เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

มงกุฎเกียรติยศ แด่ มด วนิดา

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์…………เธอผู้เป็นที่รักของชาวบ้าน
เป็นที่เกลียดชังของเผด็จการ…………วันนี้ ถึงวาร…เธอผ่อนพัก
หอมดินกลิ่นหญ้ามาหวนหอม…………รำเพยพร้อมจะประคองป้องปกปัก
แดดอ่อน ดินอุ่น น่าหนุนนัก…………แผ่นดินพร้อมจะพิทักษ์คุ้มครองเธอ
เหน็ดเหนื่อยหนักหนามามากแล้ว…………กลางแกล้ว กลางสู้ อยู่เสมอ
จากตุลา ถึงตุลา ล้ำเลอ…………คือเกลอผู้เกล้าท้าทายอธรรม
กรรมการแกร่งกร้าวถึงชาวนา…………จากป่าถึงเขื่อนเคลื่อนน้ำฉ่ำ
จากกระท่อมถึงทำเนียบแน่วนำ…………บอบช้ำซ้ำซาก ซ้ำซ้ำซ้อน
เธอคือวีรสตรีของคนสู้…………หยัดอยู่ทระนงทรงนุสรณ์
มีมงกุฎดอกหญ้าเป็นอาภรณ์…………มาดมั่นนิรันดรไม่คลอนแคลน
วันนี้ไม่มีมดของคนยาก…………แต่มดฝากมดสู้ไว้หมื่นแสน
“เธอคือดินก้อนเดียวในดินแดน…………แต่จะหนักและจะแน่นเต็มแผ่นดิน”

เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์
๖ ธันวาคม ๒๕๕๐

 

“วันนี้มดเขาไปสบายแล้ว มดไปด้วยความอบอุ่น มดเป็นที่รักของคนทั่วไป ไม่ได้เป็นที่รักอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นทั้งที่รักและเคารพ “ผมรู้จักมดมาเกือบ ๒๐ ปี และผมถือว่าเป็นบุญของผม ที่ตามปรกติแล้ว คงจะไม่โคจรมาพบกัน การได้มาพบกับมดนั้น มดเป็น ‘ผู้ให้’ ผมมากกว่าผมเป็นผู้ให้เขา มดอาจจะไม่รู้ตัวว่าให้อะไรแก่ผม แต่ผมรู้ดี…สิ่งที่มดให้ผม และสิ่งที่ผมยอมรับความดีความงามของมด มันทำให้ชีวิตของผมมีความสุขมากขึ้น มันทำให้ชีวิตของผมมีความสมบูรณ์มากขึ้น

“มดจากเราไป เมื่อวานผมไปเยี่ยมอยู่ ได้เห็นใบหน้าได้เห็นอากัปกิริยาแล้วรู้สึกว่ามดเหนื่อยมามากแล้วชีวิตนี้ เป็นนักต่อสู้ เป็นนักเคลื่อนไหว นักปฏิบัติ สิ่งที่มดต่อสู้นั้นไม่ใช่ต่อสู้เพื่อทรัพย์สิน ไม่ได้ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ หรือเพื่อครอบครัวเพื่อนฝูง แต่เขายึดถือหลักการ เขายึดถือปรัชญาชีวิต มันเป็นการง่ายสำหรับคนที่ร่ำรวยแต่ให้กับคนจน แต่สิ่งที่มดให้นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิ่งของ สิ่งที่มดให้แก่คนทั่วไปคือ ให้เขายืนหยัดต่อสู้ มดต่อสู้มาตลอดชีวิตในเรื่องสิทธิมนุษยชน ต่อสู้เพื่อคนจน คนยากไร้ คนด้อยโอกาส คนเสียสิทธิ คนถูกรังแก คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งยังมีอยู่ในประเทศไทยอีกมากมาย

“วันนี้เรามาเคารพศพของ ‘วนิดา’ หรือ ‘มด’ เพื่อนรักของเรา และเรารำลึกถึงคุณความดีที่เขาทำมาตลอดชีวิต และพวกเราทั้งหลายถ้าสามารถทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของที่มดทำมาในระยะ ๓๐ กว่าปี เราก็คงจะไปสบาย ผมขอให้บุญกุศลที่มดทำมาในชีวิตนี้… ทำจนกระทั่งเขาเสียไป… ทำจนหมดแรงไป… ขอให้บุญกุศลนี้นำมดไปสู่สัมปรายภพ”

อานันท์ ปันยารชุน

 

วัดทุ่งสาธิตหรือวัดวชิรธรรมสาธิต เป็นวัดแบบล้านนา ตั้งอยู่ลึกสุดซอยสุขุมวิท ๑๐๑/๑ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างอยู่กลางทุ่งนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๙ ต่อมาได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนได้รับการบูรณะและมีพระภิกษุมาจำพรรษาเมื่อราว ๔๐ ปีก่อน

คนเก่าแก่ที่อาศัยละแวกนั้นเล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ วัดเล็กๆ แห่งนี้ไม่เคยมีงานศพของบุคคลใดมีผู้มาร่วมงานมากเท่างานของคนผู้นี้

เย็นวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๐ วันฌาปนกิจศพ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ รถติดตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอยระยะทางร่วม ๕ กิโลเมตร มีผู้เดินทางมาร่วมงานกว่า ๑,๐๐๐ คน ตั้งแต่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมือง นักธุรกิจ ไปจนถึงชาวบ้านและชาวเขาจากทั่วประเทศ ต่างร่ำไห้ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ท่ามกลางเสียงเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาที่ทุกคนช่วยกันขับขานเพื่อส่งร่างของเธอเป็นครั้งสุดท้าย

คนละแวกนั้นถามไถ่กันว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร ก่อนจะรู้ว่าเธออาศัยอยู่กับพ่อแม่ในหมู่บ้านแถวหลังวัดนี้เองมาเป็นเวลานานแล้ว

เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเธอไม่ค่อยได้อยู่บ้าน

เวลากว่าค่อนชีวิต ตั้งแต่เป็นนักเรียน นักศึกษา จนกระทั่งวาระสุดท้าย เธอใช้ชีวิตตามอุดมคติไม่เปลี่ยนแปลง ออกไปต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่คนยากคนจนทั่วประเทศที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากอำนาจรัฐ แม้ว่าจะถูกโจมตีถูกกล่าวหาต่างๆ นานา

แต่ วนิดา หรือ มด ไม่เคยยอมจำนนแม้สักครั้งเดียว

เพื่อนหลายคนบอกว่า ความตายของมด ผู้จากไปอย่างงดงามในวันนี้ ทำให้พวกเขาเริ่มคิดถึงเหตุผลของการมีชีวิตอยู่…

ด.ญ.วนิดา อางี้ หรือ มด(คนที่ ๔ จากซ้าย) ถ่ายรูปกับพี่น้องและญาติในบ้านของคุณยายย่านถนนเยาวราชเมื่อราว ๔๐ ปีก่อน

ครอบครัวคนจีน

“บางครั้งฉันก็ถูกปลุกให้ตื่นตอนดึกจากเสียงพ่อกับแม่ทะเลาะกัน ฉันจึงรู้ว่าพ่อกลับมาแล้ว ส่วนใหญ่จะทะเลาะกันเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่ไม่พอ หรือปัญหาการค้าขาย ฉันรู้ว่าพ่อก็เครียดแม่ก็เครียด เมื่อพ่อใจร้อนใช้เสียงดังกับแม่ แม่ก็จะตอบโต้ บางครั้งฉันได้ยินพ่อพูดว่าอยากจะผูกคอตาย ฉันกลัวมาก ไม่อยากให้พ่อแม่ทะเลาะกัน ฉันได้แต่สงสารพ่อกับแม่ พวกเรานอนเรียงกันในห้องนอนเดียวกัน ๙ คน เป็นห้องเดียวที่มีมุ้งลวดกันยุง ฉันรับหน้าที่ไล่ยุงทุกเย็น”

วนิดาหรือมดเกิดวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน เป็นลูกคนที่ ๒ ในบรรดาพี่น้อง ๗ คน เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ในครอบครัวชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากประเทศจีน

แม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อประมาณ ๘๐ ปีก่อน แม่อายุได้เพียง ๖ เดือน ตากับยายก็พาแม่อพยพจากอำเภอโผวเล้ง เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง มาตั้งรกรากในแผ่นดินสยาม ตากับยายช่วยกันสร้างครอบครัวจนสามารถตั้งร้านขายของชำได้แถวถนนเยาวราช ในช่วงเวลาก่อนการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่กี่ปี

ช่วงเวลานั้นคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณติดกับทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะแถบมณฑลกวางตุ้ง ต่างอพยพตามญาติพี่น้องมาอยู่ในสยามประเทศเพื่อหนีความอดอยาก และหนีภัยสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียงไคเช็คกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงที่สู้รบกันมายาวนาน พ่อก็เป็นคนหนึ่งในบรรดาจีนอพยพเหล่านั้น

พ่อเกิดที่อำเภอเถ่งไห้ เป็นคนบ้านเดียวกับบรรพบุรุษของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อประมาณ ๖๐ ปีก่อน พ่อแอบขึ้นเรือสินค้าจากท่าเรือหนีภัยสงครามและความลำบากมาหางานทำที่เมืองไทยตามประสาชาวจีนโพ้นทะเลที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเผชิญชีวิตใหม่ในต่างแดน อีกอย่างพ่อเป็นพวกเสรีนิยม ไม่ชอบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ที่กำลังได้รับชัยชนะในประเทศจีน พ่อเล่าว่ามาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือแถวบางรัก และได้งานทำในร้านทองเซ่งเฮงหลี แถวถนนเยาวราช เป็นคนเขียนจดหมายให้แก่ลูกค้าที่จะฝากเงินไปให้ญาติที่เมืองจีน

หลังจากนั้นไม่นานพ่อแม่ก็พบรักกันจากการแนะนำของเพื่อนๆ และแต่งงานกัน พ่อเปลี่ยนมาทำงานเป็นเสมียนในร้านเฮียบเซียงเซียง นั่งทำงานคู่กับลี่เฮงเทียม หรือนายเทียม โชควัฒนา ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการสินค้าอุปโภคบริโภคในวันนี้ และร้านนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในนามของบริษัทสหพัฒนพิบูลย์ จำกัด

พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าได้เรียนรู้วิธีการบริหารธุรกิจจากนายห้างเทียมผู้มีความสามารถโดยเฉพาะชั้นเชิงในการบริหารเงิน หลายครั้งที่พ่อเห็นนายห้างเดินวนไปวนมารอบๆ โต๊ะทำงาน ครุ่นคิดวิธีจัดการทางการเงิน ต่อโทรศัพท์ข้ามประเทศ สั่งโอนเงินจากประเทศนั้นไปประเทศนี้ นั่งเคาะอัตราดอกเบี้ย คาดการณ์ค่าเงินสกุลต่างๆ จนพ่อทำนายได้ว่านายห้างคนนี้จะเป็นนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย

ภายหลังมีครอบครัวพ่อเริ่มคิดถึงการสร้างฐานะตามประสาคนหนุ่มวัยฉกรรจ์ อยากมีกิจการเป็นของตัวเองจึงได้ลาออกมาสร้างโรงงานเล็กๆ ผลิตยากันยุง อันเป็นเวลาเดียวกับที่แม่ได้ให้กำเนิดลูกสาวคนโตที่ชื่อวนิดา หรือชื่อจีนว่า อางี้ และย้ายมาเช่าบ้านที่เป็นโรงงานด้วยอยู่ในซอยวัดแขก ถนนสีลม

ดูเผินๆ ชีวิตวัยเด็กของวนิดาคงไม่แตกต่างจากลูกชนชั้นกลางคนอื่นๆ แต่กิจการยากันยุงของพ่อที่มีรายได้เพียงเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ไม่ได้ประสบความสำเร็จ มีคู่แข่งรายใหญ่เพิ่มขึ้นมาตัดราคา ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็สูง ไม่นับค่าแรงคนงานกว่า ๑๐ คนและค่าเลี้ยงดูลูกๆ จนทำให้พ่อต้องเที่ยวกู้หนี้ยืมสินไปทั่ว แต่พ่อแม่ก็กัดฟันส่งเสียลูกๆ เรียนหนังสือในโรงเรียนดีๆ ด้วยเชื่อว่าจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อแม่

แม่เป็นคนออกหัวคิดให้ลูกศึกษาแบบฝรั่ง คิดว่าการเรียนในโรงเรียนฝรั่งน่าจะก้าวหน้ากว่าเรียนในโรงเรียนจีนที่ชาวจีนสมัยนั้นนิยมส่งลูกไปเรียนเพื่อไม่ให้ลืมภาษาและวัฒนธรรมจีน ดังนั้นลูกชายคนโตจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ลูกชายอีก ๓ คนเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ส่วนลูกสาวทั้ง ๓ คนเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา

แม้ลูกๆ ทั้งเจ็ดต่างได้รับการศึกษาในโรงเรียนชื่อดังและได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนของลูกคนรวย แต่ทั้งหมดก็ดูจะเป็นคนกลุ่มน้อยในโรงเรียน ความที่ครอบครัวไม่ค่อยมีเงินแถมยังมีหนี้สิน จึงต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดมัธยัสถ์ ในวัยประถม ลูกๆ ได้ค่าขนมจากทางบ้านประมาณวันละ ๑ บาท เพื่อความประหยัดจึงต้องเดินไปโรงเรียนเกือบทุกวัน อาหารกลางวันก็ห่อปิ่นโตมาจากบ้าน น้ำดื่มก็กินน้ำประปาในโรงเรียน นานๆ ครั้งจะเก็บเงินซื้อนมโฟร์โมสต์กล่องละ ๑.๕๐ บาทไว้กินอย่างชื่นใจ

วนิดาในฐานะลูกสาวคนโตจึงต้องรับภาระหนักกว่าคนอื่น ช่วยแม่เลี้ยงน้องๆ เดินไปส่งน้องที่โรงเรียนและรับกลับบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า จุดเตาถ่านหุงหาอาหาร และหากมีเวลาก็มักพาน้องๆ มาช่วยคนงานบรรจุยากันยุงใส่กล่องเตรียมส่งไปขายต่างจังหวัด ในเวลาว่างพี่น้องทั้ง ๗ คนมักไปยืนเกาะลูกกรงหน้าต่างลอบดูทีวีของเพื่อนบ้าน เพราะที่บ้านไม่มีเงินมากพอจะซื้อโทรทัศน์สักเครื่อง

ช่วงปลายเทอมใกล้สอบไล่ปิดภาคการศึกษา วนิดาและพี่น้องมักถูกทางโรงเรียนทวงค่าเล่าเรียนที่ติดค้างเพราะพ่อหมุนเงินมาชำระไม่ทัน แม้จะเป็นเงินค่าเทอมคนละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท บางครั้งก็เป็นที่อับอายขายหน้าแก่เพื่อนๆ เพราะคุณครูฝ่ายการเงินจะประกาศออกทางไมโครโฟนในช่วงเช้าหลังจากที่นักเรียนทั้งโรงเรียนเข้าแถวหน้าชั้นเคารพธงชาติ เพื่อประจานว่านักเรียนเหล่านี้ยังไม่ชำระค่าเล่าเรียนและขู่ว่าหากไม่รีบนำเงินมาจ่ายค่าเทอมก็ไม่ต้องสอบ เดือดร้อนถึงแม่ต้องมาโรงเรียนอ้อนวอนคุณครูขอผ่อนชำระค่าเล่าเรียนเป็นประจำ

แต่พอนานเข้าๆ เป็นเวลาหลายปี พี่น้องก็เคยชินกับคำพูดเหล่านี้ แม้ลึกๆ จะรู้สึกมีปมด้อยที่มักถูกเพื่อนล้อเป็นประจำว่าไม่จ่ายค่าเล่าเรียน ใส่เสื้อผ้าเก่ามอซอปะแล้วปะอีก เช่นเดียวกับรองเท้าที่ซ่อมจนไม่เห็นพื้นเกือกอีกแล้ว แม้แต่สมุดหนังสือก็เป็นเล่มเก่า เพราะใช้ของพี่ๆ ที่เลื่อนชั้นขึ้นไป

วนิดาเคยเขียนเล่าเรื่องสมัยเด็กไว้ว่า

“ข้าพเจ้าต้องเดินไปโรงเรียนทุกวัน จากซอยวัดแขก สีลมผ่านถนนและสี่แยกต่างๆ ไปที่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ที่ตลาดบางรัก พบหน้าตำรวจจราจรใจดีตามสี่แยกจนคุ้นหน้ากันทุกวัน ตำรวจจราจรบางคนทักว่า เด็กที่ได้เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นลูกคนร่ำรวยทั้งนั้น ในเวลานั้นข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจกับข้อสังเกตดังกล่าว เพราะเมื่อก้มลงมองตัวเอง กระโปรงนักเรียนเก่าๆ สั้นเต่อเหนือหัวเข่าที่สวมใส่อยู่ ไม่ใช่เพราะตัดให้สั้นทันสมัยแต่เพราะตัวเรายาวสูงขึ้น ในขณะที่แม่ยังไม่ได้ตัดให้ใหม่ ชุดนักเรียนทุกชุดของพี่น้องทุกคนแม่เป็นคนตัดเย็บให้ด้วยจักรถีบ(จักรหลังนั้นยังอยู่ที่บ้านจนทุกวันนี้) ดึกดื่นค่ำคืนเพียงไร ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาก็ยังเห็นแม่นั่งเย็บชุดนักเรียนของลูกๆ ไม่เสร็จเสียที แม้ชุดกระโปรงไปเที่ยวหรือกางเกงของลูกผู้ชาย แม่ก็เป็นผู้ตัดเย็บเองทั้งสิ้น โรงเรียนของข้าพเจ้ามีลูกคนรวยเข้าเรียนจำนวนมาก ทำให้ตนเองรู้สึกเป็นปมด้อยบ้าง”

วนิดารับรู้ถึงความยากลำบากของพ่อที่ต้องนั่งรถไฟชั้นสามเดินทางไปขายยากันยุงตามหัวเมืองต่างจังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่เหนือ อีสานจรดใต้ เดือนละไม่ต่ำกว่า ๒๕ วัน บางเดือนแทบไม่ได้กลับบ้าน และยังต้องหมุนเงิน หาแหล่งเงินกู้ในช่วงหลังที่กิจการไม่ค่อยดี หนี้สินเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะตอนสิ้นเดือนที่มีรายจ่ายสูง ไหนจะเงินเดือนคนงาน ค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเช่าบ้าน และดอกเบี้ยเงินต้นนอกระบบที่ไปกู้เขามาจนทำให้พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ บรรยากาศตึงเครียดเกิดขึ้น
เป็นประจำในบ้าน ขณะที่แม่ง่วนอยู่กับการเลี้ยงลูก ทำอาหารให้ลูกถึง ๗ คนกิน และยังต้องดูแลกิจการในโรงงานแทนพ่อช่วงที่พ่อเดินทางไปต่างจังหวัด

น้องชายคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าบางครั้งวันที่หวยออก พี่น้องทุกคนแทบจะก้มลงกราบหน้าวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเดียวในบ้านที่กำลังประกาศผลลอตเตอรี่ อธิษฐานขอให้พ่อแม่ถูกรางวัลกับเขาบ้าง จะได้มีเงินมาใช้หนี้สินและค่าเล่าเรียนที่ผ่อนมาหลายวันแล้ว แต่โชคไม่เคยเข้าข้างคนในบ้านนี้เลย

ความยากลำบาก ความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบจากการกู้หนี้ยืมสินของพ่อแม่ และโรงงานขนาดเล็กที่ใกล้จะล้มละลายเพราะสู้กลุ่มทุนที่ใหญ่โตกว่าไม่ได้ ไม่ต่างจากการเข้ามาของห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ที่ทำให้ร้านโชห่วยต้องล้มหายตายจากไป สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้วนิดาสนใจปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

วนิดา(แถวนั่ง-ขวาสุด) ร่วมชุมนุมประท้วงการแทรกแซงของรัฐบาลอเมริกันที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๙ (ภาพ : หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์)

วนิดา(ขวาสุด) เมื่อครั้งยังเรียน ม.ศ.๓ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา

คนเดือนตุลา

“ฉันเริ่มห่างเหินครอบครัว เพราะไม่ต้องการให้พ่อแม่รู้ว่าเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไร วัยรุ่นสมัยนั้นก็คงเป็นแบบฉันทั้งนั้น ฉันเริ่มทำตัวเป็นนักปลุกระดมในห้องเรียน แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าไรนัก โดยที่ไม่รู้ตัวเลย ฉันกำลังละทิ้งครอบครัวเพื่อก้าวเดินออกไปข้างนอก ร่วมกับผู้คนจำนวนหนึ่งทำสิ่งที่ฉันเองก็ไม่เข้าใจนัก รู้แต่ว่าเป็นสิ่งที่ดี ปัญหาทางบ้าน เริ่มไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับฉันอีกต่อไป ปัญหาสังคมประเทศชาติต่างหาก”

ภายหลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น วนิดาสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม สายวิทยาศาสตร์ ตามความใฝ่ฝันของเด็กทุกยุคทุกสมัยที่อยากเรียนแพทย์ แต่บรรยากาศการเรียนสายวิทย์สมัยนั้นเต็มไปด้วยการแข่งขันและถูกกดดันจากครูที่ต้องการให้นักเรียนในชั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จำนวนมากเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน อีกทั้งระเบียบก็เข้มงวดมาก

“เรื่องการแต่งกาย กระโปรงต้องยาวคลุมเข่า ผมต้องตัดสั้น อาจารย์จะยืนถือกรรไกรคอยต้อนรับนักเรียนที่ประตูเข้าทุกเช้า ถ้าเห็นผมของใครยาวเลยใบหูจะตัดให้ทันที ไม่ได้ตัดให้สวยแต่จะตัดให้อาย ห้ามนั่งไขว่ห้างไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังครู กฎระเบียบและการเรียนที่เข้มงวดได้สร้างความอึดอัดใจแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง อันเนื่องมาจากการเรียนในชั้นต้นที่สอนแบบฝรั่งได้ให้สิทธิเสรีภาพ อนุญาตให้เด็กได้ใฝ่ฝันและแสดงออกได้พอสมควร ข้าพเจ้าเห็นว่าตนเองจะไปไม่รอดตามคำเรียกร้องของอาจารย์แน่นอน จึงตัดสินใจย้ายสายการเรียนไปเป็นสายศิลป์เพื่อการเรียนจะได้เบาขึ้น โดยต้องล้มเลิกความคิดที่จะเรียนแพทย์ไปโดยปริยาย ทั้งหมดนี้มิได้เป็นการตัดสินใจของใครเลยไม่ว่าจะพ่อแม่หรือครูอาจารย์ ข้าพเจ้าจัดการชีวิตของตัวเองแท้ๆ”

หลังจากย้ายมาอยู่สายศิลป์แล้ว ความเข้มงวด ความคาดหวังจากบรรดาครูก็ลดลง ทำให้วนิดามีโอกาสมาแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เริ่มทำกิจกรรมโดยได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสภานักเรียน ขณะที่ รสนา โตสิตระกูล เป็นประธานสภานักเรียน

ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารยืดเยื้อมายาวนานถึง ๑๖ ปี นับจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงจอมพล ถนอม กิตติขจร สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดโดยสิ้นเชิง นักศึกษาและปัญญาชนเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการออกสื่อสิ่งพิมพ์ก้าวหน้าหลายฉบับ ที่โดดเด่นคือวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ อันมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างรุนแรงและตรงไปตรงมาจนกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มี สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ที่ใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของปัญญาชนและเยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือวนิดา ประกอบกับในครอบครัวยังมีพี่ชายเป็นนักอ่านและนักซื้อหนังสือตัวยง น้องๆ จึงได้ความรู้มากมายจากนิตยสารอย่าง ชัยพฤกษ์ วีรธรรม ที่ให้ความรู้หลากหลายและสร้างพื้นฐานการศึกษาให้แก่คนในครอบครัวมาโดยตลอด

บรรยากาศการตื่นตัวเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ได้มีเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น นักเรียนมัธยมหัวก้าวหน้าจากหลายโรงเรียน อาทิ โรงเรียนสวนกุหลาบ เตรียมอุดมศึกษา ศึกษานารี สตรีวิทยา สตรีมหาพฤฒาราม สตรีศรีสุริโยทัย บดินทร์เดชา อัสสัมชัญ ฯลฯ ได้ติดต่อเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกันและร่วมกันก่อตั้งศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมของนักกิจกรรมรุ่นเล็ก วนิดาและเพื่อนนักเรียนได้ร่วมกันจัดทำนิทรรศการสังคมศาสตร์ตามโรงเรียนต่างๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยและปัญหาความยากจนของกรรมกร ชาวนา เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจปัญหาบ้านเมืองและสังคมมากขึ้น และบางครั้งต้องหนีเรียนเพื่อร่วมทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย

“ในที่สุด ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมโรงเรียน ๒-๓ คน ตัดสินใจหนีเรียนเพื่อเข้าร่วมกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติอีกหลายโรงเรียน ประท้วงการก่อสร้างสถานีเรดาร์บนดอยอินทนนท์ ยังจำได้ดีว่านั่งรถเมล์ออกจากบ้านก็ไปสนามหลวงทันที รัฐมนตรีกลาโหมเชิญเด็กๆ จำนวนหนึ่งเข้าไปในกระทรวงฯ ต้อนรับอย่างดีและชี้แจงเหตุผลของการก่อสร้างสถานีเรดาร์บนภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย”

หลังจากนั้นไม่นาน เด็กนักเรียนชั้น ม.ศ. ๕ ตัวเล็กๆ ได้หนีเรียนไปร่วมฟังการอภิปรายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในบรรดานักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนกว่า ๕ แสนคนเข้าร่วมเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและให้รัฐบาลเผด็จการทหารลาออก จนเกิดการจลาจล มีการส่งทหารและตำรวจมาล้อมปราบเข่นฆ่าประชาชน แต่ในที่สุดรัฐบาลทหารภายใต้การนำของจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร ได้ยอมลาออกและเดินทางออกนอกประเทศ ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชน

ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ เยาวชนจำนวนมาก ได้รับกระแสความคิดฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะเป็นความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ เหมาเจ๋อตง หรือเลนิน ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรุนแรง มีการจัดนิทรรศการจีนแดงขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการเปิดโลกสังคมนิยม โลกของการต่อสู้ทางชนชั้น การกดขี่ขูดรีดระหว่างศักดินา-นายทุนต่อกรรมกร-ชาวนา

ในปี ๒๕๑๗ วนิดาสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ภาคค่ำเพื่อหวังจะได้ทำงานหาเงินในตอนกลางวัน แต่เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ความคิดที่จะทำงานหาเงินช่วยครอบครัวก็หมดไป วนิดาก็เหมือนกับนักศึกษาที่รักความเป็นธรรมในเวลานั้น ที่เชื่อว่าต้องปฏิวัติสังคมอันเน่าเฟะไปสู่สังคมที่ดีงาม ต้องสลัดเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาออกไปสู่ห้องเรียนที่แท้จริง คือการไปเรียนรู้ชีวิตของกรรมกรในโรงงานและชาวนาในชนบท

เมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัย วนิดาหรือ “มด” ที่เพื่อนๆ ตั้งชื่อให้ ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ เวลานั้นกิจกรรมนักศึกษามีทั้งงานภายในและงานภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมที่ค่อนข้างหนักและเป็นงานเสี่ยงชีวิตคือการลงไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ร้อนของกรรมกร-ชาวนาทั่วประเทศ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานกรรมกรขึ้นเพื่อช่วยเหลือกรรมกรที่มีปัญหาค่าแรงกับนายจ้างมาโดยตลอด รวมไปถึงสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องปากท้องของชาวนาชาวไร่

ตลอด ๓ ปีแรกของชีวิตนักศึกษา มดได้เข้าร่วมกับศูนย์ประสานงานกรรมกรอย่างเต็มตัว เรียกได้ว่าไม่ได้เข้าห้องเรียน แทบไม่ได้กลับบ้าน และในที่สุดต้องระหกระเหินออกจากบ้าน ไม่ได้พบหน้าพ่อแม่เป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น

วนิดาสมัียเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ถูกจับเข้าคุกและได้รับการประกันตัวออกมาในเดือนมีนาคม ๒๕๑๙ ขณะร่วมต่อสู้กับกรรมกรโรงงานฮาร่าประท้วงเรียกร้องค่าแรง(ภาพ : หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์)

กรรมกรฮาร่า

“ฉันไปทุกที่ตามโรงงานเมื่อคนงานนัดหยุดงาน บนท้องถนนยามชุมนุมเดินขบวน ตามชนบทเพื่อเรียนรู้สังคมเกษตรกรรม แม่ตีฉันหลายครั้งเมื่อฉันหนีหายไป ฉันประท้วงด้วยการไม่กลับบ้านนานๆ แม่ร้องไห้ตามหาฉันทั่วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉันถูกจับเมื่อตำรวจสลายการชุมนุมของคนงานฮาร่า แม่ไปโรงพักประกันตัวฉัน ฉันไม่ยอม จะออกพร้อมคนงาน”

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ บรรยากาศสังคมไทยอยู่ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน นักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมนับพันคนได้ออกไปเคลื่อนไหวเรียกร้อง ต่อสู้ เป็นปากเสียงแทนกรรมกร และชาวนา มดที่เคยเป็นคนเงียบๆ ได้กลายเป็นนักเคลื่อนไหว เป็นที่ปรึกษาให้แก่บรรดากรรมกรตามโรงงานต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลา ๓ ปีก่อนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ มดเป็นเด็กกิจกรรมเต็มตัว แทบไม่ได้เข้าห้องเรียน เก็บหน่วยกิตได้เพียง ๑๐ กว่าหน่วยเท่านั้น จนอาจารย์ที่ปรึกษาต้องติดประกาศขอพบทั่วมหาวิทยาลัย ขณะที่มดได้เข้าร่วมการนัดหยุดงานของคนงานตามโรงงานต่างๆ นับร้อยครั้ง เป็นตัวแทนของกรรมกรเจรจากับนายจ้าง กรมแรงงาน และบางครั้งสถานการณ์ตึงเครียดถึงขั้นยึดโรงงาน

ทิพวรรณ ศรีสุวรรณ หรือ พี่ตุ๊ อดีตนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนสนิทของมดที่ทำกิจกรรมสายกรรมกรด้วยกันเล่าให้ฟังว่า

“ความคิดของเด็กกิจกรรมรุ่นนั้นไม่มีคำว่ากลัวตาย มดรักเพื่อน รักความยุติธรรม สู้ถึงที่สุด ไม่โลเล ลุยไปข้างหน้าอย่างเดียวไม่มีคำว่าถอย มีครั้งหนึ่งมดกับเราไปไฮด์ปาร์กให้กรรมกรที่โรงงานแถวอ้อมน้อย โดนเจ้าถิ่นขับรถมาวนรอบ ยกปืนขึ้นมาบอกว่า ภายในเที่ยงวันถ้ามึงไม่ออกไปจากเขตนี้มึงตาย เราก็ไม่ออก อยู่จนเลยเที่ยงเหมือนกัน ไม่กลัวตายเลย… อีกครั้งเรากับมดไปยึดรถเมล์มารับคนงาน เราไปบอกคนขับรถเมล์ว่าต้องการรถมารับคนงาน ตอนนั้นนักศึกษาใหญ่มาก เขาก็ทำตาม แต่มาเจอตำรวจจึงต้องไปโรงพักแทน นี่คือความบ้าบิ่นของเราสมัยนั้น”

ความรุนแรงของสถานการณ์ในเวลานั้นทำให้ผู้นำนักศึกษาจำเป็นต้องพกปืนเพื่อความปลอดภัย และอาศัยทุ่งนาหลังโรงงานเป็นที่ซ้อมปืน ครั้งหนึ่งตอนมดกลับมาบ้าน น้องชายของมดบังเอิญพบปืนในย่ามของพี่สาว แต่มดแก้ตัวว่าเป็นของเพื่อนเอามาฝากไว้

นอกจากเป็นนักกิจกรรมตัวยงแล้ว ในอีกด้านหนึ่งมดยังเป็นนักร้องนำวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ดังพอๆ กับวงคาราวานในสมัยนั้น คือวงกรรมาชน ซึ่งสมาชิกวงส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมในรั้วมหิดล

นิตยา โพธิคามบำรุง หรือ นิด กรรมาชน อดีตนักศึกษาวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และนักร้องวงกรรมาชนคนหนึ่งเล่าว่า

“สาเหตุที่ชวนมดเข้ามาเพราะตอนนั้นวงกรรมาชนขาดนักร้องผู้หญิง และพวกเราเคยเห็นมดร้องเพลงได้บ้างเวลามีงานเคลื่อนไหวเลยชวนมาเป็นนักร้อง ตอนนั้นมีหลายคน จำได้ว่ามดร้องเพลง ‘รำวงเมย์เดย์’ และวงกรรมาชนกลายเป็นขวัญใจกรรมกร เวลามีประท้วงที่ไหนวงกรรมาชนก็ไปให้กำลังใจถึงที่”

การประท้วงของกรรมกรที่โด่งดังเหตุการณ์หนึ่งคือ กรณีกรรมกรโรงงาน ‘ฮาร่า’ อันเป็นยี่ห้อกางเกงยีนชื่อดังสมัยนั้น ราวเดือนตุลาคม ๒๕๑๘ คนงานกว่า ๑๐๐ คนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ได้หยุดงานประท้วงนายจ้างขอขึ้นค่าแรง เนื่องจากกฎหมายแรงงานกำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๒๕ บาท แต่นายจ้างจ่ายให้คนงานเพียง ๑๖ บาท มดเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่คนงาน การประท้วงได้ลุกลามเมื่อนายจ้างปฏิเสธการเจรจาแถมยังส่งอันธพาลเข้าทำร้าย คนงานจึงตัดสินใจเข้ายึดโรงงาน เอาเครื่องจักรและผ้ามาตัดเย็บกางเกงยีนหาเลี้ยงชีพ โดยกระเป๋าหลังปักเป็นรูปค้อนเคียว บางครั้งยังนำออกมาขายข้างนอก อาทิบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย

กรรมกรฮาร่าและมดอยู่กินในโรงงานเป็นเวลาถึง ๕ เดือน แต่การพยายามเจรจากับนายจ้างก็ล้มเหลว และทางการเกรงว่าการยึดโรงงานของกรรมกรฮาร่าจะเป็นแบบอย่างให้กรรมกรโรงงานอื่นลุกฮือขึ้นยึดโรงงานบ้าง จึงตัดสินใจปราบปรามขั้นเด็ดขาด กระทั่งวันที่บรรดาคนงานส่วนหนึ่งรวมตัวเดินไปบ้านพักของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นเพื่อร้องขอความเป็นธรรม ก็ได้ถูกตำรวจบุกจับและติดคุกอยู่ ๗ วัน รวมทั้งที่ปรึกษาคนสำคัญ

เป็นครั้งแรกของการต่อสู้เพื่อประชาชนที่มดได้ลิ้มรสชาติชีวิตในแดนตะราง มดบันทึกไว้ว่า

“ข้าพเจ้าและเพื่อนคนงานถูกจับ ๕๐ คน ถูกส่งฟ้องศาล มีนักศึกษาประชาชนมาให้กำลังใจจำนวนมาก เรี่ยไรเงินเป็นเงินประกันตัว ก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลา พวกเราขึ้นศาล ๒ ครั้งในคดีก่อความไม่สงบ มีนายกรัฐมนตรี (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) เป็นผู้กล่าวหา นับว่าพวกเราผู้หญิง นักศึกษาและคนงานตัวเล็กๆ ได้ขึ้นศาลกับนายกรัฐมนตรี นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ (เพราะก่อนที่พวกเราถูกจับ ได้ไปชุมนุมกันที่หน้าบ้านนายก-รัฐมนตรีเพื่อขอคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายคนที่ชุมนุมในโรงงาน) หลังจากถูกจับได้มีการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ ตัดสินให้นายจ้างรับคนงานกลับเข้าทำงานตามเดิม แต่นายจ้างก็ลอยแพคนงานในที่สุด”

ช่วงชีวิตของการต่อสู้ในเวลานั้น มดสนิทกับเพื่อนชายธรรมศาสตร์ที่ทำงานกรรมกรด้วยกัน ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของเธอ มดเล่าไว้ว่า

“ดิฉันมีเพื่อนซึ่งคล้ายๆ กับเป็นแฟนกัน ภายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาเขาเข้าป่าทางภาคอีสาน และถูกยิงเสียชีวิตในป่า เขาบู๊หนักกว่าดิฉันอีก ดิฉันว่าเสี่ยงแล้วนะ แต่เขาเสี่ยงหนักกว่า เขาเลยตายก่อน เขาเป็นแนวหน้า เป็นนักศึกษาคนแรกๆ ที่ตายในป่า เราไม่ได้คิดว่าความรักของเราคือคนสองคน เราต้องทำภารกิจอื่น เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีการเรียกร้องกัน แล้วตอนนั้นตายกันเยอะ”

หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อนักศึกษาและประชาชนหลายพันคนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังชุมนุมประท้วงการกลับเมืองไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรดาฝ่ายขวาจัดอันประกอบด้วยนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ชนชั้นสูงในสังคม ทหาร ตำรวจ ลูกเสือชาวบ้าน และกระทิงแดง-นวพล ซึ่งหวั่นกลัวว่าประเทศไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ จึงได้วางแผนล้อมปราบผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้ายในรุ่งสางของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยการส่งทหาร ตำรวจและอันธพาลบุกเข้าไปเข่นฆ่าผู้คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษา ถูกฆ่าตายอย่างทารุณ บ้างถูกเผา บ้างถูกลากไปแขวนคอที่ท้องสนามหลวง นักศึกษาสาวหลายคนถูกข่มขืนและแทงตาย มีผู้ล้มตายนับร้อยคนและถูกจับกว่า ๓,๐๐๐ คน และเย็นวันนั้นเองฝ่ายขวาจัดได้ถือโอกาสก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

พี่ตุ๊เล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟังว่า

“พี่มดอยู่ในธรรมศาสตร์ เช้ามืดตอนตีห้าทหารตำรวจยิงเข้ามา เราอยู่ในสนามบอลจนประมาณสามสี่โมงเย็นออกมาพร้อมพี่มด เป็นนาทีทองช่วงเดียว ตอนนั้นทหารเรือมาที่ประตูท่าพระจันทร์แล้วประกาศให้เด็กกับผู้หญิงออกมาก่อน ทหารเรือจะปกป้องให้ออกเดินเป็นแถว แต่พอออกมาได้แป๊บเดียวทหารบกไม่ยอม ยิงตามหลังมา เราวิ่งเข้าไปในตลาดท่าพระจันทร์ มีคนเปิดประตูบ้านรับเข้าไปในบ้านของเขาเต็มเลย หมอมิ้งก็อยู่ นุ่งกางเกงแพรกินข้าวต้มแล้วนะ อาซิ้มเจ้าของบ้านบอกให้เราเปลี่ยนเสื้อ เอาลิปสติกมาทาปากทาหน้าแล้วเอาบัตรนักศึกษาเก็บใต้รองเท้า ใครมาถามก็บอกว่าเป็นคนงานโกดังของเขา ตอนนั้นทหารมาค้นทุกบ้าน อาซิ้มบอกว่าให้ขึ้นไปซ่อนอยู่ชั้นสอง เราเลยรอดตาย ตอนนั้นทหารยิงตลอด เสียงปืนดังจนประสาทเสีย พอตอนเย็นเขาจับคนมาเรียงที่ฟุตบาทตรงวัดมหาธาตุ เราออกไปดู มดร้องไห้ เราบอกไม่ได้ มันเสียลับเลยกลับไปซ่อนตัวอยู่ที่บ้านเพื่อนแถวจตุจักร”

สุชีลา ตันชัยนันท์ ประธานกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๑๗ เล่าว่า “กระทิงแดงที่บุกเข้ามาในธรรมศาสตร์ พอพังประตูเข้ามาคนที่มันร้องเรียกหาคนแรกคือวนิดา มันจะลากวนิดาไปจัดการ”

 

ชีวิตนักปฏิวัติ

“ความยากลำบากของการดำรงชีวิตในป่า คือด่านทดสอบด่านแรกสำหรับนักปฏิวัติ ข้าพเจ้ายังจำคืนแรกที่ต้องเดินเท้าย่ำไปบนหนทางที่มืดมิด เพื่อหลบหนีการสะกดรอยของทางการ เราต้องเดินป่าในเวลากลางคืน โดยใช้ไฟฉายเท่าที่จำเป็น ขบวนคาราวานยาวเหยียดเกือบ ๘๐ ชีวิตประกอบด้วยสัมภาระมากมายที่เราไม่ต้องแบก เพราะผู้ปฏิบัติงานของพรรคฯ หลายคนช่วยพวกเราอย่างกระตือรือร้น”

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ ได้ราว ๑๐ กว่าวัน มดมีโอกาสได้เจอพ่อแม่ในที่ลับแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง ก่อนที่จะเป็นหนึ่งในนักศึกษาประชาชนหลายพันคนที่เดินทางเข้าป่า ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ มดและเพื่อนกรรมกรฮาร่าหลายคนนั่งรถไฟชั้นสามไปลงที่หาดใหญ่ โดยแต่ละคนทำเสมือนว่าไม่รู้จักกันเพื่อความปลอดภัยและไม่เป็นที่สงสัยของทางการ คนที่ไปด้วยกันจะมีสัญลักษณ์คือหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ รัดด้วยยางแดงเพื่อแสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน พอถึงหาดใหญ่มีสหายหรือคนของ พคท. มารอรับและพาเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งอันเป็นจุดนัดพบของคนกลุ่มใหญ่ ก่อนจะเดินเท้าเข้าป่าเป็นเวลาเกือบเดือนกว่าจะถึงแคมป์ใหญ่ของ พคท.

มดบันทึกเหตุการณ์ช่วงนั้นไว้ว่า “เราเรียกผู้ปฏิบัติงานของพรรคฯ และทหาร ท.ป.ท.(กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย) ว่า ‘สหาย’ และพวกเขาเรียกเราว่า ‘สหาย’ เช่นเดียวกัน ภายหลังเราถึงรู้ว่าสหายที่เดินทางมาด้วยกันนั้นมีบางคนเป็นสหายจากพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย ซึ่งอาศัยชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นที่พักพิงก่อการเช่นเดียวกัน สหายทุกคนหุงข้าว จัดที่นอน ซักผ้าให้ระหว่างเดินทาง กองคาราวานเดินเท้าผ่านป่าดงดิบเดินลึกเข้าไปในประเทศมาเลเซียและวกกลับเข้ามาในไทยผ่านดงทาก ป่าหนาม เราพบรอยเท้าของสัตว์ใหญ่นานาชนิด ฝูงช้างร้องเสียงดังแต่ไกล เราเรียนรู้การกินอาหารง่ายๆ โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ และเราก็รู้ว่าในป่าลึกมีผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่มาช้านาน วิถีชีวิตของพวกเขาคือ ต่อสู้และหลบหนีตั้งฐานปฏิบัติการ โฆษณามวลชน และก่อสงครามปฏิวัติขึ้นทุกหนแห่ง เราเรียกเขาว่า ‘นักปฏิวัติ’ กว่า ๑ เดือนที่เราเดินผ่านและพักแรมในค่ายพักของนักปฏิวัติกลุ่มต่างๆ ทั้งคนจีนในมาเลเซีย คนมุสลิม คนไทยพุทธ ทุกคนล้วนต้องการปลดปล่อยประเทศ ดินแดนของตนให้เป็นอิสระจากทุนนิยม-ศักดินานิยม-จักรพรรดินิยม

“และแล้วก็มาถึง ‘ทัพ’ ที่ตั้งค่ายหรือฐานปฏิบัติการแบบจรยุทธ์ (ยังไม่มั่นคง เคลื่อนย้ายเมื่อที่ตั้งถูกเปิดเผย) เสียงเพลง ‘ปฏิวัติชาติไทย’ ดังกระหึ่มต้อนรับเรา ผู้จะกลายเป็นนักปฏิวัติในไม่ช้า”

คนที่เข้าป่าจะได้รับการตั้งชื่อใหม่เพื่อเป็นการปิดลับ มดมีชื่อใหม่เรียกกันในป่าว่า ‘คุณจัน’ (ผู้ปฏิบัติงานในป่าของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมักมีคำเรียก ‘สหาย’ นำหน้าชื่อ แต่สำหรับผู้ปฏิบัติงานในภาคใต้นิยมใช้คำว่า ‘คุณ’ แทน) และใช้ชีวิตนักปฏิวัติในป่าแถบอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา บางครั้งเครื่องบินของฝ่ายรัฐบาลบินโฉบกราดปืนกลลงมาคนในค่ายต้องดับไฟหมดเพื่ออำพราง ค่ายของ พคท. ที่คุณจันอยู่มีสหายร่วมรบนับร้อยชีวิต ทั้งนักศึกษา ประชาชน กรรมกร ชาวนา โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายภารกิจแตกต่างกันไป กลุ่มของคุณจันอยู่ฝ่ายผลิต รับผิดชอบงานในไร่ข้าวโพด ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกฟักทองกลางป่าใหญ่

สมจิตร์ ชื่นสุขสมบูรณ์ หรือ ต่าย กรรมกรฮาร่าที่เข้าป่าด้วยกัน เล่าถึงมดเมื่อแรกเข้าป่าใหม่ๆ ให้ฟังว่า “ตอนแรกพี่มดมีภารกิจต้องไปตัดอ้อยในไร่มาเป็นเสบียง แต่พี่มดไม่รู้จักต้นอ้อย ไปตัดต้นตะไคร้มาแทน หรือได้รับมอบหมายให้ไปถอนหญ้า แกก็ไปถอนต้นข้าว”

ต่อมาคุณจันได้ย้ายมาทำงานมวลชน มีหน้าที่แต่งเพลงปฏิวัติโดยนำทำนองเพลงลูกทุ่งอันโด่งดังมาใส่ทำนอง เขียนบทละคร หรือฟ้อนรำเวลามีงานวัฒนธรรม

มดได้เรียนรู้การใช้ชีวิตเป็นนักปฏิวัติในป่าร่วม ๔ ปี เธอได้เรียนรู้ชีวิตที่ต้องปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ รู้จักต้นไม้ เผชิญหน้ากับสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ หมีป่า งูจงอาง การขึ้นเขา เดินป่า ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่พึ่งพิงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยที่ไม่คาดคิดว่าในอีก ๑๐ กว่าปีต่อมา ตนจะได้กลับมาทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ

“ข้าพเจ้าจัดอยู่ในกลุ่มที่สุขภาพแข็งแรง เป็นมาลาเรียปีละครั้งหรือสองครั้ง แต่ละครั้งเป็นไม่นานฟื้นไข้เร็ว โรคที่เป็นกันมากอีกโรคคือโรคผิวหนัง น้ำเหลืองพุพอง โดยเฉพาะที่น่อง ขา และเท้า เพราะในป่ามียุง ริ้น ไร ประกอบกับฝนตกชุก ใน ๑ ปีฝนตก ๗-๘ เดือน เรามีเสื้อผ้า ๑-๓ ชุดต่อปีเพื่อใส่นอน ๑ ชุด ใส่เดินทาง ๑ ชุด เพราะเมื่อเดินทางจะถูกฝนและน้ำค้างเปียกจึงต้องมีชุดแห้งๆ ไว้ใส่นอน กลางคืนพวกเรามักล้อมวงรอบกองไฟเพื่อปิ้งย่างเสื้อผ้าให้แห้ง ในป่าทึบบางครั้งแดดส่องไม่ถึงจึงต้องอาศัยกองไฟทำให้ผ้าแห้ง เมื่อฝนตกหนัก น้ำป่าหลากเป็นสีแดงเข้ม อันตรายที่จะข้ามแม้เป็นห้วยเล็กๆ ทากที่คอยดูดเลือดเราระหว่างเดินทาง พวกเราทุกคนกลัวและขยะแขยง เมื่อโดนทากดูดเลือดส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวจนกว่าจะเห็นเลือดออกเท่านั้น ทากดูดเลือดได้นิ่มนวลมาก นี่เองจึงเปรียบการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยมว่าเหมือนทาก

“ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง สอนให้พวกเราตอบแทนบุญคุณของกรรมกร ชาวนาชาวไร่ที่ผลิตเลี้ยงดูโลกและสังคม เกษตรกรและคนงานคือผู้เลี้ยงโลก ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยโครงสร้างทางสังคมที่มนุษย์ที่มีอำนาจออกแบบขึ้นมาเพื่อจะเอาคนเป็นทาสและคอยสูบเลือดเหมือนทาก อารยธรรมทั้งหลายในอดีตสร้างขึ้นด้วยหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของประชาชนที่ถูกกดขี่ พรรคคอมมิวนิสต์ฯ และธรรมชาติได้หล่อหลอมนักปฏิวัติรุ่นเยาว์เช่นข้าพเจ้า ให้มีโลกทัศน์ต่อมนุษย์และธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานการใช้ชีวิตของข้าพเจ้าตราบจนปัจจุบัน โดยข้าพเจ้าไม่รู้ตัว”

ภารกิจสำคัญของนักปฏิวัติอีกอย่างก็คือการเรียนรู้ทฤษฎีลัทธิสังคมนิยม โดยเฉพาะ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง โลกทรรศน์เยาวชน คือคัมภีร์ที่ทุกคนใช้เป็นอาวุธทางความคิดในการดัดแปลงตนเองและปฏิวัติสังคม เวลานั้นสหายนำหรือผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้แนวทางทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นหลักสำคัญในการปฏิวัติ ซึ่งหลายเรื่องก็ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย จึงเกิดความขัดแย้งกับบรรดานักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่า และแม้แต่ในป่าก็ยังมีการแบ่งชนชั้นกัน กล่าวคือ สหายนำหรือผู้อยู่มาก่อนจะได้รับส่วนแบ่งอาหารหรือปัจจัยการดำรงชีพที่ดีกว่าคนอื่นๆ หรือคนที่ไม่มีปากมีเสียง เชื่อฟังพรรคฯ อย่างเคร่งครัด ก็จะได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกพรรคฯ อันถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของนักปฏิวัติ

ต่ายเล่าให้ฟังว่า

“ในป่าพี่มดเป็นคนดื้อ เป็นพวกเด็กเกเร เห็นความไม่ยุติธรรมไม่ได้ พวกสหายนำไม่ชอบ ครั้งหนึ่งพวกเรากินแต่ปลาเค็มเป็นเดือนๆ จึงอยากรู้ว่าพวกสหายนำเขากินอะไร ก็ไปแอบดูว่าพวกนี้กินปลาทูนึ่งกันเป็นหม้อๆ พี่มดก็ไม่ยอม แกบอกว่าทำไมเราต้องยอมด้วย เราก็ย่องไปตอนกลางคืนไปขโมยปลาทูมาแบ่งกันกิน บางทีตอนกลางคืนเราอยากน้ำตาลมากเพราะไม่ได้กินมานาน มีแต่สหายนำที่ได้กินน้ำตาล ตอนนั้นมดเป็นพลาธิการเสบียง ก็เปิดโกดังให้พวกเรากินกัน ช่วงนั้นมดสุขมาก ไม่ยี่หระกับอะไรเลย พรรคฯ จะเห็นยังไงไม่สน ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคฯ ก็ไม่เป็นไร มดนำกรรมกรฮาร่าสร้างโรงงาน เอาจักรมาตั้งตัดเย็บเสื้อผ้ากันกลางป่าเลย”

ขณะที่มดได้เขียนบันทึกของตัวเองว่า

“ข้าพเจ้าและเพื่อนบางคนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของพรรคฯ… มีหลายคนตั้งข้อสังเกต ตอนที่ยังไม่เข้าป่า ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมต่างๆ รับใช้ประชาชนอย่างแข็งขันที่สุดคนหนึ่ง แต่พอเข้าป่ากลับเฉื่อยเนือยไม่เหมือนเดิม ข้าพเจ้าก็ยังแปลกใจตัวเอง เพียงแค่รู้ตัวว่าข้าพเจ้าชอบใกล้ชิดและคลุกคลีกับสหายชั้นล่าง (หมายถึงคนที่ไม่มีตำแหน่งในพรรคฯ) และชอบอยู่ในหน่วยงานที่คนไม่ค่อยอยากไปทำเนื่องจากไม่ค่อยมีเกียรติเท่าใดนัก เช่น หน่วยการผลิต หน่วยบริการ คนส่วนใหญ่ชอบอยู่ในหน่วยทหาร”

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มด–อดีตนักกิจกรรมที่มีบทบาทมากคนหนึ่งถึงขนาดในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ทางการหมายหัวไว้ เมื่อมาใช้ชีวิตในป่ากลับไม่มีบทบาทใดๆ ไม่ได้รับการยอมรับจากระดับนำของพรรคฯ เพราะมดไม่ใช่ “ลูกที่ดี” ของพรรคฯ และมดก็ไม่ต่างจากนักศึกษาอีกหลายคนที่เริ่มตั้งคำถามกับการนำของพรรคฯ ที่ยึดมั่นในทฤษฎีปฏิวัติของจีนมากเกินไป จนไม่ยอมมองดูบริบทหรือสภาพแวดล้อมของสังคมไทยที่มีความแตกต่างกัน ขณะที่แกนนำของพรรคฯ ก็ไม่ยอมให้มีการตั้งคำถามหรือการโต้แย้งใดๆ ทางความคิด ตอนหลังมดขัดแย้งกับแกนนำอย่างหนัก ถึงกับโดนยึดคาร์บินปืนประจำตัวคืน และถูกตราหน้าว่าเป็นพวกเสรี

ความฝันของคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวบรวมกำลังจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลที่กดขี่ข่มเหงเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า เริ่มจะไม่จริงอีกต่อไป นักศึกษาจำนวนมากที่ผิดหวังจากแนวทางของพรรคฯ จึงเริ่มทยอยกันกลับสู่เมือง ประจวบเหมาะกับที่ทางพรรคฯ มีนโยบายให้คนเหล่านี้กลับไปเยี่ยมบ้านหลังจากห่างครอบครัวมานาน มดจึงขออนุญาตออกจากป่าเพื่อกลับมาเยี่ยมบ้านหลังจากมาร่วม ๔ ปี

เวลานั้นรัฐบาลพยายามยุติสงครามกลางเมืองโดยการออกนโยบาย ๖๖/๒๓ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนในสังคมที่มีความเห็นแตกต่างกัน โดยเฉพาะนักศึกษาที่เข้าป่าจับอาวุธ ก็เปิดโอกาสให้กลับเข้าเรียนต่อโดยไม่มีอันตรายหรือถูกตั้งข้อหาใดๆ ขณะที่ชาวนาที่ออกจากป่าก็ถือเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” โดยรัฐบาลได้จัดสรรที่ดินทำกินจำนวนหนึ่งให้

ในปี ๒๕๒๔ เมื่อกลับมาบ้านมดเพิ่งทราบว่า ทุกค่ำคืนตลอดเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา แม่ต้องออกมายืนร้องไห้หน้าประตูบ้าน คอยชะเง้อมองไปตามถนนจนดึกดื่น หวังว่าลูกสาวคนนี้จะกลับบ้าน ในขณะเดียวกันฐานะการเงินของครอบครัวเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ กิจการยากันยุงของพ่อไม่ค่อยดีนัก เป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่ง พ่อถูกจับติดคุกเพราะไปเซ็นเช็คค้ำประกันให้เพื่อน เดือดร้อนแม่และลูกๆ ต้องไปเที่ยวกู้หนี้ยืมสินประกันตัวพ่อออกมา

กลับมาบ้านได้สักพัก ในช่วงแรกมดยังสับสนอยู่ว่าจะกลับเข้าป่าเพื่อทำการปฏิวัติต่อตามความฝันหรือไม่ มดได้ไปเยี่ยมพรรคพวกในป่าแถบเทือกเขาภูพานอยู่ช่วงระยะหนึ่ง สุดท้ายก็ตัดสินใจเรียนต่อหลังจากได้พบว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่สามารถนำทางให้เกิดการปฏิวัติได้อย่างแท้จริง เพราะไปยึดมั่นกับทฤษฎีการปฏิวัติจากจีนมากเกินไป ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยจนทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคฯ อย่างรุนแรง ถึงอย่างนั้นก็ตาม มดก็เป็นเช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ยังรู้สึกแปลกแยกกับชีวิตในเมือง ยังมีความรู้สึกต่อต้านอำนาจรัฐถึงกับคิดจะไม่ทำบัตรประชาชน ต้องใช้เวลาปรับตัวนานพอสมควร

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ต้อนรับมดและนักศึกษาที่ออกจากป่าทุกคนอย่างอบอุ่น ไม่มีการซักประวัติ ไม่มีการสอบปากคำจากทางการ มดได้ย้ายไปเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ เพื่อจะรีบเรียนให้จบออกมาทำงานช่วยทางบ้านที่กำลังเดือดร้อนเรื่องหนี้สิน

เวลานั้นความคิดการเป็นนักปฏิวัติได้หายไปชั่วคราว มีแต่จิตใจทุ่มเทกำลังทำงานหาเงินมาแบ่งเบาภาระทางบ้าน ความรู้สึกของมดคงไม่ต่างกับ “คนป่าคืนเมือง” ทั้งหลาย มดนิยามตัวเองเป็น “นักสังคมนิยมล้มเหลว” ขณะที่พ่อของเธอเป็น “นายทุนล้มละลาย”

วนิดาออกจากป่ามาเรียนหนังสือต่อจนสำเร็จรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี ๒๕๔๗

ภายหลังสำเร็จการศึกษาวนิดาทำงานขายประกัน ไกด์นำเที่ยว แม่ค้าขายอาหาร หลายปี เพื่อหาเงินใช้หนี้ทางบ้าน ก่อนจะกลับไปทำงานตามอุดมคติอีกครั้ง

การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูนปรากฎเป็นข่าวใหญ่ติดต่อกันนานหลายปี จนทุกวันนี้เขื่อนปากมูนได้กลายเป็นประจักษ์พยานของความล้มเหลวจากการพัฒนา

วนิดาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กับชาวบ้านปากมูนนอนกลางดินกินกลางทรายไม่เคยถือตนเหนือชาวบ้าน

ชีวิตใหม่กับชาวปากมูน

“เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ หลังจากลงพื้นที่ครั้งแรก และเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่ประกอบด้วยผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไปก็ได้ข่าวการปฏิวัติ (รสช.) การยึดอำนาจของทหารจากรัฐบาลพลเรือนชาติชาย ชุณหะวัณ มีการประกาศกฎอัยการศึก การชุมนุมเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านในภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและไม่ค่อยมีคนกล้าเข้าร่วม”

ในปี ๒๕๒๗ มดเรียนจบปริญญาตรี แม่ไปงานรับปริญญาที่ธรรมศาสตร์ด้วยความดีใจอย่างสุดซึ้งที่ลูกสาวคนนี้กลับมาเรียนหนังสือจนสำเร็จ และคงตั้งหน้าตั้งตาประกอบอาชีพ มีหน้าที่การงานเหมือนคนอื่นๆ ขณะที่มดเองตั้งแต่ออกจากป่าก็พยายามทำงานทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ยังมีหนี้สินอยู่หลายล้านบาท มดทำงานเป็นพนักงานขายประกันที่บริษัทอาคเนย์ประกันภัยตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ สามารถสร้างรายได้พอควรเพราะมีเพื่อนฝูงช่วยซื้อประกันมาก ต่อมาก็เปลี่ยนไปเป็นไกด์นำเที่ยวในช่วงที่รัฐบาลพยายามโปรโมตการท่องเที่ยวจนมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ และบางครั้งก็เป็นแม่ค้าหาบเร่ที่ต้องวิ่งหนีตำรวจ เป็นแม่ค้าขายลำไย ขายข้าวแกงที่แฮปปี้แลนด์ และทำเสื้อยืดสกรีนลวดลายเองขายให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปจนถึงร่วมลงขันกันระหว่างพี่น้องเพื่อหาเงินมาใช้หนี้สินด้วยการจัดคอนเสิร์ตวงคาราบาวและวงแฮมเมอร์ในยุคที่ยังไม่โด่งดังก็ทำมาแล้ว

หลังจากทำงานหาเงินตัวเป็นเกลียว ในที่สุดภาระหนี้สินทางบ้านก็ลดน้อยลงมาก มดในวัย ๓๐ ต้นๆ เริ่มรู้สึกอยากทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ มดเคยให้สัมภาษณ์ว่า

“พอใช้หนี้ได้หมดก็ไม่รู้จะหาเงินไปทำไมแล้ว บางคนเห็นดิฉันค้าขายเก่งก็จะลงทุนตั้งโรงงาน ให้ดิฉันเป็นผู้จัดการ แต่เราได้เห็นการแก่งแย่งกัน การเอารัดเอาเปรียบกัน ระบบทุนนิยมทำให้คนเป็นอย่างนั้น แม้แต่เพื่อนหรือพี่น้องกัน ถ้าเข้าไปอยู่ในธุรกิจเดียวกันหรือแข่งขันกัน ก็แทบจะฆ่ากันไปเลย เพื่อนดิฉันหลายคนออกจากป่าก็มาทำธุรกิจการค้า ก็แทบจะฆ่ากัน ทั้งๆ ที่อยู่ในป่ารักกันขนาดตายแทนกันได้ ดิฉันรู้สึกว่าถ้ามีทางเลือกดีกว่านั้นก็ไม่อยากทำ แล้วถ้าจะให้เลือกระหว่างการเสียเงินกับเสียเพื่อน ดิฉันยอมเสียเงินดีกว่า”

มดได้เข้าร่วมรณรงค์กับขบวนการสันติภาพต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นอาสาสมัครโครงการสันติภาพไทย-ลาว เวลานั้นน้องสาวสองคนก็ล้วนแต่ทำงานทางด้านนี้ คนหนึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชน อีกคนทำงานด้านสลัม มดซึ่งมีพื้นฐานชอบเรื่องธรรมชาติอยู่แล้วจึงสนใจงานด้านนี้ และคิดง่ายๆ แต่แรกว่า การรณรงค์ให้ผู้คนรักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องยาก และตัวเองก็จะได้อยู่กับธรรมชาติด้วย

แต่เมื่อเข้ามาทำจริงแล้วก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดปี ๒๕๓๓ มดเริ่มทำงานในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติกับโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (ปัจจุบันคือมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ) รับผิดชอบด้านการศึกษาข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการสร้างเขื่อนต่างๆ และได้ลงไปดูพื้นที่จริง อาทิ ไปดูน้ำเน่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ไปดูพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปดูป่าแม่ยมที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ไปรู้จักกับกลุ่มอนุรักษ์กาญจนบุรี และต่อมาเมื่อเกิดโครงการสร้างเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี แต่ดูเหมือนว่านักอนุรักษ์ในเวลานั้นไม่ค่อยให้ความสนใจปัญหาของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เอ็นจีโอส่วนใหญ่ถอยห่างจากกรณีนี้ ในขณะที่ชาวบ้านร่วมต่อสู้กันเอง ในปี ๒๕๓๔ มดได้เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านบริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนปากมูล ไปคุยกับชาวบ้านที่กำลังหาปลาในแม่น้ำมูน

ถึงเวลานั้นมดตัดสินใจแล้วว่าต้องร่วมต่อสู้กับชาวบ้านเพื่อรักษาแม่น้ำมูนไว้ให้ได้

เขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีกำลังผลิต ๑๓๖ เมกะวัตต์ (เพียงพอสำหรับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เพียง ๑ แห่ง) กั้นแม่น้ำมูนบริเวณอำเภอโขงเจียม และตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง เขื่อนแห่งนี้สร้างขึ้นโดยใช้งบประมาณในตอนแรก ๓,๐๐๐ ล้านบาท แต่สุดท้ายงบได้บานปลายไปถึง ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท

การก่อสร้างเขื่อนปากมูลเริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๓๔ และเสร็จสิ้นในปี ๒๕๓๗ ในระหว่างการก่อสร้างมีการชุมนุมประท้วงจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อน และเรียกร้องให้หยุดการระเบิดแก่งต่างๆ อันเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของลำน้ำมูน

ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา เขื่อนขนาดกลางแห่งนี้กลายเป็นเขื่อนที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในประเทศไทย มีนักข่าวจากทั่วโลกเดินทางมาทำข่าวเป็นประจำ และยังกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีของบรรดานักศึกษาเพื่อเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทไปจนถึงปริญญาเอกทั้งในและนอกประเทศ อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และทำให้ชื่อของวนิดา หรือมด เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ในฐานะนักสู้ผู้ไม่ยอมถอย

พ่อทองเจริญ สีหาธรรม แกนนำชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล ย้อนอดีตเมื่อ ๑๘ ปีก่อนตอนที่มดเข้าพื้นที่ครั้งแรกว่า

“มดเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลมีโครงการสร้างเขื่อนปากมูล และแม่น้ำจะเสียหาย พี่น้องก็จะเดือดร้อน เขาถามว่าพ่อคิดยังไง ผมก็บอกว่าฟังที่ทาง กฟผ. มาประชาสัมพันธ์แล้วน่าจะดี จะทำให้พี่น้องมีความอยู่ดีกินดี ผมก็บอกเขาไปว่ารัฐบาลคงไม่โกหกพี่น้องมั้ง มดก็บอกว่าหลังสร้างเขื่อนแล้ว แม่น้ำมูนจะตกตะกอนเยอะ สิ่งสกปรกโสโครกไม่รู้ว่าจากกี่จังหวัดกี่อำเภอก็จะมาลงที่นี่หมด ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเชื่อนะ พี่น้องก็ไม่ค่อยเชื่อคำพูดของมดเท่าไหร่ แต่ตอนหลัง กฟผ. เปลี่ยนแปลงโครงการอยู่เรื่อย เช่นบอกว่าจะสร้างเขื่อนดิน สร้างฝายน้ำล้น แล้วก็เปลี่ยนเป็นฝายยาง สุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นคอนกรีตอัดแรง ทีแรกเขาบอกว่าจะไม่ทำร้ายแก่ง ไม่ทำร้ายธรรมชาติ และไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องในชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูน แต่สุดท้ายเราก็ถูกหลอก แก่งก็ถูกระเบิดหมด”

หลังจากนั้นมดได้ลาออกจากงานที่ทำในโครงการฟื้นฟูฯ แล้วผู้หญิงตัวเล็กๆ ผิวขาวชาวกรุงได้เดินทางไปปักหลักสู้ร่วมกับชาวบ้านปากมูนตามลำพัง ศึกษาและเรียนรู้ปัญหาร่วมกันกับชาวบ้าน จนได้พบว่าการสร้างเขื่อนปากมูลก่อผลกระทบมหาศาลเพียงใด แม้ว่าน้ำไม่ท่วมพื้นที่ป่าเหมือนกับการสร้างเขื่อนอื่นๆ แต่เขื่อนปากมูลที่ปิดกั้นลำน้ำมูนและอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงเพียง ๕ กิโลเมตร ได้ทำให้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านเกิดน้ำท่วมเสียหาย และยังกั้นขวางทางปลานับล้านๆ ตัวจากแม่น้ำโขงที่จะว่ายทวนน้ำเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูน เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนลุ่มน้ำมูนมาช้านาน ส่งผลให้ชาวบ้านปากมูนหลายพันคนที่มีอาชีพทำประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

อันที่จริงก่อนหน้านี้ก็มีแกนนำมาร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน แต่อยู่ได้ไม่นานก็ถอนตัวไปเพราะสถานการณ์ค่อนข้างไม่ปลอดภัย มดไม่ยอมถอย ทั้งยังใช้เวลาทั้งหมดพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อน มดทำให้ชาวบ้านได้รู้จักสิทธิของตัวเอง มดคุยกับชาวบ้านจากกลุ่มเล็กๆ จนค่อยๆ เป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้น และร่วมกับชาวบ้านเดินขบวนคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลอย่างแข็งขัน ขณะที่ฝ่าย กฟผ. และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ท่าทีแข็งกร้าว กลั่นแกล้งทุกวิถีทาง ไม่พยายามทำความเข้าใจผู้เดือดร้อน แถมยังใช้วิธีสนับสนุนจัดตั้งมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเป็นฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านฝ่ายผู้คัดค้านด้วยความรุนแรง และอีกด้านหนึ่งมดได้ตกเป็นเป้าโจมตีมากที่สุดมีการปล่อยข่าวกล่าวหามดต่างๆ นานา อาทิ เป็นคอมมิวนิสต์บ้าง เป็นเมียน้อยของแกนนำชาวบ้านบ้าง รับเงินต่างชาติมาทำลายประเทศ มีบ้านพักราคานับสิบล้านบาท ถึงอย่างนั้นก็ตามสิ่งเหล่านี้หาได้ทำให้กำลังใจของผู้ถูกกล่าวหาอย่างมดลดลงไม่

พ่อทองเจริญยังจดจำได้ดีว่า ในช่วงเวลานั้นมดได้ให้แง่คิดกับชาวบ้านอย่างไร

“พอเราเห็นเขาระเบิดแก่งเราก็เริ่มตกใจ กลับมาถามมดว่า ถ้าเราจะสู้กับเขา กับอำนาจรัฐ กับทุนเราจะสู้ได้ไหม มดก็บอกว่าเราต้องสู้ได้ ทุนที่เป็นเงินทองมันชั่ววูบแล้วก็หมดไป แต่ทุนที่หนักแน่นจริงๆ คือทุนจิตใจของพี่น้องที่จะสู้หรือไม่สู้ ทีแรกพวกเรามีน้อยคนนะที่จะร่วมอุดมการณ์ เพราะปัญหาของเขื่อนมันค่อยๆ โผล่ขึ้นมา ไม่เหมือนปัญหาแบบคลื่นสึนามิ มาทีเดียวโครมใหญ่ มดเขาทุ่มเท เขาไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่มันไม่ถูกต้องเลย ขนาดมีคนเฒ่าคนแก่เดินตามมด ๑๐-๒๐ คน มดเขาก็ดีใจแล้ว”

อาจกล่าวได้ว่าวิธีการทำงานมวลชนของมดได้เปลี่ยนไปจากการทำงานกับกรรมกรเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ดังที่พี่ตุ๊-ทิพวรรณ เพื่อนสนิทของมดวิเคราะห์ให้ฟังว่า

“สมัยนั้นพวกเรารับทำแทนกรรมกรทั้งหมด ไม่ว่าการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง พวกเราพูดแทนกรรมกรหมดโดยที่ไม่ได้สอนให้กรรมกรยืนด้วยตัวเอง ช่วงหลังตอนที่มดมาทำงานกับสมัชชาคนจน มดมีพัฒนาการทางความคิด ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบรับทำแทน มดจะใช้วิธีให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาสู้เอง นำขบวนเอง นี่ชัดเลยนะว่าต่างจากสมัยนักศึกษา”

อาจเป็นเพราะมดได้สรุปบทเรียนแล้วว่า วิธีการเป็นผู้นำ ตัดสินใจและทำทุกอย่างแทนมวลชน ทำให้มวลชนไม่เติบโตพอที่จะยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ดังนั้นในการทำงานมวลชนกับชาวบ้านปากมูน มดได้ทำหน้าที่ถอยห่างออกมาเป็นเพียงที่ปรึกษา และไม่ตัดสินใจอะไรด้วยตนเองเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป แต่จะให้ตัวแทนชาวบ้านทั้งหมดร่วมกันตัดสินใจทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ของชาวบ้าน

ในปี ๒๕๓๖ ธนาคารโลกได้อนุมัติเงินกู้เพื่อสร้างเขื่อนปากมูลเป็นเงิน ๖,๖๐๐ ล้านบาท กฟผ. จึงได้เริ่มทำการก่อสร้างเขื่อน ขณะที่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านเรื่องค่าชดเชยต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้ชาวบ้านหลายพันคนจะเดินทางไปประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีและที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล หนทางเดียวที่จะกดดันรัฐบาลได้ก็คือ การรวมพลังเข้ายึดสันเขื่อน

๓ มีนาคมปีเดียวกัน ชาวบ้านกว่า ๔๐๐ คนได้เข้ายึดอุปกรณ์ก่อสร้างและนอนขวางลูกระเบิดที่กำลังจะระเบิดแก่ง ทำให้การก่อสร้างเขื่อนหยุดลงชั่วคราว แม่สมปอง เวียงจันทร์ หนึ่งในแกนนำชาวบ้านปากมูนเล่าว่า

“ช่วงนั้นตรงกับสมัยรัฐบาลชวน อากาศหนาวมาก พวกพี่น้องที่มาชุมนุมกันหนาวเกือบตาย เมื่ออยู่ก็ตาย กลับบ้านก็ตาย จึงพากันไปยึดหัวงานเขื่อน มดก็ไปด้วยกัน เสี่ยงตายก็ช่าง”

ชาวบ้านยึดหัวงานเขื่อนได้ ๓-๔ วัน ก็มีตัวแทนของรัฐบาล คือนายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเจรจา โดยชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายจากการที่ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้เพราะมีการระเบิดแก่ง และให้รับประกันความปลอดภัยของชาวบ้าน แต่พอนายสุทัศน์กลับไป คืนนั้นทหาร ตำรวจ และชาวบ้านที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนก็เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง

“ประมาณทุ่มเศษๆ ฝ่ายนั้นมีแต่ชายฉกรรจ์กินเหล้าเมายา ส่งเสียงไชโยโห่ร้อง เขาส่งตัวแทนมาบอกให้พวกเราออกไป ไม่งั้นจะสลายการชุมนุม พวกเรากับมดก็ไปขอเขาว่าเราจะออกตอนเช้า ตอนนี้มันดึกแล้ว แต่เขาไม่ยอม เดินเท้าเข้ามาร้อง ‘ฆ่ามึงๆ’ แล้วขว้างก้อนหินมาโดนพี่น้องที่ชุมนุมอยู่ตรงหัวสะพาน แตกกันไปคนละแนว ตอนนั้นพวกเรากลัวมดโดนจับเอาไปฆ่า ก็เลยพาหลบลงเรือพายหนีไปตามแม่น้ำมูน เราต้องรักษาชีวิตมดไว้ก่อน หลังจากนั้นบางส่วนก็ขึ้นรถโดยสารนัดกันเข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯ เพื่อบอกว่าเกิดอะไรขึ้นที่ปากมูน”

มดกับชาวบ้านเริ่มถูกจับดำเนินคดีข้อหาร้ายแรงหลายข้อหาจากฝ่ายรัฐ แต่ก็หาได้ทำให้ขบวนชาวบ้านเสียกำลังใจไม่ และอีกหลายเดือนต่อมาขณะที่ทาง กฟผ. กำลังระเบิดแก่ง-แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาชนิดต่างๆ จำนวนมหาศาลในแม่น้ำมูน โดยอ้างว่าเป็นการปรับปรุงร่องน้ำ ชาวบ้านกว่า ๔๐๐ คนที่คัดค้านมานานแต่ไม่สามารถหยุดเสียงระเบิดได้ จึงตัดสินใจบุกเข้ายึดแก่ง ยึดเครื่องมือก่อสร้างและนอนขวางลูกระเบิด การสร้างเขื่อนจึงยุติลงชั่วคราว แต่หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนก็ส่งชายฉกรรจ์พร้อมไม้กระบองบุกเข้ามาทำร้ายอีกฝ่ายจนได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน พ่อทองเจริญผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่า

“ตอนไปยึดแก่ง ขนาดมีระเบิดหิน ๑๐๐-๒๐๐ ลูก มดก็อยู่กับพวกเราตลอด ไม่หนีจากกัน เย็นนั้นมีฝ่ายตรงข้ามเข้ามาลอบยิงเยาวชน เช้ามาเราก็ไปแจ้งความให้ตามหาผู้ร้ายที่เข้ามาลอบยิงพี่น้องเราที่มาชุมนุม สุดท้ายเราถูกจับพร้อมกับมด”

ในปี ๒๕๓๗ เขื่อนปากมูลก็ก่อสร้างเสร็จ ท่ามกลางการต่อสู้ยาวนานของชาวบ้าน มีการชุมนุมเคลื่อนไหวหลายสิบครั้ง การปะทะกันเกิดขึ้นบ่อย หลายคนได้รับบาดเจ็บ ชาวบ้านถูกจับกุมคุมขังนับสิบคน นับเป็นการต่อสู้ยาวนานที่สุด และสามารถสร้างแนวร่วมจากนักศึกษา นักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอ ข้าราชการ นักธุรกิจได้มากมายมหาศาล แม้ชาวบ้านจะไม่สามารถขัดขวางการสร้างเขื่อนได้สำเร็จ แต่การต่อสู้ครั้งนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม คือข้อเรียกร้องให้ชดเชยอาชีพประมงของชาวบ้านที่ต้องสูญเสียไปจากการสร้างเขื่อน แม้ในตอนแรกจะได้รับการเยาะเย้ยจากคนจำนวนมากว่าเป็นเรื่องตลก แต่จากการต่อสู้อย่างทรหดของชาวบ้านทำให้ กฟผ. ตกลงจ่ายค่าชดเชยใน ๒ กรณี คือ ค่าชดเชยการสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกน้ำท่วมตามจริง (เดิม กฟผ. จ่ายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเฉพาะรายที่ กฟผ. ระบุเท่านั้น) อีกกรณีคือ ค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพประมงตลอดเวลา ๓ ปีของการสร้างเขื่อน เป็นเงินครอบครัวละ ๙๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๓,๑๙๕ ครอบครัว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐยอมจ่ายค่าชดเชยต้นทุนทางสังคม

แต่การต่อสู้ยังไม่จบเพียงแค่นั้น…

วนิดานั่งสมาธิกับชาวบ้านระหว่างการชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาลในปี ๒๕๕๐ เป็นหนึ่งในแนวทางการต่อสู้โดยสันติวิธี (ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช)

บนเวทีสมัชชาคนจนข้างทำเนียบรัฐบาลนอกจาเป็นเวทีเรียกร้องต่อรัฐบาลแล้ว ยังเป็น “โรงเรียนการเมือง” ของชาวบ้านที่ร่วมชุมนุม และคนทั่วไปที่เข้ามาเรียนรู้ปัญหาด้วย

มดกับสมัชชาคนจน

“ถ้ามากันคนสองคนจะได้พบก็แต่ยาม ถ้ามี ๑๐-๒๐ คนอาจจะได้เจอเลขาฯ ศูนย์บริการประชาชน ถ้ามาเป็นร้อยจะได้เจอเลขารัฐมนตรี มาเป็นพันรัฐมนตรีช่วยฯ จะลงไปหา ถ้ามีสักหมื่นรัฐมนตรีจะลงมาเจรจาด้วย แต่จะให้นายกฯ มาพบปะเจรจาต้องสักสองหมื่น”

ช่วงเวลาก่อนที่มดเข้าร่วมกับชาวบ้านปากมูน การชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านทั่วประเทศมีมาอย่างต่อเนื่องนานนับสิบปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากรัฐบาล ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายและโครงการต่างๆ ของรัฐจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “สมัชชาคนจน” โดยมีกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ นักศึกษา และผู้รักความเป็นธรรมเข้ามาช่วยหนุนเสริม ซึ่งมดก็เป็นหนึ่งในนั้น จนในเวลาต่อมา สมัชชาคนจนได้กลายเป็นองค์กรชาวบ้านที่สามารถสร้างพลังต่อรองกับรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน และได้กลายเป็นกรณีศึกษาไปทั่วโลก

สมัชชาคนจนอธิบายตัวเองว่า เป็น “เครือข่ายของชาวบ้านคนยากจนจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ระหว่างรัฐและภาคธุรกิจกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นทั้งในชนบทและในเมือง นโยบาย และโครงการพัฒนาของรัฐ กฎหมาย ฯลฯ ได้รุกรานวิถีชีวิตปรกติ ละเมิดสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น”

สมัชชาคนจนกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๘ (วันสิทธิมนุษยชนสากล) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีตัวแทนชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทั้งในประเทศไทยและอีก ๑๐ ประเทศในทวีปเอเชียเข้าร่วม ภายใต้ “คำประกาศลำน้ำมูน” หรือ “ปฏิญญาปากมูน” ที่ตัวแทนทั้งหมดได้ร่วมกันร่าง ณ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี วัตถุประสงค์ในการรวมกันเป็นเครือข่ายสมัชชาคนจนก็เพื่อเป็นเวทีรวมพลังแห่งความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประสานความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของกลุ่มปัญหา ๖ เครือข่าย กรณีปัญหาทั้งสิ้น ๑๒๕ กรณี อาทิ เครือข่ายปัญหาเขื่อนหรือสมัชชาเขื่อน เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายปัญหาสลัม เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานกรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังขยะ-ลิกไนต์เชียงใหม่ กรณีการคัดค้านการก่อสร้างศูนย์ราชการโพธิ์เขียว สุพรรณบุรี เป็นต้น

เป้าหมายของสมัชชาคนจนคือ การสร้างอำนาจความเข้มแข็งให้แก่ชาวบ้าน ดังคำขวัญที่ว่า “ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนา ต้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างแท้จริง คนจนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน”

มดได้นำชาวบ้านปากมูนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาคนจน โดยตัวเธอทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

“ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ ข้อเรียกร้องเชิงนโยบายและทางเลือกของสังคมของสมัชชาคนจนจึงยืนอยู่บนฐานของปัญหาที่แต่ละกรณีปัญหาประสบอยู่ …ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ในสมัชชาคนจนก็มีการเรียกร้องในเรื่องค่าชดเชยที่ดินที่ถูกน้ำท่วม ค่าชดเชยประมง ค่าชดเชยปลาและผักหวานที่หายไป เพราะปัญหาเหล่านี้คือเรื่องเฉพาะหน้าที่ชาวบ้านกำลังประสบอยู่ เราจะให้ชาวบ้านมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องผลักดันในเชิงนามธรรมแต่เพียงอย่างเดียวได้อย่างไร ในเมื่อปากท้องของพี่น้องยังหิวอยู่”

ยุทธศาสตร์สำคัญของสมัชชาคนจนคือการเดินขบวนหรือชุมนุมอย่างสันติเพื่อแสดงพลังในการสร้างอำนาจการต่อรองของประชาชน และในเดือนมกราคม ๒๕๔๐ สมัยรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ สมัชชาคนจนได้แสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนจน คือการชุมนุมของชาวบ้านร่วม ๒ หมื่นคนปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา ๙๙ วัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลยอมเจรจาปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของชาวบ้าน ๑๒๕ กรณี

ตลอดระยะเวลา ๙๙ วัน มดใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านที่มาประท้วงอย่างสันติด้วยความอดทนบนถนนหน้าทำเนียบรัฐบาล นอนกลางฟุตบาท กินกลางถนน ล้างส้วม นั่งสมาธิภาวนา ร่วมคิดร่วมต่อสู้และวางแผนกับที่ประชุมแกนนำชาวบ้านที่เรียกกันว่า พ่อครัวใหญ่ จำนวน ๑๒๕ คน ซึ่งเป็นตัวแทนแต่ละกรณีปัญหาที่เรียกร้องกับรัฐบาล

ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนได้ตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“เส้นทางการต่อสู้ของพี่มดและพี่น้องคนจนเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน การเมืองที่คนเล็กๆ ในสังคม คนจนทั้งผองได้มารวมพลัง สร้างพลังทบทวี ผ่านสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘การเมืองบนท้องถนน’ การเมืองภาคประชาชนของสมัชชาคนจนก็คือการสร้างสรรค์และจรรโลง ‘ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน’ โดยอาศัยการปักหลักชุมนุมประท้วง เปิดเวทีเจรจาต่อรองกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองเพื่อให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และทำให้การเมืองเห็นหัวคนจนโดยเปิดพื้นที่กลไกการมีส่วนร่วมในกระบวนนโยบายสาธารณะ รับรองสิทธิชุมชน ฯลฯ”

พ่อครัวใหญ่ถือเป็นหัวขบวนสูงสุดของสมัชชาคนจนที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทาง ตัดสินใจหรือวางแผนการต่อสู้ ไม่มีผู้นำคนใดคนหนึ่งมีอำนาจสูงสุด เพราะบทเรียนของภาคประชาชนหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า “ผู้นำเดี่ยว ถ้าไม่ตายก็ขายตัว” โดยมีบรรดานักวิชาการ เอ็นจีโอ เป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

รัฐบาลได้ส่งตัวแทนระดับรัฐมนตรีมาเจรจากับสมัชชาคนจนอย่างเป็นทางการหลายครั้ง และมีการออกมติคณะรัฐมนตรี แต่ทุกวันนี้สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้เพียง ๑๘ กรณีปัญหาเท่านั้น ส่วนกรณีปัญหาอื่นๆ เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ไม่ได้รับการสานต่อ รวมถึงปัญหาของเขื่อนปากมูล ซึ่งภายหลังการสร้างเขื่อนแล้วจำนวนปลาในแม่น้ำได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยอาชีพประมงที่สูญเสียไปอย่างถาวร ในที่สุดรัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ มีมติ ครม. ชดเชยความเสียหายจากอาชีพประมงจำนวน ๓,๐๘๔ ครอบครัว โดยจัดหาที่ดินให้ครอบครัวละ ๑๕ ไร่ แต่เมื่อไม่สามารถหาที่ดินได้จึงมีมติให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินแทนไร่ละ ๓๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านบาท

แต่ในขณะที่รอการจ่ายค่าชดเชย รัฐบาลชวน หลีกภัย ก็ออกมติ ครม. ใหม่ ไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับเขื่อนที่สร้างแล้ว จึงเท่ากับเป็นการฉีกสัญญาที่รัฐบาลชุดที่แล้วให้ไว้กับชาวบ้าน

ชาวบ้านกว่า ๒,๐๐๐ คนจึงรวมตัวกันกลับมายึดเขื่อนปากมูลอีกครั้งหนึ่ง และก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน สร้างบ้านชั่วคราวประมาณ ๓๐๐ หลัง เป็นการชุมนุมอย่างยืดเยื้อเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลอีกครั้งในเดือนมีนาคม ๒๕๔๒ โดยมีข้อเรียกร้องสูงสุดคือ ให้ กฟผ. เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ให้ปลาจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ เพื่อฟื้นฟูอาชีพประมงและวิถีชีวิตที่สูญเสียไปกลับคืนมาอย่างยั่งยืน

มดได้เดินสายวิ่งประสานงานระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลฯ เพื่อติดต่อให้บรรดาแนวร่วมเข้าใจว่า เหตุใดชาวบ้านต้องไปยึดสันเขื่อนปากมูล มีการเชิญผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายท่านมาเยี่ยมหมู่บ้าน มีการจัดเสวนาให้การศึกษาแก่ทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ จนหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนได้กลายเป็นโรงเรียนให้การศึกษาแก่คนภายนอกและภายในตลอดระยะเวลา ๔ ปีแห่งการก่อตั้ง ในเวลาเดียวกัน ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้เดินทางมาปักหลักประท้วงยืดเยื้อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บางครั้งใช้ยุทธวิธีปีนบันไดเข้าทำเนียบจนสามารถต่อรองให้รัฐบาลมีมติให้ทดลองเปิดเขื่อนปากมูลเพื่อให้คณะกรรมการได้ศึกษาผลดีผลเสีย รวมทั้งมีการจัดเวทีสาธารณะขึ้นที่กรุงเทพฯ ให้ชาวบ้านปากมูนได้พูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของตัวเอง

แม่สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำคนสำคัญเล่าว่า มดเป็นคนทำให้ชาวบ้านที่เคยกลัวข้าราชการ กล้าลุกขึ้นมาพูด กล้าเถียงได้แม้กระทั่งรัฐมนตรี

“มดบอกว่าถ้าแม่ไม่พูดปัญหาของแม่แล้วใครจะพูด พวกหนูจะรู้เรื่องของพี่น้องเหมือนแม่ได้ยังไง มดเปิดเวทีให้ทุกคนพูด พูดเรื่องตัวเอง พูดชีวิตตัวเองก่อน อย่าไปพูดถึงคนอื่นเพราะว่าเราไม่รู้เรื่องคนอื่น เราพูดถึงตัวเองว่าเราอยู่ยังไงกินยังไง ทุกวันนี้เรามีปัญหาอะไร เราสูญเสียอะไร แม่ต้องพูดถ้าแม่ไม่พูดแล้วใครจะรู้ แม่พูดให้หนูฟังคนเดียวหนูก็รู้คนเดียว ถ้าไปพูดบนเวทีหลายคนเขาก็รู้ เวลาไปต่างจังหวัดหรือไปพบอาจารย์คนนั้นคนนี้ แกก็เอาชาวบ้านไปแนะนำ นี่ชาวบ้านปากมูนนะ เอ้า พูดกันเลยกับ ส.ส. คนนี้ รัฐมนตรีคนนี้หรือนายทหารคนนี้ แกเป็นแบบนี้นะ แกแนะนำให้รู้จักหมดเลย”

ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนของคณะกรรมการตัดสินรางวัลแม็กไซไซได้ติดต่อขอเสนอชื่อวนิดาเป็นผู้ได้รับรางวัลในปีนั้น แต่มดปฏิเสธไป บอกว่าถ้าจะให้รางวัลต้องให้กับชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้ทั้งหมด

เมื่อรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศในระยะแรก มดคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้ที่มีเพื่อนเดือนตุลาผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันเป็นรัฐมนตรีหลายคน จะช่วยแก้ปัญหาคนจนได้ดีกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว แต่สุดท้ายรัฐบาลชุดนี้ได้มีมติให้เปิดเขื่อนปากมูลเพียง ๔ เดือน สวนทางกับข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่ศึกษาพบว่า การเปิดเขื่อนตลอดทั้งปีจะทำให้ประชาชนทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ไม่นานนักชาวบ้านที่ชุมนุมล้อมทำเนียบก็ถูกตำรวจเทศกิจ ภายใต้คำสั่งของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น บุกเข้ารื้อเต็นท์และสลายการชุมนุม เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน จ. อุบลฯ ก็ถูกอันธพาลทั้งในและนอกเครื่องแบบบุกเผาและทำลายหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายถูกเผาวอดวายสิ้น

มดได้รับบทเรียนมาตลอดว่า นักการเมืองจะอยู่กับเรายามไม่มีอำนาจ แต่เมื่อมีอำนาจแล้วก็จะอยู่ตรงข้ามกับประชาชนเสมอ

ชาวบ้านปากมูนที่ชุมนุมอยู่ต้องล่าถอยกลับไป แต่มดไม่เคยคิดว่าชาวบ้านพ่ายแพ้ เพราะมดคิดเสมอว่า การต่อสู้ไม่ใช่เรื่องการชนะหรือพ่ายแพ้ ไม่จำเป็นต้องเห็นผลเร็ววัน แต่การต่อสู้ทุกครั้งคือการสั่งสมประสบการณ์และต้องสู้ไปเรื่อยๆ เธอบันทึกไว้ว่า

“ชาวบ้านและข้าพเจ้าได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งต่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ผ่านการต่อต้านโครงการปากมูล ด้วยจริยวัตรที่เรียบง่าย วิถีการดำรงชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลลงตัวของชาวประมงพื้นบ้านปากมูน ได้สอนให้ข้าพเจ้าเรียนรู้จักธรรมชาติในหลายแง่มุมอย่างละเอียดอ่อน และความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ โลกทัศน์ของชาวบ้านที่มีต่อสังคมมนุษย์และธรรมชาติได้ถ่ายทอดสู่ข้าพเจ้าโดยไม่รู้ตัว การยึดมั่นในจารีตประเพณีที่บูชาธรรมชาติ และความรักสงบ สันโดษของศาสนาพุทธก็ได้ซึมซับเข้าสู่จิตสำนึกของข้าพเจ้าทีละเล็กละน้อย ข้าพเจ้าเคยเป็นชาวพุทธเพียงเปลือกกระพี้ ความยากลำบากในการต่อสู้เคลื่อนไหวทำให้พวกเราจมดิ่งลงในการค้นคว้าเรื่องสันติวิธี คำสอนของพระพุทธเจ้า มหาตมะคานธี คือเข็มทิศในการเคลื่อนไหว มาร์กซิสต์คืออุดมคติที่ยังไม่ละทิ้ง ความอับจนหลายครั้งทำให้ข้าพเจ้าเริ่มท้อแท้ แต่ความมานะอดทนของชาวบ้าน ความทุกข์ยากของมวลชนที่อยู่รายล้อมข้าพเจ้า เป็นเครื่องเตือนสติ และทำให้ข้าพเจ้าต้องอยู่กับพวกเขามาจนถึงปัจจุบันนี้”

หลังการเสียชีวิตของวนิดา ญาติมิตรและชาวบ้านปากมูนได้ร่วมกันจัดงานรำลึก ๑๐๐ วัน ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน จังหวัดอุบลราชธานี มีการเดินธรรมชาติยาตรา การแสดงทางวัฒนธรรม และเวทีวิชาการ แม้วนิดาจะเสียชีวิตไปแล้ว แตุ่อุดมการณ์การต่อสู้ยังได้รับการสานต่อ

ชาวบ้านทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่พ่อแม่และญาติพี่น้องของวนิดา

งานฌาปนกิจศพ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ณ วัดวชิรธรรมสาธิต ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๐ (ภาพ : สกล สนธิรัตน)

 

บทสุดท้าย

“ณ เดือนที่สิบสองวันที่หก
รวดร้าวราวใจจะขาด
หลี่งี้จากลาแล้วไม่กลับคืน

ดึกดื่นค่อนคืนแล้ว
แม่ยังถาม…ลูกสาวหายไปไหน
หลั่งน้ำตา ร่ำร้องหา จนฟ้าสาง”

๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๐
…วันเผาลูกสาว
กลั่นจากใจพ่อ

ตลอดระยะเวลาร่วม ๒๐ ปีที่มดได้ร่วมต่อสู้เคียงข้างคนทุกข์ยาก มดไม่เพียงสนใจเฉพาะปัญหาชาวบ้านปากมูนเท่านั้น แต่มดได้เดินทางไปเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อร่วมต่อสู้ ให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน ตั้งแต่กรณีความขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างท่อก๊าซที่จะนะ สงขลา หรือกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด การวางท่อก๊าซที่จังหวัดกาญจนบุรี โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ไปจนถึงปัญหาชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนทั่วประเทศ ไม่นับปัญหาการเรียกร้องค่าชดเชยจากกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนสิรินธร ที่ต่อสู้กันมาหลายสิบปี

ในการเคลื่อนไหวของชาวบ้านทุกครั้งเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน มดไม่เคยละทิ้งมวลชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ มดจะปรากฏตัวโดยไม่ปิดบังเพื่อเป็นที่อุ่นใจของชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นที่ลำบากใจของฝ่ายราชการ เพราะมดเป็นนักเคลื่อนไหวอันดับต้นๆ ของเมืองไทยที่สันติบาล หน่วยงานความมั่นคงของรัฐทุกแห่งรู้จักดี มดเคยพูดกับรุ่นน้องเสมอว่า

“เครดิตทางสังคมที่พี่มีอยู่ได้มาจากการต่อสู้ร่วมกันกับชาวบ้าน ถ้าเอาไปใช้อะไรให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องได้ก็บอกมา”

มดยังเคยถูก ป.ป.ง. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ตรวจสอบบัญชีธนาคารเพื่อหวังจะหาหลักฐานใส่ร้ายว่าเธอร่ำรวยผิดปรกติ แต่สุดท้ายก็พบเงินในบัญชีไม่กี่หมื่นบาท เช่นเดียวกับที่เธอเคยถูกทางการกล่าวหาว่ามีรถเชอโรกีสีขาวคันละ ๖-๗ ล้านบาทขับทั้งๆ ที่เป็นรถแวนโตโยต้าอายุร่วม ๒๐ ปี ราคาไม่ถึงแสนบาท ที่น้องชายบริจาคให้สมัชชาคนจนไว้ใช้งาน เพราะความจริงตลอดเวลาที่ผ่านมา มดได้รับเงินเดือนจากโครงการเครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท โดยหักให้พ่อแม่ ๘,๐๐๐ บาท ที่เหลือไว้ใช้เองและแบ่งให้เพื่อนฝูงหลายคนที่ลำบากกว่า

จินตนา แก้วขาว แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์วันที่ชาวบ้านออกมาประท้วงจนถูกตำรวจสลายการชุมนุมและตัวเธอถูกจับว่า

“ตอนนั้นเดือนธันวาคม ปี ๒๕๔๑ เราถูกกักอยู่คนเดียว เราว้าเหว่มาก ไม่มีใครรู้ว่าเราหายไปไหน แต่อยู่ดีๆ พี่มดที่ไม่รู้จักกันมาก่อนก็มาเยี่ยม แกบอกเราว่าตั้งสติให้ดีนะ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวล ตำรวจข่มขู่คุกคามก็ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องพูดถึงใครทั้งสิ้น ต้องมีภาวะผู้นำ เรารู้สึกมีกำลังใจขึ้นมากและหลังจากนั้นก็สนิทกัน เวลาเราแก้ปัญหาไม่ได้ก็โทร. หาพี่มด พี่มดเป็นแบบอย่างให้เรา เป็นคนสอนเราทุกอย่างว่าให้อดทน ให้เสียสละ”

เกือบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา มดได้สร้างชาวบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบหลายแห่งทั่วประเทศให้กลายเป็นผู้นำมวลชนไม่หวั่นกลัวบุคคลในเครื่องแบบหรือผู้มีอำนาจ ทั้งสอนให้คนเหล่านี้กล้าลุกขึ้นพูดกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทัดเทียมกัน ลุกขึ้นมาทวงสิทธิของพวกเขาที่สูญเสียไป โดยมีหัวใจสำคัญคือการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี

วัชรี เผ่าเหลืองทอง แห่งกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต เพื่อนสนิทคนหนึ่งได้พูดถึงมดให้ฟังว่า

“มดใช้สันติวิธีเพื่อลดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ และใช้วิธีให้คนมารับรู้เรื่องราวผ่านประสบการณ์จริง ขบวนการปากมูนและสมัชชาคนจนได้สร้างการรณรงค์แบบสันติวิธีขึ้นหลากหลายรูปแบบ เช่น การนั่งทับระเบิดไม่ให้ระเบิดแก่งหิน การชุมนุมยึดโรงไฟฟ้า การชุมนุมยืดเยื้อยึดสันเขื่อน การเดินเท้าทางไกลหามิตรหาเพื่อนและประกาศปัญหาทั่วภาคอีสาน การนั่งสมาธิรอบทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมเรือประมงนับร้อยลำ การสืบชะตาแม่น้ำ การยิงธนูส่งจดหมายเข้าไปในทำเนียบ การปีนทำเนียบ การชุมนุมปิดประตูทำเนียบรัฐบาล การนั่งชุมนุมในตึกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ การใช้สันติวิธีทำให้ขบวนชาวบ้านได้รับความเห็นใจและสงสาร แต่เหนืออื่นใดคือการลดความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะกระทำต่อชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนแก่และผู้หญิง”

ในปี ๒๕๔๖ หลังจากที่ชาวบ้านปากมูนถูกรัฐบาลทักษิณสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล มดได้หันมาสนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น และหันกลับมาดูแลพ่อแม่ผู้ชราภาพ จากที่ไม่มีโอกาสได้ดูแลพวกท่านอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานาน เพราะเธอแทบไม่ได้อยู่บ้านเลย หากไม่ได้อยู่ที่ปากมูนก็จะกลับมาอยู่บ้านไม่กี่วัน ก่อนจะตะลอนไปทั่วประเทศที่มีการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม จนแม่ถึงกับบ่นเสียงดังมาตลอดด้วยความไม่เข้าใจว่า “ทำไมต้องไปยุ่งกับชาวนาชาวบ้าน ตอนเราเดือดร้อนใครจะช่วยเรา” เหตุใดลูกสาวคนโตจึงไม่ยอมทำงานหารายได้ หรือแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาเหมือนกับลูกสาวของเพื่อนๆ เสียที มาช่วงหลังพ่อแม่ดีใจที่ลูกสาวคนนี้อยู่บ้านมากขึ้น มดมีเวลาพาพ่อแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดหลายแห่ง รวมถึงพาไปค้างคืนที่ปากมูนด้วย และมดยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรไปอภิปรายหรือสอนหนังสือตามสถาบันการศึกษาต่างๆ

ดูจะเป็นช่วงเวลาที่มดมีความสุขมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่พาพ่อแม่กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ประเทศจีน แต่คนใกล้ชิดก็เริ่มสังเกตเห็นว่าร่างกายเธอผอมลงผิดสังเกต มดปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นอะไร เพียงแต่ไปปฏิบัติธรรมและอดอาหารมา เพื่อนฝูงเตือนให้หาเวลาไปหาหมอ จนกระทั่งในเช้าวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๙ ที่มดมีนัดกับพรรคพวกว่าจะไปร่วมชุมนุมขับไล่ทักษิณกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สยามพารากอน มดได้บอกกับน้องชายคนเล็กว่ามีก้อนเนื้อผิดปรกติที่หน้าอกเป็นเวลา ๒ ปีแล้ว น้องชายพาไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดีทันที และพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ ๔

หลังจากนั้นมดย้ายมาอยู่บ้านน้องชาย และปิดไม่ให้พ่อแม่รู้ด้วยเกรงว่าท่านจะเป็นทุกข์ มดเข้ารับการรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดและผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก และรักษาด้วยเคมีบำบัดอีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อนเก่าเมื่อรู้ข่าวต่างผลัดกันมาดูแลมดตลอด จนอาการค่อยทุเลาขึ้นทำให้มดมีกำลังใจดี และพยายามรักษาสุขภาพด้วยการกินอาหารแบบชีวจิต มดได้มีเวลาอ่านและเขียนหนังสือ ปฏิบัติธรรม จนแข็งแรงพอที่จะกลับไปดูแลพ่อแม่อยู่เป็นระยะ

กระทั่งเมื่อต้นปี ๒๕๕๐ มดมีอาการไอถี่ๆ มากขึ้น แพทย์พบว่ามะเร็งได้ลุกลามไปที่ปอด มดจึงเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอีกครั้งด้วยยาตัวใหม่ที่ดีที่สุดจากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่แล้วแพทย์เจ้าของไข้ก็บอกให้ญาติๆ ทราบว่ายาตัวนี้รักษาไม่ได้ผล มดฟังข่าวด้วยความสงบและใช้วิธีรักษาแบบแมคโคร-ไบโอติกส์ หลังจากนั้นอาการก็ทรุดลงเรื่อยๆ

ช่วงอาทิตย์สุดท้ายมดมีอาการเหนื่อยขึ้นมาก ต้องใช้ออกซิเจนเกือบตลอดคืน มดรู้ว่าเวลาอาจมีไม่มาก จึงเขียนจดหมายลาพี่น้อง เพื่อนสนิท แม่บ้านที่ดูแลมาตลอด และเร่งเขียนบันทึกความทรงจำ “แม่จ๋า” ก่อนอาการจะทรุดหนักจนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นครั้งสุดท้าย

มดรักพ่อแม่มาก รู้ว่าตลอดชีวิตไม่ค่อยมีเวลาได้ดูแลพวกท่านอย่างใกล้ชิด และเสียใจที่ยังไม่มีโอกาสได้ทดแทนบุญคุณ ทั้งไม่อยากทำร้ายจิตใจพวกท่านจึงปิดบังเรื่องอาการป่วยมาหลายปี จนกระทั่ง ๓-๔ วันสุดท้ายของชีวิต มดก็ยอมให้พี่น้องบอกพ่อแม่เพื่อร่ำลาเป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อทราบความจริงพ่อแม่ได้รีบมาพยาบาลลูกสาวอยู่ข้างเตียง แม้ว่ามดจะเหนื่อยล้าเต็มที ไม่สามารถสื่อสารอะไรได้ ทั้งถูกครอบด้วยเครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา แต่น้ำตาไหลอาบแก้มยามที่พ่อแม่สวมกอดและจับมือลูกสาวตลอดเวลา ทั้งกระซิบข้างหูว่าไม่ต้องห่วงพวกท่าน

บ่ายเศษๆ ของวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ วนิดา ตันติ-วิทยาพิทักษ์ จากทุกคนไปอย่างสงบ ร่างที่ไร้วิญญาณถูกนำไปไว้ที่วัดวชิรธรรมสาธิต วัดเล็กๆ ที่อยู่หน้าบ้าน ในซอยสุขุมวิท ๑๐๑/๑ เมื่อทราบข่าวในเย็นวันนั้นเพื่อนฝูงและผู้หลักผู้ใหญ่ต่างพากันมารดน้ำศพ สื่อมวลชนทุกแขนงรายงานการเสียชีวิตของเธอ และเป็นข่าวพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในวันรุ่งขึ้นว่า มด-วนิดาเป็นนักต่อสู้เพื่อคนจนตัวจริง และเป็นคนเดือนตุลาไม่กี่คนที่ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมคติของตัวเองมาตลอดชีวิต

สิ้นสุดตำนานของคนตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้เพื่อคนอื่นมาตลอดระยะเวลา ๓๐ ปี

คนเล็กๆ ผู้ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมใดๆ ทั้งปวง

 

“ใบไม้ร่วงหนึ่งใบในราวป่า
ยังดีกว่าใบไม้เหลืองในเมืองหลวง
ที่รอปลิดหล่นเปล่าประโยชน์ปวง
เป็นด่างดวงดำเปื้อนในป่าคน”

หมายเหตุ :
บทกวีต้นเรื่องโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และท้ายเรื่องเป็นบทหนึ่งของบทกวี “ใบไม้ป่า” โดยผู้ประพันธ์ท่านเดียวกัน

ขอขอบคุณ :

หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์
คุณสกล สนธิรัตน
คุณธาตรี แสงมีอานุภาพ
คุณทิพวรรณ ศรีสุวรรณ
คุณไพรินทร์ พลายแก้ว
คุณวัชรี เผ่าเหลืองทอง
คุณสมจิตร์ ชื่นสุขสมบูรณ์
พ่อทองเจริญ สีหาธรรม
แม่สมปอง เวียงจันทร์
คุณนิกร วีสเพ็ญ
คุณรสนา โตสิตระกูล