โปรดปราน

ฉันไปประชุมสัมมนาละแวกทะเลอันดามันค่อนข้างบ่อย ส่วนมากไปโดยเครื่องบิน หลังประชุมสัมมนา หากพอมีเวลาว่างก็จะเลื่อนตั๋วเพื่ออยู่เที่ยวต่อ ๒-๓ วัน โดยเช่ารถขับเที่ยวกันเองในละแวก ๒-๓ จังหวัดอันดามันที่ยกย่องกันว่าสวยที่สุด นับว่าเป็นคนโชคดีที่ไม่ต้องเสียสตางค์แต่ก็ได้เที่ยวแถวนี้บ่อยๆ

ครั้งล่าสุดนี้จำไม่ได้ว่าเป็นครั้งที่เท่าไรที่มาเยือนภูเก็ต แต่ที่แน่ๆ คือ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มาแบบควักสตางค์เอง

เหตุที่ตั้งใจมาภูเก็ตคราวนี้ เพราะต้องการเป็นตัวจักรเล็กๆ ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจหลักของชาวอันดามันหลังเหตุการณ์สลดใจสึนามิ

เรา ๔ คนจึงซื้อทัวร์จากงานซับน้ำตาอันดามัน ผู้ขายบอกว่าขายราคาถูกมาก เพราะผู้จัดงานคือ ททท. ไม่เรียกเก็บค่าบูท อีกทั้งสายการบินพันธมิตรก็ช่วยลดราคาลงมาเป็นกรณีพิเศษ

แพ็กเกจนี้ประกอบด้วยตั๋วเครื่องบินไป-กลับ โรงแรม ซิตี้ทัวร์ และโปรแกรมเที่ยวเกาะด้วยเรือสำราญขนาดใหญ่ พร้อมอาหารกลางวันที่รีสอร์ตกลางทะเลสุดหรู

แม้จะขายในราคาถูกแสนถูกอย่างน่ามหัศจรรย์เมื่อเทียบกับยุคก่อนสึนามิ แต่บริษัททัวร์เจ้านี้ก็ขายได้เพียง ๒๔ ที่นั่งเท่านั้น ไม่ได้มากอย่างที่คิด ทั้งๆ ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ภูเก็ตสวยที่สุดก็ในช่วงมกราคม-เมษายนนี่แหละ

นั่นสะท้อนว่า ในภาวการณ์ที่ไม่ปรกติเช่นนี้ กลไกราคาทำงานไม่ได้ผล ที่สำคัญมันยังสะท้อนว่า ระยะหลังมานี้ ตลาดหลักของอันดามันคือชาวต่างชาติจริงๆ เพียงแค่ชาวต่างชาติไม่มาเที่ยวเท่านั้น ทุกอย่างเดี้ยงหมด จะหวังพึ่งตลาดในประเทศไม่ได้เลย คงเพราะคนไทยมีประสบการณ์ไม่ดีในเรื่องความแพงและบุคลิกแบบ “ไม่ไยดีแขกไทย” ของเมืองท่องเที่ยวระดับแนวหน้าแบบภูเก็ตนั่นเอง

“สวัสดีครับ ผมชื่อนิพนธ์ ชื่อเล่นก็นิพนธ์ วันนี้ทำหน้าที่ไกด์ของท่าน รวมทั้งทำหน้าที่บริกรด้วยครับ คณะของเรามีทั้งหมด ๒๔ ท่าน ผมในนามของชาวภูเก็ตและอีก ๕ จังหวัดอันดามัน ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ตั้งใจมาเที่ยวที่นี่ มาช่วยกันใช้จ่ายเพื่อช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจหลักและซับน้ำตาชาวอันดามัน หลังเหตุการณ์ พวกเรานอนเล่นว่างๆ เดือนกว่า รถ เรือ จอดนิ่งอยู่เดือนกว่าครับ”

ไกด์ของเราแนะนำตัวอย่างเป็นกันเอง ตลอดโปรแกรมพวกเราได้รับรู้เหตุการณ์สึนามิจากคนที่ประสบภัยโดยตรง ทั้งจากไกด์ คนขับรถ คนขับเรือ ครูดำน้ำ ฯลฯ รวมทั้งได้เห็นย่านท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์หลายจุด เช่นที่หาดป่าตอง ภูเก็ต อ่าวต้นไทรที่เกาะพีพีดอน กระบี่

