เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ
ปลายปี ๒๕๔๗ หลังจาก “ร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …” ปรากฏสู่สาธารณะและผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘ เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างถล่มทลายก็ตามติดมา ทั้งจากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และองค์กรภาคประชาชน ตั้งแต่ที่ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายปล้นชาติ เป็นการสถาปนารัฐซ้อนรัฐ กฎหมายเผด็จการ ฯลฯ ทั้งยังมีการร่วมลงชื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างแข็งขัน แม้แต่หลวงตามหาบัวและศิษยานุศิษย์ยังออกมาร่วมต้านอย่างสุดตัว จึงน่าสนใจว่า มีอะไรไม่ชอบมาพากลซ่อนอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้จริงหรือไม่ ?
ว่ากันตามจริง เรื่อง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเคยมีเขตพิเศษประเภทต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนมานานแล้ว อาทิ โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ เขตนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แต่ดูเหมือนว่าไม่มีครั้งไหนที่กระแสตอบโต้จากสังคมจะรุนแรงเท่าครั้งนี้
ด้วยฐานคิดที่ว่า แต่ละพื้นที่มีศักยภาพและแนวทางการพัฒนาที่ต่างกัน จึงควรกำหนดให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เกิดความเป็นอิสระและคล่องตัวในการบริหารงาน รัฐบาลจึงจัดให้มีการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมอบหมายให้สำนักงานกฎหมายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำการศึกษาการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในต่างประเทศ เช่น จีน ฟิลิปปินส์ จอร์แดน อิหร่าน รัฐดูไบ รัสเซีย ยูเครน โดยให้เสนอร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้เป็นแนวทางพร้อมกันด้วย
ก่อนที่จะรับฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่าย ลองมาดูเนื้อหาคร่าวๆ ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กันก่อน
“เขตเศรษฐกิจพิเศษ” คือ เขตพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ เช่น การอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว การบริการ หรือการอื่นใด รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการที่ดี หรือเพื่อการประกอบการเสรี
เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเขตที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการให้อำนาจเฉพาะ และการผ่อนปรนกฎระเบียบบางประการ เช่น กฎระเบียบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน กฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้แรงงานต่างด้าว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การดำเนินงาน ครอบคลุมกว้างขวางตั้งแต่การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม การจัดพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตการค้าเสรี เขตการท่องเที่ยว ไปจนถึงกิจการอื่นๆ
เขตเศรษฐกิจพิเศษมีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี สามารถใช้อำนาจหลายอย่างแทนอำนาจของหน่วยงานราชการ และแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติใดๆ ที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน และเมื่อมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจขึ้นในจังหวัดใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการปรับแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ หรือแผนอื่นใดของจังหวัด ให้สอดคล้องและเป็นการส่งเสริมกิจการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ
โครงสร้างและกลไกของร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย
คณะรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจในการออกพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยแจ้งรัฐสภาเพื่อทราบก่อนให้ความเห็นชอบในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำหน้าที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและในการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขต รวมถึงการออกกฎระเบียบในการร่วมลงทุนและการกู้ยืมหรือการให้กู้ยืมเงินของเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนั้นยังมีอำนาจในการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในการดำเนินการระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษกับหน่วยราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีฐานะเป็นองค์กรมหาชน ทำหน้าที่ธุรการของคณะกรรมการนโยบายฯ และศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ ให้ข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำหน้าที่ในการวางนโยบายและควบคุมดูแลการดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขต ออกระเบียบข้อบังคับในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
……………………………………………..
นอกจากข้อวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงต่าง ๆ ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นอื่น ๆ แยกย่อยลงไปซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากอีกหลายประเด็น อาทิ
มาตรา ๒๓ ซึ่งระบุไว้ว่า “ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้ามีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ให้ดำเนินการโดยวิธีจัดซื้อ เช่าซื้อ เช่าระยะยาว แลกเปลี่ยน ถมทะเล หรือโดยวิธีเวนคืน การจัดซื้อ เช่าซื้อ เช่าระยะยาว หรือแลกเปลี่ยน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด
“ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นที่ได้มาโดยการจัดซื้อ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน หรือที่ได้ตามมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๑ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมื่อได้พัฒนาแล้ว ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขตมีอำนาจขาย ให้เช่าซื้อ ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้”
มาตรา ๓๑ ที่ระบุว่า “ที่ดินสาธารณะ ที่ธรณีสงฆ์ หากได้รับความยินยอมจากวัดและจ่ายค่าผาติกรรมให้แก่วัดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนดแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ดังกล่าวตกเป็นของเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องดำเนินการตราพระราชบัญญัติโอนที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์”
และสำหรับนักอนุรักษ์ ประเด็นที่หยิบยกมาพูดถึงกันมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นเนื้อความในมาตรา ๒๙ ที่ว่า “ในกรณีจำเป็นและสมควร เมื่อได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายฯ แล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจถมทะเลเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษ”
และมาตรา ๓๐ ที่ว่า “ถ้าเขตฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือเขตคุ้มครองและรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือเขตอุทยานแห่งชาติ ให้ผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผู้ว่าการกำหนด มีอำนาจเข้าไปครอบครอง พัฒนา ใช้ประโยชน์ หรือจัดหาประโยชน์ในเขตเหล่านั้นได้ตามความจำเป็น แต่ต้องไม่ทำให้สภาพป่าดังกล่าวเสียหายจนเกินสมควร ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้น ให้รัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาด และทุกฝ่ายต้องดำเนินการตามนั้น”
หมายเหตุ : ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. … อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากมีข้อคิดเห็นประการใดสามารถส่งจดหมายแจ้งไปยัง ฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ๒ เลขที่ ๓๙๔/๑๔ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ หรือส่งอีเมลไปที่ webmaster@lawreform.go.th ทางสำนักงานฯ จะได้ทำการรวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป
(สนับสนุน) ปกรณ์ นิลประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
“พัฒนาการของเขตเศรษฐกิจพิเศษเริ่มมาจากเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือ Industrial Zone ก่อน ต่อมาก็มี Export processing Zone หรือ Custom Free Zone ซึ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีอากร แต่จีนซึ่งเป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษมองว่า มันยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง หลักๆ คือเรื่องกิจกรรม เพราะอนุญาตให้ทำได้เฉพาะอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมส่งออก หรือที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องระบบการบริหารจัดการภาครัฐของเขาซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ จะทำอะไรสักอย่าง ต้องวิ่งไปติดต่อที่โน่นทีที่นี่ที มันน่าเบื่อและเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ทำให้นักลงทุนไม่สนใจมาลงทุน จีนก็เลยคิดจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาโดยไม่จำกัดประเภทของกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม บริการ ไอที ทำได้หมด มีการให้สิทธิพิเศษ จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ มีระบบบริหารจัดการที่ดี คือ ระบบอนุมัติอนุญาตเป็นแบบ one stop service ผู้ประกอบการและผู้อยู่อาศัยขอรับบริการได้จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากนั้นทางเขตฯ จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้ทั้งหมด มีการนำระบบไอทีเข้ามาใช้แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่มาพิจารณาอนุมัติอนุญาตกันเป็นรายๆ ไป ทำให้งานเดินเร็วขึ้น ลดปัญหาคอร์รัปชัน เพราะไม่มีใต้โต๊ะ นี่คือสิ่งที่จีนเริ่มทำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๙ ซึ่งประสบความสำเร็จมากทั้งที่เสิ่นเจิ้น ซูไห่ ซัวเถา และเซียะเหมิน “หลายประเทศที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุน ก็นำแนวคิดนี้ไปใช้ เช่น ดูไบ จอร์แดน สิงคโปร์ รัสเซีย แม้แต่อินเดียและเกาหลีใต้ก็มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น มีข้อสังเกตว่าประเทศทางแถบยุโรปไม่มีการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษเลย เพราะยุโรปมีการปรับปรุงระบบกฎหมายมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ โดยการลดเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จำเป็น หรือ Deregulations และต่อมาในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ เขาก็เริ่มเอาระบบไอทีเข้ามาใช้ ดังนั้นระบบการบริหารจัดการของเขาจึงรวดเร็วและมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ต้องทำเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก “ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องทำเขตเศรษฐกิจพิเศษถ้าสามารถพัฒนาระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพให้เป็น one stop service center ได้ แต่ถามว่าปัจจุบันเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ทุกวันนี้เรายังไม่มีแม้แต่ศูนย์ข้อมูลที่จะบอกว่า ถ้าจะทำธุรกิจนี้ ต้องไปติดต่อขออนุญาตเรื่องอะไร ที่ไหนบ้าง กฎหมายหลายฉบับก็มีความซับซ้อน ยกตัวอย่าง ถ้าผมเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่คิดจะทำธุรกิจเกี่ยวกับการแกะสลักไม้เพื่อส่งออก ผมจะต้องทำตามกฎหมายอย่างน้อย ๒๑ ฉบับ ที่สำคัญที่สุด มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่จำนวนมากก็ไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน เพราะออกมาหลายสิบปีแล้ว “ผมรับราชการมา ๑๕ ปี เห็นความพยายามในการแก้ไขปรับปรุงระบบบริหารจัดการต่างๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะการลดเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการทำ one stop service แต่ถึงวันนี้ก็ยังทำไม่ได้ แต่ละหน่วยงานยังเป็นอาณาจักรอิสระ การทลายกำแพงนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ดังนั้นข้อเสนอของผู้วิจัยก็คือ ตั้งเขตพิเศษขึ้นมาเป็นพื้นที่ตัวอย่าง จัดโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่ให้เพียบพร้อม และให้อำนาจแก่องค์กรบริหารจัดการเขตพิเศษนี้เพื่อให้สามารถให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ประกอบการภายในพื้นที่ได้โดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เราหวังว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะเป็นพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งพื้นที่อื่น ๆ สามารถเรียนรู้และนำเทคนิคต่าง ๆ ไปพัฒนาการบริหารจัดการและการให้บริการในพื้นที่ของตนด้วย ประโยชน์ทางอ้อมที่จะได้รับคือ นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจะได้มาลงทุน “เกี่ยวกับเรื่องที่ดินของวัดซึ่งวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นั้น อธิบายสั้นๆ ได้ว่า ที่ดินของวัดมีอยู่ ๓ ประเภท คือ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่กัลปนา ร่างกฎหมายนี้บอกว่า ถ้าเขตฯ จะไปเอาที่ธรณีสงฆ์ซึ่งเป็นสมบัติของวัดมาทำประโยชน์ จะต้องขออนุญาตวัดก่อน เพราะเป็นสมบัติของวัดเอง ถ้าวัดยินยอม แล้วมีการจ่ายค่าผาติกรรมให้แก่วัดตามอัตราที่มหาเถรสมาคมกำหนด ที่ดินนั้นก็ตกมาเป็นของเขตฯ ได้โดยไม่ต้องไปตราพระราชกฤษฎีกาโอนขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง แต่ถ้าวัดไม่ยินยอม เขตฯ จะไปเอาของเขามาไม่ได้ ส่วนที่วัด ซึ่งหมายถึงที่ตั้งวัด และที่กัลปนา หรือที่ที่มีผู้อุทิศเฉพาะผลประโยชน์ให้แก่วัดนั้น ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เข้าไปยุ่งด้วย หากจะนำที่วัดและที่กัลปนามาใช้ ต้องดำเนินการตามกฎหมายคณะสงฆ์ “จะไม่มีการขับไล่คนออกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทุกคนยังมีสิทธิอยู่ในพื้นที่เหมือนเดิม แต่เขตฯ สามารถไปซื้อ เช่า เวนคืน ที่ดินได้ในบางกรณีตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด การซื้อหรือเช่าก็เป็นไปตามกลไกตลาด แต่การเวนคืนต้องทำตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น เช่น เพื่อสร้างทาง จะเวนคืนเพื่อเอามาขายไม่ได้ ซึ่งข้อนี้เบากว่าพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมากนัก “ความกังวลว่าเขตฯ จะใช้อำนาจบังคับยึดที่ดินจากชาวบ้าน อาจเกิดขึ้นจากข่าวที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกฎหมายโดยมิชอบ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน การที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับคนขับรถผิดกฎจราจร ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่บุคคลอื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทุจริต อ้างกฎหมายเพื่อไปรีดไถชาวบ้าน ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่บิดเบือนการใช้อำนาจตามกฎหมาย ถามว่ากฎหมายผิดหรือเปล่า ไม่ผิด ตรงนี้คือสิ่งที่ผมอยากให้มอง กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อให้อำนาจเขตฯ ในการซื้อ เช่า เวนคืน ถ้าเขาใช้อำนาจในทางที่ผิดก็เท่ากับว่าเขาทำผิดกฎหมาย ต้องรับโทษเช่นกัน และเรามีกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพพร้อมมูลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบภายในของฝ่ายปกครองเอง หรือการตรวจสอบโดยศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือ ปปช. “ส่วนเรื่องที่เราไม่ได้ระบุลงไปว่าต้องทำอีไอเอก่อน ก็นับเป็นข้ออ่อนของร่างฯ เราตระหนักดีว่าการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องนี้มักถูกนำมาใช้เป็นมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศ เมื่อไรก็ตามที่เราผลิตสินค้า อาจมีส่วนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเรื่องพวกนี้ประเทศคู่แข่งหรือคู่ค้ามักยกขึ้นมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ถ้าเป็นเช่นนี้ ถึงเราผลิตได้ เราก็ขายไม่ได้ เราจึงกำหนดว่าก่อนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องไปศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพียงแต่ผู้วิจัยกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯ ไม่ได้ดึงออกมาเป็นมาตราเฉพาะ ก็เลยกลายเป็นข้ออ่อนของร่างฯ ไป ส่วนเรื่องการถมทะเลนั้น หากจำเป็นก็อาจถมทะเลได้ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายสิ่งแวดล้อม และต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน “เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตั้งขึ้นไม่ได้ล้มล้างท้องถิ่นอย่างที่คนอื่นพูดกัน ท้องถิ่นเคยอยู่อย่างไรก็ยังอยู่อย่างนั้น สมมุติว่าในพื้นที่ท้องถิ่น ก มีการจัดตั้งให้เขตพิเศษ A ไปตั้งอยู่ ท้องถิ่น ก ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนทำถนนหนทาง สาธารณูปโภคต่างๆ เอง เพราะในพื้นที่ที่เป็นของเขตพิเศษ A ทางเขตฯ เขาจะทำเองเสร็จสรรพ ดังนั้นท้องถิ่นก็ยังอยู่ รายได้ก็ยังอยู่ เพราะเงินภาษีส่วนหนึ่งก็ต้องคืนให้ท้องถิ่น ไม่เสียอะไรเลย สิ่งที่จะเปลี่ยนไปก็คือระบบการให้บริการ คือ ผู้ประกอบการหรือผู้อยู่อาศัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีทางเลือกในการขอรับบริการ โดยจะไปขออนุญาตกับผู้ว่าการเขตฯ หรือจะไปขอกับท้องถิ่นก็ได้ วิธีการอนุมัติอนุญาตก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกันตามที่กฎหมายกำหนด ต่างกันที่หากคุณมาขอที่เขตฯ จะได้เร็วกว่า เพราะเขตฯ จะบริการคุณทุกอย่าง เป็นระบบ one stop service เมื่อมาขออนุญาตที่เขตฯ แล้ว เขตฯ ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ถ้าท้องถิ่นเห็นว่าทำไม่ถูก ก็สามารถสั่งให้เขตฯ แก้ไขเสียให้ถูกต้อง ถ้าเขตฯ ไม่แก้ไขก็เอาเรื่องขึ้นคณะกรรมการใหญ่ชี้ขาดได้เลยว่าให้ทำอย่างไร มีระบบตรวจสอบกันอยู่ เราไม่ได้ปล่อยให้เขตฯ ทำอะไรแต่ถ่ายเดียว “ก่อนจะดำเนินการต้องมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่อยู่ในเขตฯ และนอกเขตฯ ก่อน โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้ เพราะเราเชื่อว่าไม่มีเขตพิเศษใดที่ประสบความสำเร็จหากไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องทำรายงานเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ ด้วยว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อบุคคลภายในและภายนอกเขตฯ มีอะไรบ้าง และในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ต้องกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบด้านต่างๆ ไว้ด้วย “หากอ่านร่างฯ โดยละเอียด จะพบว่าเราไม่ได้เสนอให้ยกเลิกหรือล้มล้างกฎหมายอื่นๆ เลยนอกจากกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งเราเห็นว่าซ้ำซ้อน เขตฯ มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการและยังต้องทำตามกฎหมาย ๖๐๐-๗๐๐ ฉบับที่เราใช้กันอยู่ เพียงแต่ว่าอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ประกอบการโดยยื่นขออนุมัติอนุญาตแค่จุดเดียวเท่านั้น ไม่ต้องวิ่งไปตรงโน้นตรงนี้เองเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องการ แต่หลายท่านกลับวิพากษ์ว่าต้องเลิกกฎหมายหมด เขตฯ มีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว จึงทำให้ประชาชนสับสนและกังวล “หากสามารถบริหารจัดการอย่างที่วางเป้าหมายไว้ได้ เราจะได้ประโยชน์ตรงที่ระบบบริหารจัดการจะได้รับการพัฒนาขึ้น เรามองว่ามันเป็นการลงทุน ถ้าทำแล้วประสบความสำเร็จ ทุกคนก็รู้แล้วว่าทำแบบนี้ดี ท้องถิ่นอื่นๆ รวมถึงภาคราชการก็สามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาตัวเอง ดังนั้นผู้วิจัยจึงเห็นว่าการทำครั้งแรกสำคัญมาก ไม่ควรตั้งแบบสุ่มสี่สุ่มห้าหรือตั้งหลายแห่งพร้อมกัน ทำให้ได้ผลก่อนสักที่หนึ่ง แล้วที่อื่น ๆ จะพัฒนาตัวเองตามโดยอัตโนมัติ ที่สุดแล้วเราอาจจะตั้งเพียง ๑-๒ แห่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปูพรมทั้งประเทศอย่างที่มีใครกังวลกัน อีกประการหนึ่งคือ ขนาดของพื้นที่ต้องไม่ใหญ่มาก มิฉะนั้นการให้บริการอาจไม่มีประสิทธิภาพ หรือทำให้ล้มเหลวได้ ปัจจุบันหลายคนคิดไปถึงเขตจังหวัด แต่ผู้วิจัยเห็นว่าใหญ่เกินไป สิ่งสำคัญที่จะได้จากตรงนี้ก็คือ การพัฒนาพื้นที่ที่จะค่อยๆ กระจายตัว ไม่กระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา โคราช อย่างที่เคยเป็นมา “การตั้งเขตพิเศษใดๆ ต้องสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในกฎหมายจะเขียนไว้สั้นๆ ว่า “การทำงานขององค์กรนี้ ให้เป็นไปตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยไม่ได้บอกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร เพราะมันเป็นหลักทั่วไป กฎหมายไม่จำเป็นต้องเขียนอีก มันเป็นเรื่องสามัญสำนึกโดยแท้” |
(คัดค้าน) นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ดิฉันยังมีคำถามอยู่ว่าเราจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ระยะหลัง ๆ ประเทศกำลังพัฒนามีความพยายามที่จะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแบบเสิ่นเจิ้นของจีน และมักจะอ้างถึงความสำเร็จของเสิ่นเจิ้นกันเสมอ แต่ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความสำเร็จและความเติบโตของเสิ่นเจิ้นไม่ได้มาจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพียงอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวพันกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนด้วย นอกจากนี้เสิ่นเจิ้นยังตั้งอยู่ใกล้กับฮ่องกง จึงกลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาให้เป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่สำคัญ เราต้องไม่ลืมดูบทเรียนจากประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ไม่ว่าฟิลิปปินส์หรือรัสเซีย การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ใช่สูตรสำเร็จ มันต้องมีเงื่อนไขที่เหมาะสม ดังนั้นการศึกษาบทเรียนความสำเร็จของจีนในกรณีเสิ่นเจิ้น ยังต้องพิจารณามิติอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ระบบกรรมสิทธิ์ ระบบกฎหมาย ระบบการปกครอง การบริหารจัดการ ซึ่งไทยและจีนมีความแตกต่างกันมาก “การพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิต การค้า และการลงทุนในประเทศไทย มีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เรามีกฎหมายที่ค่อนข้างซ้ำซ้อน การดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย จะทำอะไรแต่ละทีจึงค่อนข้างช้า กฎหมายบางฉบับก็เก่าและไม่ได้มีการแก้ไขให้ทันสมัย ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ หรือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาในการทำธุรกิจ นี่เป็นปัญหาที่มีอยู่จริง แต่การจะแก้ปัญหานี้โดยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา แล้วให้อำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งตามร่างกฎหมายที่เห็นในรายงานวิจัยก็นับว่ามากทีเดียว ดิฉันคิดว่าอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะมันจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ติดตามมาด้วยอีกมาก และไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้แก่การทำธุรกิจของประเทศทั้งหมด เพราะปัญหาเก่ายังคงดำรงอยู่ ดังนั้นแม้ว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันมันก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกมากจากการให้อำนาจอย่างมากมายแก่ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจ “เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. นี้ ดิฉันเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ ๓ ประเด็น ประเด็นแรก ความพยายามในการทำทุกอย่างให้เป็น one stop service เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการมีกฎหมายมาเกี่ยวข้องจำนวนมาก หรือเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกิจ ในประเด็นนี้เรื่องที่จะต้องพิจารณาก็คือ แม้จะเป็นความจริงที่เรามีกฎหมายบางประเภทที่เก่าและล้าสมัย มีความล่าช้าในการอนุมัติและอนุญาต แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเรายังมีกฎหมายอีกหลายฉบับซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามที่จะคุ้มครองผู้บริโภค สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพราะธุรกิจบางประเภทมันก็อาศัยต้นทุนทางสังคม กฎหมายเหล่านี้มีขึ้นเพื่อทำให้ต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นกลายเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว เพราะถือเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่สังคมและชุมชน ที่ผ่านมา กฎหมายเหล่านี้ทำให้การทำธุรกิจยากขึ้น มีต้นทุนสูงขึ้น ในร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีบางประเด็นที่เขียนไว้เป็นเชิงเปิดช่องให้ว่า ถ้าการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ก่อให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้ประกอบการหรือผู้อยู่อาศัยในเขตฯ ก็สามารถนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขได้ แต่เนื่องจากร่างฯ เขียนไว้กว้างมาก ดิฉันจึงไม่แน่ใจว่า ในทางปฏิบัติจะมีการดำเนินการอย่างไร เพราะก็เป็นที่ทราบดีว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน ซึ่งเราได้ผลักดัน เรียกร้องกันมานาน ทำให้การลงทุน การก่อสร้าง หรือการทำอุตสาหกรรมบางประเภท เกิดขึ้นไม่ได้ มันก็เป็นธรรมชาติของนายทุนที่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ เขาก็จะต้องหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเห็นว่ากฎหมายเหล่านี้มีความสำคัญต่อสังคมของเรา เป็นกฎหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องสุขภาพอนามัยของพลเมืองของเรา เราก็ต้องปล่อยให้มันเป็นอุปสรรคต่อไป การดำเนินธุรกิจหรือการประกอบการใดๆ ที่ติดขัดข้อกฎหมายเหล่านี้ ก็ต้องยอมให้ติด แต่ดิฉันเห็นด้วยว่าเราควรจะต้องจัดการสังคายนากฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่ล้าหลัง ที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ทันสมัย ไม่เข้ากับสถานการณ์ ควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขตลอดจนทำให้การอนุมัติและอนุญาตมีความรวดเร็วขึ้น แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโดยรวม ถ้าไปแก้ปัญหาให้เฉพาะแต่ธุรกิจที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัญหาทั้งหมดก็ไม่ได้รับการแก้ไข “ที่จริงแล้วการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการของภาครัฐสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างตอนนี้ก็มีการทำเรื่อง Electronic Auction หรือการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เอามาใช้ในกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง ตอนนี้หลายหน่วยงานก็เริ่มทำแล้วโดยไม่ต้องรอให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งยังมีความพยายามในการจัดทำฐานข้อมูลภาครัฐ การลงทุน การค้า การประสานงานในภาคการผลิตต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการผลิต การค้า และการลงทุนของประเทศ “ถ้าหากจะทำเป็น one stop service จริงๆ ก็สามารถตั้งออฟฟิศขึ้นมา นำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ มาอยู่รวมกันในออฟฟิศเพื่อให้บริการแก่นักลงทุน ก็สามารถแก้ปัญหาการต้องวิ่งไปขออนุมัติขออนุญาตจากหน่วยงานหลายแห่งได้ แต่ดิฉันคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น คุณไม่ได้ต้องการแค่สะสางกฎหมาย คุณอยากจัดสรรทรัพยากรใหม่มากกว่า เพราะประเด็นที่เป็นปัญหามากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นประเด็นที่ ๒ ที่เราจะพูดถึงกัน “การให้อำนาจเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างมากในการจัดตั้ง การได้มาซึ่งที่ดิน การจัดผังเมือง ตลอดจนการยกเลิก เพิกถอนกรรมสิทธิ์เดิมออกจากพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หากมีการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ก็จะก่อให้เกิด “การจัดสรรทรัพยากรใหม่” ได้ ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ รัฐมีสิทธิ์จะเวนคืนที่ดิน เช่า ซื้อ ถมทะเล คือทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดิน ทั้งที่ในการเวนคืนที่ดินนั้น ตามกฎหมายที่มีอยู่จะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการเวนคืนเพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น และต้องระบุด้วยว่าจะเวนคืนไปทำอะไร เช่น ทำถนน สร้างเขื่อน รัฐจะเวนคืนเอาไปทำอย่างอื่นนอกจากที่ระบุไว้ไม่ได้ แต่ในกรณีของเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐสามารถที่จะเวนคืนที่ดิน เอามาพัฒนา แล้วให้ภาคเอกชนเช่าได้ในระยะยาว โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถกำหนดราคาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยทั่วไป ถ้าต้องการซื้อที่ดินก็ต้องตกลงซื้อขายกันโดยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ขึ้นอยู่กับความพอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งการทำอย่างนั้นบางครั้งก็อาจทำให้ราคาที่ดินสูงจนไม่คุ้มที่จะลงทุน ในกรณีนี้จึงถือว่าเขตฯ ให้ประโยชน์แก่นักลงทุนค่อนข้างมาก เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจในการซื้อ เช่า เวนคืน แล้วเอามาขายให้เอกชนได้ เอามาจัดสรรพัฒนาอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ เราก็ต้องถือว่านี่เป็นการจัดสรรทรัพยากรใหม่ โดยมีรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง และคิดว่าคนที่เป็นเจ้าของเดิมคงไม่มีสิทธิ์หลีกเลี่ยงหรือต่อรองราคาตามกลไกตลาด เพราะราคาจะถูกกำหนดโดยรัฐ “หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการหรือผู้อยู่อาศัยถูกพิจารณาว่าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกำหนด ทางเขตฯ ก็มีอำนาจในการให้ออกจากพื้นที่ มีอำนาจในการเข้าไปรื้อถอน ขนย้ายทรัพย์สินต่างๆ อย่างเบ็ดเสร็จ อำนาจเหล่านี้เมื่อมองในด้านหนึ่งก็อาจจะดูเหมือนดี เพราะทำให้เกิดประสิทธิภาพมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่อาจจะนำไปสู่ความฉ้อฉลได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอะไรมากนัก “ประเด็นที่ ๓ คือเรื่องตัวกฎหมายซึ่งเขียนไว้กว้างมาก ครอบคลุมไปเสียทุกเรื่อง จะประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมก็ได้ เขตการค้าก็ได้ เขตท่องเที่ยวก็ได้ แม้แต่เขตเมืองใหม่ก็ทำได้ เราก็เลยไม่รู้ว่ามันจะเป็นการเปิดช่องหรือให้อำนาจแก่ใครบ้าง เพราะนี่คือกฎหมายแม่ เมื่อออกมาแล้ว การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษใด ๆ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ การให้อำนาจกว้างอย่างนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เพราะขนาดกฎหมายยังไม่ทันออก เราก็ได้ยินแล้วว่าจะมีการสร้างเมืองใหม่นครนายก และอีกสารพัด ดังนั้นถ้าหากจำเป็นที่จะต้องทำเขตเศรษฐกิจพิเศษจริงๆ ก็ควรต้องระบุให้ชัดเป็นที่ๆ ไปว่า พื้นที่นี้จะทำเป็นเขตอะไร แล้วจำกัดกิจกรรมให้เป็นไปตามนั้น ไม่ใช่ให้อำนาจกว้างๆ แล้วปล่อยให้ไปกำหนดกันเองทีหลัง ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อน การอยู่ร่วมกันต้องมีกฎกติกามากขึ้น แล้วกฎกติกาทั้งหลายนั้นต้องชัดเจน อาศัยดุลพินิจน้อยที่สุด ถ้ากฎหมายแม่ออกมาอย่างไม่รัดกุมพอ ต่อไปใครจะทำอะไรก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว นอกจากนี้การให้อำนาจทุกอย่างแก่ผู้บริหารก็เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงมาก เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนที่เข้ามาทำงาน ใช้อำนาจตรงนี้ จะดีจริง ระบบที่ดีจึงควรเป็นระบบที่มีการคานอำนาจและตรวจสอบได้ “ที่สำคัญ นอกจากจะพิจารณาในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพแล้ว จะต้องไม่ละเลยประเด็นเรื่องความชอบธรรมและความเป็นธรรมด้วย”
|