วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์ / ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

พระไพศาล วิสาโล

หลายคนอาจนึกบ่นในใจว่า จะบ้าหรือ ชีวิตทุกวันนี้ก็เครียดอยู่แล้ว ยังเอาเรื่องน่าหดหู่มาให้อ่านกันอีก ความตายเป็นมิติลึกลับที่ไม่ค่อยมีใครอยากรู้จัก ทั้ง ๆที่ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
แต่เชื่อไหม หากคุณอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จบแล้ว จิตใจของคุณจะสงบอย่างน่าประหลาด ความตายอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป
“ยิ่งรู้จักความตายมากเพียงใด ชีวิตที่เหลืออยู่จะสงบสุขมากขึ้น” บางคนกล่าวเช่นนั้น

พระไพศาล วิสาโล อดีตปัญญาชนรุ่นใหม่ของสังคม ได้ละชีวิตฆราวาสตั้งแต่วัยหนุ่ม มุ่งสู่ชีวิตนักบวช เป็นเวลา ๒๑ พรรษาแล้ว

ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต บ้านท่ามะไฟ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ วัดป่าที่รู้จักกันดีในหมู่นักปฏิบัติธรรมทั่วประเทศ แต่ท่านมักจำพรรษาอยู่บนภูเขาที่วัดป่ามหาวัน สำนักสงฆ์อีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลกัน เพื่อดูแลไม่ให้ใครมาตัดไม้ทำลายป่าบริเวณนั้น วันที่ สารคดี ขึ้นไปหาท่าน พระไพศาลและพระลูกวัดเพิ่งเสร็จสิ้นจากการดับไฟป่าบนภูเขาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าแล้ง …เป็นงานหนักที่ห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คน

บางคนเรียกท่านว่า “พระอนุรักษ์” ด้วยเห็นท่านสนใจการดูแลรักษาป่า ตัวท่านเองบอกว่านอกจากกิจกรรมเรื่องป่าและการไปบรรยายในงานอบรมต่าง ๆ เป็นประจำแล้ว กิจธุระยามนี้เกี่ยวข้องกับความตายค่อนข้างมาก มีญาติโยมมานิมนต์ให้ไปเทศน์แก่คนป่วยหนักใกล้ตายไม่เว้นแต่ละวัน เพราะความตายคือปลายสุดของชีวิต สิ่งที่เราทำในยามมีชีวิตอยู่จึงมีผลอย่างมากต่อความตายของเรา กล่าวกันเสมอว่า เรามีชีวิตอย่างไร ก็ตายอย่างนั้น ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย ความตายก็ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง และที่สำคัญความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ในโลกหน้า คุณพร้อมหรือยังที่จะรู้จักความตาย

“เหตุใดอาจารย์จึงอยากให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องความตาย”
ความตายเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเผชิญ อาตมาคิดอยู่เสมอว่า เวลาความตายมาถึงเรา เราจะเผชิญความตายอย่างสงบได้อย่างไร ที่คิดถึงความตาย ส่วนหนึ่งเพราะว่าชีวิตและกิจกรรมสมัยที่อาตมาเป็นนักเรียนและนักศึกษา มีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับความตายอยู่หลายครั้ง หนุ่มสาวรุ่นอาตมาเป็นรุ่นที่มักจะเจอความตายหรือใกล้เคียงความตาย อย่างเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ หรือ ๖ ตุลา ๑๙ คนที่เรามีความผูกพันด้วยโดนยิงตาย เมื่อปี ๒๕๑๘ เคยไปทำสารคดีย้อนรอยครูโกมล คีมทอง ที่ถูกยิงเสียชีวิตปี ๒๕๑๔ ที่บ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เราก็ไปดูว่าหลังจากที่ โกมล คีมทอง ตายไป ๔ ปี ชาวบ้านที่นั่นเขารู้สึกยังไง ก็ไปพักที่วัดซึ่งใกล้กับเขาช่องช้าง ได้ยินเสียงปืนใหญ่ที่ฝ่ายทหารยิงสู้กับพวกคนในป่าตลอดเวลา นอกจากนั้นทางวัดยังเอาศพคนตายมาใส่ตู้ตั้งโชว์เป็นเครื่องสอนใจ บรรยากาศอย่างนั้น มันทำให้เรานึกถึงความตายมาก และก็รู้สึกว่าเรากลัว เพราะเรายังไม่พร้อมที่จะเผชิญความตาย ตอนนั้นอายุแค่ ๑๘-๑๙ ปี แต่มันก็เป็นเรื่องจริงจังสำหรับเรา

ช่วงนั้นกิจกรรมนักศึกษาค่อนข้างอันตราย มีคนตายบ่อย ๆ เวลามีการประท้วงที่ธรรมศาสตร์ บางครั้งพวกกระทิงแดงก็ปาระเบิดเข้ามา มีคนตาย ก่อนหน้านั้นก็มีการลอบฆ่ากันมากมาย จำได้ว่าที่รู้สึกมากคือตอนที่นักศึกษาชุมนุมประท้วงการกลับมาของจอมพลประภาส จารุเสถียร ปี ๒๕๑๘ คืนนั้นมีพวกกระทิงแดงเข้ามาก่อกวนอยู่แถวหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดูเหมือนจะยิงปืนเข้ามาด้วย แต่ไม่มีใครตาย เราก็กังวลว่าถ้าเขาบุกเข้ามาจะทำยังไง เพราะเขาเคยมาเผาธรรมศาสตร์ทีหนึ่งแล้ว การทำกิจกรรมเหล่านี้ทำให้อาตมาใกล้ความตายหลายครั้ง จึงสนใจเรื่องความตายมาตั้งแต่ก่อนบวชพระ และก็ยิ่งได้มาเรียนรู้พุทธศาสนาซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องมรณสติและการเผชิญกับความตายอย่างรู้เท่าทัน ก็เลยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าจะศึกษา ถ้าเราต้องมาเป็นมะเร็ง หรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหัน เราจะทำยังไง ทั้งหมดคือความสนใจส่วนตัวที่ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญความตายด้วยใจสงบ อย่างมีสติ ตอนหลังได้แปลหนังสือเรื่อง The Tibetan Book of Living and Dying หรือ ประตูสู่สภาวะใหม่ และ เหนือห้วงมหรรณพ มีบางคนที่ได้อ่านหนังสือแล้วก็ติดต่อขอให้อาตมาไปช่วยแนะนำพ่อแม่ของเขาที่ใกล้ตาย ก็เลยทำให้อาตมาสนใจเรื่องการช่วยเหลือผู้ใกล้ตายมากขึ้น

“ทำไมคนเราต้องเตรียมตัวตายด้วยใจสงบครับ”
พุทธศาสนาสอนว่าถ้าเผชิญความตายด้วยใจสงบหรือวางจิตให้เป็นกุศล จิตก็จะไปสู่สุคติได้ มีตัวอย่างมากมายในพระไตรปิฎก มีคนที่ทุกข์ทรมานมาก แต่ในจังหวะสุดท้ายก่อนที่จะตาย ได้เห็นธรรมจากความเจ็บความปวด เข้าใจแจ่มชัดถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความไม่เที่ยงของสังขารว่าไม่น่ายึดถือ จิตก็หลุดพ้นได้ นอกจากนั้นจากการที่อาตมาได้ประสบสัมผัสด้วยตัวเอง ทำให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประคองใจให้สงบก่อนตาย มีเพื่อนใกล้ตัวหลายคนเสียชีวิตไป ล่าสุดคือ สุภาพร พงศ์พฤกษ์ เป็นมะเร็งที่เต้านมมา ๑๑ ปี และเพิ่งมาลุกลามเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ๔ เดือนสุดท้ายป่วยหนักจนเดินไม่ได้ ต้องนอนอย่างเดียว จึงเตรียมตัวที่จะเผชิญกับความตาย โดยยอมรับว่ามีโอกาสรอดน้อยมาก ขณะเดียวกันเพื่อน ๆ ก็ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เธอสามารถทำใจให้สงบได้ ปรากฏว่าเธอยอมรับความตายโดยไม่ทุรนทุราย และจากไปอย่างสงบได้ในที่สุด นี่เป็นตัวอย่างของคนที่พร้อมจะตายอย่างสงบโดยไม่คิดพึ่งเทคโนโลยี ส่วนคนที่พร้อมจะดูแลเพื่อนที่ประสงค์จะตายในลักษณะนี้ก็มีอยู่ เราจึงน่าจะช่วยกันให้ความรู้และฝึกอบรมเพื่อให้ผู้คนมีทักษะในเรื่องนี้กันมาก ๆ เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนป่วยประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ตายที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ตายเพราะโรคเรื้อรัง คนเหล่านี้มีเวลาที่จะเตรียมตัวเผชิญกับความตายได้ เพราะไม่ได้ตายแบบปุบปับไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งมีน้อย ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์

