เรื่องและภาพ : ปริญญากร วรวรรณ
โป่งซับหิน ๑๑.๔๐ นาฬิกา
ผมกับอ่อนสา ผู้ช่วยนักวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เดินสำรวจด่านเพื่อหาร่องรอยของเสือโคร่งมาตั้งแต่เช้า เราพบรอยตีนขนาดกว้างกว่า ๙ เซนติเมตร รอยตีนหน้าซึ่งกว้างขนาดนี้ทำให้รู้ว่ามันเป็นเสือโคร่งตัวผู้ นอกจากนั้นยังมีรอยคุ้ยดิน รวมทั้งรอยสเปรย์หรือฉี่ที่มันพ่นเอาไว้ข้างๆ ต้นไม้ด้วย
ที่สำคัญคือเราพบขี้อยู่ตรงรอยคุ้ยนั่นด้วย อ่อนสาเก็บขี้นั่นใส่ถุง ในขี้มีขนวัวแดงปะปนอยู่อย่างเห็นได้ชัด
ผมบันทึกพิกัดตำแหน่งไว้ด้วยจีพีเอส อ่อนสาวัดขนาดของรอยคุ้ย
การตรวจสอบเช่นนี้และการเก็บขี้เสือโคร่งเป็นงานอีกอย่างหนึ่งของเรา ขี้เสือนั้นมีข้อมูลมากมายบอกกับเราได้
เหงื่อเริ่มซึมเมื่อเราเดินถึงโป่งน้ำซับเล็กๆ ที่เราเรียกว่า “โป่งซับหิน” แห่งนี้
ก่อนถึงโป่งมีรอยสมเสร็จย่ำไว้เป็นเทือก ผมก้มหน้าดูรอยตีนสมเสร็จ ขณะได้ยินเสียงเบาๆ ของอ่อนสา “ถอยออกมาก่อน จงอางอยู่ในโป่งนั่น”
ผมเงยหน้าขึ้น จงอางตัวขนาดข้อมือนั้นยกตัวขึ้นและโยกไปมา อาจเพราะสัมผัสได้ว่าเราเข้ามาใกล้
ผมรีบถอยกลับออกมา และตามอ่อนสาเดินเลี่ยงไปทางขวามือซึ่งมีต้นมะค่าขนาดใหญ่อยู่ ๒-๓ ต้น ไม่ทันถึงต้นมะค่า มีเสียง “แปร๋น” ดังขึ้นพร้อมๆ กับหัวและร่างอันใหญ่โตพุ่งเข้าหาเรา
เราหันหลังวิ่งอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีการร้องเตือน
ช้างวิ่งตรงเข้ามาสัก ๓๐ เมตรก็หยุด เขม้นมอง สะบัดใบหู ชูงวง กระทืบเท้าหน้าข้างขวากับพื้นดังตุ้บๆ
เราวิ่งมาร่วมๆ ๑๐๐ เมตรจึงหยุด ผมมองหน้าอ่อนสาพร้อมกับหัวเราะ หลังจากนาทีคับขันผ่านพ้น ท่าทางก่อนหน้าของเราคือความน่าขัน
“โอย ! หนีเสือปะจระเข้แท้ๆ” อ่อนสาพูดปนหัวเราะ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเราหรอกที่ต้องวิ่งหลังจากเผชิญหน้ากับสัตว์ป่าอย่างกะทันหัน
อ่อนสาอยู่กับผมตอนที่โดนเสือโคร่งกระโจนเข้าหา และเมื่อ ๒ ปีก่อนเขาเดินอยู่กับไก่ ผู้ช่วยนักวิจัย ขณะกระทิงพุ่งเข้าชนไก่บาดเจ็บซี่โครงหัก ๒ ซี่ กระทิงตัวนั้นบาดเจ็บ แผลเน่าส่งกลิ่นคลุ้ง
“เดินป่าเดี๋ยวนี้ต้องระวังๆ แล้วครับ” อ่อนสาทำงานในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยมานาน ๒๐ ปี พูดเสมอๆ
สถานการณ์ระหว่างสัตว์ป่าและคนเปลี่ยนไป
ใช่ว่าในป่าจะมี “สัตว์ร้าย” ในจำนวนมากขึ้นหรอก เพียงแต่พวกมันคือชีวิต และเลือกที่จะ “เอาคืน” เมื่อถูกกระทำ
ปลายเดือนกันยายน
“ช่วงนี้ต้องลาดตระเวนถี่หน่อยครับ” วินัย หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าทางตอนใต้ กำลังเตรียมตัวจัดอุปกรณ์และเสบียงเพื่อเดินป่าลาดตระเวนตามปรกติ
“หน่อไม้ในป่าไผ่แถวๆ ชายป่ากำลังออก พวกกระทิง วัวแดง ออกไปกินเยอะ พวกคนยิงก็มาดักยิงอยู่แถวๆ นั้นแหละ และยังคนเข้ามาเก็บหน่อไม้อีก ลาดตระเวนกันทุกหน่วย ไม่ค่อยได้หยุดหรอกครับ”
วินัยพูดก่อนขอตัวไปทำงาน ผมจะเดินทางต่อไปยังจุดที่ตั้งกล้องดักถ่ายภาพเอาไว้
“ถ้าเจอพวกเก็บเห็ดแจ้งด้วยนะครับ” วินัยพูด หลังจากฤดูกาลแห่งหน่อไม้ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราวๆ ปลายเดือนสิงหาคมถึงปลายๆ เดือนกันยายน ฤดูแห่งเห็ดก็เริ่มต้น
เห็ดในฤดูนี้คือ เห็ดโคน
ในป่าช่วงเวลานี้จึงเต็มไปด้วยคน มอเตอร์ไซค์จำนวนร้อยๆ คันจอดเรียงรายตลอดแนวเขต รถกระบะของพ่อค้าที่คอยมารับซื้อเห็ดโคนขายบริเวณชายป่าในราคากิโลกรัมละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท
ถึงแม้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ในฤดูนี้เขตฯ ผ่อนผันให้คนเข้ามาเก็บเห็ดในบริเวณใกล้ๆ แนวเขตได้บ้าง
แต่การหาเก็บเห็ดเป็นไปทั่วป่า นอกจากมีด พวกเขามี “ลูกบอล” หรือประทัดลูกกลมๆ เป็นอาวุธ
“ลูกบอลเอาไว้ขว้างไล่ช้าง ไล่กระทิง เสียงดังๆ สัตว์มันกลัว” คนหาเห็ดผู้หนึ่งเล่าให้ผมฟัง
ในระยะแรกเมื่อได้ยินเสียงดังๆ สัตว์ต่างๆ รวมทั้งช้างพากันตื่นหนี แต่เมื่อพวกมันปรับตัวได้แล้ว การปักหลักสู้หรือเข้าโจมตีก่อนคือสิ่งที่ช้างเลือก
“ถ้าเป็นช้างฝูงมันจะให้พวกพี่เลี้ยงพาเจ้าพวกตัวเล็กๆ หลบไปก่อน พวกตัวโตๆ จะแอบซุ่มอยู่ พอคนเข้าใกล้ๆ ก็พุ่งออกมา” ชาติ คนหาเห็ดอีกผู้หนึ่งเล่า
มีคนหลายคนบาดเจ็บ สองปีก่อนมีชาวบ้านเสียชีวิตเพราะถูกกระทิงโจมตี
“ช้างหรือกระทิงมันไม่แยกหรอกครับว่าใครเป็นใคร พวกหาของป่าหรือคนดูแลป่า”
จักร ชายหนุ่มหัวหน้าชุดลาดตระเวนผู้เคยมีประสบการณ์วิ่งหนีช้างบ่อยๆ บอก เมื่อเราพบกันที่สำนักงานเขตฯ ในวันหนึ่ง
“ที่ป่าที่ผมอยู่น่ะรุนแรงกว่านี้เยอะครับ” อดัม หัวหน้าโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งในป่าซุนดาบานส์ฝั่งบังกลาเทศ พูดขณะเรานั่งคุยกันถึงเรื่องการปะทะระหว่างคนและสัตว์ป่า ที่ครัวของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
“เชื่อไหมครับว่าที่นั่นเฉลี่ยแล้วในปีหนึ่งๆ มีคนถูกเสือโคร่งโจมตีสัปดาห์ละ ๑ คน”
ซุนดาบานส์เป็นป่าชายเลน มีคนอาศัยอยู่ในป่านั้นทั่วไป
“เวลาชาวบ้านเข้าไปตัดไม้ทำเสียงดังๆ สักพักเสือก็จะมา การปะทะจะเกิดขึ้น ไม่คนก็เสือจะบาดเจ็บ” อดัมพูดต่อ
“ผมไม่รู้หรอกครับว่าการปะทะแบบนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไมเสือที่นั่นเลือกโจมตีคน เป็นไปได้เหมือนกันว่าพวกมันถ่ายทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่าว่าคนเป็นศัตรู”
ผมนั่งฟังสิ่งที่อดัมพูด นึกถึงสภาพป่าที่คนสามารถเกิดอาการบาดเจ็บได้ทุกเมื่อจากฝีมือของสัตว์ป่า
ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ของผมนั้น ทุกครั้งที่พบเจอสัตว์ป่า แม้เพียงได้กลิ่นของคน สัตว์ต่างๆ ก็จะตื่นหนี นอกจากครั้งที่ผมเข้าไปใกล้พวกมันเกินระยะอนุญาต การโจมตีจึงจะเกิดขึ้น
“พวกมันเป็นชีวิตนะครับ และก็รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เปลี่ยนไป” อดัมย้ำ
๑๑.๕๕ นาฬิกา
หลังจากนั่งพักเหนื่อยอยู่ชั่วครู่ ผมชวนอ่อนสาเดินต่อ ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฝนคงตกในไม่ช้า
นึกถึงแววตาของช้างเมื่อสักครู่ อาจเป็นด้วยอุปาทาน ผมไม่เห็นแววแห่งความเป็นมิตรเลย
อยู่ในป่าในพื้นที่ของตนซึ่งถูกรุกล้ำอยู่ตลอดเวลา คงไม่ใช่เรื่องสบายนักหรอก
ผมต้องเดินอยู่ในป่าอีกนาน แม้ว่าจะไม่เห็นท่าทีแห่งความเป็นมิตร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ระหว่างสัตว์ป่าและคน
และผมก็เชื่อว่า เมื่อมองด้วยสายตาแห่งความเป็นมิตรพวกมันจะเห็น
ช้างป่า
ช้างซึ่งมีลูกตัวเล็ก ๆ อยู่ในฝูง จะรีบต้อนให้ลูก ๆ เข้ามาอยู่ในวงล้อมของพวกโต ๆ ทันทีที่ได้กลิ่นหรือพบเห็นสัตว์ผู้ล่า รวมทั้งคน