รุจีลักษณ์ สีลาเขต : เรื่อง
ผลงานจากค่ายสารคดี SCG ครั้งที่ 8

“เข้ามาจ้า เข้ามาเลย ไม่ต้องอายจ้า คนขายอายกว่า” เสียงตะโกนเรียกลูกค้าของชายร่างอวบมีเคราหนาในเสื้อผ้าฝ้าย สวมหมวกกะปิเยาะห์1 ดังขึ้นจากหน้าร้านแผงลอยเล็กๆบริเวณริมท่าเรือฝั่งหัวโค้งโรงพยาบาลศิริราช แค่มุกที่ยิงมาก็ทำเอาเราต้องเดินเข้าไปดูด้วยความสนใจอย่างอดไม่ได้แล้ว ชายคนดังกล่าวคล้ายจะรู้สึกตัวว่าเป็นเป้าสายตาจึงหยิบกระบอกโลหะแสตนเลสขึ้นมาและเทเครื่องดื่มสีน้ำตาลหอมกรุ่นลงจากกระบอกสู่อีกกระบอกอย่างแม่นยำและรวดเร็วทั้งที่ระยะห่างระหว่างกันก็ไม่ได้น้อยเลย ใช่แล้ว…นี่คือ “ชาชัก” เครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้นั่นเอง คุณคิดว่าร้านนี้ไม่ได้แปลกใหม่อะไรหรือ? รู้ไหมว่าบัง2 คนนี้ชักชาทีละสองกระบอกเลยนะ?

แม่เจ้า… เมพสุดๆ… เราลงความเห็นในใจและหันไปสบตากับตากล้องโดยไม่ได้นัดหมายซึ่งอีกฝ่ายก็พยักหน้าเห็นด้วยทันที ด้วยกลิ่นหอมกรุ่นและฟองครีมที่ลอยอยู่บนผิวตัดกับสีน้ำตาลออกส้มของชาในกระบอกโลหะมันช่างยั่วยวนเกินจะอดใจไหว วัยรุ่นสองหน่ออย่างพวกเราก็ไม่รอช้ารีบสั่งชาชักมาคนละแก้ว ณ บัดดล แล้วการชวนคุยกับมือชักชาระดับเทพของร้าน “อันวา ชาชักปัตตานี” ก็เริ่มขึ้น

บังมะ หรือมะเจ๊ะ ฮุสตอปาร์ ชาวไทยมุสลิมอายุ 32 ปีคนนี้คงเป็นมือชักชาที่ขี้เล่นที่สุดคนหนึ่งที่เราเคยเจอมา เขาออกตัวว่าถ้าเราสงสัยอะไรก็ถามมาได้หมดเพียงแต่ภาษาไทยของเขาไม่ค่อยแข็งแรงเท่านั้นเอง ก็คงจะจริงดังที่ว่าเพราะเขามักจะหันไปหยอกล้อกับคนอื่นๆในร้านด้วยภาษายาวีอยู่บ่อยๆตลอดการสนทนา กระนั้นเขาก็ยังนัดเรามาดื่มชาชักฟรีในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันล้างตลาดและร้านปิด (ดูเอาเถอะขนาดภาษาไทยไม่คล่องคุณพี่ยังสร้างสรรค์มุกได้ขนาดนี้) เขาบอกเล่าที่มาของตัวเองว่าอยู่ในวงการชาชักมาได้ 6 ปีแล้ว เคยเปิดร้านแผงลอยชาชักกับเพื่อนที่ตลาดนัดจตุจักรอยู่ไม่นานก่อนที่จะย้ายมาเป็น “มือชักตัวพ่อ” ของร้านอันวาแห่งนี้เมื่อหลายปีก่อน สมาชิกในร้านก็เป็นคนปัตตานีด้วยกันหมดไล่มาจากหญิงสาวหนึ่งเดียวในร้าน พี่ธนพร (ฮูดา) มหาภัรณ์ สาวสวยตาโตผิวขาวที่ยืนนวดแป้งทำโรตีอยู่อีกมุมหนึ่งของร้าน ส่วนผู้ชายผิวคล้ำตัวผอมหน้าเข้มอีกสองคนในร้านคือ พี่หมัดดารี จะปะกิยาและพี่ฮาซัน คือเดาะ ที่ต่างคนต่างก็มาจากคนละบริเวณของตัวจังหวัดหากแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการมาหารายได้ยังเมืองหลวงด้วยความสามารถที่ตนมี หนีจากความยากลำบากจากเหตุการณ์การลอบวางระเบิดในจุดต่างๆของปัตตานี หรือรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต(เชื่อไหมว่าราคาโรตีที่ปัตตานีตกแผ่นละบาท) พวกเขามาร่วมกันทำงานในร้านของพ่อพี่ฮูดาที่วังหลังทั้งที่ที่พักในปัจจุบันของแต่ละคนก็ไม่ได้ใกล้ที่ทำงานเลยแม้แต่นิด

บังมะเล่าให้ฟังต่อว่าคนในเมืองหลวงมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบต่างไปจากที่ปัตตานีมาก โรตีจากที่นิยมห่อเป็นม้วนจึงต้องมีแบบใส่ถาดพร้อมไม้เสียบลูกชิ้นให้จิ้มกินได้ทันทีมาเสริม แถมสภาพอากาศในกรุงเทพก็ร้อนจัดต่างจากอากาศแบบมรสุมที่ปักษ์ใต้ ชาชักที่นิยมดื่มร้อนๆในยามเช้าคู่กับโรตีและแกงถั่วลันเตาจึงต้องกลายมาเป็นชาเย็นใส่แก้วทรงสูงและมีหูหิ้วพลาสติกเพิ่มความสะดวกในการพกพาไปแทน “แต่รสชาติเหมือนเดิมนะ” บังมะยืนยันก่อนจะหันไปโชว์ชักชาเรียกลูกค้าต่อ เมื่อเห็นตากล้องของเรารัวชัตเตอร์ไม่ยั้งเพื่อเก็บภาพลีลาอันน่าทึ่งนี้ บังเลยยิ่งเอาใหญ่โชว์ชักชาขณะที่หมุนตัวให้ดูเป็นขวัญตา เส้นสายสีน้ำตาลส้มของชานมคู่กับเส้นสายสีเขียวของชาเขียวโอบล้อมรอบตัวชายร่างอวบอยู่ชั่วขณะเหมือนยามนักกายกรรมเล่นกับริบบิ้นสายยาว เรียกได้ว่าว่าความพลิ้วกินกันไม่ลงจริงๆ

“แล้วแต่สไตล์ใครสไตล์มันนะชาชักเนี่ย ไม่มีบังคับ แต่ว่าต้องใจรักนะถึงจะทำได้ ต้องอยู่กับมันน่ะ แต่อย่างพี่ท่าสลับมือชักทำไม่ได้นะ ติดพุง” ขณะที่พูดสองมือก็ไม่ได้ปล่อยว่าง ชายร่างใหญ่ยังคงหยิบกระบอกชาเขียวตรงนี้ กระบอกแตออ(โอเลี้ยง)ตรงนั้น กระบอกโกโก้ตรงโน้นมาชักไม่ได้หยุด “เข้ามาจ้า อ้าว…ชาหกจ้า อย่าบอกใคร” มือชักชาคนนี้ยังคงตะโกนขายชาสลับกับให้สัมภาษณ์อย่างไม่มีสะดุด มุกก็มียิงต่อเนื่อง แล้วอย่างนี้ใครจะไปเชื่อว่าภาษาไทยบังมะไม่แข็งแรง?

ชายร่างอวบอารมณ์ดีคนนี้เล่าให้เราฟังว่าชาชัก เป็นชาปักษ์ใต้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งในด้านรสชาติและการนำเสนอ โดยปกติมักใช้ผงชาซีลอนจากทางมาเลเซียเพราะมีรสชาติเข้มข้นและกลิ่นหอมกว่าผงชาไทย บางร้านที่ทางใต้จะผสมนมแพะร้อนๆไปด้วยต่างจากการใช้นมข้นจืดอย่างที่นิยมกันในกรุงเทพฯ สัดส่วนโดยทั่วไปของชาชัก 1 กระบอกคือจะใช้นม 3 กระป๋องและผงชาจำนวนหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วการเลือกใช้ส่วนผสมก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละร้านล้วนๆ ต้นทุนในการเปิดร้านตกราวๆสามหมื่นถึงสี่หมื่นบาท แต่ถือว่าคุ้มค่าเพราะอุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นกระบอกแสตนเลสต่างๆที่ใช้ในการชงชาทั่วไป หาซื้อได้ไม่ยาก และยิ่งร้านที่ชงชาได้อร่อย ทำเลดี จะขายชาได้ถึงวันละ300-400แก้วในวันธรรมดา(ประมาณ9,000บาท) และในวันเสาร์-อาทิตย์จะขายได้ถึงวันละ500แก้ว(12,500บาท)

นอกเหนือไปจากเรื่องวัตถุดิบและอุปกรณ์แล้ว การชักชาก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ต้องใช้ทั้งความรักและความตั้งใจในการฝึกฝน บังมะสารภาพว่าตนเองต้องฝึกทุกวันและต้องใช้ชาจริงทุกครั้งในการฝึกเพราะความหนืด ความข้นของชาย่อมต่างจากน้ำเปล่า เขาหัวเราะลั่นทีเดียวเมื่อเราถามว่าตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมาทำชาหกไปเยอะแค่ไหน “มันก็เหมือนช่างเครื่องนั่นแหละ มือต้องเลอะน้ำมัน ถึงจะเก่ง ชาไม่หกไม่ได้ ก็ไม่เรียกว่าชาชัก”

ทว่าบังมะพูดอย่างไม่ลังเลเลยว่าจริงๆแล้วการชักชาก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น เป็นเพียงลีลาในการนำเสนอเท่านั้น “ที่อร่อยมันอยู่ที่ชา ถึงไม่ชักก็ไม่เป็นไร ชามันดีอยู่แล้ว แต่ว่าคนกรุงเทพเขาไม่ค่อยได้กิน”

พอคุยไปคุยมาเราถึงค่อยรู้ว่าบังมะเป็นคนดัง เคยออกโฆษณาชาชักคู่กับน้องใบเฟิร์น ออกรายการทั้งรายการ“สะบัดช่อ”และ “วันวานยังหวานอยู่” แถมยังเป็นดาราหน้ากล้องมาแล้วในละคร “สาวน้อยร้อยเล่มเกวียน” โชว์ตัวทั้งในงานพืชสวนโลกที่เชียงใหม่ บริเวณเรือนไทยสี่ภาค งานเทศกาลอาหารที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานีและยังไปออกงานไกลถึงญี่ปุ่นในงาน festival 2008 ที่กรุงโตเกียว แต่ที่เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตคือการได้ไปโชว์ชักชาหน้าพระพักตร์พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ ที่วังเทเวศน์ “ตอนนั้นเกร็งมาก คือบริวาร(ข้าราชบริพาร)เยอะ แต่พระองค์ก็กินชาที่เราทำถวาย ดีใจมาก ตื่นเต้น”

เราคุยเล่นกับบังมะอยู่ครู่ใหญ่ก่อนที่บังมะจะขอตัวไปละหมาดและขี่มอเตอร์ไซค์หายลับไป เราจึงเบนเป้ามาที่พี่ฮูดา สาวสวยท่าทางใจดีที่ดูเด็กกว่าอายุ 35 ของตนเองที่นวดแป้งโรตีอยู่เงียบๆทางด้านข้างร้าน พี่ฮูดาแต่งกายอย่างมุสลิมะห์3 ที่ดีคือมีการคลุมผมเรียบร้อย และสวมเสื้อแขนยาวปกปิดมิดชิด เธอส่งยิ้มหวานให้เราเมื่อเราเริ่มถามถึงความเป็นมาของโรตีชาไนที่กำลังทำอยู่ คำว่า “ชาไน” นั้นหมายถึงการม้วน(เป็นขด) อันเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะต้องทำหลังจากปาก้อนแป้งลงบนรถเข็น รีดจนแผ่นแป้งบางเฉียบและแผ่นแป้งนำมาม้วนเล็กน้อยเป็นแท่ง ก่อนจะนำไปทอดในลำดับท้ายสุด ขั้นตอนการม้วนเป็นขดหลวมๆจะทำให้แผ่นแป้งมีฟองอากาศแทรกอันเป็นที่มาของความนุ่มเนียนของโรตีปักษ์ใต้ชนิดนี้

ส่วนผสมในการทำโรตีชาไนไม่ได้แตกต่างจากการทำโรตีแบบปกติแต่อย่างใด มีการใช้แป้งหมี่(แป้งสาลี)มาผสมกับน้ำ นวดจนส่วนผสมจับตัวกัน ปั้นเป็นก้อนและใช้น้ำมันพืชทาเล็กน้อยเมื่อวางก้อนแป้งเรียงกันก่อนจะทำขาย แต่สิ่งที่ทำให้โรตีชาไนต่างออกไปคงจะเป็นขั้นตอนการปาแป้งที่จะต้องทำให้แผ่นแป้งบางไปจนถึงขอบและมีฟองอากาศปะปนอยู่ก่อนจะนำมาม้วนเป็นขดดังที่กล่าวไปแล้ว รวมไปถึงหลังจากการทอดแผ่นโรตีในกระทะทาน้ำมันพืชบางๆแล้ว พี่ฮูดายังต้องช้อนโรตีขึ้นมาจากกระทะและใช้มือเปล่าตบแผ่นโรตีร้อนๆจากด้านข้างเพื่อให้โรตีนุ่มและฟูอีกด้วย กระนั้นถึงเราจะดูว่าท่าทางพี่ฮูดาออกจะ “มือโปร” (หรือจะเป็น “โปรโมชั่น” ตามที่บังมะแซว?) พี่ฮูดาก็พูดอย่างถ่อมตัวว่าไม่ค่อยรู้อะไรมาก หากอยากถามอะไรละเอียดคงต้องถามเยาะห์4 ของเธอเอาเอง

พูดไม่ทันขาดคำชายร่างล่ำสัน ผมสีดอกเลา ไว้เคราแพะ นัยน์ตายิ้มได้ก็เดินเข้ามาในร้าน อาลี เชคโก หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “ผู้เฒ่าวังหลัง” ทักทายเราอย่างเป็นมิตร เพียงแค่ชั่วขณะแรกที่พูดคุยกันเราก็ฟันธงไปเรียบร้อยแล้วว่า ท่านผู้เฒ่าคนนี้โดนใจเราเต็มๆ อาจเพราะน้ำเสียงที่อ่อนโยน มีเมตตา หรือเพราะความรู้ที่กว้างขวางไม่เฉพาะแค่เรื่องโรตีแต่ยังเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอื่นๆและถ่ายทอดให้เราฟังแบบไม่มีกั๊ก หรือจะเป็นเพราะการที่เขาเรียกแทนตัวเองว่า “ผู้เฒ่า” (แอร๊ยยย น่ารักอะ) เอาเป็นว่ารู้ตัวอีกทีเราก็นั่งฟังท่านผู้เฒ่าเล่าเรื่องเพลินอยู่เป็นนานสองนานไปซะแล้ว

โรตีนั้นเข้ามาในประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพวกพ่อค้าชาวเปอร์เซีย ตามที่ท่านผู้เฒ่าบอกเล่ามา ด้วยความที่ทางใต้เป็นคาบสมุทรเหมาะแก่การเป็นเมืองท่า พ่อค้าเหล่านี้จึงมาพักอาศัยและทำการค้าทั้งเครื่องเทศและผ้าไหม และนำโรตีเข้ามาในประเทศไทยเพราะชาวเปอร์เซียทานโรตีเป็นอาหารหลักคู่กับแกงต่างๆ เช่น แกงมัสมั่น แกงถั่ว และสะเต๊ะ แต่คนกรุงเทพเพิ่งจะมารู้จักโรตีก็สมัยรัชกาลที่ 3 นี่เอง ส่วนชาชักร้อนๆที่ทานคู่กันมานานยิ่งแล้วใหญ่ คือเพิ่งจะมาบูมเมื่อไม่นานมานี้ ในคาบสมุทรมลายูมีตำนานเกี่ยวกับโรตีและชาชักที่น่าประทับใจที่เล่าสืบต่อกันมาว่ามีชายหนุ่มชาวไทยไปทำงานที่ร้านชาในมาเลเซียและตกหลุมรักลูกสาวเจ้าของร้านชา ทว่าเจ้าของร้านชาชาวมาเลย์กลับยื่นคำขาดว่าเขาจะต้องชักชาให้ได้เป็นสายต่อเนื่องและตีแผ่นโรตีได้เหมือนผีเสื้อบินเสียก่อนจึงจะอนุญาตให้ลูกสาวแต่งงานด้วย ชายหนุ่มจึงฝึกฝนอยู่หลายปีจนกระทั่งสำเร็จและได้แต่งงานกับคนรักสมความตั้งใจ

ท่านผู้เฒ่าที่ดูไม่แก่เลยสักนิดเล่าว่าโรตีกับชาชักเป็นอาหารหลักของทางใต้ที่ขาดกันไม่ได้จริงๆ คนสูงอายุเกือบทุกคนจะต้องออกมานั่งดื่มชานมร้อนๆในตอนเช้าเสมอ ส่วนโรตีก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทานแทนข้าว เขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบโรตีมาก ในช่วงถือศีลอดตอนเด็กก็จะขอให้มะห์5 ทำแต่โรตีให้ทาน ถึงขนาดว่าถ้าจะต้องทานโรตีเปล่าๆทุกวันเขาก็อยู่ได้ และพออายุได้ 8 ขวบ ก็ช่วยเยาะห์ของเขาทำโรตีขาย

“8 ขวบเหรอคะเยาะห์” เราถามด้วยความตกใจและไม่ลืมที่จะนับญาติกับท่านผู้เฒ่าทันที(ลามปาม) ทว่าท่านผู้เฒ่าก็ยังคงยิ้มให้เราอย่างอบอุ่นเหมือนเดิม “ก็ผู้เฒ่าดูเยาะห์ทำไปเรื่อยๆ มันก็ทำได้เอง” เรียกได้ว่าพรสวรรค์เฉพาะตัวเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เพราะอย่างบังฮาซันที่ยืนช่วยบังมะขายชาอยู่หลังร้านก็ใช้เวลาเพียงแค่สองวันเท่านั้นในการฝึกทำชาชักและโรตี(ไม่ได้ล้อเล่นนะ) พอเราถามเยาะห์เป็นเชิงหยอกเรื่องการตีโรตีเหมือนผีเสื้อบินอย่างในตำนานว่าทำได้ไหม เยาะห์ก็ตอบยิ้มๆว่าทำตรงนี้คงจะไม่ได้ เพราะว่าติดผ้าใบบังแดดของร้าน (แปลว่าถ้าเป็นที่โล่งเยาะห์ก็ทำได้ค่ะท่านผู้อ่าน ของเขาแรงจริงค่ะ อย่าท้า) การตีโรตีให้เหมือนผีเสื้อบินแบบที่ว่าคือการค่อยๆหมุนและแผ่แป้งโรตีในระดับเหนือศีรษะ ก่อนจะหมุนเอียงข้อมือไปมาตามต้องการ ซึ่งน่ามหัศจรรย์มากว่าก้อนแป้งสาลีขนาดเท่ากำปั้นที่ทำขายปกติจะแผ่เป็นแผ่นแป้งใหญ่ได้พอๆกับถาดพิซซ่าและลอยอยู่บนฝ่ามือได้จริงๆ น่าเสียดายเหลือเกินที่เราไม่ได้เห็นกับตา เยาะห์อธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นเพราะต้องใช้แรงลมช่วยและต้องใช้พื้นที่กว้างจึงจะทำให้แผ่นแป้งหมุนได้อิสระตามต้องการ

การทำโรตีต้องใช้ความละเอียดอ่อนทุกขั้นตอนทั้งการนวดแป้งจนนุ่ม การตีหรือการปาก้อนแป้งต้องมีฟองอากาศ การรีดให้บางที่สุด ไปจนถึงการใช้ไฟทอดที่พอเหมาะ โรตีจึงจะออกมามีรสชาติดี เนื้อนุ่ม เนียน กรอบนิดๆตรงขอบนอก แม้จะเป็นโรตีเปล่าๆทาเนยน้อยๆก็ยังอร่อยและช่วยส่งเสริมรสชาติของชาชักร้อนๆที่ทานคู่กัน ชาชักเองก็ต้องใช้ความใส่ใจไม่ต่างกัน น้ำที่ใช้ชงชาต้องร้อนจัด กลิ่น สี และรสของชาจึงจะออกมาอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่สภาพอากาศที่ถ้าเย็นจนเกินไปฟองของชาชักก็จะไม่ขึ้น (แบบที่เกิดขึ้นมาแล้วที่งานที่ญี่ปุ่นตามที่บังมะเล่า ทำเอาบังตกใจแต่ก็ยังชักชาต่อไปอย่างนั้น) ทว่าเมื่อพูดถึงในขั้นตอนการหาวัตถุดิบ การเตรียมส่วนผสมของชาชัก เยาะห์เปรยออกมาทันทีว่า “โอย ลูกเอ๋ย…” แสดงให้รู้ทันทีว่าคงเป็นขั้นตอนที่ลำบากที่สุดแล้ว ทั้งจากการไปซื้อผงชาซีลอนจากมาเลเซียที่ขึ้นชื่อว่าให้กลิ่น สี รสชาติที่เข้มข้น หวาน มัน แต่ไม่เลี่ยนจนเกินไป และยอมเสียค่าภาษีชา 30% เสียค่าต้นทุนทางเรือนับหมื่น ก่อนจะนำผงชากว่าสิบยี่ห้อมาผสมกัน ลองผิดลองถูกจนกว่าจะได้รสชาติที่ลงตัวอย่างปัจจุบัน

“แต่ไม่ถือว่าขาดทุนนะ ศาสดาของเราสอนว่าการค้าขายนี่ต้องซื่อตรง เราทำให้ทำเขากินก็ต้องกินได้” ท่านผู้เฒ่าตอบทันที ผลก็คือมีลูกค้าหลายรายขอเบอร์โทรศัพท์มือถือมาโทรศัพท์สั่งชาชักเอาไว้ก่อนที่จะเดินทางมาถึง ลูกค้าประจำบางรายก็มาไกลทั้งจากเพชรบุรี จากประจวบคีรีขันธ์ก็มีมาแล้ว

ระหว่างการสนทนามีลูกค้ามาซื้อทั้งโรตีและชาชักเป็นระยะอยู่ไม่ขาด เยาะห์ทำไปก็ยิ้มไป “ที่บางกอกนี่ดีนะ แม้จะมีศาสนิกอื่นก็ยังมีความห่วงใย ยังมีคุณค่าทางจิตใจต่อกัน” เขาพูดจากประสบการณ์การเปิดร้านชาชักบริเวณวังหลังมานานพอสมควร “เรามานี่ก็เหมือนมาให้เขารู้จัก(ทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา)” ท่านผู้เฒ่าพูดก่อนจะหันไปอธิบายถึงที่มาของแตออหรือโอเลี้ยงให้ลูกค้าฟังว่ามาจากการย่อคำว่า แตออเลี้ยง หรือ เครื่องดื่มจากกากชาดำเย็นที่ “ต้องร้อน” (แตออ)ก่อนจะมาเป็นโอเลี้ยงเย็นๆไปเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ
ตลอดการสนทนาในบ่ายนั้น เรารู้ซึ้งเลยว่าความรู้ของเยาะห์มีรอบด้านจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอื่นๆของท้องที่นอกจากอาหาร อย่างเช่น หนังตะลุง หรือแม้แต่การอธิบายเรื่องศาสนาอิสลามให้ศาสนิกอื่นเข้าใจ นอกจากนี้เยาะห์ยังเป็นผู้รู้ทางด้านศาสนาที่แม้แต่อิหม่ามในท้องที่ก็ยังมาขอคำปรึกษาอยู่บ่อยครั้งอีก ภารกิจเยาะห์รัดตัวถึงขั้นที่ว่าสัปดาห์หน้าเยาะห์จะต้องล่องใต้ไปอีกหลายเดือนเพื่ออบรมเรื่องศาสนาให้กับเยาวชนไทยมุสลิมทางใต้ไม่ให้หันไปสู่ความรุนแรง

ชายชราหันมาส่งยิ้มให้เราและเน้นย้ำถึงการยึดหลักศาสนาในการใช้ชีวิตไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม “การรู้จักตัวเองน่ะดีนะ ไม่ใช่มีแต่จิตวัตถุ เรามีจิตวิญญาณแล้วเรารู้จักตัวเอง เราก็จะไม่หลงทาง” ดังเช่นเยาะห์เองที่เชื่อว่าอัลเลาะห์ได้มอบลูกค้าให้กับเขา ดังนั้นเขาจึงขายชาชักและโรตีด้วยคุณภาพตามที่ศาสนาได้กำหนดไว้ ตามที่ควรจะเป็น

“มาอยู่ในสังคมถึงจะต่างศาสนาแต่ทุกคนเป็นคนไทย ก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ผู้เฒ่าเชื่อว่าเราไม่ควรจะเป็นผู้รับอย่างเดียว ต้องให้ด้วย อย่างเวลานักเรียน นักศึกษามาซื้อโรตีแล้วเงินไม่พอหรืออะไรก็ตามเนี่ย ผู้เฒ่าก็เรียกเลย มา มา แล้วผู้เฒ่าก็ทำให้กิน ก็ให้ไปเลย” ถึงจะฟังดูไม่มากมาย แต่เราเชื่อว่าการให้ด้วยใจย่อมทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้ผู้รับ

มุกนี้จะเชยไปไหมหากเราจะบอกว่าก็เหมือนกับที่โรตีต้องมีชาชักช่วยเสริม หรือกาแฟต้องคู่กับปาท๋องโก๋นั่นแหละ ในสังคมไทยที่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน แม้แต่ละคนจะมีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ของตน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่แต่ละคนจะลดอคติลงและหันมาทำความรู้จักกัน เกื้อกูลกันในฐานะของสมาชิกในสังคม ในฐานะเพื่อนร่วมโลก

มิใช่หรือ? ….

เชิงอรรถ

1.หมวกกลมที่มุสลิมชายนิยมสวม
2.บัง หรือ อาบัง เป็นคำเรียกในภาษายาวี  แปลว่าพี่ชาย
3.มุสลิมะห์  หมายถึง หญิงชาวมุสลิม  หากเป็นชายจะใช้คำว่ามุสลิมีน  ส่วนคำว่า มุสลิม คือคำเรียกโดยรวมของผู้นับถือศาสนาอิสลาม
4.เยาะห์ เป็นภาษายาวี หมายถึงพ่อ ปกติมักใช้คำว่า ป๊ะ, เป๊าะห์ หรือ ป๋า แต่ เยาะห์ หมายถึง พ่อที่ได้ไปทำฮัจญ์ที่นครเมกกะมาแล้ว
5.มะห์ หมายถึง แม่