไปจนถึงมีความเกลียดชังลูกอยู่ในที

ผลเสียของการปกป้องลูกเกินเหตุคือทำให้เด็กสงสัยว่าตนเองเป็นอย่างไรหรือ คุณพ่อคุณแม่ถึงได้ไม่ไว้วางใจให้ทำอะไรด้วยตนเองมากมายถึงเพียงนั้น นำมาซึ่งตัวตน (self) ที่กะพร่องกะแพร่ง ขาดวิ่น ไม่สมบูรณ์ นำไปสู่พยาธิสภาพทางจิตต่างๆ นานาในที่สุด

ซิมบ้าผู้เป็นพ่อปกป้องลูกสาวเกินเหตุแน่นอน แม้แต่จะให้ไปฝึกล่าสัตว์ก็ยังไม่วางใจ ต้องส่งทีโมนและพุมบาไประวังหลัง ชั้นแต่จะส่งใครไประวังหลังก็ไม่ส่ง แต่เลือกส่งเจ้าสองตัวนี้ไป ก็ยืนยันว่าซิมบ้านั้นบ้าแน่ แต่โชคดีที่บ้านนี้มีนาลาผู้เป็นแม่คอยถ่วงดุลและเตือนสติซิมบ้าเสมอๆ ทำให้พยาธิสภาพของเคียร่าผู้เป็นลูกสาวไม่เละเทะไปเสียก่อน อีกทั้งโชคดีที่เคียร่าพบผู้ชายที่ดีทันเวลา นั่นคือโควู

โควูเป็นลูกชายคนที่ ๓ ของซีร่า นางสิงโตใจร้ายนอกผาทรนง ตามท้องเรื่อง ซีร่ามีลูกชายและลูกสาวแล้วอย่างละ ๑ หนังบอกเป็นนัยว่าหล่อนผิดหวังในลูก ๒ ตัวแรก จึงมาลงเอากับลูกชายตัวสุดท้อง ความสัมพันธ์ระหว่างหล่อนกับลูกทั้งสามเป็นความสัมพันธ์แบบที่เรียกว่า Rigid คือแข็งกร้าวและไม่ผ่อนปรน สาเหตุดั้งเดิมคือหล่อนเลี้ยงลูกเพื่อแก้แค้นแทนพ่อ หล่อนเป็นแม่ประเภทเลี้ยงลูกเพื่อความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง นำมาซึ่งพยาธิสภาพทางจิตและโศกนาฏกรรมที่เกิดแก่ลูกชายคนโตในตอนจบ

กับโควู ซีร่ามิเพียงเลี้ยงลูกแบบแข็งกร้าว แต่ยังเลี้ยงลูกแบบบงการเกินเหตุ (overdominant) สิ่งที่ควรจะเกิดแก่โควูจึงมีได้ ๓ ทางเลือก

ทางเลือกที่ ๑ คือโควูยอมตามแม่ทุกอย่าง ทั้งที่ตนเองก็ไม่เห็นด้วย ผลลัพธ์ที่ได้คือโควูควรเป็นสิงโตประสาทแดก ขี้วิตกกังวล หวาดกลัวไปทุกเรื่อง ตัวสั่นงันงกได้ทุกสถานการณ์

ทางเลือกที่ ๒ คือโควูจะเป็นกบฏ การเป็นกบฏทำได้ ๒ ลักษณะ ลักษณะแรกคือก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น ชอบทำพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ซิ่งรถ ไม่ว่ารัฐมนตรีจะอนุญาตหรือไม่ก็ตาม (อ้าว !) ลักษณะที่ ๒ คือดื้อเงียบ ต่อต้านแบบอหิงสา ไม่ทำตามเสียจะทำไม เช่น จะเรียนหมอให้ดู แต่จบแล้วจะไปเขียนหนังสือ (อ้าว !)

ทางเลือกที่ ๓ คือถดถอยและอาจจะใกล้บ้า นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกชายคนโตของซีร่า

เท่าที่เห็น โควูเลือกที่จะเป็นกบฏ โชคดีที่เขากบฏได้ไม่นานก็พบคนรัก คือเคียร่า

โควูและเคียร่ากระทำสิ่งที่วัยรุ่นทุกคนทำ คือไม่ฟังคำพ่อแม่ เป็นตัวของตัวเอง แยกตัวแยกความคิดออกเป็นอิสระ ตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่เป็นลูกแหง่ของพ่อโรคประสาทแบบซิมบ้าและแม่โรคจิตแบบซีร่า ตามทฤษฎีแล้วทั้งสองจะทำแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการดูแลอย่างสมบูรณ์เมื่อครั้งเป็นเด็กเล็ก

เคียร่านั้นสมบูรณ์แน่ แต่โควูนั้นน่าสงสัย เป็นไปได้ว่าดิสนีย์ท่าจะมั่ว แต่ก็ให้อภัยครับ เอี้ยก้วยก็โตมาแบบมั่วๆ เหมือนกัน

ถึงว่าความรักนั้นรักษาได้ทุกสิ่ง จรรโลงใจได้ทุกเรื่อง ความรักดลบันดาลอะไรก็ได้ทั้งนั้น ที่สำคัญ ความรักเป็นเรื่องธรรมชาติ (อ้าว !)