เราใช้บริการทัวร์จนครบตามกำหนด ลูกทัวร์ทุกคนชมเปาะว่าบริการดี อาหารอร่อย ดำน้ำ เที่ยวทางเรือ แวะชมสถานที่ท่องเที่ยวครบทุกจุดตามที่ระบุไว้ ดีกว่ามาตรฐานที่เคยมาเที่ยวกันในอดีต และดีกว่าที่คาดหวัง

แต่อันดามันจะฟื้นคืนกลับมาง่ายๆ เพียงเพราะลูกทัวร์ไม่กี่คนที่ซื้อแพ็กเกจจากงานซับน้ำตาอันดามันล่ะหรือ ?

ภูเก็ตหลังสึนามิ
หลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ทุกอย่างแย่ลงมาก แย่ลงมากเกินคาดเสียด้วย

แม้ทางการจะเก็บกวาดซากปรักหักพังและฟื้นฟูอาคารสถานที่อย่างรวดเร็วจนแทบไม่เหลือภาพเก่าๆ แต่ผลกระทบใหญ่ที่สุดคือ นักท่องเที่ยวหายไปถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่มีอาชีพในภาคการท่องเที่ยวแม้จะไม่ประสบภัยโดยตรง แต่ก็ต้องหยุดงาน พักงาน

ไม่เฉพาะโรงแรมและเกสต์เฮาส์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

สายการบินหลายสายก็ต้องยกเลิกเที่ยวบินหรือลดเที่ยวบินลง เที่ยวบินเช่าเหมาลำมาจากยุโรป ไม่มีมาให้เห็น

เรือท่องเที่ยวใหญ่น้อยจอดนิ่งจนเพรียงเกาะ เพราะไม่มีลูกค้า

รถรับจ้างสี่ล้อเล็กจอดแช่เป็นตับแถวหน้าหาด ชะเง้อชะแง้รอลูกค้าเรียกใช้บริการ

บาร์เบียร์ริมหาดแถวย่านถนนบางลา หาดป่าตอง เงียบเหงา มีฝรั่งนั่งกันบางตาเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ผู้คนคึกคักล้นหลามออกมานอกถนน

ร้านอาหารริมถนนสาย ๒ โต๊ะว่างแทบไม่มีคนมากิน

ร้านเช่ามอเตอร์ไซค์ เด็กเฝ้าร้านนั่งตบยุงเช้าจรดเย็นเพราะแทบไม่มีลูกค้า เช่นเดียวกับธุรกิจรถเช่าและเรือเช่า

สถานบันเทิงที่มีโชว์ขนาดใหญ่ ลงทุน ๓,๓๐๐ ล้านบาท ค่าชมแพงลิ่ว จากที่เคยแสดงคืนละ ๒ รอบ ก็ต้องหยุดการแสดงชั่วคราวเพราะไม่มีแขกเข้า แขกจำนวนมากที่เคยส่งผ่านมาจากผู้ประกอบการรายย่อย ไกด์ โรงแรม แทบไม่มีส่งมา หรือถ้ามีก็ลดจำนวนลงมาก หากทุนไม่หนาจริงคงม้วนเสื่อกลับบ้าน เพราะค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษาไม่ใช่น้อยๆ

ห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ ห้างสรรพสินค้าหรู ๒-๓ ห้างที่เปิดประชันกันบนถนนบายพาสนั้นเงียบเหงาวังเวง ช่องจ่ายเงินที่เตรียมไว้ ๔๐-๕๐ ช่อง วันนี้เปิดทำการเพียง ๔-๕ ช่อง ลานจอดรถในอาคารว่างเปล่าโหรงเหรง โชคดีที่แต่ละค่ายจัดว่ามีทุนหนา แต่ผู้บริหารก็คงหวั่นๆ ได้แต่หวังให้เศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟู

ร้านสะดวกซื้อทั้งปวงก็พลอยขายไม่ดีไปด้วย

ร้านขายของฝากเจ้าใหญ่ๆ ทั้งในเมืองและใกล้สนามบิน ลูกค้าก็โหรงเหรง พนักงานขายได้แต่นั่งส่องกระจกบีบสิวไปวัน ๆ

 

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็เพียง “กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย” เท่านั้น ไม่ใช่ “ฟื้นตัว”

ช่วง ๑-๒ เดือนหลังเหตุการณ์ แม้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยจะร่วมมือกัน นิตยสาร หนังสือพิมพ์ แทบทุกฉบับ รวมถึงโทรทัศน์ทุกช่อง ต่างช่วยกันเขียนถึง ถ่ายทำรายการ เชิญชวนให้คนไทยกลับไปเที่ยวอันดามัน แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผลนัก

หลังสึนามิ–คลื่นยักษ์ที่ไม่เพียงทำลายเมืองและพรากชีวิตผู้คน หากยังซัดเอานักท่องเที่ยวต่างชาติกระเป๋าหนักไปเกือบหมดสิ้น–เมืองท่องเที่ยวอันดามัน โดยเฉพาะภูเก็ต ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากบทเรียนครั้งนี้

ลองมาดูกันว่าเราเคยพลาดกันมาอย่างไร

และเราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไร

เที่ยวภูเก็ต เที่ยวไทยในราคาฝรั่
ขอทบทวนความหลังและความเป็นมาของภูเก็ตกันสักหน่อย

ในอดีต ดีบุกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและภูเก็ตมาก และยังคงความสำคัญมาถึงประมาณ ๗๐-๘๐ ปีที่แล้ว ตอนที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรียนที่ประเทศอังกฤษ ก็หยิบเรื่องแร่ดีบุกขึ้นมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สะท้อนว่าตอนนั้นเศรษฐกิจหลักของไทยคือสินค้าขั้นปฐมภูมิ เช่น ข้าว ดีบุก พืชอาหารต่างๆ ส่วนที่เป็นขั้นทุติยภูมิ คือโรงงานอุตสาหกรรม อย่างเก่งก็เป็นพวกแปรรูปแบบง่าย เช่น โรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร โรงน้ำแข็ง สมัยนั้นพวกเรา (ที่อ่าน สารคดี ฉบับนี้) ยังไม่เกิดกันหรอก การทำเหมืองเมื่อร้อยกว่าปีก่อนต้องพลิกหน้าดินขึ้นมา ต้นไม้จะโค่น ป่าไม้จะป่นปี้ก็ช่างปะไร เพราะขุดแร่แปลว่าขุดแร่

สังเกตกันหรือไม่ ภูเก็ตยุคปัจจุบันแทบไม่มีต้นไม้ใหญ่อายุเกิน ๑๐๐ ปีให้เห็น มีแต่ร่องรอยเหมืองเก่า เช่น สระน้ำ กองดิน อยู่ทั่วไป กลุ่มโรงแรมระดับห้าดาวที่หาดบางเทาซึ่งแพงหูฉี่ระดับโลกก็ตั้งอยู่ในบริเวณเหมืองเก่า ไม่เชื่อลองไปดูได้

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่งจะมาบูมเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนนี้

เริ่มจากนักท่องเที่ยวยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน ที่หนีหนาวมาภูเก็ตครั้งละนานๆ นับเดือน จากบังกะโล กระต๊อบ ให้นักท่องเที่ยวเช่าพัก ก็เริ่มพัฒนาเป็นโรงแรม ก่อนที่ธุรกิจการท่องเที่ยวจะเฟื่องฟูเมื่อไม่เกิน ๓๐ ปีมานี้

ภูเก็ต (รวมถึงพังงาและกระบี่) บูมสุดขีดเมื่อฝรั่งเข้ามามาก ด้วยอิทธิฤทธิ์ของดอลลาร์และยูโร ที่เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้ว ทุกอย่าง “ราคาถูก” สำหรับฝรั่ง

ภูเก็ตจึงเลือกเดินเส้นทางสายฝรั่ง ทุกอย่างพัฒนาเพื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ

คนไทยไปเที่ยวก็ต้องจ่ายใน “ราคาฝรั่ง” จนหลายคนเข็ดขยาด ต้องย้ายไปเที่ยวที่อื่น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อ “ไข่มุกแห่งอันดามัน” นัก

ดูได้จากตัวเลขของสภาพัฒน์ ปี ๒๕๔๐-๒๕๔๕ ประเทศไทยทรุดหนักจากพิษต้มยำกุ้ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (GPP) ของทุกจังหวัดในประเทศทรุดไปหมด มีเพียง ๓ จังหวัด คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ที่สวนกระแส GPP พุ่งกระฉูดไม่หยุด เพราะเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาตินี่เอง

คนไทยโทรไปจองโรงแรมภูเก็ต ทางโรงแรมบอกว่า “จองลมได้ลม จองเงินได้ห้อง” ต้องโอนเงินเต็มจำนวนไปให้ ไม่อย่างนั้นไม่รับประกันว่าจะมีห้องพักให้หรือไม่

รถสี่ล้อเล็กก็ราคาฝรั่ง ระยะทาง ๑-๒ กม. เที่ยวละ ๑๐๐ บาทถ้วน (นานๆ จะต่อได้ ๘๐ บาท) นั่นคือ ๒.๕ ดอลลาร์ หรือ ๒ ยูโรสำหรับคนยุโรป ซึ่งแพงมากสำหรับคนไทย คิดง่าย ๆ เมื่อเทียบกับราคาแท็กซี่มิเตอร์ในกรุงเทพฯ ที่สตาร์ต ๓๕ บาท/๒ กม.

ร้านอาหารริมถนนในทำเลท่องเที่ยว แม้จะไม่หรูหราแต่ราคาน่าตกใจ ข้าวเปล่าโถละ ๘๐ บาท (ข้าวสาร กก.ละ ๑๕-๒๐ บาท) ข้าวผัดราคา ๖๐-๑๒๐ บาท (วัตถุดิบไม่น่าจะเกิน ๑๐ บาท) แกงจืดเต้าหู้สาหร่าย ๒๕๐ บาท (วัตถุดิบไม่น่าจะเกิน ๒๐ บาท) น้ำเปล่า ๑.๕ ลิตร ขวดละ ๖๐ บาท (ราคาขายส่งขวดละ ๑๐-๑๕ บาท) น้ำแข็งโถละ ๔๐ บาท (น้ำแข็ง กก. ละ ๑-๒ บาท) เบียร์ผลิตในประเทศ ขวดเล็กราคา ๑๒๐-๑๓๐ บาท (ราคาขายส่งขวดละ ๒๕ บาท)

เทียบกับในเมืองภูเก็ต ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง จานละ ๒๐-๓๐ บาท อาหารตามสั่งราคาจานละ ๘๐-๑๐๐ บาท แต่ชายทะเลภูเก็ตห่างจากตัวเมืองเพียง ๑๐ กว่ากิโลเมตร ราคากลับแพงขึ้น ๒-๓ เท่าตัว หรือ ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์

พัทยาเอง รถสองแถววิ่งเป็นวงกลม เลียบชายหาดพัทยาสาย ๑ และสาย ๒ เก็บค่าโดยสารคนละ ๕ บาท เบียร์ขวดเล็กราคา ๖๐-๖๕ บาท

เทียบกับเวนิซ แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกเหมือนกัน เมืองที่เป็นเกาะในลากูนทะเลเอเดรียติก เข้า-ออกลำบาก แต่ข้าวของก็แพงกว่าบนฝั่งแค่นิดเดียว พิซซาราคา ๗-๘ ยูโร (ราคาพิซซาในอิตาลีเองก็ตก ๕-๖ ยูโร) อาหารทั่วไปและผลไม้ของเวนิซก็แพงกว่าบนฝั่งราว ๕-๑๐ เปอร์เซ็นต์ ค่าโรงแรมก็แพงกว่าราว ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่มีข้อจำกัดมากมาย รวมทั้งการไม่มีถนน การขนส่งลำบากมาก

เมืองท่องเที่ยวทั้งปวงทั่วโลกไม่ได้แพงเลือดซิบๆ เมื่อเทียบกับเมืองข้างเคียง

ว่าไปแล้ว ภูเก็ตมีของราคาถูกอยู่แค่ ๓ อย่าง คือ ชีวิตคนไทย กล้วยหอมพังงา และสับปะรดภูเก็ต

นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยขยาดภูเก็ต แม้ในวันที่ภูเก็ตต้องการความช่วยเหลือ ค่าตั๋วเครื่องบินอาจถูกลงก็จริง แต่ของกินแพง ค่ารถสี่ล้อเล็กก็แพง และหลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่า ถึงวันนี้แล้ว ภูเก็ตจะเห็นนักท่องเที่ยวไทยอยู่ในสายตา ?

ถ้าให้ฉันมอง ปากท้องและเศรษฐกิจภูเก็ตวันนี้ขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
การตั้งราคาไล่แขก ยุคสมัยแห่งการโก่งราคา ควรต้องหมดไปแล้วพร้อมๆ กับสึนามิ

ทางรอดของภูเก็ต คือการท่องเที่ยวที่พึ่งพาทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศอย่างสมดุลกัน จากเดิมที่พึ่งฝรั่งเป็นหลัก

สถานบันเทิงขนาดใหญ่ มีโชว์อลังการ ที่กล่าวกันว่าเป็นแม่เหล็กดูดเงินนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครไปดูมากเกิน ๑-๒ ครั้ง ด้วยเหตุผลเดียวคือ แพง ค่าดูโชว์ ๘๐ นาที แถมอาหารเย็นแบบบุฟเฟต์ ราคา ๓๐ ดอลลาร์เศษ หรือ ๒๔ ยูโร

แพงกว่าค่าตั๋วเข้าชมสถานที่สำคัญระดับโลกอย่างพิพิธภัณฑ์วาติกัน ซึ่งมีสมบัติและศิลปะชั้นบรมครูที่เป็นมรดกโลกให้ดูกันจนตาแฉะ เดินทั้งวันก็ดูไม่หมด ยังเก็บค่าชม ๑๒ ยูโร (ซึ่งจัดว่าแพงที่สุดแล้วในบรรดาพิพิธภัณฑ์ทั้งปวงของอิตาลี) ดังนั้นค่าดูโชว์ที่ภูเก็ตจึงนับว่าราคาไม่ถูกนัก แม้กับฝรั่งเอง

ราคาค่าบริการในสปาตามโรงแรมหรือรีสอร์ตหรูก็ขูดรีดเกินไป

ราคาอาหาร-เครื่องดื่มตามแหล่งท่องเที่ยวก็ขูดรีดเช่นกัน อย่างที่พูดไปแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีอาหารอุดมสมบูรณ์มาก ถือเป็นครัวของโลก เราไม่ต้องอิมพอร์ตอาหารทุกอย่างอย่างมัลดีฟส์ ภูเก็ตเองแม้เป็นเกาะ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการขนส่งอย่างทิเบตซึ่งอยู่กลางเทือกเขาหิมาลัย สะพานสารสินเชื่อมแผ่นดินใหญ่ก็แสนจะสะดวกสบาย น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำจืด อาหารสด อาหารแห้ง วัตถุดิบทุกอย่าง ส่งถึงเกาะทางรถยนต์ได้โดยง่ายและไร้อุปสรรคด้านฤดูกาล

อีกทั้งแรงงานไทยก็ราคาถูก มีให้เลือกจ้างมากมาย ไม่ได้ขาดแคลนแรงงานจนค่าแรงแพงระยับอย่างสวิตเซอร์แลนด์

ภูเก็ตยังพอมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้พัฒนาอยู่บ้างตั้งแต่หัวเกาะยันท้ายเกาะ ที่ว่างแถวอำเภอถลางก็มีมากมายทั้งสองฝั่งถนน รวมทั้งแถวท่าเรือน้ำลึกอ่าวมะขามทางตอนใต้ของเกาะ แต่ก็ปั่นราคาที่ดินจนแพงหน้ามืด ส่งผลกระทบต่อค่าเช่าห้องแถว ค่าแผง เป็นลูกโซ่ สิ่งนี้กลับกลายเป็นต้นทุนสูงลิ่วของโรงแรมหรือสถานประกอบการต่างๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นข้อจำกัดที่เกิดจากการกระทำของเราเอง ไม่ใช่ข้อจำกัดของธรรมชาติ

ศักยภาพ : ต้องหาให้เจอและลงมือทำเดี๋ยวนี้
คิดจะซับน้ำตาอันดามัน สิ่งที่ต้องทำคืออะไร ?

อย่างแรกที่ต้องทำคือการคุมกำเนิดห้องพัก แค่นี้ห้องพักก็ล้นแล้ว เพราะวันเก่าๆ คงจะไม่กลับมาอีกโดยง่าย ตอนนี้ใครขืนสร้างใหม่หรือขยายก็บ้าเต็มที นี่เป็นกลไกตามธรรมชาติ

ต่อมาที่ควรทำคือ ดึงศักยภาพด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ออกมา

ภูเก็ตมีจุดแข็งคือทะเล แต่เราต้องไม่ลืมว่าภูเก็ตยังมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงความรู้อยู่ด้วย

งานประเพณีที่โดดเด่นอย่างเทศกาลกินผัก ควรส่งเสริมให้แพร่หลายไปทั่วโลกแบบเทศกาลคาร์นิวัล เพราะคาร์นิวัลก็คือการฉลองของชาวคาทอลิกก่อนที่จะถือศีลอด ๔๐ วันนั่นเอง คล้ายกับธรรมเนียมจีนแบบภูเก็ตที่แก่นของเทศกาลก็คือการกินผักเพื่อไว้ชีวิตสัตว์ เป็นการละบาป สะสมบุญ ส่วนการลุยไฟ การแทงเหล็กแหลม การแสดงอภินิหารทั้งปวง ถือเป็นสีสันของเทศกาล

ภูเก็ตมีแหล่งความรู้และพิพิธภัณฑ์ชั้นยอดหลายแห่ง เช่น สวนผีเสื้อ พิพิธภัณฑ์หินแปลก พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย ซึ่งเป็นของเอกชน มีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของทางราชการ (ปิดซ่อมมา ๒ ปีกว่า มีกำหนดเปิดอีกครั้งในเดือนเมษายน ๒๕๔๘) น่าเสียใจเหมือนกันที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจไปเยี่ยมชม

พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยที่ราไวย์นั้นนับเป็นคอลเล็กชันเปลือกหอยที่สมบูรณ์ที่สุด ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมา นับเป็นของหาดูยากมากๆ รัฐปล่อยให้เอกชนทำกันเอง คนเข้าชมจึงโหรงเหรง แม้แต่ชื่อพิพิธภัณฑ์ก็ปรากฏอยู่ในแผนที่บางฉบับเท่านั้น

ยังมีสิ่งสำคัญในภูเก็ตอีกหลายอย่างที่น่านำมาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ รวมถึงปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น อาทิ

พิพิธภัณฑ์เรือหรือพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการค้าทางทะเล เพราะภูเก็ตทำการค้าทางทะเลมาตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นเมืองจังซีลอน และปัจจุบันก็มีกองเรือยุทธการและกองทัพเรือตั้งอยู่

พิพิธภัณฑ์การทำเหมืองแร่ เพราะภูเก็ตเคยมีแร่ เป็นเหมืองแร่เก่าที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

พิพิธภัณฑ์เกษตร เน้นพืชพันธุ์พื้นถิ่นอันดามัน พืชในป่าดิบชื้น หรือพืชเศรษฐกิจอันดามัน เช่น มะม่วงหิมพานต์ สับปะรด สะตอ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑ์สึนามิ เพราะสึนามิที่ภูเก็ตนั้นโด่งดังไปทั่วโลก

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงความรู้นั้นไม่มีฤดูกาล ฝนตกแดดออกก็มาชมได้ หากมุ่งแต่จะกลับไปสู่วิถีการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ คือบุกเบิกพัฒนาไร้จุดหมาย ไร้เอกลักษณ์ ภูเก็ตอาจไม่มีสิทธิ์ฟื้น การสร้างสถานบันเทิงแบบพัฒน์พงษ์ บาร์เบียร์แบบพัทยา จัดโชว์ช้างเลียนแบบปางช้างภาคเหนือ โชว์ลิงเก็บมะพร้าวจากเกาะสมุย โชว์มวยไทยจากเวทีราชดำเนิน นอกจากทำได้ไม่ดีเท่าต้นตำรับแล้ว ยังไม่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ใดๆ ของตนเองเลย

หากไม่สร้างเอกลักษณ์ภูเก็ตขึ้นมา สร้างจุดขายใหม่เพิ่ม อีกไม่นานภูเก็ตก็จะเละ กลายเป็นที่ท่องเที่ยวเกรดต่ำ ทั้งๆ ที่ภูเก็ตคือไข่มุกอันดามันอย่างแท้จริง

คนที่ดั้นด้นไปเวนิซ เพราะเขาอยากไปดูคลอง อยากนั่งกอนโดลา เอกลักษณ์ของเวนิซ

คนที่ดั้นด้นไปแอร์โรว์ทาวน์ เพราะเขาอยากไปดูการร่อนทองอันเป็นเอกลักษณ์ของแอร์โรว์ทาวน์

คนที่ดั้นด้นมาภูเก็ต เขาย่อมอยากไปเที่ยวทะเลและอยากสัมผัสสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์แท้ของภูเก็ต

วิธีการเดิมๆ ไม่สามารถซับน้ำตาสึนามิภูเก็ตได้

เชื่อฉันสิ