จากบทสัมภาษณ์ ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๓๒๘
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์ สกล เกษมพันธุ์ : ถ่ายภาพ
ที่เราต้องเดินไปคือระเบียบวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับระบอบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มี ‘ที่’ สำคัญอยู่ตรงนั้น คือทรงเป็นหลักค้ำประกันสมบัติร่วมทางการเมืองของประชาชน”
เมื่อเวลาย่ำรุ่ง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
คณะราษฎรอันประกอบด้วยข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน เข้ายึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ภายใต้เจตนารมณ์ที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย
การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นนำพาสยามประเทศเข้าสู่ระบอบการเมืองแบบใหม่ เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองและจินตนาการของผู้คนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค จิตใจเป็นเจ้าของชาติ
ในรอบ ๘ ทศวรรษ สังคมการเมืองไทยผ่านเหตุการณ์อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญๆ หลายเหตุการณ์ อันได้แก่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙, พฤษภาคม ๒๕๓๕ จนมาถึงเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓
๘๐ ปีประชาธิปไตยไทย ผ่านการรัฐประหารมาร่วม ๑๐ ครั้ง มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๑๘ ฉบับ วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของการเมืองไทยนับแต่หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เราได้เห็นสังคมไทยตกอยู่ในสถานการณ์การใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยว การป้ายสีกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างทางการเมืองด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือ จนเป็นเหตุให้มีผู้ตกเป็น “เหยื่อ” ทางการเมืองมากมาย
ผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้แบ่งแยกสังคมออกเป็นเสี่ยง นำไปสู่การเคลื่อนไหวของพลังมวลชนระดับชาติ และความเคลื่อนไหวทางวิชาการในพื้นที่สาธารณะขนานใหญ่นับแต่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ (กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓) ว่าด้วยเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, การเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกโยนสู่สังคมไทย
นิติราษฎร์ประกาศตัวว่าข้อเสนอเหล่านั้นอิงกับหลักนิติรัฐประชาธิปไตยอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและยึดโยงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร ไม่มีใครคาดคิดว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะได้รับการตอบรับและส่งผลสะเทือนกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันการโต้กลับวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอนั้นก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับจนถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหนึ่งในคณาจารย์นิติราษฎร์อันเนื่องมาจากไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพวกเขา
ในวาระ ๘๐ ปีการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ สารคดี มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการ ๔ คน– รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำนูณ สิทธิสมาน, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ว่าด้วยเรื่องเส้นทางประชาธิปไตยที่เราเดินมา และหนทางข้างหน้าที่เราจะก้าวเดินไป
ด้วยความหวังว่าอรุณรุ่งของประชาธิปไตยในเมืองไทยจะมาถึงในวันหนึ่ง
ที่ผ่านมามีคำอธิบาย ๒๔๗๕ ว่าชิงสุกก่อนห่ามบ้าง ราษฎรยังไม่พร้อมบ้าง อาจารย์มีคำอธิบายการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ อย่างไร
คำนินทา ๒๔๗๕ ว่าชิงสุกก่อนห่ามหรือเปล่า ผมคิดว่าจริงครึ่งหนึ่ง ไม่จริงครึ่งหนึ่ง ถ้าไปดูสภาพความเป็นจริงของ ๒๔๗๕ ผมคิดว่าเงื่อนไขทางการเมืองสำหรับการที่จะคงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้ก่อน สำหรับการจะปฏิรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น มันหมดไปแล้ว คือเงื่อนไขทางการเมืองไม่เอื้อให้มันดำรงอยู่ต่อไปแล้ว มีกลุ่มคนใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแล้ว นักธุรกิจเชื้อสายจีน กลุ่มคนชั้นกลางโดยเฉพาะที่ไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมาเป็นข้าราชการ คนพวกนี้อยากจะมีส่วนร่วมทางการเมือง ปัญหาคือว่าเงื่อนไขการเมืองซึ่งจะทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ต่อไปได้มันไม่เกิด เรากำลังพูดถึงสังคมที่มีคน ๑๐ กว่าล้าน แล้วมีคนปกครองประมาณ ๕๐๐ คน ถ้านับขุนนางตั้งแต่ชั้นพระยาขึ้นไป เจ้านายตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และที่ปรึกษากับข้าราชการชาวต่างชาติทั้งหมดรวมกันประมาณ ๕๐๐ คน เฉพาะข้าราชการชั้นล่างในระบบรัฐทั้งหมดก็ ๗-๘ หมื่นคน เป็นไปได้อย่างไรที่คน ๕๐๐ คนจะปกครองคน ๗-๘ หมื่นคนในประเทศที่มีคน ๑๐ กว่าล้านคนโดยรวมศูนย์อำนาจที่คนคนเดียว เป็นไปไม่ได้
แต่ในแง่ของเงื่อนไขสังคมเศรษฐกิจสำหรับการมีการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ในความหมายนี้ผมคิดว่าเงื่อนไขเหล่านั้นยังไม่พร้อม ไม่เฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น ที่สำคัญก็คือว่ากลุ่มคนที่มีพลังและอยู่นอกระบบราชการ กลุ่มคนที่มีพลังทางเศรษฐกิจ พลังทางความรู้ความคิดที่จะถ่วงดุลรัฐ ที่จะทำให้ระเบียบรัฐมีความเป็นเสรีมีความเป็นประชาธิปไตย มันยังไม่เกิดหรือยังไม่มีพลังเข้มแข็งพอ ดังนั้นเมื่อคุณสถาปนาระบบการเมืองที่ต้องการสังคมที่เข้มแข็งและหลากหลายลงบนประเทศที่ยังไม่มีพลังเหล่านี้อยู่ มันก็มีอาการผิดปรกติ
แล้วในความหมายนี้ การอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ จบหรือยัง
มีส่วนที่จบ กับส่วนที่ยังไม่จบ ส่วนที่จบคือเราหลุดจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแง่ระเบียบกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ การที่เราหลุดจากตรงนั้นมาได้ อำนาจไม่ได้รวมศูนย์ที่พระมหากษัตริย์ พระองค์ไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าชีวิตอีกต่อไป ไม่ได้เป็นทั้งประมุขควบคู่กับหัวหน้าฝ่ายบริหารพร้อมกันอีกต่อไป ในความหมายนี้ผลดีที่สุดต่อสถาบันกษัตริย์ของการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ คือการทำให้สถาบันกษัตริย์ปลอดภัยและเป็นที่รักของอาณาประชาราษฎร์
ส่วนที่ยังไม่จบก็คือว่า ระเบียบอำนาจเสรีประชาธิปไตยจะมั่นคงได้เมื่อความชอบธรรมมาจากฉันทาคติของประชาชน ก่อน ๒๔๗๕ เงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจยังไม่พร้อมสำหรับเสรีประชาธิปไตย กลุ่มพลังนอกระบบราชการเป็นพลังสังคมที่จะมาถ่วงดุลรัฐยังไม่เกิด ๘๐ ปีที่ผ่านมามีระลอกของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมอย่างน้อยที่สุด ๒ ระลอกใหญ่ คือตอนเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ ช่วงปี ๒๕๐๔-๒๕๐๖ และช่วงทศวรรษ ๒๕๓๕ ที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ ดังนั้นมันเกิดเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจใหม่ๆ มีกลุ่มพลังใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว กลุ่มพลังเหล่านี้พร้อมที่จะถ่วงดุลรัฐมากขึ้น พร้อมที่จะมีอำนาจทางการเมืองหรือเรียกร้องอำนาจทางการเมืองที่เป็นอิสระมากขึ้น
เพื่อบรรลุผลดังกล่าว มันต้องคิดใหม่เกี่ยวกับประเด็นพื้นฐานหลายอย่างทางการเมือง หลักๆ คือ “อะไรคือชาติ ? อะไรคือความชอบธรรมในการมีอำนาจทางการเมืองในประเทศชาตินี้ ?” ต้องคิดใหม่เกี่ยวกับพื้นฐานเหล่านี้จึงจะทำให้กลุ่มพลังเหล่านี้เดินไปสู่ระบอบระเบียบเสรีประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคง ปัญหาคืออุปสรรคที่ขวางการคิดใหม่เหล่านี้ พูดอย่างตรงไปตรงมาคือระเบียบรัฐไทยที่รวมศูนย์ที่ระบบราชการ ใช้ความชอบธรรมจากชาตินิยมคับแคบ จากความเป็นไทยคับแคบ โดยอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือในกระบวนการที่เขาหวงอำนาจไว้ เขาอาศัยอะไรมาบอกกับพลังสังคมเกิดใหม่ว่าคุณไม่ควรมีอำนาจ เขาอ้างความเข้าใจชาติที่คับแคบ เขาอ้างความเป็นไทยที่คับแคบ แล้วพอจนแต้มเข้าเขาหวงอำนาจไว้โดยอ้างพระมหากษัตริย์ ประเด็นเหล่านี้ผมคิดว่ายังเป็นอุปสรรคค้างคาอยู่ แล้วในระยะ ๕-๖ ปีที่ผ่านมาความขัดแย้งที่เราเผชิญคือความขัดแย้งระหว่างพลังสังคมที่เกิดขึ้นใหม่แล้วกับหลักคิดพื้นฐานทางการเมืองบางอย่างที่ประคองรัฐไทยไว้ซึ่งไม่เอื้อให้พลังสังคมเหล่านี้เข้าไปมีส่วนทางการเมืองอย่างที่เขาต้องการ ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นคืออาการป่วย
วาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” ที่มักนำมาใช้อธิบายการเมืองไทยแม้จะเป็นเผด็จการ อาจารย์คิดว่าเป็นปัญหาอย่างไร
ปัญหาของตัวระบบราชการตัวรัฐราชการในการที่จะครองอำนาจเอาไว้ตลอด พูดให้ถึงที่สุดคือปัญหาความชอบธรรม ถ้าอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันชอบธรรมเพราะอ้างเรื่องเทวราชา/เทวสิทธิ์ ถ้าอยู่ในระบอบเสรีประชาธิปไตยสมบูรณ์ ความชอบธรรมอยู่ที่ประชาชนเลือกตั้งคุณมา แต่คุณต้องการธำรงอำนาจรวมศูนย์ที่รัฐไว้ ต้องการรักษาระบอบอำนาจรวมศูนย์นี้ไว้ ครั้นจะอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อ้างไม่เต็มปากเต็มคำเพราะบรรดาผู้เผด็จการไม่ใช่เชื้อสายเจ้านาย หากจะอ้างความชอบธรรมจากประชาชนก็อ้างไม่เต็มปากเต็มคำเพราะพวกเขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จุดอ่อนที่สุดของระเบียบอำนาจแบบรวมศูนย์ที่รัฐก็คือปัญหาความชอบธรรม ดังนั้นที่ผ่านมาเขาจึงต้องพลิกกลับไปกลับมาระหว่างเปิดให้มีการเลือกตั้งบ้างบางขณะแต่เป็นการเลือกตั้งในแบบที่เขาควบคุมได้ อำนาจเลือกตั้งไม่สามารถแตะต้องผลประโยชน์หรือหลักการมูลฐานที่กระทบกับรัฐรวมศูนย์ได้ แล้วเรียกมันว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” กับช่วงที่พวกเลือกตั้งเอื้อมมือเข้ามาแตะต้องผลประโยชน์สำคัญมูลฐานเขามากเกินไป เขาก็เปลี่ยนกลับไปเป็นเผด็จการ แต่ฐานที่ควบอยู่ตลอดคือรัฐราชการที่ขาดความชอบธรรม ดังนั้นจะประคองสิ่งนี้ไว้อย่างไร วิธีอธิบายก็คือว่า ถึงจะเป็นเผด็จการแต่เราเป็นเผด็จการที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เวลาเป็นประชาธิปไตยเราก็เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นจึงพยายามเชื่อมร้อยรอยต่อนี้ไว้ด้วยการอ้างอิงความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์
ทั้งสองส่วนนี้มีทั้งส่วนที่เวิร์กและมีส่วนที่เสีย ส่วนที่เวิร์กก็คือว่า เพราะคนไทยจำนวนมากจงรักภักดี และเพราะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันก็ทรงอุทิศทุ่มเทให้แก่การพัฒนาประเทศ ดูแลทุกข์สุขของราษฎรมากกว่าพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ดังนั้นประชาชนจึงอาจยอมรับระเบียบอำนาจซึ่งแม้จะมาอย่างไม่ชอบตามระบอบประชาธิปไตย แต่ตราบเท่าที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ยินดีที่จะยอมอยู่ด้วยได้ในระดับต่างๆ กันไป
ขณะเดียวกันด้านที่เสียคือ เวลาคุณอ้างพระองค์มากเข้า มันเริ่มจะอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สมัยสงครามเย็นยังบอกได้ว่าเผด็จการถึงจะแย่กว่าประชาธิปไตยก็ยังดีกว่าคอมมิวนิสต์ แต่ทุกวันนี้ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้วทั้งในระดับโลกและในประเทศ เหลือเพียงตัวเลือกระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย ดังนั้นยิ่งคุณอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ความชอบธรรมกับระเบียบอำนาจเผด็จการมากขึ้นก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์เอง เพราะคุณทำให้สถาบันกษัตริย์ยืนตรงข้ามกับหลักการทางการเมืองที่ทั้งโลกยอมรับ ไม่มีสถาบันกษัตริย์ประเทศไหนที่อยู่กับเผด็จการแล้วมั่นคง สถาบันกษัตริย์ที่มั่นคงในโลกปัจจุบันอยู่ข้างเดียวกับเสรีประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์ที่อยู่กับระบอบเผด็จการมักไม่มั่นคงและมีอันต้องอันตรธานไป
รัฐประหารครั้งล่าสุด ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ก็ยังอ้างความชอบธรรมด้วยการอิงกับสถาบันพระมหากษัตริย์
เพื่อจะทำให้ฟังขึ้น นอกจากอ้างเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วก็อ้างเรื่องคอร์รัปชัน นักการเมืองเลว ประชาชนยังโง่อยู่ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่นับวันฟังยากขึ้นทุกที ผมคิดว่าไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่นักการเมืองเป็นคนดีกันทั้งหมดทุกคน ทุกประเทศในโลกมีคอร์รัปชันกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย แต่ไม่มีประเทศไหนเขาปราบคอร์รัปชันกันด้วยการให้ทหารยึดอำนาจรัฐหรือถวายคืนพระราชอำนาจ เหมือนกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน ๒๔๗๕ ถ้ารัฐประหารหรือถวายคืนพระราชอำนาจทุกครั้งที่เจอคอร์รัปชันก็ต้องทำแบบนั้นกันทุกวัน ซึ่งพังแน่ !
ดังนั้นข้ออ้างแบบนี้ฟังไม่ขึ้น คุณอาจบอกว่ามันเป็นปัญหาที่แก้ด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่ทันการณ์ แต่เผด็จการหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไม่ทันการณ์เหมือนกัน แล้วถ้าคุณทำแบบนั้น สิ่งที่คุณเสี่ยงคืออะไร ? คุณกำลังเอาของที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทยคือสถาบันกษัตริย์ไปใช้ในงานที่อันตรายมาก และไม่มีทางสำเร็จ คือไปให้ความชอบธรรมกับระบอบล้าหลังผิดยุคผิดสมัยและเลวร้ายที่ทั้งโลกเขาไม่เอาแล้ว ยิ่งใช้มาก ความล้าหลังเลวร้ายของระบอบนี้ก็จะยิ่งแปดเปื้อนระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อปกป้องรักษาสถาบันกษัตริย์ ต้องกอบกู้สถาบันกษัตริย์จากเผด็จการและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องเอาสถาบันกษัตริย์มาอยู่กับประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญให้ได้จึงจะมั่นคงที่สุด
เราจะติดอยู่ในวังวนแห่งเผด็จการอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่อไปไม่ได้ เพราะมันเป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์เอง เราต้องก้าวเดินไปข้างหน้าสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นแปลว่าหลักความชอบธรรมพื้นฐานของบ้านเมืองมาจากฉันทาคติของประชาชน มาจากเสียงเลือกตั้งของประชาชน นั่นแปลว่าอย่าใช้สถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองไปรองรับระบอบที่ไม่ชอบธรรม แต่การจะหลุดจากตรงนี้ได้จะต้องเป็นการ “กระโดดทางมโนทัศน์” คือนับหนึ่งใหม่ ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตยที่ normal ไม่ได้ คุณพัง ! มันไม่มีทางเลือกที่สาม ตอนนี้มีทางเลือกเดียวคือเป็นประชาธิปไตยที่ normal หรือไม่ก็ไม่มีประชาธิปไตยเลย เพราะมันไม่มีหรอกประชาธิปไตยแบบไทยๆ เนื่องจากประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่ได้แก้ปมปัญหาเรื่องความชอบธรรม
ระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบที่เราจะเดินไปถึงนั้น สถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ควรจะเป็นอย่างไร
ทรงเป็นหลักประกันพื้นฐานให้สิ่งที่เราอาจจะเรียกว่า “สมบัติร่วมทางการเมืองของชาติ” เพื่อจะอยู่ในระบอบเสรีประชาธิปไตยมันมีหลักการมูลฐานบางอย่าง เช่น สิทธิเสรีภาพ, ความเสมอภาคของพลเมือง, one man one vote, อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน คุณมีประชาธิปไตยไม่ได้ถ้าคุณไม่ยอมรับว่าคนเราเท่ากันทางการเมือง คุณเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ถ้าคุณไม่ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นี่คือสมบัติร่วมทางการเมือง บนหลักเสรีนิยมและบนหลักประชาธิปไตยที่ถ้าเราจะอยู่ในระบอบนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดไม่ได้ ผมคิดว่าบทบาทของสถาบันกษัตริย์ก็คือบทบาทค้ำประกันสมบัติร่วมทางการเมืองอันนี้
ที่ผ่านมาสมบัติร่วมทางการเมืองนี้ถูกล่วงละเมิดทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร คุณล่วงละเมิดหลักประชาธิปไตย คุณล่วงละเมิดหลักความเสมอภาคทางการเมือง คุณปล่อยให้คนบางคนซึ่งมีปืนกุมอำนาจ คุณล่วงละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพ คุณใช้อำนาจปฏิวัติลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คนในนามความมั่นคง แล้วคุณทำมันทั้งหมดในนามสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งนี้อันตรายมาก ต้องทำตรงกันข้าม กล่าวคือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักค้ำประกันสมบัติร่วมทางการเมืองของชาติ และดังนั้นจึงมีกลไกทางรัฐธรรมนูญบางอย่างซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการที่จะให้คำปรึกษา ทักท้วง ตักเตือนหัวหน้าฝ่ายบริหาร หรือลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นเหมือนเครื่องถ่วงดุล ตรวจสอบถ้าจะมีการใช้อำนาจในระบบการเมืองที่ไปล่วงล้ำสมบัติร่วมทางการเมืองของผู้อื่น ผมคิดว่าเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งและขาดไม่ได้ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบเสรีประชาธิปไตย
เรื่องการกระโดดทางมโนทัศน์ อาจารย์คิดว่าจะมาเร็วหรือมาช้าสำหรับสังคมไทย
ผมคิดว่าเร็วขึ้นนะครับใน ๔-๕ ปีที่ผ่านมา มันเร็วขึ้นก็เพราะว่าการอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อไปรองรับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมโดยผ่านการรัฐประหารมันถูกปฏิเสธมากขึ้น นั่นแปลว่าระเบียบวิธีคิดใดที่เราเคยมีเกี่ยวกับชาติไทย เกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย ได้กลับกลายไม่เป็นที่ยอมรับไปเสียแล้ว คุณเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ไปวางไว้ในระเบียบวิธีคิดแบบนั้น คนเขาไม่ยอมรับ นั่นแปลว่าพวกเขาปฏิเสธสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า ? เปล่า พวกเขาปฏิเสธระเบียบวิธีคิดที่จัดวางพระมหากษัตริย์ไว้ในที่มิบังควรต่างหาก
ผมคิดว่าที่เราต้องเดินไปคือระเบียบวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับระบบระเบียบการเมืองเสรีประชาธิปไตย ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มี “ที่” สำคัญอยู่ตรงนั้น “ที่” สำคัญอันเป็นบทบาทจำเป็นยิ่งของสถาบันกษัตริย์ในระบอบเสรีประชาธิปไตย คือทรงเป็นหลักค้ำประกันสมบัติร่วมทางการเมืองของชาติของประชาชน ดังนั้นประเด็นไม่ใช่ว่า ๔-๕ ปีที่ผ่านมาเราได้พบเห็นคนไม่จงรักภักดีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ครับ ผมคิดว่าคิดให้ดี ๔-๕ ปีที่ผ่านมาเราเห็นคนไม่สามารถยอมรับการใช้สถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองไปรองรับเผด็จการ คนไม่ยอมรับการใช้สถาบันกษัตริย์ไปรองรับอำนาจรัฐประหารต่างหาก คนไม่เอาแล้ว แต่คนปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ไหม ผมคิดว่าไม่
คุณต้องทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอาวุธวิเศษเพื่อพิทักษ์ปกป้องระบอบเสรีประชาธิปไตย คุณต้องเลิกวิธีการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอาวุธวิเศษสำหรับขัดขวางหรือทำลายระบอบประชาธิปไตย ถ้าพระองค์จะเป็นอาวุธวิเศษก็เป็นอาวุธวิเศษของระบอบนี้ แล้วเรามาแข่งกัน ทะเลาะกัน ต่อสู้กันทางการเมือง โดยไม่ดึงพระองค์มาเกี่ยวข้องระคายเคืองด้วย
ทศวรรษนี้การเมืองไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำอีกต่อไปแล้ว แต่ขยายวงเป็นการเมืองมวลชน มันมีลักษณะแตกต่างจากเดิมอย่างไร
อาการประเภท mass politics เกิดในการเมืองไทยมาแล้วอย่างน้อย ๒ รอบ ผมคิดว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นช่วงแรกๆ ที่ mass ออกมาเคลื่อนไหว เพียงแต่ว่าขบวนการชาวนา ขบวนการกรรมกร อยู่ใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วในที่สุดถูกปราบปราม หนที่ ๒ คือหลัง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ mass ปรากฏตัวในทางการเมืองขนานใหญ่ แล้วเจอกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จุดที่น่าสนใจเมื่อมองย้อนกลับไปก็คือ การเกิดขึ้นของพลังมวลชนในอดีตจะมากจะน้อยมีบางฝ่ายเป็นพลังที่เกิดขึ้นมาโดยอิสระจากรัฐแล้วต่อต้านทัดทานรัฐ เช่น ขบวนการนักศึกษา ขบวนการชาวนา กรรมกรหลัง ๑๔ ตุลาฯ ขบวนการแรงงานหลังสงครามโลก แต่ก็มียุคที่พลังมวลชนเกิดจากรัฐราชการไปจัดแจงให้มีขึ้น เช่น กอ.รมน. จัดแจงให้มีกระทิงแดง ตชด. จัดแจงให้มีลูกเสือชาวบ้าน หรือมหาดไทยจัดแจงให้มีนวพล ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ผมคิดว่าที่แปลกรอบนี้ ถ้าประเมินดูในรอบ ๕-๖ ปีที่ผ่านมาก็คือ ไม่ว่าจะเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงต่างเป็นพลังมวลชนที่อิสระจากรัฐราชการ ไม่มีอันไหนที่รัฐราชการจัดตั้งขึ้นและบงการได้ แม้แต่พลังมวลชนฝ่ายที่ค่อนข้างอนุรักษนิยมหรือประกาศตัวว่าจงรักภักดีก็ไม่ได้ขึ้นต่อคำสั่งของกองทัพบกหรือขององคมนตรี เขามีความคิดอิสระของเขา เขาสร้างขบวนการขึ้นมาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อดาวเทียม ฝั่งเสื้อแดงก็เช่นกัน ดังนั้นเรามีขบวนการมวลชนที่ไม่ได้สร้างจากรัฐ เป็นพลังสังคมอิสระก่อตัวขึ้นและแผ่กว้างระดับชาติ
