อุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศอินเดียซึ่งมีการส่งออกยาไปรักษาผู้ป่วยทั่วโลก กลับเป็นตัวการสร้างความเสียหายยับเยินแก่ชาวบ้านชุมชนท้องถิ่นเสียเอง
ครั้งหนึ่งเมืองปาทานเชอรู ในรัฐอันตระประเทศ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท้องถิ่นชนบทที่งดงาม แต่บัดนี้ได้กลายเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตยาจำนวนถึง ๑ ใน ๓ ของประเทศอินเดีย ภาพความล่มสลายทางนิเวศวิทยาปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้ง : การอาบน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติทำให้ชาวบ้านกลายเป็นโรคผิวหนัง ฝูงควายก็ให้นมที่เป็นพิษ อัตราเด็กพิการตั้งแต่เกิดพุ่งสูงขึ้น ผืนดินไม่อาจเพาะปลูกพืชพันธุ์ได้อีกต่อไป ชาวบ้านต้องอาศัยอาหารปันส่วนจากรัฐบาล ซึ่งมักไม่พอเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว
ประเทศอินเดียส่งออกผลิตภัณฑ์ยามูลค่าสูงถึง ๒.๕ พันล้านดอลลาร์ต่อปี และคาดว่ามูลค่าการส่งออกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง ๖ พันล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ สหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สั่งซื้อยาปฏิชีวนะจากอินเดีย โรงงานผลิตยาจำนวนเกือบ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ตั้งอยู่ในเขตเมืองปาทานเชอรู ทำให้เกิดของเสียที่เป็นพิษสะสมในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
แม้กฎหมายการจัดการของเสียจะถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัด นับแต่โรงงานผลิตยาแห่งแรกตั้งขึ้นที่นี่เมื่อทศวรรษที่ ๑๙๗๐ รวมทั้งปัจจุบันมีการกำกับดูแลโรงงานให้เป็นไปตามกฎระเบียบนานาชาติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงวันนี้เมืองปาทานเชอรูมีท่อส่งน้ำที่ปลอดภัยและอากาศก็มีมลภาวะน้อยกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตามท้องถิ่นแห่งนี้ยังต้องการการฟื้นฟูอีกมากเพื่อชดเชยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากโรงงานผลิตยาลักลอบปล่อยของเสียทิ้งในช่วงหลังเที่ยงคืน และขาดความระมัดระวังทำให้สารเคมีต่างๆ รั่วไหลสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง