เรื่อง สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช


ทะเลอันดามัน ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๕

แสงแดดเจิดจ้าของฤดูหนาวส่องทะลุเมฆฝนลงมากระทบระลอกคลื่นบนผืนน้ำสีน้ำเงินเข้ม เรือของเราเพิ่งออกจากปากน้ำระนอง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตรงเข้าหาชายฝั่งประเทศพม่า

เมื่อนายท้ายชี้ไปที่ฝั่งพร้อมกับบอกว่า “เขาก็มีของเขา เราก็มีของเรา”

มองตามไป ผมก็ได้พบ “ของเขา”–ประติมากรรมหล่อสัมฤทธิ์รูปพระเจ้าบุเรงนองขนาดมหึมา ความสูงไม่น่าจะต่ำกว่า ๓ เมตร  ลักษณะอิริยาบถอยู่ในท่าพระบาทข้างหนึ่งก้าวบนโขดหิน ขณะพระหัตถ์ชักพระแสงดาบออกจากฝักครึ่งท่อน สายพระเนตรทอดมายังปากน้ำระนองฝั่งไทย  ส่วน “ของเรา” ที่นายท้ายพูดถึงก็คือพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรซึ่งมีอยู่ตามเมืองประวัติศาสตร์และเมืองชายแดนไทย-พม่า

ในจังหวัด Kaw Thaung หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “เกาะสอง” นอกจากอนุสาวรีย์นี้แล้ว สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนาม “บุเรงนอง” ยังมีอีกแห่งคือ “แหลมบุเรงนอง” (Bayinnaung Point)

แหลมบุเรงนองนี้มีเรื่องเล่าว่ารัฐบาลทหารพม่าเปลี่ยนชื่อมาจาก “แหลมวิกตอเรีย” (Victoria Point) ซึ่งชื่อนี้อังกฤษตั้งตามพระนามสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษสมัยที่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นัยว่าเมื่อพม่าพ้นจากการเป็นอาณานิคมแล้วก็ไม่ควรจะมีชื่อเหล่านี้หลงเหลืออีก แต่สุดท้ายก็อย่างที่คนนำทางชาวพม่าบอก “ไม่มีใครเขาเรียกตามชื่อที่รัฐบาลตั้ง และคนไทยอาจจะไม่รู้ว่าในพม่าไม่มีใครกราบไหว้อนุสาวรีย์”

ทว่าแม้จะไม่มีใครเรียกแหลมนี้ว่าแหลมบุเรงนอง แม้อนุสาวรีย์ของพระองค์จะไม่มีใครมากราบไหว้ แต่ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “บุเรงนอง” ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติย่างกุ้ง  อนุสาวรีย์บริเวณจัตุรัสใหญ่กลางกรุงเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่  ชื่อสะพาน ถนน ตลาดในอดีตเมืองหลวงย่างกุ้ง ชื่อเรือรบติดจรวดนำวิถีในกองทัพเรือ ชื่อโรงแรมหรูแห่งหนึ่งในเมืองตองอูซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นดั้งเดิมของพระองค์ หรือแม้กระทั่งชื่อสโมสรกีฬาบุเรงนอง

ในเมืองไทย เรื่องของบุเรงนองถูกดัดแปลงเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของ “ยาขอบ” (โชติ แพร่พันธุ์) ที่เริ่มเผยแพร่ในปี ๒๔๗๔  ก่อนจะได้รับความนิยมจนมีการนำไปสร้างเป็นละครทีวี ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ ทำให้ “จะเด็ด” (บุเรงนอง) เป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของคนไทยจำนวนมากโดยไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับพระเจ้าบุเรงนองที่ยกทัพมา “ปล้นเอกราช” (ในความหมายโบราณ) ไปจากกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๑๑๒ เลย

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า บอกผมตั้งแต่ก่อนออกเดินทางตามรอยกษัตริย์องค์นี้แล้วว่า ยากที่จะบอกว่าพระเจ้าบุเรงนององค์จริงนั้นเป็นอย่างไร

“พระองค์เหมือนยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ไม่ได้แค่มีตัวตนในประวัติศาสตร์แล้วจากไปเงียบๆ เหมือนกษัตริย์พระองค์อื่น เพราะเรื่องของบุเรงนองถูกผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าในลักษณะข้ามวัฒนธรรม มีการตีความหลายครั้งในหลายยุคหลายสมัย สำหรับคนไทยก็ไม่ได้คิดถึงตัวพระองค์ที่เป็นจริงในประวัติศาสตร์พม่า”

ทว่าถึงแม้จะทราบเช่นนั้น อย่างน้อยผมก็หวังว่าจะได้รู้จัก “พระเจ้าบุเรงนอง” ที่ต่างไปจากนิยายและ “เข้าถึง” พระองค์ได้มากกว่าที่เคยรับรู้มา

เรื่องของ “จะเด็ด”

กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

ซากกำแพงเก่าเมืองตองอู (Taung-Oo) ที่ก่อด้วยอิฐอายุกว่า ๔๐๐ ปีตั้งตระหง่านใกล้กับคูเมืองซึ่งยังคงมีน้ำขังอยู่ภายใน  เมื่อลองตระเวนดูรอบเมืองก็พบว่าคูน้ำนี้ล้อมรอบพื้นที่เกาะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในตัวเกาะเมืองมีสิ่งก่อสร้างซึ่งน่าจะหลงเหลือมาจากสมัยตองอูรุ่งเรือง คือ เจดีย์ชเวซันดอว์ (Shwesandaw) กับ เจดีย์กอว์มูดอว์ (Kaungmudaw) นอกนั้นเป็นซากพระราชวังปะปนอยู่กับบ้านเรือนประชาชน

ตองอูอยู่ห่างย่างกุ้งเมืองหลวงเก่าที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตอนล่างของพม่าขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๓๐๐ กิโลเมตร มีแม่น้ำสะโตง (Sittaung) ที่ไหลมาจากภาคเหนือผ่านตัวเมืองด้านทิศตะวันออก  ทางด้านเหนือและตะวันตกของตัวเมืองล้อมด้วยเทือกเขาพะโค-โยมา และถ้าข้ามแม่น้ำไปทางทิศตะวันออกจะเป็นเขตภูเขาสูงติดต่อกับรัฐฉาน

ในภาษาพม่า “ตองอู” แปลว่า “เมืองในหุบเขา” ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่มั่นคง หลังอาณาจักรพุกามล่มสลาย ตองอูจึงกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีอำนาจเมืองหนึ่งเช่นเดียวกับหัวเมืองอื่น ๆ ที่แยกตัวเป็นอิสระ อาทิ แปร อังวะ  เดิมตองอูขึ้นกับอังวะ เติบโตขึ้นจากการก่อร่างสร้างตัวของพระเจ้ามหาศิริไชยสูร (พระเจ้ามิงกินโย) สะสมผู้คนและทรัพยากรจำนวนมากจนเมืองตองอูเข้มแข็งก่อนจะประกาศเป็นหัวเมืองอิสระ

พระองค์มีบทบาทในชีวิตบุเรงนองในวัยเยาว์อย่างยิ่ง ในฐานะพระราชบิดาของเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ซึ่งต่อมาจะเป็นทั้งเจ้าชีวิตและพระอนุชาที่สนิทที่สุดของบุเรงนอง

เมื่อไม่นานนี้ ตองอูเพิ่งจะมีงานฉลองใหญ่เนื่องในโอกาสครบ ๕๐๐ ปีแห่งการก่อตั้งเมือง (พ.ศ. ๒๐๕๓-๒๕๕๓) ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่พระเจ้ามิงกินโยขึ้นครองราชย์

ในวาระ ๕๐๐ ปีการก่อตั้งเมืองนั้นยังมีการจัดทำหนังสือที่ระลึก ปฏิทินตั้งโต๊ะ และการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในเมือง ซ่อมแซมถนนหนทาง รวมทั้งการต่อเติมโรงแรมขนาดใหญ่ชื่อ รอยัล เกตุมวดี (Royal  Kaytumadi Hotel) ภายในบริเวณโรงแรมแห่งนี้ยังมีการจัดวางประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองไว้จำนวนมาก

ถึงตอนนี้ นักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันเรื่องชาติกำเนิดของพระเจ้าบุเรงนอง ด้วยปรากฏตำนานที่เล่ากันแพร่หลายว่าพระองค์เกิดในครอบครัวคนปาดตาลยากจนที่หมู่บ้านงะสะยอก แขวงเมืองพุกาม  ในยุคนั้นอาชีพนี้ถือว่ายากจน ต้องเสี่ยงปีนต้นตาลสูงเท่าตึก ๔-๕ ชั้นเพื่อปาดงวงตาล รองเอาน้ำหวานจากยอด (มาทำน้ำตาลสด น้ำตาลปึก ฯลฯ) ถ้าดูในแผนที่ปัจจุบันจะพบว่าพุกามอยู่ห่างตองอูไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือหลายร้อยกิโลเมตร (และทุกวันนี้ก็มีคำบอกเล่าในหมู่มัคคุเทศก์พม่าว่ามีหมู่บ้านชื่อ “ต้นตาล” อยู่ห่างตัวเมืองพุกามไปไม่ไกลนัก)

