ภัทรวดี สุพรรณพันธุ์
“ความรักคืออะไร…ถ้าคนที่เรารักและรักเรา จำไม่ได้อีกต่อไปว่าเราคือใคร”
บ่อยครั้งที่โลกหลงลืมว่าความรักเป็นเพียงนามธรรมอันไร้ซึ่งตัวตน…เปราะบาง อ่อนไหว และล่องหนหายตัวได้รวดเร็วยิ่งกว่าหยดน้ำที่ระเหยกลายเป็นไอกลางแดดจ้าเสียอีก… วรรณกรรม บทกวี เพลงป๊อป กระทั่งหนังโฆษณาขายโรลออน ต่างก็พร้อมใจกันสรรเสริญเยินยอความรัก เพรียกหารักแท้ที่แข็งแกร่งมั่นคงดุจหินผา หรือหลอมรวมคนสองคนให้เป็นหนึ่งเดียวชั่วนิจนิรันดร์ …วัฒนธรรมแห่งโลกศิวิไลซ์สอนให้เราบูชาและหลงใหลความรักอย่างหาที่เปรียบไม่ได้
ทุกวันนี้เราวัด “คุณค่า”ของความรักกันตรง “ระยะเวลา”กับ “ความคงทน”ราวกับเป็นวัสดุสิ่งของอะไรสักอย่าง เราทำตัวให้คุ้นชินกับความรักในรูปแบบที่จับต้องได้ เช่นเปรียบเปรยให้เป็นปราสาททราย ดอกไม้ ขุนเขา ท้องฟ้า ทะเล ฯลฯ เราทึกทักเอาว่าหัวใจเป็นสัญลักษณ์แทนความรัก ทั้งที่ความรักนั้นก่อกำเนิดและดำรงอยู่ในเซลล์สีเทาอันบอบบางของมันสมองต่างหาก และเราก็ชอบพรรณนาถึงความรักที่อยู่ “ในใจ”จนลืมไปเสียสนิทว่า ความรักนั้นปักหลักซ่อนเร้นอยู่ในซอกหลืบแห่งความทรงจำ
Away from Her (Sarah Polley, ๒๐๐๗) หนังยาวเรื่องแรกของ ซาราห์ พอลลี ดาราสาวชาวแคนาเดียน สวนกระแสหนังรักทั่วไปที่อัดแน่นไปด้วยฮอร์โมนและอารมณ์ร้อนเร่า ด้วยเรื่องราวความรักลุ่มลึกแบบเรียบๆ ของคนในวัยที่ “ความทรงจำ”ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของความรัก
แกรนต์และฟิโอน่าแต่งงานกันมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว ในวัยเลย ๖๐ พวกเขายังดูหนุ่มสาวกว่าอายุมาก แถมยังชอบใช้เวลาว่างเล่นสกีด้วยกัน ไปเดินเล่นในป่า ผลัดกันอ่านหนังสือให้อีกคนหนึ่งฟัง หรือไม่ก็สังสรรค์กับเพื่อนฝูง …เรารู้สึกได้ถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่ทั้งคู่มีต่อกัน ไม่ต้องพูดมาก แค่มองตาก็รู้ใจตามประสาคนที่อยู่ด้วยกันมานาน ความสัมพันธ์ของพวกเขาหยั่งรากลึกจนมั่นคงอยู่ในครอบครัวเล็กๆ ที่อบอุ่น กลายเป็นภาพอันสมบูรณ์ไร้ที่ติของความรักแบบเทพนิยายคติ
จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ทั้งคู่กำลังช่วยกันล้างจานเหมือนที่เคยทำมาจนเป็นกิจวัตร ฟิโอน่าก็นำกระทะซึ่งเพิ่งล้างเสร็จไปเก็บไว้ในช่องฟรีซของตู้เย็น แทนที่จะใส่ไว้ในตู้เก็บของเหมือนทุกวัน
แกรนต์เฝ้ามองเหตุการณ์เล็กๆ ซึ่งไม่น่าจะสลักสำคัญอะไรนี้อยู่เงียบๆ ราวกับไม่แน่ใจว่า ฟิโอน่าอาจกำลังเล่นมุก “อำ”เขาอยู่ก็ได้ แต่ไม่ช้าแกรนต์ก็พบว่า “มุกตลก”ของฟิโอน่าหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นต้องแปะฉลากกำกับไว้บนลิ้นชักและตู้ เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน และในระหว่างอาหารค่ำมื้อหนึ่งกับเพื่อนๆ ฟิโอน่าก็เกิดนึกไม่ออกว่าจะเรียกขวดไวน์ที่เธอถืออยู่ในมือว่าอะไร
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีหนังดังหลายเรื่องที่หยิบยกเอาโรคอัลไซเมอร์มาเป็นประเด็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น Iris (Richard Eyre, ๒๐๐๑) หนังอัตชีวประวัติของ ไอริส เมอร์ด็อก นักเขียนหญิงชาวอังกฤษผู้โด่งดัง หรือ The Notebook (Nick Cassavetes, ๒๐๐๔) หนังรักซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดีของ นิโคลัส สปาร์กส์
หนังทั้งสามเรื่องนี้มีอะไรเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ต่างก็จับเอาประเด็นละเอียดอ่อนอย่างความรัก มาผูกโยงเข้ากับโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างน่าสะเทือนใจ แต่ขณะที่ Iris และ The Notebook ออกแนวดรามาติก เร่งเร้าให้คนดูเกิดอารมณ์คล้อยตามมาก Away from Her กลับมาในแนวสุขุมลุ่มลึกกว่า ค่อยๆ ปูเรื่องราวและสร้างอารมณ์ไปทีละน้อยอย่างนุ่มนวล อีกทั้งยังซ่อนเงื่อนปมเอาไว้และหักมุมเป็นระยะ จนรู้สึกว่าหนังไม่ได้ต้องการจะพูดถึงแต่ปัญหาความรักกับโรคอัลไซเมอร์เท่านั้น หากยังต้องการค้นหาความหมายที่แท้จริงของ “ความรัก”
“เรื่องมันมีอยู่ว่า ฉันใช้เวลาครึ่งหนึ่งเดินไปเรื่อยๆ มองหาบางสิ่งที่ฉันรู้ว่ามันเกี่ยวข้อง แต่ฉันจำไม่ได้ว่ามันคืออะไร พอความคิดเลือนหาย ทุกอย่างก็หายไปด้วย ฉันเลยเดินไปเรื่อยๆ พยายามคิดให้ออกว่า อะไรนะที่ก่อนหน้านี้ฉันรู้สึกว่ามันสำคัญเหลือเกิน …ฉันคงกำลังจะหายสาบสูญไปจากโลกแล้วกระมัง”
หลังจากบ่ายวันหนึ่งที่ฟิโอน่าออกไปเล่นสกีแล้วหาทางกลับบ้านไม่ได้ เธอก็ตัดสินใจย้ายออกจากบ้านไปอยู่ที่มีโดว์เลก สถานพยาบาลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีกฎเหล็กว่า ห้ามเยี่ยมหรือติดต่อผู้ป่วยโดยเด็ดขาดในช่วง ๓๐ วันแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ แกรนต์จำต้องปล่อยฟิโอน่าไว้ตามลำพังเป็นครั้งแรกในชีวิตแต่งงาน ก่อนจากกัน ฟิโอน่าขอให้แกรนต์ร่วมรักกับเธอ
แกรนต์ใช้ชีวิตที่ไม่มีฟิโอน่าอย่างเงียบเหงาและโดดเดี่ยว เมื่อถึงวันเยี่ยม เขาแต่งตัวหล่อไปหาฟิโอน่าพร้อมช่อดอกไม้ในมือ รู้สึกตื่นเต้นราวกับหนุ่มน้อยเพิ่งออกเดตเป็นครั้งแรก แต่สิ่งที่รอเขาอยู่กลับไม่ใช่ฟิโอน่าคนเดิม เธอทำท่าราวกับว่าจำเขาไม่ได้ และที่ร้ายกว่านั้น เธอมีออบรีย์ ผู้ป่วยชายในชั้นเดียวกันเป็น “เพื่อนสนิท”คนใหม่
หนังเล่าเรื่องโดยตัดสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบัน คือก่อนและหลังจากที่ฟิโอน่าย้ายเข้าไปอยู่ในมีโดว์เลก กับเรื่องราวระหว่างแกรนต์และแมเรียน ภรรยาของออบรีย์ หนังแบ่งพื้นที่และสร้าง “เอกลักษณ์”ให้แก่เรื่องราวในแต่ละช่วงเวลาอย่างชัดเจน เช่น การตั้งกล้องนิ่ง และจับภาพมุมกว้าง หรือไม่ก็โคลสอัพไปเลยในฉากบ้านของแกรนต์และฟิโอน่า ภาพคนสองคนในบ้านหลังน้อยท่ามกลางป่าสนอันเงียบสงบและหิมะขาวโพลนสุดลูกหูลูกตา ให้ความรู้สึกอบอุ่นแต่ลึกลับอย่างบอกไม่ถูก ขณะที่แสงธรรมชาติในฉากระหว่างแกรนต์กับแมเรียน และฉากสถานพยาบาลมีโดว์เลกที่สว่างไสวเอี่ยมอ่อง แต่บางครั้งดู “ปลอม”จนเกือบเหมือนฉากในละครทีวี ดึงเรากลับสู่โลกของความจริงและสร้างสมดุลให้แก่เนื้อเรื่อง นอกจากนี้ยังสอดแทรกภาพความทรงจำของฟิโอน่า ซึ่งแม้จะมีอยู่เพียงไม่กี่ฉาก แต่ก็เด่นด้วยการเล่นโทนภาพเป็นสีน้ำเงิน
การซอยเรื่องออกเป็นฉากย่อยๆ ไม่ต่อเนื่องกัน กลับเป็นกลวิธีที่ช่วยให้เข้าใจถึงมิติอันซับซ้อนของความรักและชีวิตแต่งงานได้ง่ายขึ้น ผู้กำกับพอลลีดัดแปลงบทหนังมาจากเรื่องสั้น “The Bear Came Over the Mountain”ของ อลิซ มุนโร นักเขียนหญิงสัญชาติเดียวกับเธอ ถึงแม้ว่าแก่นของเรื่องจะเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ แต่ที่จริงแล้ว Away from Her คือเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก และเป็นนิยายรักชั้นเยี่ยมที่ฉีกกรอบนิยามของความรักจนกระจุยกระจาย โดยตั้งคำถามว่า…ความรักคืออะไร…ถ้าคนที่คุณรักและรักคุณ จดจำคุณและความหลังที่มีร่วมกันไม่ได้
คงจำกันได้ว่า Eternal Sunshine of the Spotless Mind (Michel Gondry, ๒๐๐๔) ก็เคยตั้งคำถามทำนองนี้มาแล้ว โจเอลกับคลีเมนไทน์ ตัวละครนำของเรื่องไม่ได้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ แต่พวกเขาจงใจ “ลบ” ความทรงจำของกันและกันทิ้งไปเมื่อชีวิตรักทำท่าจะไปไม่รอด Eternal Sunshine เป็นหนึ่งในหนังรักไม่กี่เรื่องที่เชื่อมโยงความหมายของความรักและความทรงจำเข้าด้วยกันอย่างจริงจัง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ Away from Her แล้ว Eternal Sunshine ยังมีท่าทีที่ประนีประนอมกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนบทให้ตัวละครนำกลับมาตกหลุมรักกันอีก หลังจากที่ได้ลบความทรงจำทิ้งไปแล้ว
ในแง่นี้ Eternal Sunshine ก็ไม่ต่างอะไรจาก The Notebook หรือหนังรักส่วนใหญ่ที่หลีกหนีกับดักของความรักแบบเทพนิยายไปไม่พ้น
Away from Her เอาตัวรอดจากกับดักนี้ไปได้อย่างสวยงาม ด้วยการสร้างตัวละครฟิโอน่าให้มีบุคลิกภาพที่ซับซ้อน…เป็นผู้หญิงแบบที่แกรนต์บอกว่า “เปิดเผยและคลุมเครือ อ่อนหวานแต่ช่างประชด” ซึ่งเธอยิ่ง “อ่านยาก”มากขึ้นหลังจากที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ จูลี คริสตี ไอคอนของหนังอังกฤษยุค ๖๐ ตีบทฟิโอน่าจนแตกละเอียด เธอทำให้ฟิโอน่าเป็นผู้หญิงวัยหลังเกษียณที่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วย “ประกายแห่งชีวิต”…ทั้งสวยสง่าและบอบบาง แต่ก็ดูอ่อนเยาว์และเข้มแข็งในเวลาเดียวกัน
โรคอัลไซเมอร์ไม่ได้ขโมยเอาความทรงจำของฟิโอน่าไปทั้งหมด แต่กลายเป็นว่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วในอดีต ได้หวนกลับมาแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำอีกครั้ง ราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่มีโดว์เลก อยู่ๆ เธอก็พูดถึงลูกศิษย์สาวๆ ของแกรนต์สมัยที่เขายังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แถมยังขอบคุณที่เขาไม่ทอดทิ้งภรรยาเหมือนเพื่อนอาจารย์คนอื่น ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ถึงความจำจะเลอะเลือน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างจนหมดสิ้น
เมื่อฟิโอน่า “ตกหลุมรัก”ครั้งใหม่ แกรนต์จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เธออาจเสแสร้งแกล้งทำเพื่อลงโทษเขาที่เมื่อ ๒๐ ปีก่อนเคย “ออกนอกลู่นอกทาง”ก็ได้ หนังไม่ได้เปิดเปลื้องความรู้สึกของฟิโอน่าออกมา
อย่างตรงไปตรงมา ดูจนจบเรื่องแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่า ตกลงเธอแก้เผ็ดสามี หรือเธอจำเขาไม่ได้จริงๆ กันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่หนังบอกเราอย่างชัดเจนคือ ความรักเป็นสิ่งที่เปราะบางและเข้าใจได้ยากพอๆ กับฟิโอน่า ในช่วงแรก แกรนต์พยายามตามตื๊อฟิโอน่าด้วยการมาหาเกือบทุกวัน เอาหนังสือมาให้อ่าน หอบช่อดอกไม้มาฝากเหมือนเพิ่งจีบกันใหม่ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป แกรนต์ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ห่างจากเธอ เขาเริ่มคาดหวังให้ฟิโอน่าปฏิบัติกับเขาเหมือนเดิมน้อยลง และเริ่มเปิดรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ การที่เขายอมรับออบรีย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
ใน Away from Her ความรักจึงหมายถึงความทรงจำที่ยังมีลมหายใจอยู่ …แกรนต์รักและห่วงหาอาทรฟิโอน่า เพราะเขายังจดจำความหลังที่เคยมีร่วมกันได้ และที่สำคัญที่สุด เขายัง “จำได้” ว่าเขารักเธอ
ผู้กำกับพอลลีทำ Away from Her ออกมาได้อย่างละเมียดละไมและลึกซึ้งเกินวัย (เธอเพิ่งอายุ ๒๗ ตอนที่กำกับเรื่องนี้) ก่อนหน้านั้นเธอเคยทำหนังสั้นและมีผลงานแสดงในหนังดรามาชั้นดีมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้ง Exotica และ The Sweet Hereafter ของ อะตอม อีโกยัน ผู้กำกับชาวแคนาเดียนชื่อดัง Away from Her ชนะเลิศรางวัลจีนี่๑ สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมประจำปีนี้
ซาราห์ พอลลี ขณะกำกับ Away from Her
การต่อสู้กับโรคอัลไซเมอร์เป็นสิ่งที่ เทอร์รี แพรตเชตต์๒ นิยามไว้ว่า “เหมือนกับการทำสงครามกองโจรของกองทัพขนาดเล็ก ท่ามกลางความมืดที่มีแสงสว่างรำไร”ทั้งนี้ก็เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าอัลไซเมอร์เป็นโรคของคนแก่ และเป็นโรคที่คล้ายกับว่าผู้ป่วยค่อยๆ “เสียสติ”ไปทีละนิด ซึ่งแพรตเชตต์เห็นว่า การเพิกเฉยไม่สนใจต่อโรคนี้ ทั้งที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เขาเล่าว่า “ตอนที่พ่อผมตายด้วยโรคมะเร็งตอนอายุ ๘๖ เขายังจำลูกหลานทุกคนได้ ผมละอิจฉาเขาจริงๆ” ๓
เชิงอรรถ
๑ รางวัลของวงการภาพยนตร์ในแคนาดา เทียบได้กับรางวัลออสการ์
๒ นักเขียนชาวอังกฤษซึ่งโด่งดังจากซีรีส์นิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Discworld ในวัยย่าง ๖๐ ปี เขาเพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น
๓ Terry Pratchett, “Boomers” Little Secret”, Newsweek (21/28 April 2008), p.12.