จากบทสัมภาษณ์ ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๓๒๘
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหา ภาควิชาการ

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

สังคมไทยกำลังอยู่บนหัวโค้งของการเปลี่ยนผ่าน หัวโค้งนั้นจะยาวสักแค่ไหน แล้วทางตรงที่เราจะเดินต่อไป หลังสุดทางโค้งนั้นคืออะไร”

เมื่อเวลาย่ำรุ่ง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

คณะราษฎรอันประกอบด้วยข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน เข้ายึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ ประชาธิปไตย ภายใต้เจตนารมณ์ที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นนำพาสยามประเทศเข้าสู่ระบอบการเมืองแบบใหม่ เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองและจินตนาการของผู้คนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค จิตใจเป็นเจ้าของชาติ

ในรอบ ๘ ทศวรรษ สังคมการเมืองไทยผ่านเหตุการณ์อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญๆ หลายเหตุการณ์ อันได้แก่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙, พฤษภาคม ๒๕๓๕ จนมาถึงเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓

๘๐ ปีประชาธิปไตยไทย ผ่านการรัฐประหารมาร่วม ๑๐ ครั้ง มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๑๘ ฉบับ วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของการเมืองไทยนับแต่หลังรัฐ ประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เราได้เห็นสังคมไทยตกอยู่ในสถานการณ์การใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยว การป้ายสีกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างทางการเมืองด้วยการใช้กฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือ จนเป็นเหตุให้มีผู้ตกเป็น “เหยื่อ” ทางการเมืองมากมาย

ผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้แบ่งแยกสังคมออกเป็นเสี่ยง นำไปสู่การเคลื่อนไหวของพลังมวลชนระดับชาติ และความเคลื่อนไหวทางวิชาการในพื้นที่สาธารณะขนานใหญ่นับแต่ข้อเสนอของคณะ นิติราษฎร์ (กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓) ว่าด้วยเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, การเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกโยนสู่สังคมไทย

นิติราษฎร์ประกาศตัวว่าข้อเสนอเหล่านั้นอิงกับหลักนิติรัฐประชาธิปไตยอัน เป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและยึดโยงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร ไม่มีใครคาดคิดว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะได้รับการตอบรับและส่งผลสะเทือน กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันการโต้กลับวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอนั้นก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับจน ถึงขนาดมีการทำร้ายร่างกายหนึ่งในคณาจารย์นิติราษฎร์อันเนื่องมาจากไม่เห็น ด้วยกับการเคลื่อนไหวของพวกเขา

ในวาระ ๘๐ ปีการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ สารคดี มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการ ๔ คน– รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำนูณ สิทธิสมาน, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ว่าด้วยเรื่องเส้นทางประชาธิปไตยที่เราเดินมา และหนทางข้างหน้าที่เราจะก้าวเดินไป

ด้วยความหวังว่าอรุณรุ่งของประชาธิปไตยในเมืองไทยจะมาถึงในวันหนึ่ง

ที่ผ่านมามีคำอธิบายเรื่องการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ หลายกระแส สำหรับคุณการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นคืออะไร
คำอธิบายเรื่องการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ มีอยู่สองกระแสหลัก  ฝ่ายหนึ่งพยายามอธิบายว่าแม้คณะราษฎรจะไม่ปฏิวัติ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีความคิดต่างออกไป ซึ่งเราก็คงไม่มีโอกาสรู้ได้  ทว่ามันมีรูปธรรมชัดว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงพยายามศึกษาระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖  จนต้นรัชกาลที่ ๗ มีการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวอย่างขึ้นมา  อย่างไรก็ตาม หากพูดประเด็นพระมหากษัตริย์ บางครั้งอาจต้องแยกระหว่างพระมหากษัตริย์กับข้าราชบริพารหรือขุนนางในระบอบซึ่งอาจมีความเห็นเหมือนหรือต่างจากพระองค์

ในส่วนของคณะราษฎร ชัดเจนว่าเป็นปัญญาชนในระบบราชการที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่างประเทศ ได้เห็นความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย  ประจวบกับช่วงปี ๒๔๗๕ ทั่วโลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลมาถึงเมืองไทย มีการเลิกจ้างข้าราชการมากมาย เร่งให้บ้านเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ที่สุดความเปลี่ยนแปลง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็เป็นการปฏิวัติที่ไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ  ด้วยพระมหากษัตริย์ทรงยอมที่จะสละพระราชอำนาจของพระองค์ เป็นลักษณะพิเศษของการเปลี่ยนการปกครองของสังคมไทย  เราอาจมองในแง่ดีก็ได้ว่าไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ แต่หากจะมองในแง่ร้าย เรื่องที่เป็นปัญหาตามมาคือมันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กันระหว่างสองอุดมการณ์ความคิด  ถามว่าหลังอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เป็นต้นมาประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แล้วหรือยัง ไม่ว่าจะมองด้วยทฤษฎีใดก็ตามก็ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยในความหมายของปรัชญาประชาธิปไตยที่แท้จริง

มีอะไรขาดหายไปจากปรัชญาประชาธิปไตย
สืบเนื่องจากการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ไม่ได้มีรากฐานมาจากราษฎร ทว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากชนชั้นนำ  คณะราษฎรเป็นข้าราชการในระบอบซึ่งได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยรัฐประหารคือใช้กำลังทหารยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มราษฎรก่อรูปเป็นขบวนการเคลื่อนไหว จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเบื้องบน  เมื่อการเปลี่ยนแปลงบรรลุผล ก็ดูเหมือนจะมีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับชนชั้นนำเก่าคือข้าราชการในระบอบเดิม  จะเห็นว่านายกรัฐมนตรีคนแรกคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่ได้เป็นบุคคลที่มาจากคณะราษฎรแต่อย่างใด

คณะราษฎรยังพยายามให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความละมุนละม่อมมากที่สุด  เราจะเห็นท่าทีที่แตกต่างกันของคณะราษฎรในแต่ละช่วงเวลา ระยะแรกคือเวลาที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ รุ่งเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน  เนื้อหาของแถลงการณ์ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะค่อนข้างเด็ดขาดหรือน่าจะเกิดความรุนแรง  รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และใช้ต่อมาอีกราว ๕ เดือน  เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อความตรงไปตรงมาที่สุดในแง่ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การเป็นประชาธิปไตย  พระราชบัญญัติธรรมนูญฯ ฉบับนั้นไม่ได้มีเนื้อหาอย่างที่ปรากฏในมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เป็นต้นมา คือเนื้อหาที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะสูงสุด ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ หากมีเพียงหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย

กล่าวโดยสรุป พระราชบัญญัติธรรมนูญฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ ๕ เดือนแรกของการอภิวัฒน์ประเทศมีลักษณะหนึ่ง แต่หลัง ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ได้มีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ ๘๐ ปีก่อน ผมคิดว่าคณะราษฎรตัดสินใจถูกต้องที่ให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความราบรื่น

เกิดอะไรขึ้นกับอุดมการณ์ของคณะราษฎรภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ความที่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีฐานรากจากประชาชน คณะราษฎรก็คงทราบว่าจำเป็นต้องใช้เวลาจัดระเบียบการบริหารประเทศ ในช่วงที่พยายามจัดระเบียบอยู่นั้นเองก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทั้งความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับข้าราชการระบอบเก่าที่เห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมาะสมกว่าสำหรับสังคมไทยในเวลานั้น และความขัดแย้งในคณะราษฎรเองทำให้ระบอบใหม่ขาดเสถียรภาพ

เราจะเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยก่อนปี ๒๔๙๐ มีลักษณะอย่างหนึ่งคือคณะราษฎรมีบทบาทนำทางการเมืองอย่างชัดเจน  ถึงปี ๒๔๙๐-๒๕๐๐ คณะราษฎรเกิดความขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะสองขั้วที่ชัดเจนที่สุดระหว่างท่านปรีดี พนมยงค์ กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ผลคือท่านปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ  สถานการณ์บ้านเมืองระหว่างปี ๒๔๙๐-๒๕๐๐ ไม่ถึงกับพลิกกลับ แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่มบทบาทให้สถาบันกษัตริย์มากขึ้น  มีการเขียนรัฐธรรมนูญที่พลิกฟื้นพระราชอำนาจบางประการ เพิ่มบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเพิ่มตำแหน่งคณะองคมนตรี  แต่ถึงอย่างไรนายกรัฐมนตรีที่ชื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็นับเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของคณะราษฎร แม้ท่านจะมีความเห็นหรืออุดมการณ์แตกต่าง หรือมีความขัดแย้งกับท่านปรีดี

กระทั่งถึงปี ๒๕๐๐ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. บทบาทของคณะราษฎรที่มีต่อการเมืองไทยก็สิ้นสุดลง  การเมืองไทยเดินเข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร สถานการณ์บ้านเมืองโดยภาพรวมคือการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประกอบกับสถานการณ์โลกในยุคสงครามเย็นก็ยิ่งทำให้การเมืองไทยห่างไกลจากคำว่าประชาธิปไตยเข้าไปทุกที

หลังสิ้นยุคคณะราษฎร มีกลุ่มการเมืองใดพยายามพลิกฟื้นบทบาทหรือสืบทอดอุดมการณ์ของคณะราษฎรหรือไม่
หลังสิ้นยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศเดินหน้าเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารเต็มขั้น  เมื่อประกอบกับสถานการณ์โลกยุคสงครามเย็น ยุคแห่งการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ยุคที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาครอบงำประเทศไทย  สมัยนั้นแม้การพิมพ์หนังสือปกสีแดงก็อาจจะถูกเพ่งเล็งว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ หรือแม้กระทั่งการนำภาพท่านปรีดีขึ้นปกหนังสือก็อาจจะถูกสั่งเก็บหนังสือหรือปิดโรงพิมพ์ ฉะนั้นอุดมการณ์ของคณะราษฎรหรือการต่อสู้ของนักประชาธิปไตยรุ่นก่อนสำหรับคนหนุ่มคนสาวจึงเป็นการเข้าไปค้นคว้าตามห้องสมุดหรือแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

กระทั่งระบอบเผด็จการถึงวันล่มสลาย เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปี ๒๕๐๐  อีก ๑๐ กว่าปีต่อมาเราถึงได้มีรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งขึ้น (พ.ศ. ๒๕๑๒) เกิดการตื่นตัวทางการเมืองในหมู่นักศึกษาที่เคยแอบอ่านหนังสือปรัชญาประชาธิปไตย รวมตัวกันเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง พัฒนาเป็นการก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย  แต่แล้วจอมพลถนอม กิตติขจร กลับปฏิวัติตัวเองปลายปี ๒๕๑๔  ความรู้สึกของคนในห้วงนั้นหลังประเทศตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการมา ๑๐ ปี  สถานการณ์มันคุกรุ่นเหมือนไอน้ำที่อัดแน่นอยู่ในหม้อ ที่สุดก็ระเบิดออกมาเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ สถานการณ์บ้านเมืองมีตัวละครหรือแนวคิดทางการเมืองใหม่เพิ่มเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซิสม์ เลนินนิสม์ หรือเหมาเจ๋อตง รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวในทางลับกับผู้นำนักศึกษา สถานการณ์ในชนบทเต็มไปด้วยความรุนแรง บ้านเมืองหลัง ๑๔ ตุลาฯ ไม่ได้มีตัวละครแค่ประชาธิปไตยกับเผด็จการ ท้ายที่สุดก็ผสมปนเปกันจนเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบ ๖ ตุลา ๒๕๑๙

สถาบันกษัตริย์มีความสำคัญอย่างไรกับการเมืองไทย
เมื่อพูดถึงสถาบันกษัตริย์ เราต้องพูดถึงสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา สภาพการณ์ในแต่ละช่วงเวลากำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  คนที่ทำให้บทบาทของสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยคือนักการเมือง เพราะนักการเมืองคือผู้เขียนโครงสร้างกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมา  นักการเมืองบางยุคสมัยต่อสู้กันทางการเมืองก็นำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาพ่วงเข้าไปด้วย  เราจะเห็นชัดเจนตั้งแต่จุดเปลี่ยนเมื่อปี ๒๔๙๐

ผมไม่เชื่อว่าถ้ามีการปรับเปลี่ยนสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแล้วจะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นมาในทันทีหากเราไม่ปรับเปลี่ยนบทบาทของนักการเมืองควบคู่กันไปด้วยกัน โดยเฉพาะปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมาที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองผนวกเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มทุน ไม่ว่ากลุ่มทุนใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือกลุ่มทุนใหญ่ที่สุดของประเทศที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนข้ามชาติ  ถ้าเรามองแต่ด้านที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นเหมือนประเทศประชาธิปไตยตะวันตก แล้วเราไม่มองด้านนักการเมืองหรือด้านอื่น ก็เหมือนว่าเราไปลดบทบาทการถ่วงดุลโดยธรรมชาติลงด้านหนึ่ง แล้วไปเสริมบทบาทครอบงำให้แก่อีกด้านหนึ่ง

การพูดถึงการลดบทบาทของทหารหรือการลดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องกล่าวควบคู่กันคือเราจะลดบทบาทหรือควบคุมกำกับบทบาทของนักการเมืองโดยเฉพาะนักการเมืองที่ผนวกรวมเป็นร่างเดียวกับกลุ่มทุนทั้งไทยและต่างประเทศอย่างไร  การที่เราพูดทุกด้านควบคู่กันไปก็เหมือนเรากำลังพูดถึงการปฏิรูปประเทศโดยรวม  ผมไม่คิดว่าบทบาทหรือสถานภาพของสถาบันกษัตริย์จะดำรงคงอยู่อย่างที่ดำรงมา ๕๐ ปี การปรับเปลี่ยนต้องเกิดขึ้นเพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน  แต่อีกด้านหนึ่งที่ก้าวกระโดดขึ้นมามีอำนาจนำ อำนาจครอบงำสูง เราจะมีสิ่งที่ต้องกำกับหรือควบคุมอย่างไร

เหตุการณ์ใดเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทยในรอบ ๘๐ ปี
ผมคิดว่าเหตุการณ์เมื่อปี ๒๔๙๐ ที่นำไปสู่รัฐประหาร  แต่หากถามผมในอีก ๒ ปีข้างหน้า ผมจะเลือกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับจากนี้อีก ๑ ปี คือช่วงที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. เป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจว่ากระบวนการเขียนธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้บ้านเมืองเดินไปในทิศทางใดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

ที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของมวลชนคนเสื้อแดงเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจมาก โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการชุมนุมในวาระ ๒ ปีการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ (๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕) เป็นครั้งแรกที่คุณทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยต่อมวลชนคนเสื้อแดงแล้วได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากมวลชนคนเสื้อแดงในระดับที่ผมพอใจ ไม่ได้พอใจที่เห็นคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งขัดแย้งกันหรือวิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณ แต่พอใจเพราะเห็นว่าหากคนเสื้อแดงเป็นตัวของตัวเองได้ รู้ว่าเป้าหมายคือการเคลื่อนไหวเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องเดินตามคุณทักษิณ  นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างหนึ่ง เป็นก้าวซึ่งสังคมไทยจะต้องผ่านบทพิสูจน์  เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของกลุ่มคนเสื้อเหลือง  ถ้าไม่มีอคติจนเกินไป นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็มีข้อเสนอในลักษณะว่าต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ  เพียงแต่มุมมองเรื่องการปฏิรูปประเทศ มุมมองต่อคำว่าประชาธิปไตยของทั้งสองกลุ่มอาจจะพูดกันคนละด้าน

สังคมประชาธิปไตยในอุดมคติควรมีลักษณะอย่างไร
ผมอยากเห็นสังคมประชาธิปไตยที่มีความลงตัว มีกฎกติกาที่ยอมรับกันทุกฝ่าย มีปัญหาก็แก้ไขกันไปภายใต้กรอบสันติวิธี  สังคมประชาธิปไตยในอุดมคติของแต่ละคนก็คงไม่ต่างไปจากนี้ คือประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เสียงข้างมากเคารพเสียงข้างน้อย มีความเป็นธรรมในการแบ่งปันทรัพยากร คนจนไม่จนมากเกินไป คนรวยไม่รวยมากเกินไป  ถามว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ปัจจุบันก็ยังมองไม่เห็นทาง เพียงแต่มีร่องรอยว่าสถานการณ์นับจากนี้ ๑ ปีหรือ ๓ ปีจะเกิดความเปลี่ยนแปลง  มันเหมือนกับ ๔-๕ ปีที่ผ่านมาสังคมไทยกำลังอยู่บนหัวโค้งของการเปลี่ยนผ่าน หัวโค้งนั้นจะยาวสักแค่ไหน เมื่อไหร่จะถึงปลายทางสักที จะพบความผันผวนอีกเท่าใด แล้วทางตรงที่เราจะเดินต่อไปหลังสุดทางโค้งนั่นคืออะไร สังคมแบบไหนที่กำลังรอเราอยู่

ผมหวังจะทันเห็นว่าสุดท้ายสังคมไทยได้เดินทางออกจากหัวโค้งเข้าสู่ทางตรงในทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้ว

ในยุคที่การเมืองไทยเป็นรัฐบาลผสม เราร้องหารัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง ถึงยุคที่พรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว กลับเกิดวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา”
การเรียกร้องรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนคำว่าเผด็จการรัฐสภาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  เผด็จการรัฐสภาเป็นคำที่ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๖ มันไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เสียงข้างมากลากไป แต่อธิบายว่าเผด็จการรัฐสภาเป็นผลโดยธรรมชาติของการเมืองในระบบรัฐสภาตั้งแต่มีพรรคการเมืองแล้ว ปัจจุบันไทยยังเป็นประเทศเดียวในโลกที่บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง  มันจึงเป็นความซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปว่าคำว่าเผด็จการคือทหาร ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ซึ่งความหมายของเราดูเหมือนจะหยุดอยู่แค่นั้นมานานแล้ว

เผด็จการรัฐสภาเป็นผลโดยสภาพของตัวระบอบประชาธิปไตย  สมัยก่อนอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติแยกจากกันเด็ดขาด อำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ถ่วงดุลหรือกำกับรัฐบาล แต่ต่อมากลายเป็นว่าเสียงข้างมากของอำนาจนิติบัญญัติเป็นพวกเดียวกับรัฐบาลหรืออำนาจบริหาร  เมื่อเสียงข้างมากในอำนาจนิติบัญญัติเป็นผู้เลือกรัฐบาลขึ้นมา การควบคุมฝ่ายบริหารโดยรัฐสภาจึงขาดประสิทธิภาพ  รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ จึงสร้างองค์กรอิสระขึ้นกำกับตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญถูกใช้มาเรื่อยๆ กลายเป็นว่าอำนาจบริหารเข้ามาครอบงำองค์กรอิสระ วุฒิสภาซึ่งได้รับการออกแบบให้มาจากการเลือกตั้ง ห้ามมาจากพรรคการเมืองก็กลายเป็นสภาผัวเมีย

ฉะนั้นไม่ใช่เมื่อรัฐบาลกุมเสียงข้างมากแล้วเราสรุปว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา แต่ว่าเผด็จการรัฐสภาเป็นผลโดยธรรมชาติของระบบอยู่แล้ว ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกจึงแสวงหากลไกหรือมาตรการมาแก้ไขปัญหานี้ เพียงแต่ในแต่ละประเทศก็ได้ผลแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ

คุณประเมินว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาอย่างไร
บริบททางการเมืองที่น่าสนใจมากในเวลานี้  ข้อแรกคือเรามีกลุ่มทุนของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่มีบทบาทยิ่งทางการเมือง  ข้อสองเรามีมวลชนคนเสื้อแดงที่มีพลังทางการเมืองสูงเช่นกัน แล้วเริ่มเห็นร่องรอยว่าพลังนั้นต้องการดำรงตนเป็นอิสระจากคุณทักษิณ  อะไรจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จังหวัดละ ๑ คน เป็นสิ่งที่ผมไม่อาจคาดเดาได้  มันก็ไม่แน่เสมอไปว่าในจังหวัดที่พรรคของคุณทักษิณมีอิทธิพลทางคะแนนเสียง จะได้คนที่เดินตามพรรคของคุณทักษิณทั้งหมด  เราอาจจะได้ตัวแทนที่มาจากมวลชนคนเสื้อแดงที่ต้องการไปไกลกว่าคุณทักษิณ แต่ถึงอย่างไร ส.ส.ร. อีก ๒๒ คน นอกการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดก็จะมาจากการสรรหาโดยรัฐสภา กล่าวได้ว่า ๒๒ คนนี้อย่างไรก็คือตัวแทนของเสียงข้างมาก ไม่ผิดถ้าจะบอกว่าเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย

ผมคิดว่าโดยรวมแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คงอยู่ในวิสัยที่คุณทักษิณต้องการ เพียงแต่ว่าในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญอีกประมาณ ๑ ปีข้างหน้าจะมีการเคลื่อนไหวของมวลชนไปทั่ว และจะมีประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนเกิดขึ้นตามสมควร เช่นเราอาจเห็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้บรรจุคำว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ประเด็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญชาวบ้านอาจรู้สึกว่าไม่มีความเกี่ยวข้องมากเท่าประเด็นที่ท้าทายความเป็นตัวของตัวเองกว่า เช่นสิทธิมนุษยชน ชุมชนท้องถิ่น  ผมประเมินว่ารัฐบาลคงต้องการรัฐธรรมนูญที่มอบอำนาจให้แก่รัฐบาลกลางเหนือชุมชนหรือรัฐบาลท้องถิ่นอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใครจะว่าดีว่าร้ายอย่างไร มาตรา ๖๗ วรรค ๒ ก็บังคับใช้และทำให้รัฐบาลติดขัดในการดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์ซึ่งเป็นจุดขายของรัฐบาลมาตลอด  ต้องยอมรับว่าประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริงนอกเหนือจากการเลือกตั้ง คือการมีส่วนร่วมของประชาชน การเคารพชุมชนท้องถิ่น ประเด็นนี้จะเป็นอย่างไรหากรัฐบาลมีความคิดไปอีกทางหนึ่ง  การยอมให้อำนาจของรัฐบาลมีสิทธิเหนือชุมชนท้องถิ่นจะทำให้เราถอยหลังกลับไปสู่อะไรก็ตามที่เสียงข้างมากต้องการโดยตัดตอนระบบการตรวจสอบให้น้อยที่สุดหรือไม่

คุณมีความเห็นอย่างไรต่อกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งระงับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ ๓ ของรัฐสภา
การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ มีทั้งลักษณะ “มาตุฆาต” คือลูกฆ่าแม่ และลักษณะ “อัตวินิบาตกรรม” คือฆ่าตัวเอง ฆ่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเดียวเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ทั้งฉบับ  ยึดอำนาจรัฐสภาไปให้องค์กรอื่นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอย่างไร้กรอบ แล้วไม่กลับมาสู่รัฐสภาอีกเลย  อาจเรียกว่า Constitutional Coup d’Etat หรือการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ  ขณะที่การมีคำสั่งรับคำร้องและให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระ ๓ โดยอาศัยการตีความมาตรา ๖๘ วรรค ๒ อย่างกว้างของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น Counter-Constitutional Coup d’Etat หรือการต่อต้านการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญเช่นกัน

สังคมไทยมักพูดแต่ปรากฏการณ์ที่เป็นปลายเหตุ ไม่พยายามสืบสาวราวเรื่องไปถึงต้นเหตุอย่างรอบด้าน  พูดถึงการใช้อำนาจตุลาการ แต่ไม่พยายามพูดถึงการเติบใหญ่ของอำนาจบริหารและการไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจบริหารได้ตามทฤษฎีของอำนาจนิติบัญญัติ เนื่องจากเสียงข้างมากในอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารเป็นพวกเดียวกัน รวมทั้งการที่อำนาจนิติบัญญัติแทรกแซงอำนาจตุลาการในกรณีกฎหมายปรองดอง

ประเด็นรัฐสภาจะต้องเชื่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องนี้นักนิติศาสตร์หลายท่านมีความเห็นต่างกันไป  ที่ผมสนใจคือหากรัฐสภาเดินหน้านัดลงมติรัฐธรรมนูญวาระ ๓ แล้วทำสำเร็จอะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ของประเทศนี้หรือไม่  เรากำลังจะเข้าสู่ประเด็นเรื่องเผด็จการทางรัฐสภา แล้วการกระทำหลายอย่างที่อ้างกันว่าเพื่อทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยในนามของการล้างผลพวงของการรัฐประหาร ๒๕๔๙  ทางหนึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อคุณทักษิณ ชินวัตร  เมื่อเรื่องนี้มีความไม่ไว้วางใจจากคนในสังคม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จึงจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าจะแก้กันกี่มาตรา แต่ขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะแก้กันอย่างไร มันมีแต่ความระหกระเหิน ฉายแววให้เห็นถึงความเร่งรีบ ฉายแววให้เห็นถึงการที่คณะกรรมาธิการฯ ไม่ฟังเสียงคัดค้าน ทั้งที่การหาทางออกให้ประเทศพ้นวิกฤตนั้นจำเป็นต้องคุยกันก่อน