โลกใบใหญ่     รอบรั้วอาเซียน  ฉบับ ๓๓๐
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

‘ASEAN TV เกิดขึ้นครั้งแรกหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน (Asean Summit) ครั้งที่ ๑๔ ที่หัวหินเมื่อปี ๒๕๕๒  ช่วงเริ่มต้นมีแนวคิดว่าจะส่งผู้สื่อข่าวไปประจำประเทศต่าง ๆ  ช่องนี้จะเป็น News Provider (คลังข่าวสาร) ของอาเซียน เป็นพื้นที่ให้สื่ออีก ๙ ชาติสมาชิกนำเสนอข่าว ดึงข่าวจากสำนักข่าวพันธมิตรกว่า ๕๐ แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  แต่หลังการประชุมครั้งนั้น รัฐบาลไทยไม่สนับสนุนอย่างจริงจัง  ช่อง ๙ ต้องผลิตข่าวเอง ทิศทางก็ไม่แน่ชัดตั้งแต่ตอนนั้น

“ก่อนมี ASEAN TV ช่อง ๙ มีโต๊ะข่าวที่ทำข่าวด้านนี้อยู่ก่อนแล้ว พอมี ASEAN TV ทีมงานก็ต้องการเสนอเรื่องอุษาคเนย์จริง ๆ  เราทำกันเองหมดตั้งแต่ออกแบบโลโก้ช่อง ทำเว็บไซต์ เฟซบุ๊กสื่อสารกับคนดู ระยะแรกนอกจากผลิตรายการเองก็ซื้อรายการอีกส่วนจากผู้ผลิตเอกชน นอกนั้นก็ได้จากสำนักข่าวภาครัฐอีก ๙ ประเทศ อาทิ เบอร์นามา (Bernama) ของมาเลเซีย  วีทีวี (VTV) ของเวียดนาม เป็นต้น

“ใน ๑ วันจะมีข่าวราว ๓๐ ชิ้น เราจะดูว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนหรือไม่ นอกจากข่าวทั่วไปเรายังมีสกู๊ปข่าวที่ผลิตเองซึ่งมีพื้นฐานมาจากรายการ ‘มองเพื่อนบ้านผ่านไทย’ นำมาปรับเป็นรายการ ‘อาเซียนเป็นหนึ่ง’ ออกอากาศทาง ASEAN TV ทาง True Vision Channel 99 และช่อง ๙ โดยเฉพาะทางช่อง ๙ ที่เป็นฟรีทีวีช่วงแรกออกอากาศทุกเย็นวันเสาร์ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเย็นวันศุกร์ ล่าสุดคือช่วงข่าวภาคค่ำวันจันทร์และวันศุกร์ในชื่อรายการ ‘เปิดประตูสู่อาเซียน’ รายการนี้พยายามนำเสนอเรื่องวิถีชีวิตของคนแถบอาเซียน อาทิ ประเพณีสงกรานต์พม่า เป็นต้น

“แนวคิดหลักในการทำงานคือไทยไม่ได้เป็นศูนย์กลาง ไทยคือส่วนหนึ่งของอาเซียน  เราอยากรู้เรื่องเพื่อนบ้าน และความท้าทายคือทำให้เรื่องไกลตัวเป็นเรื่องใกล้ตัว ต้องสื่อให้ได้ ซึ่งไม่ง่ายเพราะเวลาน้อย  สกู๊ปข่าวภาษาไทยมีเวลาไม่เกิน ๔ นาที ภาษาอังกฤษก็มีจำกัด  ตัวอย่างชัด ๆ คือ ผมใช้เรื่องปิดทองหลังพระในพม่าที่คนไทยเข้าใจได้แน่นอน มาเปิดเรื่องก่อนจะเล่าเรื่องเมืองมัณฑะเลย์ที่ต่อไปจะเชื่อมพม่ากับอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะชุมทางคมนาคม เพื่อที่จะบอกว่าเราไม่แตกต่างกัน เราเป็นคนอาเซียนเหมือนกัน

“งานท้าทายอีกอย่างคือต้องประสานกับหน่วยงานของประเทศเพื่อนบ้าน  ผมพบว่าการผูกมิตรเป็นการส่วนตัวนอกจากระดับทางการจะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น  นักข่าวในอาเซียนนั้นร้อยพ่อพันแม่ หลายคนก็เข้าใจขณะที่หลายคนก็มีปัญหาทางความคิด  เวลาทำเรื่องที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ บางทีจะเห็นความคิดชาตินิยมในตัวนักข่าว เช่นตอนทำข่าวแรงงานพม่า นักข่าวไทยก็พูดกันหลังไมค์ว่าคนเหล่านี้เข้ามาสร้างปัญหา  นักข่าวจากเพื่อนบ้านในอาเซียนก็มี เช่นนักข่าวพม่าจะมองมุสลิมโรฮิงญาไม่ค่อยดี  มีคำพูดหลายอย่างผมได้ยินแล้วไม่สบายใจเพราะมันเข้าข่ายเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ

“สถานการณ์การทำข่าวในแต่ละประเทศของอาเซียนก็แตกต่างกันไป พม่าจะยุ่งยากเรื่องขอวีซ่า แต่ตอนนี้ข้อจำกัดน้อยลงมาก  ในเวียดนามอิสระกว่า แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน  เพื่อนนักข่าวเวียดนามโดนฟ้องหลายคนโดยเฉพาะคนทำบล็อกวิจารณ์รัฐบาล  ทุกประเทศมีความท้าทาย ไม่ถึงกับอิสระเต็มร้อยแต่ก็ไม่ถึงกับทำอะไรไม่ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเจรจาด้วย และต้องหาช่องทางเท่าที่ทำได้

“ต่อไปนักข่าวไทยต้องรู้ภาษาอังกฤษ รู้ภาษาของเพื่อนบ้านอย่างน้อย ๑ ภาษา  มีความรู้รอบตัวเกี่ยวกับภูมิภาคและทันต่อสถานการณ์สำคัญ  เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักข่าวไทยจำนวนมากจดจ่อกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แทบไม่นำเสนอข่าวความล้มเหลวในการออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา เพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับฟิลิปปินส์เกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีน  นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะอาเซียนต้องวางท่าทีว่าจะรับมือกับจีนที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอย่างไร แต่สื่อไทยไม่รายงานเรื่องนี้เลย  โดยสรุปต้องเปลี่ยนวิธีคิด เลิกมองเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่ง  สมมุติมองว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งค้าข้าว คุณลองสืบไปอาจพบว่าบริษัทไทยได้เปรียบจากกรณีนี้ก็ได้  ตอนนี้คนไทยจำนวนมากพูดถึงประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นเรื่องดี แต่สื่อมวลชนจะทำอย่างไรให้คนรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะต่อไปเราต้องเจอกับเรื่องที่ไม่คุ้นเคย ต้องเจอคนจากเพื่อนบ้านและเรื่องใหม่ ๆ อีกมากมายในชีวิตประจำวันที่จะกระทบต่อเราโดยตรงมากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ

“ตลอดการทำงานที่ผ่านมา ผมชอบตอนทำงานภาคสนาม ผมชอบประวัติศาสตร์ เวลาเห็นอะไรที่ต่อยอดความรู้ก็ประทับใจ  การได้คุยกับคนท้องถิ่นทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ  เรื่องที่ไม่ชอบคือความไม่แน่นอนของช่องเอง  ต้นปี ๒๕๕๔ มีการดึงกลุ่มบริษัทเอกชนเข้ามาผลิตรายการด้วย กลายเป็น ASEAN TV ทำโดยสำนักข่าว ๒ สำนัก บางทีเนื้อหาก็ซ้ำซ้อนกัน  ต่อมาเมื่อมีความพยายามดันกลุ่มบริษัทเอกชนนั้นออกไปก็เกิดปัญหา  ผลคือการยกเลิก ASEAN TV เปลี่ยนเป็น MCOT World ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะตอนเริ่มไทยได้สิทธิ์ทำทั้งที่มีหลายชาติอยากทำ  เราวางแผนไว้เยอะ เสียอย่างเดียวไม่ได้รับการสนับสนุน  ในอนาคตผมยังอยากให้มีสื่อทีวีอย่าง ASEAN TV หากจะมีใครทำก็คงต้องฝากว่าอยากให้เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่นมีละครอินโดนีเซียให้ดู เป็นต้น

“ผมเชื่อว่าอาเซียนเป็นประชาคมได้ แต่ไม่ใช่ใน ๕ ปี ๑๐ ปีนี้  เป้าที่ตั้งไว้คือปี ๒๕๕๘ เป็นก้าวแรก มันจะมีขั้นตอนต่อไป  ผมเชื่อว่าการติดต่อไปมาหาสู่กันมีแต่ก่อประโยชน์ ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์ คือเรียนในประเทศเพื่อนบ้าน อาศัยฐานที่เพื่อนบ้าน  ทุกอย่างไม่ได้อยู่แค่เมืองไทย ต่อไปอาเซียนจะเป็นฐานที่เอื้อแก่ทุกคน ระบอบการเมืองที่แตกต่างเป็นเรื่องเล็ก  โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อาทิ นโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของชาติสมาชิก
(Non-Interference Policy) ช่วงหนึ่งอาเซียนก็ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าโดยไม่ทำอะไร  แต่อย่างไรเราก็จำเป็นต้องมีอาเซียน ไม่เช่นนั้นประเทศแถบนี้จะไม่มีอำนาจต่อรองบนเวทีโลก คนอาเซียนอาจพลาดช่องทางแห่งโอกาสไป”

* ผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าวช่อง ASEAN TV ปัจจุบัน (สิงหาคม ๒๕๕๕) ASEAN TV ยุติการออกอากาศแล้ว ดูรายการย้อนหลังได้ที่ www2.mcot.net/aseantv