“สภาวะที่เราควรจะเตรียมตัวก่อนตาย ประกอบด้วยอะไรบ้าง
เราต้องพิจารณามรณสติเป็นประจำ คือพิจารณาว่าเราจะต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่า ความตายจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ จะมาอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ การพิจารณามรณสติอย่างนี้ช่วยให้เราไม่ประมาท มรณสติส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่เรารับรู้ข่าวคราวของผู้คน ปรกติเวลาได้ยินข่าวคนตาย เราไม่ค่อยได้นึกถึงความตายของตัวเองเท่าไหร่ เรานึกว่ามันเป็นแค่ข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ เห็นคนตายแล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ถ้าหากว่าเราน้อมเข้ามาใส่ตัว คือตระหนักว่าเราอาจจะเจออุบัติเหตุที่น่าสยดสยองก็ได้ อาจเจอแผ่นดินไหว รถแก๊สระเบิด หรือว่าเครื่องบินตกเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเราน้อมเข้ามาใส่ตัวแบบนี้ เราจะเกิดความไม่ประมาท

“ไม่ประมาทอย่างไรครับ
ความไม่ประมาทคือความตระหนักอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันพร้อมที่จะแปรผัน ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอสำหรับความผันผวนปรวนแปร ในปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ฉะนั้นเธอจงจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาทยังหมายถึงความขยันขันแข็ง ความขวนขวาย พอเรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมจะแปรผัน เช่น เศรษฐีก็อาจจะล้มละลายได้ ดังนั้นจึงต้องขยันขันแข็ง ไม่ชะล่าใจหรืองอมืองอเท้า ไม่ใช่เห็นว่าฉันรวยแล้ว ฉันก็เลยไม่ต้องทำอะไร คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าฉันยังหนุ่มยังสาวอยู่ ก็เลยไม่คิดจะเตรียมตัวอะไร อันนี้แสดงว่าเราประมาทเพราะคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่อีกนาน ไม่ได้เฉลียวใจว่าอาจจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าหากเราตระหนักถึงความไม่เที่ยง เราก็ตระหนักว่าอยู่เฉยไม่ได้ ต้องขวนขวาย ทำในสิ่งที่ควรทำ ฉะนั้น ไม่ประมาทจึงมีความหมายสองระดับ ในระดับจิตใจคือระลึกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง มีขึ้นต้องมีลง มีได้ต้องมีเสีย อย่างที่ ๒ เป็นความหมายในระดับการกระทำ คือมีความขยันหมั่นเพียร ไม่ทอดธุระ อะไรที่จำเป็นต้องทำก็รีบทำ

ทีนี้เมื่อเราพิจารณามรณสติแล้ว เราก็จะตระหนักว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือหมั่นทำความดี ทำกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ดีงาม ที่เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต พระพุทธเจ้าตรัสว่าใครที่มีความสุจริตทั้งสามอย่าง ย่อมตายดี ทำไมถึงตายดี ก็เพราะว่าไม่มีอะไรที่ต้องห่วงกังวล คนเราถ้าหากว่าทำชั่วหรือทำบาปแล้ว ก่อนตายกรรมชั่วเหล่านั้นอาจหวนมาหลอกหลอน หรือทำให้จิตใจเศร้าหมองตื่นกลัว เรามีคำเรียกว่า “กรรมนิมิต” คือนิมิตหรือภาพเกี่ยวกับกรรมของตัวที่ได้ทำไว้ ถ้าเราทำกรรมที่ไม่ดีไว้ กรรมนิมิตที่ไม่ดีก็จะปรากฏ คนใกล้ตายสติอ่อนอยู่แล้ว พอได้เห็นภาพไม่ดีเหล่านี้ก็ตกใจ ถ้าตายไปตอนนั้นก็ไปสู่ทุคติ คือตกนรกหรืออยู่ในภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์ ฉะนั้นการทำกรรมดีอยู่เสมอ และระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ต้องทำในขณะที่ยังสุขสบายดีอยู่ คราวนี้ถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา โดยเฉพาะป่วยแบบยืดเยื้อเรื้อรัง ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวให้มากขึ้นไปอีก มีวิธีการหลายอย่างที่จะช่วยให้เราตายอย่างสงบได้ วิธีหนึ่งที่สำคัญก็คือการฝึกสติอย่างสม่ำเสมอ สตินี้ช่วยได้มาก เพราะว่าเวลาป่วยหนักในระยะสุดท้าย สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือทุกขเวทนาหรือความเจ็บปวดทางกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เอดส์ หรือว่าโรคเรื้อรังทั้งหลาย ทุกขเวทนาทางกายจะแรงกล้ามาก ถ้าเราไม่มีสติ จิตใจเราก็จะทุกข์ตามไปด้วย ทุกข์กายกับทุกข์ใจไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันเสมอไป ปัจจัยหนึ่งซึ่งช่วยให้เราไม่ทุกข์ใจแม้จะทุกข์กายก็คือสตินั่นเอง

“การเจริญสติก็อาจช่วยลดความเจ็บปวดได้หรือ”
สมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อพระอนุรุทธะ ท่านอาพาธหนัก ต่อมาท่านหายป่วย เพื่อนพระจึงถามว่า ท่านหายได้เพราะอะไร ท่านบอกว่าเพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือการมีสติรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม พูดสั้น ๆ คือรู้เท่าทันในกายและใจ สติช่วยให้เราเห็นความทุกข์ทางกายโดยไม่เข้าไปเป็นผู้ทุกข์ ช่วยประคองใจไม่ให้เข้าไปในความทุกข์ หรือกระสับกระส่ายไปกับกาย พูดง่าย ๆ คือแม้ปวดกาย แต่ไม่ปวดใจ กายกระสับกระส่าย แต่จิตไม่กระสับกระส่าย อันนี้ต้องอาศัยสติ เพราะถ้าเราไม่มีสติ จิตมันก็จะไปจมอยู่กับความทุกข์ทางกาย การมีสมาธิก็ช่วยได้ เช่นขณะที่ร่างกายเราป่วย แต่ว่าเราจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จิตก็จะรับรู้ความปวดทางกายน้อยลง ก็เหมือนกับคนที่เล่นไพ่เป็นวันเป็นคืน ทำไมไม่รู้สึกปวดเมื่อย ทั้ง ๆ ที่นั่งพับเพียบติดต่อกันหลายชั่วโมง ก็เพราะใจมีสมาธิอยู่กับไพ่ เช่นเดียวกันเวลาดูบอลกลางแดด แดดร้อน แต่ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไรเลย เพราะว่าจิตมันไม่ไปรับรู้ความร้อน แต่ไปจดจ่ออยู่กับนักกีฬาที่กำลังเล่นฟุตบอล การจดจ่อของจิตนี้เราเรียกว่าสมาธิ ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวดได้

อีกอย่างที่ช่วยได้คือการนึกถึงสิ่งที่ดีงาม เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ อาทิ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือจะนึกถึงความดีที่เคยทำก็ได้ มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อทีฆาวุ เกิดป่วยหนัก พระพุทธเจ้าก็แนะให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็ระลึกถึงศีลว่าได้ทำความดีถึงพร้อมหรือยัง และเมื่อเขารู้สึกมั่นใจในความดีที่ได้ทำแล้ว พระพุทธเจ้าก็แนะต่อไปให้พิจารณาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จุดนี้เป็นการช่วยให้เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าเกิดปัญญาแล้ว ความเจ็บปวดหรือความตายก็มิใช่สิ่งน่ากลัวอีกต่อไป

คือความตายมันน่ากลัวเพราะว่าเรายังหลงยึดสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นตัวกูของกู ยึดว่านี่เป็นร่างกายของฉัน บ้านของฉัน คนรักของฉัน เรากลัวว่าเราจะพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเรามีปัญญาเห็นและตระหนักว่ามันไม่มีอะไรที่น่ายึดถือเป็นตัวตน ใจก็วางสิ่งต่าง ๆ ได้ เมื่อวางได้ ความตายก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป ความตายกลับเป็นสิ่งที่ดี คือกลายเป็นตัวเร่งให้เราปล่อยวางเร็วเข้า เพราะขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ ยังสนุกสนานเพลิดเพลิน เราไม่ค่อยปล่อยวางเท่าไหร่ แต่พอเรารู้ว่าความตายจะมาถึงแล้ว ก็จะปล่อยวางได้ง่าย ความตายกลายเป็นตัวเร่งให้เราต้องปล่อยวาง เพราะถ้าไม่ปล่อยวาง ก็จะยิ่งทุกข์ ทางโลกเขาถือว่าความตายเป็นวิกฤต แต่พุทธศาสนาถือว่าความตายเป็นโอกาส โอกาสที่จะหลุดพ้น โอกาสที่จะยกจิตให้สูงขึ้น เริ่มจากการที่จิตมีสติ มีสมาธิ ไปจนถึงการมีปัญญา อันนี้เป็นสิ่งซึ่งควรจะเตรียมตัวทุกคน ถ้าต้องการตายอย่างสงบ

“แต่คนป่วยใกล้ตายอาจไม่สามารถเตรียมตัวตายอย่างสงบได้ตามลำพัง
คนเจ็บป่วยมักจะครุ่นคิดอยู่กับความเจ็บปวดอย่างเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคนอื่นช่วยด้วย ญาติพี่น้อง เพื่อนที่คอยมาดูแล หรือแม้แต่หมอ พยาบาล ก็สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ คือช่วยทำให้ผู้ป่วยใกล้ตายมีสติ ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบ ที่จะน้อมนำไปสู่สมาธิ รู้จักปล่อยวาง หรือถ้าเขาห่วงลูกห่วงหลาน ก็ช่วยให้เขาคลายความเป็นห่วง บอกเขาว่าอย่าห่วงลูกห่วงหลานเลย เพราะลูกหลานก็จะเอาตัวรอดได้ถึงแม้เขาจะจากไป ในสมัยพุทธกาลก็มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อนกุลบิดา ป่วยหนักใกล้ตาย ภรรยาซึ่งเป็นคนดูแลก็ปลอบใจว่า พี่อย่าห่วงฉันเลย ฉันเลี้ยงลูกไหว รักษาบ้านได้ พูดจนนกุลบิดาหายห่วง ปรากฏว่าสามารถกลับฟื้นขึ้นมาเป็นปรกติได้ เพราะใจที่หมดห่วง ทำให้อาการเจ็บป่วยหายไป คนที่พยาบาลหรือดูแลต้องพยายามช่วยให้ผู้ป่วยคลายกังวล เพราะว่าคนเราบางทีมีเรื่องค้างคาใจ คือรู้สึกผิดที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่ดีกับคนบางคน เช่น พ่อรู้สึกผิดที่ได้ทำไม่ดีกับลูกไว้ หรือลูกรู้สึกผิดที่ทำไม่ดีกับพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้มันจะมาหลอกหลอน มารบกวนจิตใจเวลาใกล้ตาย บางครั้งเขาอยากจะขอโทษ ในกรณีนี้เราควรช่วยให้เขาได้มีโอกาสขอโทษหรือปรับความเข้าใจกับคนที่ผิดใจกันมาก่อน บ างคนมีความเกลียด ความโกรธฝังแน่น คนที่อยู่ใกล้ ๆ ควรช่วยให้เขาปล่อยวางความโกรธ ความเกลียด บางคนคิดถึงลูก อยากเห็นหน้าลูกเป็นครั้งสุดท้าย แต่ว่าลูกอยู่ตั้งไกล สิ่งที่ญาติมิตรจะช่วยได้ก็คือพยายามติดต่อให้เขากลับมาดูใจ จะสังเกตว่ามีหลายคนป่วยหนักแต่ไม่ยอมตายสักที พอได้เห็นหน้าลูกหลาน สักพักเขาก็จากไปอย่างสงบ ที่ดีกว่านั้นก็คือการพยายามแนะนำให้เขาเกิดปัญญาขึ้นมา แต่ก่อนนี่เป็นหน้าที่ของพระโดยตรง คือช่วยให้เขาปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ และเห็นชัดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง ไม่น่ายึดถือ หรือช่วยให้จิตของเขาน้อมไปในทางที่เป็นกุศล เช่น ให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้นึกถึงสุคติ หรือการพ้นทุกข์ เอานิพพานเป็นจุดหมาย พุทธศาสนาถือว่ากรรมหรือการกระทำตอนใกล้ตายที่เรียกว่า “อาสันนกรรม” เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าตอนใกล้ตายจิตระลึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล นึกถึงสิ่งที่ดีงาม ก็จะไปสู่สุคติ หรืออาจจะถึงขั้นหลุดพ้นเลยก็ได้ แต่ถ้าหากว่าจิตมีความห่วงกังวล ก็จะไปสู่ทุคติ แม้จะทำความดีมาตลอด แต่พอไปห่วงกังวลอะไรสักอย่าง มีเรื่องเล่าว่า แม่ชีรูปหนึ่งเป็นคนที่เคร่งในศีลมาก ปรากฏว่าวันหนึ่งไปซักผ้า เห็นมดตายในกะละมัง ก็เสียใจว่าตัวเองรักษาศีลมาตลอด ทำไมทำให้มดตาย จิตครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ตลอด ตอนนั้นก็ป่วยอยู่แล้ว ไม่นานก็ตาย ปรากฏว่าจิตตกไปสู่อบายภูมิ พูดง่าย ๆ คือลงนรกไปเลย มดตัวเดียวสามารถฉุดจิตของแม่ชีให้ไปสู่อบายภูมิได้ นี่เป็นเพราะตั้งจิตไว้ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามถ้าทำความดีมาตลอด ความดีนั้นก็จะสามารถฉุดให้หลุดจากอบายภูมิขึ้นสู่สุคติได้ ไม่ได้หมายความว่าทำความดีมาตลอด เจอเรื่องแค่นี้นิดเดียวก็จะหลุดไปสู่อบายภูมิไปตลอด ถ้าทำความดีไว้เยอะ อยู่อบายภูมิสักพัก พอวิบากหมด จิตก็จะขึ้นสู่สุคติได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเชื่อกัน ในทางพุทธศาสนาเราถือว่าเรื่องแบบนี้สำคัญ ฉะนั้นการพยายามช่วยให้คนตายโดยมีจิตที่สงบ เป็นกุศล จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

