นางสาวอรพรรณ รับคำอินทร์(BUKUBOOK*) เลขที่ 23 : ผู้เขียน
ภัทราวดี เสรีสินตินานนท์ : ช่างภาพ
ผลงานจากค่ายสารคดี SCG ครั้งที่ 8
“ใช่ครับ บ้านผมเป็นเจ้าเดียวในย่านวัดกัลยาฯที่รับทำมีดดาบ แม่ผมแกทำตั้งแต่สาวๆ จนตอนนี้ก็อายุ 82 แล้วแกก็ยังทำอยู่เลยครับ จนชาวบ้านแถวนี้เค้าเรียกบ้านผมว่า…บ้านอรัญญิก”
คำตอบของชายรูปร่างท้วมที่กล่าวด้วยน้ำเสียงแฝงไว้ซึ่งความภูมิใจลึกๆ เมื่อถูกถามถึงอาชีพ “ทำมีดดาบ” ที่ปัจจุบันกลายเป็นเจ้าเดียวในชุมชนกุฎีจีน ซึ่งยังสืบทอดอาชีพการทำมีดดาบเอาไว้ด้วยใจรัก ซึ่งแอบซ่อนตัวอยู่ในมุมเล็กๆ มุมหนึ่งของชุมชนอันเก่าแก่กว่า 200 ปี หลายๆ คนคงจะทราบกันดีว่าจุดเด่นของชุมชนกุฎีจีน ก็คือ ขนมฝรั่งกุฎีจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีขายกันอยู่ทุกตรอกซอกซอย หรือสถานที่สำคัญๆ อย่างโบสถ์ซางตาครู้ส ของผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่มีการตกแต่งสวยงามด้วยกระจกสีแบบอิตาลี หรือจะเป็นมัสยิดที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน และยุโรปของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือ ศาลเจ้าในแบบจีนก็ยังมี แต่ในท่ามกลางจุดเด่นเหล่านี้คงมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าชุมชนกุฎีจีน ย่านฝั่งธนมี “บ้านอรัญญิก” กับเขาด้วยหรือ
“กลองยาว วัดกัลยาณ์”
ข้อความนี้แปะอยู่หน้าประตูบ้านไม้ทาสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งตั้งอยู่ในตรอกเล็กๆ ด้านข้างวัดกัลยาณมิตรมหาวิหาร เข้าไปในตัวบ้านเป็นห้องเล็กๆ พบกลองยาววางซ้อนกันอยู่หลายใบ ใกล้กันพบมีดง้าวด้ามยาวพอเหมาะจำนวนหนึ่งมัดพิงกำแพงอยู่ และมากไปกว่านั้นเราได้มีโอกาสพบกับ “คุณยายจันทร์ แสงบุญ” วัย 82 ปี ผู้ริเริ่มทำมีดดาบไม้อัดเป็นเจ้าแรกในชุมชนกุฎีจีน นั่งยิ้มแย้มต้อนรับอย่างใจดี และลูกชายคนกลางชื่อ “พี่ชา” หรือนายปรีชา แสงบุญ อายุ 49 ปี ผู้ที่จะนำเราไปรู้จักที่มาของการทำมีดดาบซึ่งเคยเป็นอาชีพที่นิยมมากอาชีพหนึ่งในชุมชนกุฎีจีน
แต่เดิมคุณยายจันทร์ แสงบุญ เป็นคนอยุธยา มีสัญชาติไทยตั้งแต่กำเนิด และมีโอกาสได้พบรักกับคุณพ่อของพี่ชาซึ่งเป็นคนพื้นเพที่กุฎีจีน จึงได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่ชุมชนกุฎีจีนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คุณยายจันทร์มีบุตรจำนวนทั้งหมด 5 คน เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน ปัจจุบันลูกชายคนโตทำธุรกิจซักรีด ลูกชายคนเล็กทำธุรกิจส่วนตัว และมีพี่ชา ผู้เป็นลูกชายคนกลาง ซึ่งมีอาชีพหลักเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยกู้ภัยร่วมกตัญญูที่คอยดูแลคุณยายจันทร์และสืบสานภูมิปัญญาการทำมีดดาบไม้อัดมาจนถึงตอนนี้
พี่ชาเริ่มอธิบายถึงการทำอาชีพมีดดาบว่า แม้ว่าจะเป็นคนไทยแท้ไม่มีเชื้อสายจีนเลยก็ตาม แต่ก็มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับงานวัดหรือเทศกาลของคนจีนพอสมควร เพราะว่าชุมชนอยู่ติดกับวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดไทยผสมจีน เมื่อมีเทศกาลตรุษจีนหรืองานวัด ก็มักจะนำสินค้าที่มีลักษณะแบบจีนมาวางขายกัน ซึ่งก็มีมีดดาบของคุณยายจันทร์รวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้พี่ชาได้มีโอกาสเห็นวิธีการทำมีดดาบของคุณยายจันทร์มาตั้งแต่เล็กๆ ก็ 30-40 กว่าปีที่แล้ว เรียกได้ว่า พี่ชาเติบโตมากับการทำมีดดาบนี้เลยก็ว่าได้ เพราะตอนพี่ชาอายุประมาณ 7-8 ขวบ คุณยายจันทร์ ท่านก็ให้พี่ชาเริ่มตัดกระดาษสีมาตกแต่งมีดดาบแล้ว พอมีอายุโตขึ้นมาหน่อย คุณยายจันทร์ก็ให้พี่ชาและลูกคนอื่นๆ นำมีดดาบที่ทำขึ้น ไปตระเวนขายตามงานวัดและเทศกาลตรุษจีนซึ่งจะขายในราคาประมาณ อันละ 1-2 บาท ขายดีมากทีเดียว เนื่องจากเป็นของเล่นที่นิยมของเด็กๆ ในสมัยนั้น
พี่ชาหยิบตัวอย่างมีดง้าวที่ทำเก็บไว้ออกมาให้เราได้ดู พร้อมกับอธิบายว่า มีดดาบของที่นี่ไม่ได้หมายถึง มีดดาบที่มีความแหลมคม แต่จะหมายถึง มีดดาบของเล่นที่ทำจากไม้อัด นำมาเหลาให้ได้ขนาดและกลมพอเหมาะมือ ตามแบบ มีด ดาบ ง้าว ขวาน ของจีนเป็นต้น จากนั้นนำมาขัดเงา ทาสี ตกแต่งสีสัน ที่เน้นสีแดง สีเขียว สีเหลืองหรือสีมงคลของจีน ส่วนมีดง้าวที่พี่ชาหยิบให้ดูนั้น มีขนาดไม่สั้นไม่ยาว ด้ามจับทาสีแดงและพันผ้าหลากสีเข้าไปด้วย มีน้ำหนักเบา รูปแบบการตกแต่งมีดดาบก็ตามแบบฉบับของคุณยายจันทร์ อาจมีตกแต่งเพิ่มเติมหรือพลิกแพลงบ้างก็ไม่ว่ากัน แต่ส่วนใหญ่จะทำแบบเดิมตามที่คุณยายจันทร์สอน เพราะอยากจะเก็บความดั้งเดิมและความเก่าแก่เอาไว้ผ่านงานมีดดาบแต่ละชิ้นที่ผลิตขึ้นด้วยสองมือของคนในครอบครัว
“เวลาทำมีดดาบนะ แม่ก็จะเรียกลูกๆ หลานๆ มานั่งล้อมวงกัน เพื่อที่จะช่วยกันทำมีดดาบ เพราะเวลาเขามาสั่งกันที มาสั่งกันเป็นร้อยๆ อันนะ ลูกๆ หลานๆ ต้องช่วยกัน แล้วก็เป็นการสอนงานไปในตัว เด็กเล็กก็ทำงานง่ายๆ อย่างติดกาว ตัดกระดาษ เด็กโตหน่อยก็เหลาไม้ ทาสี ก็ว่าไป”
ช่วยทำกันเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ จัดว่าเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวขนาดย่อมๆ เลยก็ว่าได้
เมื่อพี่ชาเล่ามาถึงตรงนี้ จู่ๆ เขาก็ลุกเดินไปยังตู้ที่ตั้งไว้มุมหนึ่งของตัวบ้าน แล้วหยิบรูปภาพใบหนึ่งออกมาจากตู้ใบนั้น แล้วก็บอกกับเราว่า นี่คือความภูมิใจของคุณยายจันทร์ที่เก็บไว้และส่งต่อให้ลูกหลานในปัจจุบัน ภาพที่ปรากฏนั้น เป็นภาพของคุณยายจันทร์นั่งอยู่ที่ร้านขายมีดดาบของคุณยายเอง ในงานเทศกาลวันตรุษจีนของวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ซึ่งในงานนี้คุณยายจันทร์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ที่ทรงเสด็จมาเยี่ยมชมร้านค้าของชาวบ้านในแถบชุมชนกุฎีจีน เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่คุณยายจันทร์ประทับใจอย่างที่สุดตั้งแต่ยึดอาชีพทำมีดดาบมาเลยทีเดียว
พี่ชาเล่าต่อไปว่า เมื่อก่อนในชุมชนนี้ มีบ้านที่ทำมีดดาบแบบเดียวกันเกือบสิบร้าน ส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านญาติพี่น้องกันทั้งนั้น เวลามีงานวัด งานเทศกาลตรุษจีนก็จะช่วยๆ ออกร้านและช่วยกันขาย จนชุมชนใกล้เคียงต่างนิยมเรียกบ้านพี่ชาว่า บ้านอรัญญิก เป็นการสร้างสมญานามให้กับบ้านของพี่ชากันสนุกๆ แต่ต่อมากิจการเริ่มซบเซาลง เพราะเริ่มมีของเล่นที่เป็นพลาสติก ผลิตกันขึ้นมาเรื่อยๆ ของเล่นยุคเก่าอย่างมีดดาบจึงขายไม่ค่อยดีเท่าสมัยก่อน เจ้าอื่นๆ ที่เคยอยู่ใกล้เคียงกันจึงเลิกขายไปจนปัจจุบันเหลือเพียงแต่บ้านของพี่ชาเจ้าเดียวเท่านั้นที่ยังทำมีดดาบอยู่ แต่ก็ปรับเปลี่ยนจากที่เคยทำมีดดาบอยู่ตลอดทั้งปี เหลือเพียงแค่ทำมีดดาบเฉพาะช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นไปเพื่อเตรียมออกขายช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยมีราคาขายปลีกตกอันละ 30 บาท หรือหากทำตามสั่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะสั่งกันเป็นร้อยเป็นพันอัน คุณยายจันทร์ พี่ชา และญาติๆ ก็จะทยอยกันทำ มีดดาบเรื่อยๆ ให้ครบกำหนด โดยราคาขายส่งจะอยู่ที่อันละ 20 บาท พี่ชาบอกว่ารายได้แต่ละครั้งก็ไม่สูงมากเท่าไหร่ แต่ก็พอจะที่จะจุนเจือครอบครัวได้
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ากิจการทำมีดดาบของครอบครัวพี่ชาในปัจจุบัน ไม่ได้รุ่งเรืองอย่างแต่ก่อน และคุณยายจันทร์ก็มีอายุมากแล้ว หลังจากที่หูของคุณยายเริ่มไม่ค่อยได้ยิน และมีท่าทีอ่อนแรงลงไปมาก พี่ชาจึงไม่อยากให้คุณยายจันทร์ทำงานหนักอีกต่อไป พี่ชาจึงหาอาชีพอื่นเข้ามาเสริม นั่นก็คือ การรับจ้างทำหัวสิงโต ใช้ออกขายคู่กับมีดดาบ พี่ชาบอกว่าการทำหัวสิงโตก็สร้างรายได้ดีพอสมควร เพราะเป็นสินค้าที่น่ารัก ดึงดูดความสนใจได้ง่าย อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ก็หาได้ง่าย มีราคาถูก เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ สีโปสเตอร์ ขนสิงโต ผ้า เป็นต้น ทำให้เป็นสินค้าที่จะทยอยผลิตกันเรื่อยๆ มีทั้งหัวสิงโตเล็กขายในราคา 300 บาท หัวสิงโตใหญ่ ขายในราคา 500 บาท เด็กๆ ปัจจุบันมักจะให้ความสนใจกันค่อนข้างมาก เนื่องจากแปลกตา เพราะไม่ค่อยมีให้เห็นกันทั่วไป
นอกจากอาชีพเสริมที่รับจ้างทำหัวสิงโตแล้ว พี่ชายังรับออกงานแห่กลองยาว และรับแสดงโชว์ในเทศกาลตรุษจีนด้วย โดยทีมงานเกือบทั้งหมดก็เป็นลูกเป็นหลานในครอบครัวนั่นเอง พี่ชาบอกว่า รายได้ไม่ค่อยดีนัก ออกงานครั้งหนึ่งได้ค่าจ้างครั้งละ 1,000-2,000 บาทเท่านั้นเอง แต่ที่ยังทำอยู่ก็เพราะอยากสร้างรายได้ให้กับลูกหลาน ให้ได้มีงานทำ มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ไว้เป็นของตนเองเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในอนาคต
นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับตนเองแล้ว ยังเผื่อแผ่ไปถึงคนรอบข้าง เพราะความคิดดีๆ เหล่านี้ จะช่วยให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมที่ดีและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับเด็กๆ และนอกเหนือสิ่งใดก็คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่และคนในครอบครัวอีกด้วย
“คนจากกรมศิลปากร เขาเคยมาหาพี่ครั้งหนึ่ง เขาบอกว่าอย่าทิ้งนะ อย่าทิ้ง เพราะเป็นภูมิปัญญาการทำมีดแบบดั้งเดิม เก็บไว้สอนลูกสอนหลานนะ จะได้ไม่หายไป”
นี่คือคำบอกเล่าของพี่ชา ที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร ที่มาสำรวจและเก็บข้อมูลในชุมชนกุฎีจีนนี้ พี่ชาบอกว่าเหตุการณ์นี้ช่วยสร้างกำลังใจให้กับพี่ชาพอสมควร เนื่องจากยังมีหน่วยงานที่ยังคงมองเห็นและให้ความสนใจกับภูมิปัญญาเก่าแก่เหล่านี้อยู่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ชามีความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะสืบสานการทำมีดดาบต่อไป เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนกุฎีจีนที่ลดน้อยลงเต็มที
จากมีดดาบที่เคยขายเพียงอันละ 1-2 บาท จนถึงวันนี้ก็ 20-30 บาทแล้ว ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมและชุมชนโดยรอบ อาชีพและการทำมาค้าขายก็เปลี่ยนแปลงไป มีดดาบไม้อัดที่เคยขายดี ก็ซบเซาลงจนเกือบจะหายไปจากชุมชนกุฎีจีน และแม้ว่าพี่ชา หรือ ปรีชา แสงบุญ ผู้สืบทอดอาชีพทำมีดดาบไม้อัด จะคิดค้นอาชีพอื่นเพื่อสร้างรายได้เสริม นอกเหนือจากการทำมีดดาบ ไม้อัดนี้ แต่ลึกๆ แล้วพี่ชาก็ยังคงมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเก็บรักษาภูมิปัญญาในการทำมีดดาบเอาไว้อยู่ตลอด โดยจะสอนลูกหลานให้ได้ฝึกและลองทำมีดดาบจนทำเป็นกันทุกคน เพื่อให้พวกเขาได้สืบทอดการทำมีดดาบเอาไว้ไม่ให้หายไป ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเจ้าเดียวในชุมชนกุฎีจีนที่ยังคงทำมีดดาบไม้อัดอยู่ แต่ก็ไม่เคยมีความคิดเลิกทำเลยสักครั้ง เพราะพี่ชาก็มีความหวังเล็กๆ ไว้ว่าอาชีพการทำ มีดดาบไม้อัดนี้จะสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นบ้านอรัญญิกแห่งย่านกุฎีจีนที่เคยคึกคักได้อีกครั้งหนึ่ง
เพียงแต่หวังว่า คนรุ่นใหม่ในชุมชนเก่าแก่อายุราว 200 กว่าปีนี้ จะให้ความสนใจและมีโอกาสได้รู้จักของเล่นที่เกิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เพราะมันจะสามารถช่วยเติมเต็มความตั้งใจให้กับ พี่ชา ลูกหลานคนทำมีดดาบไม้ไผ่ ได้สามารถอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้ที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวแสนบุญ เพื่อรักษาสมญานาม “บ้านอรัญญิก” ของชุมชนกุฎีจีนสืบต่อไป