“ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้บอกเล่าความจริงต่อสาธารณชนอย่างเข้มข้นและเจาะลึก ทั้งนี้ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจและมีแรงกดดันรอบด้าน ผู้เขียนได้ใช้ความกล้าหาญเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ…”
ส่วนหนึ่งของคำประกาศรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้สร้างสรรค์สื่อ เจ้าของผลงานการสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยรางวัลในสาขาสื่อสิ่งพิมพ์ยอดเยี่ยมในปีนี้ตกเป็นของ ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ประจำเซ็กชัน Perspective เจ้าของผลงาน “บันทึกของนักข่าว : สิ่งที่เห็นและเป็นไปใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
กว่า ๑๐ ปีบนถนนนักข่าว ศุภราได้รับรางวัลจากองค์กรนานาชาติมากมายจากบทความที่เธอเขียน อาทิ ปี ๒๕๔๔ ได้รับรางวัลผู้สื่อข่าวสิทธิมนุษยชนดีเด่นจากองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย ปี ๒๕๔๖ ได้รับรางวัล Journalism for Tolerance Prize จากสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ สำหรับบทความที่ต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติ ปี ๒๕๔๗ ได้รับรางวัลผู้สื่อข่าวแห่งเอเชียจาก Asian Development Bank Institute ประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดในปีนี้ เธอก็ได้รับรางวัลสำหรับการรายงานข่าวด้านสิทธิมนุษยชนจากสมาคมนักข่าวยูเอ็น (Tenth United Nations Correspondents Association – UNCA)
สำหรับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ถือเป็นรางวัลที่เธอภูมิใจมาก แต่ที่น่าปลื้มใจยิ่งกว่า คือเสียงพูดถึงงานชิ้นนี้ที่เธอได้ยินมา ไม่ว่าจะโดย อานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ได้หยิบยกให้เป็นงานที่กรรมการ กอส. ทุกคนต้องอ่าน หรือโดยนักมานุษยวิทยาชื่อดังของไทยซึ่งถึงกับเอ่ยปากว่า มันเหมือนงานทางมานุษยวิทยาชิ้นย่อม ๆ เลยทีเดียว ทั้งยังเป็นหนึ่งในเรื่องฮิตของเว็บไซต์สารคดีที่มีจำนวนผู้อ่านสูงสุด และยังมีผู้แวะเวียนเข้ามาอ่านเรื่อย ๆ แม้จะผ่านไปแล้วกว่าขวบปี
ศุภราบอกกับเราว่า งานชิ้นนี้เขียนขึ้นจาก “ความทรงจำ” ล้วน ๆ เพราะบางครั้งเธอเดินเข้าหมู่บ้านโดยที่ “ไม่พกสมุดโน้ต ไม่มีเทปบันทึกเสียง ไม่ใช้กล้องถ่ายรูป” มีแต่หัวใจที่พร้อมจะเรียนรู้และเข้าใจผู้คนที่มีความแตกต่างทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
“ที่ผ่านมา ชาวบ้านมีประสบการณ์จากการตกเป็นเหยื่อความบิดเบือนของสื่อมาแล้ว การที่เราเข้าไปคุยกับเขาโดยที่ไม่มีเทป ไม่มีกล้อง เขาจะสบายใจที่จะคุยกับเรามากกว่า บางทีพอเราเริ่มจด มันดูเป็นทางการแล้ว เขาก็จะไม่เปิดใจกับเรา เลยไม่จดดีกว่า และถึงไม่จด แต่เรารู้ว่าความทุกข์ของเขาเป็นอย่างนี้ คำพูดนี้เป็นของเขาแน่นอน เราไม่ได้มาแต่งเอง ที่สำคัญเราไม่ได้มุ่งเอาแต่ข่าวเท่านั้น บางทีไปเยี่ยมเขา ไม่ได้เขียนเรื่องของเขาด้วยซ้ำ แต่ไปเพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ใจ ถ้าเราแวะไปเยี่ยมเขาอีกครั้ง บางคนก็พร้อมที่จะคุยกับเรามากขึ้น
“บางครั้งเราก็จะไปตั้งต้นที่ร้านกาแฟตอนตีห้า เพราะร้านกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัฒนธรรมของคนที่นั่น บางทีชาวบ้านจะเฉยชากับเรามาก กินกาแฟจนถึงแปดโมงเช้าถึงจะมีสักคนยอมเอ่ยปากคุยกับเรา ที่เขายอมคุยด้วยเพราะเห็นเราเป็นคนคุยสนุก จริง ๆ แล้วเขาก็ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง เพียงแต่เขาไม่อยากพูด บางวันเข้าหมู่บ้านไปอยู่กับเขาครึ่งวันเลยนะ เขายังไม่ยอมคุยด้วย เพื่อที่จะได้ข้อเท็จจริงไม่กี่บรรทัดว่าเส้นทางนี้เป็นทางผ่านของอะไร ก็ต้องใช้เวลากินกาแฟ กินข้าวยำ สารพัดกินอยู่นานทีเดียว”
จะมีนักข่าวสักกี่คนที่ศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานก่อนลงไปทำข่าวที่เป็นเรื่องราวของคนมุสลิม หรือเที่ยวท่องไปร่ำเรียนในปอเนาะ สถาบันการศึกษาทั้งชีวิตของชนมุสลิม ศุภราคือหนึ่งในไม่กี่คนนั้น นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เธอได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากแหล่งข่าว จนบ่อยครั้งที่แหล่งข่าวถึงกับโทรศัพท์มาระบายความในใจกับเธอ
“บางทีเราไม่ต้องลงไปทำข่าวเองเลย จะมีคนโทรมารายงานตลอดว่าเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างเช่นหลังจากเหตุการณ์ที่ตันหยงลิมอร์ (๒๐ ก.ย. ๒๕๔๘) น้องที่เราเคยไปสัมภาษณ์โทรมาบอกว่า ‘พี่ ๆ ผมจะออกไปฆ่า..’ เราก็ต้องฟัง ต้องค่อย ๆ คุยกับเขา และตั้งคำถามกลับเพื่อให้เขาคิดทบทวนใหม่ เช่น ‘อัลลอฮ์สอนให้แบต่อสู้ผู้กดขี่ด้วยความรุนแรงหรือ’ เขาคิดและตอบว่าไม่ ตอนหลังเขาโทรมาบอกว่าดีใจที่ได้คุยกับพี่”
แต่กว่าจะได้รับความไว้วางใจนั้น ศุภราบอกว่าเธอต้องทำงานหนักจริง ๆ ในระยะเวลาถึง ๗ ปี และทุกวันนี้ก็ย้ำกับตัวเองตลอดว่า “ฉันยังไม่รู้อะไรเลยจริง ๆ”
“จุดเริ่มต้นคือปี ๒๕๔๒ เพราะว่าเราสงสัยมานานแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ตอนแรกก็ไปทำข่าวเรื่องประมงพื้นบ้านก่อน แล้วไปเจอกับรุ่นน้องที่เขาทำงานอยู่ที่นั่น เขาพูดภาษามลายูได้ และเขาก็ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านมาก เราก็ตามลงไป ทำให้ได้รู้จักพื้นที่จังหวัดปัตตานีแบบลึกซึ้ง ทุกอย่างมันใหม่หมดสำหรับเรา ตอนแรกเราก็ใช้เวลาศึกษาเอกสารทั้งหมดจากหอสมุดปรีดี พนมยงค์ แล้วก็ไปอ่านต่อที่ มอ. ปัตตานี อีกประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ อ่านมันทุกเล่มเลยเพื่อจะเข้าใจประวัติศาสตร์ภาคใต้ เย็น ๆ ก็เดินทางเข้าหมู่บ้าน
“เราค่อนข้างโชคดีมากตรงที่ว่าไปที่ไหนก็แล้วแต่ แม้ชาวบ้านจะไม่อยากพูด แต่เพราะว่าไปกับล่ามที่คนท้องถิ่นไว้วางใจ เราจึงได้ข้อมูลที่ลึกทั้งเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึกจริง ๆ ของชาวบ้าน แต่เราเขียนไม่ได้ทั้งหมดหรอก เราเพียงพยายามจะทำให้เสียงความทุกข์ยากของเขาออกไปโดยที่ไม่มีผลกระทบกับเขา คือเราไม่สามารถเสนอภาพทั้งหมดได้ แต่ต้องเข้าใจมันทั้งหมด แม้สิ่งที่เราถ่ายทอดออกไปจะแค่เสี้ยวหนึ่งก็ตาม
“ถามว่ามีคนที่มีความคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดนอยู่มั้ย มีแน่นอน แต่ว่ารัฐบาลไปสร้างเงื่อนไขแบบไหนให้เขาต้องปะทุออกมา”
ปัญหาความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เธอเขียนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ แทรกตัวอยู่บนเนื้อที่เล็ก ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ล้วนถ่ายทอดผ่าน “มุม” ที่ยังไม่มีใคร “มอง” ผ่าน “เสียง” ที่ยังไม่มีใคร “ได้ยิน”
“ประมาณต้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๗ เรารู้ว่ามีการอุ้มฆ่ากันขนานใหญ่ในช่วงนั้น ก็เลยลงไปในพื้นที่ เราลงไปเพราะว่ามันมีเสียงร้องไห้จากชายแดนตรงโน้น เราจะต้องไปแล้ว ในขณะที่กองทัพนักข่าวจะสนใจว่าวันนี้มีการทำแผนประกอบคดีปล้นปืน วันนี้ทหารพูดว่ายังไง แต่เราไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ขณะที่เขาทำแผนประกอบคดี เราจะมาอยู่ในหมู่ชาวบ้านที่ไปมุงดู เราจะสามารถเห็นเบื้องหลัง ปฏิกิริยาของชาวบ้านต่อการทำแผนประกอบคดี ว่าเขาคิดยังไง เขารู้สึกยังไง เขาพูดอะไรกันบ้าง ซึ่งตรงนี้ไม่มีนักข่าวไปอยู่ เราจะได้คุยกับผู้หญิงที่สามีของเขาถูกอุ้ม พ่อแม่ของเด็กที่ถูกยิงตายในกรือเซะ เป็นต้น อย่างภาพนี้ (กำแพงโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งถูกพ่นสีว่า ‘ยุติธรรม อยู่ที่ไหน’) เราตระเวนไปพบและก็ถ่ายภาพมาลง ตอนหลังนักข่าวอื่นถึงตามลงไปทำ ส่วนเราก็จะลงไปทำในมุมที่เรารู้ว่านักข่าวรายวันยังไม่ได้ทำ”
ซึ่งก็คือที่ใดก็ตามที่มีเสียงร่ำไห้ของ “คนชายขอบ”–ผู้คนที่ถูกทำให้เป็น “ชายขอบ” ของ “การพัฒนา” ตอนหนึ่งใน “บันทึกของนักข่าวฯ” ศุภราเล่าว่า “บางวันฟังเรื่องคนถูกอุ้มฆ่า ๖ ราย น้ำตาไหลพรากเลย ฟังไปร้องไห้ไปก็มี เขียนบันทึกไปเจ็บใจไปกับชาวบ้านก็บ่อย
“เราได้ตั้งปณิธานไว้แล้วว่า จะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด คือเล่าเรื่องของเขาให้มากที่สุด ว่าเขาไม่สบายใจยังไง เขาทุกข์ยังไง เขาสูญเสียสามีและลูกไปแล้วเป็นยังไง สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ ความยุติธรรม แล้วความยุติธรรมของเขาคืออะไร ไม่ใช่เอาเงินมาชดเชยเขาเท่านั้น แต่ว่าความยุติธรรมคือข้อเท็จจริงที่ว่าลูกฉันไม่ใช่โจร คำถามที่เรามักได้ยินจากพ่อแม่ที่สูญเสียลูกก็คือว่า ทำไมไม่จับเขาเอาไปขึ้นศาล ใช่ เขาผิด แต่ว่าข้อหาหรือความผิดของเขาสมควรแก่การถูกยิงตายแบบนั้นเลยหรือ เวลาที่ชาวบ้านหลาย ๆ คนโชว์สิ่งที่เหลืออยู่ของลูกให้เราดู เวลาที่เขาร้องไห้ เราก็รู้สึกเจ็บไปกับเขาด้วย”
นักข่าวรุ่นพี่ถ่ายทอดบทเรียนให้ฟังว่า หัวใจในการทำข่าว ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เรื่องทัศนคติต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง สองคือความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสามคือความอดทนบวกกับพฤติกรรมของเรา
