คำข้าว : เรื่อง
ภาพประกอบ : วายูร
หลังจากลอกลายระบายสีแต่แผนที่ประเทศไทยกับประเทศแถบอาเซียนมาตลอดชั้นประถม พอขึ้นมัธยมต้น ก็ถึงเวลาที่เราได้ท่องไปไกลถึงยุโรป แอฟริกา อเมริกา และขั้วโลก จินตนาการถึงทวีปอื่นที่อยู่ใกล้เพียงมือลากไปตามเส้นขอบทวีป เส้นภูเขา แม่น้ำ และเขตแดนของประเทศเหล่านั้น
ถึงตอนนี้ เราไม่เรียกหนังสือที่เราก้มหน้าก้มตาลอกลายว่าแผนที่อีกแล้ว แต่เรียกว่า “แอตลาส” ฟังดูเก๋เท่ฮิปกว่าเดิมดีไหม
ในกรณีนี้ “แอตลาส” หมายถึงชุดแผนที่ ซึ่งอาจเป็นแผนที่โลกหรือแผนที่ของเขตใดเขตหนึ่งก็ได้ ที่แสดงข้อมูลทางภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ ประวัติศาสตร์ สถิติทางเศรษฐกิจ การเมือง ภาษา ประชากร ทรัพยากร และอื่น ๆ จะเย็บเป็นหนังสือเล่มหรือจะเป็นมัลติมีเดียอยู่ในซีดีรอมก็ได้ นอกจากนี้ แอตลาสยังหมายถึงหนังสือที่รวบรวมเอาตาราง ชาร์ต ภาพประกอบ ที่เป็นข้อมูลหัวข้อเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วย ความหมายดั้งเดิมของแอตลาส แปลว่า แบก คนที่รับภาระหนักหนาสาหัสถูกเรียกด้วยคำนี้เช่นกัน
ในเทพปกรณัมกรีก แอตลาสเป็นเทพเจ้า (บางคนบอกว่าเป็นกึ่งเทพกึ่งอสูร) โอรสของเทพไออาเพอทัสกับคลิเมอเน นางอัปสรแห่งท้องทะเล ซึ่งเป็นมหาเทพกลุ่มไททัน [Titans- มหาเทพรุ่นแรกซึ่งเป็นโอรสและธิดาของสวรรค์ (ยูเรนัส) กับแผ่นดิน (กายา)] ชะตากรรมของแอตลาสมีหลายแบบตามแต่กวีผู้ผูกเรื่องจะเห็นควร ในเวอร์ชันของเฮสิออด เขาให้แอตลาสซึ่งอยู่ในสังกัดเทพไททันเข้าร่วมมหายุทธ์ต่อกรกับซูส มหาสงครามครั้งนั้นเป็นสงครามที่มีการทำลายล้างกันใหญ่หลวงมากที่สุด กระทั่งสวรรค์ยังสะเทือน
ในที่สุดไททันเป็นฝ่ายปราชัย ซูสในฐานะผู้ชนะ จัดการลงโทษบรรดาผู้แพ้ด้วยการทรมานให้ได้รับทุกขเวทนา แอตลาส หนึ่งในผู้รับโทษทัณฑ์ที่หนักที่สุด ต้องทำหน้าที่แบกสวรรค์ไว้บนบ่า (บ้างว่าแอตลาสแบกโลกไว้บนศีรษะ) ตั้งแต่บัดนั้น
มนุษย์เราอาจลืมเทพองค์นี้ไปแล้ว ถ้าหากไม่เป็นเพราะนักภูมิศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ ช่างแกะเพลต และนักปรัชญาชาวเบลเยียมคนหนึ่งที่ชื่อ เกอราดัส เมอร์เคเทอร์ (Gerardus Mercator ๑๕๑๒-๑๕๙๔)
ทั้งที่เกิดมาในครอบครัวยากจน เมอร์เคเทอร์อ่านเขียนภาษาละตินคล่องตั้งแต่ ๗ ขวบ เรียนจบขั้นมาสเตอร์ดีกรีตอนอายุ ๒๐ เดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว และได้ประดิษฐ์ลูกโลกร่วมกับ เกมมา ฟริสิอัส – แพทย์และนักภูมิศาสตร์ชื่อดังในยุคนั้น
เมอร์เคเทอร์ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่เทียบเท่าโตเลมี (Ptolemy) นักปราชญ์แห่งอเล็กซานเดรีย แผนที่ของเขาก็ได้รับการกล่าวขวัญว่าถูกต้องกว่าแผนที่ยุคก่อนหน้า เข้าใจง่าย และมีความงามทางศิลปะ
เพื่อสดุดีเทพองค์นี้ ในหนังสือแผนที่โลกที่ชื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Atlas, or Cosmographical Meditations on the Frame for the World and its Form เมอร์เคเทอร์จึงวางรูปแอตลาสแบกสวรรค์ไว้บนหน้าแรกเคียงคู่กับชื่อหนังสือ การใส่ภาพของแอตลาสบนหน้าปกหรือหน้าที่ติดกับชื่อหนังสือแผนที่โลกได้กลายเป็นขนบของนักทำแผนที่สืบมา ใครๆ ต่างพากันเรียกหนังสือประเภทนี้ว่า แอตลาส ตราบจนวันนี้
แอตลาสยังเป็นชื่อของกระดูกสันหลังข้อแรกตรงช่วงต่อระหว่างคอกับบ่าของมนุษย์ และหมายถึงรูปปั้นคนที่ทำท่าแบกเสา (บางทีเรียกว่า เทลามอน – telamon) ในสถาปัตยกรรมยุคคลาสสิกด้วย