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่เชื่อถือได้ที่สุดคือ พงศาวดารฉบับอูกาลา เขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๔๕ (หลังพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต ๑๒๑ ปี) กลับบ่งเป็นนัยว่าพระองค์มีเชื้อสายราชวงศ์ตองอู เกิดที่เมืองนี้ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๐๕๘ (ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา  ทั้งนี้ ถ้านับตามขึ้นปีใหม่สากลคือ พ.ศ.๒๐๕๙) เป็นบุตรของเมงจีส่วย (Mengyi Swe)

ขณะที่พงศาวดารตองอูซึ่งเป็นตำนานของเมืองก็ออกนามว่า “จะเต็ด” (แปลว่าเจ้าปลวกไต่-คนไทยคุ้นชื่อ “จะเด็ด” มากกว่า)  ตามคำเล่าขานว่า ครั้งหนึ่งระหว่างบิดาจะเด็ดขึ้นไปปาดตาลโดยทิ้งทารกจะเด็ดไว้บนพื้น ก็เกิดมีปลวกมาไต่ทั่วตัวทารก ทว่ามิได้ทำร้ายซึ่งเป็นเรื่องอัศจรรย์

พงศาวดารยังระบุว่าเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ พระราชโอรสของพระเจ้ามิงกินโย ประสูติหลังจะเด็ดไม่กี่เดือน

หลายปีหลังจากนั้น จะเด็ดเจริญวัยขึ้นที่นี่พร้อม ๆ กับเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้  พระเจ้ามิงกินโยโปรดให้จะเด็ดอยู่ในฐานะ  “พระพี่เลี้ยง” ภายหลังยังยกพระราชธิดา (ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สาวต่างมารดาของตะเบ็งชะเวตี้) คือพระนางตะขิ่นจี (Thakin Kyi) ให้อภิเษก ทำให้จะเด็ดอยู่ในฐานะพระชามาดา (พี่เขย) ของเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้โดยปริยาย

ดอว์ขิ่นจี นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองตองอูบอกผมว่า บ้านเดิมของจะเด็ดน่าจะอยู่ริมถนนสายที่ ๑๑ ซึ่งทุกวันนี้เป็นบ้านเรือนใกล้พื้นที่เจดีย์ชเวซันดอว์ไปแล้ว  ขิ่นจีสันนิษฐานว่าตรงนั้นเป็นเขตพระราชฐานเก่า ส่วนลานพระราชอุทยานที่จะเด็ดวิ่งเล่นกับตะเบ็งชะเวตี้ในวัยเยาว์นั้นน่าจะอยู่ที่โรงเรียนมัธยมอาธากา ใจกลางเมืองตองอู  ซึ่งเมื่อผมไปถึง ชาวตองอูหลายคนก็ยืนยันตรงกัน ร่องรอยที่ชัดเจนคือฐานกำแพงโบราณในสนามหญ้าของโรงเรียน

ย้อนกลับไปเมื่อ ๔ ศตวรรษก่อน ขณะจะเด็ดวิ่งเล่นกับเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ในพระราชอุทยานแห่งนี้นั้น บรรยากาศทางการเมืองระหว่างนครรัฐในลุ่มน้ำอิระวดีและลุ่มน้ำสะโตงค่อนข้างตึงเครียด หัวเมืองต่าง ๆ ต่างรอจังหวะที่จะรวบหัวเมืองที่เหลือไว้ในอำนาจและสร้างอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่นอีกครั้งโดยหวังที่จะเป็น “พระจักรพรรดิราช” ผู้ยิ่งใหญ่เหนือกษัตริย์เมืองต่าง ๆ ในดินแดนแถบนี้

คติเรื่อง “จักรพรรดิราช” หรือ “ราชาเหนือราชา” ทางพุทธศาสนาที่แพร่หลายในหมู่กษัตริย์ภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ เดิมทีมีที่มาจากอินเดียโดยมีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นแบบ  เชื่อว่าจักรพรรดิราชต้องมีรัตนะ (สมบัติ) ๗ ประการคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว แก้วมณี ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว  ต้องแสดงแสนยานุภาพด้วยการแผ่อำนาจไปยังเมืองน้อยใหญ่  และการปกครองนั้นก็มิได้มีความหมายแบบเดียวกับการปกครอง “รัฐชาติ” ยุคปัจจุบัน ด้วยในสมัยโบราณมีเมือง “เอกราช” กับ “ประเทศราช” ความต่างคือเมืองเอกราชไม่ต้องส่งบรรณาการ ไม่ต้องถูกกวาดต้อนแรงงาน และสถานะนี้ไม่ใช่ทุกเมืองจะมี แต่ละเมืองต่างก็ต้องการจะเป็นเมือง “เอกราช” ที่มีเมือง “ประเทศราช” อยู่ภายใต้การปกครองทั้งสิ้น

พระเจ้ามิงกินโยทรงมีเจตนารมณ์ไม่แตกต่างจากกษัตริย์องค์อื่น ๆ ในยุคนั้นและยึดคติ “จักรพรรดิราช” เช่นกัน  แน่นอน การสวรรคตกะทันหันของพระองค์ในปี พ.ศ.๒๐๗๓ ก็ทำให้เจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ต้องขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา และรับสืบทอดเจตนารมณ์ดังกล่าวในฐานะพระเจ้าตองอูองค์ใหม่ โดยคราวเดียวกัน จะเด็ดพระพี่เลี้ยงก็ได้รับพระราชทานราชทินนาม “จอเดงนรธา” (Kyawhtin Nawrahta-ไทยออกเสียง “กะยอดินนรธา” แปลว่า กฤษฎานุรุทธ์ หรือผู้ทรงฤทธิ์) ในฐานะแม่ทัพคนสำคัญ

 

แม่ทัพคู่บัลลังก์

สี่ปีต่อมา จะเด็ดเริ่มนำทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ออกศึก เริ่มจากเดินทัพลงใต้โจมตีกรุงหงสาวดีซึ่งขณะนั้นพระเจ้าสการะวุตพีกษัตริย์มอญปกครองอยู่

ช่วงนี้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงดำเนินยุทธศาสตร์แผ่ขยายอิทธิพลของตองอูจากดินแดนพม่าตอนในไปควบคุมหัวเมืองชายฝั่งรอบอ่าวเมาะตะมะที่มอญคุมอยู่ เพื่อเชื่อมอาณาจักรเข้ากับการค้านานาชาติ (ขณะนั้นชาวโปรตุเกสเดินเรือมาค้าขายเครื่องเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์แล้ว) จากนั้นควบคุมเส้นทางการค้า สร้างความมั่งคั่งและอำนาจรองรับการรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อความเป็น “ราชาเหนือราชา” ในที่สุด

กลางฤดูฝนปี ๒๕๕๔  ผมออกจากตองอูมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ โดยใช้ถนนหมายเลข ๒ ซึ่งเชื่อมตองอู-หงสาวดี-ย่างกุ้ง เส้นทางเดียวกันกับที่แม่ทัพจะเด็ดเดินทัพไปโรมรันหงสาวดี  ผมได้สัมผัสบรรยากาศคล้ายการเดินทัพสมัยโบราณอยู่เสี้ยวหนึ่งจากสภาพเส้นทางเป็นหลุมเป็นบ่อราวกับโลกพระจันทร์

คนนำทางบอกว่าไม่มีการซ่อมถนนสายนี้มาพักใหญ่แล้ว ด้วยมีการตัดถนนใหญ่สายใหม่ห่างออกไปด้านทิศตะวันตก ตัดตรงจากภาคกลางตอนบนสู่ภาคเหนือตอนล่าง หรือระหว่างย่างกุ้งเมืองหลวงเก่า กับเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่แล้วนั่นเอง ถนนสายนี้จึงกลายเป็นถนนสายรอง

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.๒๐๘๒ เส้นทางสายนี้พาจะเด็ดไปยึดหงสาวดีได้สำเร็จ ทำให้ราชสำนักตองอูย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่หงสาวดี

จากหงสาวดี เขานำทัพหน้าของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ออกติดตามโจมตีทัพของพระเจ้าสการะวุตพี อดีตกษัตริย์หงสาวดีที่ถอยหนีไปทางเมืองแปรด้วยกำลังพลราว ๘,๐๐๐ นาย

ทั้งนี้ การถอยทัพของพระเจ้าสการะวุตพีนั้นใช้วิธีแยกทัพเป็น ๒ สาย สายแรกใช้เส้นทางบกถอยไปตามริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี ส่วนอีกสายพระเจ้าสการะวุตพีเสด็จไปทางแม่น้ำอิระวดีพร้อมกองเรือราว ๗๐๐ ลำ

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และจะเด็ดทราบดีว่า ในทางยุทธศาสตร์ หากปล่อยให้พระเจ้าสการะวุตพีถอยไปถึงเมืองแปรแล้วรวมกำลังเข้ากับทัพของพระเจ้านรบดีเจ้าเมืองแปรได้แล้ว การกำจัดจะยากเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นภารกิจแรกคือทำลายทัพพระเจ้าสการะวุตพีให้ได้

จะเด็ดเริ่มการเดินทัพครั้งนี้ด้วยการยกทัพบกกำลังพลราว ๑,๐๐๐ นาย ออกจากหงสาวดีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ล่วงหน้าไปก่อนทัพเรือของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ โดยใช้เส้นทางเดินทัพเลียบแม่น้ำอิระวดีขึ้นไป

ก่อนถึงเมืองแปร ทัพของจะเด็ดก็พบกองทัพพระเจ้าสการะวุตพี  ที่นี่เองที่เขาเริ่มเปิดศึกนองโย (Naungyo Battle) ซึ่งนักประวัติศาสตร์พม่าถือว่าเป็นศึกครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของจะเด็ด

อนึ่ง “นองโย” ที่ พงศาวดารฉบับอูกาลา ระบุนั้นคือชื่อสถานที่ปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติว่าอยู่ที่ใด แต่นักประวัติศาสตร์พม่าคาดว่าชื่อนี้เป็นชื่อหัวเมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิระวดีก่อนจะถึงแปร

กองทัพพระเจ้าสการะวุตพีส่วนที่เป็นทัพบกนั้นอยู่อีกฝั่งแม่น้ำ ส่วนทัพเรือนั้นอยู่ในแม่น้ำ

จะเด็ดตัดสินใจสั่งโจมตีโดยไม่สนใจพระราชโองการที่ให้รอทัพหลวงมาถึงแล้วจึงเข้ารบพร้อมกัน เขาสั่งทหารต่อแพข้ามแม่น้ำไปตีกองทัพศัตรูในเวลากลางคืนและทำลายแพทั้งหมดเพื่อเดิมพันว่าจะไม่ถอยทัพ

จะเด็ดแบ่งทหารออกเป็น ๓ กอง ตัวเขาเองคุมกองกลางและปีกซ้าย ให้แม่ทัพอีกคนคุมปีกขวา

จะเด็ดขี่ช้างสเวละมานเข้าปะทะกับพระยาทละ แม่ทัพของพระเจ้าสการะวุตพี จนทำให้พระยาทละหนีไป  นอกจากนี้ยังสังหารแม่ทัพบนหลังช้างได้อีกคน  การเสียแม่ทัพถึง ๒ นายทำให้ทัพพระเจ้าสการะวุตพีส่วนใหญ่ยอมแพ้ และเหลือเพียงส่วนน้อยกับพระเจ้าสการะวุตพีเท่านั้นที่หนีไปถึงแปร

ต่อมาจะเด็ดยังนำทัพเข้าปะทะกองทัพอังวะและทัพจากหัวเมืองไทใหญ่ที่ยกมาช่วยแปรจากทางเหนือ นอกจากนี้ยังสกัดทัพหน้าของยะไข่ไว้ที่ช่องเขาแห่งหนึ่งจนส่งผลให้ทัพใหญ่ที่ตามมาต้องถอยร่นกลับไปทั้งหมด

แม้ว่าจะยังไม่อาจพิชิตแปรได้ แต่การทำศึกคราวนี้ก็ส่งผลให้พระเจ้าสการะวุตพีสิ้นเขี้ยวเล็บ วิธีทำศึกยังบ่งถึงแนวคิดการยุทธ์ของจะเด็ดที่กล้าได้กล้าเสีย เข้าสู่สมรภูมิแบบไม่กลัวความพ่ายแพ้

นักประวัติศาสตร์พม่าชี้ว่าศึกนองโยสำคัญยิ่ง ด้วยจะเด็ดได้แสดงความเป็นผู้นำและความเป็นเสนาธิการอย่างโดดเด่น  และการเสี่ยงเช่นนี้ ถ้าชนะเท่ากับเสมอตัว แต่ถ้าแพ้ย่อมหมายถึงหัวหลุดจากบ่า

แต่เมื่อทำสำเร็จ ประกอบกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นกษัตริย์ที่เข้าใจนักรบ จะเด็ดก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “บาเยงนองดอ” หรือ “บุเรงนอง” (แปลว่า พระเชษฐาของพระมหากษัตริย์) และกลายเป็นผู้เดียวในประวัติศาสตร์พม่าที่ได้รับการเรียกขานด้วยนามนี้

การเอาชัยครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น  ไม่นานหลังจากนั้นจะเด็ดก็นำทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไปตีเมาะตะมะ ก่อนจะเปิดศึกกับแปรและอาณาจักรยะไข่ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกในปีเดียวกัน (พ.ศ.๒๐๘๒)

อย่างไรก็ตาม การปราบยะไข่ก็ถูกรบกวนจากทัพอยุธยาที่ฉวยจังหวะลอบตีเมืองทวาย (ทางทิศใต้ของเมาะตะมะ) พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงตอบโต้โดยส่งกองทัพไปยึดทวายคืน แล้วตามตีไปจนถึงกาญจนบุรี  พงศาวดารพม่าระบุว่านี่คือการปะทะครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่างทัพอยุธยากับหงสาวดี

สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ไทยผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่าชี้ว่า การที่ราชวงศ์ตองอูมาตั้งมั่นที่หงสาวดี ทำให้ “ปริมณฑลอำนาจ” ซ้อนทับกับพระเจ้ากรุงยะไข่และพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา

“และเมื่อมาตั้งมั่นตรงนี้ สิ่งที่ต้องปราบให้ได้คือเมืองมอญทางภาคใต้ อาณาจักรยะไข่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกมีราชธานีคือเมืองมะรอคอูซึ่งมีศักยภาพในการทำศึกทางทะเลและรบแบบโจรสลัด คือยึดและปล้นเมืองแล้วก็ถอยกลับไปมะรอคอูซึ่งอยู่ในชัยภูมิที่คับขันเข้าตียาก ยะไข่กับมอญจึงถือเป็นยาดำที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ต้องปราบ แต่ในที่สุดอยุธยาก็อยู่ในความสนใจเพราะมีศักยภาพในการโจมตีหัวเมืองมอญตามชายฝั่งพม่าตอนใต้ จึงนับว่าเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่ง”

ฤดูแล้งปี พ.ศ.๒๐๙๑ บุเรงนองรับพระราชโองการจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จัดทัพซึ่ง มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ระบุตัวเลขไว้สูงถึง ๑.๔ แสนคน  จากนั้นก็เคลื่อนทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี) อันเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดจากกรุงหงสาวดีเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา

ศึกครั้งแรกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาของบุเรงนองเริ่มขึ้นเมื่อทัพหงสาวดีเผชิญหน้าทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่ยกมาตั้งรับนอกกำแพงเมืองในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๐๙๑  ทั้งสองฝ่ายต่างระดมพลเข้าปะทะกัน ผลคือทัพหน้าอยุธยาถอยร่นไปจนถึงทัพหลวง ในที่สุดก็ต้องถอยทัพกลับเข้าเมือง

ปัจจุบันคนไทยรู้จักศึกนี้ในชื่อ “สงครามคราวเสียพระสุริโยทัย” ด้วย พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ อันเป็นพงศาวดารที่เขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ราว ๑๐๐ ปี บอกว่าอยุธยาเสียสมเด็จพระสุริโยทัยและพระราชธิดาพระองค์หนึ่งที่ออกรบกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่หลักฐานฝั่งพม่าไม่กล่าวถึงเรื่องนี้

ทัพหงสาวดีล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ ๔ เดือนแต่อยุธยาก็ยังไม่ยอมแพ้ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงปรึกษาบุเรงนองแล้วตัดสินพระทัยถอนทัพย้อนขึ้นไปตีสุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก เพื่อตัดกำลังบำรุงจากหัวเมืองทางเหนือของอยุธยา  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้จัดทัพออกติดตามเพื่อหวังตีตลบหลังสร้างความเสียหายแก่กองทัพหงสาวดี

การที่อยุธยาส่งกองทัพออกติดตาม สร้างโอกาสให้บุเรงนองทำศึกในแบบฉบับของตนอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จัดให้เขาคุมทัพกลาง พระองค์คุมปีกซ้าย อีกทัพเป็นปีกขวา แล้วยกทัพไปซุ่มรอทัพอยุธยา

บริเวณที่ซุ่มกองทัพนั้น ปัจจุบันน่าจะอยู่แถบชานเมืองกำแพงเพชรซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหนองบึง  เช่นเคยคราวนี้ทัพของบุเรงนองไปถึงจุดซุ่มก่อน เขาเริ่มการศึกโดยส่งทหารม้า ๓๐๐ นายออกโจมตีทัพหน้าของอยุธยา

กองทหารดังกล่าวทำทีพ่ายแพ้ถอยลงมาเพื่อล่อทัพอยุธยาเข้าสู่วงล้อม ในที่สุด ทัพอยุธยาทั้ง ๓ กองทัพก็ติดกับแม่ทัพนายกองของบุเรงนองเห็นดังนั้นก็นำทัพที่ซุ่มอยู่ออกโจมตี

เมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยมาถึงจุดนี้ บุเรงนองดำริว่า “ถ้าเราไม่ยกไปตีบ้าง พวกนายทัพนายกองทั้งปวงจะดูถูกดูหมิ่น”

เขาตัดสินใจทำอย่างเมื่อครั้งศึกนองโย กระโดดขึ้นช้างชื่อไชยบัลลังก์ แล้วเข้าสู่สนามรบโดยไม่สนใจม้าเร็วพระเจ้าตะเบ็ง-ชะเวตี้ที่ขอให้ยั้งการโจมตีเพื่อรอให้ทัพหลวงไปถึงเสียก่อน

มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า เล่าละเอียดยิบว่า บุเรงนองไสช้างเข้าปะทะกับพระราชบุตรเขยของกษัตริย์อยุธยา (พระมหา-ธรรมราชา) ทำยุทธหัตถีจนได้ชัย ทั้งยังจับพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวรพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงยกทัพมาถึง หลักฐานหลายชิ้นชี้ว่าทรงหงุดหงิดกับแม่ทัพของพระองค์อยู่ไม่น้อย ด้วยพระองค์เสด็จมาถึงตั้งแต่บ่าย ได้ยินเสียงสู้รบ ครั้นพอตั้งค่ายลงได้ พระองค์ส่งม้าเร็วไปที่ทัพหน้าหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ต้องรอจนย่ำค่ำ บุเรงนองจึงเข้าเฝ้า นำเชลยศึกและช้างม้ารี้พลที่ยึดได้มาถวาย

มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า บันทึกว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตรัสบริภาษบุเรงนองว่า “กูได้ใช้ให้พลทหารม้าเร็วมาห้ามว่า ให้คอยกูยกมาก่อนจึงถึงค่อยรบ นี่เหตุใดพวกมึงจึงรบให้กองทัพกูเสียกระบวน”

เมื่อบุเรงนองชี้แจงก็ไม่ต่างจากครั้งก่อน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระราชทานอภัยโทษ ทั้งยังพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองที่ได้รับชัยชนะ

ในที่สุด อยุธยาก็ยอมยุติศึกรอบนี้ด้วยการถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นช้างศึกและภาษีอากรที่ได้จากเมืองตะนาวศรีเพื่อแลกตัวเชลยคืน

ดังนั้น ในมิติทางการเมืองของห้วงเวลาดังกล่าว พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงถือว่าอยุธยายินยอมเป็น “เมืองขึ้น” ของหงสาวดี และ “เสียเอกราช” ในความหมายโบราณไปแล้ว

กษัตริย์พม่าในเมืองมอญ

เมื่อเดินทัพกลับจากอยุธยา บุเรงนองก็พบว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงคบหากับพระสหายชาวต่างประเทศและเสวยแต่น้ำจัณฑ์ (สุรา) จนละทิ้งราชการบ้านเมือง

และสืบเนื่องจากการที่ไม่อาจพิชิตอยุธยาได้เด็ดขาด ทำให้เกิดกบฏและจลาจลภายในเป็นระยะ

สถานการณ์เลวร้ายลงทุกที มีบันทึกชัดเจนในพงศาวดารว่าบรรดาขุนนางพากันขอร้องให้บุเรงนองขึ้นครองราชสมบัติแทนเพื่อแก้ไขสถานการณ์

ทว่า บุเรงนองปฏิเสธ

นั่นเท่ากับทำให้เรื่องคาราคาซัง ด้วยในราชสำนักหงสาวดีของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นั้น ยังมีขุนนางมอญที่จ้องหาโอกาสทำลายอำนาจราชวงศ์ตองอู  ความไม่ใส่ใจราชการของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในที่สุดก็นำไปสู่ความเกลียดชังและจุดจบของพระองค์เอง เมื่อ “สมิงจอทุด” ขุนนางมอญวางแผนลวงให้พระองค์เสด็จออกไปคล้องช้างเผือกและลอบปลงพระชนม์ในวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๐๙๓

ข่าวการสวรรคตของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไปถึงหูบุเรงนองขณะที่เขายกทัพไปถึงเมืองดาละ และเตรียมไปปราบกบฏที่เมืองพะสิม หัวเมืองด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำอิระวดี  ข่าวนี้คงสร้างความตกตะลึงให้แก่แม่ทัพหนุ่มไม่น้อย ด้วยเขาเองก็รู้ระแคะระคายมาก่อนและได้เคยทูลเตือนพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก่อนยกทัพออกมา

ทันใดนั้น อาณาจักรหงสาวดีแทบสลายลงในชั่วข้ามคืน  หัวเมืองสำคัญอย่างแปร ตองอู อังวะ ประกาศตนเป็นอิสระ  ในกรุงหงสาวดีก็เกิดความวุ่นวายเมื่อสมิงจอทุดครองอำนาจแล้วสู้รบกับสมิงเตารามะ เชื้อสายกษัตริย์มอญอีกองค์หนึ่งที่นำกำลังทัพจากเมาะตะมะกลับมาทวงบัลลังก์หงสาวดี

ในที่สุด สมิงเตารามะได้ชัยชนะเหนือสมิงจอทุด สถาปนาตนเป็นกษัตริย์หงสาวดีองค์ใหม่

บุเรงนองซึ่งมีเพียงกองทัพเล็ก ๆ ในมือต้องเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ เขายกทัพกลับไปตองอู บีบให้พระเจ้าตองอู น้องชายแท้ ๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระ ยอมสวามิภักดิ์ ก่อนจะยกทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วลุ่มน้ำสะโตงเพื่อฟื้นฟูอาณาจักรที่เขาเคยสร้างร่วมกันมากับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

ในศึกกับสมิงเตารามะที่หน้าเมืองหงสาวดี พงศาวดารบันทึกว่าบุเรงนองออกรบในแนวหน้าเหมือนที่เคยทำมาเป็นนิจ และการรบจบลงอย่างน่าตื่นตะลึง

บุเรงนองไสช้างชื่ออุปปสัตถาเข้ากระทำยุทธหัตถี ซึ่งในสังคมอุษาคเนย์โบราณถือว่าเป็นการรบที่มีเกียรติสูงสุด และในที่สุดก็ได้ชัยภายหลังช้างทรงของบุเรงนองทำให้ “งาช้างทรงของกษัตริย์มอญหักสะบั้น”

เมื่อได้หงสาวดีคืนมา บุเรงนองไม่หยุดพัก ออกเดินทัพปราบหัวเมืองที่เหลือในลุ่มน้ำอิระวดีจนหัวเมืองเหล่านั้นกลับมาอยู่ภายใต้อำนาจทั้งหมด

กลับมายุคปัจจุบัน หากใครมีโอกาสไปเยือนมหาเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon Pagoda) ที่เมืองพุกาม จะพบหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งเล่าถึงชีวิตบุเรงนองช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๐๙๓-๒๐๙๖ ที่เขาพยายามฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีด้วยการเดินทัพทำสงครามไปทั่วลุ่มน้ำสะโตงและลุ่มน้ำอิระวดี

นักประวัติศาสตร์เรียกหลักฐานชิ้นนี้ว่า จารึกระฆังสำริด (Bayinnaung Bronze Bell Inscription)

จารึกนี้ถือเป็นหลักฐานร่วมสมัย ด้วยพระเจ้าบุเรงนองโปรดให้สร้างถวายในปี พ.ศ.๒๑๐๐  ความพิเศษคือระฆังสำริดใบนี้ทำหน้าที่คล้ายศิลาจารึก ด้วยมีตัวอักษรปรากฏอยู่รอบระฆัง พรรณนาพระราชกรณียกิจพระเจ้าบุเรงนองเป็น ๓ ภาษา คือ บาลี พม่า และมอญ

ปัจจุบันมีการแปลความส่วนภาษามอญเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ทำให้ทราบว่าหลังบุเรงนองเดินทัพไปทั่วดินแดนภาคเหนือและภาคกลางของพม่า ปราบ “กษัตริย์ผู้ครอบครองเศวตฉัตร” ทั้งหลายให้อยู่ใต้อำนาจได้สำเร็จ  พระองค์ก็ได้รับการเฉลิมพระนามว่า “ผู้ชนะสิบทิศ” อันหมายถึง ทรงเป็นผู้มีชัยในทิศทั้งแปด คือ อุดร (เหนือ) อีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) บูรพา (ตะวันออก) อาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) ทักษิณ (ใต้) หรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) ประจิม (ตะวันตก) และพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ส่วนทิศที่เพิ่มขึ้นมา ๒ ทิศคือ ทิศเบื้องบน (สรวงสวรรค์) และทิศเบื้องล่าง (โลกบาดาล)

กรกฎาคม ๒๕๕๔ เมืองพะโค (หงสาวดี) เมื่อผมไปเยือนสถานที่ที่เคยเป็นพระราชวังหงสาวดี พระราชวังในยุคพระเจ้าบุเรงนองเหลือเพียงฐานเสาไม้สักและฐานอิฐบางส่วนที่ได้รับการรักษาไว้  ขณะที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นองค์ประกอบอื่น ๆ ของพระราชวังอยู่ในสภาพเป็นซากวัตถุโบราณ  ที่สำคัญคือท่อนซุง ๑๓๓ ต้น แต่ละท่อนมีอักษรมอญเป็นชื่อเมืองต่าง ๆ สลักอยู่ บ่งเป็นนัยว่าท่อนซุงเหล่านี้ได้รับการถวายจากเจ้าเมือง ๑๓๓ แห่งทั่วอาณาจักร

บริเวณใกล้กันมีพระที่นั่งจำลอง ๒ หลังที่สร้างในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๔๐ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์รองรับ  หลังแรกประดิษฐานภมราสนบัลลังก์ (บัลลังก์ผึ้ง) ส่วนอีกหลังประดิษฐานสีหาสนบัลลังก์ (บัลลังก์สิงห์) ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่บรรทมและออกว่าราชการ  บริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากเขตพระราชวัง กาลเวลาและการรุกล้ำพื้นที่ได้ทำลายร่องรอยที่เหลือไปทั้งหมดแล้ว

เอกสารอัดสำเนาเรื่อง พระราชประวัติย่อของพระเจ้าบุเรงนองและพระราชวังกัมโพชธานี (A Short Biography of King Burinnaung and Kanbawzasadi Palace) ที่ผมได้รับจากอาจารย์สุเนตรระบุว่า สมัยขึ้นครองราชย์ พ.ศ.๒๐๙๖ พระเจ้าบุเรงนองยังประทับที่วังเก่าของกษัตริย์มอญซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม

ซากพระราชวังที่ผมเห็นในยุคนี้ ถ้าย้อนกลับไปในยุคสมัยพระเจ้าบุเรงนองก็คือพระราชวังใหม่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๙๖ แล้วเสร็จในปี ๒๑๐๖ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหงสาวดีใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมกัน (เมืองย้ายมาพร้อมพระราชวัง) โดยที่นี่อยู่ห่างเมืองหงสาวดีเก่ามาทางทิศตะวันตกไม่มากนัก

ภาพที่สมบูรณ์ที่สุดของหงสาวดีที่พอจะอนุมานได้ว่าอยู่ในยุคพระเจ้าบุเรงนองนั้น คงอยู่ในบันทึกของ ราล์ฟ ฟิตช์ (Ralph Fitch) พ่อค้าชาวอังกฤษซึ่งมาที่นี่หลังพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต ๕ ปี (พ.ศ. ๒๑๒๙)  เขาให้ภาพหงสาวดีหรือ “พะโค” ที่ยังไม่น่าเปลี่ยนไปจากยุคพระเจ้าบุเรงนองมากนักว่า

“…พะโคเป็นนครใหญ่ เข้มแข็งและงดงามยิ่ง มีกำแพงศิลาและคูน้ำกว้างรอบเมือง…ในคูมีน้ำเต็มเปี่ยม มีจระเข้อยู่ในคูมากต่อมาก  มีประตูเมือง ๒๐ ประตู ทำด้วยหิน  กำแพงแต่ละด้านมี ๕ ประตู  มีหอคอยสลอนสำหรับทหารอยู่เวรยามทำด้วยไม้ปิดทองงามมาก  ถนนหนทางสวยงามที่สุดเท่าที่ข้าฯ เคยพบเห็นมา ตัดตรงจากประตูหนึ่งถึงอีกประตูหนึ่ง กว้างเสียจนกระทั่งคน ๑๐ หรือ ๑๒ คนสามารถขี่ม้าเรียงหน้ากระดานผ่านไปได้…

“ที่ประทับของพระราชาตั้งอยู่กลางเมือง มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ ภายในมีตำหนักทำด้วยไม้ปิดทอง ผนังด้านหน้าสร้างขึ้นด้วยฝีมือช่างอันวิจิตรและปิดทองอย่างหรูหรา…พระราชาทรงมีท่าทีสง่างามยามเมื่อเสด็จออกว่าราชการวันละ ๒ เวลา”

 

“สงคราม” ของผู้ชนะสิบทิศ

หลังปราบหัวเมืองในลุ่มน้ำอิระวดีและลุ่มแม่น้ำสะโตงจนราบคาบ  พ.ศ. ๒๑๐๑ พระองค์ก็ได้หัวเมืองล้านนาและหัวเมืองในรัฐฉานทั้งหมดไว้ใต้อำนาจ

นโยบายสงครามของพระเจ้าบุเรงนองช่วงนี้เด่นชัดอย่างยิ่งว่าเป็นไปในลักษณะสงครามโบราณคือ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”  เมื่อชนะ พระองค์มักจะผูกใจผู้ครองนครและสร้างบารมีด้วยการไม่ปลดเจ้าเมือง ทรงทำเพียงกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สิน และใช้วิธีสร้างพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคคือการผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติด้วยการรับพระราชธิดาของเจ้าเมืองนั้น ๆ มาเป็นพระมเหสี และพระโอรสของเจ้าเมืองมาเลี้ยงเป็น “พระราชบุตรบุญธรรม” ในฐานะ “องค์ประกัน”

นโยบายเช่นนี้ของพระเจ้าบุเรงนองปรากฏชัดใน มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า เช่นช่วงที่ทำศึกกับเชียงใหม่เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ (พระเจ้าเมกุฏิ) ยอมสวามิภักดิ์ พระองค์ก็ให้ครองเชียงใหม่ต่อไปตามเดิม และเมื่อ “ปริมณฑลอำนาจ” ของพระเจ้าบุเรงนองปกแผ่มาถึงเชียงใหม่ ก็ย่อมทับซ้อนกับปริมณฑลอำนาจของพระเจ้า
ไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง ซึ่งจะกลายเป็นชนวนศึกใหญ่ในเวลาต่อมา

ศึกยกแรกระหว่างกองทัพหงสาวดีกับล้านช้างเริ่มขึ้นหลังพระเจ้าบุเรงนองยกทัพกลับหงสาวดี พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงนำทัพมาชุมนุมที่เมืองเชียงแสน ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตัดสินพระทัยส่งกองทัพกลับไปล้านนาอีกครั้งเพื่อขับไล่ทัพพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชออกจากเมืองเชียงแสน

จากนั้นพระเจ้าบุเรงนองก็หันไปสนพระทัยอยุธยาเมื่อทรงทราบข่าวว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีช้างเผือกถึง ๔ เชือก ทรงขอช้างเผือกโดยดำริว่าเป็นสิทธิที่พระองค์ควรได้ ด้วยอยุธยานั้น “เคยเปนข้าขึ้นอยู่แก่อนุชาเรา (พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้)” แต่เมื่ออยุธยาปฏิเสธ พระองค์จึงยกทัพใหญ่ที่ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ระบุว่ามีกำลังถึง ๕ แสนคน มาเหยียบราชธานีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในช่วงฤดูแล้งปี พ.ศ.๒๑๐๖ โดยทรงถือว่ามีความชอบธรรมด้วยเป็นการชิงช้างเผือก หนึ่งในสมบัติที่จักรพรรดิราชพึงมี จากหัวเมืองที่แข็งข้อ

ทัพของพระองค์เคลื่อนผ่านด่านแม่ละเมา (จังหวัดตาก) มุ่งเข้าโจมตีกำแพงเพชร พิษณุโลก

ปลายปี ๒๕๕๔ เมื่อผมไปเยือนวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก การขุดค้นทางโบราณคดีในเขตพระราชวังเก่าแห่งนี้กินพื้นที่เป็นวงกว้างมากกว่า ๓ ไร่ มีการค้นพบฐานพระราชวังหลายชั้นและหลักฐานจำพวกเครื่องเคลือบจำนวนมาก อันแสดงถึงความเก่าแก่ของพระราชวังแห่งนี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองหัวเมืองเหนือของกรุงศรีอยุธยาในยุคที่ต้องเผชิญหน้ากับพระเจ้าบุเรงนอง

ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ ที่นี่เอง ยุวกษัตริย์นาม “พระนเรศ” (พระนเรศวร) ซึ่งอนาคตจะได้อิทธิพลด้านการทำสงครามจากพระเจ้าบุเรงนอง ได้ทอดพระเนตรสมรภูมิสงครามเป็นครั้งแรกระหว่างพระราชบิดา (พระมหาธรรมราชา) รับศึกหงสาวดี  อย่างไรก็ตาม หลังทำศึกอยู่ระยะหนึ่งก็เกิดโรคระบาดในเมือง พระมหาธรรมราชาตัดสินพระทัยปฏิบัติเช่นเดียวกับเจ้าเมืองกำแพงเพชร คือยอมสวามิภักดิ์ อันถือเป็นนัยยอมรับว่าอยุธยาหมดความสามารถป้องกันพิษณุโลกอย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะรบต่อ และยอมยกทัพตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาช่วยโจมตีอยุธยาด้วย

ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เสนอว่าหากอธิบายตามโครงเรื่องคติจักรพรรดิราช ความร่วมมือของพระมหาธรรมราชาถือเป็นการยอมรับพระเจ้าบุเรงนองในฐานะจักรพรรดิราชองค์ใหม่ และพระมหาธรรมราชาก็เป็น “ขุนพลแก้ว” ที่มาช่วยพระองค์ทำศึกกับอยุธยา มิใช่เรื่องของการ “ทรยศชาติ” ซึ่งเป็นการเอาสภาพปัจจุบันไปสวมทับอดีตแต่อย่างใด

หลังโรมรันกับทัพอยุธยาอยู่พักหนึ่ง ทัพพระเจ้าบุเรงนองก็ล้อมอยุธยาไว้ได้ทุกทิศ ระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมือง กดดันจนที่สุดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงยอมเจรจา พระเจ้าบุเรงนองทรงแสดงบารมีและอำนาจที่เหนือกว่าอีกครั้งโดยตรัสระหว่างเจรจาว่าทรงเป็น “เจ้าเอกราชประกอบด้วยบุญ ๕ ประการ คิดแล้วกระษัตริย์ทั้งปวงที่อยู่ในชมภูทวีปนี้คนใดเลยที่จะมาต่อสู้ทนฝีมือเราได้”

ศึกคราวนี้จบลงด้วยการที่พระองค์ทรงได้ช้างเผือก ๔ เชือก ได้สมเด็จพระราเมศวรเป็นองค์ประกัน และอยุธยาจำต้องเปลี่ยนผู้ครองบัลลังก์เป็นสมเด็จพระมหินทราธิราช  พงศาวดารไทยบางฉบับระบุว่าพระมหาธรรมราชาได้ถวาย “พระนเรศ” แก่พระองค์คราวนี้ด้วยในฐานะ “องค์ประกัน” จากพิษณุโลก

หลังจบศึกอยุธยาไม่นาน ปีรุ่งขึ้น (พ.ศ.๒๑๑๓) เชียงใหม่ก็แข็งเมืองอีก  มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ระบุว่ารอบนี้พระเจ้าบุเรงนองใช้กำลังถึง ๗ แสนคนบุกล้านนา  นโยบาย “แสดงบารมี ปรานีผู้สวามิภักดิ์” และกุศโลบาย “องค์ประกัน” ถูกใช้อย่างถี่ยิบ  เมื่อทัพของพระองค์ไปถึงลำพูน เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ยอมสวามิภักดิ์  เมื่อไปถึงเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงแสนก็ยอมสวามิภักดิ์และถวายธิดาเป็นองค์ประกัน  ส่วนเจ้าเมืองอื่น อาทิ ลำปาง น่าน ต่างหนีไปพึ่งบารมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง  อย่างไรก็ตามการบุกล้านนารอบนี้ต้องชะงักลงเมื่อเกิดเหตุขึ้นที่หงสาวดีอันสืบเนื่องมาจากนโยบายกวาดต้อนผู้คนของพระองค์เอง โดยบรรดาคนที่ถูกกวาดต้อนซึ่งพงศาวดารพม่าเรียก “ชาตีชะยัน” ที่หงสาวดี ได้ก่อกบฏ รวมตัวกันไปตีเมืองเล็กเมืองน้อยจนได้กำลังคนแล้วยกเป็นกองทัพกลับมาคุกคามกรุงหงสาวดี

พระเจ้าบุเรงนองทรงถอยทัพกลับถึงหงสาวดีในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๑๐๘ แล้วพระองค์ก็ “เอาไฟคลอก” กบฏเหล่านั้น  อย่างไรก็ตาม ทัพใหญ่ของพระมหาอุปราช (พระเจ้านันทบุเรงในเวลาต่อมา) ซึ่งพระองค์ทิ้งไว้ที่ล้านนาก็ออกติดตามเจ้าเมืองที่หลบหนีไปจนถึงเวียงจันทน์ บีบให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทิ้งเมืองหนีไปซุ่มทัพอยู่ในป่า

หลังจากยึดเวียงจันทน์อยู่ ๓ เดือนแต่ตามจับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไม่ได้ ในที่สุดทัพนี้ก็ต้องกวาดต้อนผู้คน พระราชวงศ์ และช่างฝีมือ กลับกรุงหงสาวดี

ลุถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๑๑๑ พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาอยุธยาอีกเมื่อทรงพบว่าอยุธยาสมคบล้านช้าง โดยส่งพระเทพ-กษัตรี พระราชธิดาอีกองค์หนึ่งของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเป็นพระมเหสีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จากนั้นอยุธยากับล้านช้างก็ร่วมกันยกทัพมาโจมตีพิษณุโลกระหว่างที่พระมหาธรรมราชาไปเข้าเฝ้าพระองค์ที่หงสาวดี  การกระทำครั้งนี้พระเจ้าบุเรงนองถือว่าอยุธยาเป็น “กบฏ” โดยตรง ด้วยพิษณุโลกนั้นเป็นเมืองขึ้นต่อกรุงหงสาวดี มิใช่อยุธยา

พงศาวดารพม่ายังระบุกำลังทัพของพระเจ้าบุเรงนองที่ยกมาว่ามีถึง ๕.๔๖ แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเช่นเดียวกับการโจมตีครั้งอื่น

ต่อคำถามถึงจำนวนกำลังพลที่สูงขนาดนี้ว่าเป็นไปได้หรือไม่  อาจารย์ภมรี สุรเกียรติ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกซึ่งต่อมาเป็นหนังสือเรื่อง เมียนมาร์-สยามยุทธ์ ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์สงครามไทย-พม่าผ่านบริบทพัฒนาการของรัฐพม่า (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๙) ระบุว่าเพราะบุเรงนองทรงได้ “รัฐไท” อันหมายถึงหัวเมืองไทใหญ่ด้านทิศตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำสาละวินในอำนาจ กำลังในทัพของพระองค์จึง “ต่างจากกำลังทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สิ้นเชิงและเป็นปัจจัยสำคัญในการพิชิตอยุธยา”

การโจมตีอยุธยาครั้งนี้พระองค์เดินทัพเข้าไปทางด่านแม่ละเมา รวบรวมกำลังจากหัวเมืองเหนือ พอล้อมอยุธยาได้ก็โจมตีอย่างหนัก  เมื่ออยุธยายังไม่ยอมแพ้ พระองค์ก็ใช้กลอุบายส่งพระยาจักรีขุนนางเก่าของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเข้าไปเป็น “ไส้ศึก” จนอยุธยาเสียเมืองในที่สุด

หลังชัยชนะเหนืออยุธยา นอกจากพระเจ้าบุเรงนองทรงถอดพระมหินทราธิราชออกจากตำแหน่งและสถาปนาพระมหาธรรม-ราชาครองอยุธยาแล้ว พระองค์ยังรับสั่งให้ขนประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่อยุธยาได้มาเมื่อครั้งเจ้าสามพระยายกตีเมืองพระนครของกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๖๖ กลับกรุงหงสาวดี

ปัจจุบัน “รูปภาพ” เหล่านี้อยู่ที่วัดพระมหามัยมุณี เมืองมัณฑะเลย์ หลังถูกเคลื่อนย้ายด้วยเหตุผลทางการสงครามหลายครั้ง โดยอยู่ที่อยุธยา ๑๔๖ ปี หงสาวดี ๓๐ ปี ยะไข่ ๑๘๐ ปี ก่อนมาอยู่เมืองอมรปุระ (ในเขตมัณฑะเลย์) ในที่สุด

ส่วนร่องรอยศึกปี พ.ศ.๒๑๑๒ ที่หลงเหลือในอยุธยาทุกวันนี้ คือเจดีย์สีขาวสูงกว่า ๙๐ เมตร บริเวณทุ่งภูเขาทองนอกเกาะเมืองอยุธยาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

เชื่อกันว่าคือเจดีย์ที่พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในชัยชนะครั้งนั้น ทว่าจากการค้นคว้า ผมพบว่ายังยากจะสรุป ด้วยเจดีย์ทุ่งภูเขาทองผ่านการบูรณะหลายครั้งมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และมีข้อสนับสนุนเพียงอย่างเดียวคือ บริเวณฐานเจดีย์เป็นศิลปะแบบมอญซึ่งต่างจากเจดีย์ส่วนใหญ่ของอยุธยาที่สร้างเป็นทรงลังกา (ระฆังคว่ำ)

ทั้งนี้ ภายหลังยังมีผู้เสนอไปอีกทางว่าผู้สร้างเจดีย์นี้คือสมเด็จพระนเรศวร ในคราวทำศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชเสียด้วยซ้ำ

สงครามของพระเจ้าบุเรงนองยังไม่ยุติ พระองค์ยังคงไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อยแม้จะมีพระชนมายุถึง ๕๔ พรรษา  พระองค์ยังมุ่งมั่นและยึดนโยบายทำสงครามเชิงรุก (Offensive Warfare) คือออกไปกำราบภัยคุกคามก่อนที่ภัยนั้นจะสร้างอันตรายแก่หงสาวดี

หลังศึกอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองไม่ยอมยกทัพกลับ ทรงนำทัพหงสาวดีซึ่งอ่อนล้าออกตามล่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้เป็นหนามยอกอกของพระองค์มาแทบตลอดรัชสมัยต่อทันที เพื่อล้างแค้นที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชส่งกองทัพมารบกวนระหว่างพระองค์ล้อมกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าบุเรงนองนำทัพไปที่พิษณุโลก จากนั้นก็เดินทัพจนถึงริมน้ำโขงตรงข้ามกรุงเวียงจันทน์ การเดินทัพครั้งนี้ทำให้พระองค์กลายเป็นกษัตริย์พม่าพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ที่ทำศึกไกลถึงลุ่มน้ำโขงด้วยพระองค์เอง

ปัจจุบัน บริเวณที่พระเจ้าบุเรงนองอาจจะยืนทอดพระเนตรกรุงเวียงจันทน์นี้เป็นที่ตั้งของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) มองจากฝั่งไทยจะพบเกาะกลางแม่น้ำชื่อ “ดอนจัน” ซึ่งในยามน้ำลดช่วงฤดูแล้งจะเกิดสันดอนทรายที่ทำให้ข้ามฝั่งไปได้อย่างง่ายดาย

จากที่นี่พระองค์รับสั่งให้ทหารตัดต้นไม้มาต่อเรือและเปิดยุทธนาวีในแม่น้ำโขงกับพระเจ้าล้านช้าง ต่อแพยกทัพข้ามแม่น้ำเข้าไปยึดเวียงจันทน์ได้สำเร็จ  ด้านพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงใช้ยุทธวิธีเดิมคือยกทัพออกไปซ่อนในป่าและทำสงครามกองโจร ขณะที่พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงยกทัพออกติดตามไม่ลดละ

พระเจ้าบุเรงนองร้อนพระทัยอย่างเห็นได้ชัด เมื่อพระองค์นำทัพรอนแรมออกติดตามพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชติดต่อกัน ๔ ราตรี ไปจนถึงตำบลกระบอง ที่ซึ่งศัตรูของพระองค์ซุ่มทัพอยู่  พระองค์มีดำริเข้าตี ทว่าในตอนนั้นเสบียงอาหารร่อยหรอ บรรดาแม่ทัพต่างร้องเรียนถึงปัญหานี้และคัดค้านการเข้าโจมตี พระองค์จึงตรัสประชดประชันและแสดงความมุ่งพระทัยไม่ผิดกับสมัยยังทรงเป็นแม่ทัพหนุ่มว่า

“พวกเจ้าทั้งหลายยังเปนหนุ่มอยู่ วันหน้ายังจะต้องกระทำสงครามอิกเปนอันมาก เพราะฉนั้นสงครามในคราวนี้พวกเจ้าจงพักเสียก่อนเถิด บัดนี้ถึงคราวเราคนแก่แล้ว โดยเหตุนี้เราจะขี่ช้างชนกับเจ้าเลียงเชียง (ล้านช้าง)”

แต่นี่ไม่ใช่คำตัดสินสุดท้าย ต่อมาพระเจ้าบุเรงนองก็เปลี่ยนพระทัยเมื่อพระอนุชาทูลทัดทานให้พระองค์ยั้งทัพรอดูสถานการณ์ก่อน ซึ่งเรื่องนี้พระมหาอุปราชไม่ทรงเห็นด้วย และนินทาแกมประชดพระราชบิดาว่า “…เมื่อพระองค์ยังไม่พบกับเจ้าเลียงเชียง นั้น พระองค์ก็เที่ยวบนบานขอให้พบกับเจ้าเลียงเชียง ครั้นพบเข้าแล้วพระองค์กลับผัดไปวันพรุ่งอิกนั้น เจ้าเลียงเชียงก็คงจะหนีไปในคืนวันนี้เปนแน่ เมื่อเจ้าเลียงเชียงหนีไปแล้วก็จะเสด็จตามเจ้าเลียงเชียง จะกระทำให้พลทหารได้รับความลำบากอิกเปนอันมาก…”

ซึ่งก็เป็นไปตามคาด และด้วยปัญหาเสบียงขาดแคลนกับความยากลำบาก ในที่สุดพระเจ้าบุเรงนองก็ต้องถอยทัพกลับ

พระองค์กลับมาที่นี่อีกครั้งในปี พ.ศ.๒๑๑๗ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงหายสาบสูญไประหว่างทำศึกกับกรุงละแวก (กัมพูชา) และเสนาบดีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคือ พระยาแสน ปราบดาภิเษกขึ้นครองบัลลังก์ล้านช้าง

พระเจ้าบุเรงนองทรงอ้าง “องค์ประกัน” ที่พระองค์เลี้ยงดูอยู่ คือพระมหาอุปราชวรวังโส ซึ่งรับตัวมาตั้งแต่คราวส่งทัพพระมหาอุปราชไปตีเวียงจันทน์เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๘ ว่าเป็นผู้ที่สมควรขึ้นครองราชบัลลังก์ล้านช้างมากกว่า  จากนั้นก็ยกทัพใหญ่ไปขับไล่พระยาแสนออกจากเวียงจันทน์แล้วสถาปนาพระมหาอุปราชวรวังโสเป็นกษัตริย์ล้านช้างองค์ใหม่ และมีพระบรมราโชวาทในฐานะพระราชบิดาบุญธรรมที่ช่วยเหลือพระโอรสว่า

“เราได้ยกพยุหโยธาทัพมาตีพระยาแสนเจ้าล้านช้างนี้ เพราะเรารักเจ้าฉันลูกในอุทรจึงได้ยกมา เราไม่เห็นแก่ความเหน็จเหนื่อยเลย…จงคิดว่ากรุงหงษาวดีกับเวียงจันบุรีนี้เปนทองแผ่นเดียวกัน”

บทสุดท้ายของผู้ชนะสิบทิศ(ตัวจริง)

เมื่อรวมอาณาจักรล้านช้างเข้ามาในเครือข่ายอำนาจได้สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองขณะนั้นมีพระชนมายุ ๕๙ พรรษา

ช่วงปลายรัชกาล ไม่มีสงครามครั้งใหญ่เกิดขึ้น พระเจ้าบุเรงนองทรงรักษาเสถียรภาพในอาณาจักรด้วยการสร้างเมืองหน้าด่าน คือเมือง “กะเล” (Kale) ทางด้านทิศตะวันตก และเมือง “อมราวดี” (Amyawaddy) ทางด้านทิศตะวันออก เพื่อดูแลหัวเมืองประเทศราช  วรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหงสาวดีช้างเผือก ที่แต่งขึ้นในรัชกาลของพระองค์ระบุว่าพระเจ้าบุเรงนองเรียกเมืองอมราวดีว่า “เมี้ยวดอ” (Myo-daw) อันหมายถึงหัวเมืองชั้นเอก  ในเมืองมีพระราชวัง พระเจดีย์ ตลาดใหญ่ ๔ แห่ง มีป้อมค่ายแน่นหนา  เมืองนี้มีเมืองบริวาร ๗ เมือง แต่ละเมืองมีไพร่ยะไข่ประจำ ๒,๐๐๐ คน ม้า ๔๐๐ ช้าง ๕ เชือก ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน ๑ วัน

ผมไม่พบหลักฐานว่าอมราวดีนั้นอยู่ที่ใด มีเพียงข้อสันนิษฐานที่ปรากฏใน เมียนมาร์-สยามยุทธ์ ว่าเมืองนี้น่าจะอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า และบางข้อเสนอก็บอกว่าคือ “เมืองเมียวดี” ของพม่าที่อยู่ติดอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นั่นเอง

นอกจากสร้างเมืองหน้าด่าน พระองค์ยังควบคุมหัวเมืองประเทศราชบางแห่งโดยตรง  ในปี พ.ศ.๒๑๒๓ ทรงส่ง นรธาเมงสอ พระโอรสองค์ที่ ๒ ไปครองเชียงใหม่ อันถือเป็นการเข้ามามีอำนาจแทนราชวงศ์มังรายที่ปกครองดินแดนล้านนามานานหลายศตวรรษ

ผลจากการสงครามในล้านนาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๐๑ และการส่งพระโอรสมาปกครองเชียงใหม่ครั้งนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการผสานศิลปวัฒนธรรมพม่ากับศิลปวัฒนธรรมล้านนาต่อมาอย่างยาวนาน ด้วยหลังจากนั้นอิทธิพลของพม่าจะคงอยู่ในดินแดนนี้นานถึง ๒ ศตวรรษ (พ.ศ.๒๑๐๑-๒๓๑๗)

ร่องรอยที่ยังคงพบเห็นได้คือ รูปปั้นสิงห์ที่ประตูวัด การหุ้มพระเจดีย์ด้วยแผ่นทอง (จังโก) การสร้างบันไดขึ้นลงเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ จิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรมพม่าตามวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของไทยปัจจุบัน  ในทางวัฒนธรรมคือพิธีบวชลูกแก้ว (บวชเณร) นอกจากนี้ยังปรากฏอิทธิพลอาหารพม่าในอาหารพื้นเมืองอย่างแกงฮังเล น้ำพริกอ่อง เป็นต้น

ส่วนในพม่าร่องรอยนี้จะอยู่ในผลิตภัณฑ์และของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องเขิน ภาษาพม่าเรียก “ยวนเถ่” (ยวนเป็นคำเรียกคนพื้นเมืองของล้านนา)  ผ้าทอมัดหมี่ผลิตในแถบทะเลสาบอินทา พม่าเรียก “ซินเม่” (เชียงใหม่) เพราะได้รับอิทธิพลมาจากเชียงใหม่

สงครามครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระเจ้าบุเรงนองคือการส่งกองทัพไปโจมตียะไข่ในปี พ.ศ.๒๑๒๔

ทว่าระหว่างที่กองทัพมุ่งหน้าไปยะไข่ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตที่กรุงหงสาวดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๑๒๓ ขณะมีพระชนมายุ ๖๖ พรรษา ส่งผลให้กองทัพทั้งหมดต้องถอยทัพกลับ

อาณาจักรหงสาวดีอันรุ่งเรืองถูกส่งมอบให้พระโอรสที่ขึ้นครองราชย์ด้วยพระนาม “พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง”

และพระเจ้าหงสาวดีองค์นี้ต้องขับเคี่ยวช่วงชิงสถานะ “พระจักรพรรดิราช” กับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาที่มีนามเรียกขานในดินแดนพม่ารามัญว่า “พระนเรศ” หรือ “สมเด็จพระนเรศวร” (ของเรา) ในอีกหลายปีต่อมา

 

ความทรงจำเรื่อง “บุเรงนอง”

“ฟ้าลุ่มอิระวดี คืนนี้มีแต่ดาว แจ่มแสงแวววาว…เด่นอะคร้าวสว่างไสว

เสียงคลื่นเร้าฤดี คืนนี้ข้าเปลี่ยวใจ เหน็บหนาวทรวงใน…แปลกไฉนข้าเศร้าวิญญา

ข้ามาทำศึก ลำเค็ญ เหนื่อยแสนยากเย็นไม่เว้นว่างเปล่า
เพื่อศักดิ์ชาวตองอู ถึงจะตายจะอยู่ ขอเชิดชูมังตรา…
ไปรบอยู่แห่งไหน ใจคะนึงถึงเจ้า เคยเล้าโลมโฉมแม่
ข้ากลับมาเมืองแปร มองเหลียวแลแสนเปลี่ยวเปล่า
ไม่มีแต่เงา ข้าเศร้าอาลัย หัวใจแทบขาด อนาถใจไม่คลาย
เจ็บใจ คนรักโดนรังแก ข้าจะเผาเมืองแปร ให้มันวอดวาย
จะตายให้เขาลือชาย จะให้เขาลือชาย ว่านามชื่อกู
ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะ…สิบทิศ”
เพลง “ผู้ชนะสิบทิศ”
ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย ไสล ไกรเลิศ
ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร

ระหว่างเพลง “ผู้ชนะสิบทิศ” แว่วในความทรงจำ  ก่อนขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ สถานที่สุดท้ายที่ผมตัดสินใจแวะคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติย่างกุ้ง เพื่อหาคำตอบว่าวันนี้คนพม่ามองพระเจ้าบุเรงนองอย่างไร

ในฐานะพลเมือง “รัฐไทย” อันที่จริงผมทราบมาสักพักแล้วว่าเมื่อจบการเดินทาง ภาพ “นักรบ-นักรัก” ของจะเด็ดในนิยาย ผู้ชนะสิบทิศ ที่รับรู้และถูกนำมาปนกับความจริงนานหลายปี (แล้วสร้าง “บุเรงนอง” ในอุดมคติ) คงหายไปสิ้น และคงผิดหวังเช่นเคยกับแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่นำเสนอว่าพระองค์เป็น
“เจ้าพม่าผู้ปล้นเอกราชไทยคราวเสียกรุงครั้งที่ ๑”

เพราะจะเด็ดหรือบุเรงนองในความเป็นจริงต่างจากนิยาย เอาเข้าจริงพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่พยายามรวบรวมอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นตามหน้าที่ซึ่งกษัตริย์ยุคโบราณพึงปฏิบัติ นอกจากนี้พระองค์ยังต้องขยายอำนาจให้ไพศาลตามคติ “พระจักรพรรดิราช”

ชีวิตส่วนใหญ่ของพระองค์จึงอยู่บนหลังช้างหลังม้าในสนามรบมากกว่าจะวุ่นวายกับสนามรัก

อนุสาวรีย์วีรกษัตริย์ ๓ พระองค์ อันประกอบด้วยพระเจ้าอโนรธาแห่งราชวงศ์พุกาม พระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู และพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์คองบอง ที่ตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติย่างกุ้ง รวมไปถึงแบบเรียนพม่าที่ผมขอให้เพื่อนชาวพม่าช่วยอ่านให้ฟัง ยิ่งตอกย้ำเรื่องนี้  เพราะพวกเขานิยามว่าพระเจ้าอโนรธาคือปฐมกษัตริย์ผู้สร้างอาณาจักรพม่าและวางรากฐานพระพุทธศาสนา (อาณาจักรพุกาม) พระเจ้าบุเรงนองคือผู้สร้างความสงบสุขและเอกภาพในภาวะยุ่งเหยิงให้อาณาจักรยุคที่ ๒ (อาณาจักรหงสาวดี) สุดท้ายพระเจ้าอลองพญาคือผู้สร้างเอกภาพให้อาณาจักรในยุคที่ ๓ (อาณาจักรอังวะ)

พระเจ้าบุเรงนองดูจะทรงมีชื่อเสียงที่สุด เพราะ ๔๓๒ ปีหลังการสวรรคต เรื่องของพระองค์ยังถูกใช้และเล่าใหม่นับครั้งไม่ถ้วน  ในพม่า อนุสาวรีย์ของพระองค์ผุดเป็นดอกเห็ดตามเมืองท่องเที่ยว เมืองชายแดนที่ติดกับไทย และบางแห่งอนุสาวรีย์ยังตั้งเผชิญหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร

ปัจจุบัน มันเป็นตลกร้ายที่สงครามและความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรเมื่อ ๔ ศตวรรษก่อนตามวิถีโบราณ ถูกเขียนให้อนุชนคนรุ่นหลังในประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศเกลียดชังกัน

และผมเพิ่งรู้ตัวว่า มันเริ่มขึ้นตั้งแต่ผมเข้าเรียนชั้นประถมเสียด้วยซ้ำ

เอกสารประกอบการเขียน
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑ จดหมายเหตุฟานฟลีต. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
ธีรภาพ โลหิตกุล. ท่องแดนเจดีย์ไพรในพุกามประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, ๒๕๔๘.
นายต่อ แปล. สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.
ภมรี สุรเกียรติ. เมียนมาร์-สยามยุทธ์. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๓.
มิคกี้ ฮาร์ท (Myint Hsan Heart). โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้. กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, ๒๕๕๐.
ยาขอบ. ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม ๑-๒. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, ๒๕๕๑.
วงเดือน นาราสัจจ์ และ ชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.), ๒๕๕๔.
วิรัช นิยมธรรม. คิดแบบพม่า : ว่าด้วยชาติและวีรบุรุษในตำราเรียน. มหาสารคาม : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ๒๕๕๑.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เที่ยวเมืองพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.
สุเนตร ชุตินธรานนท์, ดร. บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐.
สุเนตร ชุตินธรานนท์, ดร.  พม่ารบไทย : ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๗.
สุเนตร ชุตินธรานนท์, ดร.  พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทัศนะพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๗.
สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการไทยในความรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ๒๕๕๒.
หม่องทินอ่อง. เพ็ชรี สุมิตร แปล. ประวัติศาสตร์พม่า. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๑.
G.E. Harvey.  History of burma From the Eariest Times to 10 March 1824 The Beginning of the English Conquest. London : Frankcass and Company Limited, 1967.
Nai Pan Hla, translate. “Translation of Mon Inscription on Bayinnaung’s Bronze Bell at Shwezigon”. เอกสารอัดสำเนา
U Thaw Kaung. “Accounts of King Bayinnaung’s Life and Hanthawady Hsinbyu-myashin Ayedawbon, a Record of his Campaigns”. เอกสารอัดสำเนา.

ขอขอบคุณ
คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, คุณธีรภาพ โลหิตกุล, ดร.สุเนตร ชุติน-ธรานนท์, คุณศรัณย์ ทองปาน, อาจารย์วิรัช นิยมธรรม, คุณ Say Say po, คุณดอว์ขิ่นจี, คุณปกรณ์ พรพิสุทธิ์, บ้านพักคนชราเมืองตองอู, ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร, ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ, สำนักการสังคีต กรมศิลปากร, บริษัทพร้อมมิตรโปรดักชั่น จำกัด, สทอภ.