ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ที่มุมหนึ่งของร้านอาหารเงียบเชียบ คาอิกำลังขัดเคืองขุ่นข้อง อันเป็นความรู้สึกที่ไม่ว่าใครก็คงต้องเป็นหากตกอยู่ในสถานการณ์ยากจะเข้าใจแบบเดียวกับเขา

ก็เป็นไปได้อย่างไรที่จู่ๆ เมียรักซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันมานาน กลับเปิดปากบอกว่าเธอกำลังจะจากไปกับผู้ชายอีกคน ที่คาอิรู้ประวัติเป็นอย่างดีว่าแสนจะไม่เอาไหน

ไม่เพียงเท่านั้น …เป็นไปได้อย่างไรที่เธอให้เหตุผลของการตัดสินใจนี้ว่า เพราะเธอต้องการไปใช้ชีวิตกับ “กลุ่มสังคมใหม่” ซึ่งเชื่อใจเธอ และทำให้เธอรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

ยิ่งเธออธิบายเหตุผลเหล่านั้นด้วยรอยยิ้มเยือกเย็นและท่าทีสงบนิ่งอย่างเหลือเชื่อ ก็ยิ่งเหมือนราดน้ำมันลงบนกองไฟอันโกรธเกรี้ยวของคาอิ

…เป็นไปได้ยังไง…อะไรทำให้เธอกลายเป็นแบบนี้… ฉันอุตส่าห์ทำงานหนัก ทำตัวเป็นผัวที่ดี…แล้วจู่ๆ เธอคิดแบบนี้ได้ยังไง…เอ๊ะ นี่เธอถูกพวกมันหลอกใช่มั้ย…เธอถูกล้างสมองใช่ไหม…เธอคงเป็นบ้าไปแล้วสินะ !

คาอิสับสนวนเวียนอยู่ในสมองอย่างนี้ นับตั้งแต่วันนั้นจนเหตุการณ์ผ่านพ้นไปหลายปี ก็ไม่เคยมีวันใดที่เขาจะไม่สงสัยว่า “เกิดเรื่องบ้าบออะไรขึ้นกับเธอกันแน่ ?”

คำถามนั้นคงอยู่ในใจเราเช่นกัน ในวันที่เราได้เจอเพื่อนเก่าซึ่งหันไปเป็นพนักงานขายอะไรสักอย่างและพยายามสุดชีวิตที่จะเกลี้ยกล่อมให้เราเป็นลูกค้า ในวันที่เราได้ยินข่าวว่าใครสักคนฆ่าตัวตายเพียงเพราะสอบตกหรืออกหัก ในวันที่เราได้ยินข่าวน่าตระหนกว่าจู่ๆ คนบางคนก็ลุกขึ้นมาก่อความไม่สงบต่อสังคมรอบกาย ในทุกวันที่เราได้รับรู้การตัดสินใจของใครก็ตามซึ่งช่าง “ไม่ปรกติ” ในสายตาเราอย่างเหลือเกิน

ทุกคราวที่ปรากฏเรื่องราวเหล่านั้น เรามักพลันงุนงงว่า “เป็นไปได้ยังไง ? …เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ?” แต่น่าแปลกที่บ่อยครั้ง -หรือแทบทุกครั้ง- มันเป็นเพียงคำถามที่เราไม่ได้ใส่ใจจะค้นหาคำตอบ

และเพราะไม่มีคำตอบ คำถามเดียวกันจึงยังคงเกิดขึ้น ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก…

ชื่อ ฮิโรคาซึ โคริเอดะ เริ่มเป็นที่จดจำและจับตาของคนดูหนังส่วนหนึ่งในบ้านเราหลังจากผลงานกำกับและเขียนบทเรื่องเยี่ยมลำดับที่ ๔ ของเขาคือ Nobody Knows ซึ่งเข้าฉายเมื่อปีที่แล้ว ด้วยเหตุว่าเรื่องราวซึ่งอิงจากเรื่องจริงเกี่ยวกับเด็กน้อยที่ถูกแม่ทอดทิ้งให้เผชิญชะตากรรมเลวร้ายนั้น ได้รับการถ่ายทอดโดยฝีมือของเขาได้อย่างมีพลังชวนรวดร้าวสะเทือนใจยิ่ง

โคริเอดะเคยทำหนังสารคดีก่อนจะมาจับงานหนังเรื่อง ปูมหลังนี้สอดรับอย่างดีกับการที่เขาเป็นคนช่างสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมรอบตัว หนังของเขาจึงมีจุดเด่นที่การถ่ายทอดเรื่องเหล่านั้นแบบเน้นความสมจริง ใช้จังหวะเล่าช้าๆ ใช้บทพูดจำกัด ใช้ภาพแสดงห้วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของตัวละคร และใช้การลำดับภาพมาร้อยเรียงองค์ประกอบทั้งหลายเข้าด้วยกัน โดยเปิดเผยความเป็นจริงของตัวละครเพียงบางส่วน แล้วเปิดช่องว่างให้เราทำความเข้าใจต่อเติมเอาเองว่า ชีวิตของพวกเขาน่าจะเป็นมาเป็นไปอย่างไร และมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังการกระทำต่างๆ บ้าง

หนังทั้ง ๔ เรื่องที่ผ่านมาของโคริเอดะเกี่ยวข้องกับความสูญเสีย ความตาย และเยื่อใยบางๆ ที่ผูกพันรัดร้อยมนุษย์เราเข้าไว้ด้วยกัน ที่น่าสนใจคือ หากเราค่อยๆ ดูหนังของเขาเรียงไปตามลำดับก็จะเห็นพัฒนาการชัดเจนว่า เขาขยายขอบเขตความรู้ความเข้าใจที่มีต่อปัญหาของมนุษย์ จากระดับปัจเจกไปสู่ระดับสังคมอย่างกว้างขวางขึ้นและลึกซึ้งมากขึ้นเพียงใดและอย่างไร

นอกจากคาอิ หนังของโคริเอดะยังดึงเราเข้าไปพบประสบการณ์น่าหวาดหวั่นร่วมกับมนุษย์อีกมากหน้า โดยเขาไม่ได้ใช้หนังเพียงเพื่อจะให้คำตอบอย่างตื้นเขินรวบรัดว่า “คนพวกนั้นกลายเป็นบ้าเพราะอะไร” แต่เขาท้าทายให้เราต้องสำรวจความเป็นมาด้วยตาของเราเอง

…ที่ร้าย เขายัง ทิ้งท้ายให้เราต้องย้อนถามตัวเราด้วยว่า แน่ใจหรือว่าในท่ามกลางสภาพเลวร้ายของสังคมที่เรามักพร่ำบ่นอย่างชิงชังรังเกียจนั้น เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าแห่งความเน่าเฟะนั่นด้วย ?!

“เรื่องเล่าแบบโคริเอดะ” เริ่มต้นขึ้นใน Maborosi (๑๙๙๕) ซึ่งเล่าเรื่องของยูมิโกะ หญิงสาวผู้มีความทรงจำรันทดเกี่ยวกับวันที่เธอพลั้งเผลอปล่อยให้คุณย่าเดินออกจากบ้านไปคนเดียวโดยท่านไม่เคยกลับมาอีกเลย กระทั่งโตขึ้นจนแต่งงานและมีลูก เธอก็ยังฝันร้ายถึงวันนั้นไม่เลิกรา แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกให้เธอต้องเจ็บปวดสาหัสมากขึ้นอีกเมื่อจู่ๆ อิคุโอะ สามีที่รักของเธอ ก็เดินออกจากบ้านไปตามรางรถไฟ…เพื่อฆ่าตัวตาย !

หลายปีผ่านไป ยูมิโกะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งกับทามิโอะ พ่อม่ายลูกติด แต่เวลาส่วนใหญ่ของเธอก็ยังคงหมดไปกับการครุ่นคิดสงสัยถึงอดีต ยิ่งเธอพยายามลืม มันก็ยิ่งหวนมาหลอกหลอนรุนแรงมากขึ้น จนในที่สุดความอดกลั้นเงียบงันก็ถึงวันพังทลาย เธอร้องไห้เสียงดังแล้วถามทามิโอะว่า อะไรทำให้อิคุโอะฆ่าตัวตายทั้งๆ ที่ไม่มีวี่แววใดปรากฏมาก่อนเลย ?

แน่นอน ทามิโอะย่อมไม่รู้คำตอบ แต่สิ่งที่เขาพูดก็ทำให้เธอสงบใจลงได้เกือบทันที …”พ่อผมเคยเล่าว่า เวลาออกเรือไปกลางทะเลจะเห็นแสงตรงขอบฟ้า มันสวยมากและทำให้พ่อรู้สึกราวกับท้องทะเลกำลังเรียกให้พ่อมุ่งหน้าไปที่นั่น”

เมื่อพิจารณาคำตอบนี้รวมกับความจริงที่ว่าทามิโอะเองก็เพิ่งสูญเสียคนรักไป แต่เขาก็ยังตัดใจแล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยการแต่งงานกับยูมิโกะ ในแง่หนึ่งหนังจึงกำลังบอกว่า มนุษย์ไม่เพียงไม่อาจหลีกเลี่ยงการสูญเสีย แต่เรายังไร้อำนาจที่จะควบคุมหนทางในการแสวงหาความสุขของคนอื่นด้วย (ยูมิโกะไม่เคยรู้เลยว่าอิคุโอะมักเหม่อมองรถไฟ ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับที่พ่อของทามิโอะมักเหม่อมองแสงในทะเล) สิ่งเดียวที่เราสามารถเลือกให้แก่ตัวเองได้จึงมีเพียงว่า เราจะจมปลักพ่ายแพ้แก่ปัญหา หรือจะเดินหน้าต่อไปโดยประคับประคองชีวิตในปัจจุบันให้ดีที่สุด

ในอีกแง่หนึ่งซึ่งน่าสนใจยิ่งกว่า หนังยังชวนคิดด้วยว่า ขณะที่เราเฝ้าติดตามชีวิตโศกเศร้าของยูมิโกะด้วยความเห็นใจนั้น เราเองก็พลอยปล่อยตัวให้ตกอยู่ในหลุมพรางเดียวกับเธอ นั่นคือการถือตนเป็น “ผู้สูญเสีย” ที่เอาแต่ตั้งคำถามว่า “อะไรทำให้อิคุโอะเปลี่ยนไป” โดยไม่เคยย้อนมองเลยว่า เธอเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เขาเลือกจบชีวิตลงเช่นนั้นหรือเปล่า

ตัวละครของโคริเอดะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นให้มีรายละเอียดประหลาดอะไรเลย ยูมิโกะไม่ได้มีพฤติกรรมร้ายๆ แบบที่จะทำให้เราตอบคำถามข้างต้นนั้นได้ทันที เช่นเดียวกับที่อิคุโอะก็ไม่ได้ดูผิดปรกติเสียจนเราจะเข้าใจการฆ่าตัวตายของเขาได้ง่ายๆ ร่องรอยเดียวที่หนังทิ้งไว้ให้เราสัมผัสได้อย่างบางเบาก็คือ ในความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะชิดใกล้ของตัวละครเหล่านี้ แท้จริงแล้วกลับยังมี “ระยะห่าง” ที่กั้นขวางแต่ละคนออกจากกันอย่างว้าเหว่และว่างเปล่า

ความว่างเปล่านี้อาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวอิคุโอะมานานแล้วก็ได้ (เขาจึงเคยไปขโมยจักรยานคนรวยๆ ด้วยเหตุผลว่าอยากแก้แค้นหลังจากจักรยานของเขาเองถูกใครไม่รู้ขโมยไป) หรือมันอาจซุกซ่อนอยู่ในตัวยูมิโกะ (เธอจึงมักหมกมุ่นถึงแต่อดีตของตนเองโดยไม่ยินดียินร้ายต่อคนรอบข้าง) หรือมันอาจจะเป็นช่องว่างที่มีอยู่ในตัวผู้คนซึ่งต้องดิ้นรนอย่างเป็นทุกข์ในเมืองใหญ่ ไม่มีใครบอกได้ว่าความว่างเปล่ามาจากไหน ปัญหาคือมันมีอยู่ แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเติมอย่างไรให้มันเต็ม

โคริเอดะส่งสารเกี่ยวกับการเติมเต็มแก่กันและกันของมนุษย์นี้อย่างเด่นชัดขึ้นใน After Life (๑๙๙๘) ซึ่งเล่าเหตุการณ์ ๗ วันบนรอยต่อระหว่างสวรรค์กับโลก เมื่อวิญญาณของคนตายถูกส่งตัวขึ้นมาในเช้าวันจันทร์ ทีมงานบนสำนักงานรอยต่อนั้นจะทำหน้าที่สืบค้นประวัติและช่วยเหลือให้แต่ละคนตัดสินใจเลือกความทรงจำเพียงอย่างเดียวจากชีวิตที่ผ่านมา จากนั้นทีมงานก็จะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สั้นๆ แล้วฉายให้คนเหล่านั้นดู จนมันฝังลงสู่การรับรู้ที่ลึกที่สุดและติดอยู่ในดวงวิญญาณพวกเขาไปตลอดกาล

After Life เล่าด้วยจังหวะเนิบนาบเช่นเดียวกับหนังทุกเรื่องของโคริเอดะ แต่ที่ต่างคือเนื้อหาซึ่งออกมาในเชิงสดใสให้ความหวังกว่ามาก เราได้เห็นความยากลำบากของคนที่จะต้องเลือกจำเรื่องใดเพียงเรื่องเดียว บางคนเลือกยากเพราะมีเรื่องดีๆ ให้จำเยอะเกินไป บางคนเลือกไม่ง่ายเพราะเจอแต่เรื่องร้ายๆ จนไม่อยากจะจำอะไรเลย แต่ไม่ว่าอย่างไร พวกเขาก็สามารถค้นพบช่วงเวลาที่อบอุ่นชวนถวิลหาจากชีวิตที่ผ่านมาของตนจนได้ในที่สุด

แม้ดูเผินๆ หนังจะว่าด้วยประสบการณ์ของคนตายระดับปัจเจก แต่แท้จริงแล้วโคริเอดะยังคงให้ความสำคัญต่อเรื่องสายสัมพันธ์ของมนุษย์เหนืออื่นใด ตัวละครของเขามักเลือกจำเรื่องงดงามที่เกี่ยวพันกับคนอื่น แม้แต่ทูตสวรรค์บางตนเองก็ยังยอมสละหน้าที่เพื่อไปเป็นดวงวิญญาณธรรมดาแทน หลังจากรู้ว่าตนก็เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำที่ดีงามของคนอื่น ขณะที่ทูตสวรรค์อีกบางตนยอมอยู่โยงทำงานนี้ต่อไปเพราะเกิดความรักและความผูกพันดีๆ กับคนที่ได้ร่วมงานด้วย

อย่างไรก็ตาม กลิ่นอายของความหวังประโลมใจเช่นนั้นก็เลือนหายลงจนแทบไม่เหลือหลอในผลงานเรื่องต่อมาคือ Distance (๒๐๐๑) ซึ่งโคริเอดะวิพากษ์ระยะห่างระหว่างมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่อย่างจริงจัง จงใจ และท้าทายเป็นอย่างยิ่ง !

คาอิ ชายหนุ่มในตอนต้นของบทความนี้ เป็น ๑ ใน ๔ ตัวละครหลักของ Distance ซึ่งยังประกอบด้วยคิโยกะ ครูสาวผู้มีสามีเป็นหัวหน้าหน่วยของกลุ่มลัทธิประหลาด มาซาริ นักว่ายน้ำที่มีพี่ชายไปเป็นสมาชิกกลุ่มเดียวกันนี้ และอัตสุชิ หนุ่มเงียบขรึมซึ่งก็เสียพี่สาวให้แก่เจ้าลัทธินั่นเหมือนกัน

พูดอีกอย่าง…พวกเขามีจุดร่วมตรงที่ล้วนตกเป็น “ผู้สูญเสีย”- สูญเสียคนที่รักไปให้แก่อะไรสักอย่างซึ่งพวกเขาไม่เคยเข้าใจ ไม่อยากเข้าใจ และไม่มีจะวันเข้าใจได้เลย

ชั้นเชิงการเล่าเรื่องของโคริเอดะน่าทึ่งมากในงานชิ้นนี้ เขาแนะนำให้เรารู้จักคนทั้ง ๔ ที่ในวันเวลาปรกติไม่เคยเกี่ยวข้องกัน กระทั่งถึงวันรำลึกเหตุการณ์ “กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ” วางยาพิษในน้ำประปาจนชาวโตเกียวบาดเจ็บล้มตายนับพันคน (ซึ่งเชื่อว่าโคริเอดะเขียนบทโดยได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องลัทธิโอมชินริเกียวใช้แก๊สพิษซารินฆ่าชาวโตเกียวเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๕) พวกเขาจึงนัดหมายมาพบกันเพื่อเดินทางไปไหว้ดวงวิญญาณของญาติมิตรที่ฆ่าตัวตายหมู่ไปแล้วหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ตามแผน การเดินทางนี้จะกินเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เมื่อทำพิธีรำลึกกลางป่าอย่างเรียบง่ายเสร็จสิ้นแล้ว ทั้ง ๔ จะแยกย้ายกันกลับสู่ชีวิตปรกติของตน แต่ในปีนี้ทุกอย่างไม่เป็นแบบนั้นเพราะรถที่นั่งมาด้วยกันถูกขโมยไป พวกเขาจึงจำใจต้องร่วมทีมไปกับซากาตะ อดีตสมาชิกลัทธิ (ที่รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิดและหวนกลับมาไหว้วิญญาณเพื่อนร่วมกลุ่มในวันนี้เช่นกัน) แล้วเข้าพักชั่วคราวหนึ่งคืนในบ้านเก่าที่ชาวลัทธิเคยใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวมาก่อน

ในคืนนั้นเองที่หนังค่อยๆ ย้อนอดีตให้เราได้เห็นเรื่องราวหนหลังของแต่ละคน ซึ่งสรุปได้โดยย่นย่อว่า พวกเขาล้วนเคยตื่นตกใจกับการเปลี่ยนแปลงไปของคนใกล้ชิด คาอิได้แต่รับมือด้วยการตะคอกถามภรรยาอย่างงงๆ ว่า “เธอเป็นแบบนี้ได้ยังไง” คิโยกะแทบขาดใจตายที่สามีของเธอ “กลายเป็นบ้าไปแล้ว” เมื่อเขานั่งพร่ำเพ้อถึงอุดมการณ์ลึกลับ ส่วนมาซาริมองหน้าพี่ชายที่มาบอกลาอย่างสงสัยก่อนจะเสียดสีว่า “พี่น่าจะหัดออกกำลังกายบ้างนะ จะได้ไม่ว่างมากนัก”

เราคนดูไม่แปลกใจกับปฏิกิริยาเหล่านี้ แต่หนังไม่ได้หยุดอยู่ที่การประณามว่าชาวลัทธิเป็นพวกแปลกแยกคลุ้มคลั่ง และญาติมิตรของพวกเขาเป็นผู้สูญเสียที่น่าสงสาร …ตรงกันข้าม ในเวลาเดียวกันเรายังได้เห็นด้วยว่า คาอิไม่ได้ฟังสักนิดเมื่อภรรยาของเขาพยายามอธิบายถึงความรู้สึกดีๆ ต่อตนเองที่เกิดขึ้นเมื่อเธอได้เข้ากลุ่ม คิโยกะได้แต่อ้ำอึ้ง ตอบตำรวจไม่ได้ว่าสามีของเธอเริ่มเปลี่ยนไปตอนไหน เพราะเธอไม่เคยสังเกตเห็น เช่นเดียวกับมาซาริที่นึกไม่ออกเอาเลยว่าพี่ชายของเขาเคยมีพฤติกรรมอะไรแปลกๆ มาก่อนบ้าง

“ไม่มีนะ เขาก็ปรกติดีนี่ ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรทำให้เขากลายเป็นบ้าไปได้” คือคำตอบที่หล่นออกจากปากพวกเขาอย่างง่ายดายและรวดเร็ว !

ว่าแต่คนใกล้ตัวของพวกเขา “เคยปรกติดี แต่จู่ๆ ก็กลายเป็นบ้า” จริงหรือเปล่า ? โคริเอดะเพิ่มน้ำหนักให้แก่คำถามนี้มากขึ้นอีกด้วยตัวละครอย่างซากาตะ ชายหนุ่มบุคลิกนิ่งเงียบที่เข้ามาเป็นสมาชิกลัทธิด้วยเหตุผลใดไม่แน่ชัด ครั้นระหว่างอยู่ในป่ากับสมาชิกด้วยกัน เขาก็เกิดอาการไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนเลือก เขาไม่รู้ว่าตัวเองเชื่อในอุดมการณ์ของลัทธิจริงไหม ไม่รู้แม้กระทั่งว่าจริงๆ แล้วลัทธินี้มีอุดมการณ์อะไรกันแน่ …หรือบางที เขาอาจแค่มาอยู่ที่นี่เพราะต้องการจะมีตัวตนอยู่ที่ไหนสักแห่ง และอยากจะอยู่อย่างมีความหมายในสายตาของใครสักคนเท่านั้น ?

อัตสุชิก็เป็นตัวละครที่มีบทบาทคล้ายคลึงกัน เขาบอกใครต่อใครว่าเขาสูญเสียพี่สาวให้แก่ลัทธิ แต่แล้วหนังก็ผูกปริศนาซับซ้อนขึ้นมาอีกว่า เขาเป็นคนที่เขาบอกว่าเป็นจริงหรือ ? เขามีจุดประสงค์ใดจึงบอกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้สูญเสีย ? …หรือเขาก็เหมือนซากาตะ-เป็นเพียงคนโดดเดี่ยวผู้ปรารถนาที่ทางบนโลกใบนี้ ไม่ว่านั่นจะหมายถึงการต้องอุปโลกน์ตัวเองด้วยความเท็จแค่ไหนก็ตาม !

ท้ายที่สุด หนังเรื่องนี้บอกเราว่า ไม่ว่าเราจะคิดว่าตัวเองปรกติและคนอื่นต่างหากที่ผิดปรกติเพียงใด เอาเข้าจริงเราก็เป็นเพียงมนุษย์ที่นับวันยิ่งหมกมุ่นแค่กับชีวิตลำพังตน แล้วทอดทิ้งคนรอบตัวให้ต้องดิ้นรนหาที่ทางเอาเอง ครั้นเมื่อผู้คนเหล่านั้นค้นพบแห่งหนซึ่งเขาคิดว่าเป็นทางสว่าง จิตใจของเราก็ยังคับแคบได้ถึงขั้นผลักไสให้เขากลายเป็นอื่น และพิพากษาว่าเขาเป็นความแปลกแยกซึ่งสมควรถูกกำจัดทิ้งออกจาก “สังคมปรกติ” ของเราอีกนั่นเอง

ใน Distance ภาพตัวละครหลักทั้ง ๔ ซึ่งกระจายตัวกันไปพูดโทรศัพท์มือถือทันทีที่หลุดออกจากค่ำคืนในป่ามาได้ โดยมีซากาตะยืนหลบมุมเฝ้ามองอย่างเงียบเชียบคนเดียว และภาพพวกเขาทั้งหมดเดินทางกลับสู่เมืองใหญ่แล้วโบกมือแยกย้ายกันก่อนลับหายไปในคลื่นคนคลาคล่ำ ล้วนแสดงถึงระยะห่างระหว่างมนุษย์ที่ส่งผลทำร้ายกันและกันโดยไม่รู้ตัวได้อย่างน่าเศร้าใจทั้งสิ้น

คล้ายคลึงกัน…ในผลงานถัดมาของโคริเอดะ Nobody Knows (๒๐๐๔) ซึ่งสร้างความประทับใจแก่คนดูมากมายมาแล้วนั้น ก็ไม่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมหญิงสาวผู้เป็นตัวละครหลักจึงต้องโผบินหาผู้ชายคนแล้วคนเล่า โดยทอดทิ้งลูกๆ ให้ต่อสู้เอาตัวรอดเองตามลำพัง เพราะการมอบบทสรุปสำเร็จรูปประเภทชี้นำให้คนดูโยนความผิดแก่ “แม่ใจยักษ์” นั้นไม่ใช่จุดประสงค์ของเขา สิ่งที่เขาต้องการก็คือ ชวนให้เรามองลึกถึงรากเหง้าของปัญหาว่า ตราบใดที่คนเรายังสามารถทำตัวเองให้ชินตากับภาพเด็กเร่ร่อนเนื้อตัวสกปรกได้โดยไม่คิดไถ่ถาม ตราบใดที่เรายังหมางเมินความทุกข์ของกันและกันโดยคิดว่าธุระไม่ใช่ เด็กถูกทอดทิ้งก็จะยังมีอยู่เรื่อยไป และปัญหาช่องว่างระหว่างมนุษย์ก็จะไม่มีวันคลี่คลายได้เลย

เช่นเดียวกับในโลกแห่งความจริง …ตราบใดที่เรายังมองสถานการณ์ทั้งหลายในสังคมด้วยสายตาที่มีเพียงขาวกับดำ

ตราบใดที่เรายังหาทางออกง่ายๆ ให้ตัวเองโดยการก่นด่าประณามเรียกร้องให้สังคมจัดการ “คนอื่น” ด้วยความรุนแรง โดยปราศจากความพยายามที่จะเข้าใจ

ตราบใดที่เรายังโง่งมกับการตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้ยังไง ? เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ? เพราะอะไรคนอื่นจึงได้เลวร้าย ?” โดยไม่ใส่ใจจะค้นหาคำตอบ และไม่ยอมรับอย่างสิ้นเชิงว่าเรานั่นเองที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

…ตราบนั้นเราก็จะต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์อันมืดบอดต่อไปโดยไม่มีวันจบสิ้น