เรื่อง : รินใจ / ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์
ในหมู่ผู้นำวงการสาธารณสุขและงานอาสาสมัครของเมืองไทย น้อยคนที่จะไม่รู้จักมูลนิธิฉือจี้ ฉือจี้เป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน มีสมาชิกร่วม ๖ ล้านคน หรือเกือบ ๑ ใน ๔ ของประชากร และมีอาสาสมัครทั่วเกาะนับแสนคน โรงพยาบาลทั้ง ๕ แห่งของฉือจี้มีมาตรฐานสูงเป็นอันดับต้นของประเทศ ส่วนมหาวิทยาลัยและโรงเรียนตั้งแต่ประถมถึงมัธยม ตลอดจนวิทยาลัยอาชีวะ ก็ได้รับการชื่นชมว่าผสานความรู้กับคุณธรรมได้อย่างน่าทึ่ง นอกจากนั้นสถานีโทรทัศน์ของฉือจี้ยังได้รับการยกย่องจากชาวไต้หวันว่าเป็นสถานีที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากที่สุด
ใครที่ไปเยี่ยมชมกิจการของมูลนิธิฉือจี้ ย่อมอดแปลกใจไม่ได้ที่พบว่า เบื้องหลังของความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจดังกล่าวคือ “งานแยกขยะ” ทุกวันจะมีอาสาสมัครของฉือจี้กว่า ๕ หมื่นคนออกไปเก็บขยะตามบ้าน แล้วส่งเข้าโรงงานแยกขยะซึ่งมีอยู่ ๕,๐๐๐ จุดทั่วเกาะ “โรงงาน” เหล่านี้ใช้กำลังคนล้วน ๆ ในการฉีกกระดาษออกเป็นแผ่นๆ ดึงพลาสติกออกจากสายไฟ แยกวัสดุนานาชนิดออกจากเครื่องยนต์ ฯลฯ ก่อนที่จะส่งเข้าโรงงานรีไซเคิล
งานแยกขยะเหล่านี้ทำรายได้มหาศาล ปีละ ๔,๐๐๐ ล้านบาท สามารถอุดหนุนกิจการต่าง ๆ ของฉือจี้ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เฉพาะสถานีโทรทัศน์ “ต้าอ้าย” ซึ่งออกอากาศ ๒๔ ชั่วโมง งบประมาณ ๑ ใน ๔ ก็มาจากการแยกขยะ
แต่งานแยกขยะไม่ได้มีความสำคัญเพียงเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่ารายได้ก็คือ “คน” ฉือจี้ได้อาศัยงานแยกขยะในการฝึกฝนพัฒนาจิตใจของอาสาสมัครให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่รังเกียจการใช้แรงงาน และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลายคนหันมาใช้ชีวิตเรียบง่ายมากขึ้น ไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง หรือทิ้งของแบบสุรุ่ยสุร่าย บุคคลเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเป็นนักธุรกิจ ผู้จัดการ วิศวกร แพทย์ ครูบาอาจารย์ แต่ได้หล่อหลอมตนเองจากงานแยกขยะ จนกลายเป็นอาสาสมัครที่มีคุณภาพ คนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานระดับประเทศของฉือจี้จนขยายสู่สาขาต่าง ๆ กว่า ๓๐ ประเทศ และพร้อมช่วยสงเคราะห์ผู้ประสบภัยพิบัติทั่วโลก รวมทั้งผู้ประสบภัยสึนามิในไทย แผ่นดินไหวในตุรกี และเฮอริเคนในสหรัฐอเมริกา
ขยะนั้นดูเหมือนต่ำต้อยด้อยค่า แต่ความจริงกลับมีคุณค่าอย่างที่เรานึกไม่ถึง มันไม่เพียงเป็นปัจจัยให้เกิดฐานอันมั่นคงเพื่อรองรับงานบริการที่ถือว่า “สูงส่ง” เช่นการแพทย์และการศึกษาเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับจิตสำนึกของผู้คนได้ด้วย คนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากงานแยกขยะคือคนชรา อาสาสมัครที่เป็นกำลังหลักในโรงงานแยกขยะเหล่านี้ คือคนชราหรือผู้ที่เกษียณอายุแล้ว ในสังคมสมัยใหม่ คนเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นคนที่ไร้คุณค่าหรือเป็นภาระของสังคม (ผิดกับสังคมชนบท คนแก่ยังมีบทบาทอยู่มาก อย่างน้อยก็ช่วยดูแลหลาน ๆ ได้) แต่คนชราที่มาเป็นอาสาสมัครแยกขยะ หลายคนพบว่าตนยังมีคุณค่าอยู่ มีบางคนถึงกับพูดว่าตนคือ “ขยะคืนชีพ”
การรีไซเคิลขยะจึงมีความหมายมากกว่าการฟื้นคุณค่าของขยะ หากยังเป็นการฟื้นคุณค่าของคนที่เคยรู้สึกด้อยค่า ไม่มีขยะใดที่ไร้ค่าฉันใด ย่อมไม่มีคนใดที่ไร้ค่าฉันนั้น จะว่าไปแล้วการมองให้เห็นคุณค่าของทุกสิ่งหรือแง่ดีของทุกคนคือหลักการสำคัญของฉือจี้เลยทีเดียว ภิกษุณีเจิ้งเหยียนซึ่งเป็นผู้นำของฉือจี้ถึงกับเน้นย้ำว่า มนุษย์ทุกคนคือโพธิสัตว์ที่เปี่ยมด้วยมหากรุณา ความดีอันยิ่งใหญ่มีอยู่แล้วในจิตใจของทุกคน หน้าที่ของเราคือดึงเอาความดีงามนั้นออกมาจากใจของเรา รวมทั้งช่วยกันน้อมนำความดีงามออกมาจากจิตใจของผู้อื่นด้วย
สมาชิกและอาสาสมัครของฉือจี้จะถูกฝึกให้มองส่วนดีของผู้อื่นเป็นหลัก และชื่นชมมากกว่าตำหนิ เพราะการชื่นชมนั้นจะช่วยบ่มเพาะความดีให้งอกงามขึ้นในใจของผู้อื่น รวมทั้งดึงเอาศักยภาพด้านบวกของเขาออกมา หากความดีงามเบ่งบานและศักยภาพด้านบวกถูกกระตุ้นอยู่เสมอ ก็จะมีพลังเหนือความชั่วและศักยภาพด้านลบได้ เราทุกคนล้วนมีธรรมชาติที่ใฝ่ดีกันทั้งนั้น แต่สาเหตุที่บางคนกลับทำชั่วหรือเกเรก็เพราะความดีในจิตใจนั้นไร้พลัง จึงถูกครอบงำด้วยความเห็นแก่ตัวหรือศักยภาพด้านลบ แต่เมื่อใดที่ศักยภาพด้านบวกมีพลังขึ้นมาจนเอาชนะความชั่วได้ การทำความดีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ในโรงเรียนของฉือจี้มีนักเรียนคนหนึ่งซึ่งไม่เอาใจใส่ในการเรียนเลย มีกิจกรรมใด ๆ ในชั้นเรียนก็ไม่เคยให้ความร่วมมือ การบ้านก็ทำอย่างขอไปที ครูกระตุ้นเท่าไรก็ไม่ได้ผล มีคราวหนึ่งครูให้นักเรียนวาดภาพ นักเรียนคนนี้ก็ทำตัวเหมือนเดิมคือไม่สนใจ ครูพยายามกระตุ้น แต่นักเรียนก็นิ่งเฉย จนครูขอร้องว่าให้ลองวาดภาพอะไรก็ได้ แค่ตวัดพู่กันเป็นวงกลมก็ยังดี นักเรียนทนครูรบเร้าไม่ไหว จึงตวัดพู่กันเป็นวงกลม ครูเห็นก็ชมด้วยความตื่นเต้นว่า นักเรียนวาดได้ดีมาก และขอให้วาดอีก นักเรียนเกิดมีกำลังใจขึ้นมาจึงตวัดพู่กันอีกภาพหนึ่ง แล้วก็อีกภาพหนึ่ง ๆ ๆ ยิ่งทำก็ยิ่งดีขึ้นเรื่อย ๆ
นับแต่วันนั้นนักเรียนได้ฝึกตวัดพู่กันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาพมีคุณภาพดีขึ้นมากจนได้รับการคัดเลือกให้ออกแสดงในงานนิทรรศการของโรงเรียน ในวันแสดงนิทรรศการ นักเรียนผู้นี้สังเกตเห็นเด็กคนหนึ่งยืนจ้องภาพวาดของตัว จึงเดินไปคุยกับเด็กน้อย เด็กน้อยแสดงความชื่นชมภาพนั้น แต่ก็ออกตัวว่าตนเองคงไม่มีปัญญาวาดได้เช่นนั้น นักเรียนผู้เป็นเจ้าของภาพได้ยินเช่นนั้น จึงให้กำลังใจเด็กน้อยว่า เธอทำได้แน่นอน เธอมีความสามารถอยู่แล้ว ขอให้มีความเพียรก็แล้วกัน
เราทุกคนมีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งประเสริฐ แต่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่อยู่ที่ว่า
เราสามารถดึงศักยภาพดังกล่าวออกมาได้มากน้อยเพียงใด แต่สำหรับนักเรียนผู้นี้ อุปสรรคสำคัญอยู่ที่การไม่เห็นคุณค่าของตนเองจนขาดความมั่นใจที่จะทำอะไร ได้แต่อยู่ไปวัน ๆ แต่คำชมของครูสามารถปลุกความมั่นใจของนักเรียนขึ้นมา และทำให้เขาเกิดพลังแห่งความเพียรจนสามารถพัฒนาศักยภาพให้เจริญงอกงาม กลายเป็นคนใหม่ที่สามารถช่วยให้คนอื่นเกิดพลังที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามเช่นเดียวกับตน
การชื่นชมผู้อื่นนั้นสามารถเสริมสร้างกำลังใจให้เขาทำความดีได้ แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ถนัดตำหนิและเก่งในการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า หากมองหาข้อผิดพลาดของคนอื่นได้มากเท่าไร ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจว่าตนเก่ง กลายเป็นการเสริมอัตตาของตนมากกว่าที่จะช่วยผู้อื่นให้ดีขึ้น หนักกว่านั้นก็คือตำหนิเพราะมุ่งหมายทำร้ายจิตใจของผู้อื่น แต่ในที่สุดผลร้ายนั้นก็จะย้อนกลับมาที่ตัวเอง คือกลายเป็นคนมองแต่ในแง่ลบ หนักเข้าก็มองตัวเองในแง่ลบด้วย เจออะไรก็ไม่เคยพอใจเพราะเห็นข้อเสียตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ข้อดีก็มีอยู่มากมาย แต่มองไม่เห็น เปรียบเสมือนคนที่เห็นแต่รอยด่างเล็กๆ ของผืนผ้า ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่นั้นขาวสะอาด
ในทางตรงข้าม การมองเห็นแง่ดีของคนอื่นอยู่เสมอทำให้จิตใจฉับไวต่อด้านดีของสิ่งต่าง ๆ เจออุปสรรคหรือความยากลำบาก ก็เห็นข้อดีของมัน ไม่เอาแต่บ่น เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่ตีโพยตีพาย เพราะเห็นประโยชน์ของมัน ในยามประสบกับสิ่งที่ไม่น่ายินดี ก็ไม่ทุกข์ เพราะใจยังมองเห็นสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ อาสาสมัครของฉือจี้คนหนึ่งถูกโกงเงินถึง ๖๐ ล้าน ทีแรกก็ทุกข์มาก แต่ไม่นานก็ปล่อยวางได้เพราะเขามาได้คิดว่า ยังมีข้าวสวยหอมกรุ่นกินทุกวัน ทุกคืนยังได้นอนบ้านที่อบอุ่น เขาจึงรู้สึกขอบคุณชีวิตที่มอบสิ่งดี ๆ ให้แก่เขา ความสูญเสียทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะจิตใจของเขาฉลาดในการมองเห็นด้านดีของชีวิต ความฉลาดดังกล่าวเกิดขึ้นได้ก็เพราะถูกฝึกให้มองเห็นด้านดีของผู้คนอยู่เสมอ
หากคุณเป็นคนชอบวิจารณ์ ก่อนที่จะตำหนิใครลองถามตัวเองดูว่า เขาทำอะไรได้ดีบ้าง ถ้าคุณมองไม่เห็นเลย นั่นอาจเป็นความบกพร่องของคุณมากกว่าที่จะเป็นความบกพร่องของเขา ในกรณีเช่นนี้คุณควรตั้งใจมองด้านบวกให้มากขึ้น การตั้งกติกาให้ตัวเองว่า ทุก ๑ คำตำหนิต้องมาพร้อมกับ ๒ คำชม เป็นวิธีฝึกฝนตนเองให้ฉับไวในการมองเห็นข้อดีและรู้จักชื่นชมชีวิต
ไม่มีขยะใดที่ไร้ประโยชน์ แม้แต่ปฏิกูลก็ยังเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ หากฉลาดในการเห็นด้านดีของทุกคนและทุกสิ่ง ในที่สุดคุณจะพบว่าสิ่งดี ๆ มีอยู่รอบตัว รวมทั้งความสุขก็มีอยู่กับคุณแล้ว แต่ที่ยังทุกข์อยู่ก็เพราะคุณมองไม่เห็นต่างหาก
- ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 270 สิงหาคม 2550