ผมคิดว่ามี ๒ ปมที่สำคัญ ปมแรกก็คือว่า นี่เป็นพลังมวลชนที่ elite คุมได้และใช้เป็นเครื่องมือ หรือเป็นพลังมวลชนอิสระ ? สอง นี่เป็นพลังมวลชนที่อนาธิปไตยหรือศิวิไลซ์ ?
ประเด็นแรก ผมคิดว่าแรกๆ ดูเหมือนจะเป็นพลังมวลชนที่ elite เข้าไปเกี่ยวพันมาก elite ฝั่งอำมาตย์ก็สนับสนุนเสื้อเหลืองเพราะว่าโค่นทักษิณเองไม่ไหวต้องใช้มวลชนมาช่วย ขณะที่ elite ฝั่งคุณทักษิณก็มีส่วนในการเกื้อกูลอุดหนุนพลังเสื้อแดงให้เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า elite ทั้งสองฝ่ายมีบทบาทลงไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้เกิดพลังมวลชนทั้งสองฝ่าย ผมคิดว่าแนวโน้มที่เราเห็นคือมันเป็นอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ มันฟัง elite น้อยลงเรื่อยๆ ความไม่ไว้วางใจในหมู่ elite ก็สูงว่านี่เป็นเครื่องมือที่เขาชักจะคุมไม่ได้ ดังนั้นผมคิดว่าเรากำลังเห็นการคลี่คลายของ mass politics ในเมืองไทย จากที่ขึ้นต่อหรือเป็นเครื่องมือของ elite ต่างกลุ่มใช้สู้กัน มาเป็นขบวนการที่อิสระมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ในแง่ที่เป็นคุณ เพราะในที่สุด mass politics ที่เราอยากเห็นคือเป็นอิสระ จะรอยัลลิสต์ คอนเซอร์เวทีฟ เดโมแครต หรือลิเบอรัล ผมไม่แคร์ ขอให้เป็นอิสระ แล้วคุณก็ต่อสู้ในกฎเกณฑ์ของเสรีประชาธิปไตย เพื่อนโยบายเพื่อความเชื่อของคุณ
ส่วนปมอย่างหลังผมยังค่อนข้างลังเล แนวโน้มอนาธิปไตยเยอะมาก คือขบวนการมวลชนแบบล้ำเส้นกฎเกณฑ์ กติกาของระเบียบการเมืองเสรีประชาธิปไตย ซึ่งก็คือกฎหมาย ล้ำเส้นกฎหมายได้ไหม ? อาจเกิดขึ้นได้ แต่ตามหลักการทางการเมืองต้องดำเนินการเป็นขั้นๆ อย่างชอบธรรม ผมขออธิบายแบบนี้นะครับ คือผมยืนยันว่าในการต่อสู้ ขั้นต้นต้องใช้สิทธิเสรีภาพให้สุดเท่าที่กฎหมายยอมให้ทำก่อน ชุมนุมให้สุดเท่าที่กฎหมายยอมวิพากษ์วิจารณ์ให้สุดเท่าที่กฎหมายยอม แต่ถ้าจะล้ำเส้นกฎหมายในนามของหลักการที่สูงกว่า เช่นเรื่องความเป็นธรรม ความยุติธรรม หลักนิติรัฐ อะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่ามีเงื่อนไข ๒ ข้อที่สำคัญมาก คือหนึ่ง ต้องสันติวิธี และสอง ถ้าผิดกฎหมายต้องยอมรับโทษทางกฎหมายโดยดุษณี นี้คือเกราะคุ้มกันขบวนการมวลชนของนักสันติวิธีทั้งหลายในโลก
สันติวิธีแปลว่าคุณยินยอมถูกทำร้ายแต่จะไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่แม้แต่ป้องกันตัวเองนะครับ คุณมีดาบมีกระบองเอาไว้ป้องกันตัวเองแล้วบอกว่าเป็นสันติวิธี อย่างนั้นไม่ใช่แล้วละ สันติวิธีคือคุณไม่ทำร้ายคนอื่น คุณยอมให้เขาทำร้ายคุณ เพราะอะไร ? เพราะคุณเป็นนักบวชหรือ ? ก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ แต่เพราะเกมการเมืองชนะที่เปลี่ยนใจคน แล้วคุณกำลังจะเอาสันติวิธีเอาเลือดเนื้อคุณไปแลกใจคนมา ให้เขามองทะลุอคติ เห็นความชอบธรรมของสิ่งที่คุณเรียกร้องว่าคุณยินดีที่จะเอาเลือดเนื้อเป็นบัดพลีสังเวยให้แก่สิ่งที่คุณต้องการเพราะคุณคิดว่ามันชอบธรรม ไปสะเทือนใจผู้คนจนคุณได้เสียงข้างมากมาอยู่ข้างคุณแล้วโหวตเปลี่ยนนโยบาย นี้ต่างหากคือทางที่ไป ที่สำคัญกว่านั้นคือ เขาจะมาเห็นใจคุณได้เขาต้องไม่กลัวคุณ คุณถือดาบ คุณเป็นนักรบศรีวิชัย นักรบพระเจ้าตาก ฯลฯ เขาจะรักคุณลงได้อย่างไร เขาก็กลัวคุณ เหมือนที่คนชั้นกลางแถวราชประสงค์กลัวพวกเสื้อแดง เหมือนที่ข้าราชการตำรวจกลัวพวกเสื้อเหลือง คุณทำผิดกฎหมายคุณต้องพร้อมรับผิดรับโทษโดยดุษณี ไม่ใช่ทำผิดกฎหมายแล้วท้าให้ตำรวจมาจับในที่ชุมนุมผมคิดว่าเลอะเทอะ เรียกได้ว่าสันติวิธีกระบองเล็ก เมื่อไรที่กูกระบองใหญ่กูจะเลิกสันติวิธีเพราะกูจะได้ตีมึงแทน ถ้ายังอยู่ในโหมดอนาธิปไตยแบบนั้นมันนำไปสู่จลาจล แล้วเราเผชิญสิ่งเหล่านี้ใน ๔-๕ ปีที่ผ่านมา ผมอยากให้ mass politics เดินออกพ้นอนาธิปไตยไปสู่ศิวิไลซ์ แปลว่าถ้าสู้ในกฎเกณฑ์เสรีประชาธิปไตยก็คือกฎหมาย ถ้าเกินกว่านั้นก็คือสันติวิธี ยอมถูกทำร้ายเองแต่ไม่ทำร้ายคนอื่น และถ้าละเมิดกฎหมายก็ยอมรับผิดรับโทษโดยดุษณี
แล้วชนชั้นกลางอยู่ตรงไหนของการเมืองมวลชนนี้
ชนชั้นกลางเปลี่ยนฐานะไปในประวัติศาสตร์ ก่อน ๑๔ ตุลาฯ เขาอยู่นอกอำนาจ หลัง ๑๔ ตุลาฯ เขาเริ่มมีส่วนแบ่งในอำนาจมากขึ้น พอยุคโลกาภิวัตน์ เขา establish ตัวเขาเองเป็นส่วนที่ได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง มาถึงปัจจุบันเขากลายเป็นคนที่อยู่ข้างบนหน่อย และดังนั้นเขาจึงกลัวการที่คนหน้าใหม่จะเข้ามาปันอำนาจจากเขา ประเด็นคือมีคนกลุ่มใหม่ต้องการขอแบ่งอำนาจบ้าง แล้ววิธีการขอแบ่งอำนาจของเขาเป็นวิธีการประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งเพราะเขาเสียงข้างมาก ผมคิดว่าสิ่งที่คนชั้นกลางต้องทำคือปรับตัว เหมือนที่ elite ไทยเคยปรับตัวรับพวกคุณ คุณก็ต้องปรับตัวรับคนกลุ่มใหม่ที่เขาเติบโตพอที่จะขอส่วนแบ่งอำนาจแล้ว
ปรับตัวอย่างไร ก็คือยอมรับกฎกติกาประชาธิปไตย นั่นแปลว่าอย่ากลัวเสียงข้างมาก เอาชนะใจเสียงข้างมากให้มาอยู่ข้างคุณ จริงๆ แล้วนี่คือประโยคเดียวกันกับที่สามารถบอกได้กับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์พอแพ้เสียงข้างมากแล้วเลยไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เลยไปแย่งเก้าอี้ไปฉุดดึงประธานสภาบ้าง แล้วเข้าใจว่าวิธีนั้นจะหยุดเสียงข้างมากได้ ถ้ายังใช้วิธีอนาธิปไตยแบบเดิมผมไม่แน่ใจว่าหยุดได้หรือเปล่า ข้อเสนอผมคือทำไมคุณไม่คิดถึงการเอาชนะใจเสียงข้างมากบ้าง จะเอาชนะใจเสียงข้างมากได้แปลว่าอะไร คุณต้องมองเขาเป็นคนเหมือนคุณ คุณต้องมองเขามีเหตุมีผล แล้วคุณก็นึกนโยบายที่สามารถจะเปลี่ยนใจเขาได้ ผมคิดว่าคนชั้นกลางก็ควรจะเข้าใจหลักเดียวกันนั้น ถ้ากลัวเสียงข้างมาก เข้าใจเสียก่อนว่าอะไรคือข้อเรียกร้องของเสียงข้างมาก สิ่งที่คนชั้นกลางกลัวเสียงข้างมากมันแย่ตรงที่ว่าเสียงข้างมากเขาเดินตามกฎกติกาประชาธิปไตย ดังนั้นพอคุณกลัวเสียงข้างมากแล้วคุณจะต่อต้านเขา กลายเป็นคุณต่อต้านกฎกติกาประชาธิปไตย ทางชนะมันไม่มี ดังนั้นวิธีการคือคุณปรับตัวเข้าสู่เกมนี้ แล้วสู้ในเกมเสียงข้างมาก
กรณีการไปดึงอำนาจอื่นมาช่วยจำกัดเสียงข้างมาก อย่างกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ จะปลดล็อกตรงนี้อย่างไร
ลักษณะพิเศษของประชาธิปไตยของไทยก็คือมีลูกไม้มีอาวุธพิเศษไว้บล็อกเสียงข้างมาก ผมหวังว่าจะปลดล็อกตรงนี้ได้โดยอยู่ในกฎกติกาของระบอบรัฐธรรมนูญโดยสันติ สามารถปลดล็อกได้โดยที่ไม่ทำลายระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่ถ้าคุณไม่ปลดล็อก คุณกำลังฝืนหลักการพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตยคือหลักการเสียงข้างมาก มันไม่ชนะ แทนที่จะชนะกลับจะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงขึ้น เราต้องการการปกครองแม้กระทั่งเสียงข้างมากที่มีอำนาจจำกัด ใช่ อำนาจจำกัดนั้นก็คือการจำกัดอำนาจเสียงข้างมาก ไม่ปล่อยให้ไปล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพและชีวิตบุคคลหรือเสียงข้างน้อย ในความหมายนี้ผมคิดว่าคุณทักษิณพลาดที่ปล่อยให้เรื่องฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรณีกรือเซะ-ตากใบเกิดขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แกเป็นหัวหน้ารัฐบาล เราต้องการการจำกัดอำนาจแม้กระทั่งของเสียงข้างมาก ใช่ แต่การจำกัดอำนาจของเสียงข้างมากจะจำกัดได้โดยชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับก็แต่โดยเสียงข้างมากลงมติให้จำกัดอำนาจนั้น ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะเป็นเส้นจำกัดที่ชอบธรรมได้ การจำกัดอำนาจของเสียงข้างมากในนามของคนดี ในนามของคนฉลาด ในนามของคนถือปืน มันเป็นหลักการซึ่งเป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบันและเป็นไปไม่ได้ในสังคมที่หลากหลาย มันไม่เวิร์กและมันไม่จบหรอก เชื่อผมเถอะ
หลายปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์หนึ่งคือสถาบันจำนวนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่จำกัดอำนาจเสียงข้างมากในประชาธิปไตยแบบไทย พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือเราใช้สถาบันศาล สถาบันตุลาการ สถาบันองคมนตรี และสถาบันกองทัพ เราอาศัยคนถือปืน เราอาศัยตุลาการ เราอาศัยคนดี มาจำกัดอำนาจเสียงข้างมาก เราเพิ่มอำนาจให้สถาบันเหล่านี้ลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ เราให้อำนาจสถาบันกองทัพมากขึ้น ให้งบประมาณมากขึ้น เราให้อำนาจสถาบันตุลาการมากขึ้น ให้ตุลาการไปมีบทบาทคัดสรรคนไปอยู่ในองค์กรอิสระและในวุฒิสภามากขึ้น แต่ขณะที่อำนาจมากขึ้น สติปัญญากลับดูจะน้อยลง ผมไม่เคยเห็นสถาบันไหนที่ได้อำนาจเร็วมากในระยะเวลาอันสั้นแต่กลับแสดงความฉลาดน้อยลงขนาดนี้ ในรอบ ๔-๕ ปีมานี้ กองทัพได้แสดงความเปิ่นเยอะมาก อย่างกรณีเครื่องตรวจระเบิดกำมะลอ GT-200 กองทัพเถียงกับวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ เป็นไปได้อย่างไร
แล้วลองคิดดูสิครับ สถาบันและบุคคลที่ใช้อำนาจมากแต่มีสติปัญญากำกับอำนาจน้อยมันเป็นอย่างไร มันก็ชอบธรรมน้อยลง แล้วคนก็หัวเราะเยาะมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดอะไรขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ใช้อำนาจแบบมหัศจรรย์มาก เปิดพจนานุกรมในการตีความบ้างละ เติมคำว่า “อาจจะ” เข้าไปตอนเรื่องเขาพระวิหารบ้างละ ตอนนี้ก็มาตีความมาตรา ๖๘ แบบมหัศจรรย์ลั่นโลก ขัดแย้งกับตัวเองด้วยซ้ำ คนเขาก็ดูเบาสติปัญญาคุณมากขึ้นเรื่อยๆ อำนาจคุณก็มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ คุณยังคงใช้อำนาจนั้นไปได้เรื่อยๆ ก็จริงอยู่แต่ใครจะฟังคุณ ความยอมรับจะมีแค่ไหนถ้าคุณใช้อำนาจอย่างเขลา ฉากที่น่ากลัวที่สุดคือผู้บังคับบัญชาในกองทัพสั่งให้ทหารยิงประชาชนแล้วทหารไม่ยิง ผมคิดว่าเมษา-พฤษภา ๒๕๕๓ เขายังยิงให้อยู่ แน่ใจหรือว่าหนหน้าเขาจะยิงให้ ? แล้วถ้าเขาไม่ยิง อำนาจของคุณละลายต่อหน้าต่อตาเลยนะ เพราะคุณไม่มีอะไรเลยนอกจากความชอบธรรมในคำสั่ง คุณจะไปบังคับคนเป็นพันเป็นหมื่นให้ยิงคนอื่นไม่ได้ถ้าเขาคิดว่าสิ่งนั้นมันโง่และไม่ชอบธรรม
ปรากฏการณ์ที่เสียงข้างมากในสภายอมชะลอการแก้ไข รธน. ทั้งที่มวลชนนอกสภาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมันบอกอะไรเรา
แสดงว่ามันมีความลักลั่นระหว่างเสียงข้างมากนอกสภากับเสียงข้างมากในสภาใช่ไหม นั่นแปลว่า mass politics ยังไม่คืบไปถึงขั้นที่ทำให้พรรคการเมืองกลายเป็น mass party ได้จริง กล่าวคือมันยังเป็น elite party ที่ทำท่ายึกยักอยากเป็น mass party แต่ยังไม่เป็นจริงๆ ผมคิดว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย เขาไม่ได้ตั้งใจจะเป็น mass party แต่ต้น เขาจะเป็น elite party ของคุณทักษิณ แต่เขาต้องพยายามเป็น mass party เพราะเขาเจอกับเสื้อเหลือง เขาเลยจำเป็นต้องเนรมิต mass ขึ้นมา แล้วก็ไปอิง mass เสื้อแดง แล้วเขาแฮปปี้กับเสื้อแดงไหม เขาก็กล้าๆ กลัวๆ จะสังเกตเห็นรอยต่อที่ไม่ปะติดปะต่อสนิทดีระหว่างพรรคกับมวลชนเสมอ พูดให้ถึงที่สุด ถ้าพรรคเพื่อไทยเลือกได้ เขาอยากพึ่งมวลชนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่เสื้อแดง แต่มันไม่มีน่ะ ผมคิดว่ารัฐบาลนี้พยายามจะสร้างฐานมวลชนใหม่บนนโยบายแท็บเล็ต นโยบายป้องกันน้ำท่วม หรือนโยบายประชานิยมใหม่ๆ เพื่อจะได้ฐานมวลชนใหม่ หนหน้าจะได้ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงที่ไม่ใช่แค่เสื้อแดง จะได้พึ่งเสื้อแดงน้อยลง ในขณะที่พวกเสื้อแดง ถ้ามีพรรคอื่นให้เลือกเขาก็ไม่เลือกเพื่อไทยหรอก แต่เผอิญมันไม่มี จะให้เลือกพรรคที่สั่งปราบเขาตอนปี ๕๒ และ ๕๓ เขาก็ทำไม่ลง ถ้าเขาสร้างพรรคของตัวเขาเองได้เขาทำไปแล้ว นี่เป็นการแต่งงานระหว่างพรรคกับมวลชนที่พิลึกมาก
ดังนั้นเสียงข้างมากในสภาจึงสะท้อนความเป็นเสียงข้างมากของ elite party ในขณะที่เสียงข้างมากนอกสภาก็อาจจะเป็นเสียงข้างมากของมวลชนหมู่มาก แล้วยังเชื่อมตรงนี้ไม่ต่อกัน นี่อาจจะเป็นโจทย์ต่อไปของการทำให้เป็นศิวิไลซ์มากขึ้น