เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ห้างหุ้นส่วนจำกัดตุงฮูสโตร์ ตั้งอยู่ในซอยสีลม ๑๗ แวดล้อมด้วยบรรยากาศเงียบสงบ ไม่พลุกพล่านเหมือนถนนใหญ่ด้านนอก ถึงกระนั้นยังคงมีลูกค้าทั้งขาจรและขาประจำแวะเวียนมาดื่มหรือซื้อเมล็ดกาแฟตุงฮูอยู่เสมอ
ลุงชัยวัฒน์ ทีฆบรรณ วัย ๗๖ ปี เป็นเจ้าของกิจการที่สืบทอดมาเป็นรุ่นที่ ๓ แล้ว นับตั้งแต่ร้านตุงฮูถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ โดยปู่ของเขา คือ นายหยิบ หย่นฟู่ ชาวจีนซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย แล้วร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านโชห่วยขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ชื่อ “ตุงฮู” ตั้งอยู่ในตึกย่านถนนเจริญกรุง เชิงสะพานสีลม
ปู่ส่งพ่อของลุงชัยวัฒน์ คือ นายหยิบเหล่า หย่นฟู่ ไปศึกษาที่ฮ่องกงเพื่อเรียนภาษาอังกฤษ แล้วกลับเมืองไทยมาสืบทอดกิจการเป็นรุ่นที่ ๒ นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก เช่น เนย ชีส ขนมปัง ไส้กรอก หมูแฮม เนื้อแกะ ปลาแฮริง และเครื่องกระป๋องจากยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี ฯลฯ
ในเวลานั้นร้านตุงฮูมีชื่อเสียงและขายดี เป็นที่รู้จักของคนระดับเจ้านาย คุณหลวง คุณพระที่เคยไปเรียนเมืองนอก รวมทั้งบรรดาเอกอัครราชทูต หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย เช่น ผู้จัดการบริษัทเชลล์ ก็เป็นลูกค้าของร้าน
ลุงชัยวัฒน์เล่าว่า ทางร้านเริ่มขายกาแฟตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากขณะนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามาเมืองไทยจำนวนมาก หลายคนมาถามหาซื้อกาแฟที่ร้าน พ่อของลุงจึงสั่งเมล็ดกาแฟนำเข้าจากบราซิลโดยส่งมาทางเรือ ปรากฏว่าเป็นสินค้าขายดีมาก ร้านกาแฟแห่งแรกของไทยคือร้านกาแฟนรสิงห์ ตั้งอยู่ในวังพญาไท ก็เคยใช้กาแฟของตุงฮู รวมทั้งโรงแรมชั้นนำหรือร้านกาแฟทั่วไปในสมัยก่อนก็สั่งกาแฟจากที่นี่
เมื่อพ่อเสียชีวิต ลุงชัยวัฒน์จึงมารับช่วงสืบทอดกิจการร้านตุงฮู ต่อมาในปี ๒๕๑๓ ได้ย้ายร้านมาอยู่ตึก ๔ คูหาครึ่งที่ถนนสีลม
กระทั่งเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว ธุรกิจนำเข้าอาหารและสินค้าจากต่างประเทศแข่งขันกันดุเดือดยิ่งขึ้น ลุงชัยวัฒน์จึงปรับลดกิจการลง เน้นขายกาแฟเป็นหลัก แล้วย้ายกิจการมาอยู่ที่ตึก ๑ คูหาในซอยสีลม ๑๗ ซึ่งเป็นสำนักงานขายเมล็ดกาแฟตุงฮูทั้งปลีกและส่ง และเป็นร้านนั่งกินกาแฟด้วยในตัว
ลุงชัยวัฒน์บอกว่าในปัจจุบันกาแฟไทยมีคุณภาพดีขึ้น ทางร้านจึงขายกาแฟของไทยเป็นหลัก โดยสั่งเมล็ดดิบมาจากไร่บนดอยของจังหวัดเชียงราย แล้วนำมาคั่วเองตามสูตรเฉพาะ แบ่งขายเป็น ๗ ชนิดตามรสชาติความเข้มข้น ได้แก่ เอสเปรสโซ มีเดียม หรือกาแฟชื่อต่างประเทศอย่างโคลอมเบีย บราซิล บลูเมาน์เทน มอคคา ก็เป็นกาแฟไทยที่ใช้วิธีคัดสรรเมล็ดและคั่วให้มีรสชาติคล้ายกาแฟจากชื่อต้นตำรับ
ส่วนเมล็ดกาแฟนำเข้าขณะนี้มีเพียงชนิดเดียว คือกาแฟชวา จากประเทศอินโดนีเซีย
ในยุคที่ธุรกิจกาแฟในเมืองไทยกำลังเฟื่องฟูอย่างทุกวันนี้ มีกาแฟแบรนด์ใหม่ ๆ ทั้งของไทยและต่างชาติทยอยเกิดขึ้นมากมาย ลุงชัยวัฒน์บอกว่าไม่กระทบกระเทือนต่อกิจการของตุงฮู โดยยอดขายกาแฟแต่ละเดือนไม่ตกลง แต่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ลูกค้าที่สั่งซื้อเมล็ดกาแฟตุงฮู มีทั้งร้านกาแฟหรือซุ้มกาแฟสดข้างทาง รวมทั้งคอกาแฟที่ซื้อไปชงกินเอง หลายรายเป็นลูกค้าเจ้าประจำมานับสิบปี ลูกค้าต่างจังหวัดก็มีที่โทรศัพท์มาสั่งกาแฟตุงฮูทุกเดือน ให้ทางร้านส่งทางไปรษณีย์ รวมทั้งคนในละแวกนั้นที่ส่วนใหญ่ทำงานบริษัท ก็แวะมาซื้อกาแฟร้อนหรือเย็นเป็นประจำ
“ลูกค้าเก่าแก่อยู่ต่างจังหวัดก็เยอะ โทร.มาสั่งซื้อกาแฟทีละ ๕ กิโล ๑๐ กิโล โอนเงินมาแล้วเราส่งไปรษณีย์ไปให้เขา” ลุงชัยวัฒน์เล่าอย่างอารมณ์ดี “ลูกค้าเป็นครูของผม ผมเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า แล้วนำมาปรับมาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น”
ระหว่างที่เราคุยกันอยู่นั้น ลูกค้าหลายรายแวะเวียนเข้ามาในร้าน รวมทั้งลูกค้าเก่าแก่อย่างลุงประวิทย์ สุวรุจิพร ที่เข้ามาทักทายลุงชัยวัฒน์อย่างคุ้นเคย และสั่งซื้อเมล็ดกาแฟเอสเปรสโซ ๑ กก. สำหรับกินเอง และอีก ๑ กก. ให้เพื่อนชาวสิงคโปร์
“ผมเป็นคนสามย่าน ตอนนี้อายุ ๖๔ ปีแล้ว ซื้อกาแฟตุงฮูกินตั้งแต่อายุ ๑๓-๑๔ ตอนเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก เมื่อก่อนร้านเขาก็เป็นซูเปอร์มาร์เกตขายของนำเข้าจากต่างประเทศ กาแฟตุงฮูถือว่าใช้ได้ คุณภาพสม่ำเสมอ ผมกินเอสเปรสโซของตุงฮูทุกเช้าวันละแก้ว”
หรือลูกค้าที่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่อย่าง ยิ่งยงค์ รังสีอโณทัย บอกว่า “ผมทำงานบริษัทแถวนี้ มาสั่งกาแฟตุงฮูกินทุกกลางวัน อาจเป็นเพราะเจ็ก (ลุงชัยวัฒน์) เขาอัธยาศัยดี ผมก็ไม่ได้ไปกินร้านอื่นเลย ส่วนใหญ่จะสั่งอเมริกาโนเย็น ผมว่ารสชาติกาแฟตุงฮูก็โอเคนะครับ อย่างที่เจ็กบอกว่ากาแฟเขาคั่วใหม่ตลอด ไม่มีของค้างนาน ๆ”
หากนับจากร้านโชห่วยตุงฮูเปิดกิจการครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๑๓ จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา ๑๔๒ ปีแล้ว คงกล่าวได้ว่า “ตุงฮู” เป็นตำนานกาแฟไทยที่ยังคงมีชีวิต
- ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 327 พฤษภาคม 2555
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine
- อ่านบทความหมวดชุมชน-สังคม