“แต่ดูเหมือนปัจจุบันญาติผู้ป่วยที่ใกล้ตายจะไม่ค่อยรู้จักหรือเข้าใจสิ่งเหล่านี้”
เดี๋ยวนี้เวลาคนใกล้จะตาย ญาติพี่น้องก็ร้องห่มร้องไห้ หรือบางทีแย่งสมบัติกัน ทะเลาะกันเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือทะเลาะกันเรื่องใครจะจ่ายเงินค่าทำศพ สิ่งเหล่านี้มันมีแต่จะฉุดให้ผู้ตายลงไปสู่อบายภูมิได้ง่าย แม้ว่าผู้ป่วยจะโคม่าแล้ว แต่ว่าเขารับรู้ได้ คนที่โคม่าไม่ใช่ว่าเขาไม่รับรู้อะไรเลย เขาอาจจะรับรู้ แต่ไม่มากเท่ากับคนปรกติ อาจจะ ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้เรื่องนี้ก็เป็นที่รู้กัน อย่าว่าแต่โคม่าเลย แม้แต่คนที่ถูกรมยาสลบก่อนผ่าตัด มีหลายคนทั้ง ๆ ที่สลบก็ยังรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัวเขา ที่รู้ว่าเขารับรู้ก็เพราะว่าเวลาเขาฟื้นขึ้นมา ก็มาเล่าว่าได้เห็นหรือได้ยินอะไรบ้าง เช่น ได้ยินพยาบาลพูดอะไรบ้าง หมอพูดอะไรบ้าง แม้แต่คนที่โคม่าใกล้ตาย ก็สามารถรับรู้ได้เช่นกัน

พระไพศาล วิสาโล

คุณหมออมรา มลิลา เล่าว่า มีผู้ชายคนหนึ่งเจออุบัติเหตุทางรถยนต์ และสมองได้รับความกระทบกระเทือนมาก ไตวายฉับพลัน โคม่า หมอประเมินว่าโอกาสตายมีมากกว่าที่จะรอดชีวิตได้ เผอิญเขารอดชีวิตมาได้ จึงมาเล่าให้ฟังว่า ตอนที่โคม่าไม่รู้สึกตัว มันจะมีบางช่วงที่จิตเขาเหมือนจะลอยเคว้งคว้างอยู่ พูดภาษาชาวบ้านก็เหมือนกับจิตจะหลุดจากร่าง แต่สักพักเขาจะรู้สึกเหมือนมีมือมาแตะที่ตัวเขา และมีพลังจากมือนั้นแผ่เข้ามา พลังนั้นดึงจิตเขากลับลงมา ทำให้เกิดความรู้สึกตัวราง ๆ เป็นแบบนี้หลายครั้ง มารู้ภายหลังว่า เป็นเพราะพยาบาลคนหนึ่ง เวลาเข้าเวร ก็จะเดินมาเยี่ยมผู้ป่วยทุกเตียงเลย พูดให้กำลังใจผู้ป่วย คนไหนที่โคม่าแกก็เอามือจับแล้วแผ่เมตตาให้ บอกว่าขอให้หายไว ๆ นะ ปรากฏว่าผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่าสามารถรับรู้พลังเมตตาของพยาบาลผู้นี้ได้ ด้วยเหตุนี้ญาติพี่น้องเวลาไปเยี่ยมผู้ป่วยโคม่า หรือผู้ป่วยที่ยังพอมีสติรู้ตัวอยู่บ้างก็ตาม การพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความสงบ เป็นเรื่องสำคัญ เวลาจะพูดคุยอะไร ควรพูดเรื่องที่ดีงาม ที่ทำให้เขารู้สึกสบาย ปล่อยวาง ไม่มีห่วง ไม่มีกังวล ไม่ใช่มาทะเลาะกัน หรือมาร้องห่มร้องไห้อยู่ข้างเตียง