ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com
แม้ลอนดอนจะเป็นเมืองที่มีเทศกาลหนังอยู่ทุกเดือน แต่เทศกาลหนังลอนดอน เลสเบี้ยน-เกย์ ก็ยังถือว่าเป็นเทศกาล “ใหญ่” ของปีจากสาเหตุหลายประการ
ตั้งแต่การเป็นเทศกาลที่ได้รับการจัดฉายโดยสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute–BFI) ซึ่งเป็น “ตัวแม่” เรื่องกิจกรรมวัฒนธรรมภาพยนตร์แห่งลอนดอน จนถึงความที่เป็นเทศกาลที่มีอายุยาวนานถึง ๒๖ ปี ซึ่งเมื่อเทียบว่าเทศกาลหนังเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างจริงจังก็เมื่อปี ๑๕ ปีที่แล้วนี่เอง (เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ และเทศกาลหนังทดลองกรุงเทพ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก ค.ศ. ๑๙๙๗) ก็คงพอเห็นประสบการณ์อันยาวนานของเทศกาลนี้
ลำพังการจัดเทศกาลหนังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นเทศกาลหนังที่มีจุดประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่และเขย่าสังคมอย่างเทศกาลหนังเกย์ก็ยิ่งมิใช่เรื่องง่าย เทศกาลหนังลอนดอน เลสเบี้ยน-เกย์ จัดขึ้นครั้งแรกในปี ๑๙๘๖ และจัดติดต่อกันทุกปีไม่มีหยุด แต่เมื่อปีที่แล้ว เทศกาลฯ เจอปัญหาใหญ่เรื่องเงินทุน ดังนั้นจากกิจกรรมของเทศกาลฯ ซึ่งปรกติมี ๒ สัปดาห์เต็ม จึงถูดลดเหลือ ๑๐ วันเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในปีนี้ทางผู้จัดเทศกาลฯ กล่าวประกาศในวันเปิดงานว่า ปีนี้ถือเป็นการ “คัมแบ็ก” อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง นอกจากการฉายหนังแล้วก็มีกิจกรรมเสริมต่างๆ มากมายอัดแน่น ทั้งงานเสวนา งานฉายหนังฟรีในห้องโสตศึกษา งานหาทุนให้นักเรียนเกย์-เลสเบี้ยน งานสื่อผสมระหว่างภาพยนตร์กับศิลปการแสดง งานเดินขบวนเลสเบี้ยน(ล้วนๆ) ครั้งแรกในรอบทศวรรษ ตลอดจนการออกดีวีดีหนังเกย์คลาสสิกที่ไม่เคยจัดจำหน่าย และที่ต้องมีคู่กับเทศกาลฯ ก็คืองานเต้นรำยามค่ำคืน
นี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมงานเทศกาลหนังเลสเบี้ยน-เกย์ระดับใหญ่ มีหลายอย่างที่ประทับใจตั้งแต่เรื่องนอกห้องฉายหนัง เช่น ประตูห้องน้ำในโรงหนังนั้นได้เพิ่มห้องพิเศษ คือ “ห้องไม่ระบุเพศ” ไปจนถึงเรื่องในห้องฉายหนัง เช่น ๑. มีผู้ชมแน่นขนัดทุกรอบ ๒. ในวันเปิดเทศกาลฯ ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงกำลังใจของคนดูที่ส่งเสียงปรบมือและโห่ร้องอย่างกึกก้องไปยังทีมงานและสปอนเซอร์ทั้งหลาย และ ๓. ก่อนหนังจะฉาย ทีมงานที่มากล่าวแนะนำหนังนั้นมักพูดประโยคซ้ำๆ กันว่า “เทศกาลของเราเคยฉายหนังของผู้กำกับท่านนี้มาก่อนแล้วสมัยเขาทำหนังสั้นหรือหนังเรื่องแรก” หรือเมื่อผู้กำกับกล่าวให้สัมภาษณ์หลังหนังจบ ก็มักจะพบประโยคเดิมๆ ว่า “ผมยังจำได้ถึงตอนที่หนังเรื่องแรกของผมได้ฉายที่เทศกาลนี้” สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการ “ปั้นดาว” ของเทศกาลหนังซึ่งทำอย่างต่อเนื่อง อันเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้คนทำหนังหน้าใหม่และคนทำหนังตัวเล็กๆ ทั้งหลายได้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในอาชีพ
ในส่วนต่อไปของบทความ ผู้เขียนจะเขียนถึงหนัง ๔ เรื่องที่ได้ชมในเทศกาลดังกล่าว
๑. Cloudburst
[กำกับโดย ทอม ฟิตซ์เจอราลด์ (Thom Fitzgerald)/หนังแคนาดา]
จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือการลอกเลียนโครงเรื่องของ Thelma and Louise หนังเฟมินิสต์สุดดังเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว (อันว่าด้วยสองแม่บ้านที่ทิ้งบ้านแล้วออกเที่ยวจนจับพลัดจับผลูกลายเป็นอาชญากรที่ถูกตามล่า) แต่ทำให้มันกลายเป็นหนังตลก-เลสเบี้ยนแทน สเตล-ลา (โอลิมเปีย ดูคาคิส-เจ้าของออสการ์จาก Moonstruck) และดอต (เบรนดา ฟริกเกอร์-ออสการ์จาก My Left Foot) คือสองเลสเบี้ยนวัย ๗๐ ปีที่อยู่ด้วยกันมาอย่างสุขสันต์ตลอด ๓๑ ปี จนกระทั่งหลานสาว (ผู้ไม่ได้เคลือบแคลงใจว่ายายของตนเป็น “ดี้”) ได้โยนดอตเข้าบ้านพักคนชรา สเตลลาจึงพาดอตหนีและขับรถมุ่งหน้าสู่แคนาดา เพราะเคยดูในรายการทีวีของ โรซี โอ โดเนล ว่าที่นั่นเลสเบี้ยนจดทะเบียนสมรสกันได้ และถ้าได้แต่งงานกันเมื่อไร หลานก็จะไม่มีสิทธิ์มายุ่งกับพวกเธออีก หนังจงใจล้อ Thelma and Louise ทั้งในแง่ความเป็นหนังเดินทาง (road movie), กลิ่นอายลูกทุ่ง รวมทั้งตัวละครชายหนุ่มสุดเซ็กซี่ที่เข้ามามีส่วนร่วม (ในเวอร์ชันเดิมนั้นบทนี้เป็นของ แบรด พิตต์) จุดเด่นของ Cloudburst ซึ่งเป็นจุดที่พบได้ในหนังหลายเรื่องของเทศกาลนี้ก็คือ การหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพชีวิตเกย์-เลสเบี้ยนว่าเป็นเพศที่ต้องทนทุกข์ทรมานปางตาย นี่คือหนังตลก และทุกครั้งที่มีเรื่องราวส่อแววจะเร้าอารมณ์ให้คนดูร้องไห้ หนังก็จะใส่ความตลกโปกฮาแทรกเข้ามาอยู่เสมอ แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้สอดคล้องกับบรรยากาศการต่อสู้เรื่องสิทธิการสมรสของเกย์-เลสเบี้ยนในทวีปอเมริกาเหนือที่กำลังร้อนแรง แต่หนังก็ไม่ได้ทำให้มันเป็นแต่เรื่องการเมือง สิ่งที่หนังเน้นตลอดก็คือประสบการณ์อันแสนยาวนานของคู่รักที่ทำให้ทั้งคู่มองโลกอย่างเข้าใจในความหรรษาของชีวิต
๒. Pariah
[กำกับโดย ดี รีส์ (Dee Rees)/หนังอเมริกัน]
นี่คือหนังเรื่องแรกของรีส์ ก่อนหน้านี้เธอทำหนังสั้นและไปฝึกงานกับ สไปก์ ลี ผู้กำกับผิวดำชื่อดัง Pariah เป็นหนังดีในแบบที่หนังเรื่องแรกควรจะเป็น คือเป็นเรื่องเล็กๆ จริงใจ ใกล้ตัวผู้กำกับ เป็นหนังแนวก้าวพ้นวัย (coming of age) ที่ไม่ทะเยอทะยานจนเกินตัว แต่ก็มีกึ๋น หนังเล่าเรื่องความรักครั้งแรกของวัยรุ่นเลสเบี้ยนผิวดำ ข้อดีของหนังก็คือ ตามปรกติหนังแนวนี้มักจะเล่าเรื่องโดยเริ่มต้นจากตัวละครเอกไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเพศอะไร และต่อมาค่อยๆ ค้นพบความต้องการ แต่ Pariah นั้นแค่เปิดมาฉากแรกตัวเอกก็อยู่ในบาร์เลสเบี้ยนแล้ว เธอรู้ว่าตัวเธอเป็นอะไรและต้องการอะไร แต่สิ่งที่เธอต้องจัดการ รับมือ และไม่วิ่งหนี คือการค่อยๆ เผชิญหน้ากับพ่อแม่และรักครั้งแรก หนังนำเสนอตัวละครพ่อแม่ได้น่าสนใจ พ่อของตัวละครเอกเป็นตำรวจที่ลึกๆ ก็รู้ว่าลูกตัวเองเป็นเลสเบี้ยนแต่ไม่เคยยอมรับ ส่วนตัวละครแม่ก็พยายามจะดึงให้พ่อมายอมรับและรับผิดชอบอยู่ตลอดเวลาแต่ก็มีความกล้าๆ กลัวๆ อยู่ในใจ หนังเรื่องนี้มีเทคนิคการจัดแสงและถ่ายภาพได้สวยมาก โลกของหนังเรื่องนี้เหมือนอยู่ในโลกที่มีหลอดไฟแบล็กไลต์ ซึ่งการจัดไฟแบบนี้จะเน้นสิ่งที่ขาวและดำออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้จัดไฟเพื่อบอกถึงความแตกต่างระหว่างขาว-ดำ (เพราะไม่มีตัวละครผิวขาวอยู่เลย) หากแต่ออกแบบแสงเพื่อขับให้เห็นว่าความดำของสีผิวนั้นสวยงามขนาดไหน