“ความอ่อนน้อมถ่อมตนสำคัญนะ เพราะชาวบ้านเขามองเราอยู่ ชีวิตเขามีรายละเอียดเยอะ เราต้องรู้จักเคารพเขา ไม่ใช่ว่าขับรถเก๋งเข้าหมู่บ้าน เดินถือสมุดสุ่มสี่สุ่มห้าไปสัมภาษณ์ ความอดทนจึงเป็นเรื่องสำคัญ อดทนที่จะทำให้ชาวบ้านไว้ใจเรา อดทนที่จะหาข้อมูลและตรวจสอบข่าว เรื่องเรื่องเดียวควรจะคุยกับหลาย ๆ คน เหมือนทำงานวิจัยเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง”
ตลอดเวลาที่ก้าวเข้ามาเป็นนักข่าวตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ศุภราสนใจประเด็นเรื่องสิทธิในทรัพยากรของชุมชน เธอบอกว่าที่มายืนอยู่ตรงนี้เพื่อจะ “เป็นปากเป็นเสียงให้ผู้คนที่ดูเหมือนจะมี ‘สิทธิ’ แต่ไร้ ‘เสียง’ ในสังคมไทย” ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อน ท่อก๊าซ ฯลฯ เป็นต้องเห็นเธอที่นั่น หลายครั้งก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สื่อข่าวที่ลำเอียงเข้าข้างชาวบ้าน ศุภราเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ใน ข่ายใยแห่งแรงต้าน ว่า
“ที่จริงดิฉันเองสามารถจะทำให้ชีวิตของตนเองสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้ข้อมูลที่ทางรัฐให้มาตรง ๆ โดยไม่ต้องตั้งคำถาม เพราะอย่างไร ๆ ข้อมูลของรัฐและราชการก็ต้อง ‘ถูกต้อง’ วันยังค่ำ… แต่โชคร้ายเหลือเกินที่ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการกับดิฉันดันนั่งอยู่บนเรือลำเดียวกัน” เธอบอกว่าความเป็นกลางมันก็เป็นมายาคติอย่างหนึ่ง
“ตามหลักเกณฑ์การเขียนข่าวมันก็ควรเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วว่า เราไม่ควรทำตัวเป็นศาลเตี้ยไปตัดสินว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิด แต่บางครั้งเรารู้ว่าตัวแทนหน่วยงานราชการเขาพูดไปข้าง ๆ คู ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น เราจะปล่อยพื้นที่ให้เขาโกหกอยู่หรือ มายาคติเรื่องความเป็นกลางแบบนี้มันก็เลยทำให้เราต้องปล่อยพื้นที่บางส่วนให้คนมาพูดครึ่งจริงครึ่งเท็จ เพื่อที่จะบอกว่าเราเป็นกลาง แต่ทำไมหลายครั้งที่เรากล้าฟันธง เพราะว่าเรามีข้อมูลจากการค้นคว้า แน่นอน เราต้องเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานราชการอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเรามีข้อมูล เราสามารถนำข้อมูลอื่นมายืนยันว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นไม่เป็นความจริง”
สำหรับปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เธอบอกว่าภารกิจของเธอได้บรรลุเป้าหมายบางส่วนแล้ว เพราะมีสื่อให้ความสนใจประเด็นปัญหานี้มากขึ้น ทุกวันนี้เธอก็ยังคงเดินตามเสียงร้องไห้ของคนชายขอบที่ภาคเหนือ เสียงร้องไห้ของชาวอีสาน ที่ยังไม่มีใครได้ยิน เพราะเพียง “หวังให้เรื่องของเราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อยากให้เรื่องที่เราทุ่มเทกายใจลงไป มีคนเอาไปคิดต่อ มีคนเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น”
จากที่เข้ามาเป็นนักข่าวด้วยความหวังว่าเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ จะมีโอกาสเป็นปากเป็นเสียงให้คนที่เหมือนจะมี “สิทธิ” แต่ไร้ “เสียง” วันนี้มีคนได้ยินเสียงของพวกเขาบ้างแล้ว