ปราบดา หยุ่น

ดนตรีที่มีเสียงน้ำตา จอห์น เลนนอน(John Lennon) : เด็กผู้ชายที่ร้องไห้ดังที่สุดในโลก

บทเพลงแรกของ จอห์น เลนนอน (John Lennon) ที่ทำให้วงดนตรีขนาดเล็กเท่าตัวเต่าทองของเขาโด่งดังข้ามทวีป จากเกาะอังกฤษไปสู่แผ่นดินอื่นเกือบทั่วโลก คือเพลง “Please Please Me” (ค.ศ. ๑๙๖๓) เป็นเพลงรัก เนื้อหาเวียนวนอยู่กับการวอนขอให้ “คุณเอาใจผม เหมือนกับที่ผมเอาใจคุณ” เขาเคยเล่าว่าได้แรงบันดาลใจจากเพลงของนักร้องนักดนตรีชาวอเมริกันผู้เป็นต้นแบบดนตรีร็อกอย่าง รอย ออร์บิสัน (Roy Orbison) กับ บิง ครอสบี (Bing Crosby) เป็นการได้แรงบันดาลใจในการประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง สะท้อนให้เห็นว่าเลนนอนในวัยหนุ่ม (ขณะนั้นเขามีอายุเพียงยี่สิบต้นๆ) เป็นนักดนตรีที่สุงสิงอยู่กับ “ความสนใจของตัวเอง” ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหาตามประสาวัยรุ่นทั่วไป

บทเพลงดังระดับโลกบทสุดท้ายของ จอห์น เลนนอน ที่ทำให้ทั้งชื่อและผลงานของเขากลายเป็น
หนึ่งในสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสันติภาพสำหรับมวลมนุษยชาติ คือเพลง “Imagine” (ค.ศ. ๑๙๗๑) เนื้อหาโดยรวมของเพลงอมตะบทนี้คือการเรียกร้องให้ผู้ฟัง “จินตนาการ” ถึงสังคมยูโธเปีย ปราศจากการแบ่งแยกชนชาติ ปราศจากการแบ่งแยกทางศาสนา ปราศจากสงคราม ปราศจากนรกและสวรรค์

“ผมหวังว่าสักวันพวกคุณจะร่วมฝันไปกับเรา แล้วโลกก็จะอยู่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว”

จากหนุ่มน้อยผู้ขับกล่อมเพลงรัก เรียกร้องความสนใจจากสาวๆ กลายเป็นหนุ่ม “หัวรุนแรง” ผู้พยายามใช้ชื่อเสียง เงินทอง และศักยภาพทางดนตรีป๊อปของตน คะยั้นคะยอขอสันติภาพจากเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ในระยะเวลาการทำงานไม่ถึง ๑๐ ปี ดูเหมือน จอห์น เลนนอน จะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เติบโตขึ้น มีสาระมากขึ้น และทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาดูดีกว่าดารานักร้องทั่วไป แม้คนจำนวนหนึ่งจะไม่ปลาบปลื้มพฤติกรรมของเขา ระแวงว่าเขาสร้างภาพเพียงบนผิวเปลือก วิจารณ์ทัศนคติของเขาว่าตื้นเขินไร้เดียงสา แต่ก็ยากจะปฏิเสธสถานะความเป็น “คานธี” แห่งวงการเพลงร็อกของ จอห์น เลนนอน อย่างน้อยเพลงอย่าง “Imagine” ก็มักกระตุ้นให้วัยรุ่นมองด้านอื่นของชีวิตและสังคมมากกว่าเพลงอย่าง “Please Please Me” ไม่ว่าจะเป็นการมองที่ลึกซึ้งหรือตื้นเขินขนาดไหนก็ตาม

ชีวิตในสายตาสาธารณะของ จอห์น เลนนอน จึงดูเหมือนจะมีสองยุคสมัยที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ยุคแรกคือนักร้องขวัญใจวัยรุ่น เป็นหัวหอกของ เดอะบีเทิลส์ (The Beatles) วงร็อกที่โด่งดัง และประสบความสำเร็จมากที่สุดวงหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีสมัยใหม่ (อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด หากวัดจากความเป็นตำนานและความสำเร็จเชิงพาณิชย์ที่ยังดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น) สถานะของเขาในตอนนั้นไม่ต่างจากความนิยมที่สาวน้อยและสาวใหญ่มีให้ต่อสมาชิกวงประเภท “บอยแบนด์” ในปัจจุบัน นั่นคือห่างไกลจากการกระตุ้นต่อม “สำนึกต่อสังคม” ทั้งในภาพลักษณ์และผลงาน ตัวตนของเขาเป็นเพียงเครื่องหมายการค้า และเป็น “ต้นแบบ” ทางแฟชั่น บทเพลงของเขา (หรือของ “พวกเขา” ในนาม เดอะบีเทิลส์) อาจมีความน่าตื่นเต้นประทับใจในแง่ความแปลกใหม่ของเสียงดนตรี แต่ในด้านสาระและความหมาย มีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้นที่ขยับเคลื่อนห่างออกไปจากคำว่า “รัก”

ทว่า จอห์น เลนนอน ในยุคหลัง กลับกลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ การต่อต้านสงคราม การเรียกร้องสันติภาพ และเป็น “วีรบุรุษของชนชั้นกรรมกร” ดังที่เขาขับร้องด้วยน้ำเสียงขื่นขมอมประชดประชันในเพลง “Working Class Hero” จากผลงานอัลบัมเดี่ยว (แต่ทำร่วมกับโยโกะ โอโน่ ภรรยาคนที่สองของเขา) ชุดแรกที่ชื่อ John Lennon/Plastic Ono Band ในปี ๑๙๗๐ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างชัดเจนของ “จอห์น เลนนอน คนใหม่” ผู้ไม่อาจหวนกลับไปร่ำร้องอ้อนวอนให้สาวๆ “เอาใจ” เขา เหมือนที่เคยทำอีกแล้ว

ระหว่าง จอห์น เลนนอน ยุคแรก กับ จอห์น เลนนอน ยุคหลัง ชายหนุ่มคนใดสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของนักร้องนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลกผู้นี้ เขาเป็นมนุษย์ผู้หมกมุ่นกับความรักและความต้องการของตัวเอง หรือเป็นยอดมนุษย์ผู้ห่วงใยความเป็นไปในสังคมมากกว่าความสุขสบายส่วนตัวกันแน่

คำตอบอาจไม่ใช่ทั้งสองคน

ในความต่างของเพลงอย่าง “Please Please Me” และเพลง “Imagine” ยังมีความเหมือนที่แฟนเพลงทั้งสองยุคของเขาอาจไม่สามารถสังเกตเห็นในขณะนั้น แม้เพลงแรกเป็นเพลงที่พูดกับผู้หญิงเพียงหนึ่งคน และเพลงที่สองพูดกับมนุษยชาติ แต่สำหรับผู้พูดที่ชื่อ จอห์น เลนนอน เขาพูดด้วยความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการที่ไม่ห่างไกลจากกันเท่าไรนัก

เป็นคำพูดของผู้ที่คิดว่าตัวเองขาดไร้ความรัก และทุกข์ตรมอยู่กับผลลัพธ์ของ “ความจริง”

เพลง “Imagine” อาจได้รับคำสรรเสริญเยินยอว่ามีเนื้อหางดงาม แต่เนื้อหาของมันย่อมต้อง
มีจุดกำเนิดจากความหม่นเศร้าและผิดหวัง มีเพียงชีวิตในโลกแห่งการแบ่งแยก สงคราม และ
ความอยุติธรรมเท่านั้นที่ผู้คนจำเป็นต้องร้องเพลงอย่าง “Imagine” เพื่อวอนขอความสงบสุข เพื่อปลอบประโลมตัวเองว่า “ความฝัน” อันสวยงามในอุดมคติ “อาจจะ” เป็นจริงได้สักวัน

มนุษย์คงไม่จำเป็นต้องมี “จินตนาการ” หากโลกและชีวิตดำเนินไปตามความคาดหวังโดย
เพียบพร้อมสมบูรณ์

นอกเหนือจากความเป็นนักร้องเพลงรักและนักร้องเพลงเรียกร้องสันติภาพ ความโดดเด่นที่แท้จริงในผลงานดนตรีของ จอห์น เลนนอน อาจเป็นการประพันธ์บทเพลงประเภท “ตีแผ่ความอ่อนแอของตัวเอง” เขาเป็นนักร้องเพลงร็อกสมัยใหม่คนแรกๆ ที่เขียนเพลงจากประสบการณ์ส่วนตัวชนิดแทบหมดเปลือก ส่วนใหญ่เป็นการเปิดเผยด้านเศร้าหม่น มืด สับสน โดยไม่หวาดหวั่นว่าแฟนเพลงจะเหยียดหยามความเป็น “ปุถุชน” ของคนระดับตำนานอย่างเขาแม้แต่น้อย

ตรงกันข้ามกับการสร้างภาพ เพลงของ จอห์น เลนนอน ในยุค “หลังเดอะบีเทิลส์” เกือบทั้งหมดเป็นเพลงที่มีเนื้อหาแบบ “ไม่ห่วงภาพ” ถึงขั้นปลดเปลือยตัวตนบางด้านของเขาจนเกือบเห็นโครงกระดูก

บทเพลงแรกในอัลบัม John Lennon/Plastic Ono Band ชื่อเพลง “Mother” ไม่ใช่เพลงที่ จอห์น เลนนอน แต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญเทิดทูนมารดาของตัวเองแต่อย่างไร

Mother, you had me
But I never had you
I wanted you
But you didn’t want me
So, I got to tell you
Goodbye, goodbye

แม่ของ จอห์น เลนนอน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนขณะที่เลนนอนอายุ ๑๗ ปี ส่วนพ่อของเขาทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เลนนอนยังเป็นทารก เนื้อหาของเพลง “Mother” (ขับร้องด้วยน้ำเสียงโอดครวญ
ของคนเจ็บปวดสาหัส) จึงไม่ได้มุ่งหวังประจานความบกพร่องในหน้าที่ผู้ปกครองของคนทั้งสอง
หากแต่เป็นการเปิดโปงสภาวะ “ขาดความอบอุ่น” ของผู้ประพันธ์ หากตีความว่ามันเป็นบทเพลงของมนุษย์ผู้ปราศจากความรัก และผิดหวังกับสภาพแวดล้อมของตนเอง “Mother” ก็คล้ายคลึงกับ “Please Please Me” และ “Imagine” อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งที่เพลงหนึ่งแต่งโดยหนุ่มหล่อขวัญใจวัยรุ่น เพลงหนึ่งแต่งโดยผู้นำขบวนประท้วงต่อต้านสงคราม และอีกเพลงหนึ่งแต่งโดยผู้ป่วยทางจิตที่ต้องการการบำบัดโดย ซิกมุนด์ ฟรอยด์

“Isolation” (“ความโดดเดี่ยวเดียวดาย”) อีกบทเพลงจากอัลบัมเดียวกัน สารภาพว่า

People say we got it made
Don’t they know
We’re so afraid?
Isolation
We’re afraid to be alone
Everybody got to have a home
Isolation

“ใครๆ ก็บอกว่าเราได้ดีไปแล้ว พวกเขาไม่รู้หรือว่าเราหวาดกลัวเหลือเกิน” จอห์น เลนนอน หมายถึงตัวเขา ภรรยา และพรรคพวกคนดังที่สังคมอิจฉาริษยาในความสำเร็จร่ำรวย แต่กระทั่งคนอย่าง
พวกเขาก็ไม่สามารถหลบหนีหลุดพ้นจากความรู้สึกหวาดกลัวการถูกทอดทิ้งซึ่งสร้างความทุกข์ลึกๆ ให้มนุษย์ส่วนใหญ่

