วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ
เมื่อ ๓๐ ปีก่อน อดีตนิสิตชุมนุมวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน ๑๐ คน ที่ยังหลงใหลกลิ่นอายหนังสือ ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะ “ดำเนินธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาหาความรู้ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทยในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเน้นด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการศึกษา” ด้วยทุนจดทะเบียนไม่ถึงแสนบาท
บริษัทมีชื่อสั้น ๆ ว่า “ซีเอ็ด” หรือ “SE-ED” ย่อมาจาก Science, Engineering and Education เริ่มต้นจากการผลิตนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ อาทิ เซมิคอนดัคเตอร์อิเล็กทรอนิกส์, ไมโครคอมพิวเตอร์, ทักษะฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มิติที่ ๔ (ต่อมาสองเล่มหลังนี้ถูกนำมารวมเข้าด้วยกันในชื่อใหม่ คือ รู้รอบตัว ก่อนจะปรับปรุงเนื้อหาและรูปเล่มให้ทันสมัยขึ้นเป็น UpDATE ในปัจจุบัน) รวมถึงหนังสือความรู้ทางวิชาการอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
จากผู้ผลิตหนังสือ ซีเอ็ดได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้จัดจำหน่ายหรือ “สายส่ง” ระดับแนวหน้า ก่อนจะขยายกิจการเปิดร้านหนังสือเครือข่ายของตนในเวลาต่อมา
สามสิบปีผ่านไป ซีเอ็ดกลายเป็นสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตหนังสือที่มียอดขายสูงระดับต้น ๆ ของเมืองไทย เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือรายใหญ่ที่สุด และมีร้านหนังสือในเครือมากที่สุด ภายในสิ้นปี ๒๕๔๗ นี้คาดว่าจะมีเกือบ ๑๙๐ สาขาทั่วประเทศ และยังมีจุดขายย่อยอีกประมาณ ๑๔๐ แห่ง
ซีเอ็ดกลายเป็นบริษัทที่ครองความเป็นเจ้าสิ่งพิมพ์ มีขอบข่ายงานด้านธุรกิจสิ่งพิมพ์กว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และมีร้านหนังสือในเครือของตนเองไว้รองรับ จนกล่าวได้ ซีเอ็ด คือเบอร์หนึ่งในธุรกิจสิ่งพิมพ์ ผู้ชี้ชะตากรรมของตลาดหนังสือในเมืองไทย
จากทุนจดทะเบียนไม่ถึงแสนบาทและยอดขายไม่กี่ล้านบาทในยุคเริ่มต้น ปัจจุบัน ซีเอ็ดยูเคชั่นเป็นบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนสูงกว่า ๓๐๐ ล้านบาท และมียอดขายสูงถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีอัตราการเติบโตของรายได้รวมสูงสุดในกลุ่มการพิมพ์และสิ่งพิมพ์
ปี ๒๕๔๕ ซีเอ็ดได้รับเลือกจากนิตยสาร Forbes นิตยสารธุรกิจชั้นนำของโลก ให้เป็น ๑ ใน ๒๐๐ บริษัทยอดเยี่ยมนอกประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคัดเลือกจากบริษัทชั้นนำ ๒ หมื่นรายทั่วโลกที่มียอดขายในระดับไม่เกิน ๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ
ดูเผิน ๆ บริษัทที่เน้นผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือวิชาการ หนังสือว่าด้วยความรู้ต่าง ๆ ซึ่งคนไทยให้ความสนใจน้อย ไม่น่าจะประสบความสำเร็จได้ถึงขนาดนี้ ดังนั้นจึงมักจะมีคนตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “ซีเอ็ดมีอะไรดี ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง”
วันนี้ คุณทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ก่อตั้งรุ่นแรก จะมาเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลัง-เบื้องลึกของความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจสิ่งพิมพ์ตลอดเวลาร่วม ๓๐ ปี กว่าที่ซีเอ็ดยูเคชั่นจะก้าวเดินมาถึงวันนี้
คุณทนงเคยเล่าว่า ในชีวิตไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมายึดอาชีพทำหนังสือ
ผมเริ่มต้นทำหนังสือตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ ตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาได้ถึงขนาดนี้ เพราะตอนเริ่มต้นแค่อยากจะทำหนังสือวิชาการ ผมสนใจอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมต้น ตอนนั้นเรียนที่โรงเรียนสหพาณิชย์ แถวศาลาแดง พยายามซื้อตำราอิเล็กทรอนิกส์ภาษาไทยมาอ่าน แต่ไม่ค่อยมี ก็เริ่มซื้อหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านเอง ผมเป็นคนจังหวัดพิษณุโลก กลับบ้านต่างจังหวัดตอนปิดเทอม นึกว่ารู้เรื่องนี้ดีแล้ว อยากลองวิชา เดินหาร้านซ่อมวิทยุร้านหนึ่ง ขอฝึกงานเป็นช่างซ่อมวิทยุ ตอนนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหนึ่งของชีวิตที่ทำให้ผมรู้สึกว่า การอ่านหนังสือไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผมรู้จริงหรือใช้งานได้ มีคนเอาวิทยุมาให้ซ่อมเครื่องหนึ่ง ผมซ่อมไป กางตำราไป ซ่อมเป็นชั่วโมงก็ไม่เสร็จ จนกระทั่งมีช่างคนหนึ่ง เขาเรียนจบแค่ชั้นประถม เห็นผมซ่อมไม่เสร็จสักที ก็มาช่วยดูให้ ภายในไม่ถึง ๕ นาทีเขาซ่อมเสร็จ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่มีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อ่าน เขาแค่เรียนรู้เอาจากคำบอกเล่าของช่างที่เป็นเจ้าของร้าน ผมเริ่มรู้สึกว่า ผมเรียนรู้ไม่ถูกวิธีแล้ว ผมต้องเรียนให้มันลึกซึ้ง เข้าใจ นึกภาพออก และประยุกต์ใช้งานได้ ตรงนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เรารู้สึกว่าเราต้องฝึกวิธีการเรียนรู้เพิ่มขึ้นแล้ว ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจุดหนึ่งของชีวิต
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว คงตั้งใจจะเป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า
พอจบมัธยมต้น ด้วยความที่ชอบอิเล็กทรอนิกส์มาก ๆ ผมก็อยากเรียนโรงเรียนที่ติดกับหอสมุดแห่งชาติ คือโรงเรียนวัดราชาธิวาส เพราะผมกะว่าผมจะอ่านหนังสือและวารสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดทุกเล่มในหอสมุดแห่งชาติ ฉะนั้นวันที่เพื่อนฝูงไปสอบที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมไม่ได้ไปสอบทั้งที่ก็สมัครไว้ ในที่สุดผมก็มาเรียนที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส และทุกเย็น เป็นธรรมเนียมว่าผมต้องอ่านหนังสือจนกว่าหอสมุดแห่งชาติจะปิด บ้านผมอยู่บางรัก โรงเรียนอยู่ท่าวาสุกรี ฉะนั้นผมจะกลับบ้านดึกทุกคืน ผมพบว่าหอสมุดมีแต่วารสารอิเล็กทรอนิกส์เล่มเก่า ๆ ไม่ทันใจ ผมต้องไปสนามหลวงหาซื้อวารสารอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศตามแผงที่เขาฉีกปก เพราะราคาถูก
เรียนที่วิศวะ จุฬาฯ แต่อยากทำหนังสือ ไม่ทราบว่ามีแรงบันดาลใจอะไร
ตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าการเรียนเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ไปได้ช้ามากเพราะไม่มีหนังสือให้อ่าน ดังนั้นพอเรียนปี ๑ ที่คณะวิศวะ จุฬาฯ รู้สึกว่าเราพอมีความรู้ด้านนี้บ้าง ก็น่าจะเผยแพร่ เลยเริ่มเขียนบทความลงในจุลสารวิศวกรรม ซึ่งจัดทำโดยนิสิตของคณะ บทความส่วนใหญ่เขียนโดยรุ่นพี่ปี ๓ ปี ๔ ผมเป็นเด็กปี ๑ คนเดียวที่เขียนเรื่องการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีรุ่นพี่คนหนึ่งไปตามตัวผมขณะที่ผมกำลังว่ายน้ำที่สระจุฬาฯ อยู่ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมหักเหเข้ามา รุ่นพี่คนนั้นก็คือ ดร. สุชาย ธนวเสถียร ซึ่งต่อมาก็คือคนก่อตั้งซีเอ็ด และตอนนั้นเป็นประธานชุมนุมวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นกลุ่มกิจกรรมของนิสิตแห่งเดียวที่มีเงินลงทุนไปซื้อแท่นพิมพ์เอง มาทำกันเอง แกเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ผลักดันนิยายวิทยาศาสตร์ให้คึกคักในเมืองไทย
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำงานหนังสือเป็นครั้งแรก
ตอนนั้นผมถูกทาบทามให้มาช่วยก่อตั้งชมรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในคณะ และให้ผมรับผิดชอบทำวารสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยเอาสิ่งที่เคยอ่านสมัยเด็ก ๆ มอบหมายให้รุ่นพี่แปล ผมทำตั้งแต่ต้นจนจบ คือวาดรูป เขียนรูปวงจรอิเล็กทรอนิกส์เอง ถ่ายรูป เขียนเรื่อง เขียนบท บ.ก. จนถึงวางแผงขาย ขายได้หมด ตอนนั้นเราไม่ได้วางขายแค่ในจุฬาฯ เอารถของคุณพ่อวิ่งตระเวนส่งสายส่งทั่วกรุงเทพฯ ก็รู้จักสายส่ง รู้จักร้านหนังสือตั้งแต่สมัยอยู่ปี ๒ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการหนังสือเป็นครั้งแรก และก็ได้เห็นภาพชัดว่ามีคนอยากจะอ่านวารสารวิชาการเยอะพอสมควร เราพิมพ์ ๓,๐๐๐ เล่ม ขายได้หมดเกลี้ยง ทำให้เรารู้สึกว่า แม้แต่เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ก็มีคนสนใจอ่าน ก็เลยเกิดคำถามว่า ถ้าจบไปแล้วใครจะทำต่อ พอเหลียวมาดูแล้วเราก็ไม่พบว่าจะมีใครทำต่อ ดังนั้น ดร. สุชายก็คิดว่าจบมาแล้ว น่าจะเอาพวกที่ทำกิจกรรมด้วยกันมาก่อตั้งบริษัท ผมก็เป็นรุ่นน้องที่ถูกชวนด้วย ฉะนั้นซีเอ็ดเองก็เกิดจากรุ่นพี่รุ่นน้องสามรุ่นต่อกัน ที่ทำกิจกรรมวิชาการด้วยกันมาทั้งหมด ๑๐ คน ก่อตั้งซีเอ็ดขึ้นมาในปี ๒๕๑๗ เราตั้งใจว่าเราจะทำวารสารวิชาการ และถ้าเป็นไปได้ก็จะทำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการศึกษา