ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์
อยากให้คนอ่านมองเห็นศิลปะ
เหมือนคนที่มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่เพียงวัตถุที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้น
เหมาะสำหรับอ่านตอนดื่มกาแฟยามเช้า

ในนิทรรศการ Maison & Objet 2012 ที่ปารีสเมื่อต้นปีนี้  โทะคุจิน โยชิโอคะ (Tokujin Yoshioka) ทํางานศิลปะติดตั้ง (Installation) มีชื่อว่า Now! Design à vivre
Creator of the Year  แม้บางเว็บไซต์จะแปลคํานี้ว่า Designer of the Year  สําหรับผมแล้ว คําว่า “นักสร้างสรรค์แห่งปี” นับว่าเหมาะสมที่สุด

โยชิโอคะเป็นนักสร้างสรรค์ไม่จํากัดสาขา ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเขา (www.tokujin.com) ระบุผลงานสร้างสรรค์ที่สามารถเลือกเข้าไปชมดังนี้ Design/Art/Gallery/Architecture เมื่อคลิกเข้าไปจะพบว่างานแต่ละชิ้นมีทั้งที่เป็นงานสร้างสรรค์ศิลปะของเขาเองและงานที่ลูกค้าแบรนด์เนมมาขอให้ออกแบบ มีทั้งที่เป็นงานนามธรรมเข้าใจยากและผลิตภัณฑ์น่าซื้อ มีทั้งสเกลเล็กพอจะหิ้วกลับบ้านได้และสเกลใหญ่พอจะเข้าอยู่อาศัย  แม้จะขัดกับความเข้าใจทั่วไปที่มักแยกแยะแปะป้ายบุคคลว่าเขาเป็นศิลปิน นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักออกแบบกราฟิก หรือสถาปนิกก็ตาม  แต่นักสร้างสรรค์ชาวญี่ปุ่นผู้นี้นับว่าสืบทอดประเพณีของชนชาติได้ดีที่สุด เพราะสำหรับญี่ปุ่น ศิลปะไม่ได้แยกจากหัตถกรรม งานออกแบบไม่ได้แยกจากวิจิตรศิลป์

งานของโยชิโอคะสร้างสรรค์จากธรรมชาติ  ความหมายที่ธรรมชาติมีต่อผู้คนในประเทศนี้เป็นเรื่องประจักษ์ชัดของคนทั่วโลก ภาพคนญี่ปุ่นเข้าแถวรอรับความช่วยเหลืออย่างเป็นระเบียบในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อมีนาคมปีที่แล้ว เป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงถึง “ธรรมชาติ” ในจิตใจคนญี่ปุ่น  สําหรับคนทํางานสร้างสรรค์ในประเทศนี้ ธรรมชาติไม่ได้เป็นแค่แรงบันดาลใจ แต่ธรรมชาติเป็นตัวก่อรูปทั้งคนและผลงาน หรือกล่าวในระดับกว้างขึ้นก็คือ ประเทศและวัฒนธรรมก่อรูปด้วยธรรมชาติ

จากซ้ายไปขวา : Pane Chair และ Honey-Pop (แหล่งภาพ moma , vmspace,  และ artblart – ภาพสุดท้ายโดย Jorg Arend/ Maria Thrun)

ลองเลือกผลงานของโยชิโอคะที่มาจากสองโซนของการสร้างสรรค์–เก้าอี้และงานศิลปะ ในผลงาน Pane Chair (๒๐๐๖) เส้นไฟเบอร์ถูกมัดเข้าด้วยกันเป็นรูปทรงกระบอกผ่าครึ่งห่อด้วยผ้า นําไปใส่ในท่อกระดาษ อบ (แบบขนมปัง) ที่อุณหภูมิ ๑๐๔ องศาเซลเซียสเพื่อให้เส้นไฟเบอร์ “จํา” รูปทรงที่มัดไว้  เส้นไฟเบอร์ที่รวมตัวกันจะรับและกระจายน้ำหนักของผู้นั่งไปตามส่วนต่างๆ กลายเป็นโครงสร้างที่น่าทึ่ง  หรือ Honey-Pop (๒๐๐๐) นำกระดาษมาคํานวณแล้วตัดอย่างประณีต จากนั้นติดกาวในจุดที่กําหนด เมื่อคลี่กระดาษทั้งหมดออกจะก่อให้เกิดโครงสร้างรวงผึ้งรูปเก้าอี้  ผลงานทั้งคู่เป็นการนําธรรมชาติของวัสดุ ๒ ประเภทมาก่อให้เกิดรูปทรงในกระบวนการที่ใกล้เคียงกันกับการสร้างสรรค์รูปทรงของธรรมชาติ (อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม แรงกดดัน ฯลฯ)  อย่างไรก็ตาม ความงามอย่างที่สุดบนเก้าอี้ก็ต้องเป็นผลจากการเลือกสรรวัสดุของนักสร้างสรรค์ งามจนกระทั่งเกิดคําถามว่าจะนั่งได้ลงคอหรือเปล่า

จากซ้ายไปขวา Clouds และ Destiny, Moonlight, Unfinished (ภาพจาก designyoutrust และ kaonmagazine)

ในโซนที่เป็นวิจิตรศิลป์ โยชิโอคะเคยทดลองสร้างส่วนผสมของสารตกตะกอนขึ้นในถังของเหลว จากนั้นนําโครงข่ายของเส้นใยหรือโครงสร้างบางอย่างลงไปแช่เพื่อให้สารตกตะกอนเกาะ ตกผลึกจนกลายรูปเป็นคริสตัล (แบบเดียวกับการตกผลึกของเกลือหรือน้ำตาลที่เราเคยเล่นสมัยเด็ก)  การตกผลึกที่ไม่มีแบบแผนก่อให้เกิดรูปทรงที่กําหนดล่วงหน้าไม่ได้  ด้วยไอเดียเดียวกัน งานศิลปะชุด Destiny, Moonlight, Unfinished (๒๐๐๗) กระตุ้นการตกผลึกด้วยคลื่นเสียงจากซิมโฟนีหมายเลข ๕ และ Moonlight Sonata ของเบโทเฟน  คลื่นเสียงรูปแบบต่างๆ จากผลงานรังสรรค์ของอัจฉริยะบุรุษในอดีตได้ไปสั่นสะเทือนในระดับโมเลกุลในกระบวนการก่อรูปของผลึก ก่อให้เกิดผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากพลังของธรรมชาติบวกกับความคิดของนักสร้างสรรค์ผู้นี้

เวลาจัดแสดงงานชุดคริสตัล โยชิโอคะมักติดตั้งร่วมกับงานศิลปะชื่อ Clouds ซึ่งเป็นการร้อยเส้นไฟเบอร์ขาวใสจํานวนมากลงมาจากฝ้าเพดานราวกับก้อนเมฆ ส่งผลให้ห้องจัดแสดงมลังเมลืองด้วยบรรยากาศอันยากจะบรรยาย คล้ายขณะเราอยู่กลางทุ่งโล่งยามฝนใกล้ตก หมู่เมฆลอยต่ำ  ฉับพลัน เมฆนั้นกลับกลายเป็นดั่งความฝัน เบาสบาย