เรื่อง สุเจน กรรพฤทธิ์ / ภาพ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ มีการจัด “คอนเสิร์ตพลังจักรยาน” ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในชื่องานว่า “เทศกาลปั่นเมือง” (Cycle-Lizing Bangkok Fest) ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่แสงไฟบนเวทีคอนเสิร์ตผลิตขึ้นจาก “กำลังขา” ของคนปั่นจักรยาน

– ผู้ริเริ่มคอนเสิร์ตครั้งนี้คือมูลนิธิโลกสีเขียว  เนื่องในวาระ ๒๐ ปีของการก่อตั้งมูลนิธิที่ทำงานด้านการศึกษาและดูแลสิ่งแวดล้อม ทีมงานได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจัดคอนเสิร์ตรูปแบบใหม่ขึ้นภายใต้แนวคิดปลอดขยะพลาสติกและประหยัดพลังงาน ซึ่งต่างจากการจัดคอนเสิร์ตปรกติที่ต้องใช้ไฟฟ้ามหาศาลและเกิดขยะหลายพันกิโลกรัมหลังงานเลิก

– สถานที่จัดงานคืออาคารบันเทิง สวนลุมพินี บริเวณเวทีกลางแจ้งรูปครึ่งโดม มีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับจักรยานและส่งเสริมการใช้จักรยานในเมือง  จุดที่ทำให้งานนี้แตกต่างจากคอนเสิร์ตทั่วไปคือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ดังนี้

เวทีประหยัดพลังงาน จัดกลางแจ้งอาศัยแสงจากดวงอาทิตย์(ตั้งแต่สี่โมงเย็นเป็นต้นไป) เลือกแนวเพลงอะคูสติกซึ่งใช้ไฟฟ้าน้อย หน้าเวทีด้านซ้ายและขวามีจักรยาน ๓๐ คันทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเลี้ยงหลอดไฟบนเวที โดยแต่ละคันติดมอเตอร์กระแสตรง (DC) ขนาด ๒๔ โวลต์ ๒๕๐ วัตต์ สำหรับปั่นไฟ

สาธารณูปโภคแบบ “อัตโนมือ” อาทิ กระดานแผนที่ชี้วัดคุณภาพอากาศในเขตต่างๆ ของกรุงเทพฯ ด้านหลังกระดานมีปุ่มกดแสดงผลคุณภาพอากาศด้วยตนเอง จุดขายน้ำผลไม้ปั่นที่ใช้กำลังขาแทนไฟฟ้า เป็นต้น

มีการขอความร่วมมือจากผู้ร่วมงานให้เดินทางด้วยจักรยานหรือระบบขนส่งมวลชน พกกระติกน้ำและกล่องข้าวมาเองเพื่อลดการก่อขยะ ในงานมีจุดเติมน้ำดื่มฟรีและไม่มีการใช้ถุงพลาสติกอย่างสิ้นเชิง

ซ้าย : บรรยากาศขณะอาสาสมัครปั่นจักรยานผลิตไฟฟ้าให้เวทีคอนเสิร์ต
ขวา :การปั่นน้ำผลไม้ด้วย “แรงขา”

ในวันงานมีจักรยานไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ คันเข้าร่วม  มีอาสาสมัคร ๓๒ คนคอยถีบจักรยานปั่นไฟตามจังหวะที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ให้สัญญาณตลอดการแสดงบนเวทีของศิลปิน ได้แก่ Sqweez Animal, ทีโบน, ก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ, อพาร์ตเมนต์คุณป้า และฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์  จักรยานปั่นไฟนั้นแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม แถวหน้า ๑๔ คันปั่นไฟสำหรับส่องตัวศิลปิน แถวหลัง ๑๖ คันปั่นไฟที่ติดตั้งอยู่บนฉากหลัง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉลี่ย ๒๐๐-๓๐๐ วัตต์เมื่อปั่นด้วยความเร็วปรกติ  ณฐพลกล่าวว่าเขาชอบความรู้สึกที่มีคนมาออกกำลังกายอยู่หน้าเวทีในขณะที่เขาร้องเพลงให้ฟัง “ไม่เคยเล่นดนตรีในที่ที่มีบรรยากาศน่ารักแบบนี้”

ผู้ร่วมงานคนหนึ่งบอกเราว่าชอบงานแบบนี้และอยากให้มีบ่อยๆ เพราะเป็นการรวมกลุ่มคนใช้จักรยานในเมือง เป็นการส่งเสียงไปยังผู้บริหารบ้านเมืองเพื่อผลักดันนโยบายเกี่ยวกับทางจักรยาน และคอนเสิร์ตรูปแบบนี้ควรเป็นต้นแบบในการจัดคอนเสิร์ตรักษ์โลกสำหรับผู้จัดคนอื่นๆ ด้วย  “จริงๆ งานแบบนี้ในต่างประเทศมีมาหลายสิบปีแล้ว และงานแบบนี้ทำให้เราผลักดันเรื่องจักรยานได้มากขึ้น”

ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่าต้องการส่งเสริมการใช้จักรยานในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น ด้วยปัจจุบันแม้อากาศในกรุงเทพฯ ดีกว่าเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วจากการยกเลิกการใช้น้ำมันผสมสารตะกั่ว มีการควบคุมรถควันดำ แต่ก็ยังคงส่งผลต่อสุขภาพ ทางออกหนึ่งคือลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน และอีกทางหนึ่งคือการหันมาขี่จักรยานมากขึ้น  “เมืองที่ใช้จักรยานจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ จักรยานปลอดมลพิษและสะดวก ที่สำคัญคือทำให้คนในเมืองมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น”

ในยุคที่กระแสจักรยานกำลังมาแรง “เทศกาลปั่นเมือง” เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นเพื่อผลักดันเมืองน่าอยู่ผ่านนโยบายเกี่ยวกับจักรยาน  ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียวกล่าวว่า

“จักรยานนอกจากแก้ปัญหาที่ซับซ้อน คือเรื่องคุณภาพอากาศ สุขภาพ ฯลฯ มันยังส่งผลในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้ทุกคนเข้าถึง ‘ถนน’ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้สร้างให้รถยนต์เท่านั้น  ถ้าเราใช้จักรยานกันมากๆ ก็ไม่ต้องตัดถนนเพิ่ม และจะเหลืองบประมาณและพื้นที่จำนวนมากในการสร้างสวนสาธารณะและห้องสมุดสาธารณะอีกหลายแห่ง”