ธนาพล อิ๋วสกุล
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เปลี่ยนรูปการณ์จิตสำนึกของประชาชนอย่างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม หรือความคิดว่าประเทศนี้เป็นของประชาชนทุกคนอันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐประชาชาติหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ขณะเดียวกันในระยะเวลา ๘๐ ปี สังคมการเมืองไทยก็มีความเปลี่ยนผันอันเกิดจากพลวัตภายในสังคมเอง กับบริบทของสังคมการเมืองระดับโลก
“บันทึก ๘๐ ปีการเมืองไทย” นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในรอบ ๘๐ ปี ด้วยภาพและข้อมูลพื้นฐานจัดวางในรูปแบบ “ไทม์ไลน์” เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในภาพรวม พร้อมกันนั้นยังนำเสนอบริบทความเปลี่ยนแปลงในรอบ ๘ ทศวรรษ ด้วยภาพเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างมีพลวัต
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ ๘๐ ปี ไม่เพียงทำให้เรารู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ? แต่ยังทำให้เราได้ตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อเดิม ๆ ดังที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญได้กล่าวไว้ว่า
“ถ้าไม่เรียน ไม่รู้ประวัติศาสตร์ ก็ตาบอดไปแล้วข้างหนึ่ง แต่ถ้าเรียน ถ้ารู้ แล้วเชื่อประวัติศาสตร์สุดๆ ก็ตาบอดทั้งสองข้าง”
ทศวรรษที่ ๑
๒๔๗๕-๒๔๘๔
วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ก่อให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจสยามที่เข้าสู่กลไกการค้าโลกตั้งแต่ทำสนธิสัญญาเบาริงปี ๒๓๙๘ ก็ไม่รอดพ้นวิกฤตดังกล่าว ขณะเดียวกันการปฏิวัติซินไฮ่ที่ล้มล้างราชวงศ์ชิงแล้วสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นในปี ๒๔๕๔ ได้จุดประกายความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อผนวกกับความคิดเรื่องประชาธิปไตยของนักเรียนไทยที่ไปศึกษาในตะวันตก และความเสื่อมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
๒๔๗๕ : อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรอันประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร พลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ภายใต้เจตนารมณ์ที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” โดยยึดหลัก ๖ ประการ ประกอบด้วยเอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา
๒๔๗๕-๒๔๗๗ : วิกฤตการเมืองระลอกแรก
จากความขัดแย้งเรื่อง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” [มีนาคม ๒๔๗๕ (ปีปฏิทินเก่า)] นำมาสู่การรัฐประหารโดยการปิดสภาผู้แทนราษฎร (เมษายน ๒๔๗๖) มีการออก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ การยึดอำนาจคืนของคณะราษฎร (มิถุนายน ๒๔๗๖) สงครามกลางเมืองกรณีกบฏบวรเดช (ตุลาคม ๒๔๗๖) และจบลงที่การสละราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว [(มีนาคม ๒๔๗๗ (ปีปฏิทินเก่า)] ส่งผลให้สถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ลดลง
เลือกตั้งยึดโยงอำนาจราษฎร
วันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกโดยเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ส.ส. จากการเลือกตั้งชุดแรก ๗๘ คนรวมกับ ส.ส. ประเภท ๒ จากการแต่งตั้งอีก ๗๘ คน ทำหน้าที่จนครบวาระในปี ๒๔๘๑ ปัจจุบันมีการเลือกตั้ง ส.ส. มาแล้ว ๒๖ ครั้ง (โมฆะ ๑ ครั้ง) แต่สภาผู้แทนราษฎรก็มิได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการรัฐประหาร ยกเลิกสภาฯ กินเวลารวมมากกว่า ๒๐ ปี การเลือกตั้งมิใช่ทั้งหมดของระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อที่จะยึดโยงกับราษฎรในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยดังเจตนารมณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
๒๔๗๗ : เปิดตลาดวิชา
“ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” คือเจตนารมณ์หนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ มีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นเป็นตลาดวิชาเพื่อทำหน้าที่เป็น “บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้” ความรู้ต้องห้ามก่อนหน้านั้น เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง ฯลฯ ก็เปิดสอนอย่างเปิดเผย มธก. มีผู้สมัครเรียนในปีแรกถึง ๗,๐๔๙ คน
๒๔๘๓ :เอกราชสมบูรณ์
การรักษาเอกราชในทางการเมือง ศาล เศรษฐกิจ เป็นอุดมการณ์ร่วมของคณะราษฎร หลังเปลี่ยนแปลงปกครองได้มีความพยายามแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พร้อม ๆ กับการปรับปรุงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ จนนำมาสู่การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในปี ๒๔๘๓ สยามก็ได้รับเอกราชสมบูรณ์ทั้งทางด้านการเมือง ศาล และเศรษฐกิจ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี (๒๔๘๑-๒๔๘๗)
๒๔๘๑-๒๔๘๓ : ชาตินิยมทางทหาร
ในปี ๒๔๘๑ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มนโยบายชาตินิยมทางทหารขึ้น โดยเริ่มจากการประกาศรัฐนิยมฉบับต่าง ๆ และนำไปสู่การทำสงคราม “แย่งดินแดน” กับฝรั่งเศส เกิดการสู้รบอย่างรุนแรงในปี ๒๔๘๓ ชัยชนะเป็นของฝ่ายไทยจนได้ดินแดน “คืน” จากการเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น ต่อมาต้องคืนดินแดนดังกล่าวแก่ฝรั่งเศสภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
ทศวรรษที่ ๒
๒๔๘๕-๒๔๙๔
สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่มหาอำนาจเดิมอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็บอบช้ำจากสงครามจนต้องปล่อย “อาณานิคม” ให้เป็นเอกราช ขณะที่เยอรมนี ญี่ปุ่น ต้องเผชิญกับสภาวะผู้แพ้สงคราม เยอรมนีแบ่งประเทศเป็นเยอรมนีตะวันออก/ตะวันตก ญี่ปุ่นต้องใช้รัฐธรรมนูญที่สหรัฐอเมริกาหยิบยื่นให้ ส่วนประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามเนื่องจากการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย
หลังจากนั้นการเมืองหลังสงครามก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างค่าย “โลกเสรี” นำโดยสหรัฐอเมริกา กับค่าย “คอมมิวนิสต์” นำโดยสหภาพโซเวียต ที่เรียกกันว่า “สงครามเย็น” หลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ไทยได้เลือกจุดยืนเคียงข้างสหรัฐอเมริกาต่อต้านคอมมิวนิสต์
๒๔๘๕-๘ : สงครามโลกครั้งที่ ๒
๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยก่อนหน้านั้นได้ลงนามในสัญญาร่วมวงศ์ไพบูลย์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ขณะเดียวกันนายปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการต้านรัฐบาล และแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนไทย หลังสงครามยุติ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทย
๒๔๘๙-๙๐ : การเมืองหลังสงคราม
หลังสิ้นสุดสงครามถือเป็นยุคประชาธิปไตยช่วงแรกของไทย รัฐบาลฝ่ายเสรีไทยนำโดย ปรีดี พนมยงค์ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๘๙ ที่รับรองสิทธิเสรีภาพทางการเมือง มีการยกเลิกพ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ ๒๔๗๖, ก่อตั้งสหอาชีวกรรมกรแห่งประเทศไทย, มีการริเริ่ม “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศที่ต้องการปลดแอกจากลัทธิอาณานิคมของตะวันตก
๒๔๘๙ : กรณีสวรรคต
๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า “ได้สันนิษฐานว่าคงจะจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบแล้วเกิดอุปัทวเหตุขึ้น” ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่ก็ไม่อาจหยุดข่าวลือที่ว่ารัฐบาลมีส่วนรู้เห็นในกรณีดังกล่าว จนเป็นเหตุให้มีการรัฐประหารในเวลาต่อมา
การกลับมาของสถาบันกษัตริย์
สถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ลดลงเพี่อให้สอดคล้องกับระบอบใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ เริ่มจาก รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ หรือที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ได้ถวายคืนพระราชอำนาจแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางวัฒนธรรม พระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ นับเป็นหมุดหมายสำคัญ จนกระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังรัฐประหาร ๒๕๐๐ และลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในปัจจุบัน
๒๔๙๐ : รัฐประหาร ๒๔๙๐
๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการรัฐประหารโดยอ้างเหตุว่ารัฐบาลพลเรือน (รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันและคลี่คลายกรณีสวรรคตได้ การรัฐประหารครั้งนี้ได้สร้างประเพณีใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือการฉีกรัฐธรรมนูญ การยุบสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาการรัฐประหารได้รับการรับรองด้วยอำนาจตุลาการในปี ๒๔๙๖ ว่าชอบด้วยกฎหมาย จนกลายเป็นวัฒนธรรมการรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน
ยุคทมิฬ
ภายหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ มีความพยายามต่อต้านอำนาจรัฐด้วยการใช้กำลัง เช่น กบฏเสนาธิการ (๒๔๙๑) กบฏวังหลวง (๒๔๙๒) กบฏแมนฮัตตัน (๒๔๙๔) ขณะที่คณะรัฐประหารก็ตอบโต้ด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง เช่นคราวกบฏแมนฮัตตันมีผู้เสียชีวิต ๖๘ ราย บาดเจ็บ ๑,๑๐๐ ราย ในช่วงเวลานั้นคณะรัฐประหารยังได้ดำเนินการกวาดล้างทางการเมืองครั้งใหญ่ มีการสังหาร สี่รัฐมนตรีในเดือนมีนาคม ๒๔๙๒, การกวาดล้างขบวนการเสรีไทยในภาคอีสาน เป็นต้น
ทศวรรษที่ ๓
๒๔๙๕-๒๕๐๔
หลังจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่กองกำลังเวียดมินห์นำโดยโฮจิมินห์ในยุทธการเดียนเบียนฟู ปี ๒๔๙๗ ในฐานะเจ้าอาณานิคม ฝรั่งเศสต้องถอนตัวออกจากอินโดจีน แต่ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ โดยแบ่งประเทศเวียดนามเป็นเวียดนามใต้กับเวียดนามเหนือ นับจากนั้นสงครามเพื่อเอกราชในอินโดจีนก็ดำเนินไปอีกครั้ง ขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาแทรกแซงกิจการในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่การสนับสนุนกองทัพ ตำรวจ ตลอดจนมีบทบาทในการสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์
ยุคพัฒนา
๑ ตุลาคม ๒๕๐๔ มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ โดยมุ่งสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนเอกชนในการลงทุน โดยยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดิน พร้อมๆ กับการจำกัดสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจยังเป็นส่วนหนึ่งในการสะกดความใฝ่ฝันของสังคมด้วยการเสนออุดมการณ์ “พัฒนา” เป็นหนทางไปสู่การสร้างความสำเร็จภายใต้ระบอบเผด็จการสมบูรณ์แบบ
๒๔๙๕ : กบฏสันติภาพ
๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำการจับกุมนักคิดนักเขียน นักการเมือง ซึ่งรวมตัวกันในนาม “คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย” เพื่อรณรงค์ต่อต้านสงครามและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคอีสาน นำโดยนายแพทย์เจริญ สืบแสง ส.ส. ปัตตานี นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญ โดยอ้างว่ามีการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์ และออก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ในอีก ๓ วันต่อมา
๒๔๙๗ : พันธมิตรซีโต้ต่อต้านคอมมิวนิสต์
สมรภูมิเดียนเบียนฟูเมื่อฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กองทัพเวียดนามเหนือ ทำให้ภัยคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ๘ กันยายน ๒๔๙๗ ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญามะนิลา เพื่อก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ เป็นองค์การที่ป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์
๒๔๙๗ : หะยีสุหลง ผู้นำมุสลิมชายแดนใต้ หายสาบสูญ
หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี นักการศาสนาคนสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ยื่นข้อเสนอ “ปฏิรูปชายแดนใต้ ๗ ข้อ” ต่อรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์(๓ เมษายน ๒๔๙๐)ประกอบด้วย
๑) ขอปกครอง ๔ จังหวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน ๔ จังหวัด
๒) การศึกษาในชั้นประถม (ขณะนั้นชั้นประถมมีเรียนแค่ชั้น ป. ๔ ให้มีการศึกษาภาษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทย
๓) ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน ๔ จังหวัดเท่านั้น
๔) ในจำนวนข้าราชการทั้งหมด ขอให้มีข้าราชการชาวมลายูร้อยละ ๘๕
๕) ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย เป็นภาษาราชการ
๖) ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาอิสลาม โดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด
๗) ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกอฎี หรือดาโต๊ะยุติธรรมตามสมควรและมีเสรีภาพในการพิจารณาคดี เมื่อมีการรัฐประหาร ๒๔๙๐ หะยีสุหลงถูกจับกุมและถูกจองจำ ๔ ปี ๘ เดือน ฐานกล่าวร้ายรัฐบาลด้วยเอกสาร สิงหาคม ๒๔๙๗ ได้หายสาบสูญพร้อมบุตรชาย จากนั้นทายาทก็ถูกคุกคามจากรัฐไทยมาโดยตลอด
ขบวนการนักศึกษายุคแรก
แม้จะถูกมรสุมทางการเมืองจนต้องเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน แต่ธรรมศาสตร์ในยุคนั้นเป็นแหล่งรวมของนักกิจกรรมต่อต้านนโยบายรัฐบาลโดยเฉพาะการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา และยังเป็นฐานทางภูมิปัญญาสังคมนิยม มีงานเขียนสำคัญ ๆ ของนักคิดฝ่ายสังคมนิยมปรากฏในหนังสือนักศึกษานิติศาสตร์รับศตวรรษใหม่ (๒๕๐๐) ที่เป็นการรวมงานเขียนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
๒๕๐๑ : เผด็จการเต็มรูปแบบ
๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารอีกครั้ง ในครั้งนี้ได้มีการเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมือง รัฐสภา ยกเลิกการเลือกตั้งทุกระดับแม้แต่ระดับท้องถิ่น รวมศูนย์การปกครองสงฆ์เป็นมหาเถรสมาคมประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ห้ามชุมนุมเกิน ๕ คน นับเป็นการเริ่มต้นระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบต่อเนื่องมานานนับสิบปี
๓ มีนาคม ๒๕๐๐ ขบวนนักศึกษาประชาชนเดินขบวนประท้วง “การเลือกตั้งสกปรก”
๒๕๐๐ : การเมืองสมัยกึ่งพุทธกาล
สภาวะ “การเมืองสามเส้า” ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องถ่วงดุลระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ โดยทั้งคู่มีกองกำลัง ฐานทางเศรษฐกิจ รวมทั้งหนังสือพิมพ์เป็นของตนเอง หลังจากยื้อแย่งมากว่าทศวรรษ ในที่สุดชัยชนะเป็นของจอมพลสฤษดิ์ด้วยการรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ โดยที่จอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
ทศวรรษที่ ๔
๒๕๐๕-๒๕๑๔
สหรัฐอเมริกาเปิดฉากสงครามอินโดจีนรอบใหม่ แม้จะได้รับการตอบรับจากสังคมเนื่องจากความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ แต่ความโหดร้ายของสงครามที่เผยแพร่อย่างกว้างขวางได้นำไปสู่การต่อต้านสงครามครั้งใหญ่ ขณะที่ในยุโรป พฤษภาคม ๒๕๑๑ นักเรียนนักศึกษาในปารีสลุกขึ้นกบฏต่อ “สังคมจารีต” ของฝรั่งเศสนำไปสู่การลุกฮือของกรรมกร กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวทั่วโลกรวมทั้งในไทย
ปี ๒๕๑๔ สหประชาชาติรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแทนไต้หวัน ซึ่งจะส่งผลต่อภูมิศาสตร์การเมืองโลกในเวลาต่อมา
ยุคแสวงหา
ผลพวงจากระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบและทิศทางการพัฒนาที่ทำให้สังคมไม่อาจตั้งคำถามกับระบอบสังคมการเมืองที่ดำรงอยู่ นักศึกษาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ตั้งคำถามกับจุดหมายในชีวิต ดังบทกวี “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของ วิทยากร เชียงกูล เกิดกลุ่มอิสระต่างๆ ที่เริ่มแสวงหาความรู้ทั้งจากในสังคมไทยและโลกภายนอก โดยเฉพาะการต่อต้านสงครามเวียดนามที่ไทยเป็นฐานทัพสำคัญ บรรยากาศเช่นนี้ทำให้มีการผลิตงานวรรณกรรม ละคร ตลอดจนศิลปะแขนงต่างๆ ออกมาจำนวนมาก อันถือเป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัย
๒๕๐๕ : สงครามนอกบ้าน
๖ มีนาคม ๒๕๐๕ รัฐบาลไทย-สหรัฐฯ ลงนามในสนธิสัญญาถนัด-รัสต์ เห็นชอบให้สหรัฐฯ ส่งทหารเข้ามาได้ทันทีที่ถูกคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ผลจากการลงนามครั้งนี้ทำให้ไทยเป็นฐานทัพสำคัญในการส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีน นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังใช้ประเทศไทยเป็นที่ปลดระเบิดและทดลองอาวุธเคมีด้วย
๒๕๐๖ : มรณกรรมจอมพลผ้าขาวม้าแดง
๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ มรณกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้จะเริ่มด้วยการจัดพิธีศพที่ “สมเกียรติและยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่สามัญชนจะพึงมี” แต่เมื่อมีการฟ้องร้องเรื่องมรดกในครอบครัว ทำให้หนังสือพิมพ์เริ่มเจาะข่าวความร่ำรวยของจอมพลสฤษดิ์ที่คอร์รัปชันเงินของราชการ ยักยอกที่ดินนับหมื่นไร่มาเป็นของตน ฯลฯ ต่อมามีการเปิดเผยว่าจอมพลสฤษดิ์มีทรัพย์สินรวม ๒,๘๗๔ ล้านบาท
๒๕๐๘ : สงครามประชาชน
๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ เกิดการปะทะด้วยอาวุธเป็นครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ณ บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ที่เรียกกันว่า “วันเสียงปืนแตก” เหตุการณ์ในครั้งนั้นนำมาสู่การจับอาวุธต่อต้านรัฐ หลังจากนั้นเกิดสงครามภายในประเทศยืดเยื้อมากว่า ๒๐ ปี ทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
๒๕๑๐ : กำเนิดเอ็นจีโอ
ปี ๒๕๑๐ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย โดยมีแนวคิดว่าการพัฒนาชนบทและการพัฒนาคุณภาพคนจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยการส่งเสริมการพึ่งตนเอง พร้อม ๆ กับผลักดันให้เกิดสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร สมัยที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ ในปี ๒๕๑๒ ทั้งสองส่วนนี้เองเป็นรากเหง้าของการเกิดองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งจะมีบทบาทในเวลาต่อมา
๒๕๑๔ : จอมพลถนอมรัฐประหารตัวเอง
การเลือกตั้ง ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ ๑๒ ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่เพียง ๒ ปี จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ทำการรัฐประหารตัวเองในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ โดยอ้างภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ การรัฐประหารครั้งนี้ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ร่างมายาวนานถึง ๙ ปี ๔ เดือน และสถาบันการเมืองต่าง ๆ เช่นเดียวกับรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ เพียงแต่การรัฐประหารครั้งนี้เผชิญการต่อต้านอย่างกว้างขวาง เช่น ส.ส. ๓ คนฟ้องจอมพลถนอมในข้อหากบฏ, ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนจดหมายในนาม “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ประท้วงการรัฐประหาร, นักศึกษาวางพวงหรีดประท้วง ฯลฯ
ทศวรรษที่ ๕
๒๕๑๕-๒๕๒๔
๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ฟื้นความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่มาตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๒ สำหรับไทยซึ่งเดินตามนโยบายสหรัฐฯ มาตลอดก็ต้องปรับเปลี่ยนท่าที สามปีถัดมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนจีน ปีเดียวกันนั้นสงครามอินโดจีนก็ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกาในปี ๒๕๒๒ อิหร่านสถาปนารัฐอิสลามขึ้นเป็นแห่งแรกในโลก โดยการนำของ อยาโตลลอฮ์ โคไมนี ส่งผลให้พระเจ้ามุฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาฮ์ลาวี ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
ลอบสังหาร นักศึกษา ชาวนา กรรมกร
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ปัญหาในยุคเผด็จการได้ปะทุขึ้น เช่นปัญหาการกดค่าแรง ปรากฏว่าเพียง ๓ เดือนหลัง ๑๔ ตุลาฯ มีการนัดหยุดงาน ๕๐๑ ครั้ง ทั้งที่ระหว่างปี ๒๕๐๔ ถึงก่อน ๑๔ ตุลาฯ มีไม่ถึง ๑๐๐ ครั้ง การเรียกร้องที่ดินทำกินของชาวนาในนามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ปรากฏมีผู้นำชาวนาถูกลอบสังหารถึง ๒๑ คนในปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ การฆาตกรรมในเมืองจบลงในวันสังหารหมู่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ทำให้หลายคนเลือกเส้นทางจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาล นอกจากนั้นความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ก็ปะทุขึ้นเมื่อมีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ ฆาตกรรม ๕ ศพที่สะพานกอตอ ขณะเดียวกันที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานีมีการปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๑๘ มีผู้เสียชีวิต ๑๒ คน บาดเจ็บ ๒๕ คน
๒๕๑๖ : ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖
ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการ ศนท. ก่อตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” โดยมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐบาล แต่ก็ถูกจับกุมข้อหากบฏในราชอาณาจักร มีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “๑๓ กบฏ” จนนำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในการเมืองไทย เหตุการณ์จบลงที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน แต่สุดท้ายรัฐบาลจอมพลถนอมก็ต้องลาออก เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ นำมาซึ่งเสรีภาพทางการเมืองและเป็นช่องทางให้ปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกเก็บไว้ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารได้ปรากฏ
ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น
จากความตกต่ำทางเศรษฐกิจและการขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมากกับญี่ปุ่น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้เริ่มรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๕ กิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก อันจะเป็นรากฐานที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาได้เป็นแกนกลางในการเคลื่อนไหวมวลชนในเวลาต่อมา
วัฒนธรรมเพื่อชีวิต
หลัง ๑๔ ตุลาฯ นอกจากการชุมนุมอภิปรายและเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว แนวรบทางวัฒนธรรมก็มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ภายใต้แนวคิดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม มีบทเพลงเพื่อชีวิตที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากลไปจนถึงการนำดนตรีพื้นบ้านมาประยุกต์ มีงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยออกมาจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีหนังสือว่าด้วยศิลปะเพื่อชีวิตออกมาจำนวนมาก
๒๕๑๘ : อินโดจีนแตก
ในปี ๒๕๑๘ สามประเทศอินโดจีน–กัมพูชา ลาว เวียดนาม เปลี่ยนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมกับการสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ ต่อมาเมื่อเวียดนามบุกกัมพูชาในปี ๒๕๒๑ ก็ยิ่งสร้างความตระหนกให้ชนชั้นนำไทยเป็นอันมาก เนื่องจากความเชื่อเรื่องทฤษฎีโดมิโนว่าไทยจะเป็นประเทศต่อไปที่จะเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกันนั้นกระแสรังเกียจคนเวียดนามก็พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในภาคอีสาน
๒๕๑๙ : ๖ ตุลา ๒๕๑๙
ภายหลังการปลุกระดมความเกลียดชังต่อขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรมด้วยข้อหาว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ กองกำลังตำรวจ ทหาร ก็เข้าล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีการทารุณกรรมศพเพื่อแสดงความโกรธแค้นของคนจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงด้วยการรัฐประหารในตอนเย็น พร้อม ๆ กับที่นักศึกษาประชาชนจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมกับ พคท. จับอาวุธขึ้นต่อสู้
๒๕๑๖ : การเมืองนำการทหาร
การใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนและการดำเนินนโยบาย “ขวาจัด” ของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่เพียงแต่ไม่อาจยุติปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับยิ่งขยายความขัดแย้งรุนแรงขึ้น จึงเกิดรัฐประหารอีกครั้งโดยกลุ่มอำนาจเดิม เริ่มมีการใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” เริ่มจากการนิรโทษกรรรมนักโทษ ๖ ตุลาฯ ในเดือนกันยายน ๒๕๒๑ การประกาศนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ อภัยโทษให้ผู้เข้าร่วมกับ พคท. ในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”
ทศวรรษที่ ๖
๒๕๒๕-๒๕๓๔
กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตประกาศนโยบายกลาสนอสต์และเปเรสตรอยกา เปิดกว้างเรื่องประชาธิปไตยและปฏิรูปเศรษฐกิจ มีกระแสเรียกร้องเช่นเดียวกันในประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ กำแพงเบอร์ลิน–สัญลักษณ์ของสงครามเย็นถูกทำลายลงในปี ๒๕๓๒ อีก ๒ ปีต่อมาสหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย รัฐบาลจีนปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๒
สิงหาคม ๒๕๓๓ เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย อิรักบุกคูเวต สหรัฐฯ ร่วมกับพันธมิตรขับไล่อิรักได้สำเร็จเมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ต่อมาสหรัฐฯ เข้าไปมีอิทธิพลในตะวันออกกลางซึ่งสร้างปัญหาในเวลาต่อมา
การเมืองสิ่งแวดล้อม
ผลพวงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเช่นเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ได้รับการต่อต้านจากประชาชนหลากหลายอาชีพอย่างกว้างขวาง จนรัฐบาลต้องระงับการก่อสร้างในปี ๒๕๓๑ สองปีต่อมา ความตายของ สืบ นาคะเสถียร ในเดือนกันยายน ๒๕๓๓ ได้ปลุกกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นวาระของสังคมไทยในเวลาต่อมา
๒๕๒๕ : คืนเมือง
ความแตกแยกในประเทศคอมมิวนิสต์อินโดจีน ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างนักศึกษากับแกนนำ พคท. ผนวกกับนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากออกจากป่ากลับคืนสู่เมือง ส่งผลให้การต่อสู้ในเขตป่าเขาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจำต้องยุติลงจากการวางอาวุธของผู้ปฏิบัติงานเขตงานต่าง ๆ จนนำไปสู่การล่มสลายของ พคท. ในปี ๒๕๒๕ หลังสู้รบกับรัฐบาลมากกว่า ๒ ทศวรรษ
ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ๘ ปี ๕ เดือน เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นผู้บัญชาการทหารบกภายใต้การสนับสนุนของกองทัพและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง รัฐบาล พล.อ. เปรมดำเนินนโยบายโดยอาศัย “เทคโนแครต” จากระบบราชการทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ โดยที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนเสริม เรียกกันต่อมาว่า “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ”
๒๕๓๑ : นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๑ นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พล.อ.ชาติชายได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากบุคลิกที่เรียบง่ายเป็นกันเอง รัฐบาลชาติชายได้เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยต่อเพื่อนบ้านซึ่งเดิมถูกชี้นำโดยนโยบายความมั่นคงที่เดินตามสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเกรงภัยคอมมิวนิสต์ หันมาดำเนินนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” โดยมีสัญลักษณ์สำคัญคือการลงนามสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงในเดือนกันยายน ๒๕๓๒
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ถูกโจมตีด้วยปัญหาคอร์รัปชัน ดังคำเรียกกันต่อมาว่า “บุฟเฟ่ต์คาร์บิเนต”
๒๕๓๓ : ยกเลิก ปร.๔๒ คืนเสรีภาพหนังสือพิมพ์
หลังรัฐประหารเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ คณะรัฐประหารได้ออกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ หรือที่เรียกว่า “ปร.๔๒” ให้อำนาจปลัดกระทรวงมหาดไทยในการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ แม้ว่าคณะรัฐประหารจะสิ้นสุดอำนาจลงแต่คำสั่งนี้ยังคงอยู่ มีการเคลื่อนไหวจากสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องเพื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าว จนกระทั่งสมัยรัฐบาลชาติชายจึงมีการเลิก ปร. ๔๒ ในปี ๒๕๓๓ นับเป็นเวลากว่า ๑๔ ปีที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
๒๕๓๔ : รัฐประหาร รสช.
คณะรัฐประหารในนาม “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ฉวยโอกาสที่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดนโจมตีจากหลายฝ่ายจากปัญหาคอร์รัปชันรวมทั้งอ้างการกระทำอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เข้ายึดอำนาจ ในขั้นต้นคณะรัฐประหารได้รับการชื่นชม ต่อมาเกิดข้อสงสัยว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ จน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องออกมาให้สัญญาว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทศวรรษที่ ๗
๒๕๓๕-๒๕๔๔
เนลสัน แมนเดลลา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในแอฟริกาใต้ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนเมษายน ๒๕๓๗ และเป็นผู้นำในการสร้างความปรองดองระหว่างคนในชาติที่มีความขัดแย้งเรื่องการแบ่งแยกสีผิวมานานหลายทศวรรษ
๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีน ถือเป็นจุดสิ้นสุดของลัทธิล่าอาณานิคมและเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้จีนก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ปี
๒๕๔๔ เกิดเหตุวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ ๓,๐๐๐ คน จากนั้นสหรัฐฯ ก็เปิดฉากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในเวลาต่อมา
การเมืองบนท้องถนน
ภายหลังการปราบปรามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๑๙ การเคลื่อนไหวในรูปขบวนการประชาชนได้หยุดชะงักลง แต่ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมกลับมากขึ้น นับแต่ปี ๒๕๓๖-๒๕๓๘ ปัญหาของเกษตรกรภาคอีสานเริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่การสร้างเขื่อนปากมูล ปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำ ปัญหาป่าไม้ที่ดิน ฯลฯ มีการชุมนุมประท้วงไม่ต่ำกว่า ๑๐ ครั้ง เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ของ “สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน” (สกย.อ.) จนนำมาสู่การรวมตัวของเครือข่ายปัญหาต่างๆ ก่อกำเนิดเป็น “สมัชชาคนจน” ในปี ๒๕๓๘ เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่ไม่เป็นธรรมกับคนจน นับเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน
๒๕๓๕ : พฤษภา ๒๕๓๕
การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารผ่านการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเพื่อเป็นฐานทางการเมืองและแทรกแซงพรรคการเมือง กระทั่ง พล.อ. สุจินดา คราประยูร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอ้างว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ได้นำมาสู่การชุมนุมประท้วง จบลงด้วยการปราบปรามในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ภายหลังรัฐบาลต้องลาออกพร้อมกับเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยเฉพาะจากชนชั้นกลางในเมือง
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ต่อเนื่องจากเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองดังขึ้นจนเกิดข้อเสนอปฏิรูปการเมือง ภายใต้หลักการสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล สร้างองค์กรอิสระเพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐ สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ข้อเสนอดังกล่าวได้บรรจุลงในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่ผ่านการเคลื่อนไหวต่อรองของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จนเรียกกันต่อมาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
ผลจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ทำให้มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกเต็มสภาจำนวน ๒๐๐ คน เมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๔๓ เป็นครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ต้องใช้เวลา ๕๔ ปีนับจากที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๙ รัฐ-ธรรมนูญปัจจุบันกำหนดไว้ว่า ส.ว. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ ๑ คน ที่เหลือมาจากการแต่งตั้ง
เศรษฐกิจผันผวน
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่สภาวะฟองสบู่อีกครั้งหลังจากนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมาก ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ๑๗๕๓.๗๓ จุด เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๓๗ พร้อม ๆ กับความสนใจเรื่องโลกานุวัตร (Globalization) ทางการเมืองที่รัฐชาติมีความสำคัญน้อยลงเพื่อเปิดให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น แต่เมื่อเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง นโยบายเปิดเสรีทางการเงินกลายเป็นผู้ร้าย ขณะที่ข้อเรียกร้องให้รัฐลงมาจัดการกับเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ กลายเป็นข้อเรียกร้องหลัก
๒๕๔๐ : กำเนิดประชานิยม
ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ ไม่เพียงทำให้เกิดการล่มสลายของทุนขนาดใหญ่ในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้มีการปลดคนงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นจำนวนมาก รัฐบาลชวน หลีกภัย ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาภาคการเงิน โดนข้อหา “อุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน” หลังวิกฤตเศรษฐกิจ การสร้างสวัสดิการสังคมเป็นนโยบายหลักที่พรรคการเมืองทุกพรรคต้องนำเสนอต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เรียกกันต่อมาว่า “นโยบายประชานิยม”
ทศวรรษที่ ๘
๒๕๔๕-๒๕๕๔
ภายหลังเหตุวินาศกรรม ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔ สหรัฐอเมริกาเริ่มทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องพลเมืองชาวอเมริกัน เริ่มจากการส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเพื่อโค่นล้มรัฐบาลตอลิบานและทำลายแหล่งกบดานของกลุ่มอัลกออิดะห์ ตามมาด้วยการส่งทหารเข้าไปอิรักด้วยข้ออ้างว่ามีอาวุธร้ายแรง ปฏิบัติการดังกล่าวได้จุดชนวนกระแสอิสลามสู้รบขึ้นในหลายประเทศ
๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ พม่าเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบ ๒๐ ปี และในปีถัดมาได้ปล่อยตัว อองซาน ซูจี ผู้นำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ภายหลังจากถูกกักบริเวณมากว่า ๒๑ ปี
นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
นับจากเกิดกระแส “ตุลาการภิวัฒน์” จากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือช่วงชิง/สร้างความชอบธรรม และทำลายล้างในนามของความยุติธรรม เมื่อรวมกับประเพณีการยอมรับคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย ส่งผลให้นักกฎหมายกลุ่มหนึ่งจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมตัวกันในนาม “คณะนิติราษฎร์” นอกจากยืนยันในหลักนิติรัฐในสังคมประชาธิปไตย ยังได้กลับไปหาอุดมการณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ที่ว่า “อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” คณะนิติราษฎร์ได้เสนอข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมแก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาล และกองทัพ ให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย รวมทั้งการเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหารที่กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
การเมืองแบบทักษิณ
การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ในวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๔ ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ในแง่หนึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณได้รับความนิยมจากนโยบายประชานิยม อีกด้านหนึ่งสภาวะผู้นำแบบอำนาจนิยมและมีผลประโยชน์ทับซ้อนส่งผลให้รัฐบาลทักษิณถูกตั้งคำถามและโดนต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก จนนำมาสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แต่การเลือกตั้งอีก ๒ ครั้งในปี ๒๕๕๐ และ ๒๕๕๔ ที่อ้างอิงนโยบายประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ทำให้พรรคของเขาได้รับชัยชนะ
๒๕๔๕ : วิกฤตไฟใต้
จากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สั่งสมมานาน และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลทักษิณ ผนวกกับกระแสอิสลามสู้รบอันเกิดจากนโยบายสุดโต่งของสหรัฐอเมริกาหลัง ๙/๑๑ ได้จุดชนวนให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐของกลุ่มมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ด้วยวิธีการที่รุนแรง เริ่มจากการปล้นปืนในค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ ๔ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จัดการปัญหาด้วยวิธีการที่ผิดพลาด เกิดกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน (มีนาคม ๒๕๔๗) กรณีกรือเซะ (เมษายน ๒๕๔๗) และกรณีตากใบ (ตุลาคม ๒๕๔๗) ปัจจุบันความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ผ่านมาเกือบ ๑๐ ปี มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ขณะเดียวกันงบประมาณจำนวนมากที่ทุกรัฐบาลทุ่มลงไปก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
การเมืองอุดมการณ์
การต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เริ่มจากประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน คอร์รัปชัน บิดเบือนการใช้อำนาจ ต่อมามีการยกระดับว่าการดำรงอยู่ของรัฐบาลเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านคำขวัญ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ภายใต้การนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา ๗ และรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในที่สุด
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ก็ยืนยันในหลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งว่าเป็นฐานอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นอยู่กับรัฐสภาไม่ใช่อำนาจนอกระบบ
ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๐ ปีที่สังคมไทยต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งที่ทำโดยชอบตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีการบิดเบือนการใช้กฎหมายเพื่อรองรับผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ ไปจนถึงฆาตกรรมทางการเมือง
สิ่งที่ไม่คาดคิดคือ ในทศวรรษนี้ สถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดูเหมือนจะถูกจัดวางไว้ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะโดยไม่มีอำนาจทางการเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ได้กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง มีการฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นจำนวนมาก การกล่าวหาผู้เห็นต่างทางการเมืองเป็นพวก “ล้มเจ้า” จนเกิดข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย
๒๕๕๕ การเมืองมวลชน
๘๐ ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมืองไทยมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ นโยบายทางการเมืองใดๆ ไม่สามารถกำหนดได้จากชนชั้นนำกลุ่มเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากร เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งรูปแบบการเมือง การเกิดขึ้นของขบวนการมวลชนระดับใหญ่ที่มีปัญญาชน สื่อ มวลชน วัฒนธรรม รวมทั้งอุดมการณ์ของตนเอง คือพลังที่กำหนดทิศทางอนาคตการเมืองไทยต่อไป