๓. Absent
[กำกับโดย มาร์โค เบอร์เจอร์ (Marco Berger)/หนังอาร์เจนตินา]
เจ้าของรางวัลหนังเกย์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเบอร์ลินปีที่แล้ว หนังเล่าเรื่องของนักเรียนหนุ่มกับครูสอนว่ายน้ำประจำโรงเรียน โดยฝ่ายแรกนั้นได้ค่อยๆ ดำเนินแผนที่วางมาอย่างรัดกุมทีละขั้นเพื่อไปนอนบ้านครูที่เขาหลงรัก ครึ่งแรกของหนังทำออกมาอย่างตื่นเต้นระทึกขวัญให้เห็นมารยาร้อยเล่มเกวียนของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง แต่แล้วครึ่งหลังของหนังก็ได้มีการหักมุมและนำไปสู่จุดที่ไม่คาดฝัน หนังเล่นกับคำว่า absent (ขาดเรียน, หายไป) ในหลายๆ มิติ ภาพกว่าครึ่งของหนังเล่นกับการถ่ายแบบระยะใกล้ และการถ่ายแบบชัดตื้นและชัดลึก การออกแบบภาพเหล่านี้สอดคล้องกับความรู้สึกของคนดูว่ามีบางสิ่งที่หายไปอยู่ตลอดเวลา
หนังพูดถึงทัศนคติของชายจริงหญิงแท้และเกย์ได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งพลิกแพลงให้เห็นว่าทัศนคติเหล่านี้จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงทัศนคติ มันมีเรื่องอื่นๆ ในโลกที่ยิ่งใหญ่กว่า และเรื่องยิ่งใหญ่เหล่านี้ทำให้ทัศนคติของคนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปได้ หนังมีการใช้ดนตรีประกอบได้น่าสนใจมาก เช่นในบางฉากที่เด็กหนุ่มพยายามจะพิชิตร่างกายของคุณครู ดนตรีประกอบก็ถูกบรรเลงราวกับว่าจะมีใครฆ่ากันตาย ดนตรีในเรื่องนี้ครึ่งหนึ่งทำหน้าที่ล้อเลียนอารมณ์หวาดกลัวเกย์ของผู้ชมชายจริงหญิงแท้ และอีกครึ่งหนึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครที่เป็นคนเก็บงำ ไม่ยอมแสดงสิ่งที่ตนรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา
๔. North Sea Texas
[กำกับโดย บาโว เดอเฟอร์เน (Bavo Defurne)/หนังเบลเยียม]
รักครั้งแรก เซ็กซ์ครั้งแรก ตัวละคร ๕-๖ ตัว และเมืองริมทะเล คือส่วนประกอบของหนังรักวัยรุ่นสุดน่าหลงใหลเรื่องนี้ หนังเล่าเรื่องของเด็กชายเกย์ที่อาศัยอยู่กับคุณแม่นักแสดงละครเร่แรดๆ ที่ไม่ค่อยสนใจลูกนัก เด็กน้อยจึงมักไปขลุกอยู่ข้างบ้าน ซึ่งทั้งลูกชายและลูกสาวของบ้านข้างๆ นี้ต่างหลงรักเขาทั้งคู่ แน่นอนว่าตัวละครเอกเลือกลูกชาย เขามักซ้อนท้ายจักรยานของหนุ่มข้างบ้าน ปั่นไปริมทะเลและร่วมรักกันในยามบ่ายของทุกวัน จนกระทั่งหนุ่มข้างบ้านเติบโต เขาจากเมืองนี้ไปและกลับมาอีกครั้งในสภาพที่ไม่เหมือนเดิม แต่นั่นก็เช่นเดียวกับตัวละครทุกตัวที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา รวมทั้งตัวละครเอกที่แข็งแกร่งขึ้นทุกครั้งที่เขาได้เจอชายคนรัก
หมายเหตุ : เทศกาลหนังลอนดอน เลสเบี้ยน-เกย์ ปีนี้มีหนังไทยได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมฉาย ๑ เรื่อง คือ Yes or No อยากรักก็รักเลย กำกับโดย สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร