เรื่อง : เพ็ญศิริ จันทร์ประทีบฉาย
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
แฟนนิตยสาร a day จำนวนมากอาจไม่เคยรู้ว่า ก่อนที่ ทรงกลด บางยี่ขัน จะมาเป็นบรรณาธิการบริหารผลัดที่ ๓ ของนิตยสารสุดเท่และป๊อปเล่มนี้ เขาเคยคลุกอยู่กับงานด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เคยเป็นทั้งนักวิชาการและเอ็นจีโอ
เมื่อสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ตอนอายุ ๑๖ กว่าๆ ก็ทำกิจกรรมในชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จุฬาฯ จนตอนหลังได้เป็นประธานชมรมฯ พอเรียนถึงปี ๓ อันเป็นเวลาที่ต้องเลือกภาควิชา ด้วยความสนุกกับการทำงานสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา บวกกับคำพูดที่ได้ยินมาเสมอว่า “เราเป็นแค่นิสิตตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ยังไง” ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับปริญญาตรี และโท โดยตั้งเป้าว่าจะเอาดีในงานด้านสิ่งแวดล้อม และพิสูจน์ว่าเมื่อได้ทำงานแล้ว เขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
หลังเรียนจบ ทรงกลดเริ่มทำงานเป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ศูนย์เศรษฐศาสตร์นิเวศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในทีมวิจัยประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ครั้งแรกของประเทศไทยในโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) จากนั้นย้ายไปอยู่ที่กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย เป็นนักรณรงค์คนแรกในฝ่ายพลังงานและ Climate Change ซึ่งขณะนั้น WWF เป็น ๑ ใน ๒ องค์กรแรกที่รณรงค์ปัญหานี้ในประเทศไทย อีกองค์กรหนึ่งคือ กรีนพีซ
“ทำงานตอนนั้นก็สนุกดีครับ ได้ไปพูดเรื่องโลกร้อนซึ่งไม่มีใครสนใจ ครั้งหนึ่งไปบรรยายที่โรงเรียนอินเตอร์แห่งหนึ่ง ผมบอกว่าน้ำจะท่วมโลก เด็กถามว่าท่วมเมื่อไร ผมบอกว่าอีกสัก ๓๐-๔๐ ปี เด็กบอกว่าไม่เห็นแคร์เลย เดี๋ยวก็ตายแล้ว ตอนนั้นมีปัญหาเยอะเวลาไปพูด เพราะคนมักตั้งคำถามว่าจริงหรือเท็จ
“สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากสำหรับที่ WWF คือ เขาอิงทุกอย่างบนข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ห้ามอ้างมั่วๆ ห้ามบอกว่าฝนตกผิดฤดูกาล สึนามิ เฮอริเคนแคทรีนา อุทกภัย เกิดจากโลกร้อน เพราะเราพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเห็นอะไรได้จังหวะก็สวมเข้าไป แต่ถ้าบอกว่าโลกร้อนจะทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้บ่อยกว่าปรกติ อันนี้พูดได้”
ทำงานที่ WWF ได้ ๓ ปี ทรงกลดก็ได้รับการชักชวนจาก วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานนิตยสาร a day การก้าวข้ามจากงานเอ็นจีโอมาสู่การทำสื่อที่มีรูปแบบอย่าง a day ทำให้เขาแทบจะตัดขาดจากโลกของงานสิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอไปเลย เรียกได้ว่ากดปุ่มพอสเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้แค่นั้นแล้วกดปุ่มสตาร์ตในโลกอีก ใบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
“ผมหยุดตัวเองในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จริง แต่ผมได้ทักษะด้านการสื่อสารกับคน a day เป็นโรงเรียนด้านการสื่อสารที่ดีมาก สิ่งที่ผมได้เพิ่มขึ้นคือความเป็นนักเล่าเรื่อง a day พร้อมจะเล่าเรื่องยากที่สุดให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ และป๊อปได้ ถ้าเราเอาพลังตรงนี้ไปพูดในสารที่ดี มันจะส่งอิทธิพลให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อคนในวงกว้าง
“ตั้งแต่สมัยทำ งานอยู่ WWF ผมมักตั้งคำถามว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้งานภาคสังคมเข้าไม่ถึงใจคนชั้นกลางในเมืองไทย เพราะเราขาดนักสื่อสารที่ดีหรือเปล่า คนทำงานด้านการสื่อสารในองค์กรส่วนใหญ่อาจมีใจรัก แต่อาจขาดทักษะ กลับกันในบางองค์กรใช้เอเยนซีที่มีทักษะเต็มเปี่ยมมาช่วยสื่อสาร แต่อาจมีความรู้ความเข้าใจหรืออุดมการณ์น้อยไปหน่อย สารที่นำเสนอออกมาจึงไม่มีอะไรนอกจากเปลือกที่สวยงามหวือหวา ผมคิดว่ามีคนจำนวนมากที่ทำหน้าที่ตรงนี้ได้และอยากทำ แต่อาจจะขาดโอกาส ผมรู้สึกว่าผมมีโอกาสแล้ว คือมีพร้อมทั้งใจ ทักษะ และพื้นที่สื่ออยู่ในมือ ดังนั้นจึงต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง”
ล่าสุดทรงกลดและทีมงานจึงใช้ ทักษะการสื่อสารที่พวกเขามีอยู่ ทำ a day ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ที่มีธีมเรื่องการปลูกต้นไม้ เป็นวิธีการพูดถึงเรื่องโลกร้อนในแบบของ a day
“มีสื่อที่ทำหน้าที่นำเสนอปัญหาและสาเหตุของโลกร้อนไปเยอะแล้ว a day จึงอยากพูดอีกแบบหนึ่ง ปัญหานี้มาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทางแก้มี ๒ อย่าง คือ ลดการปล่อย กับเพิ่มแหล่งดูดซับ เราก็เลยชวนคนให้มาปลูกต้นไม้กันเถอะ ปลูกแล้วดีนะ แน่นอนเราไม่ได้พูดเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ พิธีสารเกียวโตอะไรเลย และเราก็ไม่ได้ชวนคนปลูกต้นไม้เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย เพราะไม่ว่าคุณจะปลูกด้วยเหตุผลอะไร สุดท้ายมันก็นำไปสู่การแก้ปัญหาเหมือนกัน
“แต่อีกอย่างที่ a day อยากจะบอกในยามที่ทุกคนกำลังเห่อเรื่องโลกร้อนกันอยู่คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไม่ได้มีแค่เรื่องโลกร้อน ยังมีเรื่องขยะพิษจำนวนมหาศาล ปัญหาสัตว์ป่า ป่าไม้ คงน่าเศร้าถ้าเราลืมมันไป แล้วมาใส่ใจกับเรื่องโลกร้อนอย่างเดียว”
ทรง กลดเปรียบเทียบบทบาทของเขาที่มีต่อประเด็นโลกร้อน เมื่อครั้งยังเป็นเอ็นจีโอกับปัจจุบันในฐานะ บ.ก. a day ว่า “โจทย์ตอนนั้นคือทำให้คนเข้าใจโครงสร้างของปัญหา คือ สาเหตุ ผลกระทบ และทางแก้ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้คน อีกส่วนคือไปคุยกับรัฐบาล องค์กรต่างๆ ว่าจะมีมาตรการอย่างไร คุยกับรัฐบาลให้ลงนามในพิธีสารเกียวโต คุยกับภาคธุรกิจให้ลองปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง แต่ในบทบาทปัจจุบัน ผมอยากทำสื่อที่ทำให้คน ‘รู้สึก’ มากกว่าแค่ ‘รู้’ ผมคิดว่าสื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ที่ทำเรื่องโลกร้อน ทำให้คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นได้ แต่ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรู้สึกกับมันจนอยากทำอะไรบางอย่างได้”
แน่ นอนว่าโดยบุคลิกและกลุ่มเป้าหมายของ a day นั้นไม่ใช่ทิศทางที่จะทำให้นำเสนอประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อยู่บ่อยๆ แต่ทรงกลดก็มีช่องทางอีกหลากหลายที่ทำให้เขาสื่อสารความคิดเรื่องสิ่งแวด ล้อมออกไปสู่คนหมู่มากได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก ต้นไม้ใต้โลก คอลัมน์ “ดอกไม้ใต้โลก” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ เว็บล็อกเครือข่ายต้นไม้ขี้เหงา (www.lonelytrees.net) รวมทั้งกิจกรรมและการบรรยายต่างๆ
“ผมอยากบอกทุกคนว่า การเปลี่ยนแปลงโลกทำได้หลายวิธี สิ่งที่ผมกำลังพยายามทำในประเด็นเรื่องโลกร้อนคือ ทำให้คนมองปัญหานี้ด้วยสายตาอีกแบบ ให้ข้อมูลว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง และ
กระตุ้น พลังให้พวกเขาลุกขึ้นมาทำ ตอนนี้ทุกคนมองปัญหาเรื่อง Climate Change เป็นวาระแห่งโลกก็ว่าได้ สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับประเทศไทยคือ เราอยากแก้ปัญหา แต่เส้นทางที่ทำอยู่เหมือนจะ
ไม่ได้เดินไปหาจุดนั้นเลย ผมว่าปัญหาหลักของเรื่องนี้คือ เราพูดมากกว่าเราทำ และเราทำน้อยกว่าที่เราสามารถทำได้ การรณรงค์เป็นเรื่องที่ดี การใช้ถุงผ้าก็โอเค แต่แทนที่จะทำถุงผ้าสกรีนข้อความ stop global warming ขาย ห้างสรรพสินค้าก็น่าจะลดการใช้พลังงานลงด้วย”
“ทำไมคนจำนวนมาก ที่อยากช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนจึงซื้อถุงผ้ามาใช้ ก็เพราะเขาไม่รู้ว่ามีทางไหนที่จะแก้ปัญหาได้อีก ถ้าเขารู้ว่าการเดินทางโดยเครื่องบินมันปล่อยคาร์บอนมหาศาลแค่ไหน เขาก็คงไม่อยากบินนัก ถ้าเขารู้ว่าพลังงานถ่านหินสร้างมลพิษมากกว่าพลังงานชีวมวลเท่าไร เขาก็คงยินดีบอกรัฐบาลว่าจะยอมจ่ายเงินแพงหน่อยเพื่อใช้พลังงานสะอาด”
“การ ทำแคมเปญรณรงค์เรื่องโลกร้อนในหลายประเทศ พอทำให้คนรู้สึกอยากช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว ทางแก้คือเปลี่ยนแหล่งพลังงาน ที่เนเธอร์แลนด์มีบริษัทผลิตไฟฟ้าหลายยี่ห้อ มีทั้งผลิตจากถ่านหิน ลม ยี่ห้อลมน่ะแพงกว่า เขาก็ทำแคมเปญอยากช่วยโลกให้ดีขึ้นใช่ไหม เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดสิ คนทางบ้านก็โทร. ไปยกเลิกบริษัทพลังงานถ่านหิน ขอเปลี่ยนมาติดตั้งกับบริษัทพลังงานลม แพงกว่านิดหน่อย ก็จ่ายได้เพื่อโลก”
“กลับ มามองที่เมืองไทย รัฐบาลไม่มีนโยบายเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเท่าไรนัก ผมคิดว่านักรณรงค์ องค์กรต่างๆ หรือภาครัฐ แทนที่จะรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าจ่ายตลาด หรือปิดไฟคนละดวง น่าจะหันมารณรงค์ให้เกิดมาตรการบางอย่างที่ทำให้เกิดผลชัดเจน เช่นการปรับเปลี่ยนสัดส่วนพลังงานในประเทศ ทำไมรัฐให้เงินอุดหนุนน้ำมันได้ แต่ไม่ให้เงินอุดหนุนโซลาร์เซลล์ ถ้าอยากแก้ปัญหาจริงจังก็ออกนโยบายไปเลยว่าจะลดภาษีให้เท่าไรสำหรับอาคารที่ ติดโซลาร์เซลล์ ผมว่านี่จะเกิดผลที่สุด”
และท่ามกลางบรรยากาศการ รณรงค์เรื่องโลกร้อนที่กำลังเข้มข้น ทรงกลดบอกว่า หากดูกันเผินๆ ก็เป็นเรื่องน่าชื่นใจ แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป เขากลับรู้สึกถึงบางสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
“คนจำนวนมาก ‘ได้รับ’ ประโยชน์จากการทำงานด้าน Climate Change มากกว่าสิ่งที่ได้ ‘ให้’ กับมันจริงๆ’ ” คือคำพูดที่เขาเคยกล่าวไว้ในการเข้าร่วมประชุม Asian Young Leaders Climate Forum ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายปีที่แล้ว
“องค์กร ห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า แบรนด์แฟชั่น ได้ประโยชน์จากการหยิบฉวยคำนี้มาใช้กันเยอะ ไม่ว่าในการสร้างภาพพจน์หรือการขายสินค้า เพราะไม่ว่าเราปะคำนี้ลงไปในอะไร มันขายได้หมด ทั้งสินค้ากรีนๆ โครงการกรีนๆ การที่ปัญหาโลกร้อนกลายมาเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ที่น่าห่วงคือ เรากำลัง take จากมันมากกว่า give ผมคิดว่ามันจะดีกว่า ถ้าสิ่งที่คุณทำได้เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำให้พวกคุณดีขึ้น”