จอห์น เลนนอน อาจหยิบยกคนอื่นมาอ้างอิงเชื่อมโยงไปกับความรู้สึกของตัวเองบ่อยครั้ง ทว่า ในความหมายที่แท้จริง เขาไม่ได้พูดถึงใครนอกจาก จอห์น เลนนอน

อัลบัม John Lennon/Plastic Ono Band คับคั่งไปด้วยบทเพลงเปิดโปงความทุกข์และเปลือยเปล่า
ความอ่อนแอ นอกจาก “Mother” และ “Isolation” ยังมี “God” (“The dream is over…” ความฝันสิ้นสุดลงแล้ว) และอีกหลายบทหลายตอนในแต่ละเพลงที่ จอห์น เลนนอน กู่ตะโกนบอกกับโลกที่รู้จักเขาดี ว่าเขาเป็นเพียงคนอมทุกข์ที่พยายามหาหนทางดำรงชีวิตอยู่อย่างสันติกับความทรงจำขมๆ และความสับสนขื่นๆ ไปให้ได้เท่านั้น

กระทั่งในเพลงเบาๆ ที่อ่อนโยนอย่าง “Love” เขายังสื่อว่า “Love is wanting to be loved,” ความรักคือการ “ต้องการได้ความรัก” จากคนอื่น

“ความต้องการ” นั่นคือแก่นสำคัญในตัวตน และผลงานของ จอห์น เลนนอน “ความต้องการ” ที่ไม่เคยได้รับการตอบสนองเพียงพอ

หลังจากอัลบัม John Lennon/Plastic Ono Band และก่อนที่เขาจะถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ จอห์น เลนนอน สร้างงานดนตรีออกมาอีกไม่น้อย หลายเพลงได้รับสถานะ
ของความเป็น “อมตะ” ไม่แพ้ “Imagine” และหลายเพลงเช่นกันที่สะท้อนตัวตนของคน “ขาดความรัก” อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เขาเป็นหนึ่งในต้นแบบของนักร้องประเภท “ระบายเรื่องส่วนตัว” ที่กลายเป็นวัฒนธรรมเล็กๆ สืบเนื่องต่อมาในวงการดนตรีร่วมสมัย หากไม่มีเพลงเปลือยอารมณ์ของ จอห์น เลนนอน วงการเพลงอาจไม่เคยมี เคิร์ท โคเบน อาจไม่เคยมีคนอย่างเอมิเน็ม หรือใครก็ตามที่จงใจสร้างงานศิลปะจากปัญหาส่วนตัวโดยไม่เหนียมอายหวาดหวั่นต่อสายตาวิพากษ์ของสังคม

You can live a lie until you die
One thing you can’t hide
Is when you’re crippled inside

“คุณจะอยู่อย่างเสแสร้งหลอกลวงไปจนวันตายก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณไม่อาจปกปิดบดบัง คือความพิกลพิการภายในจิตใจของคุณ” จอห์น เลนนอน ครวญในบทเพลง “Crippled Inside” จากอัลบัม Imagine นั่นดูเหมือนจะเป็น “คติ” ประจำตัวที่เขาเชื่อมั่นและยึดปฏิบัตินับตั้งแต่หลุดพ้นจาก
ภาพของร็อกเกอร์หนุ่มหนึ่งใน “สี่เต่าทอง” วงดนตรีที่โด่งดังที่สุดในโลก

หรือบางที มันอาจเป็นคติที่เขาได้มาจากประสบการณ์เนิ่นนานก่อนหน้านั้น

ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็กชายไร้ชื่อเสียง

ผู้ยื่นแขนร้องขอการโอบกอด

แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากใครเลยสักคนเดียว