ภัควดี วีระภาสพงษ์
มองปรากฏการณ์ร่วมสมัย วัฒนธรรมมวลชน
ความเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติของโลกศตวรรษที่ ๒๑

 

ซ้าย : Maria Trigona นักเขียนผู้ผลิตรายการวิทยุ และคนทำหนัง ชาวอาร์เจนตินา งานของเธอมุ่งเน้นประเด็นการต่อสู้ของคนงานขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และสิทธิมนุษยชนในละตินอเมริกา
กลาง : การยึดครองโรงงานและบริหารจัดการกันเองของคนงานในอาร์เจนตินา บทบาทของ Grupo Alavio คือการสนับสนุนการต่อสู้ตลอดจนการใช้สื่อวีดิทัศน์ในการผลิตสารคดี
ขวา : เว็บไซต์ www.agoratv.org สถานีโทรทัศน์ที่เปิดให้ขบวนการสังคมกลุ่มต่างๆ ผลิตสื่อเผยแพร่

ตำรวจบุกเข้าไปในห้องพักห้องหนึ่งบนชั้นที่ ๒๑ ของตึกอพาร์ตเมนต์ในย่านฟลอเรส กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา  ในห้องพักแห่งนั้นเต็มไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ  เครื่องส่งสัญญาณโทรทัศน์ และอุปกรณ์ถ่ายทำข่าวและภาพยนตร์สารคดี  ตำรวจยึดอุปกรณ์เหล่านั้นไปจนหมด แม้จะจับตัวกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของห้องไม่ได้ก็ตาม พวกเขาไหวตัวหนีไปก่อนแล้ว โดยอาศัยเพื่อนบ้านในย่านนั้นส่งสัญญาณบอกทันทีที่ตำรวจปรากฏตัวขึ้น

เครื่องมือเหล่านี้เป็นของสถานีโทรทัศน์ยูโทเปีย  ในสายตากฎหมาย พวกเขาคือสถานีโทรทัศน์เถื่อน  แต่ในสายตาประชาชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคม พวกเขาคือแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของการสื่อสาร  สถานีโทรทัศน์ยูโทเปียต้องเผชิญกับการคุกคามจากตำรวจและกฎหมาย  มีหลายครั้งขณะกำลังถ่ายทำภาพยนตร์กลางถนน ตำรวจก็เข้ามาจับกุมนักข่าวและช่างภาพ แล้วทุบทำลายกล้องถ่ายภาพยนตร์ทิ้ง  สถานีโทรทัศน์ยูโทเปียมีชีวิตยืนยาวมาได้เพียงไม่กี่ปี แค่ช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๐ แล้วก็ต้องแยกย้ายสลายตัวไปในที่สุด

แต่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาสถานีวิทยุโทรทัศน์ชุมชนที่ผุดขึ้นมามากมายในประเทศอาร์เจนตินา ทั้งในเมืองหลวงและในเมืองใหญ่ๆ  และไม่ได้มีเฉพาะในประเทศอาร์เจนตินาเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคละตินอเมริกา

เผด็จการสื่อสารมวลชน

ในอาร์เจนตินา การรวมศูนย์ของสื่อมวลชนเกิดขึ้นในช่วงปี ๒๕๑๙-๒๕๒๖ เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารเซ็นเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์เกือบทั้งหมด และออกกฎหมายเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายค้านได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย  ในช่วงเวลาอันดำมืดนั้น รัฐบาลทหารสังหารและ “อุ้ม” ประชาชนหายไปรวมแล้วถึงราว ๓ หมื่นคน

การกดขี่ย่อมทำให้เกิดปฏิกิริยาตามมา  การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารด้วยการสื่อสารเกิดขึ้นจากคน ๒ กลุ่ม  กลุ่มแรกอยู่ในวงการศิลปะและภาพยนตร์ พวกเขาสร้างหนังการเมืองบอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นแรงงานและการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาติ  อีกกลุ่มหนึ่งคือนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวด้านข่าวสาร พวกเขาทำสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์เถื่อน บางครั้งใช้วิธีดักสัญญาณถ่ายทอด ขัดจังหวะรายการโทรทัศน์ปรกติ เพื่อออกอากาศเกี่ยวกับข้อมูลของขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร  กลุ่มเหล่านี้ต้องเผชิญกับการกวาดล้างและความรุนแรงอย่างไม่ปรานี  ผู้กำกับภาพยนตร์บางคนถูกรัฐบาลทำให้สาบสูญ อีกหลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ แม้แต่นักข่าวในสื่อกระแสหลักก็ยังถูกหน่วยคอมมานโดของกองทัพสังหารไปกว่า ๑๐๐ คน

ถูกกฎหมายปะทะถูกต้อง

นับตั้งแต่อาร์เจนตินาฟื้นระบอบประชาธิปไตยในปี ๒๕๒๖ กฎหมายการแพร่สัญญาณวิทยุโทรทัศน์ที่ตกค้างมาจากยุคเผด็จการได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งยังคงส่งเสริมการครอบครองและผูกขาดสื่อโดยภาคเอกชน  ตามกฎหมายฉบับนี้ เฉพาะปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มเชิงพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศเท่านั้นที่มีสิทธิ์ขอใบอนุญาตแพร่สัญญาณวิทยุโทรทัศน์  ส่วนกลุ่มที่ไม่แสวงหากำไร มหาวิทยาลัย สหกรณ์ หรือสมาคมของชุมชน ไม่มีสิทธิ์ขอใบอนุญาตแพร่สัญญาณ

กลุ่มธุรกิจกอบโกยผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ ทำให้การนำเสนอข่าวสารภายในประเทศออกมาทิศทางเดียว  อดีตประธานาธิบดีคาร์โลส เมเนม (Carlos Menem) แปรรูปสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐหรือของสาธารณะให้แก่ภาคเอกชนในปี ๒๕๓๓  สถานีที่ถูกแปรรูปได้รับสิทธิ์แพร่สัญญาณจนถึงปี ๒๕๔๘  มีกลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มได้สัมปทานสิทธิ์มากกว่า ๒๔ สถานี ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุว่ากลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่มครอบครองสัมปทานสิทธิ์ได้มากที่สุดเพียงแค่ ๔ สถานีเท่านั้น  ครั้นล่วงถึงปี ๒๕๔๘ อันเป็นปีที่สัมปทานหมดอายุลง ประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์(Néstor Kirchner) ก็แก้ไขกฤษฎีกาฉบับ ๕๒๗/๐๕ ของอดีตประธานาธิบดีเมเนม โดยต่ออายุสัมปทานขั้นต้นให้กลุ่มธุรกิจสื่อมวลชนอีก ๓๕ ปี  สถานีโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุด ๓ อันดับแรกของประเทศจะยังอยู่ในกำมือของกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ต่อไปจนถึงปี ๒๕๖๘

กลุ่มคนยากจนและนักกิจกรรมทางสังคมเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ส่งเสริม “ประชาธิปไตยในการสื่อสาร”  พวกเขาต้องการนำเสนอโลกในสายตาของแรงงาน เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนที่ไร้ปากเสียง วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและระบบทุนนิยม เพิ่มอำนาจให้ประชาชนและชุมชนต่างๆ  พวกเขาจึงจัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของตัวเองขึ้นมา  สถานีเหล่านี้แม้จะ “เถื่อน” ในสายตาของกฎหมาย แต่มันมี “ความชอบธรรม” ในการต่อสู้เพื่อช่องทางการสื่อสารที่เป็นธรรม

บางครั้งการต่อสู้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายทั้งหมด  เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลายมากขึ้น โอกาสก็มีมากขึ้น อาทิเช่น การก่อตั้งสถานีอาโกรา ซึ่งถ่ายทอดผ่านทางเว็บไซต์ www.agoratv.org ในตอนแรกเริ่มนั้น กลุ่มผลิตวีดิทัศน์ Grupo Alavío สร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมาเพื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ในระดับชุมชนเมืองของกรุงบัวโนสไอเรส  แต่กลุ่มต้องประหลาดใจที่เว็บไซต์นี้กลายเป็นเครื่องมือสื่อมวลชนที่ทรงพลัง มีผู้ชมหลายพันคนจากทั่วโลกเข้ามาชมวิดีโอที่หาชมไม่ได้ในสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์  เป้าหมายของสถานีโทรทัศน์อาโกราคือ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้าถึงสื่อมวลชนและใช้สื่อเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคม

คำว่า อาโกรา (Ágora) มาจากศัพท์ภาษากรีก-agora โดยรากศัพท์หมายถึงสมัชชาของปวงชน หรือจัตุรัสสาธารณะที่ประชาชนมาพบปะและสร้างปฏิบัติการทางการเมืองในรูปแบบของประชาธิปไตยทางตรง  Grupo Alavío เป็นผู้บริหารเว็บไซต์นี้ก็จริง แต่สถานีโทรทัศน์อาโกราเป็นพื้นที่เปิดสำหรับกลุ่มผลิตวีดิทัศน์และกลุ่มต่างๆ ที่จะเข้ามาเผยแพร่วิดีโอของตน  แนวคิดคือเปิดโอกาสให้ขบวนการสังคมและผู้ผลิตวิดีโอเข้ามาใช้สถานีอาโกราเป็นเวทีบอกกล่าวทัศนะ  พื้นฐานของโครงการคือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อผลประโยชน์ของชุมชน  Grupo Alavío มีการดำเนินงานด้านการฝึกอบรมแก่กลุ่มต่างๆ เพื่อให้กลุ่มต่างๆ สามารถผลิตสื่อด้านโสตทัศน์ด้วยตนเอง รวมทั้งเปลี่ยนผู้ชมจากผู้บริโภคที่เฉื่อยชาให้กลายเป็นผู้ชมที่รู้จักวิพากษ์วิจารณ์  สถานีโทรทัศน์อาโกราจึงเป็นหน้าต่างเพื่ออิสรภาพอีกบานหนึ่ง ช่วยสร้างจินตภาพใหม่ๆ ที่สะท้อนถึงความสนใจและความต้องการ โดยเฉพาะทัศนะของชนชั้นแรงงานและประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

การแก้ไขกฎหมาย : หน้าต่างที่เปิดกว้างกว่าเดิม

กระนั้น การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการแพร่สัญญาณวิทยุโทรทัศน์ก็เป็นเป้าหมายก้าวหนึ่งของประชาชน  องค์กรสื่อระดับรากหญ้า องค์กรสิทธิมนุษยชน ศิลปิน กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ รวมทั้งหมดกว่า ๕๐๐ องค์กร จับมือกันเป็นแนวร่วมในชื่อว่า “แนวร่วมเพื่อการแพร่สัญญาณวิทยุโทรทัศน์ที่เป็นประชาธิปไตย” (Coalition for Democratic Broadcasting) และรณรงค์ให้แก้ไขกฎหมายฉบับเดิม

การต่อสู้เป็นเวลาหลายปีมาประสบความสำเร็จในปี ๒๕๕๒ เมื่อสภายอมผ่านกฎหมายการแพร่สัญญาณวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่  เนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่ก็คือ สัญญาณวิทยุโทรทัศน์จะถูกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนเท่าๆ กัน  ส่วนแรกเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามารับสัมปทาน ส่วนที่ ๒ ให้รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณะใช้ประโยชน์ และส่วนที่ ๓ เปิดโอกาสให้องค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น มหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ ชุมชน ฯลฯ ยื่นขอใบอนุญาตใช้สัญญาณวิทยุโทรทัศน์ได้  ในกฎหมายมีข้อความที่ระบุว่า “คลื่นกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์เป็นสมบัติของชุมชน เป็นมรดกตกทอดของมนุษยชาติ…มันจึงควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐด้วยบรรทัดฐานที่เป็นประชาธิปไตย”

กระนั้นก็ตาม กฎหมายนี้ยังไม่ใช่หลักประกันที่แน่นอนว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรจะสามารถเข้าถึงคลื่นสัญญาณได้อย่างเท่าเทียม  กฎหมายนี้ไม่ครอบคลุมถึงการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและการให้ทุนอุดหนุนต่อองค์กรในการสร้างสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไม่ได้ให้ทุนอุดหนุนแก่ชาวพื้นเมืองที่ด้อยโอกาสมากที่สุด  และมีช่องโหว่ที่บรรษัทเอกชนสามารถจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรของตัวเองขึ้นมาแล้วเบียดบังแย่งชิงใบอนุญาตไป  อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นย่างก้าวที่เดินหน้าไปบนวิถีทางที่ถูกต้อง และช่วยผลักหน้าต่างแห่งอิสรภาพในการสื่อสารให้กว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิม